อนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคและความเหลื่อมล้ำของไทย

อนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคและความเหลื่อมล้ำของไทย

บทความโดย

ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ
ดร.สมิทธิ์ธนา ชัยเจนกิจ
น.ส.นภัสวรรณ บุญช่วย
น.ส.จรัลรัตน์ พงศ์ภานุสิทธ

1.บทนำ

ในปัจจุบัน ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคเริ่มมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้น หลายจังหวัดเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เช่น การเปลี่ยนแปลงจากภาคเกษตรกรรมเป็นภาคอุตสาหกรรม และการปรับตัวเข้าสู่สังคมเมือง ส่งผลให้มีแนวโน้มที่ความเจริญเริ่มจะกระจายออกจากศูนย์กลางทางเศรษฐกิจไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระจายความเจริญจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ นอกจากนี้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้การเข้าถึงบริการ และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ สะดวกมากขึ้น เช่น การเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ น้ำประปา ไฟฟ้า และการคมนาคมขนส่ง หลายจังหวัดเริ่มมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด แต่บางจังหวัดการเติบโตทางเศรษฐกิจกลับเริ่มชะลอตัวลง ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมของการเติบโตทางด้านรายได้ในแต่ละพื้นที่ จึงนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในที่สุด

ความเหลื่อมล้ำ (Inequality) ตามข้อมูลของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา หมายถึง ความต่างกัน ความไม่เสมอกัน หรือความไม่เท่าเทียมกัน ระหว่างปัจเจกบุคคล ระหว่างกลุ่ม หรือระหว่างประเทศ ความเหลื่อมล้ำอาจมีหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจโดยทั่วไปวัดจากรายได้ หรือรายจ่ายของประชาชนโดยอาศัยฐานข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติมาคำนวณค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค หรือค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) เพื่อชี้วัดระดับของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาครั้งนี้ต้องการที่จะวิเคราะห์ถึงการกระจายความเจริญโดยองค์รวมในอนาคตจากการใช้ข้อมูลผลิตภัณฑ์จังหวัดแบบปริมาณลูกโซ่ (Gross Provincial Product – Chain Volume Measures; GPP – CVM) ดังนั้น การวิเคราะห์หาค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค หรือค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) จึงคำนวณจากข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดแบบปริมาณลูกโซ่แทนซึ่งเป็นเพียงการประมาณแนวโน้มของค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคอย่างคร่าวๆ เท่านั้น โดยอาศัยข้อสมมติฐานการคำนวณจากการวิเคราะห์ระดับอัตราการเติบโตศักยภาพของผลิตภัณฑ์จังหวัด (Potential GPP Growth) ซึ่งบ่งบอกถึงระดับความสามารถในการพัฒนา การบริหารจัดการทรัพยากร รวมถึงการเจริญเติบโตของรายได้ในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ถึงการกระจายความเจริญในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงการพยายามนำทฤษฎีที่เกี่ยวข้องมาอธิบายสาเหตุของปรากฏการณ์ดังกล่าว (อ้างอิงจากงานวิจัยของ Walter Isard ที่ทำการศึกษาเรื่อง “Location Theory and Trade Theory : Short-run Analysis”)

บทความนี้ต้องการวิเคราะห์ถึงแนวโน้มและสาเหตุของความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจของส่วนภูมิภาคในอนาคต เพื่อประโยชน์ในการวางแผนรับมือกับสถานการณ์ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเริ่มศึกษาจากลักษณะการเติบโตและความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จากนั้นนำไปตั้งสมมติฐานเพื่อหาแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ตลอดจนมูลเหตุที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

2. ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจในช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีการกระจายตัวที่ดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร โดยทั่วไปจะพิจารณาจากค่าสัมประสิทธิ์จีนีซึ่งแสดงดังภาพที่ 1 โดยเส้นสีส้ม (จุดสี่เหลี่ยม) แสดงค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini coefficient) ของรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นตัวเลขทางการที่คำนวณและเผยแพร่โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งจะเห็นได้ว่าตลอด 20 ที่ผ่านมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2543-2563 ค่าสัมประสิทธิ์จีนีมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าการกระจายการใช้จ่ายที่เท่าเทียมกันมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ภาพที่ 1 ค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2543 – 2563
ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และการคำนวณของผู้เขียน

อย่างไรก็ตาม บทความนี้ได้คำนวณค่าสัมประสิทธิ์จีนีขึ้นอีกชุดหนึ่งจากค่าเฉลี่ยผลิตภัณฑจังหวัดที่แท้จริงต่อประชากรตามภาพที่ 1 เส้นสีน้ำเงิน (จุดวงกลม) เพื่อจำลองแนวโน้มการกระจายตัวของความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจซึ่งแม้จะมีค่าที่แตกต่างจากค่าสัมประสิทธิ์จีนีด้านรายจ่ายของ สศช. แต่ทิศทางของค่าสัมประสิทธิ์จีนี่ที่คำนวณขึ้นมีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการตั้งสมมติฐานในการคาดการณ์การเติบโตของมูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัดในอนาคตและนำไปสู่การคาดการณ์การกระจายความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจในอนาคตซึ่งจะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไป

ทั้งนี้ หากจะกล่าวถึงเหตุปัจจัยบางประการเพื่อช่วยอธิบายว่าความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจในช่วง 20 ที่ผ่านมามีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้อย่างไรอาจกล่าวได้ใน 2 มุมมอง คือ

2.1 การพัฒนาเศรษฐกิจที่ไล่ตามทันกันมากขึ้นในบางจังหวัด

การพัฒนาเศรษฐกิจของบางกลุ่มจังหวัดมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับ Catch-Up Effect ซึ่งเป็นไปตาม Theory of Convergence ที่เชื่อว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจจะสามารถไล่ตามกันทันได้ในที่สุดในเชิงรายได้ต่อหัว (Income per capita) โดยจากภาพที่ 2 ซึ่งแสดงความสัมพันธ์ระหว่างมูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัดที่แท้จริงเฉลี่ยในช่วงปีพ.ศ. 2543 – 2547 ในรูปมาตราส่วนล็อก กับอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์จังหวัดที่แท้จริงเฉลี่ยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ปีพ.ศ. 2543 – 2563 จะเห็นได้ว่ากลุ่มจังหวัดในบริเวณที่วงรีล่าง (สีแดง) ซึ่งมีลักษณะเอียงจากด้านบนซ้ายมาทางด้านล่างขวาหมายความว่า กลุ่มจังหวัดที่อยู่ด้านบนซ้ายของวงรี เช่น ปัตตานี สตูล และนราธิวาส เป็นต้น เมื่อประมาณ 20 ปีก่อนมีรายได้ต่อหัวที่ค่อนข้างสูงโดยเปรียบเทียบในขณะที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วง 20 ปีต่อมาค่อนข้างต่ำ ส่วนกลุ่มจังหวัดทางล่างขวาของวงรี เช่น อำนาจเจริญ กำแพงเพชร และหนองบัวลำภู เป็นต้น จะเห็นได้ว่าเมื่อประมาณ 20 ปีก่อนมีรายได้ต่อหัวค่อนข้างต่ำ แต่มีอัตราการเติบโตตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมาสูงกว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ระดับผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวของกลุ่มจังหวัดทั้งสองมีความใกล้เคียงกันเพิ่มขึ้นเป็นส่วนหนึ่งในการอธิบายว่าเหตุใดค่าสัมประสิทธิ์จีนี่จึงมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเกิดความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มจังหวัดบางกลุ่มดังแสดงในวงรีด้านบน (สีเขียว) เช่น สมุทรปราการ ระยอง และฉะเชิงเทรา เป็นต้น ซึ่งมีทั้งระดับรายได้หรือผลิตภัณฑ์ต่อหัวที่สูงมาตั้งแต่แรกอีกทั้งยังมีอัตราการเติบโตที่สูงโดยเปรียบเทียบอีกด้วย ดังนั้น กลุ่มจังหวัดเหล่านี้ในปัจจุบันจึงมีระดับผลิตภัณฑ์ต่อหัวที่สูงกว่าจังหวัดอื่นๆ ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่ากลุ่มจังหวัดในวงรีด้านบนมีจำนวนไม่มาก ดังนั้น จึงไม่ได้ทำให้ภาพรวมของทั้งประเทศเกิดความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

ภาพที่ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างค่าเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์จังหวัดที่แท้จริงต่อหัวในช่วงปีพ.ศ. 2543 – 2547
กับอัตราการเติบโตที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์จังหวัดเฉลี่ย 20 ปี
ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และการคำนวณของผู้เขียน

2.2 ผลทางระดับรายได้ศักยภาพของพื้นที่เศรษฐกิจข้างเคียง   

นอกจากการพิจารณาการกระจายความเจริญจากการวิเคราะห์ทิศทางความสัมพันธ์ของผลิตภัณฑ์จังหวัด กับอัตราการเติบโตของรายได้แล้ว ยังสามารถวิเคราะห์ปัญหาความเหลื่อมล้ำในรูปแบบอื่น โดยอาศัยการวิเคราะห์ระดับรายได้ศักยภาพ (Potential income) ซึ่งหมายถึง การเจริญเติบโตที่มาจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีต่อกันระหว่างพื้นที่ต่างๆ เช่น การค้าระหว่างประเทศทำให้ประเทศคู่ค้าได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจและเติบโตไปพร้อมกัน อาทิ งานวิจัยของ Walter Isard ที่ทำการศึกษาเรื่อง “Location Theory and Trade Theory : Short-run Analysis” วิเคราะห์ถึงปัจจัยที่มีผลต่อการทำการค้าระหว่างประเทศ โดยจากการศึกษาพบว่าระยะทางการขนส่ง มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของผลผลิตในภาคอุตสาหกรรม และปริมาณการนำเข้ากับส่งออกสินค้า รวมถึงระดับรายได้ภายในประเทศ ซึ่งเป็นระดับรายได้ศักยภาพ (Potential income) สามารถเขียนสมการระดับรายได้ศักยภาพ (Potential income) ซึ่งหากนำมาประยุกต์กับการวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ของรายได้หรือผลิตภัณฑ์จังหวัดของไทยอาจกล่าวได้ดังนี้

หากนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างระดับรายได้ศักยภาพกับผลิตภัณฑ์จังหวัดที่แท้จริงเฉลี่ย โดยใช้จังหวัดกรุงเทพมหานครเป็นจุดศูนย์กลาง เนื่องจากเป็นจุดศูนย์กลางความเจริญของประเทศ สามารถสรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูล ได้ดังนี้

ภาพที่ 3 ความสัมพันธ์ระหว่างระดับรายได้ศักยภาพกับผลิตภัณฑ์จังหวัดเฉลี่ยที่แท้จริง ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2543–2563
ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และการคำนวณของผู้เขียน

ภาพที่ 3 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างระดับรายได้ศักยภาพจากการคำนวณระยะทางในรูปมาตราส่วนล็อก รายจังหวัดและมูลค่าผลิตภัณฑ์รายจังหวัดเฉลี่ยในรูปมาตราส่วนล็อก จะเห็นได้ว่าค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกันกล่าวคือจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงกับจังหวัดข้างเคียงที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากก็จะได้รับประโยชน์และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากตามไปด้วย แต่ในทางตรงข้ามจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงกับจังหวัดที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจน้อยก็จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจน้อยตามไปด้วย แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในเชิงพื้นที่ที่มีลักษณะที่เจริญเติบโตไปด้วยกันตามกำลังความสามารถหรือตามศักยภาพที่เป็นไปได้ ซึ่งจากมุมมองดังกล่าวอาจส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

3. คาดการณ์แนวโน้มความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจในอนาคต

การคาดการณ์แนวโน้มความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า อาศัยสมมติฐานการเติบโตศักยภาพรายจังหวัดด้วยการคำนวณอัตราเติบโตที่แท้จริงเฉลี่ยรายจังหวัดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเป็นเกณฑ์ ผนวกกับข้อมูลการคาดการณ์จำนวนประชากรรายจังหวัดในอีก 20 ปีข้างหน้า (อ้างอิงจากการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553-2583 (ฉบับปรับปรุง) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) สามารถคำนวณสัมประสิทธิ์จีนี ดังแสดงในภาพที่ 4

ภาพที่ 4 การคาดการณ์ Gini coefficient ในอีก 20 ปีข้างหน้า
ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และการคำนวณของผู้เขียน

เมื่อทำการพยากรณ์ค่าสัมประสิทธิ์จีนีในอีก 20 ปีข้างหน้า หรือในปีพ.ศ. 2583 ได้ค่าประมาณ 0.517 ซึ่งมีแนวโน้มสูงเพิ่มขึ้นกว่าปีปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าในอนาคต ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเหตุปัจจัยที่สนับสนุนแนวโน้มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวอาจแบ่งได้เป็น 2 มุมมอง ดังนี้

3.1 การพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดมีแนวโน้มที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

สถานการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจังหวัดเมื่อปีพ.ศ. 2543-2547 ดังภาพที่ 2 แตกต่างจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงปีพ.ศ. 2559 – 2563 ดังแสดงในภาพที่ 5 ซึ่งจะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัดและอัตราการเติบโตศักยภาพของผลิตภัณฑ์จังหวัด (กำหนดให้เท่ากับอัตราการเติบโตผลิตภัณฑ์จังหวัดเฉลี่ย 20 ปี ที่ผ่านมา) มีความสัมพันธ์ไปในทิศทางแปรผันตามกันมากขึ้นกว่าเดิมกล่าวคือ จังหวัดที่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัดต่ำมีแนวโน้มที่จะมีอัตราการเติบโตต่ำ ในขณะที่จังหวัดที่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัดสูงก็มีแนวโน้มที่จะมีอัตราการเติบโตสูงด้วย ดังนั้น ความแตกต่างของระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัดก็จะมีแนวโน้มที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้น

ภาพที่ 5 ความสัมพันธ์ระหว่างผลิตภัณฑ์จังหวัดที่แท้จริงต่อหัวเฉลี่ยในช่วงปีพ.ศ. 2559 – 2563 และอัตราการเติบโตศักยภาพของผลิตภัณฑ์จังหวัด
ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และการคำนวณของผู้เขียน

ข้อมูลของค่าเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์จังหวัดที่แท้จริงต่อหัว และอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์จังหวัดเฉลี่ย 20 ปี ในช่วง 5 ปีก่อน หรือตั้งแต่พ.ศ. 2559 – 2563 แสดงให้เห็นว่า กราฟความสัมพันธ์ระหว่างผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดที่แท้จริงต่อหัวกับอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีในแต่ละจังหวัด มีทิศทางที่เพิ่มขึ้น ดังแสดงในภาพที่ 5 โดยในช่วงแรกของกราฟ สัดส่วนของค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดที่แท้จริงต่อหัวกับอัตราการเติบโตมีค่าอยู่ในระดับที่ต่ำ แสดงว่าในอนาคต จังหวัดในกลุ่มนี้ มีแนวโน้มที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดที่แท้จริงต่อหัวจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ต่างจากในช่วงท้ายของกราฟ ที่มีสัดส่วนของค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดที่แท้จริงต่อหัวกับอัตราการเติบโตอยู่ในระดับที่สูง แสดงให้เห็นว่า ในอนาคต จังหวัดในกลุ่มนี้จะยิ่งมีค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดที่แท้จริงต่อหัวที่สูงขึ้นเป็นเท่าตัว

3.2 ความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ไม่สมดุลในเชิงความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ

ความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่สามารถอธิบายความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคตได้ ความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เกิดจากคำนวณดัชนีชี้วัดปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจรายจังหวัดจำนวน 82 ดัชนี โดยแบ่งดัชนีออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มการศึกษา กลุ่มสาธารณสุข กลุ่มกำลังซื้อ กลุ่มความท้าทายของทรัพยากรมนุษย์ และกลุ่มสิ่งแวดล้อม โดยนำดัชนีทั้งหมดมาคำนวณรวมเป็น Composite Index รายจังหวัดเพื่อให้สามารถเปรียบเทียบระหว่างจังหวัดได้ว่าจังหวัดใดมีความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมากกว่ากัน จากนั้นเมื่อนำมาแสดงในภาพที่ 6 คู่กับอัตราการเติบโตศักยภาพของผลิตภัณฑ์จังหวัด จะเห็นได้ว่า ค่อนข้างจะมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกล่าวคือ จังหวัดที่มีความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีก็มีแนวโน้มที่จะมีอัตราการเติบโตที่สูง ในขณะที่จังหวัดที่มีความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าก็มีแนวโน้มที่จะมีอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่า ดังนั้น ในอนาคตความแตกต่างของความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดความแตกต่างของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัดซึ่งนำมาสู่ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น

ภาพที่ 6 ความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและอัตราการเติบโตศักยภาพของผลิตภัณฑ์จังหวัด
ที่มา: การคำนวณของผู้เขียน สศค. และ สศช.

4.บทสรุป

การกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจในระยะ 20 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มที่ดีทำให้เกิดความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นเห็นได้จากการเติบโตของผลิตภัณฑ์จังหวัดที่มีการไล่ตามกันระหว่างกลุ่มจังหวัดที่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัดต่ำแต่มีการเติบโตที่สูงในขณะที่มีบางกลุ่มจังหวัดที่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัดสูงแต่มีอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่า อีกทั้งยังเห็นได้ว่าการเติบโตของแต่ละจังหวัดมีความสัมพันธ์กับจังหวัดที่อยู่ข้างเคียงอย่างค่อนข้างมีนัยสำคัญทำให้การเติบโตของจังหวัดต่างๆ มีแนวโน้มที่จะเติบโตเกาะกลุ่มไปด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์สถานะความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจในอนาคตจากการตั้งข้อสมมติฐานว่าแต่ละจังหวัดจะเติบโต ณ ระดับอัตราการเติบโตศักยภาพของตนเองพบว่า ในอนาคตอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้าแนวโน้มความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจกลับมีทิศทางที่ลดลงเนื่องจาก ลักษณะการเติบโตของแต่ละจังหวัดมีลักษณะของการไล่ทันกันที่ลดลงไปจากเดิม อีกทั้งความพร้อมทางปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แต่ละจังหวัดมีลักษณะการเติบโตที่ไม่เท่ากัน และนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในที่สุด

ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ

เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน