บทความโดย รชากานต์ เคนชมภู
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
บทนำ
ภาคบริการมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก โดยสัดส่วนกำลังแรงงานภาคบริการในประเทศต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่แรงงานในภาคเกษตรของประเทศรายได้สูงอยู่ในระดับต่ำ ปัจจุบันภาคบริการมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ทำให้การจ้างงานในภาคบริการมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว
ภาคบริการมีบทบาทสำคัญต่อการจ้างงานและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ จากสถิติการจ้างงานของในกลุ่มประเทศ OECD พบว่า ครึ่งหนึ่งของการจ้างงานของกลุ่มประเทศ OECD มาจากภาคบริการ และ โดยเฉพาะภาคบริการที่เป็น SME มีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
เนื่องจากภาคบริการทำให้ประเทศสามารถจัดการให้ต้นทุนอยู่ในระดับต่ำ ได้ง่ายกว่าภาคเกษตรและอุตสาหกรรม เช่น การขายความพึงพอใจ รสนิยม และบรรยากาศแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่ออัตรากำไรที่เพิ่มขึ้นจากประวัติศาสตร์และแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของประเทศรายได้สูงเกิดใหม่ พบว่า หนึ่งในบทเรียนจากต่างประเทศในการก้าวข้ามผ่านกับดักรายได้ปานกลาง คือ การผลักดันให้ภาคบริการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ ภาคบริการ (Service Sector) เป็นภาคเศรษฐกิจที่ทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ดังนั้น หากสามารถยกระดับการพัฒนาธุรกิจภาคบริการและสินค้าต่อเนื่องให้มีมูลค่าสูงตามห่วงโซ่มูลค่า ภาคบริการในหลายสาขาจะสามารถเป็นเครื่องจักรใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญ เช่น ธุรกิจด้านค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ ธุรกิจท่องเที่ยว (ร้านอาหาร ภัตตาคาร และสถานที่พัก) ธุรกิจสุขภาพ (สปาและการดูแลผู้สูงอายุ) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (บริหารทรัพย์สิน ก่อสร้างและวิศวกรรม) เป็นต้น จะเห็นได้ว่า
ในช่วงที่การค้าขายสินค้าของโลกอยู่ในภาวะซบเซา แต่การค้าภาคบริการกลับขยายตัวสูง สอดคล้องกับข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ที่ระบุว่าปี 2016 มูลค่าการค้าบริการโลกขยายตัวร้อยละ 2.7 สูงขึ้นจากปี 2015 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 และการส่งออกภาคบริการของไทยในปี 2017 ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 5.0 (ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)
สำหรับประเทศไทย หนึ่งในกลจักรในการออกแบบนโยบายเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันคือการพึ่งพาภาคบริการ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่จุดที่ขยับจากภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภาคบริการ จะเห็นได้จากภาคบริการของไทยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 66 ของ GDP โดยโครงสร้างแรงงานเปลี่ยนแปลงไปมากจากอดีต จาก “สังคมเกษตร” ค่อยๆ เปลี่ยนเป็น “เศรษฐกิจภาคบริการ”
อย่างไรก็ดี มีเพียงบางกิจกรรมเท่านั้นที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนจากการส่งออกภาคบริการของไทยยังพึ่งพิงแต่ภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยจะเห็นได้จากรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2017 ที่มีมูลค่า 1.82 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.8 ของ GDP หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 71 ของมูลค่าส่งออกบริการรวม ซึ่งในความเป็นจริงนั้นภาคบริการยังมิติทางกิจกรรมที่หลากหลายในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคบริการมากยิ่งขึ้น
ภาครัฐควรมีการส่งเสริมภาคบริการอื่นๆ ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกิจกรรม เพื่อให้สอดรับกับโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “Value – Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” และเปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น เปลี่ยนจาก Traditional Services ซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่ High Value Services และเปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะสูงเป็นการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว และเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจระดับรายได้สูงนำมาสู่การพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง
1. การสร้างมูลค่าเพิ่มกับภาคบริการ (Value-Added)
ภาคบริการ (Service sector) ตามการจัดประเภทขององค์การสหประชาชาติ กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ อาจแบ่งออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ คือการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ซึ่งภาคบริการไม่มีการผลิตสินค้าใดๆ ที่เป็นตัวตน แต่เป็นกิจกรรมที่ตอบสนองตามความต้องการของประชาชนในด้านต่างๆ ได้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จัดอยู่ในภาคบริการมีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น การค้าปลีก การค้าส่ง ร้านอาหาร โรงแรม การคมนาคมขนส่ง การเงิน การประกันภัย การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ การ การศึกษา การติดต่อสื่อสาร เป็นต้น
การเพิ่มมูลค่า (Value Added) เน้นการเพิ่มมูลค่าเข้าไปในแต่ละขั้นตอนของห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องของผู้ประกอบการมากกว่าผู้บริโภค การยกระดับคุณค่าสินค้าหรือบริการนั้น ความสำเร็จอยู่ที่การสร้างความสมดุลที่ดีระหว่าง “คุณค่าเพิ่ม” ที่ผู้บริโภคจะได้รับ และ “มูลค่าเพิ่ม” ที่ผู้ประกอบการคาดหวัง อันจะนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืน
ในปัจจุบันการส่งออกภาคบริการมีการสำคัญมากขึ้นของการค้าโลก สอดคล้องกับข้อมูลจาก IMF ที่ระบุว่าสัดส่วนของการส่งออกภาคบริการโลกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9 ในปี ค.ศ. 1970 เป็นร้อยละ 20 ในปี 2014 และมีสัดส่วนต่อจีดีพีของโลกจากร้อยละ 1 ในปี ค.ศ. 1970 เพิ่มสูงถึงร้อยละ 6 ในปี 2014 (ภาพที่ 1)
2. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาคบริการ
กิจกรรมบริการในหลายประเทศทวีความสำคัญมากขึ้น เมื่อประเทศมีการพัฒนาสู่ระดับที่สูงขึ้น ในระยะเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเทศส่วนใหญ่ในโลกมักมีกิจกรรมการเกษตรในสัดส่วนสูง ต่อมากิจกรรมที่มาจากภาคอุตสาหกรรมจะมีความสำคัญมากขึ้น และเมื่อมีการพัฒนาจนเป็นประเทศที่มีรายได้สูงแล้ว สัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ก็จะเริ่มลดน้อยลง และกิจกรรมในภาคการบริการมีความสำคัญมากขึ้น
จากรายงานของ IMF พบว่า ในระยะเวลา 30 – 40 ปี มูลค่าการส่งออกภาคบริการในบางประเทศเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 100 เท่า โดยประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกบริการขนาดใหญ่ที่สุด และหลายประเทศในสหภาพยุโรปก็เป็นผู้ส่งออกบริการอันดับต้นๆ ของโลก ขณะที่ประเทศไทย อินโดนีเซีย บราซิล อยู่ใน 30 อันดับแรกที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของภาคส่งออกบริการของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จะเห็นได้ว่าการส่งออกภาคบริการในปัจจุบันไม่ได้อยู่ในเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น แต่การแข่งขันด้านบริการยังได้รับความสนใจมากในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาด้วยเช่นกัน โดยตั้งแต่ปี 1990 – 2014 มีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นสองเท่า และประเทศที่พัฒนาแล้วเติบโตขึ้นเป็นสิบเท่า ขณะที่การส่งออกโลกสัดส่วนของการส่งออกบริการของประเทศกำลังพัฒนาได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3 ในปี 2513 เป็นร้อยละ 20 ในปี 2014
ทั้งนี้ จากข้อมูลปี 1970 – 2014 (ภาพที่ 2) พบว่า สัดส่วนการส่งออกท่องเที่ยวและคมนาคมขนส่งซึ่งเป็นภาคการส่งออกที่สำคัญของประเทศกำลังพัฒนานั้น มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 30 และร้อยละ 20 ของตลาดโลก ตามลำดับ ซึ่งการส่งออกภาคบริการของประเทศกำลังพัฒนาก็ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการด้านการเงิน (ที่มีส่วนครึ่งหนึ่งของการส่งออกบริการการเงินของตลาดโลก) ตลอดจนการส่งออกด้านบริการคอมพิวเตอร์และข้อมูล
จากเว็บไซต์ข้อมูลทางสถิติของกลุ่มประเทศ OECD พบว่า ส่วนแบ่งของการเกษตรในปัจจุบันค่อนข้างเล็กในเกือบทุกประเทศของกลุ่มประเทศ OECD และส่วนแบ่งการตลาดของอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่ลดลง ขณะที่ภาคบริการมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ในกลุ่มของประเทศ OECD
โมเดลการพัฒนาภาคบริการที่ต่างประเทศใช้แล้วประสบความสำเร็จ
ประเทศเดนมาร์ก รัฐบาลเดนมาร์กผลักดันด้านการพัฒนาประเทศให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ใช้ระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น ภาคบริการของเดนมาร์กจึงเป็นกุญแจสำคัญต่อการพัฒนาและต่อการรักษาศักยภาพการส่งออกของเดนมาร์ก ซึ่งภาคบริการคิดเป็นร้อยละ 74 ของผลผลิตภาคเอกชนทั้งหมด นอกจากนี้ ภาคส่วนดังกล่าวมีการจ้างแรงงานถึงสามในสี่ส่วนของแรงงานเดนมาร์กทั้งหมด และมีสัดส่วนของแรงงานที่มีการศึกษาสูงที่สุดด้วย ปริมาณการผลิตต่อลูกจ้างหนึ่งคนสูงมาก ซึ่งเป็นการตอกย้ำความสำคัญของภาคส่วนนี้ในระบบเศรษฐกิจเดนมาร์ก เดนมาร์กเป็นประเทศเล็กแต่บริษัทในภาคบริการจำนวนมากของเดนมาร์กกลับมีขนาดใหญ่และดำเนินงานในระบบโลก ในปี พ.ศ. 2006 เดนมาร์กเป็นผู้ส่งออกงานบริการเป็นอันดับที่ 15 ของโลก มีมูลค่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 36 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ ส่วนที่ใหญ่ที่สุดของการส่งออกงานด้านบริการของเดนมาร์ก ได้แก่ การขนส่งโดยเฉพาะทางเรือ การให้คำปรึกษาด้านเทคนิค การตรวจสอบบัญชีและด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ขณะที่งานบริการอื่นๆ เช่น ภาคการท่องเที่ยว การรักษาความปลอดภัย การทำความสะอาด และการสื่อสาร กำลังทวีความสำคัญมากขึ้น และในปี พ.ศ. 2006 พบว่า เดนมาร์กมีการส่งออกบริการมายังประเทศไทยมากกว่าส่งออกสินค้า
ประเทศสิงคโปร์ เน้นการพัฒนาบริการภาคการเงิน และหาแนวทางในการส่งเสริมส่งออกบริการ โดยมีการจัดตั้งหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น
1) International Enterprise Singapore (IE) เป็นหน่วยงานในการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น โครงการ The Exporter Development Programmes ซึ่งเป็นการสนับสนุนจัดอบรม Local SMEs ให้เติบโตกลายเป็นผู้ส่งออก โครงการ International Marketing Activities Programme ซึ่งจะจัดงาน Tradeshow เพื่อให้ผู้ประกอบการมีโอกาสหาช่องทางเข้าถึงตลาดต่างประเทศ
2) SPRING Singapore เป็นหน่วยงานที่ช่วยพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ SMEs ทั้งด้านการเงิน เทคโนโลยี และหาช่องทางในการเข้าถึงตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ยังมีมาตรการสนับสนุนธุรกิจส่งออกบริการ เช่น
- เงินสนับสนุนโครงการ (เงินให้เปล่า (Grants) /กองทุน (Funds)) เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจบริการสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น
- การสนับสนุนทางการเงิน เช่น 1) Loan Insurance Scheme (LIS) เป็นการร่วมมือกันระหว่าง IE Singapore และ Spring Singapore 2) Internationnalization Finance Scheme (IFS) ให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อขยายไปกิจการไปยังตลาดต่างประเทศ
- สิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น ภาษีสินค้าและบริการ (Goods and Services Tax: GST) อัตราร้อยละ 0 สำหรับการส่งออกสินค้าและการให้บริการระหว่างประเทศ โดยยกเว้นบริการบางสาขา ได้แก่ บริการการเงิน การขายหรือเช่าสินทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย รวมถึงทองและโลหะมีค่า เป็นต้น
- การสร้างเสริมศักยภาพของธุรกิจและบุคลากร เช่น 1) Capability Development Grant สนับสนุนเงินอุดหนุนในรูปแบบให้เปล่าเพื่อให้ SMEs ใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ในการบริหารจัดการธุรกิจและพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจ SMEs 2) สร้างความร่วมมือระหว่าง SMEs กับบริษัทขนาดใหญ่ จัดให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และการปฏิบัติงานที่ดี (Best Practices) รวมถึงการร่วมทุนพัฒนานวัตกรรมและทดลองด้านเทคโนโลยี 3) Initiatives in New Technology (INTECH) ภาครัฐสนับสนุนเงินให้เปล่าเพื่อส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และการวิจัยและพัฒนา
- สิทธิประโยชน์อื่นๆ การจ้างงานแรงงานต่างชาติสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพระดับ Professionals และ Skilled workers จะต้องออกใบอนุญาตทำงานในประเภท Employment Pass ซึ่งนายจ้างสามารถจ้างแรงงานผู้มีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญต่างๆ ได้โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องสัดส่วนการจ้างงาน
จะเห็นว่าประเทศข้างต้นมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจบริการทั้งในและต่างประเทศอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกันอย่างจริงจังของภาครัฐและภาคธุรกิจ ซึ่งไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของไทย เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าภาคบริการให้เป็น Modern Services ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้
3. ภาคบริการของไทย
ภาคบริการของไทยในปี 2017 จีดีพีของภาคบริการไทยมีสัดส่วนที่ร้อยละ 66 ซึ่งมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากข้อมูลตั้งแต่ปี 2005 – 2017 พบว่า ภาคบริการของไทยมีสัดส่วนที่สูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องร้อยละ 49 ในปี 2010 เป็นร้อยละ 66 ในปี 2017 (ภาพที่ 3)
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าไทยจะมีสัดส่วนในจีดีพี ของภาคบริการเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่สามารถเพิ่มสัดส่วนภาคบริการต่อ GDP ให้อยู่ในระดับสูงเทียบเคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้วที่ใช้ภาคบริการเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของระบบเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ที่มีสัดส่วนของภาคบริการสูงถึงร้อยละ 70 – 80 ของ GDP และมีสัดส่วนการจ้างงานในภาคบริการเพิ่มขึ้นในระดับที่สูงสอดคล้องกัน (ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่มีสัดส่วนการจ้างงานในภาคบริการเกินกว่าร้อยละ 70 ของการจ้างงานรวม) รวมทั้งผลิตภาพแรงงานในภาคบริการของประเทศเหล่านั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ขณะที่ในกรณีของประเทศไทยในช่วงปี ค.ศ. 2005 – 2017 พบว่า แรงงานไทยมีความนิยมเข้ามาทำงานในภาคบริการเพิ่มขึ้น (ภาพที่ 4) สะท้อนจากการจ้างงานในภาคบริการที่มีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุดในปี 2017 แรงงานไทยในภาคบริการมีสัดส่วนถึงร้อยละ 46 ของผู้มีงานทำทั้งหมด แต่อย่างไรก็ดี แรงงานภาคบริการไม่สามารถเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นได้ นั่นหมายความว่า ผลิตภาพแรงงานในภาคบริการของไทยยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ (ตารางที่ 1) และภาคบริการของไทยยังคงมีลักษณะแบบดั้งเดิม (Traditional Services) ซึ่งเป็นการใช้ทักษะแรงงานต่ำและไม่เน้นการใช้เทคโนโลยีในการให้บริการ เช่น สาขาการท่องเที่ยว โรงแรมและร้านอาหาร และการบริการด้านค้าส่ง – ค้าปลีก เป็นต้น
Average Growth | Within Sector Productivity (%) | Agriculture (%) | Manufacture (%) | Services/others (%) |
---|---|---|---|---|
(1) 1972 – 1986 | 1.5 | 0.3 | 0.5 | 0.7 |
(2) 1987 – 1996 | 4.0 | 0.5 | 1.5 | 2.0 |
(3) 1997 – 1999 | -2.6 | 0.0 | 0.3 | -3.0 |
(4) 2000 – 2014 | 2.0 | 0.2 | 1.0 | 0.7 |
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
ในขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วสาขาบริการส่วนใหญ่มีลักษณะเป็น Modern Services คือ การให้บริการที่เน้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและทักษะแรงงานขั้นสูง เช่น บริการด้านการเงินการธนาคาร ลิขสิทธิ์ทางปัญญา และการให้บริการด้าน IT ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ภาคบริการค่อนข้างสูง
รวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการส่งออกบริการที่หลากหลายมากกว่าประเทศที่กำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทยที่การส่งออกภาคบริการยังคงกระจุกตัวอยู่ในภาคการท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโดยรวมหากจะหวังพึ่งพิงภาคการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวเพราะในระยะยาวอาจจะมีข้อจำกัดด้านอุปทานได้แก่ความเพียงพอของสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งทำให้ไม่มีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจได้
4. ดึงศักยภาพภาคบริการของไทย เปลี่ยนจาก “ทำมากได้น้อย เป็นทำน้อยได้มาก”
ภาคบริการสามารถเป็นปัจจัยใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นประเทศรายได้สูงและสร้างตำแหน่งงานใหม่ ซึ่งการจะทำให้ภาคบริการของไทยสามารถเติบโตได้อย่างมีศักยภาพและยั่งยืนนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนเพื่อยกระดับภาคบริการของไทยให้ก้าวไปสู่ภาคบริการสมัยใหม่ (Modern Service) และกิจการ Cloud Service เป็นต้น
ซึ่งปัจจุบันทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีการให้ประโยชน์แก่ธุรกิจประเภทบริการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ นอกจากนี้ ประเทศไทยควรพัฒนาภาคบริการสาขาอื่นๆ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคบริการมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการอำนวยความสะดวกทางด้านกฎระเบียบการลงทุนให้เอื้ออำนวย และลดอุปสรรคในการเข้ามาลงทุนให้แก่นักลงทุนต่างชาติ เพื่อเอื้ออำนวยต่อการแข่งขันและการนำมาสู่การถ่ายทอดพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้ช่วยเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้แก่ภาคบริการไทยยิ่งขึ้น
4.1 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย Modern Service
เป็นแนวทางการให้บริการที่เน้นเทคโนโลยีสารสนเทศและการใช้ทักษะแรงงานขั้นสูง เช่น ลิขสิทธิ์ทางปัญญา เทคโนโลยีและสารสนเทศ บริการด้านการเงินการธนาคาร ความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ เป็นต้น ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล มากกว่าการส่งออกบริการที่ใช้ทักษะแรงงานต่ำ เช่น การค้าส่ง – ค้าปลีก การท่องเที่ยว เป็นต้น ที่ไม่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจมากนัก การจะทำให้ภาคบริการของไทยสามารถเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและช่วยรองรับแรงกระแทกจากปัญหาวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องยกระดับภาคบริการของไทยให้ก้าวไปสู่ความเป็น Modern Services มากยิ่งขึ้น เช่น
Medical Tourism
ภาคบริการที่เป็นจุดเด่นของประเทศไทยและควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐคือ บริการทางการแพทย์ ในอดีตบุคคลมักจะเคลื่อนย้ายจากประเทศกำลังพัฒนาไปยังประเทศพัฒนาแล้วเพื่อเข้าถึงบริการคุณภาพสูง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคุณภาพการรักษาพยาบาลในประเทศกำลังพัฒนาจำนวนหนึ่งได้มีการยกระดับคุณภาพอย่างมาก ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วประสบราคาค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว Medical Tourism เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนา Medical Hub ของรัฐบาลที่มีองค์ประกอบเพิ่มเติมอีก 3 ส่วน ได้แก่ ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) และศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub) ซึ่งในส่วนหนึ่งครอบคลุมไปถึงเครื่องมือแพทย์ด้วย (กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 2559) Medical Tourism ถูกเลือกขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของภาคบริการที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยคล้ายคลึงกับภาคท่องเที่ยวที่ผู้บริโภคในต่างประเทศสามารถเดินทางเข้ามารับบริการในประเทศที่ผลิตบริการ
หากเราพิจารณาตัวเลขจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามารับการรักษาในประเทศไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จำนวนชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2559 มีมากกว่า 3 ล้านคนในโรงพยาบาลเอกชนที่มีบทบาทสำคัญใน Medical Tourism พบว่า Medical Tourism มีมูลค่าราว 50,000 ล้านบาท ในปี 2559 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 30.4 ของรายได้จากการท่องเที่ยวจากชาวต่างชาติรวม สัดส่วนความสำคัญของ Medical Tourism ทั้งทางด้านจำนวนคนและรายได้ชี้ให้เห็นว่า Medical Tourism เป็นเสมือน Segment ที่มีมูลค่าต่อหน่วยที่สูง (High Value per unit)
ผลกระทบที่ต้องเตรียมรองรับจาก Medical Tourism
การพัฒนาประเทศไปสู่ Medical Tourism มีแนวโน้มที่ให้ผลกระทบทางลบต่อคุณภาพการรักษาพยาบาลของประเทศโดยรวมและทำให้ผลกระทบสุทธิต่อประเทศอาจไม่ชัดเจนว่าเป็นบวกเสมอไป
ความพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล ผลกระทบทางลบต่อการบริการสุขภาพของประเทศโดยรวมจาก Medical Tourism อาจมาแย่งทรัพยากรภายในประเทศ กล่าวคือ จะเกิดปัญหาการแย่งทรัพยากรทางการแพทย์และกระทบต่อคุณภาพการให้บริการ ในยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ภาครัฐจะต้องตระหนักและต้องรองรับทางด้านกฎหมายแรงงานเพื่ออำนวยความสะดวกการเข้ามาทำงานของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ต่างชาติ ซึ่งสัดส่วนแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ต่อประชากรของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงและต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ ในอาเซียน อีกประเด็นสำคัญนอกจากการขาดแคลนแพทย์ พยาบาล คือ การแย่งแพทย์จากผู้ป่วยในประเทศมายังผู้ป่วยต่างประเทศจากการเป็น Medical Tourism ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ เช่น การนำระบบ Big Data มาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีเพื่อให้แพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ของผู้ป่วยจากที่อื่นๆ ได้ไม่ยาก เป็นต้น
4.2 กิจการ Cloud Service
คำว่า Cloud สื่อถึงการใช้งานผ่าน Internetโดยระบบมีการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆปัจจุบันบริษัทบริการทางคอมพิวเตอร์ (Computing services) ซึ่งบริษัทที่ให้บริการ Cloud จะถูกเรียกว่า Cloud provider การให้บริการ Cloud (Cloud Services) ถูกใช้งานมานานแล้วหรือที่เรียกว่า Cloud Computing แต่ Cloud computing ทำงานอยู่เบื้องต้นของบริการต่างๆ ที่เราใช้บนอินเตอร์เน็ตมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอีเมล ฟังเพลงออนไลน์ หรือบริการฝากรูป เป็นต้น
ประเภทของบริการ Cloud computing แบ่งประเภทได้ ดังนี้
1. การให้บริการซอฟต์แวร์ หรือ Software as a Service (SaaS) จะให้บริการการประมวลผลแอปพลิเคชันที่แม่ข่ายของผู้ให้บริการ และเปิดให้การบริการทางด้านซอฟแวร์ต่างๆ
2. การให้บริการแพลทฟอร์ม หรือ Platform as a Service (PaaS) เป็นการประมวลผล
ซึ่งมีระบบปฏิบัติการ และการสนับสนุนเว็บแอปพลิเคชันเข้ามาร่วมด้วย
3. การให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Infrastructure as a Service (IaaS) เป็นการให้บริการเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน มีประโยชน์ในการประมวลผลทรัพยากรจำนวนมาก
4. บริการระบบจัดเก็บข้อมูล หรือ data Storage as a Service (dSaaS) ระบบการจัดเก็บข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ไม่จำกัด รองรับการสืบค้นและการจัดการข้อมูลขั้นสูง 5. บริการร่วมรวมลำดับความเชื่อมโยง หรือ Composite Service (CaaS) คือส่วนทำหน้าที่รวมโปรแกรมประยุกต์ หรือจัดลำดับการเชื่อมโยงแบบ Workflow ข้ามเครือข่าย รวมถึงการจัดการด้านความปลอดภัย
5. บริการร่วมรวมลำดับความเชื่อมโยง หรือ Composite Service (CaaS) คือส่วนทำหน้าที่รวมโปรแกรมประยุกต์ หรือจัดลำดับการเชื่อมโยงแบบ Workflow ข้ามเครือข่าย รวมถึงการจัดการด้านความปลอดภัย
ทั้งนี้ ข้อดีของ Cloud Computing จะช่วยองค์กรหรือบริษัทสามารถให้ลดต้นทุนค่าดูแลบำรุงรักษาเนื่องจากค่าบริการได้รวมค่าใช้จ่ายตามที่ใช้งานจริง เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าซ่อมแซม ค่าลิขสิทธิ์ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าอัพเกรด และค่าเช่าคู่สาย เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาศักยภาพของ Cloud Service จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคบริการให้กับผู้ประกอบการไทย
สรุป
หนึ่งในกลจักรในการออกแบบนโยบายเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันคือการพึ่งพาภาคบริการ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่จุดที่ขยับจากภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภาคบริการ จะเห็นได้จากภาคบริการของไทยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 66 ของ GDP โดยโครงสร้างแรงงานเปลี่ยนแปลงไปมากจากอดีต จาก“สังคมเกษตร” ค่อยๆ เปลี่ยนเป็น “เศรษฐกิจภาคบริการ” จากประวัติศาสตร์และแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของประเทศรายได้สูงเกิดใหม่ พบว่า หนึ่งในบทเรียนจากต่างประเทศในการก้าวข้ามผ่านกับดักรายได้ปานกลาง คือ การผลักดันให้ภาคบริการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับประเทศไทย มีเพียงบางกิจกรรมบริการเท่านั้นที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนจากการส่งออกภาคบริการของไทยที่ยังพึ่งพิงแต่ภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโดยรวมหากจะหวังพึ่งพิงภาคการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวเพราะในระยะยาวอาจจะมีข้อจำกัดด้านอุปทาน ซึ่งในความเป็นจริงนั้นภาคบริการยังมิติทางกิจกรรมที่หลากหลายในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคบริการมากยิ่งขึ้น
ภาครัฐควรมีการส่งเสริมภาคบริการอื่นๆ ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคบริการเพื่อให้สอดรับกับโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “Value – Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” และเปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น เปลี่ยนจาก Traditional Services ซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่ High Value Services และเปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะสูงเป็นการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว และเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจระดับรายได้สูงนำมาสู่การพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนเพื่อยกระดับภาคบริการของไทยให้ก้าวไปสู่ ภารคบริการสมัยใหม่ (Modern service) ซึ่งเป็นการใช้ทักษะแรงงานขั้นสูง รวมถึงการเปิดเสรีภาคบริการที่เป็นจุดเด่นของประเทศไทยและควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐที่มีมูลค่าต่อหน่วยที่สูง (High Value per unit) ซึ่งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องร่วมมือกันผลักดันและส่งเสริมต่อไป
รชากานต์ เคนชมภู
ผู้เขียน
อดีตนักศึกษาสถาปัตย์ แต่สนใจศึกษาต่อด้านเศรษฐกิจ ตอนนี้หันเหเปลี่ยนสายอาชีพเป็นเศรษฐกร เป้าหมายในการทำงานคืออยากนำความรู้ความถนัด 2 สายอาชีพที่เรียน มาพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด มีคติประจำใจที่ว่า
“ความฝันที่เล็ก ไม่สามารถรับความสำเร็จที่ใหญ่”