โอลิมปิก โอกาสทองของเศรษฐกิจ หรือวิกฤตที่ซ้อนเร้น

โอลิมปิก โอกาสทองของเศรษฐกิจ หรือวิกฤตที่ซ้อนเร้น

บทความโดย
ชานน ลิมป์ประสิทธิพร

โอลิมปิก มหกรรมกีฬาโลกกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ณ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้สโลแกน “Hope Lights Our Way” โดยคณะกรรมการโอลิมปิกได้ยืนยันว่าโอลิมปิกในโตเกียว 2020[1] จะมีพิธีเปิดในวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 2021 และเสร็จสิ้นการแข่งขันในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 2021 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของโลกที่การจัดโอลิมปิกถูกเลื่อน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

ในการจัดโอลิมปิกทุกครั้ง ประเทศเจ้าภาพต่างคาดหวังว่า โอลิมปิกจะเป็นกิจกรรมสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ทว่าการจัดโอลิมปิกของญี่ปุ่นครั้งนี้ จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศเจ้าภาพ หรือเป็นความเสี่ยงที่นำไปสู่วิกฤตซ้ำเติมสภาพเศรษฐกิจที่เปราะบางกันแน่

รูปภาพที่ 1 : สัญลักษณ์ (ซ้าย) และมาสคอต (ขวา) ประจำโอลิมปิก 2020

[1] Tokyo 2020. (2020, November 23). Retrieved November 24, 2020, from https://www.olympic.org/tokyo-2020

1. ประโยชน์ของการเป็นประเทศเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิก

การได้เป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดมหกรรมกีฬาโลก ที่มีนักกีฬาเข้าร่วมมากกว่า 11,000 คน พร้อมกับทีมงาน รวมถึงผู้ชมทั่วโลก หลั่งไหลเข้าสู่งานโอลิมปิก ประเทศที่เป็นเจ้าภาพในการจัดย่อมได้รับประโยชน์มหาศาล ซึ่งจากงานวิจัย Going for the Gold: The Economics of the Olympics[2] โดย Robert Baade และ Victor Matheson ได้บรรยายประโยชน์ที่ได้รับจากการเป็นเจ้าภาพไว้ 3 ด้าน คือ (1) รายได้จากนักท่องเที่ยวในระยะสั้น โดยเฉพาะช่วงที่มีการแข่งขัน (2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งอาจดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในระยะยาว และ (3) ผลประโยชน์ที่จับต้องไม่ได้ เช่น ความภาคภูมิใจในการได้เป็นประเทศเจ้าภาพ และได้เป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์กีฬาของมนุษยชาติ

นอกจากนี้ การคาดการณ์ของธนาคารกลางญี่ปุ่นในรายงาน Economic Impact of the Tokyo 2020 Olympic Games ได้ประเมินว่าประเทศญี่ปุ่นจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มมากกว่า 20 ล้านคน มีเม็ดเงินสะพัดเข้าประเทศกว่า 31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ที่แท้จริงจะขยายตัวขึ้นในช่วง 2 – 5 ปีก่อนที่จะจัดการแข่งขัน เนื่องจากการลงทุนทางโครงสร้างที่เพิ่มขึ้นในประเทศ และขยายตัวมากกว่าช่วงเวลาปกติ ทั้งนี้ ระดับ GDP จะไม่ลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากที่การแข่งขันจบลง แต่อัตราการว่างงานจะลดลงจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น


[2] Baade, R. A., & Matheson, V. A. (2016). Going for the Gold: The Economics of the Olympics [Abstract]. The Journal of Economic Perspectives. doi:10.1257/jep.30.2.201

2. ความเสี่ยงที่ต้องเผชิญกับผลกระทบทางลบของการเป็นประเทศเจ้าภาพ

การได้เป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดโอลิมปิก นอกจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่กล่าวมาข้างต้น ประเทศเจ้าภาพยังต้องแบกรับความเสี่ยงอย่างมาก ทั้งด้านต้นทุนการจัดโอลิมปิก ความไม่แน่นอนของการได้จัดมหกรรมกีฬา และค่าดูแลรักษาที่ผูกพันระยะยาว เป็นต้น

2.1 ต้นทุนมหาศาล และความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจ

การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกต้องใช้ต้นทุนที่มหาศาล ตั้งแต่ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในกระบวนการการยื่นเสนอชื่อขอเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกต่อคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee: IOC) การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ด้านที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับนักกีฬา ทีมงาน และผู้เข้าชมจำนวนมากที่จะเข้ามาในประเทศ ค่าดำเนินการในการจัดพิธีเปิด-ปิด การแสดง การประชาสัมพันธ์ ตลอดจนค่ารักษาความปลอดภัยตลอดช่วงที่มีการแข่งขัน

ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ได้สร้างภาระและหนี้ก้อนใหญ่ต่อประเทศเจ้าภาพ ทำให้ประเทศต้องแบกความเสี่ยงสูงเพื่อแลกกับผลประโยชน์ที่จะได้นั้น ซึ่งอาจไม่คุ้มค่ากับจำนวนเงินที่เสียไป แน่นอนว่าเงินที่ใช้ส่วนหนึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ทำให้เกิดการประท้วงเนื่องจากไม่พอใจที่ภาษีถูกนำไปใช้เพื่อจัดมหกรรมดังกล่าว ตัวอย่างเช่น การประท้วงที่เกิดขึ้นประเทศบราซิล จากการเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกที่ รีโอ เด จาเนโร เมื่อปี 2016

รูปภาพที่ 2 : บรรยากาศการประท้วง ในช่วงที่มีการแข่งขันโอลิมปิก ค.ศ. 2016 ณ ประเทศบราซิล[3]

สำหรับประเทศญี่ปุ่นประเทศเจ้าภาพโอลิมปิคในปี 2021 มีการใช้จ่ายเงินไปแล้วกว่า 12.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการลงทุนเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดโอลิมปิกที่จะมาถึง และบทความ Oxford Study: Tokyo Olympics are most costly Summer Games.[4] กล่าวว่า การจัดโอลิมปิกของญี่ปุ่นครั้งนี้ เผชิญความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะการต้องเลื่อนการจัดจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ดี ต้นทุนของการจัดครั้งนี้ อาจเป็นการจัดที่มีต้นทุนสูงที่สุดในประวัติการณ์ ซึ่งตอกย้ำต้นทุนของการเป็นเจ้าภาพที่สิ้นเปลืองเกินไปของโอลิมปิก และสร้างความกังวลแก่ประเทศที่ต้องการเป็นเจ้าภาพในอนาคต ซึ่งความเห็นเหล่านี้ก็ได้แสดงความไม่พอใจให้ IOC


[3] ที่มารูปภาพ: Sporting News
[4] Wade, S. (2020, September 04). Oxford study: Tokyo Olympics are most costly Summer Games. Retrieved December 01, 2020, from https://apnews.com/article/cfd618b2fba9109d01103bd9ecae33a3

2.2 ความไม่แน่นอนในการจัดการแข่งขัน

การจัดโอลิมปิกเคยถูกยกเลิกการจัดมาแล้วทั้งสิ้น 3 ครั้ง[5] ได้แก่ ปี ค.ศ. 1916 (เบอร์ลิน, ประเทศเยอรมัน) เนื่องจากการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 การยกเลิกในปี ค.ศ. 1940 (โตเกียว, ประเทศญี่ปุ่น) และ 1944 (ลอนดอน, ประเทศอังกฤษ) เป็นผลมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2

สำหรับประเทศญี่ปุ่น กำหนดการเดิมต้องจัดในปี ค.ศ. 2020 แต่ถูกเลื่อนออกไป สาเหตุมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซี่งจากความจำเป็นต้องเลื่อนการจัดโอลิมปิกของญี่ปุ่น ส่งผลให้ญี่ปุ่นเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินเป็นจำนวนมากกว่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหากต้องถูกยกเลิก งบประมาณภาครัฐที่ลงทุนไปทั้งหมดกว่าแสนล้านเหรียญสหรัฐจะสูญเปล่า[6] และยังไม่รวมกับเม็ดเงินลงทุนของภาคเอกชนนับไม่ถ้วน อันจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างแน่นอน


[5] Roos, D. (2020, March 24). When World Events Disrupted the Olympics. Retrieved November 24, 2020, from https://www.history.com/news/olympics-postponed-cancelled
[6] IMAHASHI, R., & REGALADO, F. (2020, March 24). Olympics delay to cost Japan $6bn in economic losses. Retrieved November 24, 2020, from https://asia.nikkei.com/Spotlight/Tokyo-2020-Olympics/Olympics-delay-to-cost-Japan-6bn-in-economic-losses

2.3 โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ยั่งยืน ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ

การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างขึ้นเพื่ออุปสงค์ที่พุ่งขึ้นเพียงชั่วคราวจากการแข่งขัน จำเป็นต้องตอบคำถามสำคัญให้ได้ว่าการสร้างจะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ และที่สำคัญ จะได้ใช้ประโยชน์จริงหลังการแข่งขันจบลงหรือไม่

ประเทศเจ้าภาพหลายประเทศที่จัดในครั้งก่อน ไม่ว่าจะเป็นบราซิล หรือกรีซ ต่างได้รับบทเรียนราคาแพง จากการจัดงานที่ใหญ่เกินตัว และโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างแล้ว แต่ไม่ได้ใช้อีกหลังจบงาน เช่น สนามกีฬาว่ายน้ำที่ใหญ่เกินความต้องการ สนามฟุตบอลที่มีความจุมหาศาล เกินกว่าที่จำนวนผู้ชมเฉลี่ยในประเทศ นอกจากจะไม่ได้ใช้งาน ยังจำเป็นต้องแบ่งงบประมาณเพื่อรักษาสภาพโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ให้ดี เป็นภาระผูกพันที่มักจะไม่ได้คำนวณในต้นทุนของการเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิก หากไม่สามารถจัดการได้ ก็มีแนวโน้มที่จะปล่อยร้าง สูญงบประมาณไปอย่างน่าเสียดาย

รูปภาพที่ 3 : ศูนย์กีฬาทางน้ำที่ถูกสร้างขึ้น ณ เอเธนส์  ประเทศกรีซ โอลิมปิก ปี ค.ศ. 2004[7]

[7] ที่มารูปภาพ: Getty Images

3. บทสรุป

การได้เป็นเจ้าภาพในการจัดโอลิมปิก เป็นโอกาสที่ดีของแต่ละประเทศ ได้สร้างชื่อเสียงและเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ทางกีฬาของโลก ทั้งยังเป็นโอกาสดีในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ พร้อมรับนักท่องเที่ยว และเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงในหลายด้าน โดยเฉพาะต้นทุนที่สูงมาก จึงควรมีการบริหารและจัดการงบประมาณในการจัดงานอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่สร้างภาระต่อประเทศในระยะยาว รวมถึงควรมีการคำนวณความคุ้มค่าของการได้เป็นเจ้าภาพตามความจริงอยู่เสมอ สำหรับประเทศไทย หากต้องการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในอนาคต ควรศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน และนำข้อมูลเหล่านี้มาประกอบการตัดสินใจอย่างรอบคอบ

ชานน ลิมป์ประสิทธิพร

ชานน ลิมป์ประสิทธิพร
เศรษฐกรปฏิบัติการ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน