เที่ยวญี่ปุ่นแบบ History Geek : เมื่อจิตวิญญาณ์บูชิโดเรียกขาน

เที่ยวญี่ปุ่นแบบ History Geek : เมื่อจิตวิญญาณ์บูชิโดเรียกขาน

กมลณิช สวัสดิ์พาณิชย์

ตระกูลโตกุกาวะ (Tokugawa) คือตระกูลโชกุนตระกูลสุดท้ายของญี่ปุ่น ก่อนที่ระบอบโชกุนจะถูกล้มล้างไปในเหตุการณ์ปฏิรูปเมจิ (Meiji Restoration) เมื่อปี ค.ศ. 1866 – 1869 และในสงครามโบชิน (Boshin War) ซึ่งเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายสนับสนุนโชกุนกับฝ่ายปฏิวัตินี้เองที่สร้างวีรบุรุษขึ้นมามากมาย หนึ่งในนั้นคือกลุ่มซามูไรนามว่า “ชินเซ็นกุมิ (Shinsengumi)”

ภาพวาดกลุ่มชินเซ็นกุมิจากหนังสือการ์ตูน เรื่อง ซามูไรพเนจร

กลุ่มชินเซ็นกุมิ คือ การรวมตัวกันของชาวบ้านและชาวนาที่ปรารถนาจะเป็นซามูไร โดยริเริ่มขึ้นจากบรรดาครูดาบและนักเรียนแห่งโรงดาบชิเอคัง ในเขตมิโนะ เมืองเอโดะ (ปัจจุบันคือโตเกียว) เมื่อรวมตัวกันได้พร้อมจุดมุ่งหมายที่แน่วแน่แล้ว กลุ่มชินเซ็นกุมิก็เดินทางมาที่กรุงเกียวโตอันเป็นเมืองหลวง (ที่ประทับขององค์จักรพรรดิ) ในสมัยนั้น และเข้าอาสาเป็นกองกำลังพิทักษ์ฝ่ายรัฐบาลโชกุน โดยได้รับหน้าที่ให้รักษาความสงบในกรุงเกียวโต แม้ท้ายสุดจะพ่ายแพ้ให้กับฝ่ายปฏิวัติ แต่กลุ่มชินเซ็นกุมิก็เป็นสัญลักษณ์แห่งอุดมการณ์ของซามูไร และได้รับการนับถือจากจิตใจที่กล้าหาญ โดยปรากฏนิยาย ภาพยนตร์ การ์ตูน และวีดีโอเกม เกี่ยวกับชะตาชีวิตที่น่าตื่นเต้นและน่าโศกเศร้าของพวกเขาจำนวนนับไม่ถ้วนมาจนถึงปัจจุบัน

ในบทความนี้ จะได้พาทุกท่านย้อนกลับไปสู่บรรยากาศแห่งความวุ่นวายในยุคบาคุมัตสึ (Bakumatsu – ยุคปฏิวัติเมจิ) พร้อมเดินย้อนรอยเท้าเหล่าสมาชิกผู้โด่งดังแห่งชินเซ็นกุมิ

คำเตือน: บทความนี้จะพาทุกท่านไปพบกับ “มุม” ของญี่ปุ่นที่ซุกซ่อนอยู่และอาจไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อน

บ้านเกิดและการฝึกดาบ

จากสถานีโตเกียว ใช้เวลาเดินทางโดยรถไฟประมาณ 40 นาทีไปยังเขต Chofu และประมาณ 50 นาทีไปยังเขต Hino คือพื้นที่อันเป็นสถานที่เกิดของสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มชินเซ็นกุมิ ไม่ว่าจะเป็น

คอนโด้ อิซามิ (Kondo Isami) หัวหน้ากลุ่ม ฮิจิคาตะ โทชิโซ (Hijikata Toshizo) รองหัวหน้ากลุ่ม (ผู้ได้ชื่อว่าเป็นซามูไรที่รูปหล่อที่สุดในประวัติศาสตร์)

พื้นที่บริเวณบ้านที่คอนโด้ อิซามิ (Kondo Isami) หัวหน้ากลุ่มชินเซ็นกุมิถือกำเนิดอยู่ในเขต Chofu ชานเมืองด้านตะวันตกของโตเกียว

คอนโด้ อิซามิ หัวหน้ากลุ่มชินเซ็นกุมิ เป็นผู้สืบทอดเพลงดาบสายเท็นเน็นริชชินริว แห่งโรงฝึกชิเอคัง ภายหลังได้เป็นผู้นำกลุ่มชินเซ็นกุมิเข้าอาสารับใช้รัฐบาลโชกุนในกรุงเกียวโต สร้างชื่อเสียงโด่งดังให้เป็นที่รู้จักไปทั่วญี่ปุ่นจากเหตุการณ์อิเคดะยะ (Ikedaya Incident) เมื่อกลุ่มคณะปฏิวัติได้มีการประชุมลับวางแผนเผากรุงเกียวโตเพื่อลักพาตัวองค์จักรพรรดิ ณ โรงเตี๊ยมอิเคดะยะคอนโด้ อิซามิ พร้อมกลุ่มชินเซ็นกุมินำกำลังเข้าจับกุม เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง แต่ก็สามารถสังหารและจับกุมผู้ก่อการไว้ได้

หลังพ่ายแพ้ในศึกโคชู-คัตสึนึมะ (The Battle of Koshu-Katsunuma) ใกล้ปราสาทโคฟู (Kofu Castle) ทางทิศตะวันตกของโตเกียว คอนโด้ อิซามิ ก็พากลุ่มชินเซ็นกุมิหลบหนี ก่อนจะเสียสละตนเองให้ฝ่ายรัฐบาลจับกุมที่นากาเรยะมะ (Nagareyama) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของโตเกียว เพื่อให้สมาชิกที่เหลือสามารถหนีไปได้ ก่อนจะถูกนำตัวไปประหารด้วยการตัดศีรษะที่ลานประหารอิตะบะชิ (Itabashi Keijo)

เมื่อกลับเข้ามากลางเมืองโตเกียว ในตรอกเล็กๆ ระหว่างหอพักสองอาคารบริเวณใจกลางย่านชินจูกุ ร่องรอยของประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัยกำลังมองความวุ่นวายในยุคมิลเลนเนียมอย่างเงียบงัน

ศาลเจ้าประจำโรงฝึกดาบชิเอคังอันเป็นสถานที่บ่มเพาะวิชาดาบสายเท็นเน็นริชชินริวให้แก่สมาชิกของกลุ่มชินเซ็นกุมิ คือสิ่งก่อสร้างเพียงอย่างเดียวที่เหลืออยู่ของโรงฝึก

ศาลเจ้าประจำโรงฝึกชิเอคัง (Shiekan) บริเวณใจกลางย่านชินจูกุ

ปฏิบัติการรักษาความสงบของกรุงเกียวโต

ภารกิจของกลุ่มชินเซ็นกุมิเริ่มขึ้นเมื่อเดินทางมาถึงกรุงเกียวโต โดยได้รับมอบหมายให้รักษาความสงบของเมืองหลวง เนื่องจากในเวลานั้นเกิดการจลาจลปล้นชิงโดยซามูไรไร้นายบ่อยครั้ง รวมถึงการลอบสังหารบุคคลสำคัญของรัฐบาลโดยมือสังหารจากคณะปฏิวัติ เรียกได้ว่า ณ ช่วงเวลานั้น เกียวโตคือเมืองแห่งความวุ่นวายและการนองเลือดอย่างแท้จริง

ในเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 1864 กลุ่มชินเซ็นกุมิได้รับข่าวสารในทางลับมาว่า สมาชิกของคณะปฏิวัติจะรวมตัวกันเพื่อประชุมวางแผนเผากรุงเกียวโต ลักพาตัวองค์จักรพรรดิ ณ โรงเตี๊ยมอิเคดะยะ (Ikedaya) คอนโด้ อิซามิ นำสมาชิกชินเซ็นกุมิ บุกเข้าจับกุมในกลางดึกของวันที่ 8 กรกฎาคม หลังจากการประกาศกร้าวของคอนโด้ “นี่คือชินเซ็นกุมิ ใครขัดขืนจะโดนสังหารอย่างไม่ละเว้น” ความโกลาหลและการปะทะนองเลือดก็บังเกิดขึ้นทันที

บริเวณโรงเตี๊ยม Ikedaya ในปัจจุบันคือร้านอาหารชื่อ Ikedaya Hananomai ซึ่งตกแต่งด้วยหุ่นขี้ผึ้งและภาพจำลองเหตุการณ์ Ikedaya Incident รายการอาหารก็เป็นชื่อบุคคลสำคัญต่าง ๆ ในช่วงยุคบาคุมัตสึ

ในเหตุการณ์นี้ โอคิตะ โซจิ (Okita Soji) หัวหน้าหน่วยที่ 1 ของชินเซ็นกุมิผู้ได้ชื่อว่ายอดนักดาบอัจฉริยะแห่งยุค เกิดอาการวัณโรคกำเริบ และหมดสติไป

แคว้นโจชูซึ่งเป็นแกนนำในการปฏิวัติได้ตอบโต้เหตุการณ์ Ikedaya Incident ด้วยการโจมตีพระราชวังหลวงบริเวณหน้าประตูฮามากุริ (Hamaguri Gate) เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1864 ซึ่งกองทัพฝ่ายโชกุนรวมถึง กลุ่มชินเซ็นกุมิได้ต่อต้านไว้อย่างสุดกำลังจนกองทัพฝ่ายปฏิวัติแตกพ่ายกลับไป และแคว้นโจชูถูกประกาศว่าเป็น “กบฏ” เหตุการณ์นี้ในภายหลังเรียกว่า Kinmon Rebellion

รอยกระสุนปืนที่ยังปรากฏอยู่อย่างชัดเจนบนประตูคามากุริ ของพระราชวังหลวงในเมืองเกียวโต

แผ่นป้ายประกาศว่าแคว้นโจชูคือ “กบฏ” ถูกปิดไว้บริเวณเชิงสะพานซันโจ (Sanjo) ข้ามแม่น้ำคาโมะ (Kamo River) แต่ป้ายประกาศนี้ก็ถูกกลุ่มซามูไรแคว้นโจชูลอบมาทำลายตอนกลางดึกอยู่หลายครั้ง

จนกระทั่งหน่วยที่ 10 ของกลุ่มชินเซ็นกุมิ นำโดยหัวหน้าหน่วย ฮาราดะ ซาโนสุเกะ (Harada Sanosuke) ได้รับคำสั่งให้ทำหน้าที่เฝ้ายามป้ายประกาศ และได้ปะทะกับกลุ่มซามูไรแคว้นโจชูในกลางดึกของวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1866 โดยสามารถสังหารซามูไรแคว้นโจชูได้จำนวนหนึ่ง เหตุการณ์นี้เรียกว่า Sanjo Seisatsu Incident

ร่องรอยดาบจากการปะทะใน Sanjo Seisatsu Incident ยังปรากฏชัดเจนบนเสา
หัวสะพานต้นหนึ่ง คาดว่าน่าจะเป็นรอยฟัน ของฝ่ายชินเซ็นกุมิ

                     
                                 

ชะตาชีวิตที่ดับสูญ

เมื่อสงครามโบชินระเบิดขึ้นในปี ค.ศ. 1868 และกองทัพฝ่ายโชกุนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในศึกโทบะ-ฟุชิมิ (The Battle of Toba-Fushimi) กลุ่มชินเซ็นกุมิพร้อมกองทัพโชกุนที่เหลือจึงล่าถอยกลับไปที่เอโดะ (โตเกียว) ต่อมากลุ่มชินเซ็นกุมิที่ได้รับคำสั่งให้ไปโจมตีปราสาทโคฟู ก็ได้พ่ายแพ้ต่อกองทัพรัฐบาลใหม่ (รัฐบาลเมจิ – ณ เวลานั้น โชกุนได้ยอมถวายอำนาจคืนพระจักรพรรดิแล้ว แต่เมื่อยังคงถูกบีบคั้นโดยรัฐบาลใหม่ จึงทำให้เกิดสงครามโบชินขึ้น)

คอนโด้ อิซามิ ยอมเสียสละตนเองให้ฝ่ายรัฐบาลจับกุมตัวที่นากาเรยะมะ (Nagareyama) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของโตเกียว เพื่อถ่วงเวลาให้สมาชิกคนอื่น ๆ ภายใต้การนำของรองหัวหน้ากลุ่ม ฮิจิคาตะ โทชิโซ สามารถหนีไปได้ ก่อนที่คอนโด้อิซามิ จะถูกนำตัวไปตัดศีรษะที่ลานประหารอิตะบะชิ

บริเวณที่คอนโด้ อิซามิ ถูกจับกุมตัว ณ นากาเรยะมะ
ลานประหารอิตะบะชิ (Itabashi) ทางเหนือของเขตชินจูกุ

สมาชิกกลุ่มชินเซ็นกุมิที่เหลือหนีขึ้นเหนือไปยังไอสึ-วาคามัตสึ (Aizu-Wakamatsu) เซ็นได (Sendai) แล้วล่องเรือไปยังเกาะฮอกไกโด ก่อนจะร่วมกับกองทัพฝ่ายสนับสนุนโชกุนประกาศแยกตัวเป็นประเทศใหม่ นามว่า “สาธารณรัฐเอโสะ (Republic of Ezo)” โดยฮิจิคาตะ โทชิโซ ดำรงตำแหน่งรองรัฐมนตรีกลาโหม

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1868 จนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1869 กองทัพรัฐบาลเมจิปะทะกับกองทัพเอโสะณ เมืองฮาโกดาเตะ (The Battle of Hakodate) โดยกองทัพเอโสะตั้งศูนย์บัญชาหลักอยู่ที่ป้อมโกเรียวคาคุ (Goryokaku – ป้อมรูปดาวที่มีชื่อเสียงมากในฐานะสถานที่ชมซากุระในปัจจุบัน)

ในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1869 ขณะที่ฮิจิคาตะ โทชิโซ กำลังควบม้านำกองกำลังเข้ายึดพื้นที่คืนจากกองทัพรัฐบาลเมจิ เขาก็ถูกยิงตกจากหลังม้า เสียชีวิต

รูปปั้นของฮิจิคาตะ โทชิโซ บริเวณโถงชั้นล่างของหอคอยโกเรียวคาคุ (Goryokaku Tower)
ในเมืองฮาโกดาเตะ
จากป้อมโกเรียวคาคุลงมาทางใต้ประมาณ 900 เมตร คือจุดที่ฮิจิคาตะ โทชิโซ เสียชีวิต

ฮิจิคาตะ โทชิโซ รองหัวหน้ากลุ่มชินเซ็นกุมิ ผู้ได้รับฉายาว่า “รองหัวหน้าปีศาจ” จากความเข้มงวดและการรักษากฏที่เคร่งครัด เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในทุก ๆ เหตุการณ์ของกลุ่มชินเซ็นกุมิ

จากคนขายยาจนกระทั่งได้รู้จักสนิทสนมกับคอนโด้ อิซามิ และเป็นผู้จงรักภักดีต่อ
คอนโด้ อิซามิ ในทุกสมรภูมิ เมื่อต้องละทิ้งแผ่นดินใหญ่หนีขึ้นเหนือไปยังเกาะฮอกไกโด เขารู้ดีว่าศึกครั้งนี้ไม่มีทางชนะ แต่เขาก็ยังคงยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องเพื่อนร่วมรบที่ศรัทธาในอุดมการณ์เดียวกัน เขาเคยกล่าวว่า “ข้าขอปกป้องผู้คนที่ยังมีชีวิต ที่ยังหายใจ ที่ข้าสัมผัสได้ มากกว่าจะปกป้องโชกุนที่อยู่บนเมฆและข้าไม่เคยเห็น”

บนป้ายหลุมศพของเขาได้จารึกบทกลอนซึ่งเขาเขียนถึงคนสนิทเมื่อต้องหนีขึ้นเหนือไป ราวกับจะรู้ชะตากรรมของตัวเองว่า

“แม้ร่างของข้าจะทับถมลง ณ เกาะเอโสะ แต่วิญญาณของข้าจะขอปกป้องนายเหนือหัว ณ เบื้องบูรพาทิศ”

กมลณิช สวัสดิ์พาณิชย์
ผู้เขียน

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

Photo by Andre Benz on Unsplash