การแลกเปลี่ยนทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวไทย-อินเดีย(Trade, Investment and Tourism of Thailand-India)

การแลกเปลี่ยนทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวไทย-อินเดีย(Trade, Investment and Tourism of Thailand-India)

บทความโดย
นายรัชพล พงษ์ประเสริฐ

1. บทนำ

ประเทศอินเดียจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับล่าง โดยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก และครองตำแหน่งอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียใต้ เศรษฐกิจของอินเดียเป็นเศรษฐกิจแบบผสมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีการผสมผสานระหว่างอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เกษตรกรรมแบบดั้งเดิม และบริการที่หลากหลาย ในปี พ.ศ. 2566 ระบบเศรษฐกิจของประเทศอินเดียมีการพึ่งพาการบริโภคภาคเอกชนและภาคบริการเป็นหลัก โดยภาคเกษตรกรรมยังคงมีบทบาทสำคัญในการจ้างงาน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของแรงงานทั้งประเทศ ในด้านการค้าระหว่างประเทศ อินเดียมีการส่งออกสินค้าที่สำคัญหลายประเภท อาทิ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อัญมณี เภสัชภัณฑ์ และซอฟต์แวร์ ในขณะที่สินค้านำเข้าที่สำคัญประกอบด้วย น้ำมันดิบ ทองคำ และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ประเทศอินเดียยังสามารถดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ แม้ว่าประเทศอินเดียจะเผชิญกับความท้าทายทั้งภายในและภายนอกประเทศ แต่แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศยังคงมีความแข็งแกร่ง อันเนื่องมาจากปัจจัยสนับสนุนหลายประการ อาทิ ข้อได้เปรียบด้านโครงสร้างประชากรการขยายตัวของเขตเมือง การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับไทยมีรากฐานอันยาวนานทางประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรม โดยนโยบายปฏิบัติการตะวันออกของอินเดีย (Act East Policy) และนโยบายปฏิบัติการตะวันตกของไทย (Act West Policy) มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคี ครอบคลุมมิติด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว สาธารณรัฐอินเดียถือเป็นตลาดเป้าหมายที่สำคัญของไทยในด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวอินเดียมีศักยภาพสูงด้านการใช้จ่าย โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวจากอินเดียที่เดินทางมายังประเทศไทยมีจำนวนมากเป็นอันดับที่ 5 ในด้านการค้าและการลงทุน มีการดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนโดยภาครัฐ และการบังคับใช้ความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศทั้งในรูปแบบพหุภาคีและทวิภาคี อาทิ ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย (Thailand-India Free Trade Agreement: TIFTA) และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย ทั้งนี้ ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างประชาชนและวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ ประกอบกับมาตรการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวจากภาครัฐ ล้วนส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอินเดียดำรงอยู่ในระดับสูงและก่อให้เกิดพลวัตความสัมพันธ์ในมิติต่าง ๆ

ในบทความนี้จะกล่าวถึงการศึกษาข้อมูลเศรษฐกิจอินเดียในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาและการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและอินเดียโดยครอบคลุมถึงด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้อ่านสามารถทราบถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและพัฒนาการความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศในเชิงลึก โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ดังต่อไปนี้

2. เศรษฐกิจอินเดียในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมาประเทศอินเดียประสบความสำเร็จอย่างสูงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้ว่าในปี พ.ศ. 2563 ประเทศจะต้องเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่อินเดียสามารถฟื้นฟูกลับสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็วจากพื้นฐานเศรษฐกิจมหภาคและเสถียรภาพทางการเงินที่แข้มแข็ง ส่งผลต่อเนื่องให้อินเดียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีในปัจจุบัน แม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ผันผวน โดยอินเดียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสูงถึง 2.06 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 7.7 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยได้แรงหนุนหลักจากอุปสงค์ภายในประเทศโดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและภาคการบริการที่แข็งแกร่ง ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะก้าวขึ้นเป็นเศรษฐกิจอันดับที่ 3 ของโลกภายในปี พ.ศ. 2570

ภาพที่ 1 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Real GDP) และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอินเดีย

ที่มา: CEIC รวบรวมโดย สศค.

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้าหลักของไทยในช่วง 10 ปี (สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร) พบว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียอยู่ในอันดับต้น ๆ มีเพียงไม่กี่ปีเท่านั้นที่ด้อยกว่าจีน และในปี พ.ศ. 2564 มีอัตราการขยายตัวสูงสุดที่ร้อยละ 9.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า

ภาพที่ 2 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอินเดียเทียบกับประเทศคู่ค้าหลักของไทย

ที่มา: CEIC รวบรวมโดย สศค.

โครงสร้างเศรษฐกิจอินเดียแบ่งออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่ ด้านอุปสงค์และด้านอุปทาน โดยในด้านอุปสงค์นั้น การบริโภคภาคเอกชนเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจอินเดีย มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 63.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของผู้บริโภคในระบบเศรษฐกิจของประเทศ รองลงมาคือ
การลงทุนรวมคิดเป็นร้อยละ 36.8 การบริโภคภาครัฐร้อยละ 10.7 และสินค้าคงคลังร้อยละ 0.9 ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกสุทธิติดลบที่ร้อยละ 2.3 โดยมีอัตราการเปิดประเทศที่ร้อยละ 53.1 สำหรับด้านอุปทานนั้น ภาคบริการมีบทบาทสำคัญที่สุดในโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 65.96 รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 19.36 และภาคเกษตรกรรม ร้อยละ 14.68 ตามลำดับ ข้อมูลเชิงโครงสร้างนี้แสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะของเศรษฐกิจอินเดีย ซึ่งมีการบริโภคภาคเอกชนและภาคบริการเป็นองค์ประกอบหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ภาพที่ 3 โครงสร้างเศรษฐกิจด้านอุปสงค์และอุปทานของอินเดียปี พ.ศ. 2566

ที่มา: CEIC รวบรวมโดย สศค.

3. ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและอินเดีย

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและอินเดียได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การริเริ่มนโยบาย “มองตะวันออก” (Look East Policy) ของอินเดียในปี พ.ศ. 2536 และนโยบาย “มองตะวันตก” ของประเทศไทย (Look West) ในปี พ.ศ. 2539 ปัจจุบัน นโยบายดังกล่าวได้พัฒนาเป็นนโยบาย “ปฏิบัติการตะวันออก” (Act East Policy) ของอินเดีย และ “ปฏิบัติการตะวันตก” (Act West Policy) ของไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ครอบคลุมมิติด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งประเทศอินเดียถือเป็นตลาดเป้าหมายหลักของไทยในด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากมีประชากรมากที่สุดในโลก กว่า 1.44 พันล้านคน ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวชาวอินเดียที่เดินทางมายังประเทศไทยมีจำนวนเป็นอันดับที่ 5 และจัดอยู่ในกลุ่มที่มีศักยภาพด้านการใช้จ่ายสูง ในส่วนของการค้าและการลงทุน แม้ว่าอินเดียยังคงเป็นตลาดรองในปัจจุบัน แต่มีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็นตลาดเป้าหมายหลักของประเทสไทยในอนาคต โดยมีการบังคับใช้ความตกลงทางการค้าและมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากภาค ด้วยเหตุนี้ พลวัตทางเศรษฐกิจของอินเดียย่อมส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากประเทศไทยมีระบบเศรษฐกิจแบบเปิด ซึ่งมีความเชื่อมโยงและพึ่งพาการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

3.1 ด้านการค้า

ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและอินเดียมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน โดยมีการบังคับใช้ความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย (Thailand-India Free Trade Agreement: TIFTA) ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2547 และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India Free Trade Agreement: AIFTA) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 ในปี พ.ศ. 2566 มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศอยู่ที่ 4,987.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสินค้าที่สำคัญ อาทิ ลวดทองแดง ความตกลงดังกล่าวส่งผลให้การค้าระหว่างทั้งสองประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยประเทศไทยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี พ.ศ. 2570 มูลค่าการค้าไทย-อินเดียจะเพิ่มขึ้นเป็น 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ข้อมูลล่าสุดในปี พ.ศ. 2567 (มกราคม – เมษายน) แสดงให้เห็นว่ามูลค่าการส่งออกของไทยไปยังอินเดียอยู่ที่ 3,478 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 64.16 ของมูลค่าการค้ารวม ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 1,943 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 35.84 ของมูลค่าการค้ารวม เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างปี พ.ศ. 2550 ถึง 2566 พบว่าประเทศไทยมีดุลการค้าเกินดุลกับอินเดียอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังอินเดียในปี พ.ศ. 2566 ขยายตัวมากกว่า 4 เท่า และมูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยจากอินเดียขยายตัวถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับมูลค่าในปี พ.ศ. 2550

ภาพที่ 4 มูลค่าสินค้าออก สินค้านำเข้า และดุลการค้าระหว่างไทยกับอินเดีย
ระหว่างปี พ.ศ. 2550 ถึง 2566

ที่มา: กระทรวงพาณิชย์ รวบรวมโดย สศค.

เมื่อพิจารณารายละเอียดการค้าระหว่างไทยและอินเดียในปี พ.ศ. 2566 พบว่า อินเดียเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับ 9 ของประเทศไทย โดยมีมูลค่าส่งออก 10,118.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.56 ของมูลค่าการส่งออกรวมของประเทศไทย สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปยังอินเดีย ประกอบด้วย เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ อัญมณีและเครื่องประดับ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ในช่วงเดือนมกราคมถึงธันวาคม พ.ศ. 2566 การส่งออกของไทยไปอินเดียหดตัวร้อยละ -3.94 อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกบางรายการยังคงมีอัตราการเติบโตที่น่าพอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ซึ่งขยายตัวในอัตราร้อยละ 15.08 อันเป็นผลมาจากความต้องการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการก่อสร้างและการผลิตในอินเดีย ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตดังกล่าวมาจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของอินเดียที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาสสุดท้ายของปี พ.ศ. 2566 ประกอบกับนโยบายส่งเสริมภาคการผลิตเพื่อผลักดันให้อินเดียก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลก (Global Manufacturing Hub)

ตารางที่ 1 สินค้าส่งออกของไทยไปยังอินเดียที่สำคัญ

ที่มา: กระทรวงพาณิชย์ รวบรวมโดย สศค.

          ในส่วนของการนำเข้า ข้อมูล ปี พ.ศ. 2566 แสดงให้เห็นว่าอินเดียเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 14 ของประเทศไทย โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 5,926.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.05 ของมูลค่าการนำเข้ารวมของประเทศไทย สินค้านำเข้าที่สำคัญจากอินเดียประกอบด้วย เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบเคมีภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และสินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงธันวาคม พ.ศ. 2566 การนำเข้าของไทยจากอินเดียมีอัตราการหดตัวร้อยละ -17.40

ตารางที่ 2 สินค้านำเข้าจากอินเดียมายังไทยที่สำคัญ

ที่มา: กระทรวงพาณิชย์ รวบรวมโดย สศค.

3.2 ด้านการลงทุน

                    อินเดียเป็นแหล่งเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่สำคัญอันดับที่ 23 ของประเทศไทย โดยข้อมูลในไตรมาสที่ 3 ปี พ.ศ. 2566 มียอดคงค้างเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมูลค่า 1,040.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.36 ของเงินลงทุนสุทธิจากต่างประเทศทั้งหมด

ภาพที่ 5 สัดส่วนแหล่งเงินลงทุนจากต่างประเทศสุทธิไตรมาส 3 ปี พ.ศ. 2566

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย รวบรวมโดย สศค.

           ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2549 ถึง 2565 ยอดคงค้างเงินลงทุนโดยตรงจากอินเดียมีความผันผวนอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี พ.ศ. 2551 ที่ยอดคงค้างลดลงถึงร้อยละ 60.31 อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2562 การลงทุนโดยตรงสุทธิของอินเดียในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจนมีมูลค่าถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มยอดคงค้างเงินลงทุนโดยตรงของอินเดียเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้าหลัก 4 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และสหภาพยุโรป พบว่าขนาดการลงทุนโดยตรงสุทธิของอินเดียมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับ 4 ประเทศดังกล่าว โดยในระยะแรกประเทศอินเดียมีขนาดการลงทุนโดยตรงสุทธิใกล้เคียงกับประเทศจีน อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา ประเทศจีนได้เพิ่มการลงทุนโดยตรงในประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ และมีแนวโน้มที่จะมีมูลค่าเทียบเท่ากับการลงทุนโดยตรงสุทธิของสหรัฐอเมริกาในอนาคต

ภาพที่ 6 ยอดคงค้างเงินลงทุนโดยตรงจากอินเดียระหว่างปี พ.ศ. 2549 ถึง 2565

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย รวบรวมโดย สศค.

ภาพที่ 7 สัดส่วนยอดคงค้างเงินลงทุนโดยตรงของอินเดียเทียบกับประเทศคู่ค้าหลักของไทย
ระหว่างปี พ.ศ. 2549 ถึง 2565

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย รวบรวมโดย สศค.

          ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคี (JC) ไทย-อินเดีย ครั้งที่ 10 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยมีความประสงค์ที่จะส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในอินเดีย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ เทคโนโลยี และพลังงานแสงอาทิตย์และไฮโดรเจนสีเขียว ในทางกลับกัน ไทยได้เชิญชวนให้อินเดียเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่น โครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งประเทศไทยเสนอว่าโครงการนี้สามารถเชื่อมโยงกับอินเดียทางทะเลและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในกรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล (BIMSTEC) ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยอินเดียแสดงความสนใจ แต่ขอเวลาศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมก่อน ในขณะที่โครงการเชื่อมถนนไฮเวย์สามฝ่าย (Trilateral Highway) อินเดียได้รายงานว่าได้ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางถนนในฝั่งของตนไปมากแล้ว ส่วนประเทศไทยได้รายงานว่าได้ดำเนินการในส่วนของตนเช่นกัน แต่ขณะนี้ยังประสบปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ซึ่งส่งผลให้โครงการยังไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จสมบูรณ์ได้

3.3 ด้านการท่องเที่ยว

ตลาดอินเดียถือเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายหลักของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย โดยนักท่องเที่ยวชาวอินเดียจัดอยู่ในกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง ในปี พ.ศ. 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียที่เดินทางมาไทยอยู่อันดับที่ 5 คิดเป็นจำนวน 1,628,542 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 5.79 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เดินทางแบบอิสระ (Free Individual Traveler) คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 75.77 และเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยเป็นครั้งแรก (First Visit) ถึงร้อยละ 62.17 นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ระบุว่าตลาดอินเดียมีศักยภาพสูงสำหรับนักท่องเที่ยวและมีการเติบโตที่ดี ในปี พ.ศ. 2567 หน่วยงานจะขยายการตลาดไปยังกลุ่มใหม่ๆ ได้แก่ สตรี ผู้สูงอายุ Gen Z กลุ่ม LGBTQIA+ และกลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะทาง อาทิ ท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ และกีฬาดำน้ำ พร้อมกับเจาะกลุ่มหลักของนักท่องเที่ยวอินเดียในปัจจุบัน ประกอบด้วย ครอบครัว คู่บ่าวสาว กลุ่มมิลเลนเนียล กลุ่มระดับไฮเอนด์ นักกอล์ฟ และกลุ่มเดินทางเพื่อเป็นรางวัล (Incentive)

ภาพที่ 6 สัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยปี พ.ศ. 2566

ที่มา: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวบรวมโดย สศค

                     การวิเคราะห์เปรียบเทียบสัดส่วนนักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐอินเดียกับประเทศชั้นนำอื่น ๆ ที่เดินทางมาประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2551 ถึง 2556 ซึ่งประกอบด้วย มาเลเซีย จีน เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่าในช่วงต้นและกลางของระยะเวลาดังกล่าว สัดส่วนนักท่องเที่ยวชาวอินเดียยังคงอยู่ในลำดับท้าย อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อมาจำนวนนักท่องเที่ยวชาวอินเดียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี พ.ศ. 2565 อินเดียสามารถก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซีย โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงกว่าจีนและญี่ปุ่น จากการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลัง พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากอินเดียมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2563 การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวอินเดียลดลงอย่างฉับพลัน ทว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา จำนวนนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเริ่มฟื้นตัวและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นผลมาจากมาตรการผ่อนคลายการควบคุมโรคโควิด-19 และนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวจากอินเดียของรัฐบาลไทย

ภาพที่ 7 สัดส่วนนักท่องเที่ยวอินเดียเทียบกับประเทศคู่ค้าหลักของไทยระหว่างปี พ.ศ. 2551 ถึง 2566

ที่มา: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวบรวมโดย สศค

     รัฐบาลไทยได้ดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากอินเดียผ่านมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) หรือ “ฟรีวีซ่า” แก่นักท่องเที่ยวชาวอินเดียที่เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยระหว่างวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ถึง 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 มาตรการนี้มุ่งหวังกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติมายังประเทศไทยในช่วงปลายปี พ.ศ. 2566 และต้นปี พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย โดยคาดหวังว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ ในทางกลับกันนายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้มีการหารือกับรัฐบาลอินเดียในความเป็นไปได้ที่อินเดียจะเปิด “ฟรีวีซ่า” ให้แก่คนไทย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนชาวไทยและอินเดียให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น โดยมาตรการฟรีวีซ่ายังสอดคล้องกับนโยบายปฏิบัติการตะวันออก (Act East Policy) ของอินเดียซึ่งมุ่งส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ กระตุ้นการเดินทางระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น โดยนโยบายนี้มุ่งเน้นไปที่การวางให้อาเซียนเป็นศูนย์กลาง กระชับความร่วมมือกับอาเซียนทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง ท่ามกลางสถานการณ์ที่ภูมิภาคนี้ได้รับความสนใจจากจีนซึ่งแสดงบทบาทเชิงรุกอย่างมาก นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ได้มอบนโยบายและทิศทางการส่งเสริมตลาดอินเดีย 5 ข้อ ดังนี้

  • ขยายวันพำนักและเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว: กระตุ้นให้นักท่องเที่ยว   

           อินเดียพำนักในไทยนานขึ้นและใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

  • ส่งเสริมการจัดกิจกรรม (Event Marketing): เน้นการจัดกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น งานเทศกาลมหาสงกรานต์ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
    • ผลักดันถ่ายทำภาพยนตร์ : ส่งเสริมให้มีการถ่ายทำภาพยนตร์อินเดียในประเทศไทย
    • โปรโมตและส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวในเมืองรอง: กระตุ้นการท่องเที่ยวใน
      เมืองรองของไทย
    • กระตุ้นการท่องเที่ยว 365 วัน: มุ่งเน้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวไทยได้ตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้เสนอประเด็นเพิ่มเติม 5 ข้อ เพื่อขอความสนับสนุนจากภาครัฐ หวังเป็นโอกาสสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวอินเดียมาไทยให้ถึง 2 ล้านคนในปี พ.ศ. 2567 ดังนี้

  • ต่อขยายฟรีวีซ่า: ขยายระยะเวลาฟรีวีซ่าจากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 10 พฤษภาคม  พ.ศ. 2567
    • ขยายระยะเวลาวีซ่า: ขยายระยะเวลาวีซ่านักท่องเที่ยวจาก 6 เดือนเป็น 2 ปี
    • ปลดล็อก Seat Capacity: ปลดล็อกปริมาณที่นั่งผู้โดยสารตามข้อตกลงการบินระหว่างไทยกับอินเดีย
    • เพิ่มเที่ยวบินแอร์อินเดีย: พิจารณาอนุมัติเพิ่มความถี่เที่ยวบินแอร์อินเดียจากเส้นทาง
      มุมไบ-กรุงเทพฯ จาก 1 เที่ยวบินต่อวันเป็น 2 เที่ยวบินต่อวัน
    • อำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวใหม่: อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวชาวอินเดียที่เดินทางมาไทยเป็นครั้งแรก

4. บทสรุป

เศรษฐกิจอินเดียมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดการณ์ว่าจะก้าวขึ้นเป็นเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลกภายในปี พ.ศ. 2570 โครงสร้างเศรษฐกิจอินเดียพึ่งพาการบริโภคภาคเอกชนและภาคบริการเป็นหลัก ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับอินเดียกำลังเติบโตทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยอินเดียถือเป็นตลาดเป้าหมายหลักของไทยในด้านการท่องเที่ยว

ด้านการท่องเที่ยว พบว่า อินเดียถือเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายสำคัญ เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงและจำนวนนักท่องเที่ยวคิดเป็นเป็นอันดับที่ 5 รองจากมาเลเซีย จีน เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ โดยรัฐบาลไทยได้มีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากอินเดีย อาทิ มาตรการยกเว้นการตรวจลงตราหรือฟรีวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวชาวอินเดีย ด้านการค้าระหว่างไทยและอินเดีย พบว่า อินเดียเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 9 ของไทย ซึ่งมูลค่าการค้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยมีดุลการค้าเกินดุลกับอินเดียมาโดยตลอด และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ได้ 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี พ.ศ. 2570 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็กและผลิตภัณฑ์ ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ อัญมณีและทองคำ เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ ในขณะที่การลงทุน พบว่า อินเดียเป็นแหล่งเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศอันดับที่ 23 ของไทย ซึ่งทิศทางเงินลงทุนโดยตรงจากอินเดียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ขนาดการลงทุนก็ยังคงเล็กเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยมียอดคงค้างเงินลงทุนราว 1,040 ล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 3 ปี พ.ศ. 2566 หรือคิดเป็นร้อยละ 0.36 ของเงินลงทุนสุทธิจากต่างประเทศทั้งหมด

ในระยะต่อไป ด้วยศักยภาพของอินเดียที่มีจำนวนประชากรค่อนข้างมากและมีอัตราการขยายทางเศรษฐกิจเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก ประเทศไทยควรมีนโยบายเชิงรุกในเชิงบูรณาการเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศอินเดีย โดยครอบคลุมมิติดังต่อไปนี้ ในด้านการค้า ควรทบทวนความตกลงการค้าเสรีให้มีความทันสมัยและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความตกลงเหล่านั้นผ่านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ การอำนวยความสะดวกด้านศุลกากร ตลอดจนจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน สำหรับด้านการลงทุน ควรสนับสนุนการแลกเปลี่ยนคณะผู้แทนจากภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ ศึกษามาตรการสนับสนุนเฉพาะอุตสาหกรรม และพิจารณาร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ ในด้านการท่องเที่ยว ควรเชื่อมโยงระหว่างการท่องเที่ยวและการแพทย์ภายใต้นโยบาย “Ignite Thailand” เพื่อดึงดูดรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย

สุดท้ายนี้ทางผู้เขียนขอขอบคุณ ดร. พิสิทธิ์  พัวพันธ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ดร.พงศ์นคร  โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค ดร. ปาริฉัตร คลิ้งทอง ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจการเงินและต่างประเทศ และ ดร. นรพัชร์  อัศววัลลภ บรรณาธิการวารสารการเงินการคลัง ที่ช่วยให้ข้อคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำบทความนี้ อนึ่ง บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ไม่ได้สะท้อนความคิดเห็นของหน่วยงาน

5. อ้างอิง

ภาษาไทย

กรมการค้าต่างประเทศ. (15 กันยายน 2566). ข้อมูลสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA และ GSP. [ออนไลน์].

แหล่งที่มา: https://www.dft.go.th/th-th/DFT-Service/ServiceData-Information/dft-service-

data-privilege/Detail-dft-service-data-privilege/ArticleId/429/th-ind-trade.
[5 พฤษภาคม 2567].

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (19 มกราคม 2566). สถิตินักท่องเที่ยว ปี 2551-2566. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา:

www.mots.go.th/news/category/411. [3 เมษายน 2567].

ธนาคารแห่งประเทศไทย. (31 มีนาคม 2567). EC_XT_063 ยอดคงค้างเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

จำแนกตามประเทศ/เขตเศรษฐกิจ 1/. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://app.bot.or.th/BTWS_STAT/st

atistics/BOTWEBSTAT.aspx?reportID=816&language=th. [28 มีนาคม 2567].

พรไพลิน จุลพันธ์. (22 กุมภาพันธ์ 2567). ททท. ชงปลดล็อก 5 ข้อ บูสต์ตลาด ‘อินเดียเที่ยวไทย’ ดันยอดแตะ 2

ล้านคนปี 67. กรุงเทพุรกิจ. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/business/

business/1114379. [29 เมษายน 2567].

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน. (18 เมษายน 2567). รายงานสถิติและภาวะส่งเสริมการลงทุนตาม

นโยบายส่งเสริมการลงทุน(2558-ปัจจุบัน). [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.boi.go.th/un/statisti

cs_condition_promotion. [30 มีนาคม 2567].

สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์. (18 ธันวาคม 2566). สินค้าส่งออก 15 อันดับแรกของไทยรายประเทศ (อินเดีย).

[ออนไลน์]. แหล่งที่มา: www.tradereport.moc.go.th/Report/Default.aspx?Report=MenucomT

opNCountry&Option=1&Lang=Th&ImExType=1. [29 เมษายน 2567].

ภาษาอังกฤษ

CEIC Data Company. (2024). Gross Domestic Product: 2011-12p. 365384367. India.

CEIC Data Company. (2024). Gross Value Added at Basic Prices (GVA): 2011-12p. 360727687. India.

Embassy of India, Bangkok Thailand. (2022). Economic & Commercial Brief. India Thailand

Economic and Commercial Relations. [Online]. Available from: www.embassyofindiabangko

k.gov.in/eoibk_pages/OTYx.

Inamdar, Nikhil. (2024, May 1). India’s economy: The good, bad and ugly in six charts. The British

Broadcasting Corporation. [Online]. Available from: www.bbc.com/news/world-asia-india-

68823827.

Reserve Bank of India. (2024). Annual Report 2023-2024. The Reserve Bank of India. [Online].

Available from: https://rbi.org.in/Scripts/AnnualReportMainDisplay.aspx.

The Economist. (2024, April 27). How strong is India’s economy?. Leaders Section. [Online].

Available from: https://www.economist.com/leaders/2024/04/25/how-strong-is-indias-economy.

World Bank. (2024). Global Economic Prospects, June 2024. The World Bank.

นายรัชพล พงษ์ประเสริฐ
เศรษฐกร
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน