ปลดล็อคศักยภาพดิจิทัล Asset ไทย: Tokenization Soft Powerและ Carbon Credit สู่ Financial Hub แห่งอาเซียน

ปลดล็อคศักยภาพดิจิทัล Asset ไทย: Tokenization Soft Powerและ Carbon Credit สู่ Financial Hub แห่งอาเซียน

บทความโดย
นางสาวกันตา ศุขสาตร
นางสาวณัฏฐธิดา จันภักดี
นายรัชพล พงษ์ประเสริฐ
นางสาวภูริดา ปราบสูงเนิน

1. บทนำ

ในยุคดิจิทัล เทคโนโลยีบล็อกเชนกำลังสร้างนวัตกรรมที่ท้าทายระบบเศรษฐกิจแบบเดิม การแปลงสินทรัพย์เป็นโทเคน (Asset Tokenization) กลายเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง โดยนำเสนอวิธีการใหม่ในการแปลงสินทรัพย์ ทั้งแบบจับต้องได้และจับต้องไม่ได้ให้กลายเป็นโทเคนดิจิทัลบนบล็อกเชน โดยผูกเข้ากับมูลค่าของสินทรัพย์ เพื่อใช้เป็นตัวแทนความเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้น ๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกในการลงทุนลดความซับซ้อน และเพิ่มสภาพคล่องให้กับสินทรัพย์นั้น ๆ และประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เทคโนโลยีบล็อกเชนจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การแปลงสินทรัพย์เป็นโทเคน กลายเป็นกลยุทธ์ที่มุ่งปลดล็อคศักยภาพของสินทรัพย์ไทย และเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมและการเงินยั่งยืน การแปลงสินทรัพย์เป็นโทเคนนี้เป็นการนำเสนอโอกาสใหม่มากมายสำหรับนักลงทุนและธุรกิจ นักลงทุนสามารถเข้าถึงสินทรัพย์ใหม่ ๆ ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงด้วยเงินทุนน้อยลง และเข้าถึงตลาดสภาพคล่องใหม่ ๆ สามารถระดมทุนใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน

ในการนี้ กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร่วมกับวารสารการเงินการคลังได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจาก คุณอภิญญา เรืองทวีคูณ กรรมการผู้จัดการบริษัท คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเสท จำกัด (คุณอภิญญาฯ) มาแบ่งปันเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย ผ่านรายการ “Local Reach เอื้อมลึกถึงภูมิภาค” ประจำเดือนกรกฎาคม 2567 ภายใต้หัวข้อ “ปลดล็อคศักยภาพดิจิทัล Asset ไทย: Tokenization Soft Power และ Carbon Credit สู่ Financial Hub แห่งอาเซียน” เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

คุณอภิญญา เรืองทวีคูณ
กรรมการผู้จัดการบริษัท คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเสทจำกัด

2. การเข้าสู่โลกของ Tokenization โดยการระดมทุนภาพยนตร์ “บุพเพสันนิวาส ๒” ผ่าน DESTINY TOKEN

คุณอภิญญาฯเล่าย้อนกลับไปเมื่อ 2 – 3 ปีที่แล้ว สินทรัพย์ดิจิทัลยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากนัก ธนาคารกสิกรไทยจึงรุกเข้ามาเป็นผู้นำในตลาด Tokenization ของไทยโดยการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ ซึ่งมีความท้าทายเป็นอย่างมากในการศึกษาตลาด เพราะแนวคิดเรื่องสกุลเงินดิจิทัล เรื่องเทคโนโลยีบล็อกเชน ผู้คนยังไม่สามารถแยกแยะกันได้มากนักว่ามีความเหมือนหรือความต่างกันอย่างไร และเทคโนโลยีบล็อกเชนนี้ยังสามารถพัฒนาต่อได้ในอีกหลากหลายรูปแบบ ในมุมมองของการเป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) และในอีกมุมหนึ่งคือการนำเทคโนโลยีมาสร้างเหรียญที่เป็นตัวแทนมูลค่า กรรมสิทธิ์ หรือสิทธิประโยชน์ของสินทรัพย์ในโลกจริงที่นำมาเข้ากระบวนการ Asset Tokenization หรือการแบ่งข้อมูลเป็นหน่วยย่อย ๆ ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ที่เรียกว่า โทเคน (Token) ซึ่งสร้างความท้าทายเป็นอย่างมากในการศึกษาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบใหม่ ๆ

เมื่อมีความเข้าใจในความเหมือนและความต่างของสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว จึงริเริ่มทำโครงการ TOKEN ในวงการภาพยนตร์ไทย ซึ่งเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ด้วยการระดมทุนผ่านโทเคนดิจิทัล การนำผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และ Tokenization ที่เป็นเรื่องค่อนข้างยาก มาทำให้เป็นเรื่องที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยที่ไม่ต้องสื่อสารมากนักแต่สามารถทำให้ผู้คนเข้าใจ จึงเกิดโครงการ DESTINY TOKEN ขึ้นมา และเป็นโครงการแรกที่นำเข้ามาทำในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งนี้ การที่จะสร้างภาพยนตร์หนึ่งเรื่องนั้นก็ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก และจากการสังเกตพบว่าช่องทางการหาเงินทุนของภาพยนตร์ยังมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะใช้เงินลงทุนส่วนตัว หรือเป็นการขอกู้จากธนาคาร ผู้ริเริ่มโครงการจึงนำเสนอแนวคิดต่อผู้บริหารบริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด และบริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด ที่มีการวางแผนจะสร้างภาพนตร์เรื่องบุพเพสันนิวาส 2 อยู่ก่อนแล้ว แต่ในช่วงนั้นเป็นช่วงโควิด-19 ทำให้การถ่ายทำภาพยนตร์เกิดความล่าช้า และมีการใช้เงินลงทุนเพิ่มมากขึ้นเพื่อผลิตภาพยนตร์ให้เสร็จสมบูรณ์ โดยที่ภาพยนตร์เรื่องบุพเพสันนิวาสได้รับความนิยมจากละครอยู่ก่อนแล้ว อีกทั้งยังมีเรื่องความเป็นไทยเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย

เมื่อมีการลงความเห็นเรียบร้อยแล้ว จึงเข้าไปปรึกษากับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. ในการทำ Tokenization ซี่งเป็นโครงการเริ่มต้นในการสร้าง DESTINY TOKEN ว่าจะมีการออกแบบเหรียญโทเคนอย่างไรได้บ้าง มีผลตอบแทนในรูปแบบใด และจะสร้างอย่างไรให้มีความน่าสนใจ เนื่องจากถ้ามีการสร้าง DESTINY TOKEN ออกมา ผลตอบแทนทางการเงินจะเป็นอย่างไรหากเข้าใจยากเกินไปก็จะไม่ตอบโจทย์ประชาชน จึงพยายามค้นหาผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่ประชาชนรู้จักดีอยู่แล้ว ในลักษณะการจ่าย “ดอกเบี้ย” ซึ่งคล้ายกับการฝากเงินในธนาคารที่เป็นลักษณะการได้ดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทน แต่ในมุมมองของผู้ออกโทเคนมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลซึ่งอยากจะเปลี่ยนการรับรู้ของวงการภาพยนตร์ไทย เพราะช่วงที่สร้างภาพยนตร์บุพเพสันนิวาส 2 จะคาบเกี่ยวกับช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พอดีและวงการภาพยนตร์ก็มีความท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้คนกลับมาดูภาพยนตร์ไทยในโรงภาพยนต์ จะทำอย่างไรให้คนยอมออกจากบ้านใส่หน้ากากเข้าโรงภาพยนต์ จึงอยากจะใช้โอกาสนำเสนอเทคโนโลยีสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะ Tokenization ผ่านวงการภาพยนตร์

ทั้งนี้ คุณอภิญญาฯ มองว่า ผลตอบแทนทางการเงินแบบธรรมดาทั่วๆไป ไม่น่าจะดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนได้มากนัก ดังนั้นจึงนำประโยชน์ของเทคโนโลยีดิจิทัลคือ Block Chain หรือ โทเคนมาประยุกต์ใช้มากขึ้นเพื่อดึงดูดความน่าสนใจของโครงการ โดยแบ่งเป็น 2 มุมมอง คือ 1) ผลตอบแทนที่สามารถเชื่อมกับความสามารถในการสร้างรายได้ของภาพยนตร์ คือ ถ้าลูกค้าหรือนักลงทุนชื่นชอบภาพยนตร์ก็ต้องมาสนับสนุน เชิญเพื่อน เชิญคนที่บ้านมาดูภาพยนตร์ สร้างการมีส่วนร่วมจากผู้ที่ถือโทเคน เป็นการช่วยสนับสนุนภาพยนตร์ไปได้ในตัวอีกด้วย 2) การได้รับสิทธิพิเศษหรือประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะได้รับเพิ่มมากขึ้น คือ การที่นักลงทุนสนับสนุนภาพยนตร์ ต้องได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าคนดูภาพยนตร์แบบปกติ ผู้ออกแบบจึงพยายามสร้างความพิเศษร่วมกับบริษัทคิวบิกซ์ (Kubix) คือ การได้ร่วมกิจกรรมกับนักแสดง การได้เข้าชมภาพยนตร์ในรอบปฐมทัศน์ หรือนำชื่อของผู้ถือโทเคนเข้าไปอยู่ในส่วนของรายชื่อนักแสดง ทีมงาน หรือผู้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนนท้ายภาพยนตร์ เพราะเมื่อภาพยนต์ไปฉายที่ไหนชื่อผู้สนับสนุนก็จะติดไปด้วยตลอด เป็นผลตอบแทนทางการเงินที่ไม่ใช่ตัวเงินที่มีคุณค่าทางจิตใจและมีความหมายสำหรับนักลงทุนค่อนข้างมากจึงเป็นที่มาของการสร้าง DESTINY TOKEN นี้ขึ้นมา

3. อนาคตของ Soft Power ไทยในโลกดิจิทัลจะเป็นอย่างไร และ Tokenization จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอย่างไร

คุณอภิญญาฯ เชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงที่จะพัฒนา Soft Power ให้โด่งดังไปทั่วโลก ด้วยทุนทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า เอกลักษณ์เฉพาะตัว และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ซึ่งเห็นได้จากความนิยมของอาหารไทย มวยไทย ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ดนตรี และงานหัตถกรรมไทยในต่างประเทศ และในโลกดิจิทัลยังมีโอกาสใหม่ ๆ ให้กับการเผยแพร่ Soft Power ไทยไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่กว้างขวางทั่วโลก ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เช่น โซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน ซึ่งช่วยให้สามารถเข้าถึงผู้ชมได้โดยตรง สร้างการมีส่วนร่วมและติดตามผลลัพธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การแปลง Soft Power ไทยเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล (Tokenization) กำลังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมไทยสู่เวทีโลก เทคโนโลยีบล็อกเชนช่วยให้ Soft Power รูปแบบต่าง ๆ กลายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีมูลค่า สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยน และลงทุนได้ อย่างไรก็ตาม การออกแบบรูปแบบการระดมทุนจำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบต่างๆ อาทิ การสร้างแรงจูงใจ การมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไร ผลตอบแทนจะได้ในรูปแบบไหน จะตรวจสอบอย่างไร ต้องทำให้เกิดความชัดเจน และความโปร่งใส โดยต้องทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์ได้ถูกออกแบบไว้อย่างละเอียดรอบคอบแล้ว

4. โอกาสในการซื้อขายโทเคนคาร์บอนเครดิต (Tokenization Carbon Credit) ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลประเทศไทย เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว

นิยามของโทเคนดิจิทัล (Digital Token) ในประเทศไทยสามารถแบ่งตามวัตถุประสงค์ได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) คือ สิทธิจากการร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการ ที่ผู้ถือจะได้รับสิทธิในการรับผลตอบแทนจากการร่วมลงทุน เช่น ส่วนแบ่งกำไร สิทธิในการโหวต เป็นต้น และ
2. โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) คือ สิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าและ บริการหรือสิทธิอื่น ๆ (utility token) ตามที่ได้ตกลงกับผู้ออกโทเคน

จากการหารือร่วมกับสำนักงาน กลต. ในการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวและสร้างแรงจูงใจให้องค์กรต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมาย Net-Zero ให้มากขึ้น พบว่า ด้วยข้อกำหนดและกฎระเบียบของสำนักงาน กลต. ส่งผลให้การทำ Investment Token สำหรับระดมทุนเพื่อดำเนินโครงการต่าง ๆ อาทิ การระดมทุนเพื่อลงทุนในคาร์บอนเครดิต อย่างโครงการระดมทุนเพื่อปลูกป่าและจะได้รับคาร์บอนเครดิตกลับมานั้นสามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม หากจะทำคาร์บอนเครดิตในรูปแบบ Utility Token อาทิ การออกโทเคนที่มีมูลค่า 1 โทเคน เท่ากับคาร์บอนเครดิต 1 หน่วย (ตันหรือกิโลกรัม) ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาหารือเพิ่มเติมถึงความเหมาะสมภายใต้กรอบกฎหมายและกฎระเบียบของสำนักงาน กลต. เนื่องจาก Token ในรูปแบบดังกล่าวจะเข้านิยาม Utility Token ประเภทที่ 1 ซึ่งมีข้อจำกัดในการซื้อขายแลกเปลี่ยน (ตามแนวทางการกำกับดูแล Utility Token พร้อมใช้ของสำนักงาน กลต. ระบุว่า Utility Token พร้อมใช้มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการอุปโภคบริโภค แต่มีข้อห้ามไม่ให้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนำ Utility Token กลุ่มที่ 1 มาจดทะเบียนซื้อขาย และห้ามนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการเกี่ยวกับ Utility Token ดังกล่าว และกลุ่มที่ 2 คือ Utility Token พร้อมใช้ ประเภทอื่น ๆ นอกจากกลุ่มที่ 1 ซึ่งสามารถนำไปจดทะเบียนบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตการเสนอขายจากสำนักงาน กลต. ก่อน) ดังนั้น เรื่องนิยามของ Token กับความต้องการผลักดันเรื่องคาร์บอนเครดิตจึงอาจต้องมีการศึกษาและพิจารณาเพิ่มเติมต่อไป โดยมุ่งหวังว่า จะสามารถพัฒนา Token ให้เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เข้าถึงได้ง่ายและสามารถใช้งานได้ง่าย

ปัจจุบันความก้าวหน้าในการผลักดันเรื่องคาร์บอนเครดิตยังไม่มีความคืบหน้ามากเท่ากรณีสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Asset) อื่นๆ แต่หากต้องการพัฒนาให้มี Financial Access ที่สามารถทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนได้ง่ายขึ้น Tokenization อาจเป็นคำตอบที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตั้งแต่วันแรกเพื่อยกระดับตลาดคาร์บอนเครดิตที่ปัจจุบันยังอยู่ในรูปของพันธบัตร (Bond) หรือหุ้น (Equity) และยังดำเนินการด้วยวิธี OTC (Over the Counter) หรือว่ายังเป็น Paper Base ให้กลายมาสู่โลกของ Digital Token ที่สามารถมี Transaction Approach ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้ คาร์บอนเครดิตมีข้อได้เปรียบที่เสมือนเป็นสินค้าซึ่งมีความต้องการจากทั่วโลก ต่างจากตราสารทุนหรือตราสารหนี้ที่มีผู้ออกเป็นบริษัทในประเทศไทย ซึ่งอาจจะยากต่อการเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีฐานลูกค้าระดับโลกหรือภูมิภาคมากกว่า ดังนั้น เราควรต้องช่วยกันผลักดันให้คาร์บอนเครดิตเป็นสินค้าที่มีความต้องการทั่วโลก เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างไรก็ดี เราควรคำนึงถึงประเด็นทางกฎหมายที่ต้องปรับปรุงแก้ไขให้ทันสมัยและสอดคล้องกับบริบทของกระแสโลกาภิวัตน์ด้วย

5. ความเชื่อมั่นต่อศักยภาพในเทคโนโลยี blockchain และ Digital Asset ในประเทศไทย เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคหรืออาเซียนได้

คุณอภิญญาฯ เห็นว่า จากความพยายามของสำนักงาน กลต. ที่มีการปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการผลักดันประเด็นดังกล่าว จะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้น ทั้งนี้ สินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะ Investment Token ค่อนข้างได้รับแรงสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐบาล ดังนั้น โอกาสที่ประเทศไทยจะสามารถ Unlock ประเด็นข้อจำกัดต่าง ๆ ได้ และสามารถออกผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ตลาดเห็นว่า เป็นเรื่องที่ช่วยเสริมความสามารถของประเทศไทยได้ ซึ่งที่จริงแล้วประเทศไทยมีรากฐานหลาย ๆ อย่างที่ค่อนข้างดี หนึ่งในนั้นคือเรื่อง Cashless Society โดยประเทศไทยมีประชากรที่มีทักษะ ความรู้ และความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ที่ค่อนข้างดี รวมถึงวัยรุ่นหรือประชาชนยุคใหม่ของไทยก็มีความช่ำชองในเทคโนโลยี (Digital Savvy) มาก สามารถเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้เร็วมาก ทำให้ประเทศไทยมีจำนวนสัดส่วนของจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขาย Crypto Currency ต่อประชากรที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ สะท้อนว่า ประเทศไทยสามารถปรับตัวและยอมรับการเข้าถึงดิจิตอลและเรื่องใหม่ ๆ ได้ค่อนข้างดี เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า พื้นฐานความเข้าใจของผู้ใช้งานในไทยค่อนข้างดีอยู่แล้ว และหลังจากนี้เราควรต้องต่อยอดการพัฒนาตลาดเพิ่มเติม ควบคู่กับการแก้ปัญหาข้อจำกัดหรืออุปสรรคที่ยังมีอยู่

นอกจากเรื่องกฎเกณฑ์ต่าง ๆ แล้ว ตลาดใหม่ ๆ ต้องอาศัยแรงจูงใจ (Incentive) สำหรับตลาด Crypto Currency การสร้างแรงจูงใจอาจหมายถึงการขยายตลาด ซึ่งจะเป็น Upsize ที่มโหฬาร หรืออาจต้องการแรงจูงใจอื่น ๆ อาทิ Tax Incentive ดังนั้น หากกฎเกณฑ์และสภาพแวดล้อม ซึ่งรวมทั้ง Lead  Regulator Support และกฎหมายข้างเคียงต่าง ๆ สามารถเดินไปในทิศทางเดียวกันและส่งเสริมกันได้ทั้งหมด ก็จะเป็นแรงส่งให้ผู้ประกอบการและหลาย ๆ ฝ่ายพร้อมที่จะเข้ามาร่วมผลักดันอย่างแน่นอน

ในส่วนของเทคโนโลยีเอง ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีพรสวรรค์เกี่ยวกับเรื่อง Blockchain อยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งถือเป็นข้อดี เพราะว่าประเทศไทยมีปัจจัยบวกจากการเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม และมีสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรองรับต่อการเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย จึงทำให้ประเทศไทยสามารถดึงดูดกลุ่ม Digital Nomad ครอบคลุมผู้เชี่ยวชาญด้าน Blockchain หรือกลุ่มที่นายจ้างอนุญาตให้ Work From Anywhere ซึ่งจะมีส่วนส่งเสริมหรือผลักดัน Financial Infrastructure ในประเทศไทย ดังนั้น จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีหลายช่องทางที่เป็นพื้นฐานที่ดี ซึ่งถ้าสามารถต่อยอดได้ดีก็อาจดึงดูดกลุ่มผู้มีพรสวรรค์จากทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาช่วยผลักดันอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลให้เติบโตเพิ่มมากขึ้น

6. ประเด็นที่อยากฝากเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Digital Asset

เพื่อผลักดันเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล หลายกฎเกณฑ์ที่ยังไม่เหมาะสมอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมและอยากให้ปลดล็อคจากข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการเดินร่วมกันแบบทั้งองคาพยพ ทุกภาคส่วน ตัวอย่างประเด็นที่คนหน้างานต้องเผชิญ อาทิ เรื่องต้นทุน การเสียภาษี การลงบัญชี และความรับผิดชอบมีอะไรบ้างที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป แล้วเมื่อเปรียบเทียบกับการออกพันธบัตร (Bond) จะมีรูปแบบ วิธี หรือขั้นตอนที่แตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้ามีความแตกต่างกันมากก็ย่อมหมายถึงต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้ง Human Cost และ Time Cost ที่จะสร้างความกังวลให้ผู้ประกอบการได้

อีกประเด็นหนึ่งที่อยากให้มีการปลดล็อคมากขึ้น คือ เรื่องการรับรู้และมุมมอง (Perception) ที่มีต่อสินทรัพย์ดิจิตอลว่า เป็นการดำเนินการที่มีความเสียงสูง ทำให้เมื่อหลายฝ่ายเริ่มผลักดันเรื่อง Token ก็มักถูกมองว่า Token คือ สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูง และทุกการดำเนินการซึ่งรวมถึงการทำ KYC (Know Your Customer) จะมีต้นทุนที่สูงด้วย แต่ในความเป็นจริง หากพิจารณาถึงรายละเอียดหรือไส้ในของผลิตภัณฑ์แต่ละตัวก็อาจจะไม่ได้มีความเสี่ยงสูงมากขนาดนั้น ดังนั้น จึงไม่อยากให้ผู้คนตัดสินตั้งแต่ต้น (Treat by Default) ว่า ภาพลักษณ์ของ Investment Token เท่ากับมีความเสี่ยงสูง เพราะจะทำให้นักลงทุนที่กำลังศึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลเกิดความรู้สึกว่า การเข้าถึง (Access) สินทรัพย์ดิจิทัล Token ทำได้ยาก และจะส่งผลให้การผลักดันอุตสาหกรรมนี้เกิดขึ้นได้ยากไปด้วย ในทางกลับกัน หากนักลงทุนเข้าใจว่า Token ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูงและเป็นเพียงผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาดการเงินที่น่าสนใจ เราก็สามารถที่จะเสนอขายหรือนำเสนอผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปถึงมือประชาชนผ่านช่องทางที่คนทั่วไปคุ้นชินอยู่แล้วได้ง่ายขึ้น ตอนนี้การสร้างความเข้าใจให้ทุกคนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะคนยังมองว่าเรื่อง Investment Token เป็นเรื่องใหม่ที่ยากเกินไปจนไม่กล้าเข้ามาศึกษา ดังนั้นเราจึงควรจะช่วยกันทำให้ Investment Token เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Financial Product ที่ไม่ต่างจากผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อช่วยให้ตลาดและนักลงทุนสามารถยอมรับและเข้าใจได้ง่ายขึ้นในอนาคต

7. มุมมองต่อ Public Perception ที่เปลี่ยนแปลงไป จากในช่วงแรกที่เริ่มเข้ามาในอุตสาหกรรม Digital Asset ในประเทศไทย จนถึง ณ วันนี้ มีความแตกต่างอย่างไรบ้าง

คุณอภิญญาฯ ประเมินว่า Public Perception ต่ออุตสาหกรรม Digital Asset ในประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดี มีการปรับตัวที่ดีขึ้นมากกว่าแต่ก่อน เนื่องจากมีหลายประเด็นข้อจำกัดที่ได้ปลดล็อคแล้ว และมีหลายประเด็นที่ทยอยได้รับการแก้ไขมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้สถานการณ์ Digital Asset ในประเทศกำลังค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ สำหรับในมุมของ Public Perception หลายฝ่ายก็พยายามจะสื่อสารให้ผู้คนให้มีความเข้าใจและสามารถเข้าถึง Digital Asset ได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ในระยะถัดไป หากเราเดินหน้าต่อในทิศทางที่ถูกต้อง ประกอบกับการมีผลิตภัณฑ์ที่ดี มีโครงการดิจิทัล Token ที่น่าสนใจ เข้าใจง่าย และเข้าถึงง่ายออกมาให้ประชาชนได้เห็นมากขึ้น ก็จะช่วยให้การยอมรับของผู้คนเป็นไปได้ไม่ยากนักในอนาคต อีกทั้ง ขณะนี้ หลายผลิตภัณฑ์ทางการเงินก็มีความท้าทายในตัวเองที่แตกต่างกัน ดังนั้น Digital Token จึงถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เปิดโอกาสให้ผู้คนที่สนใจได้เข้ามาศึกษามาร่วมลงทุนกันมากขึ้น

8. การพัฒนาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย: โอกาสและความท้าทายของกรีนโทเคนไนซ์ (Green Tokenized) และการลงทุนผ่านกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG)

การพัฒนาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยกำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของ Tokenization สินทรัพย์ต่าง ๆ จากการวิเคราะห์แนวโน้มปัจจุบัน พบว่าโทเคนที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนหรือ “กรีนโทเคนไนซ์” มีศักยภาพสูงในการเติบโตในระยะสั้น เนื่องจากมีโครงสร้างและกรอบการดำเนินงานที่ชัดเจน อีกทั้งยังสอดคล้องกับแนวคิดการออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ที่มีอยู่เดิม โดยเปลี่ยนเพียงตัวผลิตภัณฑ์เป็นโทเคนเพื่อการลงทุน (Investment Token) ทำให้ผู้ออกสินทรัพย์และนักลงทุนเข้าใจได้ง่าย ในขณะที่โทเคนที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power Token) แม้จะได้รับความสนใจ แต่ยังต้องการ
การพัฒนาโครงสร้างและรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ นอกเหนือจากภาพยนตร์ นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้กองทุน Thai ESG สามารถลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้ นับเป็นก้าวสำคัญในการขยายฐานนักลงทุนและเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาด อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายในด้านการดำเนินการที่ต้องได้รับการแก้ไข เช่น สิทธิในการถือสินทรัพย์ดิจิทัล การกำหนดราคารายวัน และการสร้างตลาดรองมารองรับ เป็นต้น เพื่อให้ผู้จัดการกองทุนสามารถบริหารสภาพคล่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ การแก้ไขปัญหาเหล่านี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการดึงดูดเงินลงทุนจากสถาบัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มขนาดและความน่าเชื่อถือของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ

9. ความแตกต่างและศักยภาพของโทเคนเพื่อการลงทุน (Investment Token) เมื่อเทียบกับหุ้นกู้แบบดั้งเดิม

โทเคนเพื่อการลงทุนนำเสนอความแตกต่างที่สำคัญและมีศักยภาพสูงเมื่อเทียบกับหุ้นกู้แบบดั้งเดิม แม้ว่าในปัจจุบันความสามารถบางส่วนยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ ประการแรกโทเคนเพื่อการลงทุนมีความยืดหยุ่นมากกว่าในแง่ของเกณฑ์การออก โดยอาจไม่จำเป็นต้องมีอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) และสามารถผสมผสานระหว่างเครดิตของผู้ออกกับศักยภาพในการสร้างรายได้ของโครงการได้ ทำให้มีลักษณะไฮบริดที่ไม่พบในหุ้นกู้ทั่วไป ประการที่สอง การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Technology) ทำให้มีฐานข้อมูลนักลงทุนแบบเรียลไทม์ ซึ่งเอื้อต่อการทำธุรกรรมและการมีส่วนร่วมของผู้ถือโทเคน เช่น การลงคะแนนแบบดิจิทัล นอกจากนี้ ยังมีศักยภาพในการเปลี่ยนมือและเชื่อมโยงกับธุรกรรมอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากข้อจำกัดด้านกฎระเบียบถูกผ่อนคลาย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประโยชน์ของเทคโนโลยีบล็อกเชนยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ การปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อเอื้อให้เกิดการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้นจะช่วยให้โทเคนเพื่อการลงทุนสามารถแสดงศักยภาพที่แท้จริงและสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ตลาดการเงินได้

10. ความท้าทายและโอกาสของคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) และซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ในตลาดโทเคนเพื่อการลงทุนประเทศไทย

ตลาดโทเคนเพื่อการลงทุนในประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายและโอกาสที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในส่วนของคาร์บอนเครดิตและซอฟต์พาวเวอร์ การวิเคราะห์แนวโน้มอุปสงค์และอุปทานในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงความผันผวนที่เกิดจากปัจจัยด้านกฎระเบียบและความไม่แน่นอนทางการเงิน ในกรณีของคาร์บอนเครดิตเคยมีความสนใจสูงมากในช่วงแรก แต่อุปสรรคด้านภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้อยละ 7 ได้ส่งผลให้ความสนใจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ การฟื้นฟูความสนใจในตลาดนี้จำเป็นต้องอาศัยการสื่อสารที่ชัดเจนเกี่ยวกับการแก้ไขอุปสรรคด้านกฎระเบียบที่เคยมีในอดีต ส่วนในด้านของซอฟต์พาวเวอร์ แม้จะมีศักยภาพ แต่ยังคงเผชิญกับความท้าทายด้านขนาดของโครงการและความคุ้มค่าในการลงทุน โครงการขนาดเล็กมักประสบปัญหาด้านต้นทุนและความไม่แน่นอนของระยะเวลาดำเนินการ ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ (Issuer) การพัฒนาแพลตฟอร์มที่สามารถรองรับหลายโครงการในคราวเดียว อาจเป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพในการลดต้นทุนและเพิ่มความน่าสนใจของการออกโทเคนประเภทนี้ โดยสรุปแล้ว ความชัดเจนของกฎระเบียบและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นอุปสงค์และอุปทานในตลาดโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนทั้งสองประเภทนี้ ดังนั้น การติดตามและประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาตลาดในระยะยาว

11. แนวโน้มและกลยุทธ์การพัฒนาโทเคนเพื่อการลงทุน (Investment Token) ในอนาคต

ในอนาคต แนวโน้มของโทเคนเพื่อการลงทุนมีทิศทางที่น่าสนใจและหลากหลาย โดยเฉพาะในด้านพลังงานสีเขียวซึ่งสอดคล้องกับกระแสความยั่งยืนตลาดทุน ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์อาจต้องรอจังหวะที่เหมาะสมมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดในการนำเสนอโทเคนสำหรับอุตสาหกรรมที่ไม่เคยเข้าถึงตลาดทุนมาก่อน ซึ่งอาจสร้างนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ได้ ในด้านกลยุทธ์การดึงดูดนักลงทุน การให้ความรู้แก่ตลาดเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างโทเคนเพื่อการลงทุน และคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เป็นสิ่งสำคัญโดยเน้นย้ำถึงลักษณะความเสี่ยงและผลตอบแทนที่แตกต่างกัน และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นรูปธรรมจะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ การให้ข้อมูลอย่างละเอียดผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ทั้งนี้ การพัฒนาโทเคนเพื่อการลงทุนจำเป็นต้องคำนึงถึงทั้งความต้องการของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์และความเชื่อมั่นของนักลงทุนควบคู่กันไป

สุดท้ายนี้ ทางคณะผู้เขียนขอขอบคุณ ดร. พิสิทธิ์  พัวพันธ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. ดร.พงศ์นคร  โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค และ ดร. นรพัชร์  อัศววัลลภ บรรณาธิการวารสารการเงินการคลัง ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์เนื้อหาดี ๆ เกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคสำหรับ “รายการ Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาค” ตลอดมา

นางสาวกันตา ศุขสาตร
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นางสาวณัฏฐธิดา จันภักดี
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นายรัชพล พงษ์ประเสริฐ
เศรษฐกร
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นางสาวภูริดา ปราบสูงเนิน
เศรษฐกร
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน