บทความโดย
รศ. ดร. ณัฐพงษ์ พัฒนพงษ์
ริยนา เอมศิริธนะนันต์
พันกร อินทนันชัย
บทคัดย่อ
ในปัจจุบัน ประเทศเวียดนามถูกจับตามองเป็นอย่างมากสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งคณะผู้วิจัยได้เล็งเห็นความน่าสนใจในประเด็นนี้ และได้ทำการศึกษาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์รายละเอียดโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ และเพื่อระบุอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตและมีศักยภาพสูงในประเทศเวียดนาม โดยงานวิจัยนี้ใช้ข้อมูลตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) ที่จัดสร้างโดย OECD ซึ่งการวิเคราะห์ประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้ต่อไป
ส่วนแรก ทำการพิจารณาด้วย Network Analysis โดยการใช้โปรแกรม Gephi ซึ่งสร้างผลลัพธ์เป็นภาพแผนผัง และค่าดัชนีแสดงความเชื่อมโยงระหว่างภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจจากข้อมูลในตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) โดยผลที่ได้ แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างอุตสาหกรรมของเวียดนามเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากปี ค.ศ. 1996 ถึง ค.ศ. 2018 โดยพบว่า อุตสาหกรรมหนัก เช่น ปิโตรเลียม, อุตสาหกรรมเคมี, อุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ รวมถึงภาคการค้าปลีก-ค้าส่ง ได้กลายเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญต่อเศรษฐกิจเวียดนามแทนอุตสาหกรรมเบา เช่น กระดาษ, แร่อโลหะ และอุตสาหกรรมการผลิตทั่วไป
ส่วนที่สอง เมื่อพิจารณากลุ่มอุตสาหกรรมที่กลายเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญต่อเศรษฐกิจเวียดนามในปี ค.ศ. 2018 ร่วมกับค่า Backward และ Forward Multiplier ก็ยังพบว่ากลุ่มดังกล่าว เป็นสาขาการผลิตที่มีค่า Backward และ Forward Multiplier ที่เพิ่มขึ้นสูงสุดด้วย ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้จะไม่ใช่อุตสาหกรรมส่งออกหลักของประเทศเวียดนาม แต่ผลลัพธ์จากการวิเคราะห์ด้วยทั้ง 2 วิธีการ ได้ชี้ให้เห็นชัดเจนถึงการเป็นสาขาอุตสาหกรรมพื้นฐานที่ผลิตสินค้าต้นน้ำและเป็นโครงสร้างหลักของประเทศ นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์ยังชี้ให้เห็นว่า อุตสาหกรรมอื่นๆ ของเวียดนามมีค่า Backward Multiplier สูงขึ้นโดยส่วนใหญ่ (ในขณะที่ Forward Multiplier เปลี่ยนแปลงเล็กน้อย) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถในเลื่อนตัวเองมาเป็นผู้ผลิตสินค้าปลายน้ำหรือผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้มากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมเหล็กแปรรูป, คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
การวิเคราะห์ในส่วนที่สาม ได้ศึกษาสัดส่วนของวัตถุดิบขั้นกลางต่อต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมในเวียดนาม โดยผลลัพธ์สอดคล้องกับส่วนที่สอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะอุตสาหกรรมส่งออก) มีสัดส่วนดังกล่าวสูงขึ้น แสดงถึงการขยายห่วงโซ่อุปทานของชิ้นส่วนภายในประเทศและเครือข่ายความเชื่อมโยงระหว่างสาขาอุตสาหกรรมปลายน้ำไปยังต้นน้ำที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
ผลจากการวิเคราะห์ จะเป็นประโยชน์ในการเข้าใจโครงสร้างและปัจจัยหลักของการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนาม ซึ่งรัฐบาลเวียดนามสามารถนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายการค้าและนโยบายภาษีที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมแต่ละกลุ่ม และยังเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนไทยในการเลือกกลุ่มเป้าหมายเพื่อการขยายการลงทุนในประเทศเวียดนาม รวมถึงภาครัฐบาลของไทยในการติดตามภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาค CLMV ต่อไป
1. บทนำ (Introduction)
1.1 ที่มาและความสำคัญ
ประเทศเวียดนาม ประเทศหนึ่งที่ในอดีตถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำของโลก แต่อย่างไรก็ดีภายหลังจากการปฏิรูปเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 จนถึงปัจจุบัน เวียดนามพัฒนาเศรษฐกิจได้มีการขยายตัวต่อเนื่อง และสามารถเปลี่ยนสถานะทางเศรษฐกิจจากประเทศรายได้ต่ำ ไปสู่ประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง ซึ่งในปัจจุบันประเทศเวียดนามได้ก้าวขึ้นสู่ประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงสุดประเทศหนึ่งของเอเชีย ลำดับการพัฒนาโดยสังเขปของประเทศเวียดนาม ประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้
1) การพัฒนาเศรษฐกิจ ได้ส่งผลทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP Per Capita) ของประชากรเวียดนามมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจาก โดยในปี พ.ศ. 2543 รายได้เฉลี่ยต่อปีของประชากรเวียดนามเท่ากับ 957 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ในปี พ.ศ. 2563 รายได้เฉลี่ยต่อหัวของเวียดนามเท่ากับ 2,655 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 82,000 บาท โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564) (World Development Indicators – World Bank, 2022)
2) จำนวนประชากรที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนลดลงอย่างรวดเร็ว จากร้อยละ 20.7 ในปี พ.ศ. 2554 มาที่ระดับร้อยละ 6.7 ในปี พ.ศ. 2561 (World Development Indicators – World Bank, 2022)
3) โครงสร้างทางเศรษฐกิจของเวียดนามได้เปลี่ยนจากการพึ่งพิงภาคเกษตร มาสู่การขยายตัวด้วยอุตสาหกรรมและภาคบริการ ดังแสดงในรูปภาพที่ 1 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสัดส่วนของแต่ละภาคส่วนที่ส่งผลต่อการเติบโตของ GDP ของประเทศเวียดนามในช่วงปี พ.ศ. 2548 – 2563
ในวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2563 สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติของเวียดนามเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ประจำไตรมาสที่ 4 ของปี โดยระบุว่าในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม GDP ของเวียดนามเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 4.48 และสูงกว่าค่าเฉลี่ย (ร้อยละ 4) ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้จะเห็นได้จากภาคการส่งออกของเวียดนามโตขึ้นร้อยละ 17.6 และนำเข้ามากขึ้นร้อยละ 22.7 ในเดือนธันวาคมของปีดังกล่าว โดยหากคำนวณผลรวมทั้งปีแล้ว จะเห็นได้ว่าเวียดนามส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 และนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ทำให้เกินดุลการค้าอยู่ที่มูลค่า 19,060 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 573,000 ล้านบาท โดยเมื่อนับรวมทั้งปี พ.ศ. 2563 อัตราการเติบโต GDP ของเวียดนามคิดเป็นร้อยละ 2.91 (เหนือกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.8) แต่อย่างไรก็ดี ถือได้ว่าเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบ 34 ปี จากเดิมที่ GDP ของเวียดนามสามารถขยายเติบโตได้ถึงร้อยละ 6-7 ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้ในช่วงวิกฤตโควิท-19 แต่เศรษฐกิจเวียดนามก็ยังสามารถเติบโตได้ดี ซึ่งเกิดจากควบคุมและการรับมือกับการระบาด ซึ่งช่วยทำให้เศรษฐกิจหลายภาคส่วนดำเนินต่อไปได้
ด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของประเทศเวียดนามนี้ ผู้วิจัยได้เล็งเห็นถึงปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนาม นั่นคือ ภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศเวียดนามที่ผลักดันการส่งออกอย่างต่อเนื่อง ผู้วิจัยจึงมีความต้องการที่จะศึกษาถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม โดยการศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อศึกษาโครงสร้างของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศเวียดนามโดยใช้วิธีการวิเคราะห์ Network Analysis (Centrality Index) และ Backward-Forward Multiplier เพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง และชี้ให้เห็นถึงสาขาการผลิตที่เป็นส่วนหลักของโครงสร้างเศรษฐกิจเวียดนาม
1.2 ขอบเขตการศึกษา
(1) การศึกษาครั้งนี้มุ่งเน้นการวิเคราะห์อุตสาหกรรมที่มีการเติบโตและมีศักยภาพสูงในประเทศเวียดนาม โดยมีการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ร่วมกับเครื่องมือวิเคราะห์เชิงปริมาณเพื่อใช้ในการอธิบายผลของการศึกษา
(2) ผู้วิจัยได้ทำการสืบค้นข้อมูล และประยุกต์ใช้ข้อมูลสถิติตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) ของเวียดนามในปี ค.ศ. 1996 และ 2018 จากเว็บไซต์องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ร่วมกับวิธีการวิเคราะห์ Network Analysis (Centrality Index) และ Backward-Forward Multiplier
(3) ผลที่ได้จากการศึกษาจะเป็นองค์ความรู้พื้นฐานและเป็นแนวทางในการพัฒนาต่อการวิเคราะห์เชิงลึก และการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. วรรณกรรมปริทัศน์ (Literature review)
เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะเวลาที่ผ่านมามากกว่า 34 ปี มูลค่าของ GDP สามารถขยายตัวได้ในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 6.7 ต่อปี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเป็นผลตั้งแต่การปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจโดยนโยบาย Doi Moi ในปี พ.ศ. 2529 โดยเพิ่มบทบาทของภาคเอกชน และทำให้ระบบเศรษฐกิจเป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น (ธนวัฒน์ และ ณัชพล, 2563)
การพัฒนาเศรษฐกิจนี้ เน้นไปที่การส่งเสริมการเติบโตของภาคเอกชน ส่งผลสืบเนื่องไปยังการเติบโตในด้านการค้าต่างประเทศ และการลงทุนในเวียดนามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 (Poole และคณะ, 2017) ซึ่งการเข้ามาลงทุนในประเทศเวียดนามมากขึ้นนี้ ส่งผลให้ปริมาณการส่งและการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งได้ในหลายงานที่ศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจเวียดนาม ดังจะเห็นได้ในงานวิจัยของ ADB (Poole และคณะ, 2017) ซึ่งได้ระบุว่า เวียดนามได้กลายเป็นประเทศมีเปิดรับต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในระดับที่สูงมากประเทศหนึ่งในเอเชีย โดยเวียดนามได้เข้าร่วมกับการร่วมกลุ่มทางเศรษฐกิจอย่างหลากหลายทั้ง Association of Southeast Asian Nations (ASEAN), Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC), US-Viet Nam bilateral trade agreement (BTA) และ World Trade Organization (WTO) ซึ่งผลจากการเปิดเสรีการค้าอย่างต่อเนื่องของเวียดนามได้รับการวิเคราะห์โดย McCaig (2011) และงานวิจัยของ McCaig & Pavcnik (2013) และระบุว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและการขยายตัวของการส่งออก
นอกจากนี้ ในงานวิจัยของธนวัฒน์ และ ณัชพล (2563) ได้แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างตลาดส่งออกของเวียดนามกระจุกตัวอยู่ใน 5 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ คิดเป็นร้อยละ 67 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมด ในปี พ.ศ. 2562 (จากร้อยละ 58 ในปี พ.ศ. 2552) ซึ่งจะเห็นได้ว่าสินค้าส่งออกที่กระจุกตัว ได้แก่ (1) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ (2) เครื่องนุ่งห่ม และ (3) รองเท้า คิดเป็นร้อยละ 42, 11 และ 8 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดในปี พ.ศ. 2562 ตามลำดับ ซึ่งในส่วนของการวิเคราะห์ได้อ้างอิงถึงแนวคิด Smiling Curve คือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ได้ทำให้กระบวนการอุตสาหกรรมกลางน้ำเป็นกิจกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value-Added) ได้ต่ำที่สุด และกิจกรรมการผลิตต้นน้ำและปลายน้ำมีสัดส่วนของมูลค่าเพิ่ม (Value-Added) ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจากการที่เวียดนามได้เข้าร่วมในเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงที่อาจทำให้โครงสร้างอุตสาหกรรมในประเทศมีลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบ Smiling Curve สามารถวิเคราะห์ได้โดยการใช้ข้อมูลจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) ดังที่ได้นำเสนอใน ณัฐพงษ์ (2563) และประเทศโดยส่วนใหญ่ในเอเชียได้เข้าสู่เครือข่ายการการผลิตระหว่างประเทศ และเกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบนี้ โดยมีงานวิจัยเกี่ยวข้อง ซึ่งนำเสนอโครงสร้างการผลิตระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงโดยการใช้ข้อมูลจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) ดังเช่น Yamano & Ahmad (2006), Meng และคณะ (2013), Tukker & Dietzenbacher (2013), UNCTAD (2013) และ World Bank (2017) และในกรณีของประเทศไทย ดังเช่นงานวิจัยของ Puttanapong (2016) และ Sessomboon (2016) นอกจากนี้การวิเคราะห์ข้อมูลจากจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) ยังสามารถประยุกต์ร่วมกับวิธีการทาง Network Analysis ด้วยเช่นกัน ดังเช่นในผลงานของ Cerina และคณะ (2015), Barabási (2016) และ Choi & Foerster (2017) ซึ่งสามารถสร้างแผนภาพแสดงความเชื่อมโยงของภาคส่วนต่างๆ ภายในโครงสร้างเศรษฐกิจและการจัดลำดับสาขาการผลิตที่สำคัญ
การวิเคราะห์ของ ธนชาติ (2562) ได้กล่าวถึงแนวโน้มในกรณีศึกษาประเทศไทย ซึ่งนำเสนอว่าการเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 เทคโนโลยี ทำให้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์, หุ่นยนต์ และ Internet of Things (IoT) ฯลฯ จะทำให้รูปแบบการผลิตและโครงสร้างอุตสาหกรรมแตกต่างไปจากเดิม และอาจจะทำให้ไทยยังไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงมากนักในอนาคต ดังนั้นการศึกษาโครงสร้างและปัจจัยหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามที่นำเสนอในงานวิจัยนี้ จึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการแลกเปลี่ยนมุมมองและเปรียบเทียบแนวโน้มการเติบโต รวมถึงเพื่อการจัดทำข้อเสนอแนะทางนโยบายสำหรับประเทศไทยในอนาคต
3. วิธีการที่ใช้ในการศึกษาและข้อมูล (Research Methodology and Data)
จากวัตถุประสงค์ของการศึกษานี้ ที่มุ่งเน้นการศึกษารายละเอียดโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ การวิเคราะห์จึงเน้นไปที่วิธีการศึกษาจากการสืบข้อมูลเนื้อหาและข้อมูลสถิติตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) ปี พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) และ พ.ศ. 2561 (ค.ศ. 2018) จากเว็บไซต์องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และข้อมูลทางเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งจากหน่วยงานของรัฐบาลเวียดนาม (General Statistics Office of Vietnam) และจากฐานข้อมูล World Development Indicators ของธนาคารโลก (World Bank) โดยประกอบด้วยข้อมูล ดังต่อไปนี้
3.1) ข้อมูลโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม
การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามมีขยายตัวอย่างต่อเนื่อง (จากรูปภาพที่ 2) จะเห็นได้ว่า อัตราการขยายตัวของ GDP ของประเทศเวียดนามมีอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การปฏิรูปเศรษฐกิจตามนโยบาย Doi Moi ในปี พ.ศ. 2528 และรักษาการเติบโตได้ในระดับสูงมาจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2563 มีอัตราเติบโตต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 โดยในไตรมาส 2 ของปีดังกล่าว มีการระบาดของ COVID-19 ในระดับสูง ประเทศเวียดนามมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 2 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.36 เเต่ก็ยังถือว่าเป็นการเติบโตสวนทางกับประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่ติดลบจากผลกระทบของ COVID-19
จากการที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจของเวียดนาม แต่เศรษฐกิจโดยรวมไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากมาตรการการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ จากรายละเอียดผลผลิตรายสาขาดังนำเสนอในรูปภาพที่ 3 ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการขยายตัว ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมโดยรวมที่ยังขยายตัวที่ร้อยละ 1.38 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และภาคการเกษตรยังสามารถขยายตัวร้อยละ 1.72 เเต่อย่างไรก็ดี ภาคบริการโดยรวมหดตัวลงร้อยละ 1.76 แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่าภาคธุรกิจบริการสาขาหลัก ยังรักษาการเติบโตไว้ได้เช่นกัน เช่น การค้าปลีกและค้าส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 และภาคการเงินและธนาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.78 นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงข้อมูลอื่นๆ จากการรายงานของหน่วยงานของรัฐบาลเวียดนาม แสดงให้เห็นว่า การลงทุนในภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ การส่งออกของสินค้ากลางน้ำบางชนิด ก็ยังมีอัตราการเพิ่มขึ้นเช่นกัน (GSO, 2020)
ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ถดถอย พบว่าประเทศเวียดนามยังคงเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบเล็กน้อย โดยจากรายงานของ GSO (2020) ระบุว่า ยอดส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2563 ปรับตัวลงร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ยอดนำเข้าลดลงร้อยละ 3 ซึ่งผลสุทธิได้ทำให้เวียดนามยังคงมียอดเกินดุลการค้าอยู่ที่ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเวลาดังกล่าว โดยถึงแม้ว่าการส่งออกจะชะลอตัวลง เนื่องจากอุตสาหกรรมส่งออกหลัก เช่น การผลิตชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือและโทรศัพท์มือถือที่มีการผลิตลดลงร้อยละ 8.4 แต่ภาคอุตสาหกรรมหลักสาขาอื่นๆ ยังสามารถขยายตัวได้ เช่น อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 24.2 อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.2 เป็นต้น ซึ่งจากข้อมูลที่ได้นำเสนอในหัวข้อ 3.1 นี้ ได้นำไปสู่การขยายรายละเอียดของการศึกษาในรายสาขาการผลิตและความเชื่อมโยงระหว่างสาขาการผลิตภายในระบบเศรษฐกิจเวียดนาม โดยใช้ข้อมูลและวิธีการวิเคราะห์ดังนำเสนอในหัวข้อต่อไป
3.2) ข้อมูลตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) ประเทศเวียดนาม
จากข้อมูลการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศเวียดนามที่ได้นำเสนอมาข้างต้น ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งช่วยทำให้สามารถรักษาการขยายตัวและรองรับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกได้เป็นอย่างดี โดยในส่วนนี้ จะทำการวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) ของประเทศเวียดนาม โดยตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) เป็นตารางที่แสดงให้เห็นการหมุนเวียนของสินค้าและบริการระหว่างสาขาการผลิตของระบบเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลา 1 ปี ซึ่งในการศึกษานี้ ได้ใช้ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) ซึ่งจัดทำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) โดยข้อมูลที่จะนำมาใช้ในวิเคราะห์ ประกอบด้วย
– ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) ประเทศเวียดนามในปี ค.ศ. 1996
– ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) ประเทศเวียดนามในปี ค.ศ. 2018
โดยข้อมูลข้อมูลตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) นี้ ประกอบด้วยรายละเอียด 44 สาขาการผลิต (สามารถเข้าถึงได้ที่ https://www.oecd.org/sti/ind/input-outputtables.htm) ซึ่งข้อมูลนี้ จะช่วยทำให้สามารถเข้าใจโครงสร้างเศรษฐกิจของเวียดนามผ่านการวิเคราะห์ด้วยวิธีการ Network Analysis และ Backward-Forward Multiplier ดังนำเสนอในหัวข้อต่อไป
3.3) การวิเคราะห์ด้วย Forward และ Backward Multiplier
การวิเคราะห์ความเชื่อมโยงในโครงสร้างเศรษฐกิจ สามารถวิเคราะห์ได้โดยใช้ข้อมูลจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) โดยรายละเอียดของการคำนวณดังที่ได้แสดงใน Miller & Blair (2009) และ ณัฐพงษ์ (2563) ได้แสดงให้เห็นว่า ข้อมูลที่แสดงในแต่ละแถวของตารางฯ สามารถแบ่งแยกเป็นสมการดังตัวอย่างในสมการที่ (1), (2) และ (3) ซึ่งแสดงความสัมพันธ์ของผลผลิตรวมของสาขาที่ n ซึ่งเป็นมูลค่ารวมเท่ากับค่าทางซ้ายมือของสมการ ( ) ซึ่งในพจน์ทางขวามือของสมการได้ถูกนำไปใช้เป็นวัตถุขั้นกลางโดยสาขาการผลิตอื่น ตามสัดส่วนการใช้วัตถุดิบขั้นกลาง และผลผลิตนี้ ยังถูกนำไปใช้ในการบริโภคขั้นสุดท้าย ( ) (โดย สาขาการผลิต และ มีจำนวนสูงสุดตามจำนวนสาขาในตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต)
ซึ่งรูปแบบสมการด้านบน สามารถจัดเรียงในรูปแบบเมตริกซ์ได้ดังนี้
เมื่อจัดพจน์ความสัมพันธ์ของทั้ง 3 เมตริกซ์จะได้แบบสมการ (3)
เมื่อย้ายข้างสมการเพื่อปรับรูปแบบแสดงความสัมพันธ์ระหว่าง F และ X จะได้ผลดังสมการ (4)
โดยค่าของเมตริกซ์ B คือตัวทวีคูณ (หรือ Leotief multiplier) โดยค่าของ Backward multiplier (BW) ของสาขาที่ j สามารถคำนวณได้จาก $$BW{_i}=\sum_{}j ⋅ b{_i}{_j}$$และ Forward multiplier (FW) ของสาขาที่ i สามารถคำนวณได้จาก $$FW{_i}=\sum_{}j ⋅ b{_i}{_j}$$ ซึ่งค่าของ Backward multiplier (หรือตัวทวีคูณแสดงผลกระทบไปทางต้นน้ำ) แสดงถึง ความเชื่อมโยงระหว่างสาขาการผลิตดังกล่าวกับสาขาอื่นๆ ที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ (หรือสาขาต้นน้ำ) ในขณะที่ค่าของ Forward multiplier แสดงถึงความเชื่อมโยงดังกล่าวกับผู้นำผลผลิตไปใช้ (หรือสาขาปลายน้ำ รวมถึงผู้บริโภค) โดยค่าของตัวทวีคูณทั้ง BW และ FW ที่สูงแสดงถึงความเชื่อมโยงกับสาขาการผลิตอื่นๆ เป็นจำนวนมาก และมีลำดับขั้นตอนการผลิตและความซับซ้อนของความเชื่อมโยงมาก ทำให้เมื่อสาขาดังกล่าวเกิดการขยายตัวของการผลิต จะส่งผลกระทบที่มีมูลค่าสูงไปยังสาขาต้นน้ำ (กรณี BW สูง) หรือสาขาปลายน้ำ (กรณี FW สูง)
4. ผลการคำนวณและการอภิปราย (Result discussion)
4.1) ผลการศึกษา Network Analysis ของแต่ละอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม
ในการวิเคราะห์ส่วนแรกนี้ จะใช้วิธีการในสาขา Network Analysis ซึ่งสร้างผลลัพธ์เป็นภาพแผนผังแสดงความเชื่อมโยงระหว่างภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจจากข้อมูลในตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) นอกจากนี้ ยังสามารถจัดลำดับความสำคัญของแต่ละสาขาการผลิตต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมโดยการคำนวณค่าความเป็นศูนย์กลางต่อระบบเศรษฐกิจ (Centrality Index) โดยในการศึกษานี้ ได้วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรม Gephi เพื่อสร้างแผนผังความเชื่อมโยงสาขาการผลิต และเพื่อคำนวณค่า Weighted Degree Centrality Index เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมประเทศเวียดนามโดยเปรียบเทียบระหว่างปี พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) และ พ.ศ. 2561 (ค.ศ. 2018)
จากการวิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีการ Network Analysis ตามขั้นตอนที่ได้ถูกนำเสนอในงานวิจัยของ Cerina และคณะ (2015), Barabási (2016) และ Choi & Foerster (2017) ได้ผลลัพธ์ในรูปแบบแผนผังดังแสดงในรูปภาพที่ 4 และค่าดัชนีในรูปภาพที่ 5 และ ตารางที่ 1 โดยค่า Weighted Degree Centrality Index เป็นดัชนีแสดงจำนวนสาขาการผลิตอื่นๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับสาขาดังกล่าวและปรับด้วยค่าถ่วงน้ำหนักซึ่งเป็นมูลค่าของธุรกรรมที่เกี่ยวข้องในแต่ละเส้นทางความเชื่อมโยง ขนาดของจุดแสดงสาขาการผลิตและเส้นโค้งที่แสดงความเชื่อมโยงในรูปที่ 4 มีขนาดตามลำดับของ Weighted Degree Centrality Index ซึ่งจะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนามมีความสัมพันธ์กันมากขึ้นจากปี พ.ศ. 2539 จนถึงปี พ.ศ. 2561 ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่าในปี พ.ศ. 2539 โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม ประกอบไปด้วยอุตสาหกรรม Paper products and printing, Other non-metallic mineral products และ Manufacturing เป็นอุตสาหกรรมหลักของการผลิตและความเชื่อมโยงระหว่างภาคผลิต ซึ่งในปี พ.ศ. 2561 โครงสร้างเศรษฐกิจเวียดนามเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยอุตสาหกรรมหลักประกอบไปด้วย อุตสาหกรรม Coke and refined petroleum products, Chemical and chemical products, Basic metals และ Wholesale and retail trade ซึ่งจะเห็นได้ว่า อุตสาหกรรมปิโตรเลียม ได้เป็นภาคส่วนหลักในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมีความเชื่อมโยงไปในหลายอุตสาหกรรมมาก เช่น อุตสาหกรรมเกี่ยวกับพลังงาน เป็นต้น รวมไปถึงอุตสาหกรรมค้าปลีกและค้าส่งสินค้าที่มีความเชื่อมโยงไปในหลายอุตสาหกรรมในระบบเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามเช่นกัน อีกทั้งยังเห็นการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการเกษตร ที่มีความเชื่อมโยงมากขึ้นจากปี พ.ศ. 2539 ด้วยเช่นกัน
ผลดังกล่าวสอดคล้องกับรายละเอียดในรูปภาพที่ 5 ที่แสดงการเปลี่ยนแปลง Weighted Degree Centrality Index โดยในปี พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) พบว่าอุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีนี้สูงอย่างโดดเด่น ประกอบด้วยอุตสาหกรรม Paper products and printing, non-metallic mineral products และ Manufacturing ในขณะที่ปี พ.ศ. 2561 (ค.ศ. 2018) พบว่าอุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีดังกล่าวสูงอย่างโดดเด่น ประกอบไปด้วย Coke and refined petroleum products, Chemical and chemical products, Basic metals และ Wholesale and retail trade จากการที่ค่าดัชนีนี้สามารถอธิบายความสำคัญโดยแสดงถึงความเป็นศูนย์กลาง จึงชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมปิโตรเลียม, อุตสาหกรรมเคมี และ อุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ กลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามมากที่สุดในปี พ.ศ. 2561 (ค.ศ. 2018) ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทของสาขาเหล่านี้ ในการเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบต้นน้ำที่สำคัญที่มีความจำเป็นต่ออุตสาหกรรมอื่น นอกจากนี้ สาขาค้าปลีกค้าส่งยังมีค่าที่สูงเช่นกันโดยสะท้อนถึงบทบาทสำคัญในช่วงปลายน้ำ
2018 | 1996 | 2018 | 1996 | ||
Agriculture, hunting, forestry | 1.382 | 2.021 | Electricity, gas, steam and air conditioning supply | 0.965 | 1.181 |
Fishing and aquaculture | 0.558 | 1.096 | Water supply; sewerage, waste management and remediation activities | 0.486 | 0.649 |
Mining and quarrying, energy producing products | 0.726 | 1.333 | Construction | 0.524 | 1.238 |
Mining and quarrying, non-energy producing products | 0.722 | 0.821 | Wholesale and retail trade; repair of motor vehicles | 0.410 | 2.605 |
Mining support service activities | 1.076 | 0.522 | Land transport and transport via pipelines | 0.534 | 1.176 |
Food products, beverages and tobacco | 1.125 | 2.020 | Water transport | 0.352 | 0.891 |
Textiles, textile products, leather and footwear | 0.915 | 1.390 | Air transport | 0.156 | 0.899 |
Wood and products of wood and cork | 1.314 | 1.371 | Warehousing and support activities for transportation | 0.327 | 1.029 |
Paper products and printing | 2.466 | 1.873 | Postal and courier activities | 0.241 | 0.807 |
Coke and refined petroleum products | 1.579 | 4.141 | Accommodation and food service activities | 0.405 | 1.121 |
Chemical and chemical products | 0.745 | 2.582 | Publishing, audiovisual and broadcasting activities | 0.221 | 0.959 |
Pharmaceuticals, medicinal chemical and botanical products | 1.516 | 1.639 | Telecommunications | 1.317 | 1.075 |
Rubber and plastics products | 1.417 | 1.264 | IT and other information services | 1.471 | 0.868 |
Other non-metallic mineral products | 2.156 | 1.240 | Financial and insurance activities | 0.787 | 1.268 |
Basic metals | 1.200 | 2.456 | Real estate activities | 0.454 | 0.608 |
Fabricated metal products | 1.862 | 1.958 | Professional, scientific and technical activities | 0.891 | 1.328 |
Computer, electronic and optical equipment | 1.081 | 1.579 | Administrative and support services | 0.173 | 0.715 |
Electrical equipment | 1.309 | 1.700 | Public administration and defence; compulsory social security | 0.564 | 0.574 |
Machinery and equipment, nec | 1.598 | 1.565 | Education | 0.579 | 0.457 |
Motor vehicles, trailers and semi-trailers | 0.228 | 1.235 | Human health and social work activities | 1.104 | 0.650 |
Other transport equipment | 0.827 | 1.358 | Arts, entertainment and recreation | 0.440 | 0.612 |
Manufacturing nec; repair and installation of machinery and equipment | 2.235 | 1.729 | Other service activities | 0.201 | 0.612 |
ที่มา: ข้อมูลสถิติจากฐานข้อมูล OECD Vietnam Input-Output Tables (IOTs) และ การคำนวณโดยผู้วิจัย |
4.2) การศึกษาค่า Backward และ Forward Multiplier
วิธีการคำนวณดังที่ได้นำเสนอในหัวข้อ 3.3 เป็นการวิเคราะห์ในการจำแนกอุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำ ซึ่งสามารถจำแนกได้ดังนี้ อุตสาหกรรมที่มี Backward Multiplier (หรือค่าดัชนีตัวทวีคูณแสดงผลกระทบไปทางต้นน้ำ) มีค่าต่ำ และมีค่า Forward Multiplier หรือค่าดัชนีตัวทวีคูณแสดงผลกระทบไปทางปลายน้ำ) มีค่าสูง หมายความว่าอุตสาหกรรมหรือสาขาการผลิตนั้นๆ ส่งผลกระทบไปในด้านปลายน้ำได้มากกว่า ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมการผลิตนี้ เป็นกระบวนลำดับต้นของห่วงโซ่การผลิต ดังเช่น กระบวนการผลิตวัตถุดิบหรือการแปรรูปขั้นต้น (หรือเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ) และในทางตรงกันข้าม หากเป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำหรืออยู่ในกระบวนลำดับสุดท้ายของห่วงโซ่การผลิต จะมีค่า Backward Multiplier สูง แต่มีค่า Forward Multiplier ต่ำ แต่ในกรณีที่ Backward-Forward Multiplier มีค่าใกล้เคียงกัน หมายความว่าอุตสาหกรรมนั้นๆ เป็นอุตสาหกรรมกลางน้ำ
จากรูปภาพที่ 6 และตารางที่ 2 ในการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงค่า Forward Multiplier ในแต่ละอุตสาหกรรมของเวียดนามระหว่างปี ค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539) และปี ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) พบว่าอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงของค่า Forward Multiplier เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น คือ Coke and refined petroleum products, Chemicals and chemical products, Basic metals และ Retail trade โดยค่า Forward Multiplier ที่เพิ่มขึ้นบอกถึงขนาดผลกระทบและความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมดังกล่าวที่มีต่อสาขาการผลิตในอุตสาหกรรมปลายน้ำ แสดงให้เห็นถึงการที่อุตสาหกรรมดังกล่าวมีสัดส่วนการส่งต่อผลผลิตไปยังสาขาการผลิตอื่นค่อนข้างสูง สะท้อนถึงความเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่เป็นต้นน้ำและสะท้อนถึงบทบาทที่ชัดเจนขึ้นของอุตสาหกรรมดังกล่าวในเศรษฐกิจเวียดนาม ที่แม้อุตสาหกรรมดังกล่าวมาจะไม่ใช่อุตสาหกรรมส่งออกหลักของประเทศเวียดนาม แต่ถือเป็นสาขาอุตสาหกรรมพื้นฐานและโครงสร้างหลักของประเทศ
ทั้งนี้ รูปภาพที่ 7 และตารางที่ 3 ได้เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงค่า Backward Multiplier ในแต่ละอุตสาหกรรมของเวียดนามระหว่างค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539) และปี ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) พบว่าอุตสาหกรรมโดยส่วนใหญ่มีค่า Backward Multiplier เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่าประเทศเวียดนามสามารถเลื่อนตัวเองมาเป็นผู้ผลิตสินค้าปลายน้ำหรือผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้มากขึ้น โดยอุตสาหกรรมส่งออกหลักของเวียดนาม เช่น Computer, electronic and optical equipment, Electrical equipment, Machinery and equipment, Motor vehicles, trailers and semi-trailers และ transport equipment มีค่า Backward Multiplier เพิ่มขึ้นกว่าเมื่อปี ค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539) สะท้อนถึงความสามารถในการขยายลำดับขั้นตอนการผลิตในช่วงต้นน้ำและกลางน้ำภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น (หรือมีห่วงโซ่อุปทานการผลิตในประเทศที่ยาวและซับซ้อนมากขึ้น) ซึ่งเป็นการช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมสามารถขยายการผลิตได้มากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมเกิดการขยายตัว
4.3) การศึกษาสัดส่วนของวัตถุดิบขั้นกลางต่อต้นทุนการผลิต
ในการศึกษาสัดส่วนของวัตถุดิบขั้นกลางต่อต้นทุนการผลิต เพื่อที่จะวิเคราะห์ว่าในแต่ละอุตสาหกรรมมีสัดส่วนของวัตถุดิบขั้นกลางต่อต้นทุนการผลิตเพิ่มหรือลดลงมากน้อยเพียงใด และสะท้อนถึงโครงสร้างการผลิตที่มีการใช้ชิ้นส่วนย่อยและความซับซ้อนในการผลิต รวมถึงมูลค่าของสินค้าขั้นกลาง ซึ่งจะส่งผลให้มีการนำเข้าชิ้นส่วนมากขึ้นด้วยเช่นกัน
จากรูปภาพที่ 8 และตารางที่ 4 ในการเปรียบเทียบสัดส่วนของวัตถุดิบขั้นกลาง ต่อต้นทุนการผลิตแต่ละอุตสาหกรรมของเวียดนามระหว่างปี ค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539) และ ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) พบว่าในปี ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) ในแต่ละอุตสาหกรรมมีสัดส่วนของวัตถุดิบขั้นกลางต่อต้นทุนการผลิตเพิ่มมากขึ้น สะท้อนถึงโครงสร้างการผลิตที่มีการใช้ชิ้นส่วนย่อยมากขึ้น มีความซับซ้อนในการผลิตเพิ่มมากขึ้น และมูลค่าสินค้าขั้นกลางที่สูงขึ้น รวมถึงส่งผลทำให้มีการนำเข้าชิ้นส่วนเพิ่มมากขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงนี้ แสดงให้เห็นว่าสาขาอุตสาหกรรมส่งออกหลัก เช่น Computer, electronic and optical equipment, Electrical equipment, Machinery and equipment, Motor vehicles, trailers and semi-trailers และ Other transport equipment มีสัดส่วนของวัตถุดิบขั้นกลางต่อต้นทุนการผลิตสูงมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการขยายห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ เนื่องจากมีความต้องการวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลางเพื่อเป็นปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น
4.3) การเปลี่ยนแปลง Multiplier โดยการวิเคราะห์แผนผังการเปลี่ยนแปลง
เพื่อศึกษารายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและลักษณะการผลิตของเวียดนาม การวิเคราะห์ได้สร้างแผนภาพแสดงการเปลี่ยนแปลงโดยเปรียบเทียบค่า ปี ค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539) และปี ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) ในรูปแบบของ scatter plot โดยพบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงใน 2 ลักษณะที่สำคัญ โดยในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบที่ 1 ดังแสดงในรูปภาพที่ 9 พบว่าหลายอุตสาหกรรมมีการเพิ่มขึ้นที่ค่า Backward และ Forward Multiplier ได้แก่ อุตสาหกรรมสาขา Coke and refined petroleum products, Chemicals and chemical products, Basic metals and fabricated metal, Retail trade, Mining and quarrying, energy producing products และ Agriculture, hunting, forestry โดยในรูปภาพที่ 9 แสดงการเพิ่มขึ้นทั้ง Forward Multiplier และ Backward Multiplier จากจุดสีน้ำเงิน (ค่าในปี ค.ศ. 1996) ไปยังจุดสีส้ม (ค่าในปี ค.ศ. 2018) โดยแนวลักษณะเป็นเส้นทแยงมุมขวาบนตามภาพ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบรายชื่ออุตสาหกรรมเหล่านี้ จะพบว่าโดยส่วนใหญ่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมที่ค่า Weighted Degree Centrality Index สูง (ดังแสดงในหัวข้อที่ 4.1) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผลการวิเคราะห์ทั้งจากการใช้ Network Analysis และจาก Backward-Forward Multiplier ให้ผลที่สอดคล้องกันในการบ่งชี้อุตสาหกรรมที่เป็นกลไกหลักของระบบเศรษฐกิจเวียดนาม ซึ่งผลที่ได้นี้ สะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้ ขยายความยาวของเส้นทางและความซับซ้อนของความเชื่อมโยงในห่วงโซ่อุปทานไปทั้งความสัมพันธ์กับสาขาต้นน้ำ และสาขาปลายน้ำ และสามารถส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจไปยังทั้ง 2 ภาคส่วนในระดับสูง
ในขณะเดียวกัน ผลการวิเคราะห์ได้แสดงให้เห็นว่าสาขาการผลิตที่เหลือของเวียดนามมีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงในอีกลักษณะหนึ่ง ดังแสดงในรูปภาพที่ 10 กล่าวคือ มีการเติบโตเพิ่มขึ้นของ Backward Multiplier เพียงอย่างเดียว แต่ Forward Multiplier เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่เปลี่ยนแปลง จึงมีรูปแบบของการเลื่อนของจุดสีส้มไปทางขวาเท่านั้น ทั้งนี้ ผลที่แสดงในรูปภาพที่ 10 ชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมของเวียดนามส่วนใหญ่มีการเพิ่มขึ้นของค่า Backward Multiplier แสดงให้เห็นถึงการที่ประเทศเวียดนามสามารถเลื่อนตัวเองมาเป็นผู้ผลิตสินค้าปลายน้ำหรือผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้มากขึ้น และในแต่ละอุตสาหกรรมมีสัดส่วนของวัตถุดิบขั้นกลางต่อต้นทุนการผลิตเพิ่มมากขึ้น สะท้อนถึงโครงสร้างการผลิตที่มีการใช้ชิ้นส่วนย่อยในการผลิตมากขึ้น ซึ่งผลที่ได้นี้ สอดคล้องกับข้อสรุปในหัวข้อที่ 4.3 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมโดยส่วนใหญ่ของเวียดนามมีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบขั้นกลาง (intermediate inputs) ที่มากขึ้น แสดงถึงขั้นตอนการผลิตและการเชื่อมโยงที่ไปทางต้นน้ำมากขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงการพัฒนาการผลิตที่มีเครือข่ายผู้ผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบที่ซับซ้อนมากขึ้น และเกิดการขยายเส้นทางและความเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนในห่วงโซ่อุปทานที่สูงขึ้น นอกจากนี้ สาขาเหล่านี้ ยังเป็นสาขาส่งออกหลักของเวียดนามด้วยเช่นกัน (เช่น สาขาชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ) โดยผลการวิเคราะห์ทั้งหมดได้สรุปรวมดังแสดงในตารางที่ 5
ประเภทที่ | บทบาท | สาขา | การเปลี่ยนแปลงค่า Weighted Degree Centrality Index | การเปลี่ยนแปลงค่า Backward multiplier | การเปลี่ยนแปลงค่า Forward multiplier | การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการใช้วัตถุดิบขั้นกลาง | สัดส่วนการส่งออก |
1 | ผลิตสินค้าต้นน้ำ และเป็นแกนหลักของโครงสร้างเศรษฐกิจ | (1) Coke and refined petroleum
products
(2) Chemicals and chemical products, (3) Basic metals (4) Mining and quarrying, energy producing products (5) Agriculture, hunting, forestry (6) Wholesale and retail trade |
สูง | สูง | สูง | สูง | ต่ำ (ยกเว้นสาขาเกษตร) |
2 | ผลิตสินค้าปลายน้ำ และเน้นการส่งออก | (1) Computer, electronic and optical equipment (2) Electrical equipment (3) Machinery and equipment (4) Motor vehicles |
ปานกลาง | สูง | ต่ำ | สูง | สูง |
ที่มา: ข้อมูลสถิติจากฐานข้อมูล OECD Vietnam Input-Output Tables (IOTs) และ การคำนวณโดยผู้วิจัย
5. สรุปผลและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย (Conclusion)
5.1) สรุปผลการศึกษา
เมื่อพิจารณาด้วย Network Analysis จะเห็นได้ว่า ในปี ค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539) อุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามและเป็นอุตสาหกรรมหลักของการผลิตและความเชื่อมโยงระหว่างภาคผลิต ประกอบด้วยอุตสาหกรรมเบา เช่น กระดาษ, แร่อโลหะ และอุตสาหกรรมการผลิตทั่วไป ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ประเทศเวียดนามได้ใช้การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกหลักในการผลักดันเศรษฐกิจ ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของเวียดนามเปลี่ยนไป ซึ่งในปี ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) ผลจาก Network Analysis แสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมหลักประกอบไปด้วย อุตสาหกรรมปิโตรเลียม, อุตสาหกรรมเคมี, อุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ และภาคการค้าปลีก-ค้าส่ง
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณากลุ่มอุตสาหกรรมนี้ร่วมกับค่า Backward และ Forward Multiplier พบว่า สาขาการผลิตเหล่านี้มีค่า Backward และ Forward Multiplier ที่เพิ่มขึ้นสูงสุด สะท้อนถึงสะท้อนถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมดังกล่าวในเศรษฐกิจเวียดนาม ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้จะไม่ใช่อุตสาหกรรมส่งออกหลักของประเทศเวียดนาม แต่ผลลัพธ์จากการวิเคราะห์ด้วยทั้ง 2 วิธีการ ได้ชี้ให้เห็นชัดเจนถึงการเป็นสาขาอุตสาหกรรมพื้นฐานที่ผลิตสินค้าต้นน้ำและเป็นโครงสร้างหลักของประเทศ
จากผลวิเคราะห์ด้วย Backward และ Forward Multiplier ยังแสดงให้เห็นเพิ่มเติมว่า นอกจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่กล่าวมาข้างต้นซึ่งพบว่าเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำหลัก อุตสาหกรรมอื่นๆ ของเวียดนามมีค่า Backward Multiplier สูงขึ้นโดยส่วนใหญ่ (ในขณะที่ Forward Multiplier เปลี่ยนแปลงเล็กน้อย) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถในเลื่อนตัวเองมาเป็นผู้ผลิตสินค้าปลายน้ำหรือผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้มากขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ ประกอบไปด้วย อุตสาหกรรมเหล็กแปรรูป, คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และสอดคล้องกับความสามารถในการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเหล่านี้ของเวียดนามที่เพิ่มขึ้น และยังสอดคล้องกับผลการคำนวณสัดส่วนของวัตถุดิบขั้นกลางต่อต้นทุนการผลิตเพิ่มมากขึ้น โดยผลรวมทั้งหมดนี้ สะท้อนถึงโครงสร้างการผลิตที่มีการใช้ชิ้นส่วนย่อยในการผลิตมากขึ้น และขยายลำดับขั้นตอนการผลิตและความเชื่อมโยงจากสาขาปลายน้ำไปยังสาขาต้นน้ำที่มากขึ้น
5.2) ข้อเสนอแนะ
ภาครัฐบาลของเวียดนาม สามารถนำข้อมูลจากการศึกษาครั้งนี้ไปใช้เพื่อวิเคราะห์และวางแผนกำหนดนโยบายและมาตรการให้มีความสอดคล้องกับลักษณะการเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม นอกจากนี้ ภาครัฐบาลและภาคเอกชนของไทยสามารถนำผลวิเคราะห์นี้ไปใช้ในการติดตามภาวะการเติบโตของเวียดนาม รวมถึงแสวงหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งในด้านการค้าและการลงทุนในประเทศเวียดนาม โดยผลการวิเคราะห์ในงานศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะของแต่ละอุตสาหกรรมในเวียดนามที่มีความแตกต่างกัน จากข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของ Multiplier ที่ปรากฎลักษณะการเติบโตของอุตสาหกรรม 2 แบบ ซึ่งประกอบด้วย (1) อุตสาหกรรมที่มีการเพิ่มขึ้นทั้ง Forward Multiplier และ Backward Multiplier และ (2) อุตสาหกรรมที่มีการเพิ่มขึ้นเพียง Backward Multiplier ดังนั้นการสนับสนุนนโยบายด้านภาษีจากภาครัฐของเวียดนาม ควรดำเนินการให้สอดคล้องตามลักษณะของอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ การเข้าร่วมลงนามในความตกลงทางการค้าเสรี (Free Trade Agreements: FTA) ควรพิจารณาให้สอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว เพื่อที่จะช่วยยกระดับเวียดนามให้สามารถส่งออกสินค้าไปต่างประเทศในอัตราภาษีที่ต่ำกว่า ในขณะเดียวกันเวียดนามสามารถนำเข้าสินค้าหรือชิ้นส่วนการผลิตได้ในอัตราภาษีที่น้อยลง ซึ่งจะการส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมและสอดคล้องกับโครงสร้างการผลิตที่มีการใช้ชิ้นส่วนย่อยในการผลิตมากขึ้น ทั้งนี้นโยบายที่เจาะจงไปยังอุตสาหกรรมแต่ละกลุ่ม จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจเวียดนามทั้งทางตรงและทางอ้อม และช่วยส่งเสริมศักยภาพของประเทศเวียดนามในการส่งออกสินค้าในอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ภาครัฐบาลและภาคเอกชนของไทย ยังสามารถใช้ประโยชน์ในการกำหนดสาขาเป้าหมายที่จะขยายมูลค่าการค้า หรือส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนาม ในสาขาหลักเหล่านี้ ซึ่งจะทำให้การกระจายฐานการผลิต และสร้างโอกาสทางธุรกิจในการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานเข้ากับฐานการผลิตเดิมในประเทศ ดังตัวอย่างเช่น ธุรกิจพลังงานของไทยที่มีศักยภาพ อาจจะขยายการลงทุนในเวียดนามเพื่อใช้ประโยชน์จากการขยายตัวและการเป็นแกนกลางในระบบเศรษฐกิจของเวียดนามในสาขาดังกล่าว เป็นต้น
บรรณานุกรม
เอกสารอ้างอิงต่างประเทศ
Barabási. A.L. (2016). Network Science. Cambridge: Cambridge University Press.
Cerina, F., Zhu, Z., Chessa, A., & Riccaboni, M. (2015). World input-output network. PLoS ONE, 10(7): e0134025.
Choi, J., & Foerster, A. (2017). The Changing Input-Output Network Structure of the U.S. Economy. Economic Review, (2), 23-49.
General Statistics Office (GSO) of Viet Nam, (2020). National Accounts of Viet Nam, สืบค้น 8 พฤษภาคม 2563 จาก https://www.gso.gov.vn/en/national-accounts/
General Statistics Office (GSO) of Viet Nam, (2022). National Accounts of Viet Nam, สืบค้น 15 กุมภาพันธ์ 2565 จาก https://www.gso.gov.vn/en/px-web/?pxid=E0306-07&theme=National%20Accounts%20and%20State%20budget
Jennifer P. Poole, Amelia U. Santos-Paulino, Maria V. Sokolova, and Alisa DiCaprio. (2560). The Impact Of Trade And Technology On Skills In Viet Nam. Tokyo: ADBI
Kunyaporn Phuakvisuthi. (2561). 5 สถานที่ยอดนิยมลงทุนเวียดนาม. สืบค้น 8 พฤษภาคม 2563 จาก https://www.thebangkokinsight.com/news/world-news/2383/
McCaig, B. (2011). Exporting out of poverty: Provincial poverty in Vietnam and U.S. market access, Journal of International Economics, 85(1), 102-113.
McCaig, B., & Pavcnik, N. (2013). Moving out of agriculture: Structural change in Vietnam, NBER Working Papers 19616.
Meng, B., Zhang, Y., & Inomata, S. (2013). Compilation and applications of IDE-JETRO’s international Input–Output tables. Economic Systems Research, 25, 122–142.
Miller, R.E., & Blair, P.D. (2009) Input-Output Analysis: Foundations and Extensions. 2nd Edition, Cambridge: Cambridge University Press.
Organisation for Economic Co-operation and Development. (2562). Trade in Value Added (TiVA): Principal indicators. สืบค้น 8 พฤษภาคม 2563 จาก https://stats.oecd.org/Index.aspx?datasetcode=TIVA_2018_C1
Poole, J., Paulino, A.S., Sokolova, M. & DiCaprio, A. (2017). The impact of trade and technology on skills in Viet Nam, ADBI Working Papers 770, Asian Development Bank Institute.
Puttanapong, N. (2016). Tracing Thailand’s linkages to global supply chain: Applications of World Input-Output Database (WIOD) and structural path analysis, International Journal of Applied Business and Economic Research,14(1), 411-438.
Sessomboon, P. (2016). Decomposition analysis of global value chain’s impact on Thai economy. (Unpublished master’s thesis). Thammasat University, Bangkok, Thailand.
Tukker, A., & Dietzenbacher, E. (2013). Global multiregional Input-Output frameworks: An introduction and outlook, Economic Systems Research, 25(1), 1-19. DOI: 10.1080/09535314.2012.761179
United Nations Conference on Trade and Development (UNCTAD), (2013). World Investment Report 2013 – Global Value Chains: Investment and Trade for Development. New York and Geneva: United Nations.
World Bank. (2017). Measuring and Analyzing the Impacts of GVCs on Economic Development. Global Value Chain Development Report 2017.
World Bank. (2022). World Development Indicators. สืบค้น 15 กุมภาพันธ์ 2565 จาก https://databank.worldbank.org/source/world-development-indicators
Yamano, N., & Ahmad, N. (2006). The OECD Input-Output database: 2006 edition. OECD Science, Technology and Industry Working Papers, 2006/08, OECD Publishing. http://dx.doi.org/10.1787/308077407044
United Nations Conference on Trade and Development (UNCTAD), (2013). World Investment Report 2013 – Global Value Chains: Investment and Trade for Development. New York and Geneva: United Nations.
เอกสารอ้างอิงภาษาไทย
ณัฐพงษ์ พัฒนพงษ์. (2563). การวิเคราะห์โครงสร้างและผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วยตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตและตารางบัญชีเมตริกซ์สังคม, กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ธนชาติ นุ่มนนท์. (2562). The Smiling Curve: เมื่อต้องแข่งที่ต้นทางและปลายทาง. สืบค้น 8 พฤษภาคม 2563 จาก https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/648761
ธนวัฒน์ พนิตพงศ์ศรี และ ณัชพล จรูญพิพัฒน์กุล. (2563). เจาะลึกความสามารถในการแข่งขันของเวียดนาม. สืบค้น 8 พฤษภาคม 2563 จาก https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/ArticleAndResearch/Pages/FAQ178.aspx
รศ. ดร. ณัฐพงษ์ พัฒนพงษ์
ผู้เขียน
ริยนา เอมศิริธนะนันต์
ผู้เขียน
พันกร อินทนันชัย
ผู้เขียน