บทความโดย
ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ
ดร.กวิน เอี่ยมตระกูล
นางสาวบุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์
1. สถานการณ์แรงงานปี 2566
ตามนิยามของสำนักงานสถิติแห่งชาติ แรงงานนอกระบบ หมายถึง ผู้มีงานทำที่ไม่ได้รับความคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงานเช่นเดียวกับแรงงานในระบบ จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2566 จำนวนผู้มีงานทำอยู่ที่ 40.09 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบ 19.13 ล้านคน (ร้อยละ 47.7) และเป็นแรงงานนอกระบบ 20.96 ล้านคน (ร้อยละ 52.3) ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ที่แสดงให้เห็นว่า ประเทศในอาเซียนก็มีสัดส่วนแรงงานนอกระบบที่สูงเช่นกัน อาทิ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีสัดส่วนแรงงานนอกระบบอยู่ที่ร้อยละ 90.4 อินโดนีเซียมีสัดส่วนแรงงานนอกระบบอยู่ที่ร้อยละ 80.2 และ เวียดนามมีสัดส่วนแรงงานนอกระบบอยู่ที่ร้อยละ 68.6 (ข้อมูล ณ 2565) อย่างไรก็ตาม การจ้างแรงงานนอกระบบเป็นประเด็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปในประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศไทยซึ่งมีการจ้างแรงงานนอกระบบจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การจ้างแรงงานนอกระบบที่มีสัดส่วนใหญ่ในตลาดแรงงานอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสภาวะทางสังคม นอกจากนี้ยังพบว่า แรงงานนอกระบบกว่าร้อยละ 55.4 เป็นแรงงานนอกระบบที่อยู่ในภาคเกษตร ขณะที่แรงงานในระบบส่วนใหญ่อยู่นอกภาคเกษตร โดยเฉพาะสาขาการผลิต (ร้อยละ 26.9 ของแรงงานในระบบ) ดังตารางที่ 1
ตารางที่ 1 จำนวนและสัดส่วนผู้มีงานทำในและนอกระบบ ปี 2566
ผู้มีงานทำ 2566 (หน่วย : ล้านคน) | แรงงานในระบบ | แรงงานนอกระบบ | รวม |
แรงงานภาคเกษตร | 1.03 (5.4%) | 11.62 (55.4%) | 12.64 (31.5%) |
การผลิต | 5.15 (26.9%) | 1.13 (5.4%) | 6.27 (15.6%) |
การก่อสร้าง | 1.20 (6.3%) | 0.94 (4.5%) | 2.14 (5.3%) |
การขนส่ง | 0.91 (4.8%) | 0.53 (2.5%) | 1.44 (3.6%) |
ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร | 1.28 (6.7%) | 1.90 (9.1%) | 3.18 (7.9%) |
การค้า | 3.34 (17.4%) | 3.43 (16.3%) | 6.76 (16.9%) |
สาขาอื่น ๆ | 6.23 (32.6%) | 1.43 (6.8%) | 7.66 (19.1%) |
รวม | 19.13 (100.0%) | 20.96 (100.0%) | 40.09 (100.0%) |
การกระจายตัวของแรงงานนอกระบบ จะเห็นได้ว่า แรงงานนอกระบบจะมีสัดส่วนสูงที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 76.4 รองลงมาเป็นภาคเหนือ ร้อยละ 69.0 และภาคใต้ ร้อยละ 55.5 ส่วนกรุงเทพมหานครและภาคกลางมีแรงงานนอกระบบน้อยกว่าแรงงานในระบบ (ดังภาพที่ 1) อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ แสดงให้เห็นว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แรงงานนอกระบบมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 54.3 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 51.0 ในปี 2565 และในปี 2566 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็นร้อยละ 52.3
รูปที่ 1 สัดส่วนของแรงงานนอกระบบ จำแนกตามภาค ปี 2566
2. วิเคราะห์สถานการณ์ค่าจ้างและอายุของแรงงานในและนอกระบบ
จากงานศึกษาของธนาคารโลกร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ค่าจ้างของแรงงานทุกกลุ่มการศึกษาไม่ได้เติบโตมากนักในช่วงสิบปีที่ผ่านมา โดยจากงานศึกษาพลวัตและความท้าทายของตลาดแรงงานไทย กล่าวว่า ค่าจ้างที่แท้จริงเฉลี่ยของไทยเติบโตมากในช่วงกลางทศวรรษ 1990s โดยเฉพาะค่าจ้างของแรงงานที่จบปริญญาตรีและอนุปริญญาที่เร่งขึ้นกว่ากลุ่มที่จบมัธยมศึกษาอย่างชัดเจน ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ภาคอุตสาหกรรมเติบโต แรงงานจากภาคเกษตรจำนวนมากจึงย้ายเข้ามาสู่ภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ค่าจ้างที่แท้จริงเฉลี่ยของแรงงานทุกกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มที่จบปริญญาตรีได้ชะลอตัวลง ค่าจ้างของกลุ่มที่จบ STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) เองก็ไม่ได้เพิ่มสูงนัก ซึ่งต่างจากปรากฏการณ์ในหลาย ๆ ประเทศที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีส่งผลให้มีความต้องการแรงงานทักษะสูงมากขึ้น และทำให้ค่าจ้างของแรงงานกลุ่มที่จบปริญญาตรีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นแปลว่า แม้อุปทานของแรงงานไทยที่จบปริญญาตรีจะเพิ่มจากร้อยละ 5.4 ในปี 2537 เป็นเพียงร้อยละ 20 ในปี 2565 แต่อุปสงค์ของแรงงานกลุ่มนี้กลับเพิ่มขึ้นน้อยกว่า
โดยจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเองก็สะท้อนความจริงของสถานการณ์แรงงานไทยดังที่การศึกษาของธนาคารโลกและธนาคารแห่งประเทศไทยศึกษาไว้ กล่าวคือ ค่าจ้างต่อเดือน ของแรงงานปี 2566 นั้น พบว่า ลูกจ้างที่เป็นแรงงานนอกระบบได้รับค่าจ้างเฉลี่ย 8,295 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 10.0 เมื่อพิจารณาตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ลูกจ้างที่เป็นแรงงานนอกระบบในภาคอุตสาหกรรมได้รับค่าจ้างเฉลี่ยสูงที่สุด ซึ่งได้รับค่าจ้างอยู่ที่ 8,996 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 12.0 รองลงมาเป็นภาคการบริการและการค้า ได้รับค่าจ้างอยู่ที่ 8,682 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 6.5 และภาคเกษตรกรรมได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่ำที่สุดอยู่ที่ 6,683 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 10.4 และเมื่อเปรียบเทียบค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนระหว่างลูกจ้างที่เป็นแรงงานนอกระบบกับแรงงานในระบบ พบว่า แรงงานในระบบได้รับค่าจ้างเฉลี่ยมากกว่าแรงงานนอกระบบถึง 1.9 เท่า โดยแรงงานในระบบได้ค่าจ้างเฉลี่ย 15,932 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.9 ขณะที่แรงงานนอกระบบได้รับค่าจ้างเฉลี่ยเพียง 8,295 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 10.0 (ดังตารางที่2) หากพิจารณาตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่า ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนของแรงงานนอกระบบน้อยกว่าแรงงานในระบบทุกกิจกรรม อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวของค่าจ้างแรงงานนอกระบบ มักสูงกว่าแรงงานในระบบในทุกภูมิภาคของประเทศไทย (ดังภาพที่ 2) เช่นเดียวกันกับการจำแนกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ตารางที่ 2 ค่าจ้างแรงงาน ปี 2566 เทียบ 2565
กิจกรรมทางเศรษฐกิจ | แรงงานในระบบ (บาท) | แรงงานนอกระบบ (บาท) | การเปลี่ยนแปลง (%) | |||
2566 | 2565 | 2566 | 2565 | ในระบบ | นอกระบบ | |
เกษตรกรรม | 7,091 | 6,895 | 6,683 | 6,053 | +2.8 | +10.4 |
อุตสาหกรรม | 14,431 | 14,385 | 8,996 | 8,033 | +0.3 | +12.0 |
บริการ | 17,486 | 17,310 | 8,682 | 8,150 | +1.0 | +6.5 |
เฉลี่ยรวม | 15,932 | 15,797 | 8,295 | 7,539 | +0.9 | +10.0 |
ภาพที่ 2 อัตราการเติบโตของค่าจ้างของแรงงานในและนอกระบบ จำแนกตามภูมิภาค
หากมองในมิติด้านอายุของแรงงาน ลักษณะโครงสร้างทางประชากรของแรงงานนอกระบบ พบว่า แรงงานนอกระบบเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงเช่นเดียวกับแรงงานในระบบ ส่วนกลุ่มอายุของแรงงานนอกระบบแตกต่างกับแรงงานในระบบโดยเฉพาะกลุ่มอายุ 25-39 ปี มีผู้ทำงานในระบบมากกว่าแรงงานนอกระบบเกือบ 2 เท่า ส่วนกลุ่มอายุ 40-59 ปี และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป มีแรงงานนอกระบบมากกว่าแรงงานในระบบ โดยหากคิดอายุมัธยฐานของแรงงานไทยอยู่ที่ 46 ปี (รายละเอียดดังตารางที่ 3) โดยแรงงานภาคเกษตรมีอายุมัธยฐานมากที่สุด สูงถึง 52 ปี นอกจากนี้ แรงงานนอกระบบยังมีอายุมัธยฐานสูงกว่าแรงงานในระบบในภาพรวมถึง 12 ปี ทั้งนี้ หากมองในประเทศอาเซียน พบว่า แรงงงานของประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่มีค่ามัธยฐานของอายุต่ำกว่าประเทศไทย มีเพียงประเทศเกาหลีใต้ที่มีอายุมัธยฐานสูงกว่าไทย อยู่ที่ 47 ปี
ตารางที่ 3 อายุมัธยฐาน (Median Age) ของแรงงาน ปี 2566
อายุเฉลี่ย (ปี) | แรงงานในระบบ | แรงงานนอกระบบ | แรงงานรวม |
เกษตรกรรม | 45 | 53 | 52 |
อุตสาหกรรม | 37 | 51 | 40 |
บริการ | 40 | 47 | 43 |
รวม | 39 | 51 | 46 |
ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคด้านรายได้ของแรงงานในและนอกระบบ
ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (GINI Coefficient) ซึ่งธนาคารโลกใช้ในการวัดความเหลื่อมล้ำในประเทศต่าง ๆ ประมาณ 110 ประเทศ โดยดัชนี GINI ที่นิยมใช้มี 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) GINI ด้านรายได้ และ2) GINI ด้านรายจ่าย โดยค่าดัชนีดังกล่าวจะมีค่าระหว่าง 0-1 โดยหากค่าดัชนี GINI มีระดับต่ำจะแสดงถึงการกระจายรายได้และรายจ่ายอยู่ในระดับดีกว่าค่า GINI ที่มีค่าสูง
ในกรณีของประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คำนวณดัชนี GINI จากข้อมูลรายได้ประจำของครัวเรือน เป็นประจำทุก 2 ปี ล่าสุดปี พ.ศ. 2564 พบว่า ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคด้านรายได้ ในปี พ.ศ. 2564 มีค่าอยู่ที่ ๐.๔๓๐ เพิ่มขึ้นจาก ๐.๔๒๙ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ จากการเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและครอบคลุมประชากรในทุกกลุ่มชั้นรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ในด้านความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของแต่ละภูมิภาค พบว่า เกือบทุกภูมิภาคความเหลื่อมล้ำปรับตัวลดลง มีเพียงกรุงเทพมหานครเท่านั้นที่ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้นมาก
หากใช้ฐานข้อมูลระดับย่อย (Micro Data) ของแรงงานนอกระบบ พ.ศ. ๒๕๖๖ และ พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประกอบด้วยการสำรวจข้อมูลทั่วไปของแรงงาน ได้แก่ อายุ อาชีพ ค่าจ้าง และชั่วโมงการทำงาน เป็นต้น ทั้งนี้ รายได้ของแรงงานคำนวณจากค่าจ้าง โบนัส ค่าล่วงเวลา และเงินอื่น ๆ ผลการวิเคราะห์พบว่า ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เท่าเทียมของรายได้แรงงานในระบบสูงกว่าแรงงานนอกระบบทั้งในภาพรวมและระดับภูมิภาค ขณะที่หากเปรียบเทียบระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๖๖ และ พ.ศ. ๒๕๖๕ พบว่า ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เท่าเทียมของรายได้แรงงานในระบบภาพรวมของประเทศ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลง ขณะที่ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เท่าเทียมของรายได้แรงงานนอกระบบภาพรวมของประเทศ ภาคกลางและภาคใต้เพิ่มขึ้น รายละเอียดดังตารางที่ 4
ตารางที่ 4 สัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (GINI Coefficient) ด้านรายได้แรงงาน
ปี พ.ศ. 2566 เทียบกับ พ.ศ. 2565
2566 | 2565 | |||
ในระบบ | นอกระบบ | ในระบบ | นอกระบบ | |
รวมทั้งประเทศ | 0.327 | 0.229 | 0.332 | 0.221 |
กรุงเทพมหานคร | 0.326 | 0.166 | 0.322 | 0.171 |
ภาคกลาง | 0.280 | 0.222 | 0.292 | 0.204 |
ภาคเหนือ | 0.357 | 0.175 | 0.356 | 0.207 |
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ | 0.351 | 0.171 | 0.371 | 0.212 |
ภาคใต้ | 0.372 | 0.278 | 0.371 | 0.213 |
3. บทสรุปและข้อเสนอแนะ
บทความนี้เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลแรงงานจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี พ.ศ. 2566 พบว่า ปี 2566 จำนวนผู้มีงานทำอยู่ที่ 40.09 เป็นแรงงานในระบบจำนวน 19.13 ล้านคน (ร้อยละ 47.7) และเป็นแรงงานนอกระบบจำนวน 20.96 ล้านคน (ร้อยละ 52.3) นอกจากนี้ยังพบว่า แรงงานนอกระบบกว่าร้อยละ 55.4 เป็นแรงงานนอกระบบที่อยู่ในภาคเกษตร ขณะที่แรงงานในระบบส่วนใหญ่อยู่นอกภาคเกษตร โดยเฉพาะสาขาการผลิต (ร้อยละ 26.9 ของแรงงานในระบบ)
หากพิจารณาการกระจายตัวของแรงงานนอกระบบ จะเห็นได้ว่า แรงงานนอกระบบจะมีสัดส่วนสูงที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาเป็นภาคเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ และในมิติด้านค่าจ้าง หากพิจารณาตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ พบว่า ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนของแรงงานนอกระบบน้อยกว่าแรงงานในระบบทุกกิจกรรม อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวของค่าจ้างแรงงานนอกระบบ มักสูงกว่าแรงงานในระบบในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ทั้งนี้ ในมิติด้านอายุ อายุมัธยฐานของแรงงานไทยอยู่ที่ 46 ปี โดยแรงงานภาคเกษตรมีอายุมัธยฐานมากที่สุด สูงถึง 52 ปี นอกจากนี้ แรงงานนอกระบบยังมีอายุมัธยฐาน สูงกว่าแรงงานในระบบในภาพรวมถึง 12 ปี ทั้งนี้ หากดูความเสมอภาคด้านรายได้ของแรงงานจากค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เท่าเทียมของรายได้ พบว่า ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เท่าเทียมของรายได้แรงงานในระบบภาพรวมของประเทศ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลง ขณะที่ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เท่าเทียมของรายได้แรงงานนอกระบบภาพรวมของประเทศ ภาคกลางและภาคใต้เพิ่มขึ้น
จากสถานการณ์แรงงานในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าการจ้างงานของแรงงานนอกระบบมีความเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นมิติทั้งด้านค่าจ้างและอายุ แม้ว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของแรงงานนอกระบบจะต่ำกว่าแรงงานในระบบ ดังนั้น การส่งเสริมให้แรงงานมีหลักประกันทางสังคมจะช่วยส่งเสริมภาวะทางสังคมให้มีเสถียรภาพที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาแรงงานในฐานะที่เป็นปัจจัยการผลิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การที่แรงงานมีอายุมัธยฐานที่ค่อนข้างสูงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความสามารถในการผลิตของไทยในอนาคต ดังนั้น การเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้ทำงานเพิ่มขึ้นน่าจะสอดคล้องกับบริบทแรงงานในปัจจุบันของไทยที่มีอายุยืนยาวขึ้น นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการสนับสนุนให้ทั้งผู้ที่อยู่ในวัยทำงานและผู้สูงอายุมีการพัฒนาทักษะเพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงานอยู่เสมอ ประการสุดท้ายการเปิดโอกาสให้คนต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ข้อจำกัดด้านแรงงานของไทยในขณะนี้ลดลง ซึ่งจะช่วยให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมีความต่อเนื่องมากขึ้นจากปัญหาความไม่สมดุลของโครงสร้างประชากรและแรงงานที่มีความท้าทายในอนาคต
ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ
ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมข้อมูลเศรษฐกิจและงานวิจัย
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน
ดร.กวิน เอี่ยมตระกูล
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน
นางสาวบุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน