บทความโดย
ดร.กวิน เอี่ยมตระกูล
ศักดิ์สิทธิ์ สว่างศุข
ปภัช สุจิตรัตนันท์
1. ความเดิมตอนที่แล้ว
จากบทความ “การวิเคราะห์ผลิตภาพการผลิตด้านบริการด้วยข้อมูลระดับสถานประกอบการ ตอนที่ 1” คณะผู้เขียนได้กล่าวถึง หลักคิดและทฤษฏีที่เกี่ยวข้องของผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity: TFP) บทบาทของภาคบริการในอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งทำให้ทราบถึงสถานการณ์ของภาคอุตสาหกรรมบริการของไทยว่ามีข้อจำกัดด้านเงินทุน เทคโนโลยี และคุณภาพของแรงงานไทย ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านเทคโนโลยี ทักษะด้านภาษาและความคิดสร้างสรรค์ จึงทำให้ภาคบริการของไทยส่วนใหญ่จึงมีลักษณะเป็นบริการแบบดั้งเดิม (Traditional Services) ซึ่งไม่ค่อยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจ ในส่วนนี้ จะนำเสนอผลการศึกษาการวิเคราะห์ผลิตภาพการผลิตด้านบริการในระดับกลุ่มอุตสาหกรรมและระดับสถานประกอบการ
2. การจัดสรรทรัพยากรในภาคบริการของไทย
งานศึกษาที่ผ่านที่จัดทำผลิตภาพการผลิตของไทย ส่วนใหญ่จะวิเคราะห์และคำนวณระดับประเทศ แต่เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้มีการจัดทำข้อมูลสำมะโนอุตสาหกรรมเป็นประจำทุก 5 ปี โดยบูรณาการดำเนินการไปพร้อมกับสำมะโนธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการ ภายใต้ชื่อ “สำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม” ทั้งนี้ สำมะโนอุตสาหกรรมจัดทำมาแล้ว 6 ครั้ง ได้แก่ ในปี 2507 ปี 2540 ปี 2550 ปี 2555 ปี 2560 และล่าสุด ปี 2565 โดยประโยชน์ของข้อมูลดังกล่าวให้รายละเอียดมูลเชิงลึกของสถานประกอบการในด้านมูลค่าผลผลิต (Gross Output) ค่าใช้จ่ายขั้นกลาง (Intermediate Consumption) และมูลค่าเพิ่ม (Value Added) รวมทั้งข้อมูลแรงงาน ค่าตอบแทนแรงงาน และจำนวนสถานประกอบการราย ทำให้งานศึกษาต่อมาของธนาคารแห่งประเทศไทย (2561) และธนาคารโลก (2563) สามารถวิเคราะห์ผลิตภาพการผลิตระดับสถานประกอบการและกลุ่มอุตสาหกรรมได้ รวมทั้งทราบปัญหาจากการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพระหว่างโรงงานขนาดต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันอีกด้วย
การศึกษาครั้งนี้ได้ใช้ข้อมูลระดับสถานประกอบการของสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม ธุรกิจทางการค้าและบริการ ล่าสุดปี พ.ศ. 2565 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ครอบคลุมสถานประกอบการ จำนวนทั้งสิ้น 2,044,071 แห่ง โดยตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ รายละเอียดดังตารางที่ 1 และหากพิจารณาในมิติของขนาดของสถานประกอบการ โดยใช้เกณฑ์จำนวนคนงาน พบว่า สถานประกอบการส่วนใหญ่ร้อยละ 91.9 เป็นสถานประกอบการรายย่อย (Micro) มีคนงาน 1-5 คน รองลงมาเป็นสถานประกอบการขนาดย่อม (Small) ร้อยละ 7.5 มีคน 6 – 30 คน รายละเอียด
ดังรูปที่ 1
ตารางที่ 1 จำนวนสถานประกอบการทั่วประเทศ
ภาค | จำนวนสถานประกอบการ (แห่ง) |
กรุงเทพมหานคร | 256,484 |
ปริมณฑล | 176,924 |
ภาคกลาง | 403,647 |
ภาคเหนือ | 370,794 |
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ | 483,441 |
ภาคใต้ | 352,781 |
รวม | 2,044,071 |
รูปที่ 1 ขนาดของสถานประกอบการ

3. เนื้อหา/ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
การวิเคราะห์ในระดับกลุ่มอุตสาหกรรม
จากการวิเคราะห์ข้อมูลฟังก์ชั่นการผลิตแบบ Cobb-Douglas Production Function ของข้อมูลสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม ล่าสุดปี พ.ศ. 2565 พบว่า ภาคบริการที่มีผลิตภาพการผลิตรวมสูง ได้แก่ การให้เช่าทรัพย์สินทางปัญญา การวิจัยตลาด งานบัญชี ซึ่งต้องใช้ทักษะทางวิชาชีพสูง ขณะที่บริการด้านศิลปะบันเทิง ที่พักแรม และบริการเครื่องดื่มจะมีผลิตภาพอยู่ในระดับต่ำ รายละเอียดดังรูปที่ 2 อย่างไรก็ดี หากภาคบริการมีการดำเนินการวิจัย ร่วมทุนกับต่างประเทศ และมีขนาดใหญ่ มักมีผลิตภาพการผลิตที่สูงขึ้น รายละเอียดดังรูปที่ 3
รูปที่ ผลิตภาพการผลิตของสถานประกอบการ จำแนกตามสาขาบริการ

หมายเหตุ: ผลิตภาพการผลิตรวมอยู่ในรูปแบบ Log
รูปที่ 3 ผลิตภาพการผลิตของสถานประกอบการ ในมิติอื่น ๆ

หมายเหตุ:
1. สถานประกอบการการที่เน้นการส่งออก (Export-oriented Firm) มีสัดส่วนการส่งออกในระดับสูงมากกว่าร้อยละ 60 ของยอดขาย
2. ผลิตภาพการผลิตรวมอยู่ในรูปแบบ Log นอกจากนี้ หากวิเคราะห์เปรียบเทียบในมิติของระดับผลิตภาพการผลิตและการอัตราการเติบโตของผลิตภาพการผลิต จะสามรถแบ่งภาคบริการ ได้ ออกเป็น 4 กลุ่ม รายละเอียดดังรูปที่ 4 ได้แก่
1. กลุ่มสถานะดี – กลุ่มระดับผลิตภาพ (TFP) สูง และขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ การวิจัยตลาดและการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ร้านขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ การออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง
2. กลุ่มสถานะไม่ดี – กลุ่มระดับผลิตภาพ (TFP) ต่ำ และหดตัวลดลง ได้แก่ การบริการสารสนเทศอื่น ๆ กิจกรรมการสร้างสรรค์ศิลปะและความบันเทิง ร้านขายปลีกสินค้าทั่วไป
3. กลุ่มแนวโน้มดี – กลุ่มระดับผลิตภาพ (TFP) ต่ำ แต่ขยายตัวได้ ได้แก่ การจัดการประชุมและการแสดงสินค้า กิจกรรมการออกแบบเฉพาะด้าน การประมวลผลข้อมูล การจัดการและการให้เช่าพื้นที่บนเครื่องแม่ข่าย4. กลุ่มแนวโน้มไม่ดี – กลุ่มระดับผลิตภาพ (TFP) สูง แต่หดตัวลดลง ได้แก่ การให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน กิจกรรมการถ่ายภาพ ร้านขายปลีกสินค้าวัฒนธรรมและนันทนาการ
รูปที่ 4 เปรียบเทียบผลิตภาพการผลิตของสถานประกอบการ

ดังนั้น การสนับสนุนให้ภาคบริการมีผลิตภาพที่สูงขึ้นทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น อาจทำได้โดยการส่งเสริมด้านเงินทุน แรงจูงใจ และบรรยากาศที่เอื้อต่อการในการทำวิจัย การสนับสนุนเพื่อช่วยพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงทรัพยากร สิทธิประโยชน์ และการลงทุนกับต่างประเทศได้ ตลอดจนการยกระดับและปรับทักษะแรงงานให้มีความรู้สูง โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ที่ตรงกับความต้องการของตลาดถือเป็นก้าวแรกในที่นำประเทศไทยไปสู่บริการสมัยใหม่ (Modern Service) ได้ในไม่ช้า
4. สรุปผล
การวิเคราะห์ผลิตภาพการผลิตภาคบริการทั้งในเชิงรายสาขาการผลิตและเชิงพื้นที่ด้วยข้อมูลระดับจุลภาครายสถานประกอบการ พบว่า ภาคบริการที่มีผลิตภาพการผลิตรวมสูง ได้แก่ การให้เช่าทรัพย์สินทางปัญญา การวิจัยตลาด งานบัญชี ซึ่งต้องใช้ทักษะทางวิชาชีพสูง ขณะที่บริการด้านศิลปะบันเทิง ที่พักแรม และบริการเครื่องดื่มจะมีผลิตภาพอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี หากภาคบริการมีการดำเนินการวิจัย ร่วมทุนกับต่างประเทศ และมีขนาดใหญ่ มักมีผลิตภาพการผลิตที่สูงขึ้น ดังนั้น การสนับสนุนให้ภาคบริการมีผลิตภาพที่สูงขึ้นทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น อาจทำได้โดยการส่งเสริมด้านเงินทุน แรงจูงใจ และบรรยากาศที่เอื้อต่อการในการทำวิจัย การสนับสนุนเพื่อช่วยพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงทรัพยากร สิทธิประโยชน์ และการลงทุนกับต่างประเทศได้ ตลอดจนการยกระดับและปรับทักษะแรงงานให้มีความรู้สูง โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ที่ตรงกับความต้องการของตลาดถือเป็นก้าวแรกในที่นำประเทศไทยไปสู่บริการสมัยใหม่ (Modern Service) ได้ในไม่ช้า
เอกสารอ้างอิง
ภาษาไทย
“ไขปริศนาผลิตภาพของไทยด้วยกุญแจข้อมูลจุลภาค”. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก : https://www.pier.or.th/blog/2017/t026/
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. สต็อกทุนของประเทศไทย ฉบับ พ.ศ. 2565 . 2565.
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. “ผลิตภาพการผลิตการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย”. เอกสารประกอบการประจำปี 2551. 22 กันยายน 2551.
ภาษาต่างประเทศ
Bartelsman, E. J., & Dhrymes, P. J. “Productivity dynamics: US manufacturing plants”, Journal of productivity analysis. 1998. P.5-34.
Doraszelski, U., & Jaumandreu, J. “R&D and Productivity: Estimating endogenous productivity”, Review of economic studies. 2013. p.1338-1383.
Jorgenson, D. W. “Innovation and Productivity Growth: TW Schultz lecture”, American Journal of Agricultural Economics. 2011, p.276-296.
Saliola, F., & Seker, M. “Total factor productivity across the developing world”, The World Bank. 2011, p.1-8.
World Bank. “Thailand Manufacturing Firm Productivity Report”, 2020



ดร.กวิน เอี่ยมตระกูล
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นายศักดิ์สิทธิ์ สว่างศุข
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นางสาวปภัช สุจิตรัตนันท์
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน