บทความโดย
ชัยวัฒน์ ปะสุนะ
ความขัดแย้งระหว่างทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครนเป็นประเด็นสำคัญต่อความเปลี่ยนแปลงและกระทบต่อความมั่นคงระดับนานาชาติในหลากหลายมิติ ซึ่งมีความซับซ้อนมากเกินกว่าความขัดแย้งระดับประเทศ หากแต่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันด้านอิทธิพลอำนาจของมหาอำนาจต่าง ๆ ที่แสดงท่าทีให้การช่วยเหลือสนับสนุนรัสเซียและยูเครน การทำสงครามของทั้งสองชาติท่ามกลางพุทธศตวรรษที่ 26 เป็นที่จับตามองจากนานาชาติซึ่งการใช้ยุทธวิธีการรบโดยทหารสร้างความสูญเสียด้านทรัพยากรมนุษย์ มีการระดมสรรพอาวุธที่ทันสมัยเข้ามาต่อสู้กัน ดังข้อเสนอจากงานเขียนของศาสตราจารย์ ดร. สุรชาติ บำรุงกิจ ที่ว่า
“สงครามยูเครนเป็น “โรงเรียนเสนาธิการทหารบกที่ดีที่สุด” เท่า ๆ กับเป็น “วิทยาลัยการ ทัพที่ใหญ่ที่สุด” ของนักการทหารทั่วโลก และ “ทหารอาชีพ” ทุกคนควรต้องเรียนรู้การสงครามใน ยูเครน และอาจกล่าวในอีกมุมหนึ่งได้ว่า สงครามยูเครนเป็น “ครูทหารที่ดีที่สุด” คนหนึ่งของยุค ปัจจุบัน” (สุรชาติ บำรุงกิจ, 2566)
แต่ทว่าในปัจจุบันนอกเหนือจากการใช้ความรุนแรงทางการทหารแล้ว การดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจนับเป็นความท้าทายรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “สงครามเศรษฐกิจ” กลับเป็นเครื่องมือที่แต่ละฝ่ายใช้ต่อรองทางอำนาจสำคัญ โดยสามารถสร้างผลกระทบต่อประเทศทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจและสร้างความเสียหายรุนแรงและฝังรากลึกลงไปทำลายระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
หากวิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนจำเป็นที่ต้องกล่าวย้อนภูมิหลังทางประวัติศาสตร์เริ่มเพื่อสะท้อนถึงสัมพันธภาพที่ซับซ้อนทำให้ทั้งสองประเทศมีความเกี่ยวข้องกัน กล่าวคือในอดีตยูเคนเคยอยู่ภายใต้จักรวรรดิรัสเซียเรื่อยมาจนกระทั่งเหตุการณ์ปฏิวัติรัสเซีย ยูเครนเป็นส่วนหนึ่งภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียตและล่มสลายลงใน พ.ศ. 2534 ส่งผลให้รัฐต่าง ๆ ที่เคยอยู่ร่วมสหภาพโซเวียตแยกตัวเป็นรัฐเอกราชรวมไปถึงยูเครนได้ประกาศอิสรภาพเป็น “ประเทศยูเครน” ฉะนั้น ปัจจัยที่ส่งเสริมความเกี่ยวข้องระหว่างทั้งสองชาติ ได้แก่
ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ ผลของการประกาศตั้งประเทศหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย คือ ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างล้วนมีสถานะเป็นประเทศอิสระที่มีองค์ประกอบด้านรัฐศาสตร์ครบถ้วน ได้แก่ ประชากร รัฐบาล อธิปไตย และดินแดนที่มีแนวอาณาเขตชัดเจน ส่งผลให้ทั้งสองประเทศมีพรมแดนประชิดกันทั้งผืนดินและน่านน้ำในทะเลดำ กระนั้นก็ตามมรดกที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากสมัยสหภาพโซเวียตยังคงปรากฏให้ทั้งสองประเทศมีปฏิสัมพันธ์กันเชิงประจักษ์ ในประเทศยูเครนปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น 1. กรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชียร์โนบีล (Chernobyl) ทั้งสองประเทศต่างให้ความช่วยเหลือในด้านการวิจัยและสำรวจผลกระทบพลังงานนิวเคลียร์ 2. กรณียูเครนได้รับมอบดินแดนไครเมียหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย และ 3. กรณีฐานทัพเรือทะเลดำ (Black Sea Fleet) ของรัสเซียที่ตั้งอยู่ในเมืองเซวัสโตปอลเป็นการทำสัญญากับรัฐบาลยูเครนให้รัสเซียในวันที่ 28 พฤษภาคม 2540 เพื่อใช้เป็นฐานปฏิบัติการทางทะเลในทะเลดำแต่สัญญาสิ้นสุดลงเมื่อรัสเซียสามารถผนวกคาบสมุทรไครเมียในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2557 (จิราพร ตรีวิเศษศร, 2563) ซึ่งทะเลดำถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์การเดินเรือขนส่งสินค้าที่สำคัญของทั้งสองประเทศ เป็นต้น
2. ปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรม จากภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรมในประเทศยูเครนพบว่าประชากรส่วนใหญ่ของประเทศแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มเชื้อสายรัสเซียส่วนใหญ่อาศัยด้านตะวันออก และกลุ่มเชื้อสายยูเครนส่วนใหญ่อาศัยด้านตะวันตก ส่งผลโดยตรงต่อรูปแบบความสัมพันธ์ในสังคมยูเครน ด้วยความแตกต่างที่ปรากฏได้ชัดจึงส่งผลต่อวิถีการดำเนินชีวิตโดยเฉพาะเหตุการณ์ช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดียูเครนหลายสมัย ข้อสังเกตดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเสนอของจารุต อนันตวิริยา ที่มีต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดียูเครน พ.ศ. 2547 โดยเทียบแผนที่คะแนนนิยมกับแผนที่เชื้อชาติประชากรในยูเครน พบว่ามีความสอดคล้องกันโดยชาวยูเครนเชื้อสายรัสเซียให้การสนับสนุนนายวิกเตอร์ ยานูโควิชที่เน้นสัมพันธ์ทางการทูตกับรัสเซีย และชาวยูเครนเชื้อสายยูเครนให้การสนับสนุนนายวิกเตอร์ ยูซเซนโกที่เน้นสัมพันธ์ทางการทูตกับชาติตะวันตก (จารุต อนันตวิริยา, 2565)
ปัญหาทางการเมืองภายในยูเครนสะท้อนภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เทียบเคียงได้กับยุคสมัยสงครามเย็น กล่าวคือ แม้ว่าปัจจุบันหลายประเทศที่แยกตัวจากสหภาพโซเวียตแต่รัสเซียก็ยังคงแผ่อิทธิพลทางการเมืองเหนือกลุ่มประเทศอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียตเหล่านี้เสมือนกับการรื้อฟื้นจักรวรรดินิยมของสหภาพโซเวียต (พระไกรสร กันมา และคณะ, 2566) ขณะเดียวกันหากพิจารณาความเปลี่ยนแปลงในการเลือกขั้นอำนาจในการเมืองยูเครน พบว่ายูเครนกำลังอยู่ในช่วง “การสลับขั้วอำนาจ” ดังสะท้อนได้จากการเลือกตั้งประธานาธิบดียูเครนตั้งแต่อดีต กระทั่งประธานาธิบดียูเครนสมัยปัจจุบันนายโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี หันเข้าไปผูกมิตรกับสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาเพื่อความก้าวหน้าของประเทศ ดังจะเห็นได้จากรัฐบาลยูเครน แสดงท่าทีขอความช่วยเหลือจากกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และแสดงเจตจำนงในการเข้าร่วมภายใต้องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ (North Atlantic Treaty Organization : NATO) ตั้งแต่ พ.ศ. 2551 เรื่อยมากระทั่งนาโต้ให้คำมั่นสัญญาจะสนับสนุนให้ยูเครนเข้าร่วมองค์กรในอนาคตโดยประกาศไว้ในการประชุมวาระครบรอบการก่อตั้งนาโต้ 75 ปี (มติชนออนไลน์, 2567)
ขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกากับชาติพันธมิตรก็พยายามแผ่อิทธิพลทางการเมืองแก่ยูเครนโดยการให้ความช่วยเหลือยูเครนในช่วงที่ถูกรุกราน อนึ่งตั้งข้อสังเกตไว้ว่าการสานสัมพันธ์กับประเทศเสรีนิยมของยูเครนคาดว่าจะใช้ประเทศเหล่านี้คานอำนาจและขจัดอิทธิพลของรัสเซีย แม้ว่าสงครามเย็นยุติแล้วรัสเซียยังคงแสดงบทบาทขยายอิทธิพลของตนเหนือยูเครน ฉะนั้นสงครามครั้งนี้จึงเป็น “การทำแผนที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ของยุโรปใหม่ และการขยายอิทธิพลเข้าควบคุมยูเครน” (สุรชาติ บำรุงสุข, 2566) รัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางทหารในการรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เหตุการณ์ทวีความรุนแรงอย่างยิ่งจากการแสดงท่าทีให้การสนับสนุนและช่วยเหลือทั้งสองประเทศในการทำสงคราม เช่น เกาหลีเหนือส่งทหารเข้าร่วมกองทัพรัสเซีย (Ng, 2024) ฯลฯ ผลของสงครามที่ยืดเยื้อนานส่งผลให้หลายประเทศดำเนินนโยบายทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีต่อฝ่ายพันธมิตรรัสเซียและฝ่ายพันธมิตรยูเครนอย่างระมัดระวัง กระทั่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพลังงาน การค้าระหว่างประเทศ และความมั่นคงทางอาหาร วิเคราะห์ได้ดังนี้
ด้านพลังงาน เป็นผลกระทบสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับสงครามครั้งนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อมกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตลาดพลังงานโลก และเป็นอำนาจต่อรองทางการเมืองอย่างหนึ่งทางด้านผลประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเครื่องมือของรัสเซียที่ใช้เป็นมาตรการอย่างหนึ่งด้านพลังงานในการต่อรองกับสหภาพยุโรป ทั้งนี้เนื่องจากสหภาพยุโรปที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติที่ส่วนใหญ่จากรัสเซีย ดังสะท้อนได้จากมูลค่าการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียโดยข้อมูลจากปี พ.ศ. 2553-2567 เฉลี่ยตั้งแต่คิดเป็นร้อยละ 40 ของพลังงานทั้งหมด และเริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญช่วงความขัดแย้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันเฉลี่ยร้อยละ 20 (Statista Research Department, 2024) และที่ผ่านมาเมื่อรัสเซียได้รับความกดดันจากสหภาพยุโรปก็มักจะใช้วิธีการทั้งเพิ่มราคาหรือหยุดส่งก๊าซไปยังยุโรปโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว การเลือกสนับสนุนยูเครนจึงเป็นฉนวนเหตุสำคัญที่ทำให้ต้องเผชิญกับวิกฤตพลังงานและกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนในสหภาพยุโรปเป็นวงกว้าง
รัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยเฉพาะในยุโรปที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียผ่านท่อส่งโดยเฉพาะท่อเชื้อเพลิงนอร์ดสตรีม (Nord Stream) การที่ยูเครนแสดงท่าทีใกล้ชิดสหภาพยุโรปอาจจะทบต่อการค้าขายพลังงานจากบริษัทแก๊สพรอม (Gazprom) ของรัสเซีย เพราะยูเครนเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการส่งออกก๊าซไปยังยุโรป อาจถูกแข่งขันการค้าจากการเปิดโอกาสให้บริษัทงานจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาค้าขายพลังงานกับสหภาพยุโรป เช่น บริษัทเชฟรอน (Chevron) บริษัทเอ็กซอนโมบิล (Exxon Mobil) เป็นต้น (พระไกรสร กันมา, 2566)
การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียทำให้การส่งก๊าซหยุดชะงักหรือถูกลดปริมาณลง รัสเซียใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยลดการส่งออกไปยังยุโรปเพื่อตอบโต้การคว่ำบาตร สถานการณ์พลังงานล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 รัฐบาลยูเครนเปิดเผยว่ารัสเซียยุติการส่งก๊าซไปยังทวีปยุโรปโดยอ้างว่าสิ้นสุดสัญญาส่งก๊าซกับรัสเซีย นับว่าเป็นการยุติการเส้นทางขนส่งพลังงานที่ใช้งานมายาวนานกว่า 50 ปี สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของสำนักข่าวเดอะสแตนดาร์ดว่า “แม้ว่าเส้นทางนี้คิดเป็นสัดส่วนเพียง 5% ของความต้องการของยุโรป ประเทศต่างๆ ยังคงสั่นคลอนจากอาฟเตอร์ช็อกของวิกฤตพลังงานที่เกิดจากการรุกรานของรัสเซียต่อเพื่อนบ้าน ราคาก๊าซเพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาจากการระงับเส้นทางขนส่งดังกล่าว” (The Standard Wealth, 2568) อีกทั้งการสูญเสียก๊าซธรรมชาติทางท่อที่สำคัญของรัสเซียไปบางส่วนอาจส่งผลให้ค่าใช้จ่ายสำหรับครัวเรือนและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ในขณะที่ยุโรปพยายามฟื้นตัวจากวิกฤตค่าครองชีพที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
ผลกระทบด้านก๊าซธรรมชาติที่มีผลโดยตรง คือ การปรับราคาพลังงานพุ่งสูง โดยเฉพาะราคาก๊าซ LNG (ก๊าซธรรมชาติเหลว) รวมถึงก๊าซในยุโรปเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว อนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าสหภาพยุโรปได้เรียนรู้ในการปรับการเผชิญวิกฤตพลังงานกับรัสเซีย ฉะนั้นจึงเกิดการหันไปหาพลังงานทางเลือกโดยยุโรปพยายามลดการพึ่งพารัสเซียด้วยการนำเข้าก๊าซจากแหล่งอื่น เช่น สหรัฐอเมริกา กาตาร์ ออสเตรเลีย ฯลฯ รวมถึงการเร่งลงทุนในพลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้ วิกฤตความหนาวเย็นในฤดูหนาวส่งผลให้ประเทศในสหภาพยุโรปเผชิญปัญหาการขาดแคลนก๊าซในการทำความร้อน รวมไปถึงแรงกดดันต่อเศรษฐกิจด้านค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและครัวเรือน กระทั่งทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศทั่วโลก
ด้านพลังงานน้ำมันได้รับการปรับราคาขึ้นจากความขัดแย้งดังกล่าวร่วมด้วย จึงส่งผลให้บรรดากลุ่มชาติอาหรับที่ส่งออกน้ำมันได้รับผลประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็เผชิญกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจรวมถึงราคาสินค้าประเภทธัญพืชที่ปรับราคาสูงขึ้นตาม ซึ่งการเลือกข้างของกลุ่มประเภทอาหรับต้องดำเนินการรอบคอบ เนื่องจากการเลือกสนับสนุนรัสเซียอาจส่งผลต่อการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเงินจากพันธมิตรสหภาพยุโปรและสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกับที่อิหร่านเคยเผชิญ แต่หากสนับสนุนพันธมิตรสหรัฐอเมริกาอาจเผชิญกับมาตรการลดการส่งสินค้าเกษตรและธัญพืชจากรัสเซีย (ชูชาติ พุฒเพ็ง, 2565) ซึ่งประเด็นวิกฤตด้านความมั่นคงทางอาหารจะได้กล่าวข้างหน้าต่อไป
ความขัดแย้งดังกล่าวสหรัฐอเมริกาอาจได้รับผลกระทบด้านพลังงานค่อนข้างน้อยและค่อนข้างได้เปรียบในการสนับสนุนยูเครน ดงัสะท้อนได้จากข้อมูลสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานสหรัฐอเมริการะบุว่า พ.ศ. 2563 สหรัฐอเมริกามีกำลังการผลิตน้ำมันทั่วโลกมากที่สุดต่อวันคิดเป็นร้อยละ 20 ซาอุดิอาระเบียร้อยละ 12 รัสเซียได้ร้อยละ 11 ฉะนั้นจึงแทบไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากการคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซีย และอาจจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับหนึ่งของโลก (จารุต อนันตวิริยา, 2565) ในทางกลับกันรัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่กลุ่มประเทศยุโรปพึ่งพาน้ำมันดิบจากรัสเซียในสัดส่วนที่สูง วิกฤตดังกล่าวส่งผลให้เกิดการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียจากสหภาพยุโรป ขณะเดียวกันรัสเซียพยายามหาตลาดใหม่ส่งออกน้ำมัน เช่น จีน อินเดีย ฯลฯ
ผลกระทบด้านราคาน้ำมันโลกปรับเพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอนด้านอุปทานส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้นตามด้วย ประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อย่างจีนและอินเดียหันไปซื้อน้ำมันจากรัสเซียในราคาลดพิเศษ ขณะที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาหันไปซื้อจากตะวันออกกลางและสหรัฐอเมริกา อีกทั้งหลายประเทศเพิ่มการสำรองน้ำมันเพื่อป้องกันความไม่แน่นอนในอนาคต นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในการขนส่งสินค้าปรับเพิ่มขึ้นจึงทำให้ราคาสินค้าเมื่อรวมกับค่าขนส่งปรับตัวขึ้นสูงด้วยเช่นกัน ดังการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยให้ความเห็นว่าในช่วงสงครามรัสเซียและยูเครนปรับสูงขึ้นซึ่งส่งผลต่อค่าครองชีพสูงจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นพร้อมกับการเกิดภาวะเงินเฟ้อ จึงส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก (Econ Digest, 2565)
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นส่งผลให้เกิดต้นทุนการผลิตที่สูงและส่งผลต่อเงินเฟ้อและการชะลอตัวของเศรษฐกิจ เกิดความไม่แน่นอนด้านการลงทุนเนื่องจากนักลงทุนลังเลที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่เกี่ยวข้องกับรัสเซียท่ามกลางวิกฤตที่ส่งผลต่อราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น หลายประเทศเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและหันมาลงทุนในพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล เป็นต้น การรับมือของกลุ่มประเทศในยุโรปลดการพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียโดยสร้างท่อส่งก๊าซใหม่และขยายการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สหรัฐอเมริกาโดยการส่งออกก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยยุโรป ขณะเดียวกันเกิดการเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายทางการค้าของรัสเซียโดยหาตลาดใหม่ในเอเชีย เช่น จีน อินเดีย ฯลฯ เพื่อลดผลกระทบจากการคว่ำบาตร ประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งที่เผชิญปัญหาค่าใช้จ่ายพลังงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและพลังงานในประเทศกำลังพัฒนา
ด้านการค้าระหว่างประเทศ คลุมเครือด้วยบรรยากาศความกดดันทางเศรษฐกิจที่ดำเนินการโดยกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปและกลุ่มประเทศพันธมิตรสหรัฐอเมริกา ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ การทำการค้าเกิดความลำบากจากการวางตัวทางการเมือง ดังตัวอย่างกรณีการวางตัวของกลุ่มประเทศอาหรับที่จำเป็นต้องพึ่งพาการค้าจากทั้งพันธมิตรรัสเซียและพันธมิตรยูเครน (ชูชาติ พุฒเพ็ง, 2565) อนึ่งตั้งข้อสังเกตที่มีต่อสงครามความขัดแย้งครั้งนี้สะท้อนมากกว่าสงครามระหว่างสองประเทศ หากแต่คือการแข่งขันด้านอิทธิพลทางการเมืองระหว่างรัสเซีย (เผด็จการนิยม) และสหรัฐอเมริกา (เสรีนิยม) ซึ่งดำเนินไปด้วยการสู้รบในสนามสงครามพร้อมกับการดำเนินสงครามทางการค้าที่ใช้มาตรการทุกรูปแบบเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการกดดันหรือลงโทษประเทศคู่ขัดแย้ง
ผลกระทบด้านการค้าระหว่างประเทศที่ปรากฏชัดคือการลดความมั่นคงของห่วงโซอุปทาน ดังที่กล่าววิเคราะห์ถึงความสำคัญของรัสเซียและยูเครนในฐานะเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ธัญพืช (ข้าวสาลี, ข้าวโพด), น้ำมันพืช (น้ำมันดอกทานตะวัน) และพลังงาน (ก๊าซธรรมชาติ, น้ำมันดิบ) ฯลฯ สงครามส่งผลให้การส่งออกจากภูมิภาคนี้หยุดชะงักและสร้างแรงกดดันต่อประเทศนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จากรัสเซีย โดยเฉพาะในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และยุโรป การพึ่งพาห่วงโซอุปทานใหม่เป็นความท้าทายที่บรรดาประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องปรับตัวไปหาผู้ส่งออกรายอื่น เช่น ธัญพืชจากสหรัฐอเมริกา ธัญพืชจากบราซิล ฯลฯ ซึ่งส่งผลกระทบด้านต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นทวีคูณ เนื่องจากอุปสรรคในการส่งสินค้า สินค้าบางประเภทขาดตลาด เช่น ก๊าซธรรมชาติ กรณีราคาข้าวโพดทั่วโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาด้านสภาพความแห้งแล้งในอเมริกาและแอฟฟริกาใต้จากเดิม 6.50 ดอลลาร์สหรัฐ หากสงครามยังไม่ยุติคาดการณ์ว่าราคาจะปรับขึ้นเป็น 8.40-8.60 ดอลลาร์สหรัฐ (Nelson, 2022)
การคว่ำบาตรทางการค้ากับรัสเซียโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเอกชน ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการค้าและเศรษฐกิจทั่วโลก ในมิติด้านเศรษฐกิจรัสเซียเป็นประเทศที่มีหน่วยทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ระดับโลก การดำเนินการคว่ำบาตรทางการค้าส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจภายในประเทศรัสเซีย ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกทั้งทางตรงของกลุ่มประเทศที่ค้าขายกับรัสเซียและทางอ้อมในลักษณะของการขาดแคลนสินค้าและการปรับราคาสินค้าที่สูงขึ้นในช่วงสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาพลังงาน อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ
การคว่ำบาตรทางการค้าต่อรัสเซียเป็นมาตรการที่ประเทศพันธมิตรยูเครนดำเนินการคว่ำบาตรรัสเซียจากประเทศตะวันตก เช่น การตัดสิทธิ์จากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ (SWIFT) และการห้ามนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ทำให้เศรษฐกิจรัสเซียต้องพึ่งพาตลาดใหม่ เช่น จีน อินเดีย เป็นต้น และประเทศในกลุ่ม BRICS เช่น บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผลต่อประเทศที่เกี่ยวข้องดังเช่นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย เช่น เยอรมนี อิตาลี เป็นต้น ต้องเผชิญกับราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมและการใช้จ่ายของผู้บริโภค
สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ร่วมกันประกาศมาตรการเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2565 ในการการถอดธนาคารรัสเซียบางรายออกจากระบบสื่อสารของสมาคมโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างธนาคาร หรือสวิฟต์ (Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication : Swift) ซึ่งเป็นระบบที่มีเครือข่ายธนาคารและสถาบันทางการเงินทั่วโลกมากกว่า 11,000 แห่ง น่าสนใจว่ามาตรการนี้เคยบังคับใช้กับการคว่ำบาตรอิหร่านแล้วประสบความสำเร็จ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับรัสเซีย คือ ไม่สามารถทำธุรกรรมได้อย่างทันทีทันใดและราบรื่นตามปกติจากบริการของสวิฟต์ กระทบต่อการชำระเงินด้านการเกษตรและพลังงานที่มีมูลค่ามหาศาลของรัสเซียอย่างรุนแรง เพิ่มอุปสรรคให้ธนาคารต่าง ๆ ต้องติดต่อกับกันโดยตรงทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและล่าช้า ผลดังกล่าวจะส่งผลให้รัฐบาลรัสเซียมีรายได้ลดลงและเป็นการบังคับรัสเซียให้ยุติปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครน (ฮอตเทน, 2565)
ปฏิกิริยาของสหรัฐอเมริกาหลังจากรัสเซียประกาศสงครามจึงดำเนินนโยบายทางการเงินที่ไม่อนุญาตให้มีการทำธุรกรรมการเงินกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับรัสเซีย ขณะเดียวกันปฏิกิริยาร่วมตอบโต้จากกลุ่มสหภาพยุโรป คือ การคว่ำบาตรธนาคารกลางรัสเซียเนื่องจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินสากลในการทำการค้าระดับประเทศ อีกทั้งยังเป็นแหล่งเงินทุนสำรองของรัสเซียกับประเทศต่าง ๆ จึงเกิดความลำบากขึ้นแก่ประเทศรัสเซียทั้งระดับรัฐบาล บริษัท และประชาชนทั่วไป เช่น กรณีระดับรัฐบาลเมื่อจะดำเนินธุรกรรมทางการเงินและไม่สามารถนำเงินทุนสำรองในระบบธนาคารสหรัฐอเมริกาออกมาใช้ได้ กรณีบริษัทที่ประกอบกิจการร่วมกับรัสเซียจะได้รับความลำบากในการแลกเปลี่ยนสกุลเงินเช่นเดียวกับระดับประชาชนทั่วไปที่ต้องการทำธุรกรรมทางการเงินกับรัสเซีย เป็นต้น
นอกจากนี้ การขนส่งสินค้าในพื้นที่ภูมิศาสตร์ทะเลดำซึ่งเป็นน่านน้ำสำคัญที่ทั้งรัสเซียและยูเครนใช้ลำเลียงสินค้าออกสู่ตลาดนานาชาติ ปัญหาด้านความปลอดภัยของทะเลดำมีความสำคัญเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญ โดยเฉพาะการส่งออกธัญพืชและพลังงานจากรัสเซียและยูเครน สงครามทำให้การขนส่งสินค้าในพื้นที่นี้หยุดชะงักหรือเสี่ยงภัย ข้อตกลงธัญพืชทะเลดำ ความพยายามทางการทูต เช่น ข้อตกลงธัญพืชโดยสหประชาชาติ ช่วยเปิดทางส่งออกจากยูเครนบางส่วน แต่ความไม่แน่นอนจากการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงข้อตกลงส่งผลกระทบต่อตลาดโลก ตัวอย่างผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการทะเลดำ จากรายงานของสำนักข่าวอินเตอร์แฟ็กซ์ (Interfax) ของรัสเซีย ระบุว่า เรือสินค้าอย่างน้อย 70 ลำจาก 16 ประเทศเทียบท่าอยู่บริเวณท่าเรือ 6 แห่งในแถบทะเลดำ หลังจากรัสเซียส่งกองเรือทะเลดำปิดล้อมน่านน้ำนานกว่า 3 เดือน ทำให้การขนส่งสินค้าทางเรือต้องหยุดชะงักลงไป การปิดล้อมเมืองท่าริมชายฝั่งทำให้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 20 ล้านตัน ตกค้างภายในโกดังสร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกร นอกจากนี้ ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริการายงานว่าเมื่อ พ.ศ. 2563 ร้อยละ 95 ของการส่งออกข้าวสาลีจากยูเครนต้องผ่านทางทะเลดำ การปิดกั้นไม่ให้ยูเครนส่งออกสินค้าสู่ตลาดโลกทำให้รัสเซียถูกตราหน้าว่าใช้อาหารเป็นอาวุธสร้างความปั่นป่วนทั่วโลก (Thai PBS, 2565)
ผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เริ่มกระทบต่อประชากรทั่วโลก คือ ราคาอาหารและพลังงานพุ่งสูง เช่น ราคาข้าวสาลี ข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน และเนื้อสัตว์สูงขึ้นเนื่องจากต้นทุนอาหารสัตว์เพิ่ม เช่นเดียวกับราคาพลังงานก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบสูงขึ้น ส่งผลต่อค่าขนส่งสินค้าและต้นทุนการผลิต เงินเฟ้อทั่วโลก ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่สูงขึ้นส่งผลให้หลายประเทศเผชิญภาวะเงินเฟ้อ บางประเทศต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แต่กลับสร้างภาระต่อหนี้ภาครัฐและครัวเรือน อนึ่งตั้งข้อสังเกตไว้ว่าสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลกระทบระยะยาวค่อระบบเศรษฐกิจการค้า การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์การค้า หลายประเทศต้องปรับยุทธศาสตร์พลังงาน โดยลดการพึ่งพารัสเซียและลงทุนในพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น
ด้านความมั่นคงทางอาหาร ความขัดแย้งครั้งนี้ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตอาหารทั่วโลกปรับราคาสูงขึ้นสัมพันธ์กับพลังงานและราคาสินค้าอาหารที่แปรผันตามเนื่องจากทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นพื้นที่สำคัญทางด้านฐานผลิตอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์หากพิจารณาจากข้อมูลรัสเซียและยูเครนเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรประเภทเมล็ดพืชและน้ำมันประกอบอาหารสำคัญของโลก โดยคิดเป็นอัตราส่วนของโลกจากการส่งออกข้าวสาลีคิดเป็นอัตราร้อยละ 30 ส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันร้อยละ 60 และส่งออกข้าวโพดร้อยละ 20 (Nelson, 2022)
ราคาธัญพืชและสินค้าเกษตรพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ โดยผลผลิตจากทั้งสองประเทศรวมกันคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 25 ของการส่งออกข้าวสาลีทั่วโลกก่อนสงคราม สงครามทำให้การผลิตและการส่งออกข้าวสาลีหยุดชะงัก ส่งผลให้ราคาข้าวสาลีในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น เช่นเดียวกับราคาข้าวโพดผลผลิตจากทั้งสองประเทศรวมกันคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 20 ยูเครนเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันรายใหญ่ที่สุดในโลก การหยุดชะงักทำให้ราคาน้ำมันพืชเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรอื่น ๆ (กรุงเทพธุรกิจ, 2565)
สถานการณ์ด้านอาหารค่อนข้างมีความเสี่ยงต่อประเทศที่พึ่งพาการนำเข้า ข้าวสาลีจากรัสเซียและยูเครนเป็นหลัก เช่น ประเทศในแอฟริกาและตะวันออกกลาง (พระไกรสร กันมา และคณะ, 2566) หลายประเทศในภูมิภาคเหล่านี้พึ่งพาการนำเข้าสินค้าเนื่องจากไม่มีกำลังในการผลิตหรือไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการ การขาดแคลนสินค้าเกษตรส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงด้านอาหาร และมีความเสี่ยงต่อวิกฤตการณ์ทางสังคม การพุ่งสูงของราคาสินค้าเกษตรผลกระทบต่อราคาอาหารในประเทศกำลังพัฒนาจากต้นทุนการผลิตอาหารในประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อค่าครองชีพและความมั่นคงของประชาชน
ขณะเดียวกันราคาอาหารทั่วโลกในห่วงโซ่อุปทานปรับสูงขึ้น เช่น ราคาธัญพืชและน้ำมันพืชที่เพิ่มขึ้น ฯ ส่งผลต่อราคาสินค้าอาหารสำเร็จรูป เช่น ขนมปัง เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากนม วิกฤตราคาสินค้าเกษตรเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้อในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตร นอกจากนี้ ในภาคการผลิตสินค้าเกษตรของรัสเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกปุ๋ยเคมีรายใหญ่ ซึ่งการคว่ำบาตรส่งผลให้ราคาปุ๋ยเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกส่งผลให้ต้นทุนการผลิตอาหารเพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาคซึ่งผลกระทบด้านปุ๋ยและการผลิตอาหาร เกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งไม่สามารถซื้อปุ๋ยในราคาสูงได้ ส่งผลให้ผลผลิตลดลงและกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว
รายการอ้างอิง
กรุงเทพธุรกิจ. (2565). ราคาข้าวตลาดโลกพุ่ง เหตุใช้แทนข้าวสาลีแพงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน. https://www.bangkokbiz
news.com/world/991698
จารุต อนันตวิริยา. (2565). ผลกระทบของสงครามยูเครน–รัสเซียต่อการจัดระเบียบโลกใหม่. วารสารรัฐศาสตร์สาส์น. 1(2),
76-89.
จิราพร ตรีวิเศษศร. (2563). ปัญหาการบูรณาการทางสังคมและวัฒนธรรมของไครเมียกับรัสเซียบนความสัมพันธ์ระหว่าง
รัสเซียและยูเครน. วารสารประวัติศาสตร์. 45, 147-162.
ชูชาติ พุฒเพ็ง. (2565). สงครามรัสเซีย-ยูเครน ผลสะท้อนเชิงดุลอำนาจและท่าทีของประเทศในโลกอาหรับ. รัฐสภา, 1-8.
ธโสธร ตู้ทองคำ. (2565). ความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์สู่สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนใน ค.ศ. 2020. วารสารวิชาการไทย
วิจัยและการจัดการ. 3(2), 18-38.
พระไกรสร กันมา, พระมหาสถิต สุทฺธิมโน, และ ทวีศักดิ์ ใครบุตร. (2566). การยุติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนด้วย
พุทธสันติวิธีด้านการเจรจา. Journal of Modern Learning Development, 8(3), 451-65.
มติชนออนไลน์. (11 กรกฎาคม 2566). นาโตให้คำมั่น สนับสนุนยูเครนเป็นสมาชิก. https://www.matichon.co.th/foreign/
news_4675129
สุรชาติ บำรุงสุข. (7 สิงหาคม 2566). สงครามยูเครน : สงครามร้อนแรกในสงครามเย็นใหม่. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนเรศวร.
https://www.nupress.grad.nu.ac.th/สงครามยูเครน
ฮอตเทน, ร. (2565). ยูเครน รัสเซีย : Swift คืออะไร เศรษฐกิจโลกสะเทือนไหม เมื่อตัดแบงก์รัสเซียออกจากระบบ. BBC ไทย.
https://www.bbc.com/thai/international-60530552
Econ Digest. (2565). สงครามรัสเซีย-ยูเครนซ้ำเติมเศรษฐกิจ ดันราคาสินค้าพุ่ง ผู้มีรายได้น้อยและ SMEs กระทบหนัก…เร่ง
ปรับตัว. https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Rus-UKr-Good-FB-05-
04-2022.aspx
Nelson, R. (2022). Russia, Ukraine, and the Impact on the World’s Food Supply. Gleinsights.
https://glginsights.com/articles/russia-ukraine-and-the-impact-on-the-worlds-food-supply/
Ng, K. (2024). What we know about North Korean troops fighting Russia’s war. BBC. https://www.bbc.com/
news/articles/cm2796pdm1lo
Statista Research Department. (2024). Share of extra-EU natural gas import value from Russia from 2010
to 2nd quart. https://www.statista.com/statistics/1021735/share-russian-gas-imports-eu/The
Standard Wealth, 2568)
Thai PBS. (27 พฤษภาคม 2565). “ทะเลดำ” เส้นเลือดใหญ่ความมั่นคงทางอาหารโลก. https://www.thaipbs.or.th/news
/content/316012
The Standard Wealth. (2568). รัสเซียและยูเครนยุติเส้นทางขนส่งก๊าซไปยังยุโรปที่ใช้มายาวนานราว 5 ทศวรรษ อย่างเป็น
ทางการในวันที่ 1 มกราคม 2025. https://thestandard.co/russia-ukraine-end-europe-gas-route-2025/



นายชัยวัฒน์ หาญพิทักษ์พงศ์
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน