การขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วย Soft Power ผ่านการประยุกต์ใช้อัตลักษณ์ท้องถิ่น

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วย Soft Power ผ่านการประยุกต์ใช้อัตลักษณ์ท้องถิ่น

บทความโดย
กันตา ศุขสาตร
กานต์ แจ้งชัดใจ

1. บทนำ

ปัจจุบันซึ่งเป็นยุคที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยแนวคิดใหม่ ๆ จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “Soft Power” ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการเชื่อมโยงอัตลักษณ์ที่เป็นรากฐานเชิงวัฒนธรรมกับกระบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ จังหวัดนครราชสีมา นับเป็นกรณีตัวอย่างที่โดดเด่นในการประยุกต์ใช้กลไกดังกล่าวโดยอาศัยลักษณะเฉพาะของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญา วัฒนธรรม หรือทรัพยากรทางการท่องเที่ยวมาเชื่อมโยงกับการส่งเสริมธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการที่ทันสมัย จนสามารถยกระดับและขยายโอกาสทางเศรษฐกิจของชุมชนสู่วงกว้างได้

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์กระบวนการพัฒนา Soft Power ในภาคท้องถิ่น ตลอดจนสังเคราะห์ปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จในการประยุกต์ใช้อัตลักษณ์ท้องถิ่นเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับจังหวัด โดยศึกษาแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ในการสนับสนุนทั้งทางวิชาการและด้านการตลาด นอกจากนี้ ยังได้ถอดบทเรียนจากกรณีศึกษาการประยุกต์ใช้อัตลักษณ์ท้องถิ่นในรูปแบบสินค้าและบริการ ตลอดจนการสร้างแบรนด์ด้วยการนำเทคโนโลยีและเครือข่ายระดับสากลเข้ามาเสริมศักยภาพบทบาทของพื้นที่ ทั้งในมิติการท่องเที่ยว วัฒนธรรม และการพัฒนาทุนมนุษย์ อันเป็นตัวชี้วัดเชิงโครงสร้างที่ส่งผลต่อความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนของจังหวัดนครราชสีมาและประเทศไทย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

2ข้อมูลเศรษฐกิจพื้นฐานของจังหวัดนครราชสีมา

ข้อมูลพื้นฐานด้านเศรษฐกิจของจังหวัดนครราชสีมา ในปี 2565 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า จังหวัดนครราชสีมามีผลิตภัณฑ์จังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) เท่ากับ 335,472 ล้านบาท ซึ่งไปประกอบด้วยภาคการเกษตร 48,356 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด และภาคนอกการเกษตร 287,116 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 86 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด โดยสำหรับภาคนอกการเกษตร ประกอบไปด้วย ภาคบริการ 166,896 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 58 ของภาคนอกการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม 120,220 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ของภาคนอกการเกษตร จึงส่งผลให้จังหวัดนครราชสีมามีผลิตภัณฑ์ต่อหัว (GPP Per Capita) อยู่ที่ราว 134,338 บาทต่อปี

ภาพที่ 1 ผลิตภัณฑ์จังหวัดนครราชสีมา

ที่มา: สศช. ประมวลผลโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง พบว่า ดัชนี RSI เดือนตุลาคม 2567 ของจังหวัดนครราชสีมาอยู่ที่ระดับ 85.5 โดยอยู่ในระดับที่สูงกว่าดัชนี RSI ของทั้งประเทศและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากทั้งในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ

ภาพที่ 2 ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค

ที่มา: กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค (กศม.) สศค.

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ (Spatial Economic Fundamental Index: SEFI) ของ จังหวัดนครราชสีมา ที่พัฒนาและจัดทำโดยกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค (กศม.) สศค. ซึ่งประกอบด้วยตัวชี้วัด จำนวน 88 ตัวชี้วัด เพื่อบ่งชี้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของพื้นที่ต่าง ๆ ผ่าน 6 มิติ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา สาธารณสุข กำลังซื้อ ปัญหาของทรัพยากรมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมโดย SEFI ของอำเภอเมืองนครราชสีมา บ่งชี้ว่า จังหวัดนครราชสีมามีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจดีอยู่ในอันดับที่ 72 จากทั้งหมด 76 จังหวัดในประเทศ โดยมีจุดแข็งด้านความท้าทายทางทรัพยากรมนุษย์ สิ่งแวดล้อมและการศึกษา ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม จังหวัดนครราชสีมายังคงเผชิญกับความท้าทายในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ และสาธารณสุข ตามลำดับ ทั้งนี้ หากพิจารณาเป็นรายอำเภอจะพบว่า อำเภอเมืองนครราชสีมามีค่าดัชนี SEFI สูงที่สุดในจังหวัด

ภาพที่ 4 ดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมา

ที่มา: กศม. สศค.

3. Soft Power ของจังหวัดนครราชสีมา

ทุกวันนี้เมื่อกล่าวถึง “กางเกงแมว” หลาย ๆ คนมักจะนึกถึงจังหวัดนครราชสีมา จนไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า กางเกงแมวลาย “แมวโคราช หรือ แมวมาเลศ” ได้กลายมาเป็นหนึ่งในจุดแข็งอันเป็นอัตลักษณ์สำคัญที่ไม่เพียงแต่จะช่วยส่งเสริมให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นที่รู้จัก แต่ยังสนับสนุนให้เทศบาลนครราชสีมาเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมือง และยังถูกยกระดับจนสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเกมออนไลน์ชื่อดังระดับโลกอย่าง Free Fire ได้ ในการนี้ กศม. สศค. ร่วมกับวารสารการเงินการคลังได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากคุณจิรพิสิษฐ์ รุจน์เจริญ (คุณจิรพิสิษฐ์ฯ ประธานกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ (Young Entrepreneur Chamber of Commerce: YEC) หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ไขว่คว้าหาโอกาสทางธุรกิจมาต่อยอดไม่เคยหยุดนิ่งและผู้เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่ร่วมผลักดันอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้ก้าวไกลไปสู่เวทีสากลมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วย Soft Power ผ่านการประยุกต์ใช้อัตลักษณ์ท้องถิ่น ผ่านรายการ “Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาค” ประจำเดือนพฤศจิกายน 2567 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินงาน ดังต่อไปนี้

คุณจิรพิสิษฐ์ รุจน์เจริญ
ประธาน Young Entrepreneur Chamber of Commerce (YEC)
หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา

4. รู้จักกับ Young Entrepreneur Chamber of Commerce: YEC

Young Entrepreneur Chamber of Commerce หรือ YEC เป็นโครงการภายใต้การกำกับดูแลของหอการค้าไทย มีกลุ่มอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นเวทีสำหรับกลุ่มนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี และมีเป้าหมายในการพัฒนาคน สร้างโอกาส พัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายสมาชิกและธุรกิจให้เติบโตได้อย่างมั่นคง ทั้งในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ ไปจนถึงมีความร่วมมือในระดับภูมิภาคอาเซียน และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนคนรุ่นใหม่ ผ่านการอบรมเพิ่มทักษะการบริหารธุรกิจ ความเป็นผู้นำ การทำกิจกรรม เชื่อมสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างสมาชิก รวมถึงการศึกษาเรียนรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้นำองค์กรที่มีชื่อเสียง ทั้งในระดับจังหวัดและประเทศ รวมถึงการศึกษาดูงานในธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ โดยปัจจุบันมีเครือข่าย YEC ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคแล้วกว่า 5,000 คน ทั่วประเทศ

ที่ผ่านมากลุ่ม YEC ได้มีการผลักดันในหลาย ๆ ประเด็นรวมกับหน่วยงานจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ การเสริมสร้างเศรษฐกิจของเมือง การพัฒนาเมือง การส่งเสริมธุรกิจอื่น ๆ รวมถึงการส่งเสริม Soft Power ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงกันมากในช่วงระยะหลายปีที่ผ่านมา โดย YEC จังหวัดนครราชสีมาได้มีการผลักดันเรื่องอัตลักษณ์ของจังหวัด ผ่านลวดลายโคราชโมโนแกรม (KORAT Monogram) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหอการค้าจังหวัดจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา และภาคเอกชน

5. โอกาสในการนำอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เพื่อตอบสนองต่อนโยบาย Soft Power ของภาครัฐ

ด้วยจังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ แต่ผลิตภัณฑ์จังหวัด (GPP) กลับเติบโตได้ดีแค่ในบางพื้นที่ของจังหวัดเท่านั้น ดังนั้นหอการค้าจังหวัดจังหวัดนครราชสีมาร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมาและสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา จึงมีแนวคิดอยากสร้างแบรนด์ (Branding) ให้กับจังหวัด และได้จัดงานประกวดลวดลายโมโนแกรมโคราช (KORAT Monogram) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางภาพที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของจังหวัดนครราชสีมาได้เป็นอย่างดี และสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกยุคทุกสมัย โดยการประกวดนี้ได้เปิดโอกาสให้ชาวนครราชสีมาทั่วจังหวัดร่วมส่งผลงานเข้าประกวดชิงเงินรางวัลกว่า 50,000 บาท เพื่อสะท้อนมุมมองของชาวนครราชสีมาที่มีต่อจังหวัดของตน ซึ่งได้ผลงานที่ชนะการประกวดชื่อ Korat Monogram และมีผู้ประกอบการนำลาย Korat Monogram ไปประยุกต์ต่อยอดผลิตสินค้าออกมาจำหน่ายอย่างแพร่หลาย อาทิ เสื้อ-กางเกง-กระโปรงแมวโคราชหลากหลายรูปแบบ รวมถึงหมวก กระเป๋าผ้า ร่ม แก้วน้ำ และกระติกน้ำลายแมวโคราช จนเกิดเป็นกระแสตอบรับที่ดีอย่างล้นหลาม และเกิดเป็นมูลค่าทางการตลาดมากกว่า 100 ล้านบาท โดยเฉพาะ “กางเกงแมว” ที่มีการเปิดตัวครั้งแรกและได้แจกเป็นของที่ระลึกในในงานโคราชมามูย่า (KORAT Mamuyaa) จัดโดย YEC จังหวัดนครราชสีมาร่วมกับหอการค้านครราชสีมา เพื่อยกระดับงานสักการะย่าโมให้มีความแปลกใหม่และเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ผลจากการประชาสัมพันธ์ทำให้กางเกงแมวเป็นที่สนใจและมีความต้องการสินค้ามากมายจากทั้งคนในจังหวัด คนนอกจังหวัด จนถึงชาวต่างชาติ

ผลงานชนะเลิศการประกวดลวดลายโมโนแกรมโคราช (KORAT Monogram)
ชื่อผลงาน Korat Monogram ออกแบบโดย คุณสุรัตน์ ชาพิมาย

ที่มา: Facebook Page KORAT Monogram (2566, 21 กันยายน)

แนวคิดและที่มาของผลงาน Korat Monogram ออกแบบโดย คุณสุรัตน์ ชาพิมาย

ที่มา: Facebook Page KORAT Monogram (2566, 5 ตุลาคม)

เพื่อเป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์กางเกงแมวโคราช คุณจิรพิสิษฐ์ฯ จึงได้มีแนวคิดริเริ่มที่จะเปิดตลาดใหม่ ๆ โดยได้เริ่มหารือกับทางบริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ผ่านทางหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เพื่อผลักดันให้กางเกงแมวโคราชเข้าสู่โลกดิจิทัลคอนเทนต์ในฐานะแฟชั่นไอเทมใหม่ในเกมฟรีไฟร์ (Free Fire) จนสำเร็จโดยเกมฟรีไฟร์เป็นเกมแนวยิงปืน (Shooting) แบบแบตเทิลรอยัล (Battle Royale) เล่นบนมือถือที่พัฒนาและจัดจำหน่ายโดยบริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด มีผู้เล่นประมาณ 560 ล้านคน ใน 160 ประเทศทั่วโลก อีกทั้ง บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำกางเกงลายแมวโคราชไปประชาสัมพันธ์ให้ฟรี เพื่อช่วยสนับสนุนสินค้าของคนในท้องถิ่น โดยไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ลักษณะเป็น Free Media จึงนับเป็นโอกาสดีในการประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมาผ่านการเผยแพร่ให้อัตลักษณ์กางเกงลายแมวของโคราชได้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในระดับสากล โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ในทุกช่วงวัย (Generation: Gen) ซึ่งรวมถึง Gen Y Gen Z และ Gen Alpha

เมื่อคนทั่วโลกได้เห็นกางเกงลายแมวโคราชผ่านเกมฟรีไฟร์ ก็จะมีคนบางส่วนที่รู้สึกชื่นชอบและอยากหาซื้อกางเกงลายแมวโคราช จนเกิดเป็นกระแส เป็น Soft Power ที่ส่งผลให้ผู้คนเริ่มสนใจศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับกางเกงลายแมวโคราช จนได้รู้จักชื่อของจังหวัดนครราชสีมา และเมื่อผู้คนได้ทำความรู้จักกับจังหวัดนครราชสีมามากขึ้น ได้เห็นวัฒนธรรม อาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ก็จะดึงดูดให้มีการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวหรือเยี่ยมชมจังหวัดนครราชสีมาเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ในช่วงที่กางเกงลายแมวโคราชกำลังเป็นที่นิยม ที่จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นจังหวัดท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของไทยที่ได้รับความนิยมได้เผชิญกับมลพิษจากฝุ่น PM 2.5 ขณะที่ จังหวัดนครราชสีมามีอำเภอวังน้ำเขียวที่เป็นแหล่งโอโซนติดอันดับต้น ๆ ของโลกมีเมืองมรดกโลกที่น่าสนใจ และมีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้หลาย ๆ คนหันมาเที่ยวจังหวัดนครราชสีมากันมากขึ้น

ความสำเร็จในการส่งเสริมและผลักดันให้จังหวัดนครราชสีมาได้เป็นที่รู้จักในระดับสากลนับเป็นการเปิดประตูบานแรกไปสู่การพัฒนาจังหวัด และก้าวต่อไปคือการต่อยอดกระแสไม่ให้จางหายไปพร้อม ๆ กับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอัตลักษณ์ความเป็นโคราชและความเป็นไทย คุณจิรพิสิษฐ์ฯ จึงได้พัฒนาทำ Character Design ที่เริ่มต้นออกแบบมาจากแมวสีสวาท ซึ่งเป็นแมวมงคลโบราณในสมุดข่อยโบราณอายุกว่า 600 ปี ผสมผสานกับความมูเตลู ให้กลายมาเป็นอาร์ตทอย (Art Toy) แมวกวักโคราช ชื่อว่า “เจ้าเมื่อย” เพื่อเป็นมาสคอตตัวการ์ตูนแคแร็กเตอร์ ซึ่งเป็นตัวแทนที่จะมาสื่อสารบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดนครราชสีมาและประเทศไทยให้ทุกคนได้รับรู้ และสามารถนำไปใช้งานในรูปแบบต่าง ๆ ได้ อาทิ การประชาสัมพันธ์ การเพิ่มมูลค่าสินค้าผ่านการร่วมมือ (Collaboration) กับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อช่วยวิสาหกิจชุมชนและ SMEs รายเล็กในการสร้างแบรนด์ ดึงดูดความสนใจของผู้คน รวมถึงเพิ่มยอดขายและยกระดับสินค้า อาทิ ผัดหมี่โคราช ข้าวสาร เครื่องสำริด นมอัดเม็ดโปรตีนสูงจากโคราชซึ่งแนวทางการนำ Character Design เจ้าเมื่อยไปอยู่บนสินค้าต่าง ๆ นี้ คุณจิรพิสิษฐ์ฯ ได้รับแรงบันดาลใจจากโมเดล Character Design เพื่อพัฒนาเมืองของทางญี่ปุ่น เพราะจะเห็นได้ว่า เด็ก ๆ หลายคนสนใจและมีความฝันที่อยากจะไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อตามรอยการ์ตูนญี่ปุ่นที่ตนชื่อชอบ อาทิ กันดั้ม โดเรมอน โปเกมอน และคูมะมง และยิ่งเมื่อคุณจิรพิสิษฐ์ฯ ได้ไปเห็นเมืองที่ญี่ปุ่น เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น จึงได้นำโมเดลมาปรับใช้กับจังหวัดนครราชสีมา

เจ้าเมื่อยแต่ละตัวจะมีรายละเอียดลูกเล่นดอกไม้มงคลและจี้ห้อยคอที่เป็นเครื่องปั้นดินเผาจากดินด่านเกวียนที่พร้อมปลุกเสกคาถาในเรื่องที่แตกต่างกัน ซึ่งอาร์ตทอยเจ้าเมื่อย แมวสีสวาทและผองเพื่อนได้รับความสนใจจากสำนักข่าวและมีการประชาสัมพันธ์อย่างแพร่หลายจนเป็นที่รู้จักและมียอดสั่งจองสินค้าเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ในกล่องอาร์ตทอยจากเดิมที่จะมีแถมการ์ดเจ้าเมื่อย ก็ได้เปลี่ยนเป็นแผ่นทองคำเจ้าเมื่อยมงคลที่สามารถนำไปใส่ในเคสด้านหลังโทรศัพท์ไว้พกพาได้สะดวก ด้วยการออกแบบเจ้าเมื่อยที่เป็นเอกลักษณ์มีเรื่องราว มีหน้าตาน่ารัก และเป็นมงคล จึงเป็นอีกหนึ่ง Soft Power ที่ตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่ นักสะสม และสายมู จนได้รับกระแสตอบรับที่ดีเยี่ยมทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนอย่างล้นหลาม สามารถสร้างรายได้ และมีส่วนช่วยส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับจังหวัดและประเทศไทย

เจ้าเมื่อยแก๊งแมวกวักโบราณ” Art Toy แมวโคราช

ที่มา: Facebook Page Lazyyy cat เจ้าเมื่อย (2567, 8 มกราคม)

6. จุดเด่นของจังหวัดนครราชสีมาจากความไม่มีอะไร

หากเปรียบเทียบกับภาคอื่น ๆ แล้ว จังหวัดนครราชสีมาอาจไม่ได้มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจนมากเท่ากับทางภาคเหนือ หรือบางจังหวัดในภาคอีสาน เนื่องจากจังหวัดนครราชสีมาตั้งอยู่ในภาคอีสานตอนล่าง จึงมีลักษณะเป็นวัฒนธรรมผสมผสานระหว่างภาคกลางและภาคอีสาน ซึ่งอาจทำให้วัตถุดิบทางวัฒนธรรมไม่ได้มีมากนัก อย่างไรก็ดี จากความไม่มีและไม่ชัดเจน ทำให้ต้องพยายามมองหาและไล่เรียงสิ่งที่เป็นลักษณะเด่นของจังหวัดออกมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งจากการศึกษาทำให้พบว่า จังหวัดนครราชสีมาเป็นเมืองหน้าด่านที่มีขนาดใหญ่ เป็นประตูสู่ภาคอีสาน มีวัดจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย เป็นแหล่งมรดกโลก รวมถึงมีสมุดข่อยโบราณที่มีเรื่องราวของแมวโคราชมงคลที่คนทางภาคอีสานเชื่อว่าเป็นความโชคดีและให้สำคัญจนเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเจ้าเมื่อยขึ้นมา อย่างไรก็ตาม มีศิลปินหลายท่านในจังหวัดนครราชสีมาที่ได้ออกแบบ Character แมวในลักษณะต่าง ๆ มากมาย จึงไม่อยากให้เกิดความยึดติดกับ Character แมวตัวใดตัวหนึ่งว่าเป็น Character ประจำเมือง เนื่องจากในแต่ละเมืองที่ญี่ปุ่นเองก็มี Character หลายตัว แต่ให้มองว่า Character แต่ละตัวเป็นเหมือนอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ที่คอยช่วยกันบอกเล่าเรื่องราวของเมือง รวมถึงเป็นการช่วยกันประชาสัมพันธ์และพัฒนาเมืองแทน

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อทราบถึงจุดเด่นของจังหวัดแล้ว การพัฒนาเมืองจากข้อดีที่พบจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ การสื่อสาร และประสานงานจากบุคคลากรและหน่วยงานที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านด้วย ดังจะเห็นได้จากโครงการใหญ่ต่าง ๆ ที่ทาง YEC ได้ดำเนินการมาจนประสบความสำเร็จ ล้วนเริ่มจากจุดเล็ก ๆ และค่อย ๆ ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากหน่วยงานภาคต่าง ๆ จนสามารถขยายขนาดโครงการและเกิดการพัฒนาทั้งตัวโครงการและพัฒนาเมืองได้ ซึ่งส่งผลให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดแรกที่มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ประจำจังหวัดได้ รองมาจากกรุงเทพฯ เพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

7. ปัจจัยที่ส่งผลให้การนำอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้สำเร็จ และแนวโน้มการประกอบธุรกิจที่จะขยายกิจการไปยังต่างประเทศ

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้การนำอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด คุณจิรพิสิษฐ์ฯ กล่าวว่า “ความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัย” โดยการดำเนินการของธุรกิจที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยได้ความร่วมมือจากทางภาครัฐ โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ที่มีส่วนช่วยในการให้การสนับสนุนธุรกิจในการอำนวยความสะดวกและโปรโมทการจัดงานเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการประสานราชการอีกด้วย อีกทั้ง ทางธุรกิจได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีในการช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์และแบรนด์

ในส่วนของการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ คุณจิรพิสิษฐ์ฯ กล่าวว่า ณ ปัจจุบันัยงมีความสนใจในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ซึ่งต้องการให้แมวเจ้าเมื่อยเป็นที่รู้จักของต่างประเทศ หลังจากนั้นก็สามารถต่อยอดด้วยการนำผลิตภัณฑ์ในท้งงถิ่นไปขายในต่างประเทศต่อไปด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ก่อนที่จะขยายตลาดไปยังต่างปะเทศนั้น คุณจิรพิสิษฐ์ฯ กล่าวเสริมว่าต้องมีการทำตลาดในประเทศให้ดีและยั่งยืนเสียก่อน

9. สิ่งที่อยากฝากให้หน่วยงานภาครัฐ

สำหรับสิ่งที่อยากฝากกับหน่วยงานภาครัฐ คุณจิรพิสิษฐ์ฯ กล่าวว่า สำหรับภาคเอกชนแล้วสิ่งสำคัญที่อยากได้รับความอนุเคราะห์จากทางภาครัฐคือการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการส่งเสริมการตลาด กล่าวคืออยากให้หน่วยงานภาครัฐ เข้ามามีส่วนรวมในการสนับสนุนธุรกิจในการนำเสนอสินค้า รวมถึงการออกบูท ไปจนถึงการช่วยทำการตลาดเพื่อให้สินค้าไทยออกสู่สายตาชาวโลกได้ นอกจากนี้ ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับธุรกิจ SMEs ซึ่งถือเป็นฐานรากที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย หากฐานรากของเศรษฐกิจดีแล้ว เศรษฐกิจไทยก็สามารเติบโตได้อย่างยั่งยืน

สุดท้ายนี้ทางคณะผู้เขียนขอขอบคุณ ดร. พิสิทธิ์  พัวพันธ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. ดร.พงศ์นคร  โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค ดร. นรพัชร์  อัศววัลลภ บรรณาธิการวารสารการเงินการคลัง และนายชัยวัฒน์  หาญพิทักษ์พงศ์ ผู้ช่วยบรรณาธิการวารสารการเงินการคลังที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์เนื้อหาดี ๆ สำหรับรายการ Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาค

นางสาวกันตา ศุขสาตร
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นายกานต์ แจ้งชัดใจ
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน