บทความโดย
นางสาวศิวพร พรหมวงษ์
บทสรุปผู้บริหาร
What is Trump 2.0?: นโยบายทรัมป์ 2.0 มุ่งเน้นการปกป้อผลประโยชน์ทางการค้าของประเทศและการแก้ไขความไม่สมดุลทางการค้า (Addressing Unfair and Unbalanced Trade) ตามแนวทาง “America First”
What’s New?: หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ปธน. ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารและบันทึกร่วมกว่า 200 ฉบับ ซึ่งรวมถึงการยกเลิกนโยบาย 78 ข้อของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ได้ลงนามในคำสั่งบริหารที่กำหนดการเพิ่มภาษีนำเข้าจากจีนนที่ร้อยละ 10 และจากเม็กซิโกและแคนาดา ที่ร้อยละ 25 ยกเว้นสินค้าประเภทพลังงานหรือทรัพยากรพลังงาน ที่กำหนดไว้ในอัตราร้อยละ 10 และเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 สหรัฐฯ ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับแคนาดาและเม็กซิโกในการหยุดเรียกเก็บภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นชั่วคราว เป็นระยะเวลา 30 วัน (ยุติชั่วคราวถึงวันที่ 4 มีนาคม 2568)
What’s Next?: ในภาพรวมการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานโลก การค้า และเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย โดยการค้าโลกชะลอตัวลงและเกิดความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับคู่ค้า รายสำคัญ อย่างไรก็ดี อาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอาจทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ นอกจากนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ซึ่งอาจทำให้ความต้องการสินค้าจากไทยไปยังจีนลดลงขณะที่การเข้ามาของสินค้าจากจีนอาจเพิ่มการแข่งขันในตลาดไทย สำหรับไทยอาจมีความเสี่ยงถูกเพิ่มภาษีศุลกากรจากสหรัฐฯ เนื่องจากไทยเกินดุลการค้าสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับที่ 11 ซึ่งอาจทำให้สินค้าส่งออกหลัก อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยอาจได้รับผลกระทบด้านลบช้ากว่าและน้อยกว่าประเทศคู่ค้าหลักอื่น ๆ ที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามากกว่าไทย
Are There Any Perks?: สินค้าไทยมีโอกาสเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ ได้มากขึ้น จากการเร่งนำเข้าสินค้าทดแทนจากสหรัฐฯ เพื่อชดเชยการลดการนำเข้าจากจีน ทั้งนี้ การสนับสนุนภายในประเทศของไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาดและนวัตกรรมเทคโนโลยี และบริษัทไทยจะมีแรงผลักดันให้พัฒนาขีดความสามารถของตนเองในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรับมือกับความท้าทายจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น อาจเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก อีกทั้ง ไทยยังมีโอกาสเป็นศูนย์กลางการลงทุนใหม่สำหรับบริษัทที่ต้องการย้ายฐานการผลิตจากจีนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากภาษีศุลกากรที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ นอกจากนี้ การที่ไทยเป็นสมาชิกของภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจให้กับไทยในฐานะจุดหมายปลายทางของการลงทุนระยะยาว
What Actions Can We Take?: ภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ สถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์และนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ประเทศไทยต้องปรับตัวเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ โดยมีมาตรการสำคัญ เช่น การกระจายตลาดส่งออกผ่านข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป (EU) และสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) พร้อมทั้งปรับโครงสร้างภาคการผลิตให้เน้นสินค้ามูลค่าสูง อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูงและพลังงานสะอาด ในขณะเดียวกัน ไทยยังสามารถใช้โอกาสจากการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานโลกในการขยายตลาดสินค้าทดแทนจากจีนสู่สหรัฐฯ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และสินค้าเกษตร นอกจากนี้ การเร่งรัดการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงการพัฒนาแรงงาน และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ และการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ การปรับตัวของภาคการผลิตไทยให้ทันต่อแนวโน้มโลกจะเป็นกุญแจสำคัญในการลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ และสร้างโอกาสใหม่ในการเติบโตภายใต้บริบทการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป
1. บทนำ: What is Trump 2.0 ?
เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2568 ตามเวลาท้องถิ่น กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (24.00 น. ของวันที่ 21 มกราคม 2568 ตามเวลาประเทศไทย) นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา (สหรัฐฯ) ในคำปราศรัยเข้ารับตำแหน่ง โดยได้ประกาศว่าเป็นการเริ่มต้น “ยุคทองของอเมริกา” (Golden age of America) และได้เน้นย้ำแนวทาง “America First” โดยมีนโยบายสำคัญ ดังนี้
- นโยบายต่างประเทศ: เน้นนโยบายการค้าที่มุ่งเน้นการปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และเพิ่มรายได้ให้แก่ประเทศผ่านภาษีศุลกากร (Tariff) ซึ่งจะมีการจัดตั้งกรมสรรพากรต่างประเทศ (External Revenue Service) เพื่อจัดเก็บภาษีนำเข้าและส่งออก อากร และรายได้อื่น ๆ จากต่างประเทศ และได้เน้นย้ำการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนและการปกป้องภาคการผลิตและเกษตรกรรมในสหรัฐฯ โดยการเพิ่มภาษีนำเข้าจากประเทศต่าง ๆ รวมถึงการแก้ไขความไม่สมดุลทางการค้าอื่น ๆ เช่น จีนและเม็กซิโกโดยการทวงคืนคลองปานามาจากจีนและเปลี่ยนชื่ออ่าวเม็กซิโก (Gulf of Mexico) เป็น อ่าวเมริกา (Gulf of America) เป็นต้น รวมถึงจัดการกับการกระทำที่ไม่เป็นธรรม เช่น การขโมยทรัพย์สินทางปัญญาและการขายสินค้าราคาต่ำเกินไป นอกจากนี้ จะมีการเจรจาทบทวนข้อตกลงการค้าใหม่ เพื่อสร้างความได้เปรียบและความเป็นธรรมแก่แรงงานและอุตสาหกรรมในประเทศ พร้อมส่งเสริมให้บริษัทต่าง ๆ ย้ายฐานการผลิตกลับสู่สหรัฐฯ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงานในประเทศ โดยได้เน้นถึงการลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมสำคัญ
- การอพยพและความมั่นคงชายแดน: ทรัมป์ประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติที่ชายแดนใต้ของประเทศ เพื่อหยุดการอพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย พร้อมทั้งกำหนดให้กลุ่มค้ายาเสพติดเม็กซิกันเป็นองค์กรก่อการร้ายต่างชาติ(Foreign Terrorist Organizations)
- พลังงานและเศรษฐกิจ: ทรัมป์ย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะทำให้สหรัฐฯ พึ่งพาตนเองด้านพลังงานโดยจะยกเลิกนโยบายต่างๆ เช่น ข้อตกลงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจที่มีจุดมุ่งหมายในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Green New Deal) เป็นต้น และยกเลิกข้อบังคับเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมมุ่งส่งเสริมการผลิตน้ำมันและการผลิตสินค้าในประเทศ
- การปฏิรูปรัฐบาล: ทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะยุติการการควบคุมหรือการจำกัดการเข้าถึงข้อมูลการแสดงความคิดเห็น หรือการสื่อสารใด ๆ โดยหน่วยงานของรัฐบาล (Government Censorship) ฟื้นฟูเสรีภาพในการแสดงออก และจัดตั้ง “กระทรวงประสิทธิภาพการบริหารราชการ” (Department of Government Efficiency) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐบาลกลาง
- นโยบายสังคม: รัฐบาลจะรับรองเพศเพียงสองประเภทเท่านั้น ได้แก่ ชายและหญิงและจะคืนสถานะของทหารที่ถูกปลดประจำการและจ่ายค่าตอบแทนย้อนหลังเต็มจำนวน เนื่องจากการคัดค้านเกี่ยวกับข้อบังคับฉีดวัคซีน COVID-19ซึ่งเคยมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือทหารต้องได้รับวัคซีนเพื่อปฏิบัติหน้าที่ และหากไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับอาจส่งผลให้ถูกปลดออกจากตำแหน่ง
ตารางที่ 1: สรุปแนวนโยบายทรัมป์ 2.0 ในแต่ละด้าน
1) นโยบายเศรษฐกิจและการคลัง | ลดภาษีและส่งเสริมการเติบโตภาคธุรกิจ:
คาดว่าจะลดภาษีให้แก่ ภาคธุรกิจและกลุ่มผู้มีรายได้สูงโดยอาจเป็นการลดภาษีให้ต่ำกว่าร้อยละ 21 (เหลือร้อยละ 15) เพื่อกระตุ้นการลงทุนและการจ้างงานในประเทศเนื่องจากทรัมป์ ได้มีการเน้นย้ำเสมอถึงความสำเร็จของมาตรการ “Trump Tax Cuts[1]” ที่เคยดำเนินการสมัยที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีเน้นการเจรจาต่อรองใหม่ (Re-negotiate) ในข้อตกลงการค้า: คาดว่าจะมีการปรับแก้หรือต่อรองข้อตกลงการค้าใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ผลิต และแรงงานในประเทศมากขึ้น เนื่องจากทรัมป์เชื่อว่า ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ถูกเอาเปรียบในข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศเดิม ๆ ลดกฎระเบียบที่เกี่ยวกับธุรกิจ (Deregulation): เนื่องจากทรัมป์มองว่ากฎระเบียบเป็น “ภาระ” ต่อธุรกิจและอุตสาหกรรม (Burdensome Regulations) ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการผลิต โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือมาตรฐานแรงงาน |
2) นโยบายการค้าและการลงทุน | การตั้งกำแพงภาษี (Tariffs) ในสินค้าแข่งขัน (Rebalancing trade): คาดว่าจะเพิ่มภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นกับบางประเทศ (เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 – 20 และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในไตรมาสที่ 2 ปี 2568) และเพิ่มภาษีนำเข้าจากจีน คาดว่าจะเพิ่มสูงสุดเป็นร้อยละ 60 เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศและกระตุ้นการผลิตในสหรัฐฯสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมหนักและพลังงาน: ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศให้มากขึ้น เพื่อสร้างงานและรักษาความเป็น“มหาอำนาจด้านพลังงาน” |
3) นโยบายคนเข้าเมือง (Immigration) | สร้างกำแพงชายแดนต่อกับเม็กซิโก: สร้างกำแพงกั้นชายแดนทางใต้ สกัดกั้นผู้อพยพผิดกฎหมาย เข้มงวดกับการตรวจคนเข้าเมือง: ดำเนินนโยบายที่เข้มงวดต่อผู้ขอลี้ภัยและผู้อพยพผิดกฎหมาย รวมถึงตรวจสอบผู้ที่อยู่นอกสถานะให้เข้มข้นขึ้นปรับปรุงระบบกรีนการ์ดและวีซ่าคนเก่ง: อาจยังสนับสนุนระบบที่เน้นการให้สิทธิผู้อพยพที่มีทักษะสูง หรือ “Merit-based immigration system” |
4) นโยบายต่างประเทศและความมั่นคง | “America First” ยังคงเป็นแกนหลัก:
ทรัมป์ประกาศชัดว่าการดำเนินนโยบายต่างประเทศจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของสหรัฐฯ
เป็นลำดับแรกท่าทีต่อพันธมิตรดั้งเดิมในยุโรป (NATO) และเอเชีย:
คาดว่าจะเรียกร้องให้พันธมิตรจ่าย “ส่วนแบ่ง” การป้องกันประเทศมากขึ้น ลดภาระของสหรัฐฯ
และหากไม่ได้ตามที่ต้องการ
อาจพิจารณาปรับลดบทบาทของสหรัฐฯ ในองค์กรระหว่างประเทศบางแห่งจีนและรัสเซีย: ทรัมป์ยังคงมองจีนเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์หลัก มุ่งคานอำนาจด้านเทคโนโลยีและการค้า ในขณะที่รัสเซียอาจถูกกดดันด้วยมาตรการคว่ำบาตรบางอย่าง แต่ทรัมป์อาจเลือกเจรจาต่อรองเป็นกรณี เพื่อผลประโยชน์ร่วม |
5) นโยบายความมั่นคงภายในและการบังคับใช้กฎหมาย | เน้นความปลอดภัยในเมือง (Law & Order): เน้นการให้งบประมาณและอำนาจสนับสนุนแก่หน่วยงานตำรวจ เพื่อลดอาชญากรรม โดยเฉพาะในเมืองใหญ่มาตรการต่อการประท้วงใหญ่หรือความไม่สงบ: มีแนวโน้มจะใช้มาตรการเคร่งครัดในการรับมือหากเกิดประท้วงทางการเมือง หรือความไม่สงบในเมืองต่าง ๆ |
6) นโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อม | ส่งเสริมการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuels): อาจยกเลิกกฎระเบียบหลายข้อที่จำกัดการขุดเจาะน้ำมันหรือถ่านหิน เนื่องจากทรัมป์มองว่าอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศยกเลิกกฎควบคุมการปล่อยมลพิษที่เข้มงวด: มีแนวโน้มที่จะลดความเข้มงวดของมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงอาจถอนตัวจากข้อตกลงทางสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศบางส่วน เหมือนที่เคยถอนจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) มาแล้วในสมัยแรกโต้แย้งเรื่องภาวะโลกร้อน: ยังคงยืนกรานว่าควรให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าเร่งดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด |
7) นโยบายการดูแลสุขภาพ | ยกเลิกหรือลด Obamacare: ทรัมป์เคยพยายามแก้ไขหรือล้มเลิกกฎหมายประกันสุขภาพภายใต้โอบามา (Affordable Care Act) ในสมัยก่อนหน้า แต่ไม่สำเร็จทั้งหมด จึงมีแนวโน้มว่าจะพยายามผลักดันอีกครั้งทางเลือกประกันสุขภาพเอกชน: ต้องการให้ภาคเอกชนมีบทบาทมากขึ้นในการแข่งขันด้านประกันสุขภาพ และลดการครอบงำของรัฐบาลกลาง |
8) นโยบายเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย | จำกัดอิทธิพล Big Tech: อาจผลักดันกฎหมายควบคุมหรือ “รื้อ” มาตราที่ให้ความคุ้มครองทางกฎหมาย (Section 230) สำหรับแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่ (เช่น Twitter, Facebook, Google) เนื่องจากแพลตฟอร์มดังกล่าวเคย “เซ็นเซอร์” หรือ “ปิดกั้น” เสรีภาพในการแสดงออกของทรัมป์และผู้สนับสนุนทรัมป์ |
2. นโยบายทรัมป์ 2.0 ล่าสุด (What’s New)
หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 47 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2025 ประธานาธิบดีโรนัลด์ ทรัมป์ (ปธน.ทรัมป์) ได้เริ่มดำเนินนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้ โดยในวันแรกของการดำรงตำแหน่ง ปธน. ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารและบันทึกร่วมกว่า 200 ฉบับ ซึ่งรวมถึงการยกเลิกนโยบาย 78 ข้อของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน เช่น การถอนตัวจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การถอนตัวจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการประกาศเพิ่มภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ล่าสุด ดังนี้
- การกำหนดอัตราภาษีศุลกากรสำหรับสินค้านำเข้าทุกประเภทที่มาจากแคนาดาและเม็กซิโก ที่ร้อยละ 25 ยกเว้นสินค้าประเภทพลังงานหรือทรัพยากรพลังงาน ที่กำหนดไว้ในอัตราร้อยละ 10 โดย ปธน. ทรัมป์ได้ลงนามเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ในคำสั่งบริหารที่กำหนดภาษีศุลกากรเพิ่มเติมสำหรับสินค้านำเข้าจากแคนาดา เม็กซิโก และจีน ภายใต้พระราชบัญญัติ International Emergency Economic Powers Act (IEEPA) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568และเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 แคนาดาได้ตอบโต้การกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยประกาศภาษีศุลกากรที่ร้อยละ 25 สำหรับสินค้านำเข้ามูลค่า 155,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ แคนาดายังพิจารณามาตรการที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร เช่น การขึ้นค่าธรรมเนียมผ่าน Cobequid Pass สำหรับยานพาหนะเชิงพาณิชย์ การยกเลิกการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากสหรัฐฯ และการจำกัดการเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับธุรกิจในสหรัฐฯ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค แรงงาน และธุรกิจของแคนาดาอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 สหรัฐฯ ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับแคนาดาและเม็กซิโกในการหยุดเรียกเก็บภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นชั่วคราว เป็นระยะเวลา 30 วัน (ยุติชั่วคราวถึงวันที่ 4 มีนาคม 2568) เพื่อแลกกับการดำเนินการควบคุมผู้อพยพบริเวณชายแดนและควบคุมการลักลอบขนยาเสพติดผิดกฎหมายเข้าสหรัฐฯ
- การกำหนดอากรเพิ่มเติมสำหรับสินค้านำเข้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน (Imposing Duties to Address the Synthetic Opioid Supply Chain in the People’s Republic of China)เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568โดยกำหนดอัตราภาษีศุลกากรสำหรับสินค้านำเข้า
ทุกประเภทที่มาจากจีนที่ร้อยละ 10 และเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 รัฐบาลจีนได้ประกาศมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ โดยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ จากเดิมที่ได้รับการยกเว้นภาษี โดยกำหนดอัตราภาษีร้อยละ 15 สำหรับสินค้าประเภทถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และร้อยละ 10 สำหรับน้ำมันดิบ เครื่องจักรการเกษตรและยานยนต์บางประเภท มาตรการนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 นอกจากนี้ จีนยังได้ดำเนินมาตรการอื่น ๆ เช่น การเปิดการสอบสวนบริษัท Google ในข้อหาผูกขาดตลาด และการควบคุมการส่งออกแร่ธาตุหายากที่สำคัญ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี - การกำหนดอัตราภาษีนำเข้าอะลูมิเนียมจากทุกประเทศที่ร้อยละ 25 จากเดิมที่ร้อยละ 10 และกำหนดอัตราภาษีศุลกากรร้อยละ 25 (จากเดิมมีข้อยกเว้นทางภาษีให้แก่ประเทศต่าง ๆ) สำหรับการนำเข้าเหล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องจากทุกประเทศ และยกเลิกข้อตกลงยกเว้นภาษีสำหรับประเทศ
ที่เคยได้รับสิทธิ์ ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย แคนาดา เม็กซิโก สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร โดย ปธน. ทรัมป์ได้ลงนาม เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 12 มีนาคม โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กและอลูมิเนียมในสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการค้าที่ไม่เป็นธรรมมและจากการนำเข้าจำนวนมากจากผู้ผลิตในต่างประเทศ โดยอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กในสหรัฐฯ ปี 2564 มีกำลังการผลิตมากถึงร้อยละ 80 ของอุปสงค์ในประเทศ และในปี 2565 – 2566 ได้ปรับตัวลดลงเป็นร้อยละ 77.3 และ 75.3 ตามลำดับ สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตอลูมเนียมปี 2564 พบว่ามีกำลังการผลิตที่ร้อยละ 61 ของอุปสงค์ภายในประเทศ และลดลงต่อเนื่องไปอยู่ที่ร้อยละ 55 ในปี 2566 โดย ปธน. ทรัมป์ ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตเหล็กและอลูมิเนียมสู่ตลาดสหรัฐฯ อย่างน้อยที่ร้อยละ 80 ของอุปสงค์ในประเทศทั้งหมด - แผนการเรียกเก็บภาษีนำเข้าต่างตอบแทน (Fair and Reciprocal Plan) เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงแผนการเรียกเก็บภาษีนำเข้าต่างตอบแทนจากคู่ค้าของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราเทียบเท่ากับที่ประเทศคู่ค้าเรียกเก็บและพร้อมที่จะลดอัตราภาษีหากประเทศคู่ค้าพิจารณาปรับลดเช่นกัน โดยจะไม่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าสู่สหรัฐฯ ผ่านประเทศอื่น (Third Party Invoicing) เพื่อสร้างความเท่าเทียมระหว่างผู้ผลิตภายในและต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ยังไม่มีกำหนดชัดเจนถึงวันที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้
- แผนการปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ (เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568) โดยคาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 เมษายน 2568 ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากญี่ปุ่น เยอรมนี และเกาหลีใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่ายรถยนต์เยอรมัน เช่น โฟล์คสวาเกน เป็นต้น ที่มียอดขายในสหรัฐฯ ประมาณร้อยละ 80 มาจากรถยนต์นำเข้า
- แนวโน้มที่จะเพิ่มภาษีนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ ในช่วงต่อไป โดยอาจเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 – 20 และอาจเพิ่มภาษีนำเข้าจากจีนเป็นร้อยละ 60 ซึ่งคาดว่าจะครอบคลุมเกือบครึ่งหนึ่งของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ รัฐบาลทรัมป์มีแนวโน้มที่จะเพิ่มภาษีนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ ในช่วงต่อไป โดยอาจเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 – 20 และอาจเพิ่มภาษีนำเข้าจากจีนเป็นร้อยละ 60 ซึ่งคาดว่าจะครอบคลุมเกือบครึ่งหนึ่งของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ นโยบายดังกล่าวทำให้ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ต้องเพิ่มกำลังการผลิตมากกว่า 2 เท่าเพื่อชดเชยส่วนที่ขาดหาย ซึ่งอาจไม่สามารถทำได้ในระยะสั้น
3. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย (What’s Next?)
ในภาพรวมการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานโลก การค้า และเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย โดยการค้าโลกชะลอตัวลงและเกิดความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับคู่ค้า รายสำคัญ เช่นกรณีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก
และแคนาดา จะส่งผลเสียหายต่อเม็กซิโกและแคนาดา อย่างไรก็ดี อาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ (เช่น อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ซึ่งต้องพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานที่กระจายอยู่ในทั้งสามประเทศ โดยหากมีการขัดขวางห่วงโซ่อุปทานนี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์) ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นคือการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ลดลง และส่งผลกระทบต่อผลกำไรของบริษัท ซึ่งอาจฉุดระดับการลงทุนให้ลดลงตามไปด้วย ส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอาจทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ นอกจากนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ซึ่งอาจทำให้ความต้องการสินค้าจากไทยไปยังจีนลดลงขณะที่การเข้ามาของสินค้าจากจีนอาจเพิ่มการแข่งขันในตลาดไทย
สำหรับไทยอาจมีความเสี่ยงถูกเพิ่มภาษีศุลกากรจากสหรัฐฯ เนื่องจากไทยเกินดุลการค้าสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับที่ 11 ซึ่งอาจทำให้สินค้าส่งออกหลัก เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และผลิตภัณฑ์ยางเผชิญต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและสูญเสียส่วนแบ่งตลาด อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยอาจได้รับผลกระทบด้านลบช้ากว่าและน้อยกว่าประเทศคู่ค้าหลักอื่น ๆ ที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามากกว่าไทย (ข้อมูลปี 2567)เช่นจีน เม็กซิโก เวียดนาม เป็นต้น และในระยะต่อไปคาดว่าอาจจะมีมาตรการกีดกันทางการค้าสำหรับประเทศดังกล่าวออกมาเพิ่มเติม ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
- อันดับ 1 จีน มีมูลค่าการขาดดุลกว่า 290,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
- อันดับ 2 เม็กซิโก มีมูลค่าการขาดดุลกว่า 171,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐอันดับ 3 เวียดนาม มีมูลค่าการขาดดุลกว่า 120,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
- อันดับ 11 ไทย มีมูลค่าการขาดดุล 45,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
ตารางที่ 2: อันดับประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า 15 อันดับแรก (ปี 2567)
ประเทศ | ปริมาณการขาดดุล (ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ) |
1. จีน (ขึ้นภาษีนำเข้า 10%) | -295,402 |
2. เม็กซิโก (ขึ้นภาษีนำเข้า 25%) | -171,809 |
3. เวียดนาม | -123,463 |
4. ไอร์แลนด์ | -86,748 |
5. เยอรมนี | -84,824 |
6. ไต้หวัน | -73,927 |
7. ญี่ปุ่น | -68,468 |
8. เกาหลีใต้ | -66,007 |
9. แคนาดา (ขึ้นภาษีนำเข้า 25%) | -63,336 |
10. อินเดีย | -45,664 |
11. ไทย | -45,609 |
12. อิตาลี | –43,964 |
13. สวิตเซอร์แลนด์ | -38,463 |
14. มาเลเซีย | -24,830 |
15. อินโดนีเซีย | -17,883 |
ทั้งนี้ สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มภาษีนำเข้าจากไทยน้อยกว่าจีนและประเทศอื่น ๆ ที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามากกว่าไทย เช่น เม็กซิโก เวียดนาม ไอร์แลนด์ เยอรมันนี ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา อินเดีย เป็นต้น ซึ่งจะเป็นโอกาสให้สินค้าไทยมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น จากความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) เนื่องจากไทยจะมีความได้เปรียบด้านราคาสินค้าจากต้นทุนสินค้าต่ำกว่าประเทศ อื่น ๆ ที่มีแนวโน้มจะถูกขึ้นภาษีมากกว่าไทย สินค้าไทยอาจจะเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ตลาดสหรัฐฯ ทดแทนการนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูงที่สุดจากทั้งไทยและจีน นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง จากดัชนีดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางแข็งค่าขึ้นจากการที่นักลงทุนหันกลับไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นต้น จะส่งผลดีต่อการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ มากขึ้น
สำหรับในระยะสั้น สินค้าไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าทดแทนจากประเทศอื่นๆ ที่มีแนวโน้มถูกกีดกันทางการค้ามากกว่าไทยมากขึ้น ได้แก่ สินค้าประเภทเดียวกันที่สหรัฐฯ นำเข้าจากเม็กซิโก แคนาดา จีน และไทย เช่น สินค้าประเภทชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีขั้นสูง รถยนต์และยานพาหนะ เครื่องจักรและหน่วยประมวลผลข้อมูล และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เป็นต้น สินค้าเกษตรและอาหาร สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนและเวียดนาม (ขาดดุลการค้าอันดับที่ 1 และ 3 ตามลำดับ) เป็นหลัก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราภาษีอีกในอนาคต โดยสหรัฐฯ อาจต้องการกระจายแหล่งนำเข้าเพื่อลดการพึ่งพาจีนและเวียดนาม ทำให้สินค้าเกษตรไทย เช่น ข้าว มันสำปะหลัง น้ำตาล ไก่แปรรูป และอาหารทะเล เป็นต้น และอาจทำให้ไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารทางเลือก เช่น อาหารแช่แข็ง เครื่องปรุงรส อาหารสำเร็จรูป เป็นต้น สำหรับเสื้อผ้าและสิ่งทอ อาจได้รับประโยชน์ในการส่งออกเสื้อผ้าและรองเท้าไปยังสหรัฐฯทดแทนสินค้าจีน และเวียดนาม มากขึ้น และสำหรับสินค้าประเภทปิโตรเคมีและพลาสติก จากนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลของทรัมป์ อาจเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยสามารถขยายตลาดไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งไทยถือว่าเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันและเคมีภัณฑ์รายใหญ่ในอาเซียน
ในระยะนี้ นักลงทุนและผู้ประกอบการควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยหากสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มภาษีจากจีนอีก ผู้ผลิตไทยอาจต้องพิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้าจากจีน และเร่งส่งเสริมการลงทุนเพื่อขยายการผลิตในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสินค้าทดแทนการน้ำเข้าของประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น
ตารางที่ 3: อันดับสินค้าส่งออกไทยไปยังสหรัฐฯ 15 อันดับแรก (ปี 2567: ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
สินค้า | มูลค่า |
1. เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ | 10,567.84 |
2. เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ | 4,657.14 |
3. ผลิตภัณฑ์ยาง | 4,503.69 |
4. อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด | 2,483.75 |
5. หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ | 2,095.67 |
6. เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล | 2,036.22 |
7. อัญมณีและเครื่องประดับ | 1,974.13 |
8. รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ | 1,893.44 |
9. เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ | 1,777.31 |
10. เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ | 1,282.75 |
11. เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (ขึ้นภาษีนำเข้าเป็น 25%) | 1,205.23 |
12. ผลิตภัณฑ์พลาสติก | 1,071.50 |
13. แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า | 912.55 |
14. อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป | 910.63 |
15. สินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ | 900.19 |
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย ในระยะนี้ จะต้องสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภายในประเทศในปี 2568 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5–3.5) โดยมี 4 ปัจจัยบวกหลัก ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชน การส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวดีต่อเนื่องมูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.4 ต่อปี สอดคล้องกับความต้องการสินค้าของตลาดโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้นขณะที่ภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะยังขยายตัวต่อเนื่อง ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 38.5 ล้านคน ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนรายได้จากการท่องเที่ยวและส่งเสริมภาคบริการและภาคการผลิตที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ การลงทุนในปี 2568 จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจ
โดยกระทรวงการคลังได้มีการใช้เครื่องมือทางการคลัง ทั้งการใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนภาครัฐ มาตรการเงินโอน รวมถึงการบริหารการจัดเก็บรายได้ที่มีประสิทธิภาพที่จะมาช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ได้แก่
การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งคาดว่า หากมีการเร่งรัดการใช้จ่ายและการลงทุนของรัฐบาลตามที่กำหนดไว้ (ใช้จ่ายประจำร้อยละ 98 และการลงทุนร้อยละ 80) ตามแผน (เพิ่มการใช้จ่ายร้อยละ 5 คิดเป็นประมาณ 465,000 ล้านบาท) จะช่วยเพิ่ม GDP ขึ้นร้อยละ 0.11 อุดรูรั่วโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ในระยะที่สาม (มูลค่า 150,000 ล้านบาท) ซึ่งคาดว่าจะดำเนินต่อไปในปี 2568 หากมีการเพิ่มประสิทธิภาพในเงื่อนไขการใช้จ่ายจะทำให้เงินหมุนเวียนสูงขึ้นและกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการโปรแกรมนี้อย่างเหมาะสม คาดว่าจะช่วยเพิ่ม GDP ขึ้นร้อยละ 0.1 การเร่งรัดการลงทุน PPP (Public-Private Partnership) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการที่ต้องการการลงทุนขนาดใหญ่ แบ่งเบาภาระของภาครัฐในด้านการเงิน และยังสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาได้ เร่งรัดการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติแล้วโดย BOI โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ข้อมูลและภูมิภาค cloud คาดว่าหากการลงทุนที่เกิดขึ้นจริงเพิ่มขึ้น 75,000 ล้านบาท จะช่วยเพิ่ม GDP ขึ้นร้อยละ 0.19 และการปรับนโยบายการเงินโดยการปรับอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ซึ่งขณะนี้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับเป้าหมาย อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2568 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนมกราคม 2568 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ต่อปี ประกอบกับแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของประเทศต่าง ๆ มีทิศทางปรับลดลง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อปรับลดลง หากเราพิจารณาปรับดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศดังกล่าวแล้ว จะช่วยกระตุ้นการลงทุนและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนในช่วงเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนนี้ได้
4. โอกาสต่อเศรษฐกิจไทย (Are There Any Perks?)
สินค้าไทยมีโอกาสเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ ได้มากขึ้น จากการเร่งนำเข้าสินค้าทดแทนจากสหรัฐฯ เพื่อชดเชยการลดการนำเข้าจากจีน โดยสินค้าที่มีความได้เปรียบ อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ เหล็กและอะลูมิเนียม และผลิตภัณฑ์ยาง มีโอกาสขยายส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะในช่วงที่บริษัทสหรัฐฯ กำลังหาทางปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลก นอกจากนี้ การสนับสนุนภายในประเทศของไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาดและนวัตกรรมเทคโนโลยี อาจเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก นอกจากนี้ ไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางการลงทุนใหม่สำหรับบริษัทที่ต้องการย้ายฐานการผลิตจากจีนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากภาษีศุลกากรที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ โดยอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูง เช่น ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ อาจได้รับการสนับสนุนจากการลงทุนใหม่ ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ดาต้าเซ็นเตอร์ และเซมิคอนดักเตอร์ นอกจากนี้ การที่ไทยเป็นสมาชิกของภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจให้กับไทยในฐานะจุดหมายปลายทางของการลงทุนระยะยาว
นอกจากนี้ หากไทยสามารถดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น อาจส่งผลดีต่อไทยในแง่ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถปรับตัวและเพิ่มความสามารถในการผลิตได้อย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงนี้อาจช่วยเสริมสร้างบทบาทของไทยในห่วงโซ่อุปทานโลก นอกจากนี้ การเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางภูมิศาสตร์ของไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการเชื่อมโยงระหว่างตลาดสหรัฐฯ และเอเชีย ทั้งนี้ บริษัทไทยจะมีแรงผลักดันให้พัฒนาขีดความสามารถของตนเองในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรับมือกับความท้าทายจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ทั้งในตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ การพัฒนานี้อาจเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เช่น AI Internet of Things และพลังงานหมุนเวียน ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการในตลาดโลก
5. แนวทางการรับมือในอนาคต (What Actions Can We Take?)
สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์และนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งผลให้ประเทศไทยต้องปรับตัวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และสร้างความยืดหยุ่นต่อความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น โดยมีการเตรียมความพร้อมทั้งในปัจจุบันและเตรียมการรองรับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงและคว้าโอกาส การเร่งรัดการลงทุนภาครัฐ การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และการสนับสนุนภาคเอกชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อวางแผนและดำเนินมาตรการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่าง ๆ เพื่อกระจายตลาดส่งออก และการเตรียมความพร้อมด้านมาตรฐานคุณภาพสินค้า การสนับสนุนภาคเอกชนให้ปรับตัวและยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เป็นต้น สำหรับแนวทางเตรียมความพร้อมรับมือในอนาคต ประกอบด้วย
- มุ่งเน้นการกระจายตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้า รวมทั้งการขยายการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป (EU) และสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) รวมทั้งการปรับภาคการผลิตโดยมุ่งเน้นสินค้ามูลค่าสูงและซับซ้อน เช่น ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนสมาร์ทโฟน สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร พลังงานสะอาด เป็นต้น เพื่อเพิ่มอุปสงค์ในตลาดโลก พร้อมทั้งมีแผนพัฒนาแรงงานและส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต ขณะเดียวกัน สถานการณ์ดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้ไทยขยายการส่งออกสินค้าทดแทนจากจีนสู่ตลาดสหรัฐฯ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ เหล็กและอะลูมิเนียม ผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าเกษตร เป็นต้น ซึ่งมีศักยภาพในการขยายส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ และตอบสนองความต้องการของตลาดที่กำลังปรับตัว
จากการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานโลก - เร่งรัดการลงทุน นโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากสหรัฐฯ ในไทยไม่มาก โดยการลงทุนจากสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.3 ของเงินลงทุนต่างประเทศทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การเพิ่มกำแพงภาษีสินค้านำเข้าในสหรัฐฯ อาจกระตุ้นการย้ายฐานการผลิตจากประเทศต่าง ๆ มายังไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ไทย ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า ศูนย์ข้อมูล (Data Center) เป็นต้น
- การพัฒนาแรงงานเฉพาะด้านและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ เป็นต้น รวมถึงการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุน เช่น การลดขั้นตอนการอนุมัติและการสร้างสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด จะช่วยเสริมสร้างความได้เปรียบในการดึงดูดการลงทุน
และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ - การปรับตัวของภาคการผลิตไทยให้สอดคล้องกับแนวโน้มโลก การปรับการผลิตสินค้าให้มุ่งเน้นสินค้าที่มีมูลค่าสูงและซับซ้อนขึ้น เช่น ส่วนประกอบทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย ชิ้นส่วนสมาร์ทโฟน สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร และพลังงานสะอาด เนื่องจากสินค้าดังกล่าวเหล่านี้มีความเฉพาะตัวสูง ซึ่งจะนำไปสู่อุปสงค์ที่สูงตามมาด้วย การพัฒนาแรงงานให้มีทักษะสูงขึ้นเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve รวมไปถึงการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนา เนื่องจากงานวิจัยและพัฒนาจะช่วยสร้างองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตสินค้า ซึ่งรวมถึงการออกแบบ การวิเคราะห์ และการปรับปรุงขั้นตอนการผลิต การมีความรู้ที่ลึกซึ้งในเทคโนโลยีและกระบวนการผลิต จะทำให้สามารถผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และพัฒนาไปสู่สินค้าที่ซับซ้อนและมีมูลค่าเพิ่มสูง
6. บทสรุป
ในช่วงเวลานี้ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภายในประเทศก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง กระทรวงการคลังจะใช้เครื่องมือทางการคลังที่หลากหลาย เช่น การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อทำให้ระบบการเบิกจ่ายมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น และสร้างงานในพื้นที่ หากรัฐบาลสามารถให้การใช้จ่ายประจำอยู่ที่ ร้อยละ 98 และการลงทุนร้อยละ 80 ตามแผนจะสามารถเพิ่ม GDP ขึ้นร้อยละ 0.11 นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทในระยะที่สาม ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่า 150,000 ล้านบาท และหากมีการปรับปรุงเงื่อนไขการใช้จ่าย โครงการนี้อาจช่วยเพิ่ม GDP ขึ้นร้อยละ 0.1 การเร่งรัดการลงทุนในรูปแบบ Public-Private Partnership (PPP) จะช่วยให้มีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการลงทุนขนาดใหญ่ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้ ผลิตภัณฑ์ภาคดิจิทัล เช่น ศูนย์ข้อมูลและคลาวด์ หากการลงทุนเพิ่มขึ้น 75,000 ล้านบาท จะสามารถเพิ่ม GDP ขึ้นร้อยละ 0.19 นอกจากนี้ การปรับนโยบายการเงินโดยการปรับอัตราดอกเบี้ยให้มีความเหมาะสมต่อสภาพเศรษฐกิจ พร้อมกับการรักษาอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเป้าหมายจะช่วยกระตุ้นการลงทุนและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพในช่วงที่เศรษฐกิจเผชิญความไม่แน่นอนนี้
บรรณานุกรม
ภาษาไทย
กระทรวงพาณิชย์. (2567). รายงานการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ และผลกระทบต่อไทย. สืบค้นจาก https://www.moc.go.th
กระทรวงการคลัง. (2568). แนวโน้มเศรษฐกิจไทยภายใต้นโยบายการค้าของสหรัฐฯ. สืบค้นจาก https://www.fpo.go.th
ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2567). ผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย. สืบค้นจาก https://www.bot.or.th
สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า. (2568). ผลกระทบของการขึ้นภาษีนำเข้าในสหรัฐฯ และโอกาสของสินค้าไทย. สืบค้นจาก https://www.dft.go.th
ภาษาอังกฤษ
U.S. Census Bureau. (2025). U.S. trade deficits with key trading partners in 2024. Retrieved from https://www.census.gov
Office of the United States Trade Representative (USTR). (2025). America First trade policies under Trump 2.0. Retrieved from https://ustr.gov
Federal Reserve Bank. (2025). The impact of U.S. import tariffs on global supply chains. Retrieved from https://www.federalreserve.gov
International Monetary Fund (IMF). (2025). Trade wars and global economic outlook: A focus on U.S. policy shifts. Retrieved from https://www.imf.org
World Trade Organization (WTO). (2025). Tariff changes and global trade dynamics under U.S. protectionist policies. Retrieved from https://www.wto.org



นางสาวศิวพร พรหมวงษ์
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน