การประยุต์ใช้แนวคิด BCG ในการดำเนินธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

การประยุต์ใช้แนวคิด BCG ในการดำเนินธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

บทความโดย
นางสาวคงขวัญ ศิลา
นางสาวบุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์

ประเด็นเรื่องวิกฤตสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันนั้นไม่ใช่ภัยเงียบอีกต่อไป จากรายงานสถานการณ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคพลังงานปี 2564 ได้กล่าวถึงการใช้ทรัพยากรและการผลิตพลังงานที่ใช้แล้วหมดไปอย่างน้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นผลให้เกิดมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะในพื้นที่หรือจังหวัดที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่น ความต้องการใช้พลังงานก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องมีการผลิตพลังงานจำนวนมากอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน และจากการที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นก็จะมีผลกระทบต่อเนื่องก็คือภัยธรรมชาติต่าง ๆ ทั้งนี้สถานการณ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ( ) ของประเทศไทยจากการใช้พลังงานในปี 2564 อยู่ที่ 246.9 ล้านตัน (ภาพที่ 1) ซึ่งลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการลดลงของภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคขนส่ง และภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ซึ่งได้รับผลกระทบต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสอดคล้องกับการใช้พลังงานทดแทนที่เพิ่มมากขึ้นตามนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนของรัฐบาล ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมปล่อยก๊าซ  จากการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ทำให้เรื่องพลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทนเป็นสิ่งใกล้ตัวที่เราทุกคนต้องร่วมมือกันในการพัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต และปัจจุบันหลายประเทศเริ่มหันมาช่วยโลกให้มากขึ้นด้วยการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นพลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือเกิดมลภาวะที่เป็นพิษอย่างน้อยที่สุดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิต แปรรูป การนำไปใช้งาน จนถึงการจัดการของเสีย ซึ่งพลังงานสะอาดนั้นสามารถนำมาใช้ทดแทนพลังงานแบบเดิมได้อย่างไม่จำกัดและมีหลากหลายชนิดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานเชื้อเพลิงชีวมวล

ภาพที่ 1 การปล่อยก๊าซ CO2 และการใช้พลังงานของไทย
ที่มา รายงานสถานการณ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคพลังงานรายปี 2564,
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

บทความนี้จะพาผู้อ่านไปติดตามความเป็นมาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศต่างให้ความสำคัญ ทั้งนี้ คำนิยามของ BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ตามที่สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นิยามไว้ คือ การเป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยนำแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves) ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิม ทั้งยังสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด (Eco-design & Zero-Waste) ส่งเสริมการใช้ซ้ำ (Reuse, Refurbish, Sharing) และให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ (Recycle, Upcycle) ซึ่งต่างจากระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ที่เน้นการใช้ทรัพยากร การผลิต และการสร้างของเสีย (Linear Economy)

เพื่อทำความเข้าใจในรายละเอียดของการประยุกต์ใช้แนวคิด BCG ในการดำเนินธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะสถานะและการดำเนินงานของธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานทดแทนในเชิงลึกมากขึ้น สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศษรฐกิจการคลัง และวารสารการเงินการคลัง ได้รับเกียรติในการสัมภาษณ์ คุณสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (Energy Absolute : EA) เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้แนวคิด BCG ในการดำเนินธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

คุณสมโภชน์ อาหุนัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

1. ความเป็นมาของบริษัทพลังงานบริสุทธิ์

บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (Energy Absolute : EA) ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2549 ในชื่อเดิมคือ บจก. ซันเทคปาล์มออยล์ ต่อมาในปี 2551 ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นจากเข้ามาดำเนินธุรกิจไบโอดีเซล เนื่องจากในช่วงเวลานั้น รัฐบาลสนับสนุนให้มีการนำน้ำมันไบโอดีเซลเข้ามาผสมกับน้ำมันดีเซล บริษัท EA นับเป็น บริษัทแรกๆ ที่เริ่มเข้ามาดำเนินการในธุรกิจนี้ ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 800,000 ลิตรต่อวัน ลูกค้าหลักๆ คือ บริษัท ปตท. เชลล์ และเชฟรอน คอร์ปอเรชันหลังจากเริ่มดำเนินการมา 4-5 ปี บริษัท EA ได้ขยายไปทำธุรกิจพลังงานสะอาด เช่น พลังงานโซลาร์ ซึ่งในสมัยก่อนพลังงานโซลาร์ยังไม่ได้รับความนิยม และหลายคนมองว่าต้นทุนสูง แต่ บริษัท EA มองเห็นโอกาสจึงเข้าไปเริ่มทำธุรกิจพลังงานโซลาร์ ปัจจุบัน บริษัท EA มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 278 เมกะวัตต์ มีโครงการอยู่ 4 แห่ง ได้แก่ นครสวรรค์ ลพบุรี ลำปาง และพิษณุโลกหลังจากเริ่มดำเนินการธุรกิจโซลาร์ได้ขยายมาทำโรงไฟฟ้าพลังงานลม ในภาคอีสานและภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิใน 5 โครงการ จังหวัดสงขลาและจังหวัดนครศรีธรรมราช อีก 3 โครงการ พลังงานการผลิตรวมกัน 386 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม บริษัท EA ทราบดีว่าพลังงานสะอาดที่เป็นพลังงานทดแทนมีความไม่เสถียร จึงเริ่มมีการศึกษาเรื่องแบตเตอรี่มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี และเมื่อ 6 ปีที่แล้ว บริษัท EA ได้เข้าไปร่วมลงทุนกับบริษัท อมิตา เทคโนโลยี จำกัด ของประเทศไต้หวัน เพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีสำหรับการดำเนินการโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจรที่ทันสมัยและมีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในระดับโลก ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยขึ้นแท่นเป็นแหล่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมกักเก็บพลังงานไฟฟ้าในระดับภูมิภาค มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1 จิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีพอมีการดำเนินการเรื่องแบตเตอรี่ EA จึงได้ลงไปทำแอพพลิเคชั่น เรื่อง EV เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า

2. แนวโน้มของโลก มุ่งในเรื่องพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก

แนวโน้มในปัจจุบันของหลายประเทศจะเห็นได้ว่ามุ่งเน้นไปทางพลังงานสะอาด โดยประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเริ่มออกมามีข้อตกลงร่วมกันที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศลง ประเทศไทยเองก็มีเป้าหมาย Carbon Neutral ในปี 2050 และ Net Zero Emission ในปี 2065 เพราะฉะนั้นต้องเริ่มลดการดำเนินกิจกรรมที่จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาพลังงานฟอสซิลมากถึง 60-70% ส่งผลทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบในการส่งออกเพราะโดนเก็บภาษีปลายทาง เห็นได้ว่าในปัจจุบันโลกเริ่มบีบให้เราต้องมาใช้พลังงานสะอาดกันมากขึ้น คำถามคือ ประเทศไทยจะไปสู่พลังงานสะอาดได้อย่างไร โดยประเทศไทยเรามีแสงแดดที่เพียงพอ มีลมบ้างเป็นจุด แต่สัดส่วนของการใช้พลังงาน (Energy Mix) ของไทยต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างมาก และในปัจจุบันมองว่านโยบายของภาครัฐก็ยังไม่ชัดเจน

3. ข้อเสนอแนะที่จะเป็น quick win ของประเทศไทย เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมามีความสามารถทางการแข่งขันในการเป็นพลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาด

ส่วนใหญ่ทั่วโลกการเปลี่ยนแปลงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเริ่มจากด้านการขนส่ง (transportation)เพราะเป็นภาคส่วนที่สามารดำเนินการเปลี่ยนแปลงได้ค่อนข้างรวดเร็ว และมีจุดคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์ค่อนข้างชัดเจน หลายประเทศจึงมุ่งมาเปลี่ยนแปลงทางด้านการขนส่งเป็นหลัก

สำหรับประเทศไทยเรื่องสัดส่วนการใช้พลังงาน (Energy Mix) อาจจะต้องมีการตั้งขอบเขตการทำงานที่ชัดเจนว่าเราจะเดินทางนี้อย่างไร มองว่าแนวโน้มหลักของไทยต้องไปทางพลังงานโซลาร์ (Solar Energy) เป็นหลัก ด้านพลังงานลม (Wind Energy) อาจจะดำเนินการได้บางส่วน สำหรับพลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen Energy) ซึ่งจริง ๆ ทรัพยากรไฮโดรเจนรอบ ๆ ประเทศไทยมีค่อนข้างเยอะ ถ้าสามารถดึงมาทดแทนพลังงานฟอสซิสได้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ซึ่งปัจจุบันพลังงานฟอสซิลเช่น น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติมีราคาแพงกว่าไฮโดรในระยะยาว หากไทยสามารถปรับเปลี่ยน energy mix ตรงนี้ได้ก็จะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutral ในปี 2050 ได้ไม่ยาก

4. จุดเริ่มต้นของธุรกิจกำจัดขยะของ บริษัท EA

สมัยก่อนการฝังกลบคือวิธีการกำจัดขยะที่มีต้นทุนที่ถูกที่สุด แต่ด้วยปัจจุบันเรามีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซที่ทำลายชั้นบรรยากาศ และการฝังกลบเป็นวิธีที่ทำให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งก๊าซมีเทนทำลายชั้นบรรยากาศมากกว่าคาร์บอนไดออกไซน์ถึง 28 เท่า ถ้าเราเอาต้นทุนของการฝั่งกลบเข้ามาคิดจะเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้สำหรับยุคปัจจุบันที่พยายามดูแลสภาพบรรยากาศ เพราะจะทำให้เรามีภาระในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น และวิธีที่ดีกว่าการฝั่งกลบคือการนำเอาขยะมาเผาด้วยอุณหภูมิที่สูง โดยต้องมีการรณรงค์อย่างจริงจังเพื่อปรับเปลี่ยนโมเดลจากการฝังกลบมาเป็นการเผา และ บริษัท EA มองว่านี่คือกระแสใหม่ ประกอบกับผู้บริโภคเข้าใจเทคโนโลยีนี้มากขึ้น บริษัท EA จึงเริ่มเข้าสู่ธุรกิจนี้ ด้านหนึ่งเป็นเรื่องของการลงทุน แต่อีกด้านหนึ่ง EA มองว่าเป็นเรื่องของการช่วยเหลือสังคมในการที่จะช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น

5. ความสำเร็จของบริษัท EA ที่โดดเด่น

การดำเนินการของ EA มีเรื่องตื่นเต้นมาเป็นช่วง ๆ เพราะสิ่งที่ดำเนินการมาตลอดเป็น
พันธกิจ (Mission) ที่ค่อนข้างท้าทาย อย่างตอนที่เริ่มทำพลังงานโซลาร์ ในตอนนั้นโซลาร์ฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่ประเทศเยอรมันและมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 20 เมกะวัตต์ และเรามีเป้าหมายที่จะทำอยู่ที่ 90 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าใหญ่มากเมื่อเทียบกับระดับโลก และ บริษัท EA ดำเนินการในรูปแบบ Solar tracker เป็นการหันตามแสงอาทิตย์ ซึ่งมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่และท้าทาย อีกทั้งยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน

หากย้อนกลับไปตอนทำไบโอดีเซล จิตวิญญาณของ บริษัท EA คือการทำการวิจัยและพัฒนา (Research & Development: R&D) โดย EA เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการลงไปทำ R&D ในบริษัท ไม่เน้นการซื้อเทคโนโลยี เพราะมองว่าการที่บริษัทสามารถทำแบบนี้ได้จะเป็นการลดต้นทุนและทำให้เกิดประสิทธิภาพที่สูงกว่าคู่แข่ง โดยตอนดำเนินโครงการโรงงานไบโอดีเซล คู่แข่งใช้เงินประมาณ 1,000 ล้านบาท ในการสร้างโรงงานที่มีขนาดเล็กกว่า ขณะที่บริษัท EA ใช้เพียง 200 ล้านบาท และสร้างโรงงานที่มีขนาดใหญ่กว่า และพิสูจน์แล้วว่าโรงงานสามารถดำเนินการมาได้กว่า 10 ปีอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ตอนที่เริ่มดำเนินธุรกิจพลังงานลม บริษัท EA แตกต่างจากบริษัทคู่แข่งคือดำเนินการในรูปแบบโครงการลักษณะยาว (แบบเส้นก๋วยเตี๋ยว) ที่แรกที่ภาคใต้ มีลักษณะยาวไปตามชายหาด ระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร โครงการนี้ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย เพราะการทำในลักษณะเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว ต้องมีการเจรจากับชาวบ้านค่อนข้างเยอะ และเจรจากับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5 – 6 แห่ง ประกอบกับตอนที่ดำเนินการ โครงการลักษณะเส้นก๋วยเตี๋ยว ทำให้การตั้งเสาแบบเดิมที่เป็นการใช้รถเครนแบบตีนตะขาบ (Crawler Crane) ใช้ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนมาใช้แบบทาวเวอร์เครน (Tower Cranes) เป็นโครงการแรกในโลกที่ใช้ทาวเวอร์เครนในการสร้าง ซึ่งระยะเวลาในการสร้างไม่ช้าไปกว่าใช้เครนแบบตีนตะขาบ เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของบริษัท และทุกครั้งที่ดำเนินธุรกิจ บริษัท EA จะมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมเข้ามาดำเนินการ นอกจากนี้ เมื่อเริ่มตั้งโครงการพลังงานลมที่จังหวัดชัยภูมิ บริษัทEA ได้ใช้ทาวเวอร์เครนอีกแบบ หนึ่ง เป็นฟรีสแตนด์สูง 170 เมตร ทำให้บริษัทภูมิใจที่มีบริษัทชั้นนำของโลกมาขอถ่ายทำสารคดี เพราะหลายประเทศไม่คิดว่าการดำเนินการในลักษณะนี้จะสามารถทำได้ในต้นทุนและระยะเวลาแบบที่เราดำเนินการได้

ต่อมาเมื่อมีการดำเนินการเรื่องแบตเตอรี่ บริษัท EA ก็ยังเน้นการลงมือทำเอง โดยไม่ซื้อเทคโนโลยี จากการนำคนของบริษัทไปร่วมกันออกแบบโรงงาน ทำให้เราเข้าใจจริง ๆ ว่าโรงงานแบตเตอรี่ที่ดีควรจะเป็นอย่างไร เมื่อเข้าใจอย่างลึกซึ้งแล้วจะสามารถปรับตัวในธุรกิจได้เป็นอย่างดี จุดสำคัญคือการลงมือทำจริง รู้จริง มีความสามารถในการแข่งขัน จะทำให้บริษัทปรับตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว นี่คือจุดแข็งของ บริษัท EA

6. ในอนาคตจะมีแพลตฟอร์มการเชื่อมโยงอย่างครบวงจรของธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) มากขึ้น

บริษัท EA พยายามเชื่อมโยงทุกภาคส่วนในธุรกิจเข้าด้วยกัน (Connecting Dots) เพื่อเป็นยุทธศาสตร์หลักของภาพรวมในบริษัท ด้วยความเชื่อว่าถ้าการทำของเป็นชิ้นๆ จะไม่สามารถตอบโจทย์ในระยะยาวได้ ต้องพยายามเอาของแต่ละชิ้นมาต่อและประกอบกันเพื่อให้เกิดเป็นแอพพลิเคชั่น ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และเชื่อว่าหากดำเนินการได้ บริษัทจะมีความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้นยกตัวอย่างเช่น การทำแบตเตอรี่ หากพูดว่าต้องการนำแบตเตอรี่ไปใช้กับพลังงานทดแทน จะเห็นได้ว่าตอนนี้ราคาแบตเตอรี่ยังสูงอยู่ ซึ่งหากรอให้ราคาแบตเตอรี่ถูกลง โอกาสก็จะหายไป จึงเป็นที่มาว่าต้องมีการคิดว่าจะมีธุรกิจอะไรที่จะนำแบตเตอรี่ไปใช้ก่อนแล้วสามารถหยุด (Freeze) ในตอนนี้ แล้วเมื่อใช้ไปแล้วค่อยกลับมาทำพลังงานทดแทนใหม่ นั่นก็คือ รถยนต์เชิงพาณิชย์ ซึ่งบริษัท EA มองว่าหากเราจะสร้างแบตเตอรี่บริษัทควรลงไปทำรถยนต์ก่อน แต่การที่ลงไปทำรถยนต์จะกลับไปติดเรื่องการชาร์จแบตเตอรี่ให้เร็ว โดย บริษัท EA ลงไปศึกษาการพัฒนาการชาร์จไฟในแบตเตอรี่ได้เร็ว เกิด Ecosystem system ที่เรียกว่า ultra-fast charging solution อันนี้ก็จะเป็นการต่อ dots ทุกตัวเข้าด้วยกัน

7. ข้อเสนอแนะสำหรับหน่วยงานภาครัฐต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ ต่อยอดให้เป็นอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า

ปัจจุบันมองว่าภาครัฐเริ่มตระหนักถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ให้เป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เริ่มมีการโปรโมท จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)  โดยการสร้างแรงจูงใจ (Incentive) แก่ผู้ผลิตรถยนต์ที่จะเข้ามาประกอบรถยนต์ในประเทศไทย รวมถึงเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แต่ทั้งหมดในตอนนี้ ยังมุ่งเน้นไปที่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเป็นหลัก ซึ่งเป็น Red Ocean[1] ประเทศไทยอาจจะได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็ยังมีข้อเสียคือเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่อนุญาตให้มีการนำเข้ารถยนต์ราคาถูกจากประเทศจีนเข้ามาประเทศไทยได้เสรี บริษัท EA มองว่าสิ่งที่ทำอยู่ทั้งหมดยังไม่สามารถทำให้เกิดอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าที่มั่นคงได้ ด้วยปริมาณที่เกิดขึ้นยังไม่มากพอที่จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมที่เป็นองค์ประกอบหลักทั้ง 3 ตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ อุตสาหกรรมไดร์ฟเทรน (Drivetrain) และอุตสาหกรรมมอเตอร์ไฟฟ้า ให้เกิดขึ้นได้โดยหากรัฐบาลให้ความสำคัญเพิ่มในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์เชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีอุปสงค์การใช้แบตเตอรี่สูงพอ จะทำให้เกิด economy of scale ได้เร็วกว่า และในขณะเดียวกันก็ลด PM 2.5 ลดมลพิษได้ และอีกด้านหนึ่งก็จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ในประเทศขึ้นอีกด้วย


[1] Red Ocean คือ น่านน้ำสีแดงที่หมายถึงตลาดที่มีการแข่งขันสูงจนทำให้แต่ละฝ่ายมุ่งเน้นไปที่การแข่งขันด้านราคาเป็นหลัก

8. มุมมองต่อประเทศไทยในรูปแบบ Next Normal

สหรัฐอเมริกาเปรียบเสมือนประเทศที่มีสภาพคล่องเยอะ (Liquidity) แต่พื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ(Fundamental) ไม่ดีตอนนี้ทั้งเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันก็เริ่มถดถอยลงในขณะที่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนมีพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจที่แข็งแรงมากขึ้น แต่ไม่ได้ควบคุมระบบการเงินหรือระบบเศรษฐกิจของโลก เปรียบเสมือนบริษัทที่มี fundamental ดี แต่ liquidity ควบคุมไม่ได้ซึ่งในวันนี้การที่รัสเซียไปแทรกแซงระบบการเงิน มองว่าเป็นการเปลี่ยนขั้วค่อนข้างชัดเจน มีโอกาสสูงที่เงินเปโตรดอลลาร์จะถูกแทนด้วยสกุลอื่น เพราะว่าแรงกกดดันจะเกิดการขาย Arbitrage (อาบิทราจ) ระหว่างทองกับเงินดอลลาร์ค่อนข้างเยอะ ถ้าเงินดอลลาร์แย่ลง เงินเฟ้อในสหรัฐฯ จะสูงขึ้นค่อนข้างมาก เพราะสหรัฐฯ พึ่งพาการนำเข้าของสินค้าอุปโภคบริโภคค่อนข้างเยอะ ถ้าธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ย เศรษฐกิจจะแบกภาระเยอะขึ้น ตรงนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ ถ้าจีนและรัสเซียไม่เพลี่ยงพล้ำ อาจมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจที่ค่อนข้างจะชัดเจนได้

เมื่อมองย้อนกลับมาดูที่ประเทศไทย ไทยนับเป็นประเทศที่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ค่อนข้างดี ในกลุ่มอาเซียน ประเทศจีนค่อนข้างเป็นมิตรที่ดีกับไทย จึงอยู่ที่เราแล้วว่าเราจะสร้างนโยบายอะไรให้ดึงดูดการลงทุนมาที่ประเทศไทย ซึ่งจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยขึ้นมาได้ ต้องเปลี่ยนโควิด-19 ให้เป็นโอกาส ตอนนี้ต้องเริ่มพูดแล้วว่า Post Covid ไทยจะทำอะไร มากกว่าการที่จะมานั่งคิดหาวิธีการแก้โควิด-19 ในภาพรวมมองว่าไทยอยู่ในตำแหน่งที่ดี แต่ถ้าในอีก 1-2 ปี ไทยยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศ หรือมาต่อยอดกับอุตสาหกรรมที่มีอยู่ให้แข็งแรงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในระยะยาว

9. เหตุผลที่ บริษัท EA เลือกทำธุรกิจกับไต้หวัน

เหตุผลที่เลือกไต้หวันเพราะว่าเทคโนโลยีแบตเตอรี่เกิดที่เอเชีย ประเทศที่มีเทคโนโลยีเมื่อ 6 ปีที่แล้วสมัยที่ บริษัท EA เริ่มดำเนินธุรกิจแบตเตอรี่มีเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน นอกจากนี้ไต้หวันยังมีพื้นฐานเศรษฐกิจเป็น OEM[2] Country ไม่ค่อยมีแบรนของตัวเอง อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของไต้หวันจึงมีความสามารถในการแข่งขันน้อยกว่าญี่ปุ่นและเกาหลีจึงมองว่าเราสามารถเข้าเรียนรู้เทคโนโลยีจากไต้หวันมาได้อีกทั้งคนไต้หวันมองคนไทยดี เวลาเราเข้าไปในไต้หวันเขาเลยต้อนรับเราเป็นอย่างดี ในปัจจุบันก็ยังมีการทำวิจัยเรื่องแบตเตอรี่ร่วมกันกับไต้หวัน เวลาจะรับสมัครวิศวกรจากไต้หวันมาไทย คนก็ให้ความสนใจค่อนข้างมาก


[2] Original Equipment Manufacturer (OEM) ลักษณะของโรงงานที่รับผลิตสินค้า

10. บริษัท EA มองการลงทุนในอนาคตอย่างไร อุปสรรคที่ทำให้การลงทุนในประเทศไทยมีอะไรบ้าง และกฎเกณฑ์ในประเทศไทยมีอะไรที่ควรปรับเพื่อที่จะเอื้อต่อการลงทุนของทั้งภาคเอกชนไทยและต่างประเทศ

ต้องเริ่มจากกรอบความคิด (Mindset) ของเราก่อน ตอนนี้เรามองว่าการดึงคนมาลงทุนในประเทศไทยเพื่อให้เข้ามาเป็นฐานการส่งออก (Export base) เพื่อที่จะเป็นการส่งออกไปในประเทศอื่น ๆเรายังมีเป้าหมายที่ไม่ได้จะสร้าง champion products จริง ๆ ที่จะทำให้ประเทศไทยโตขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เพราะในวันนี้สินค้าที่เรามีอยู่ในประเทศมีมูลค่าสูง แต่มูลค่าเพิ่มของสินค้าไม่ได้สูงตาม เพราะฉะนั้นเราต้องตั้งเป้าใหม่ เพื่อต้องการให้มี champion products ในประเทศไทยเกิดขึ้น ผลักดันบริษัทไทยที่มีพื้นฐานที่ดี ซึ่งมีหลายบริษัท ให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นสามารถเติบโตขึ้นมาได้ ใช้อุปสงค์ในประเทศให้เกิดประโยชน์ ยกตัวอย่างจากบริษัท EA ในตอนแรกเราเริ่มทำแบตเตอรี่ ซึ่งไม่เคยคิดว่าการทำแบตเตอรี่จะทำเพื่อเข้ามาทดแทนการนำเข้าของประเทศ แต่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าทำอย่างไรให้วันหนึ่งแบตเตอรี่ของเราสามารถไปสู้กับ บริษัท แอลจีอีเลคทรอนิคส์ (LG) ได้ นอกจากนี้มองว่าภาครัฐกับภาคเอกชนควรประสานเป็นเนื้อเดียวกันเพื่อร่วมมือกันด้านนโยบาย สร้างการร่วมมือกันระหว่างภาคการศึกษาและภาคเอกชน มีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ถึงแม้การดำเนินการช่วงแรก ๆ อาจจะยาก แต่นโยบายของรัฐต้องเปิดโอกาสให้สินค้าของคนไทยได้มีโอกาส ได้ลองทำก่อน ในตอนนี้เราพูดเพียงแต่ว่าอยากให้สินค้าของคนไทยเกิด แต่พอไปดูภาคการจัดซื้อจัดจ้างจะเห็นได้ว่ากฎหมายเหล่านี้กีดกันบริษัทขนาดเล็กที่เขาต้องการโอกาสโดยภาพรวมคงต้องเริ่มที่กรอบแนวคิดก่อน พยายามสร้างนโยบายที่สนับสนุนให้สิ่งเหล่านี้เกิดการพัฒนาร่วมกัน

11. Key Success ของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เป็น Green Economy

ต้องพยายามเริ่มจากสิ่งที่เรามีโดยการพยายามสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าที่เราทำอยู่ให้ได้มากขึ้น เช่น ภาคเกษตรแทนที่จะส่งวัตถุดิบ (Raw Material) ออกไป ก็ส่งเป็นกระบวนณการผลิต (Process Material) ออกไปแทน หรือแม้กระทั้งส่งสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น อย่างบ้านเราที่ทำเกษตรค่อนข้างมากต้องอัพเกรดตัวเองเป็นอุตสาหกรรมออร์แกนิค ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมรถยนต์ การจะเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานมาเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าก็ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์เพื่อที่จะให้เกิดอุตสาหกรรม 3 องค์ประกอบหลัก (แบตเตอรี่ ไดร์ฟเทรน มอเตอร์) ส่วนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยควรปรับจากการเยียวยา ต้องเปลี่ยนแปลง (Transform) ธุรกิจ โดยการใส่นโยบายหรือเป้าหมายเข้าไปอย่างชัดเจน จะทำให้อุตสาหกรรมของไทยมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น การที่จะทำอย่างนี้ได้เราต้องปรับปรุงประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมของเราก่อนไม่เช่นนั้นต้นทุนจะสูงขึ้นตามไปด้วย

12. หากนึกถึงตัวเองในวัย 20 ปี อยากแนะนำคนรุ่นใหม่ในวันนี้เกี่ยวกับชีวิตการทำงานอย่างไร

ช่วงอายุ 20-30 ปี เป็นช่วงการค้นหาตัวตนของตัวเองว่าตนเองชอบและถนัดอะไร การประสบความสำเร็จในชีวิตไม่เพียงแต่เป็นการประสบความสำเร็จในชีวิตในหน้าที่การงานเท่านั้น แต่ต้องรวมกันหลายๆ ด้าน ทั้งด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และการได้ทำงานที่มีความสุขที่ได้ทำ หากเจออะไรใหม่ ๆ ต้องให้โอกาสตัวเองได้เข้าไปทำ ต้องกระตือรือร้นที่จะเข้าไปทำงาน ทุกอย่างที่เราได้ลงมือทำคือประสบการณ์ที่จะมาหล่อหลอมให้เป็นตัวเราขึ้นมา เมื่อถึงจุดหนึ่งเราจะเริ่มรู้แล้วว่าอะไรที่เราทำแล้วมีความสุข อย่างไรก็ตาม วันหนึ่งเมื่อเราพร้อม การไปอยู่ถูกที่ถูกเวลา จะทำให้เรามีโอกาสในการประสบความสำเร็จ

คงขวัญ ศิลา

นางสาวคงขวัญ ศิลา
เศรษฐกรชำนาญการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

บุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์

นางสาวบุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์
เศรษฐกรปฏิบัติการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน