Geopolitics คืออะไร และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจาก Geopolitics จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและภาคธุรกิจอย่างไร

Geopolitics คืออะไร และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจาก Geopolitics จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและภาคธุรกิจอย่างไร

บทความโดย
นายศศิน พริ้งพงษ์[1]


[1] บทความนี้เป็นความเห็นเชิงวิชาการ ไม่อาจสะท้อนความคิดเห็นของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

1. บทนำ

สถานะการณ์ความตึงเครียดทางด้านการเมืองและการสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นทั้งในด้านของภาวะการเงินโลก ภาคเศรษฐกิจจริง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือแม้กระทั่งความเป็นอยู่ของผู้คน ซึ่งก็ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ประชาชนของคู่ประเทศที่มีกรณีพิพาทกันเท่านั้น และด้วยความที่ในยุคปัจจุบัน โลกนั้นมีความเป็น Globalization มากขึ้นเมื่อเทียบกับศตวรรษก่อนหน้า ความเชื่อมโยงของความสัมพันธ์ดังกล่าวย่อมหมายความว่าความตึงเครียดจากมุมนึงของโลกก็อาจจะส่งผลกระทบไปได้ทั่วโลกได้อย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น บทความนี้จะกล่าวถึงความสำคัญของ Geopolitics ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจาก Geopolitics และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจและภาคธุรกิจได้  

แหล่งที่มา: The Conversation.com
แหล่งที่มา: USA Today

2. Geopolitics และ Geopolitical Risk คืออะไร

Geopolitics หรือ ภูมิรัฐศาสตร์ ถูกจำกัดนิยามโดย Overland, 2019 ว่า “รัฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกันระหว่างอำนาจทางการเมือง ทรัพยากรทางเศรษฐกิจ และดินแดนเชิงภูมิศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเขตแดนประเทศ เส้นแบ่งเขตทางน่านน้ำ ที่อาจมีประวัติศาสตร์การเมืองมาอย่างยาวนาน” Geopolitics นั้นเป็นคำที่มีการพูดถึงมาอย่างยาวนาน โดยหากมองย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จะเห็นได้ว่าการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นมักจะเกี่ยวข้องกับ Geopolitics มาตลอด ไม่ว่าจะตั้งแต่ความขัดแย้งในสมัยยุคกรีกโบราณ มาจนถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สอง ยุคสงครามเย็น หรือแม้กระทั่งในความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศในยุคปัจจุบันเอง คำถามที่คนมักให้ความสนใจก็คือ แล้วความผันผวน ความไม่แน่นอน ความตึงเครียดจาก

Geopolitical Risk หรือ ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ นั้น ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง แต่ก่อนที่เราจะไปค้นหาคำตอบนั้น ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับ Geopolitical Risk ก่อนว่ามันคืออะไร

Caldara and Iacovilleo (2019) ได้จำกัดนิยามของ Geopolitical Risk ว่า “ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับภาวะสงคราม การก่อการร้าย และความตึงเครียดระหว่างประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อสันติภาพและความสงบสุขระหว่างประเทศที่เคยมีมา” ซึ่งหากพิจารณาจากผลการศึกษาของ Caldara and Iacoviello (2019) ผู้ที่จัดทำดัชนีชี้วัดระดับความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์[2] ซึ่งก็ได้จำแนกรูปแบบออกเป็นดัชนีที่วัดผลความเสี่ยงจากคำขู่ (Threat) หรือจากมาตรการที่ได้กระทำ (Act) ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากคำขู่ในหลายๆ ครั้ง ก็ส่งผลกระทบว่าการมาตรการที่ได้ดำเนินการกระทำจริงๆ ซะอีก การที่คำขู่ส่งผลกระทบค่อนข้างมาก ก็มาจากการที่ไม่มีใครสามารถทำนายได้ว่าปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวจะคลี่คลายไปในรูปแบบใด้ ในขณะที่มาตรการและการกระทำที่ได้ทำไปแล้ว ถึงแม้ว่าอาจจะส่งผลกระทบในแง่ลบอย่างแท้จริง แต่ก็เป็นการลดความไม่แน่นอนลง นอกจากนี้ หากพิจารณาจากข้อมูล Geopolitical Risk ของ Caldara and Iacovilleo (2019) ในช่วงประมาณ 40 ปีที่ผ่านมาจะพบว่าความตึงเครียดเชิง Geopolitics นั้นมีความถี่ที่เพิ่มบ่อยครั้งขึ้น นับตั้งแต่มีเหตุการณ์การก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 เป็นต้นมา โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าเหตุการณ์ ซึ่งก็สะท้อนได้ว่าความตึงเครียดระหว่างโลกตะวันตกและโลกตะวันออกกลางที่ปรับเพิ่มขึ้นในระยะยาวได้ส่งผลให้ Geopolitics ของโลกโดยรวมนั้นมีความเปราะบางมาตั้งแต่นั้น


[2] ดัชนีวัดระดับความเสี่ยงของภูมิศาสตร์การเมืองโลก มาจากงานวิจัยของ Dario Caldara และ Matteo Iacoviello, 2019 (นักเศรษฐศาสตร์แห่ง U.S. Federal Reserve) โดย Caldara and Iacoviello ทำการวัดระดับความเสี่ยงเหล่านี้จากการค้นหาคำที่เกี่ยวข้อง (keywords) ที่สามารถคลอบคลุมเหตุการณ์ด้านภูมิศาสตร์การเมืองโดยเฉพาะ และนับจำนวนความถี่ของบทความจากหนังสือพิมพ์สำคัญๆ จำนวนกว่า 10 ฉบับ เพื่อมาคำนวณเป็นดัชนีชี้วัด (News-based index)

ที่มา: Caldara and Iacoviello (2019)

ทั้งนี้ เหล่าผู้บริหารของบริษัทชั้นนำของโลกล้วนค่อนข้างมีความเห็นตรงกันว่า Geopolitical Risk นั้นเป็นหนึ่งในความเสี่ยงหลักที่อาจส่งผลในแง่ลบต่อภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจได้ โดยผู้บริหารของบริษัท PriceWaterhouseCoopers มองว่า Geopolitical Risk นั้นเป็นความเสี่ยงลำดับต้นๆของการทำธุรกิจโดยรวมหลังจากเกิดเหตุการณ์ 9/11

3. ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ

ผลการศึกษาเชิงวิชาการ ค่อนข้างมีความเห็นพ้องกันว่า Geopolitical Risk นั้นส่งผลกระทบในแง่ลบต่อภาวะเศรษฐกิจการเงินในภาพรวมอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging market economies) และกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา (Developing economies) มากกว่ากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (Bilson, Brailsford, & Hooper, 2002; Erb, Harvey, & Viskanta, 1996) โดยเฉพาะภาคการเงิน หรือตลาดหุ้นเอง ที่มักได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนดังกล่าวเป็นลำดับแรกๆ (Dimic, Orlov, & Piljak, 2015) เนื่องจากนักลงทุนจะนำเงินลงทุนออกจากสินทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของประเทศที่เผชิญความเสี่ยงไปสู่สินทรัพย์หรือตลาดหลักทรัพย์ของประเทศที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า (Flight to safety)

แหล่งที่มา: Citywire USA

นอกจากนี้ Geopolitical Risk ก็ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงด้วยเช่นกัน โดย Bloom (2009) พบว่ากลุ่มประเทศที่เผชิญกับภาวะความเสี่ยงด้าน Geopolitics จะมีภาวะการบริโภค การจับจ่ายใช้สอย รวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมโดยเฉลี่ยที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ภาวะความเสี่ยงดังกล่าวต่ำ โดยผลการศึกษาของ Arenas (2018) พบว่า Geopolitical Risk นั้นมีความแปรผันตรงข้ามกันกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของโลก (Composite Global Purchasing Manager Index) อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจจาก Shock ของ Geopolitical Risk มักจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2-4 และผลกระทบดังกล่าวก็มีความรุนแรงมากกว่ากับประเทศเกิดใหม่เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2000 – 2007 (ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดความตึงเครียดหลังจากเหตุการณ์ 9/11) Geopolitical Risk ก็เป็นปัจจัยที่อธิบายการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าปัจจัยความผันผวนทางการเงินและภาวะเศรษฐกิจมหภาคเสียอีก

ในขณะเดียวกัน ความเสี่ยงของ Geopolitics ที่สูงขึ้นก็ส่งผลให้การลงทุนของภาคเอกชนโดยรวมปรับตัวลดลง (Jens, 2007: Julio & Yook 2012) ซึ่งในภาวะปัจจุบัน การลงทุนในพลังงานทดแทนก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสำคัญในการตัดสินใจเพื่อการลงทุน ในการนี้ ผลการศึกษาของ Flouros, Pistikou & Vasilios (2022) พบว่าความเสี่ยงจากปัจจัยภูมิศาสตร์การเมืองหรือภูมิรัฐศาสตร์นั้นส่งผลในแง่ลบต่อสัดส่วนการผลิตพลังงานต่อจากแหล่งพลังงานทดแทนของประเทศที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ ภาคการเงินของประเทศที่ได้รับผลกระทบก็มักและมีการปล่อยสินเชื่อให้กู้ยืมในระบบลดลง (Zhou, Huang & Lau, 2020) โดยจากผลการศึกษาของ Demir & Danisman (2021) พบว่า Geopolitical Risk นั้นส่วนผลกระทบในแง่ลบต่อการปล่อยสินเชื่อธนาคาร โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค (Consumer loans) และสินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัย (Mortgate loans) ที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงที่ประเทศมีภาวะความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่สินเชื่อภาคธุรกิจองค์กร (Corporate loans) นั้นกลับไม่ได้รับผลกระทบจาก Geopolitical risk มากนัก

แหล่งที่มา: YinYang Refresh Financial

4. ผลกระทบต่อภาคธุรกิจ

ในขณะเดียวกัน กลุ่มบริษัทหรือภาคธุรกิจที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีความเสี่ยงดังกล่าว หรือแม้กระทั่งมีความเกี่ยวพันกับธุรกิจหรือบริษัทในประเทศที่มีความเสี่ยงก็มักจะได้รับผลกระทบจากความตึงเครียด ไม่ว่าจะมาจากมาตรการของรัฐบาลตนเองหรือรัฐบาลประเทศที่มีกรณีพิพาทด้วยเช่นกัน และในช่วงภาวะความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ก็มักส่งผลให้การค้าขายระหว่างประเทศมีต้นทุนเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดการสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน และส่งผลเชิงลบต่อการตัดสินใจลงทุน การค้าขายของบริษัทโดยรวม (Gupta, Gozgor, Kaya, & Demir, 2019) นอกจากนี้ บริษัทที่ได้รับผลกระทบก็มักจะชะลอการลงทุนลง ตามหลักทฤษฎี Real Option Theory เพื่อดูสถานะการณ์และจะกลับมาลงทุนต่อเมื่อผ่านพ้นช่วงที่ความเสี่ยงสูงไปแล้ว (Bernanke, 1973) นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนทางการเงินในอนาคตมักส่งผลให้บริษัทเก็บเงินลดเพื่อคงสภาพคล่องไว้ให้มากกว่าปกติ (Berkman, Jacobsen, & Lee, 2011; Dai & Zhang, 2019) อนึ่ง บริษัทที่ได้รับผลจากความเสี่ยงทางด้าน Geopolitics ก็มักจะปรับลดโครงสร้างหนี้ลง และลดภาระหนี้สินในระบบลง เมื่อเทียบกับกลุ่มบริษัทที่มีความเสี่ยงทางด้าน Geopolitics ต่ำ (Kotcharin & Maneenop, 2019) ซึ่งปัจจัยที่กล่าวมาล้วนส่งผลในแง่ลบต่อมูลค่าของบริษัทที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ (Pringpong & Maneenop, 2022) โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ในขณะเดียวกัน  ผลการศึกษาของ Fossung, Vasileios & Shahiduzzaman (2021) ที่เปรียบเทียบผลตอบแทนจากการถือหลักทรัพย์ของบริษัทในแต่ละภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ก็พบว่าในระยะสั้น ผลตอบแทนของบริษัทที่อยู่ในภาคเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) ได้รับผลกระทบในแง่ลบมากกว่าภาคอื่นๆ อาทิ ภาคการบริการสื่อสาร (Communication Services) และภาคสินค้าเพื่อการดำรงชีวิต (Consumer Staples) โดยเฉลี่ย แต่เมื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนในระยะยาวแล้ว กลับพบว่าผลตอบแทนจากบริษัทในภาคเทคโนโลยีสารสนเทศ และภาคการบริการสื่อสารกลับให้ผลตอบแทนเป็นบวก ในขณะที่ผลตอบแทนจากบริษัทในภาคสินค้าเพื่อการดำรงชีวิตได้รับผลกระทบในแง่ลบมากกว่า

5. บทสรุป

Geopolitical Risk นั้นเป็นปัจจัยความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมาในโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งแม้ว่าจะมีความเป็นโลกที่ Globalized มากขึ้น แต่ก็มีความเปราะบางด้วย ความตึงเครียดจากมุมนึงของโลกก็อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและภาคธุรกิจของอีกซีกโลกได้ หากว่าประเทศหรือบริษัทนั้นมีความเกี่ยวพันกับความขัดแย้งดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ดังนั้น ผู้ออกแบบนโยบายภาครัฐและผู้บริหารภาคเอกชน จึงควรเข้าใจถึงความเสี่ยงที่ Geopolitics อาจก่อให้เกิดขึ้นได้ และควรมีการศึกษาถึงมาตรการรองรับความเสี่ยงดังกล่าว โดยเฉพาะในกรณีที่ความตึงเครียดดังกล่าวนั้นมีความยืดเยื้อหรือเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและประชาชนด้วยการมีนโยบายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ชัดเจน มาตรการกระตุ้นการบริโภค หรือ การสนับสนุนการให้สินเชื่อภาคที่ได้รับผลกระทบ อาทิ ภาคอุปโภคบริโภค และสินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัย เป็นต้น

บรรณานุกรม

พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม. (2017). ภูมิศาสตร์การเมืองโลก (Geopolitics): อีกหนึ่งความเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม The101.World

Arenas, J. G. (2018). Geopolitical uncertainty and economics: Deep impact? CaixaBank Research, March 2018

Berkman, H., Jacobsen, B., and Lee, J. B. (2011). Time-varying rare disaster risk and stock returns. Journal of Financial Economics, 101(2), 313-332.

Bernanke, B. S. (1983). Irreversibility, Uncertainty, and Cyclical Investment. The Quarterly Journal of Economics, 98(1), 85-106. doi:10.2307/1885568

Bilson, C. M., Brailsford, T. J., and Hooper, V. C. (2002). The explanatory power of political risk in emerging markets. International Review of Financial Analysis, 11 (1), 1-27. doi:https://doi.org/10.1016/S1057-5219(01)00067-9

Bloom. (2009). The impact of uncertainty shocks. econometrica, 77 (3), 623-685.

Caldara, D., and Iacoviello, M. (2019). Measuring Geopolitical Risk. working paper, Board of Governors of the Federal Reserve Board,, December 2019.

Dai, L., and Zhang, B. (2019). Political uncertainty and finance: a survey. AsiaPacific Journal of Financial Studies, 48 (3), 307-333.

Dimic, N., Orlov, V., and Piljak, V. (2015). The political risk factor in emerging, frontier, and developed stock markets. Finance Research Letters, 15, 239-245. 

Demir, E., and Danisman, G. O. (2021), The impact of economic uncertainty and geopolitical risks on bank credit, The North American Journal of Economics and Finance, 57

Erb, C. B., Harvey, C. R., and Viskanta, T. E. (1996). Political risk, economic risk, and financial risk. Financial Analysts Journal, 52 (6), 29-46.

Flouros, F., Pistikou, V., and Plakandaras, V. (2022) Geopolitical Risk as a Determinant of Renewable Energy Investments. Energies, 15, 1498.
https://doi.org/10.3390/ en15041498

Fossung, G. A., Vasileios C. V., and A. M. M. Shahiduzzaman Q., (2021). Impact of Geopolitical Risk on the Information Technology, Communication Services and Consumer Staples Sectors of the S&P 500 Index. Journal of Risk and Financial Management, 14: 552

Gupta, R., Gozgor, G., Kaya, H., and Demir, E. (2019). Effects of geopolitical risks on trade flows: evidence from the gravity model. Eurasian Economic Review, 9 (4), 515-530.

Jens, C. E. (2017). Political uncertainty and investment: Causal evidence from
US gubernatorial elections. Journal of Financial Economics, 124 (3), 563-579.

Julio, B., and Yook, Y. (2012). Political Uncertainty and Corporate Investment Cycles. The Journal of Finance, 67 (1), 45-83. doi:10.1111/j.1540-6261.2011.01707.x

Kotcharin, S., and Maneenop, S. (2020b). Geopolitical risk and shipping firms’ capital structure decisions in Belt and Road Initiative countries. International Journal of Logistics Research and Applications, 1-17.

Overland, I. (2019). The geopolitics of renewable energy: Debunking four emerging myths. Energy Research & Social Science, 49, 36-40. doi:https://doi.org/10.1016/j.erss.2018.10.018

Pringpong, S., & Maneenop, S. (2022). Geopolitical Risk and Firm Value: Evidence from Emerging Markets. working paper, March 2022

Zhou, L., Gozgor, G., Huang, M., and Lau, M. C. K. (2020). The Impact of Geopolitical Risks on Financial Development: Evidence from Emerging Markets. Journal of Competitiveness, 12 (1), 93.

ศศิน พริ้งพงษ์

นายศศิน พริ้งพงษ์
เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ
สำนักนโยบายภาษี
ผู้เขียน