สวัสดีค่ะ ท่านสมาชิกวารสารการเงินการคลังและท่านผู้อ่านทุกท่าน
การจัดทำวารสารการเงินการคลังฉบับนี้ นับเป็นการทำงานบนความท้าทายของพวกเราทีมงานวารสารการเงินการคลัง เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย โดยพวกเราทีมงานหลายคนจำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน จากเดิมที่เดินทางมาทำงานปกติทุกวัน ก็เปลี่ยนเป็นทำงานจากที่บ้านสลับกับการทำงานในที่ทำงานเป็นบางวัน เพื่อลดความเสี่ยงในการรับและแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ พวกเราทีมงานหลายคน ยังได้รับมอบหมายให้ไปทำหน้าที่ช่วยเหลือและตอบคำถามแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคไวรัสโควิด-19 และมาขอรับความช่วยเหลือจากกระทรวงการคลัง ซึ่งพวกเราทีมงานทุกคนก็ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ในการจัดทำวารสารการเงินการคลัง ฉบับที่ 103 นี้ และยังคงปฏิบัติงานในทุกหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมิให้ขาดตกบกพร่อง รวมถึงการผลิต การคัดสรร และการตรวจแก้ถ้อยคำในทุกบทความอย่างพิถีพิถัน เพื่อนำวารสารการเงินการคลังสามารถสู่มือท่านสมาชิกวารสารการเงินการคลังและท่านผู้อ่านทุกท่านให้จงได้
สำหรับในช่วงนี้ ดิฉันเชื่อว่าพวกเราหลายคนสามารถปรับและบาลานซ์การใช้ชีวิตได้ดีขึ้นตามสภาวะ ความปกติใหม่ (New Normal) ทุกคนจำเป็นต้องใส่หน้ากากและพกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายพิเศษที่เพิ่มขึ้นจากการหาซื้อหน้ากากและแอลกอฮอล์ ในขณะที่หลายๆ คน ครอบครัวมีรายได้ครัวเรือนที่ลดลง จากการที่สมาชิกในครอบครัวอาจถูกลดเงินเดือน อาจถูกให้ออกจากงาน
หรือธุรกิจอาจมีรายรับที่ลดลง
สิ่งหนึ่งที่ชวนให้เราต้องคิดและคำนึงถึงในยามที่เราต้องปรับตัวเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันในช่วงโรคระบาด ไม่ใช่แค่เพียงการสร้างภูมิคุ้มกันทางร่างกาย แต่จำเป็นที่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ และทางการเงินโดยเฉพาะการวางแผนทางการเงินที่ดี จะเป็นภูมิคุ้มกันให้กับคนไทยสามารถมีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายและมีเงินเหลือใช้ในยามฉุกเฉิน หากพิจารณาตัวชี้วัดหนึ่งของสุขภาพทางการเงินของคนไทย จะเห็นว่า ข้อมูลตัวเลขหนี้ครัวเรือนของธนาคารแห่งประเทศไทยในไตรมาส 1/2563 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 80.1% ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/2562 (79.4 % ต่อ GDP) การตระหนักรู้ในเรื่องความรู้ทางการเงินจะทำให้คนไทยสามารถบริหารจัดการการเงินได้อย่างเป็นระบบและแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้
ในโอกาสนี้ ดิฉันจึงขอเชิญชวนท่านสมาชิกวารสารการเงินการคลังและท่านผู้อ่านทุกท่าน มาสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองด้วยการรักษาวินัยทางการเงิน และเติมเต็มความรู้ทางการเงิน โดยวารสารการเงินการคลังจะมุ่งเป็นสื่อกลางในการส่งผ่านเนื้อหาความรู้ทางการเงินที่เป็นประโยชน์ ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกคนได้เตรียมพร้อมสำหรับการเผชิญกับวิกฤติต่างๆ ตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า คือ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เพราะในยามวิกฤติคนที่เราสามารถพึ่งพาได้มากที่สุดคือ ตัวเราเองค่ะขอบคุณค่ะ
ดร.ปภาภรณ์ ชุณหชัชราชัย
บรรณาธิการ วารสารการเงินการคลัง (FPO Journal)