4P การตลาด วิถีพุทธ กับการหลุดพ้นกับดักทางการเงิน

4P การตลาด วิถีพุทธ กับการหลุดพ้นกับดักทางการเงิน

บทความโดย
วิทยา เอกวิรุฬห์พร

สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นต้องมีวันดับไป เหตุเพราะความไม่เที่ยงของทุกสิ่งในโลกนี้ และหากเรายังไม่อาจหลุดพ้นจากวัฏสงสารนี้ นั่นหมายถึงว่า เราก็ไม่อาจหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ จนเป็นที่มาของกฎไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กฎไตรลักษณ์ตามวิถีพุทธที่มีเพื่อความหลุดพ้นและหนทางสู่นิพพาน

อนิจจัง ความไม่เที่ยง

ที่เรามักมองข้ามเพราะเราอยู่กับสิ่งนั้นจนคุ้นเคย จนกลายร่างเป็นความเสี่ยงของฐานะทางการเงิน เพราะรายรับของคุณมีขึ้นมีลง ได้มาหมดไป มีทุกข์มีสุขก็ชั่วครั้งชั่วคราว เพราะสรรพสิ่งมีคุณลักษณะของมันที่เกิดขึ้นแล้วก็ย่อมสูญสลายไปในวันหนึ่ง คุณไม่สามารถเลือกให้เป็นอย่างที่ต้องการได้ หรือแม้แต่จะเลือกได้ คุณก็ไม่สามารถบอกได้ว่า “อย่าเลย อย่าบอกให้ฉันเลือกเลย….. อยากเก็บเธอไว้ทั้งสองคน”

ทุกขัง ความเป็นทุกข์

ทุกข์ที่เจ้านายไม่รักไม่สนับสนุน ทุกข์ที่ไม่มีเงินออมเงินเก็บ ทุกข์ที่ทุกสิ่งไม่ได้เป็นดังใจฝัน มรรค 8 คือสิ่งที่นำไปสู่หนทางดับทุกข์ นั่นคือความสุขนั่นเอง จงตั้งคำถามว่าเราได้บริหารจัดการกับความทุกข์นี้แล้วหรือยัง

อนัตตา ความไม่มีอยู่จริง

ทุกสิ่งอย่างที่เห็นอยู่ ที่เป็นอยู่ ไม่มีตัวตน สิ่งที่เห็นเป็นเพียงภาพลวงที่กำลังทำให้เราหลง คิดว่าเราควบคุมได้ แต่สุดท้ายแล้วก็ยังไม่มีผู้ใดกำหนดสิ่งเหล่านั้นตามใจต้องการได้เพราะเป็นอนัตตาเท่านั้นจึงก่อให้เกิดความไม่เที่ยง

COVID-19 เป็นเหตุการณ์ที่เปรียบเสมือนฟ้าที่ผ่าลงมาจนทำให้กระจ่างแจ้งถึงกฎข้อนี้ได้อย่างชัดเจน ทำให้เราได้เห็น และตระหนักถึงกฎข้อนี้ได้อย่างลึกซึ้ง เช่น ร้านอาหารที่เคยมีคนมากมายในห้างสรรพสินค้าก็ต้องปิดตัวไม่ว่าจะชั่วคราวหรือถาวร คนขับรถแท็กซี่ต้องเปลี่ยนจากขนถ่ายคนมาเป็นขนถ่ายของ ตอนนี้เห็นว่าโรงแรมส่งพนักงานออกให้บริการทำความสะอาดบ้านด้วยมาตรฐานการทำความสะอาดโรงแรมเพื่อแก้วิกฤติสภาพคล่องและสร้างงาน เช่นนี้เราจึงเห็นได้ว่า คำสอนทางพุทธศาสนาเกี่ยวกับการทำมรณานุสติ หรือการเตรียมสติและปัญญาให้พร้อมต่อการดับสูญอยู่เสมอนั้น จะทำให้การเปลี่ยนแปลงหรือดับสูญไป ไม่ใช่เรื่องไกลตัวและไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว หากเรานำมาใช้ในการดำรงชีพลดละเลิกความเอาแต่ใจ รักสนุก ทำอะไรตามใจของตัวเองเพราะความอยากให้เป็นอย่างนั้น หรือไม่ต้องการให้เป็นอย่างนี้ ด้วยเป็นการวางแผนและเตรียมพร้อมตามหลักธรรมที่แท้จริงคือ อริยสัจ 4 ย่อมทำให้เราผ่านพ้นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะโดยคาดคิดหรือไม่คาดคิดได้อย่างแน่นอน นี่คือที่มาของแนวคิดของการประยุกต์หลักธรรมเข้ากับวิถีชีวิตของฆราวาสที่ยังต้องวนเวียนอยู่ในวังวนของการหาเลี้ยงตนดำรงชีพ ไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักทางการเงินนี้ได้เสียที

เรารู้จัก 4P Marketing[1] กันแล้ว แต่คราวนี้ขอบัญญัติ 4P เพื่ออิสรภาพทางการเงินส่วนบุคคลเพื่อให้เข้าใจและเข้าถึงผนวกเข้ากับหลักธรรมอริยสัจ 4 ซึ่งประกอบด้วย

อริยสัจ 44Pวัตถุประสงค์
ทุกข์Predictingสดับรู้ถึงความเดือดร้อน
สมุทัยPreparingค้นหาเหตุแห่งความเดือดร้อน
นิโรธPromptingเตรียมพร้อมต่อความเดือดร้อนได้อย่างทันท่วงที
มรรคPost-managingหาหนทางที่ทำให้พ้น
ความเดือดร้อนอย่างถาวร

[1] ปัจจัยที่ควรคำนึงถึงในการทำการตลาด ได้แก่ สินค้า (Product) ราคา (Price) สถานที่ (Place) และกิจกรรมสนับสนุน (Promotion)

P1 – Predicting (สดับรู้ถึงความเดือดร้อน – ทุกข์)

อิสรภาพทางการเงินในอนาคตจะเกิดขึ้นได้ด้วยการคาดการณ์ว่าเหตุใดที่ยังต้องทำงานทุกวัน หาเช้ากินค่ำ หรือหาเดือนชนเดือน โดยไม่มีคงเหลือ และเกิดผลกระทบอย่างไรบ้างต่อการดำรงชีพของตน นั่นคือการค้นหาเหตุแห่งทุกข์ในทางธรรมนั่นเอง  ฉะนั้นในการพิเคราะห์เหตุนั้นจำต้องมองเหตุการณ์ทั้ง 2 ด้านเพราะขนาดเหรียญก็ยังมีสองด้าน เช่น เจ้าของธุรกิจที่กำลังฝันหวานกับธุรกิจที่กำลังเติบโตอย่างไม่คาดฝัน แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากมีเหตุปัจจัยใดที่เป็นอนัตตาเข้ามากระทบหากมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายๆ โรคระบาด COVID-19  อีก หรือชีวิตแม่บ้าน พ่อบ้าน ในชีวิตคู่ที่สภาพความหวานชื่นของชีวิตอาจจะสั่นคลอนเพราะมีมือที่สาม แล้วถ้าเตียงหักคุณจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร ในเมื่อที่ผ่านมาคุณอยู่ด้วยเงินที่แฟนส่งให้ทุกเดือน หรือมนุษย์เงินเดือน หากพรุ่งนี้ถ้าเดินเข้ามาที่โต๊ะทำงานแล้วเจอซองจดหมายบอกรักจากเจ้านายที่เป็นห่วงเป็นใยในสุขภาพของคุณให้คุณได้พักได้ผ่อนอยู่บ้านตลอดไปคุณจะทำอย่างไร ฯลฯ

ในเชิงการบริหารการเงินในขั้นต้นนี้คือ เกือบทุกคนเริ่มต้นด้วย การเริ่มทำงานที่ใช้ทรัพย์สิน หรือแรงงานของตนเข้าแลก (Active Income) และตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก แต่น้อยคนที่จะกำหนดเป้าหมายของอิสรภาพของตนเองให้ชัดเจนจึงมักเป็นเหตุให้อยู่ในวัฏสงสาร

แม้จะเริ่มต้นจากจุดนี้ ก็จง “อย่า หยุด” อย่ายอมรับได้กับวัฏสงสารนี้ แต่ขอให้เตรียมแผนต่อไปจากเป้าหมายของอิสรภาพที่วาดไว้ เมื่อเราลองวาดแล้วเราจะเริ่มพบว่า ทุกข์ที่พบอยู่นั้นเกิดจากอะไรได้บ้าง และเราจะเริ่มค้นหาทางออก

P2 – Preparing (สมุทัย ค้นหาเหตุแห่งความเดือดร้อนนั้น)

อิสรภาพทางการเงินจะเกิดขึ้นเมื่อคุณได้บริหารจัดการความอนิจจังหรือความไม่เที่ยงด้วยการจัดทำแผนสำรอง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง แผนสำรองในที่นี้ต้องมีทั้งแผนระยะสั้นและแผนระยะยาว

แผนระยะสั้นมีไว้เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันที่เกิดขึ้น เช่น การมีงานเสริมรายได้ในช่วงหลังเลิกงาน การมีแผนการดำรงชีวิตที่เป็นระบบแม้จะไม่เป็นระเบียบ การสร้างวงเงินสำรองใช้ยามฉุกเฉิน การมีผลิตภัณฑ์หรือสินค้า (Product) สำรองยามธุรกิจหลักไม่เป็นไปตามแผน หรือมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือสินค้าหลัก (Core Product) อย่างสม่ำเสมอ และการพัฒนาศักยภาพความสามารถต่างๆ ในการทำงาน (Upskill) เป็นต้น

สำหรับแผนระยะยาวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวคือยามแก่ตัวไป เช่น การสร้างวิสัยทัศน์ (Vision) และเป้าหมาย (Mission) ในตนเอง การวางแผนกลยุทธ์ การสร้างและเก็บออมเพื่อใช้เงินทำงานเป็น Passive Income การวางเป้าหมายในอนาคตของธุรกิจที่กำลังดูแลอยู่ หรือการสร้างช่องทางการขายสินค้าสำรองไว้แม้จะยังไม่ใช่ช่องทางหลักของธุรกิจ การพัฒนาความรู้ของตนอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงทักษะ (Reskill) ให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง ฯลฯ สโลแกนว่าเป้าหมายมีไว้ให้พุ่งชนเป็นความจริงเสมอ แต่อย่าลืมว่าแผนของคนอื่นอาจไม่ใช่แผนของเรา ไม่มีสูตรสำเร็จที่ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ตามแบบที่สารพัด Coach กำลังบอกคุณ และแผนต้องมีการทบทวนอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ทันต่ออนัตตา (ความไม่มีตัวตนของสิ่งที่เห็นอยู่)

ในเชิงของการบริหารการเงินคือการเริ่มสร้างทางเลือก และสร้าง Passive Income ควรต้องเริ่มแบ่งเวลาไปสร้างทางเลือกเหล่านั้น เช่น การสร้างทรัพย์สินต่างๆ เพื่อให้เกิดรายรับขึ้นมาอีกทางจากเงินออมที่ได้จากการทำงาน หากไม่มีเงินออม ก็ให้ย้อนกลับไปข้อแรกค้นหาเหตุแห่งการไม่มีเงินออม หลายคนก็จะบอกไม่มีเวลา ก็ให้ย้อนกลับไปที่ข้อแรกว่าเหตุแห่งทุกข์ของการไม่มีเวลานั่นคืออะไร เครื่องมือทางการเงินที่จะช่วยให้เราบรรลุขั้นตอนนี้ได้คือการทำงบการเงินส่วนบุคคล มีสินทรัพย์ มีหนี้สิน มีรายรับ และมีรายจ่ายอะไรบ้าง

P3 – Prompting (ทำตนให้พร้อมต่อความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที – นิโรธ)

คุณต้องพร้อมด้วยการ “ซักซ้อม” ตามแผน P2 เพื่อให้พร้อมรับมือกับเหตุการณ์จริงโดยไม่ตื่นตระหนก และทันท่วงที แปลง่ายๆ การซักซ้อมทำตามแผนที่เตรียมเพื่อให้พร้อมและรับมือได้ทันทีกับการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นการปฏิบัติให้เป็นนิจศีลอย่างมีวินัยจึงเป็นเป้าหมาย เช่น แม่บ้านพ่อบ้านก็ลองเที่ยวแต่พอตัว ซื้อแต่พอใช้ มนุษย์เงินเดือนใช้บัตรเครดิตที่มีแต่พองาม เจ้าของธุรกิจสร้างและดำเนินธุรกิจตามกำลังที่มี กำหนดเป้าหมายให้ต่ำเท่าที่เอื้อมถึง ไม่ใช่วาดแผนสวยหรูด้วยการสร้างวิมาน แต่ต้องดำเนินชีวิตอยู่บนความทุกข์ กล่าวคือ ก้าวเดินด้วยทำนองการเติบโตแบบมั่นคง

ฉะนั้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง ภาวะทุกข์ในจิตใจและร่างกายจะถูกดับไปได้โดยง่าย เช่นเมื่อวันที่พ่อบ้านแม่บ้านได้รับข่าวจากคนรักว่า แยกย้ายกันเถอะ คุณก็ยังคงมีงานที่ใจรักที่ได้ทำเสริมเอาไว้พอเลี้ยงชีพโดยไม่กระเทือนต่อแผนระยะยาวที่กำหนดไว้ใน P2 หรือหากธุรกิจที่รักโดนแรงกดดันจากคู่แข่งหรือสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวินาที แต่เชื่อว่ายังคงเดินหน้าต่อไปได้เพราะ P2 ที่วางแผนไว้ พร้อมกับการวางระบบการควบคุมภายในเพื่อพยายามควบคุมความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ให้มีผลกระทบต่อธุรกิจให้น้อยที่สุด ส่วนมนุษย์เงินเดือนก็พัฒนาตนเองเพื่อให้ตนนั้นเป็นที่ต้องการอยู่เสมอ อย่างน้อยก็ไม่ใช่ตัวเลือกแรกในการให้ออก มิเช่นนั้นก็คงวนย้อนกลับไปที่ข้อแรก เพราะไม่ได้ทำ P2 และ P3  การจะมีอิสรภาพทางการเงินตามข้อนี้ เกิดขึ้นได้เมื่อคุณใช้ชีวิตตามกรอบแผน แต่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่แต่ในกรอบ

ในเชิงของการบริหารการเงิน คือ การทำตามแผนในข้อ 2 อย่างเคร่งครัดนั่นเอง เพื่อทำให้ Passive Income มีเพียงพอ หรือมากกว่าค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน และอาจเหลือเพียงพอในการลงทุนต่อ เพราะนั่นหมายถึงหากมีความทุกข์ที่ได้คาดการณ์ไว้เกิดขึ้นจริงคุณก็ยังสามารถเดินหน้าแผนความพร้อมต่อการรับทุกข์ในข้อ 2 ต่อไป จนไม่ทำให้การปฏิบัติในข้อ 3 สะดุดลง ไม่ว่าในมุมของเจ้าของธุรกิจ พ่อบ้านแม่บ้าน หรือมนุษย์เงินเดือนที่ไม่จำเป็นต้องทำงานประจำ เพราะรายได้จากการซักซ้อมตามแผนเตรียมความพร้อมในข้อนี้มีเพียงพอต่อการใช้ชีวิตของคุณแล้ว

P4 – Post managing (คือการหาหนทางที่ทำให้พ้นความเดือดร้อนอย่างถาวร = มรรค)

การจัดการหลังการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้กลับเข้าสู่สภาวะปรกติอย่างรวดเร็ว อิสรภาพทางการเงินตามแผนจะยังมั่นคงต่อไปด้วยการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ การไม่ระทมอยู่กับความทุกข์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามอนัตตาของชีวิตด้วยการดื่มน้ำข้าวหมัก สูบใบยาอบแห้งโดยอ้างกับตัวเองว่านั่นคือหนทางของการดับทุกข์ (จอมปลอม) การสร้างทางเลือกหรือโอกาสใหม่ๆ ด้วยการกลับไปทำ P1 จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เพื่อทบทวนแผน P2 เพื่อรองรับอนัตตาที่จะวนกลับมาเกิดอีกครั้ง เพราะเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป P2 ที่เตรียมการไว้อาจจะไม่เหมาะสมต่อไป ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนตอนนี้คือ “Digital Disruption”

หันมาดูในเชิงของการบริหารการเงิน คือ การทำให้ Passive Income หรือช่องทางทางเลือกที่ได้วางไว้ที่กลายไปเป็นช่องทางหลักนั้น ทำอย่างไรให้เกิดรายรับมากกว่า หรือเท่ากับช่องทางหลักที่ใช้ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤติ นั่นแปลว่า เราจะยังสามารถใช้ชีวิตตามวิถีเดิมที่เคยเป็น อย่างไรก็ดี เพื่อหลุดพ้นได้อย่างแท้จริง ก็ต้องย้อนกลับไปดูเป้าหมายของชีวิตที่วางไว้ตั้งแต่ข้อแรก ว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ “เพียงพอตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้วหรือยัง” มีชีวิตแบบที่ฝัน พร้อมกับกุศลที่จะได้ช่วยเหลือผู้อื่นที่ด้อยกว่า

จะเห็นได้ว่า “สัจธรรม การเวียนว่ายตายเกิดในวงจร 4P” นี้ยังคงมีอยู่ตลอดเวลา การบริหารจัดการ 4P จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเป็นไปตามแก่นธรรมที่สอนให้เราตั้งมั่นอยู่บนความไม่ประมาทนั่นเอง ส่วนเราเลือกที่จะวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารนี้ หรือจะหลุดพ้น ได้อิสระ ก็สุดแต่บุญกรรมของแต่ละคน  COVID-19 ครั้งนี้ น่าจะทำให้เราหันกลับมาให้ความสำคัญกับการวางแผนทางการเงินอย่างระมัดระวังและมีสติอยู่ตลอดเวลา เพื่อหลุดพ้นจากวัฏสงสารนี้อย่างยั่งยืน

วิทยา เอกวิรุฬห์พร
CPA Thailand
Investment Consultant Single License
อาจารย์ประจำสาขาบัญชี มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้เขียน