5 คำทำนายเศรษฐกิจในปี 2020

5 คำทำนายเศรษฐกิจในปี 2020

บทความโดย ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ความไม่แน่นอนคือสิ่งที่แน่นอน ตรรกะแห่งพุทธพจน์เป็นจริงเสมอ เพราะใดใดในโลกล้วนไม่จีรัง เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุและปัจจัยต่างๆ

เฉกเช่นเดียวกับคำทำนายต่างๆ ที่บางครั้งก็ทำให้สิ่งที่ทำนายเป็นจริงเนื่องจากความเชื่อของผู้ที่ถูกทำนาย (Self-fulfilling Prophecy) และทำตามคำทำนายนั้น แต่บางครั้งคำทำนาย ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้อนาคตไม่เป็นจริงดั่งทำนาย เนื่องจากผู้ฟังคำทำนายพยายามป้องกันเหตุร้ายที่จะทำให้คำทำนายนั้นเป็นจริง

ในปี 2020 คำทำนายที่มีชื่อเสียงที่สุดเป็นของ Nouriel Roubini นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ที่ทำนายว่าปี 2020 เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม บทความนี้ไม่เห็นด้วยกับคำทำนายดังกล่าว และขอฉายภาพคำทำนาย 5 ประการที่จะเกิดขึ้นในปี 2020 ดังนี้

1. เศรษฐกิจโลกจะแย่ลง แต่จะไม่เกิดวิกฤตในปีหน้า

ในปี 2019 เศรษฐกิจโลกแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด เห็นได้จาก IMF (International Monetary Fund) ที่ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกลงทุกครั้งที่ประกาศ จนล่าสุดให้ที่ 3.0% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี อันเป็นผลทั้งจากนโยบายการเงินโลกที่ตึงตัวในปีก่อนๆ สงครามการค้าที่รุนแรงต่อเนื่องและทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการทำธุรกิจ และการผลิตที่มากเกินกว่าความต้องการทั่วโลก

ในปี 2020 เศรษฐกิจโลกจะยังชะลอตัวลง จากปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น สังคมสูงวัยและหนี้ทั่วโลก กดดันไม่ให้ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นมากนัก ขณะที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และความไม่แน่นอนด้านการเมืองที่มากขึ้นทั่วโลก จะทำให้ความไม่แน่นอนด้านการค้าและการลงทุนยังคงอยู่

แต่เศรษฐกิจโลกไม่น่าจะเกิดวิกฤต อันเนื่องมาจากเหตุผล 5 ประการ คือ

  1. นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก ทั้งการลดดอกเบี้ยของธนาคารประเทศตลาดเกิดใหม่ และการอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการซื้อสินทรัพย์ของธนาคารกลางประเทศพัฒนาแล้ว จะช่วยทำให้ความตึงตัวด้านการเงินบรรเทาลง (ซึ่งสาเหตสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ (Federal Reserve Bank : Fed) ผ่อนคลายนโยบายการเงิน ก็เพราะความกังวลที่จะเกิดวิกฤตในปีหน้าอันเนื่องมาจากคำทำนายต่างๆ นั่นเอง)
  2. นโยบายการคลังที่กลับมาผ่อนคลายอีกครั้ง ในหลายประเทศ เช่น จีน ไทย เกาหลีใต้ และรัสเซีย ขณะที่มีความเป็นไปได้ที่ประเทศในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี หรือแม้แต่เยอรมนีจะเริ่มผ่อนคลายนโยบายการคลังมากขึ้น
  3. ภาคการผลิตที่เริ่มหันกลับมาผลิตอีกครั้ง หลังจากการชะลอการผลิตจากสินค้าคงคลังที่ล้นเกิน โดยในช่วงที่ผ่านมา ผู้ผลิตไม่ทำการผลิตแต่เร่งระบายสต๊อกสินค้า ขณะที่ในปัจจุบัน เริ่มเห็นการฟื้นตัวขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่ เมื่อเทียบกับสินค้าคงคลัง ขณะที่ในไทยเองนั้น เห็นได้ชัดถึงการลดทอนของสต๊อกของสินค้าหลายชนิด เช่น คอมพิวเตอร์ นาฬิกา เครื่องมือเครื่องจักร และยานยนต์ บ่งชี้ว่าภาคการผลิตอาจกลับฟื้นขึ้นได้บ้างเช่นเดียวกับปี 2017
  4. ตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่งทั่วโลก จากการว่างงานที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในหลายประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความไม่แน่นอนด้านแนวโน้มเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการจึงไม่ลงทุนเพิ่ม แต่เพิ่มการจ้างงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตแทน ทำให้แรงงานยังได้รับค่าจ้างจึงยังพอที่จะคงระดับการบริโภคอยู่ได้ และ
  5. ในปัจจุบัน ยังไม่เกิดภาวะฟองสบู่ที่รุนแรงพอที่จะทำให้เกิดฟองสบู่แตกและเกิดวิกฤตได้ โดยแม้ว่า IMF จะกังวลฟองสบู่ในตลาดพันธบัตรและหุ้นกู้ ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) สหรัฐฯ จะกังวลในระดับการกู้ยืมของภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากดอกเบี้ยต่ำ แต่ระดับความเสี่ยงยังไม่รุนแรงเท่าช่วงก่อนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ดังนั้น จึงยังไม่น่าจะแตกรุนแรงเท่าในครั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจโลกจะยังไม่เกิดวิกฤตในปีหน้า แต่ก็จะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่นๆ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป จีน รวมถึงไทยนั้นจะขยายตัวต่ำกว่าที่ IMF ได้ประเมินไว้

2. การเมืองสหรัฐฯ จะดุเดือดเลือดพล่าน แต่ทรัมพ์จะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง

ในปี 2020 จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่สอง แต่พรรค Democrat ยังไม่ได้เลือกผู้แทนพรรคขึ้นชิงตำแหน่งกับประธานาธิบดีทรัมพ์ของ Republican

ในการเลือกตั้งกลางเทอมแทบทุกครั้ง การแพ้ชนะขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจ โดยทุกครั้งที่การเลือกตั้งกลางเทอมแล้วเศรษฐกิจดี ประธานาธิบดีที่อยู่ในตำแหน่งจะชนะแทบทุกครั้ง ซึ่งในปี 2020 แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะแผ่วลง แต่ก็ยังไม่เกิดวิกฤต ขณะที่การว่างงานแม้เพิ่มขึ้นบ้างแต่ยังต่ำมากเมื่อเทียบกับในอดีต ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้ทรัมพ์ยังชนะการเลือกตั้ง บนสมมุติฐานว่าสงครามการค้าไม่รุนแรงไปกว่านี้มากนัก

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้จะสูสีมาก โดยทรัมพ์จะชนะเลือกตั้งตามระบบ Electoral vote แต่จะแพ้ Popular vote เช่นเดียวกับครั้งที่แล้ว สาเหตุที่การเลือกตั้งครั้งนี้ยากมากขึ้นสำหรับทรัมพ์เป็นเพราะว่าสงครามการค้าที่เขาสร้างขึ้นนั้นกระทบต่อรัฐที่เป็นฐานเสียงอันได้แก่รัฐอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม แต่การหาเสียงอย่างดุเดือด สาดโคลนคู่แข่ง รวมถึงการที่ทรัมพ์สามารถ “จุดติด” กระแสที่ทำให้คนสหรัฐเกลียดชังจีน จะทำให้เขาได้รับการเลือกตั้งในที่สุด โดยรัฐที่จะสูสีคือรัฐที่เป็นสมรภูมิการเลือกตั้งครั้งที่แล้วอย่างมิชิแกน ฟลอลิดา เพนซิวาเนียและวิสคอนซิน

3. ผลตอบแทนการลงทุนโลกจะพอไปได้ในปี 2020 (อย่างน้อยในไตรมาสแรก)

ในการคาดการณ์สิ่งต่างๆ การทำนายผลตอบแทนของตลาดการเงินยากที่สุด และส่วนใหญ่จะผิด เพราะในทฤษฎีเบื้องต้นด้านการเงิน กล่าวว่า ราคาของสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ สะท้อนถึงทุกข้อมูลรวมถึงการคาดการณ์ผลของปัจจัยต่างๆ ต่อสินทรัพย์ทางการเงินไว้แล้ว กล่าวอย่างง่ายคือ ผู้ทำนายจะต้องทำนายคำทำนายของเหตุการณ์ต่างๆ ให้ถูกต้อง และมองเหนือขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งว่า ตลาดจะตอบสนองต่อผลของเหตุการณ์ต่างๆ อย่างไร ซึ่งยากยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ในปี 2020 จะเป็นปีที่การลงทุนยังพอไปได้ดี (Moderate Risk-on) อย่างน้อยในไตรมาสแรก โดย (1) ผลตอบแทนตลาดหุ้นโดยรวมจะยังเป็นบวก (2) ดอลลาร์จะอ่อนค่าลงบ้าง (ซึ่งแปลว่าสกุลอื่นจะแข็งค่าขึ้นโดยเปรียบเทียบ) และ (3) ผลตอบแทนพันธบัตรจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่จะไม่ปรับขึ้นหรือลงจากระดับปัจจุบัน
มากนัก (ยกเว้นระยะสั้นมากที่จะปรับลงตามดอกเบี้ยนโยบาย) จาก 3 ปัจจัย

  1. สภาพคล่องทั่วโลกที่ยังสูงมาก และจะปรับเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยในไตรมาสแรก จากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QE) ของธนาคารกลางชั้นนำ เช่น สหรัฐฯ (Fed) ยุโรป (European Central Bank: ECB) และญี่ปุ่น (Bank of Japan : BoJ) โดยการที่ทั้ง Fed และ ECB ประกาศทำ QE อีกครั้ง (โดย Fed ทำถึงไตรมาสแรก) ขณะที่ BoJ ก็ยังทำอยู่ต่อเนื่อง จะเพิ่มสภาพคล่องโลกและเป็นผลบวกต่อสินทรัพย์ทางการเงินโลก โดยสถิติบ่งชี้ว่า เมื่อธนาคารกลางชั้นนำเพิ่มขนาดของงบดุล (บ่งชี้ถึงการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มขึ้น) 68% ในช่วงปี 2013-18 ดัชนีหุ้นทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ก็จะปรับเพิ่มขึ้นในระดับเดียวกัน
  2. ทางการจะมีมาตรการผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยธนาคารกลางต่างๆ โดยเฉพาะ Fed จะผ่อนคลายต่อเนื่อง (และมากกว่าที่ตลาดคาด) รวมถึงมีโอกาสที่รัฐบาลทั่วโลกจะกระตุ้นการคลังมากขึ้น จากการบริโภค (โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป) ที่จะชะลอลงต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางทั้งสองแห่งลดดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาด
  3. ความเสี่ยงต่างๆ ของโลกจะยังมีอยู่ (ดูคำทำนายที่ 4) ทำให้มีความต้องการในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง ดอลลาร์ พันธบัตรรัฐบาล และทองคำอยู่ ทำให้ราคาของสินทรัพย์เหล่านี้ไม่สามารถปรับลงได้มากนัก

4. สงครามการค้าจะไม่รุนแรงขึ้น แต่จะไม่ยุติลง และจะเปลี่ยนรูปแบบไป

โดยสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะไม่สามารถรุนแรงขึ้นได้อีกมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจทั้งสองประเทศได้รับผลกระทบจากภาษีการค้าและความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุน รวมถึงการบริโภคของทั้งสองประเทศแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น การที่สหรัฐฯ เข้าสู่การเลือกตั้ง จะทำให้ทรัมพ์ไม่กล้าที่จะใช้ภาษีนำเข้าเป็นเครื่องมือรบกับจีนดังก่อน

แต่ความตึงเครียดจะแปรเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบอื่น เช่น สงครามเทคโนโลยี (Tech war) สงครามด้านการเงิน (Financial War) รวมไปถึงสมรภูมิอื่น เช่น ระหว่าง สหรัฐฯ กับยุโรป โดยการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากฝรั่งเศส ตอบโต้ฝรั่งเศสที่ขึ้นภาษีธุรกิจดิจิทัลจากสหรัฐฯ เป็นตัวอย่างที่ดีของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า ในขณะที่ Brexit จะลากยาวออกไป โดยแม้อังกฤษจะสามารถออกจากยุโรปได้ในเดือน ม.ค. แต่การเจรจาถึงข้อตกลงสุดท้ายระหว่างอังกฤษกับยุโรปจะยังมีอยู่จนสิ้นปี 2020 เป็นอย่างน้อย

นอกจากนั้น ความเสี่ยงสงครามทางทหารระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะในน่านน้ำทะเลจีนใต้ หลังจากที่กองทัพเรือสหรัฐฯ มีแผนที่จะแล่นเรือตรวจตราผ่านช่องแคบไต้หวันเป็นประจำ ขณะที่จีนก็จะเพิ่มกำลังทางทหารในมหาสมุทรแปซิฟิกมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่เกาะที่มีปัญหาอาณาเขตกับเพื่อนบ้าน เช่น เกาะไซโกกุ/เตียวหยู และหมู่เกาะ Spratly เป็นต้น

5. ปี 2020 จะเป็นจุดเริ่มต้นของ “ศตวรรษแห่งเอเชีย”

แม้ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์จะเพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะในเอเชีย แต่แนวนโยบายของโลกตะวันตกที่หันหลังให้กับกระแสโลกาภิวัฒน์ จะทำให้สหรัฐฯ และยุโรปเริ่มถอยหลังในเวทีโลก ขณะที่สปอตไลท์จะหันมาฉายที่จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอาเซียน จาก

  1. การจัดโอลิมปิคฤดูร้อนในญี่ปุ่น จะแสดงให้โลกเห็นถึงความสวยงามด้านวัฒนธรรม และศักยภาพด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่น โดยเฉพาะหุ่นยนต์และรถยนต์ที่สามารถบินได้
  2. การที่จีนเริ่มอนุญาตให้ต่างชาติมาเปิดธุรกิจในจีนได้มากขึ้นโดยเฉพาะด้านการเงิน รวมถึงการที่ MSCI (Morgan Stanley Capital International) เพิ่มสัดส่วนของหุ้นจีนในการคำนวณดัชนี ทำให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในจีนได้มากขึ้น จะทำให้เซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้นเริ่มมีความสำคัญด้านการเงินใกล้เคียงนิวยอร์คและลอนดอนมากขึ้น แทนที่ฮ่องกงที่จะลดความสำคัญลง นอกจากนั้น การที่จีนหันมามุ่งเน้น E-commerce มากขึ้น ทั้งออกกฎหมาย Cryptography อนุญาตให้ภาคเอกชนพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain พร้อมทั้งให้เงินอุดหนุนกับผู้พัฒนา จะทำให้จีนก้าวเป็นจ้าวแห่งเทคโนโลยีดังกล่าว ที่เป็นดั่งอินเทอร์เน็ตแห่งอนาคต
  3. การที่ประเทศในเอเชียผลักดันด้านการรวมกลุ่มทางการค้า ทั้ง RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ ASEAN +6) ทั้ง CP-TPP (หรือข้อตกลง TPP หรือ Trans-Pacific Strategic Economic Partnership เดิมที่ขาดสหรัฐฯ) ทั้งความร่วมมือไตรภาคีจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ จะเป็นก้าวแรกที่ผลักดันไปสู่เขตเศรษฐกิจแห่งเอเชีย ที่จะมีการแลกเปลี่ยนระหว่างการค้า การลงทุน การเคลื่อนย้ายแรงงาน และเทคโนโลยีมากขึ้น และทำให้โลกตะวันออกโดยเฉพาะเอเชียก้าวขึ้นเป็นหนึ่งแทนที่โลกตะวันตกอย่างยุโรปและอเมริกาได้

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ประเทศเอเชีย เช่น อินโดนิเซีย อินเดีย จีน หรือแม้แต่ไทย เร่งโครงการสาธารณูปโภคมากขึ้น จะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาในอนาคต โดยปี 2020 จะเป็นปีแรกที่เศรษฐกิจเอเชียกลับมามีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจอื่นๆ ในโลกรวมกันอีกครั้ง (เมื่อปรับเงินเฟ้อหรือ PPP term) อันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของ “ศตวรรษแห่งเอเชีย”

ศตวรรษแห่งเอเชีย

เศรษฐกิจโลกไม่แตก ทรัมพ์สมัยสอง ลงทุนโลกพอไปได้ สงครามเย็นเปลี่ยนรูปแบบ และศตวรรษแห่งเอเชีย เหล่านี้คือคำทำนาย 5 ประการในปี 2020

แต่แน่นอนว่า ไม่มีคำทำนายได้ที่ไม่มีข้อผิดพลาด ดั่งพุทธภาษิตที่ว่า ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน ฉะนั้น ท่านทั้งหลาย จงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด

ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ (SCBS)

รับผิดชอบงานด้านการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคและการลงทุนด้านปัจจัยพื้นฐาน เพื่อให้คำแนะนำด้านการลงทุนสำหรับนักลงทุนทั้งระดับสถาบันและรายย่อย ดร. ปิยศักดิ์มีประสบการณ์ด้านการวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุนมานานกว่า 13 ปี เคยผ่านงานในตำแหน่งผู้บริหารทั้งภาครัฐและเอกชน โดยล่าสุดดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร นอกจากนั้น  ดร. ปิยศักดิ์ยังได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยชั้นนำ เป็นแขกรับเชิญประจำของสถานีโทรทัศน์หลายแห่ง มีผลงานเขียนในหนังสือพิมพ์ และได้ตีพิมพ์หนังสือ Pocket Book ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและการลงทุนแล้ว 6 เล่ม