สังคมผู้สูงอายุ: ความท้าทายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ

สังคมผู้สูงอายุ: ความท้าทายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ

บทความโดย
นายสัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ
นางสาวชนกนันท์ น้อยทิพย์

1. บทนำ

ภาวะสังคมสูงวัย ถือเป็นปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างประชากรที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้จำนวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป [1] หรือที่เรียกว่า “ประชากรวัยสูงอายุ” สำหรับประเทศไทย พบว่า มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบหลายปีที่ผ่านมา

โดยในปี 2537 มีสัดส่วนผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 6.8 ของประชากรทั้งประเทศ และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 14.9 และ 15.1 ในปี 2557 และ 2559 ตามลำดับ ส่งผลให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) [2] ซึ่งเป็นผลมาจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้ามากขึ้น ประกอบกับภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้อัตราการเกิดและอัตราการตายลดต่ำลงอย่างมาก จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้โครงสร้างประชากรมีการเปลี่ยนแปลง โดยสัดส่วนประชากรวัยทำงานปรับตัวลดลง ขณะที่สัดส่วนประชากรวัยสูงอายุนั้นมีแนวโน้มเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ภาวะสังคมสูงอายุยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอีกนานัปการ อาทิ ปัญหาด้านรายได้และการบริโภคภายหลังการเกษียณอายุ ปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของผู้สูงอายุ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปี 2564 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ นับเป็นการก้าวเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) จากการคาดการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงเป็นความท้าทายของภาครัฐและภาคเอกชนว่าจะสามารถรับมือกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนปัญหาที่จะเกิดขึ้นเหล่านั้นได้อย่างไร

บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลสถานการณ์และปัญหาจากการก้าวเข้าสู่ยุค Aging society ของไทย ทั้งที่ได้เริ่มเกิดขึ้นในปัจจุบัน และที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ตลอดจนสถานการณ์และปัญหาจากภาวะสังคมสูงวัยในต่างประเทศ ทั้งประเทศกำลังพัฒนา (Developing Countries) ได้แก่ ประเทศจีนและเวียดนาม และประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Countries) ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น และสวีเดน รวมถึงนโยบายในการรองรับสังคมสูงอายุในประเทศไทย และทั้ง 4 ประเทศข้างต้น นำมาซึ่งข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

2. สถานการณ์และแนวโน้มผู้สูงอายุในประเทศไทย

สถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน มีจำนวนประชากรวัยสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10.0 หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่าร้อยละ 7.0 ของประชากรทั้งประเทศ) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 สะท้อนจากสัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปสูงถึงเกือบร้อยละ 8.0 ของประชากรในประเทศ และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเกือบทศวรรษที่ผ่านมา โดยในปัจจุบัน (ปี 2559) พบว่า สัดส่วนจำนวนประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 11.0 ซึ่งหากประชากรกลุ่มอายุดังกล่าว มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 14.0 ต่อปี จะส่งผลให้ประเทศไทยเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) ทันที

ภาพที่ 1 สัดส่วนประชากรวัยสูงอายุ (ประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป) ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด
ที่มา: World bank database รวบรวมโดยผู้เขียน

นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงสัดส่วนของประชากรวัยเด็กและสัดส่วนของประชากรวัยผู้สูงอายุแล้ว ในปี 2560 จะเป็นปีที่คาดว่าสัดส่วนของประชากรวัยเด็กจะเท่ากับสัดส่วนของประชากรวัยสูงอายุ และนับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป สัดส่วนประชากรวัยสูงอายุจะมีมากกว่าประชากรวัยเด็ก

ภาพที่ 2 สัดส่วนประชากรวัยเด็ก วัยแรงงานและวัยสูงอายุ พ.ศ 2553-2583
ที่มา : 1. สำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ.2553 สำนักงานสถิติแห่งชาติ
2. การคาดประมาณปรากรของประเทศไทย พ.ศ.2553 – พ.ศ.2583 สำนักงานคณะกรรมการ
พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

อีกทั้ง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีการคาดการณ์ว่าในปี 2564 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20.0 หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 14.0 ของประชากรทั้งประเทศ) [3] และจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ) ซึ่งจะมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 28.0 ของประชากรในประเทศ ในปี 2574

นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติระบุว่าประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20.0 ของจำนวนประชากรทั้งหมดภายในปี 2578 และร้อยละ 30.0 ภายในปี 2593 จากเพียงร้อยละ 10.5 ในปี 2558 ในขณะที่ประชากรวัยทำงาน (อายุ 15 – 64 ปี) จะลดลงอย่างรวดเร็วถึงน้อยกว่าร้อยละ 65.0 ของประชากรทั้งหมดในปี 2578 และเหลือแค่ร้อยละ 57.0 ในปี 2593 จากร้อยละ 70.9 ในปี 2558

ภาพที่ 3 แนวโน้มของสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย
ที่มา: มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)

เหตุการณ์ดังกล่าวนี้บ่งชี้ถึงโครงสร้างประชากรของไทยที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยนั้น สามารถแสดงได้ด้วยพีระมิดประชากร ซึ่งเป็นแผนภาพประกอบด้วยกราฟแท่งแสดงสัดส่วนของประชากรในแต่ละช่วงอายุ (แกนนอน) และอายุของประชากร (แกนตั้ง) จะสังเกตเห็นว่าในปี 2493 พีระมิดมีลักษณะฐานกว้าง แสดงถึงโครงสร้างประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่อมาในปี 2548 พีระมิดมีลักษณะเป็นระฆังคว่ำ แสดงถึงโครงสร้างประชากรที่คงที่ และในปี 2593 คาดว่าพีระมิดจะมีลักษณะฐานแคบ แสดงถึงโครงสร้างประชากรที่ลดลง หรือ มีอัตราการเกิดและอัตราการตายที่ต่ำ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าสัดส่วนของผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และใช้เวลาค่อนข้างสั้นในการเพิ่มสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุเป็นเท่าตัว

ภาพที่ 4 พีระมิดประชากรไทย ปี พ.ศ.2493 2548 และคาดการณ์ พ.ศ. 2593
ที่มา : populationpyramit.net รวบรวมโดยผู้เขียน

จากสถานการณ์ข้างต้นที่กล่าวมา การเข้าสู่สังคมชราภาพของประเทศไทยนั้น อาจส่งผลกระทบในหลายด้าน [5] กล่าวโดยสรุปได้ดังนี้

1. ด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในเชิงปริมาณ กล่าวคือเมื่อจำนวนปัจจัยการผลิตของประเทศลดลง จะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มที่จะเติบโตช้าลงในอนาคต เนื่องจากสัดส่วนคนทำงานลดลง หรือ จำนวนแรงงานลดลง ซึ่งย่อมส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งแรงงานเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของประเทศ

2. ด้านอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะในสังคมที่ผู้สูงอายุจำนวนมากมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ เนื่องจาก การที่ผู้สูงอายุใช้จ่ายในการบริโภคนั้นจะขึ้นอยู่กับรายได้ของบุคคลเป็นหลัก ซึ่งอาจทำให้การบริโภคของประเทศมีโอกาสชะลอตัวลงได้ในอนาคต

3. ด้านการคลังของภาครัฐ การที่จำนวนประชากรเข้าสู่วัยชรามากขึ้นจะส่งผลต่อการจัดเก็บรายรับจากภาษีเงินได้ของภาครัฐ และการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ภาครัฐต้องมีการใช้จ่ายมากขึ้นโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล การเพิ่มสวัสดิการ และเงินสงเคราะห์ให้แก่ผู้สูงอายุ ซึ่งรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้อาจนำไปสู่
การขาดดุลงบประมาณและการสะสมหนี้สาธารณะได้

4. ด้านการออมและการลงทุนในประเทศในระยะยาว ประเทศที่มีภาวะสังคมชราภาพมีความเสี่ยงที่จะประสบกับภาวะการออมและการลงทุนในประเทศที่ลดต่ำลง เนื่องจากกลุ่มประชากรที่เกษียณหรือเลิกทำงานแล้วจะใช้จ่ายจากการออมสะสม ทำให้ระดับการออมภาคครัวเรือนและการลงทุนของประเทศได้รับผลกระทบ

3. สถานการณ์ผู้สูงอายุในต่างประเทศ

3.1 ประเทศพัฒนาแล้ว

ประเทศญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก และเป็นประเทศแรกๆ ที่ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ตั้งแต่ปี 2513 จากนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) เมื่อปี 2537 และเป็นประเทศแรกที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged society) ตั้งแต่ปี 2549

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2563 ประเทศญี่ปุ่นจะมีประชากรสูงวัยถึงร้อยละ 29.0 ของประชากรทั้งหมด และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 39.0 ภายในปี 2593 ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว คือ มีอัตราเด็กเกิดใหม่ที่ต่ำติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน โดยอัตราการเกิดของญี่ปุ่น เท่ากับ 1.4 ซึ่งน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ส่งผลให้จำนวนแรงงานลดลงอยู่ที่ 65.3 ล้านคน ในปี 2555 จาก 67.8 ล้านคน ในปี 2542 และการจ้างงานลดลงถึงร้อยละ 3.0 ในปีเดียวกัน

ภาพที่ 5 สัดส่วนประชากรวัยสูงอายุ (ประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป) ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด
ที่มา : World bank database รวบรวมโดยผู้เขียน

จากภาพที่ 6 แสดงถึง พีระมิดประชากรของประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ.2493 พีระมิดโครงสร้างประชากรสะท้อนให้เห็นว่า ประชากรวัยเด็กมีสัดส่วนมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ต่อมาในปี พ.ศ.2548 พีระมิดโครงสร้างประชากรมีการเปลี่ยนแปลงโดยประชากรวัยกลางคน (30-59 ปี) มีสัดส่วนมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น และในปี พ.ศ.2593 คาดว่าโครงสร้างประชากรจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยประชากรวัยสูงอายุจะมีสัดส่วนประชากรมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น

ภาพที่ 6 : พีระมิดประชากรญี่ปุ่น ปี พ.ศ.2493 2548 และคาดการณ์ พ.ศ.2593
ที่มา : populationpyramit.net รวบรวมโดยผู้เขียน

ประเทศสวีเดน

ประเทศสวีเดน มีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2583 ประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะอยู่ที่หนึ่งในสี่ส่วนของประชากรในประเทศ แต่ขณะที่ประชากรวัยเด็กค่อยๆ ลดลง โดยในปี 2493 มีประชากรอายุต่ำกว่า 20 ปี ถึงร้อยละ 29.0 แต่ในปี 2543 สัดส่วนของเด็กและเยาวชนลดลงถึงร้อยละ 24 และสัดส่วนของคนอายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 17.0 จากร้อยละ 10.0 ในปี 2493

นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่าในปี 2593 สัดส่วนของเด็กและเยาวชนจะลดลงเหลือร้อยละ 22.0 และสัดส่วนของผู้สูงอายุจะอยู่ที่ประมาณหนึ่งในสี่ของประชากร โดยสาเหตุที่จำนวนคนในวัยทำงาน (อายุ 20-64 ปี) เพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนของคนวัยทำงานลดลง กล่าวคือจำนวนผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มอายุอื่นๆ ทั้งนี้ ในปัจจุบันประเทศสวีเดนได้เข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว (Aged society) ตั้งแต่ปี 2518

ภาพที่ 7 สัดส่วนประชากรวัยสูงอายุ (ประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป) ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด
ที่มา : World bank database รวบรวมโดยผู้เขียน

จากภาพที่ 8 แสดงถึงพีระมิดประชากรของประเทศสวีเดน จะเห็นว่า ในปี 2493 พีระมิดประชากรมีลักษณะที่ค่อนข้างคงที่ จำนวนประชากรวัยเด็กมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับสัดส่วนประชากรวัยกลางคน หลังจากนั้นในปี 2548 ประชากรสูงวัยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และในปี 2593 คาดว่า โครงสร้างประชากรจะแสดงถึงอัตราการเกิดและอัตราการตายที่ต่ำ หรือมีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากกว่าประชากรวัยเด็ก

ภาพที่ 8 : พีระมิดประชากรสวีเดน ปี พ.ศ.2493 2548 และคาดการณ์ พ.ศ.2593
ที่มา: populationpyramit.net รวบรวมโดยผู้เขียน

3.2 ประเทศกำลังพัฒนา

ประเทศเวียดนาม

เวียดนามนับว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุเร็วที่สุดในเอเชีย ในปี 2554 ประเทศเวียดนามได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2560 นี้ ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 10.0 ของประชากรในประเทศ และในช่วง 15-20 ปีข้างหน้า จะมีผู้สูงอายุหนึ่งในสามของประชากรทั้งหมด และในปี 2593 ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.9 เป็นร้อยละ 30 หรือ 32 ล้านคน และประชากรที่มีอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป จะมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 6.0 ของประชากรทั้งหมดและอาจทำให้ประชากรวัยทำงานของประเทศเวียดนามลดลงอย่างรวดเร็ว

ภาพที่ 9 สัดส่วนประชากรวัยสูงอายุ (ประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป) ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด
ที่มา: World bank database รวบรวมโดยผู้เขียน

พีระมิดประชากรของประเทศเวียดนามที่แสดงดังภาพที่ 10 นั้น จะเห็นว่า ในปี 2493 โครงสร้างประชากรมีลักษณะคล้ายกับประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนประชากรวัยเด็กมากกว่าประชากรวัยอื่นๆ ต่อมาในปี 2548 จะเห็นได้ว่าช่วงอายุที่มีสัดส่วนประชากรมากเปลี่ยนจากช่วงอายุ 0-9 ปี เป็นช่วงอายุ10-29 ปี สะท้อนถึงประชากรวัยเด็กที่มีสัดส่วนน้อยลง และในปี 2593 คาดว่าสัดส่วนประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ประชากรวัยเด็กจะมีสัดส่วนที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด หากโครงสร้างประชากรของประเทศเวียดนามยังคงดำเนินไปในลักษณะเช่นนี้ จะใช้เวลาอีก 20 ปี จึงจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

ภาพที่ 10: พีระมิดประชากรเวียดนาม ปี พ.ศ.2493 2548 และคาดการณ์ พ.ศ.2593
ที่มา: populationpyramit.net รวบรวมโดยผู้เขียน

ประเทศจีน

ประชากรผู้สูงอายุของจีนนั้น เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลจีนคาดว่า ในช่วง 10-20 ข้างหน้า ประชากรผู้สูงอายุในประเทศจีนจะเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 440 ล้านคน และประชากรที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปจะอยู่ที่ 101 ล้านคน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ คาดว่าจำนวนแรงงานในจีนจะลดลงจนถึง 225 ล้านคน ภายในปี 2593 โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้โครงสร้างประชากรของจีนเป็นเช่นนี้ เกิดจากอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลงและอายุคาดเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ จีนยังต้องเผชิญกับผลกระทบของนโยบายการวางแผนครอบครัวที่เข้มงวด หรือที่เรียกว่า “นโยบายลูกคนเดียว” ตั้งแต่ปี 2505 ประกอบกับเศรษฐกิจที่ดี ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและการรักษาพยาบาลทีดีขึ้น

ภาพที่ 11 สัดส่วนประชากรวัยสูงอายุ (ประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป) ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด
ที่มา: World bank database รวบรวมโดยผู้เขียน

จากภาพที่ 11 พบว่า ในปี 2493 พีระมิดประชากรของประเทศจีน แสดงถึงโครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนประชากรวัยเด็กมาก ต่อมาในปี 2548 โครงสร้างประชากรของจีนแสดงถึงสัดส่วนประชากรวัยกลางคน (30 – 44 ปี) ที่เริ่มมีสัดส่วนมากกว่า และในปี 2593 คาดว่าสัดส่วนประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้หากโครงสร้างประชากรของประเทศจีนยังคงดำเนินอยู่ต่อไปในลักษณะเช่นนี้ จะใช้เวลาอีก 9 ปี จึงจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society)

ภาพที่ 12 : พีระมิดประชากรจีน ปี พ.ศ.2493 2548 และคาดการณ์ พ.ศ.2593
ที่มา: populationpyramit.net รวบรวมโดยผู้เขียน

4. นโยบายเพื่อการรองรับสังคมผู้สูงอายุของไทยและต่างประเทศ

จากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปมากในประเทศต่างๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลในแต่ละประเทศต้องออกนโยบายเพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่จะมีขึ้นและส่งผลตามมาในอนาคต เมื่อพิจารณานโยบายของแต่ละประเทศแล้ว สามารถจำแนกนโยบายออกได้เป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสาธารณสุข ด้านการจ้างงาน และด้านการเงิน ซึ่งนโยบายของแต่ละประเทศในด้านต่างๆ
มีรายละเอียดโดยสรุปดังปรากฏในตารางที่ 1

ตารางที่ 1: นโยบายด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุในไทยและต่างประเทศ

ประเทศด้านสาธารณสุข
ไทย– มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (อยู่ภายใต้การดูแลของ สปสช.) – การเปิดศูนย์บริการคนชรา เพื่อให้บริการด้านสังคมสงเคราะห์ การรักษาพยาบาล กายภาพบำบัด และนันทนาการ – รัฐส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปมีความเข้าใจถึงการดูแลผู้สูงอายุที่ถูกต้องผ่านการรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ- บริการสังคมแก่ผู้สูงอายุ เช่น การบริการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่บ้าน (Home Health Care) และโครงการอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ(อผส.) 
ญี่ปุ่น– มีระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบประกันสุขภาพ (Health Insurance System) โดยมีการให้บริการด้านสวัสดิการและการดูแลสุขภาพ รวมทั้งการรักษาอย่างครอบคลุม และสอดคล้องกับความต้องการของผู้รับบริการ- มีระบบการดูแลรักษาพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุในช่วงบั้นปลายของชีวิต สำหรับ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไปที่ได้ลงทะเบียนไว้และได้จ่ายเงินสมทบตามที่กำหนด
สวีเดน– ประชาชนทุกคนในสวีเดนได้รับสิทธิในการเลือกสถานที่ สำหรับรักษาพยาบาลได้ทุกแห่งในประเทศโดย
ไม่จำกัดเฉพาะสถานรักษาพยาบาลในเขตมณฑลที่ตนเองอาศัยเท่านั้น- มีบริการและการดูแลในที่พักอาศัย เช่น บริการทำความสะอาด จัดส่งอาหาร บริการแจ้งเตือนภัย และบริการดูแลผู้สูงอายุในด้านอื่นๆ ในที่พักอาศัยของผู้สูงอายุ- ผู้สูงอายุที่มีความพิการสามารถได้รับความช่วยเหลือได้ตลอดเวลา หรือแม้ผู้ที่ป่วยหนักก็จะได้รับการดูแลสุขภาพในบ้านของตนเอง
จีน– ให้บริการในการป้องกันโรคเรื้อรังโดยการสนับสนุนให้สถาบันสุขภาพชุมชนเก็บข้อมูลสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 65 ขึ้นไป- การส่งเสริมการสร้างเครือข่ายบริการด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุและการบริการด้านสุขภาพ
ที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละท้องถิ่น- การพัฒนาการคุ้มครองสุขภาพโดยการเพิ่มการศึกษาด้านสุขภาพ, เผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพและการพัฒนาผู้สูงอายุ- มีบริการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่บ้าน ในชื่อ “Nine Supports” สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่
ในกรุงปักกิ่ง และให้คูปองสำหรับใช้บริการสาธารณสุข เดือนละ 100 หยวน (500 บาท) แก่ผู้สูงอายุ
ที่มีอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป หรือเป็นผู้สูงอายุที่มีความพิการ- มีสถาบันที่ดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงบ้านพักคนชรา หอพักสำหรับผู้สูงอายุ สถานพยาบาล และมีการให้บริการด้านที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ และการรักษาพยาบาล 
เวียดนาม– ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 80 ปี และผู้สูงอายุที่ยากจนหรือไม่มีรายได้จะได้รับบัตรประกันสุขภาพเพื่อใช้ในโรงพยาบาลของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย- ผู้สูงอายุที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไป จะได้รับบัตรประกันสุขภาพ หรือได้รับการรักษาพยาบาลฟรีบนพื้นฐาน
ของประกันสังคม 

ตารางที่ 2: นโยบายด้านการจ้างงานสำหรับผู้สูงอายุในไทยกับต่างประเทศ

ประเทศด้านการจ้างงาน
ไทย– มีการคุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุนการประกอบอาชีพ หรือฝึกอาชีพที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ- รองรับการจ้างงานผู้สูงอายุ โดยการขยายอายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 60 ปีในระยะแรก รวมถึงการคุ้มครองการทำงาน และสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยผู้จ้างงานสามารถนำรายจ่ายในการจ้างผู้สูงอายุ
มาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 2 เท่า
ญี่ปุ่น– สนับสนุนให้ธุรกิจต่างๆ มีการจ้างแรงงานในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานผู้สูงอายุ – ปี 2555 ได้ออกกฎหมายให้องค์กรเอกชน ขยายอายุการทำงานไปจนถึงอายุ 65 ปี และมีมาตรการ
การจ้างแรงงานสูงอายุ ได้แก่ การขยายอายุเกษียณการทำงานจาก 60 ปี ในปี 2555 เป็น 62 ปี นับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา รวมทั้งการจ้างแรงงานสูงอายุให้ทำงานต่อได้- มีนโยบายให้สถานประกอบการสามารถเลือกที่จะจ้างลูกจ้างต่อไปได้จนถึงอายุ 65 ปี หากลูกจ้าง
มีคุณสมบัติตรงตามที่นายจ้างกำหนด
สวีเดน– มีการขยายกำหนดเกษียณอายุจากเดิม 65 ปี เป็น 67 ปี เมื่อปี2557 และมีแผนจะขยายเป็น 69 ปี และ 75 ปีในอนาคตอันใกล้
จีน– มีแผนที่จะทยอยปรับกำหนดอายุเกษียณโดยในปีหนึ่งๆ จะปรับกำหนดอายุเกษียณเพิ่มขึ้น 6 เดือน 
ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปี 2565 รวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 5 ปี
เวียดนาม– มีแผนจะเลื่อนกำหนดอายุเกษียณออกไปอีก 2 ปี สำหรับผู้ชาย (จากอายุ 60 ปี เป็น 62 ปี) และอีก 3 ปีสำหรับผู้หญิง (จากอายุ 55 ปี เป็น 58 ปี)

ตารางที่ 3: นโยบายด้านการเงินสำหรับผู้สูงอายุในไทยกับต่างประเทศ

ประเทศด้านสาธารณสุข
ไทย– มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (อยู่ภายใต้การดูแลของ สปสช.) – การเปิดศูนย์บริการคนชรา เพื่อให้บริการด้านสังคมสงเคราะห์ การรักษาพยาบาล กายภาพบำบัด และนันทนาการ – รัฐส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปมีความเข้าใจถึงการดูแลผู้สูงอายุที่ถูกต้องผ่านการรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ- บริการสังคมแก่ผู้สูงอายุ เช่น การบริการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่บ้าน (Home Health Care) และโครงการอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ(อผส.) 
ญี่ปุ่น– มีระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบประกันสุขภาพ (Health Insurance System) โดยมีการให้บริการด้านสวัสดิการและการดูแลสุขภาพ รวมทั้งการรักษาอย่างครอบคลุม และสอดคล้องกับความต้องการของผู้รับบริการ- มีระบบการดูแลรักษาพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุในช่วงบั้นปลายของชีวิต สำหรับ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไปที่ได้ลงทะเบียนไว้และได้จ่ายเงินสมทบตามที่กำหนด
สวีเดน– ประชาชนทุกคนในสวีเดนได้รับสิทธิในการเลือกสถานที่ สำหรับรักษาพยาบาลได้ทุกแห่งในประเทศโดย
ไม่จำกัดเฉพาะสถานรักษาพยาบาลในเขตมณฑลที่ตนเองอาศัยเท่านั้น- มีบริการและการดูแลในที่พักอาศัย เช่น บริการทำความสะอาด จัดส่งอาหาร บริการแจ้งเตือนภัย และบริการดูแลผู้สูงอายุในด้านอื่นๆ ในที่พักอาศัยของผู้สูงอายุ- ผู้สูงอายุที่มีความพิการสามารถได้รับความช่วยเหลือได้ตลอดเวลา หรือแม้ผู้ที่ป่วยหนักก็จะได้รับการดูแลสุขภาพในบ้านของตนเอง
จีน– ให้บริการในการป้องกันโรคเรื้อรังโดยการสนับสนุนให้สถาบันสุขภาพชุมชนเก็บข้อมูลสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 65 ขึ้นไป- การส่งเสริมการสร้างเครือข่ายบริการด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุและการบริการด้านสุขภาพ
ที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละท้องถิ่น- การพัฒนาการคุ้มครองสุขภาพโดยการเพิ่มการศึกษาด้านสุขภาพ, เผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพและการพัฒนาผู้สูงอายุ- มีบริการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่บ้าน ในชื่อ “Nine Supports” สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่
ในกรุงปักกิ่ง และให้คูปองสำหรับใช้บริการสาธารณสุข เดือนละ 100 หยวน (500 บาท) แก่ผู้สูงอายุ
ที่มีอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป หรือเป็นผู้สูงอายุที่มีความพิการ- มีสถาบันที่ดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงบ้านพักคนชรา หอพักสำหรับผู้สูงอายุ สถานพยาบาล และมีการให้บริการด้านที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ และการรักษาพยาบาล 
เวียดนาม– ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 80 ปี และผู้สูงอายุที่ยากจนหรือไม่มีรายได้จะได้รับบัตรประกันสุขภาพเพื่อใช้ในโรงพยาบาลของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย- ผู้สูงอายุที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไป จะได้รับบัตรประกันสุขภาพ หรือได้รับการรักษาพยาบาลฟรีบนพื้นฐาน
ของประกันสังคม 

5. สรุปและข้อเสนอแนะทางนโยบาย

โครงสร้างประชากรของไทยมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างต่อเนื่อง โดยประชากรวัยผู้สูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สัดส่วนประชากรวัยเด็กและวัยทำงานปรับตัวลดลง ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไทยจึงได้ออกนโยบายเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุในด้านต่างๆ อาทิ การจัดให้มีระบบบำนาญสำหรับแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ การจัดให้มีบริการดูแลสุขภาพที่บ้าน รวมทั้งการบริการการรักษาพยาบาล และการให้เบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีพในช่วงบั้นปลายของชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ

อย่างไรก็ดี การเข้าสู่สังคมสูงอายุมิได้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแต่กับประเทศไทยเพียงเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่ประเทศต่าง ๆ ทั้งประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้วกำลังเผชิญเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่าง ในกรณีของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลกนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นได้ดำเนินมาตรการการดูแลผู้สูงอายุต่าง ๆ เช่น มีการให้บริการด้านสวัสดิการและการดูแลสุขภาพ มีการออกกฎหมายขยายอายุการทำงาน เป็นต้น

ขณะที่ประเทศสวีเดนซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้วและประสบปัญหาภาวะสังคมสูงอายุเช่นกัน ซึ่งรัฐได้มีนโยบายให้สิทธิรักษาพยาบาลแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียม และมีการขยายอายุการทำงานของผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ตัวอย่างเช่น ประเทศจีนยังไม่มีนโยบายในด้านแรงงานที่ชัดเจน แต่มีแผนที่จะทยอยปรับอายุการเกษียณเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับประเวียดนามที่มีแผนจะเลื่อนกำหนดอายุเกษียณออกไป แต่ยังไม่มีการประกาศแนวนโยบายที่แน่ชัด

แม้ประเทศไทยจะได้ดำเนินนโยบายเพื่อรองรับสังคมสูงอายุอยู่บางส่วนแล้วก็ตาม แต่ก็ควรมีนโยบายรองรับเพิ่มให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ เมื่อพิจารณาจากกรณีศึกษาจากการดำเนินนโยบายในต่างประเทศแล้ว จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อรองรับสังคมสูงอายุของไทยอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต ดังนี้

1. ด้านการจ้างงาน ควรมีการขยายอายุการทำงานของแรงงานที่ยังมีความรู้ความสามารถในด้านอื่นๆ เพิ่มเติมจากนโยบายในปัจจุบัน ที่ขยายเวลาเกษียณอายุให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เพียงกลุ่มเดียว นอกจากนี้
รัฐควรส่งเสริมการประกอบอาชีพ หรือฝึกอาชีพที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุหารายได้เพื่อเลี้ยงชีพต่อไป

2. ด้านสาธารณสุข เพิ่มสิทธิของผู้สูงอายุในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ครอบคลุม การจัดระบบสาธารณสุขให้เอื้อต่อการให้บริการแก่ผู้สูงอายุ และสร้างระบบอาสาสมัครที่ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ควรคำนึงถึง ภาระทางการคลังและความยั่งยืนทางการคลังควบคู่ไปด้วย

3. ด้านการเงิน ควรมีการบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญ เพื่อให้แรงงานในระบบ มีรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอในการดำรงชีวิตได้ มีการจัดตั้งกองทุนผู้สูงอายุเพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนโยบายช่วยเหลือทางการเงิน นโยบายที่รัฐควรได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษ คือการสนับสนุนการออมระยะยาว เพื่อเป็นแนวทางที่จะช่วยสนับสนุนให้รายได้ของผู้สูงอายุมีความมั่นคงมากขึ้น ซึ่งการออมนี้เป็นการออมที่นอกเหนือจากการที่แรงงานต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม โดยแรงงานควรมีการออมตามสัดส่วนของรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นตามอายุการทำงาน เพื่อให้สามารถนำเงินจากการออมในส่วนนี้มาช่วยเป็นรายได้ในอนาคต

อ้างอิง

[1] อนึ่งบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียนบทความ ไม่ได้สะท้อนความเห็นของหน่วยงาน
[2] จากคำนิยามขององค์การสหประชาชาติ (United Nations:UN)
[3] องค์การสหประชาชาติ (United Nations:UN) ได้แบ่งระดับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
1) ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10.0 ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ 7.0 ของประชากรทั้งประเทศ
2) ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20
ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่าร้อยละ 14.0 ของประชากรทั้งประเทศ
3) ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ
[4] องค์การสหประชาชาติ (United Nations) : คำนิยามสังคมผู้สูงอายุ
[5] บทวิเคราะห์เรื่องเศรษฐกิจไทยในสังคมชราภาพของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

นายสัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ

ไม่เคยถามว่า “ประเทศจะให้อะไรกับเรา”
มีแต่ถามว่า “เราจะทำอะไรให้กับประเทศได้บ้าง”

นางสาวชนกนันท์ น้อยทิพย์