การตลาดธนาคารกลาง : กรณีศึกษาการสื่อสารด้วยข่าวและสื่อออนไลน์

การตลาดธนาคารกลาง : กรณีศึกษาการสื่อสารด้วยข่าวและสื่อออนไลน์

บทความโดย[1]
พิมพ์วรีย์ กิตติสารกุล
ผศ. ดร.มณเฑียร สติมานนท์
ผศ. ดร. ณัฐพงษ์ พัฒนพงษ์

เหตุการณ์สำคัญในตลาดมักเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีคนคิดเหมือนกันจำนวนมาก สื่อมวลชนก็นับเป็นพาหนะชั้นดีที่จะช่วยเผยแพร่ความคิดเหมือนกันนี้ออกไป

Robert J. Shiller

Robert J. Shiller นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี ค.ศ. 2013   ให้ความเห็นไว้ในหนังสือชื่อ Irrational Exuberance (Third Edition) ว่าสื่อต่างๆ ทั้งข่าว หนังสือพิมพ์ นิตยสาร โทรทัศน์ รวมถึงสื่อในอินเทอร์เน็ต อาจนิยามตัวเองว่าเป็นผู้สังเกตการณ์ แต่ความจริงแล้วสื่อเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์และยังเป็นพาหนะทางความคิดที่อาจส่งผลทำให้เกิดเหตุการณ์ต่อเนื่องขึ้นอีกด้วย ซึ่งแนวคิดดังกล่าว สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทย ทั้งนี้จากการที่ประเทศไทยได้มีจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2561 ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมีจำนวนสูงถึง 47.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 71.5 ของประชากร[2] ทำให้การติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านทางอินเทอร์เน็ตมีสัดส่วนที่สูง

ด้วยปัจจัยดังกล่าว การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการแพร่กระจายของข่าวสารด้านเศรษฐกิจและการเงินที่ได้รับการส่งผ่านไปยังสื่อโซเซียลมีเดียต่าง ๆ นอกจากนี้ยังได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเผยแพร่ข่าวสารดังกล่าวกับกับความเปลี่ยนแปลงของดัชนีชี้วัดที่เกี่ยวข้อง โดยในการศึกษานี้จะมุ่งเน้นที่ 3 กรณีศึกษา ได้แก่ (1) กรณีของข่าวอัตราแลกเปลี่ยน (2) กรณีของข่าวการผ่อนเกณฑ์มาตรการ Loan to Value Ratio (LTV) กับราคาหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และ (3) กรณีของข่าวภาวะเศรษฐกิจกับดัชนี SET100

ผลที่ได้จากกรณีศึกษาทั้ง 3 กรณีนี้ จะเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับหน่วยงานทางเศรษฐกิจในการพิจารณารูปแบบของการแพร่กระจายข่าวและข้อมูลทางเศรษฐกิจในอนาคต รวมถึงเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนารูปแบบการวิเคราะห์เพิ่มเติมสำหรับการวิจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในอนาคตต่อไป


[1] บทความนี้เป็นการศึกษาสืบเนื่องจากการค้นคว้าอิสระของหลักสูตรปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ (MBE) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เนื้อหาทั้งหมดเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลของผู้เขียนซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

[2] จากรายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2562 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางธุรกิจ กระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม

Social Media Listening Tool

ปัจจุบันธนาคารกลางทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการสื่อสารประชาสัมพันธ์เป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพราะการเผยแพร่ข้อมูลและความคิดเห็นของธนาคารกลาง เทียบได้กับการประชาสัมพันธ์และกิจกรรมด้านการตลาดของภาคเอกชน ทว่าความสำเร็จของธนาคารกลางไม่ได้แสดงโดยยอดขายหรือผลกำไร แต่เป็นการเสริมสร้าง  ความเข้าใจและความเชื่อมั่นจากภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป

ข้อมูลและข่าวสารที่ธนาคารกลางสื่อสารเผยแพร่สู่สาธารณะนั้น ในแต่ละปีมีปริมาณมาก ซึ่งในแต่ละหัวข้อ จะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทั้งจากสื่อแบบดั้งเดิมและสื่อในรูปแบบของโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นผู้นำไปขยายผลต่อยอดสู่ผู้อ่านและผู้ชมเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ ข่าวสารบางหัวข้อได้กลายเป็นกระแสสังคม และเกิดการพูดถึงและบอกต่อในโลกออนไลน์  ซึ่งเป็นไปตามที่ Robert J. Shiller ได้นำเสนอไว้อย่างน่าสนใจในบทความชื่อว่า “ราคาหุ้นและพลวัตรทางสังคม” (Stock Prices and Social Dynamics, 1984) ที่อธิบายว่าปรากฏการณ์ทางสังคมมีอิทธิพลต่อราคาหุ้นในลักษณะเช่นเดียวกับที่กระแสสังคมมีต่อแฟชั่น และควรมีการพัฒนาวิธีการวิเคราะห์กระแสสังคมที่เกิดจากข่าวที่เผยแพร่โดยธนาคารกลาง

แม้ในอดีต อาจจะต้องรอให้เกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้นก่อนจึงจะเห็นแนวโน้มของกระแสสังคมที่ตอบสนองในช่วงเวลาถัดมา แต่ปัจจุบัน การประเมินสถานการณ์หรือการพยากรณ์แนวโน้มของกระแสสังคมสามารถดำเนินการได้จากการวิเคราะห์รูปแบบของข้อมูลที่ส่งผ่านโซเชียลมีเดีย  ซึ่งการพัฒนาการวิเคราะห์ข้อมูลได้นำไปสู่เครื่องมือรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Social Media Listening Tool ที่รวบรวมรูปแบบการแพร่กระจายและรับรู้ข่าวสาร รวมถึงการแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้โซเชียลมีเดีย มาเป็นข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์ และยังสามารถศึกษาเพิ่มเติม เพื่อวิเคราะห์รูปแบบของกระแสสังคม ที่แสดงความคิดเห็นต่อข่าวสารหรือผลิตภัณฑ์ (Social Media Sentiment) และสามารถแสดงให้เห็นถึงผลตอบรับว่าเป็นไปในด้านบวกหรือด้านลบ

สำหรับการศึกษาครั้งนี้ใช้ข้อมูลและผลที่ได้จากเครื่องมือวิเคราะห์ที่ชื่อว่า Talkwalker ซึ่งสามารถรวบรวมข้อมูลข่าวสารและคอนเทนต์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ปรากฏผ่านสื่อออนไลน์[3] ซึ่งข้อมูลที่ได้ สามารถนำมาจัดในรูปแบบแผนผังของ Virality Map ซึ่งแสดงถึงการแพร่กระจายของข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์ในแต่ละรูปแบบในแต่ละช่วงเวลา และยังสามารถวิเคราะห์เพิ่มเติมและแสดงผลในรูปแบบของดัชนีแสดงทัศนคติ (Social Media Sentiment)[4] ซึ่งช่วยแสดงให้เห็นถึงการตอบสนองของสังคมต่อข่าวสารดังกล่าวว่าอยู่ในทัศนคติด้านบวกหรือลบ


[3] ข้อมูลจาก Talkwalker ประกอบด้วยข่าวออนไลน์บนเว็บไซต์ต่าง ๆ Twitter, blog และ Facebook Fan page (แต่อย่างไรก็ดี การใช้เครื่องมือ Talkwalker ยังไม่สามารถรวบรวมข้อมูลจากบัญชี Facebook ส่วนตัวได้)

[4] ดัชนีแสดงทัศนคติ (Social Media Sentiment) เป็นผลการคำนวณโดยการประมวลข่าวสารของ Talkwalker ด้วยวิธีการปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ซึ่งวิเคราะห์รูปแบบของคำและโครงสร้างเนื้อหา และแสดงผลเป็นร้อยละของข่าวสารที่เป็นทัศนคติด้านลบและด้านบวก

กรณีศึกษาที่ 1: ข่าวอัตราแลกเปลี่ยน

ในช่วงปี พ.ศ. 2562 เกิดความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ทั้งในด้านของการค้าระหว่างประเทศและการลงทุน และการส่งผลสืบเนื่องไปยังดุลบัญชีเดินสะพัด และความผันผวนของมูลค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงได้ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ซึ่งในกรณีของประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2562 อัตราแลกเปลี่ยนไปสู่ระดับ 29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ และสร้างความกังวลใจให้กับผู้ส่งออกเป็นอย่างมาก และทำให้สื่อมวลชนให้ความสนใจกับการตอบสนองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

การวิเคราะห์สามารถเริ่มต้นจากการเปรียบเทียบจำนวนข่าวที่ปรากฏผ่านสื่อต่างๆ ดังแสดงในตารางที่ 1 โดยจำนวนข่าวที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นสูงมากในช่วงที่อัตราแลกเปลี่ยนเริ่มได้รับความสนใจ ซึ่งจากคุณลักษณะนี้สามารถนำไปศึกษาต่อในรายละเอียดโดยการใช้ Virality Map ดังแสดงในรูปที่ 2

เดือนจำนวนข่าวอัตราแลกเปลี่ยนทั้งหมดที่ปรากฏในสื่อจำนวนข่าวที่เกี่ยวกับ ธปท.จำนวนข่าวอัตราแลกเปลี่ยนที่เกี่ยวกับ ธปท.
ตุลาคม 25621,98410976
พฤศจิกายน 25622,76417483
ธันวาคม 25622,73417165
มกราคม 25633,939223164
กุมภาพันธ์ 25632,0238717
ตารางที่ 1: แสดงจำนวนข่าวที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท ที่ได้จากการรวบรวมในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 – มีนาคม พ.ศ. 2563
ที่มา: การรวบรวมโดยผู้ศึกษา

ผลการวิเคราะห์ด้วย Virality Map ในรูปที่ 2 ได้แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้จำนวนของข่าวที่ปรากฏในสื่อต่างๆ จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี พ.ศ. 2562 แต่อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าลักษณะการแพร่กระจายของข่าวยังเป็นไปอย่างจำกัด และส่วนใหญ่ได้รับการส่งผ่านในรูปแบบของการรีทวีต (Re-tweet) ในทวิตเตอร์ ในขณะที่การส่งผ่านในสื่ออื่นๆ ยังเกิดขึ้นน้อยมาก ทั้งนี้เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างของลักษณะการแพร่กระจายแบบไวรัล (Viral) โดยรูปที่ 3 ได้แสดงให้เห็นถึงการแพร่กระจายในวงกว้างของข่าวเกี่ยวกับภาพยนต์เรื่อง Star War ซึ่งถูกกล่าวถึงและส่งต่อข้ามช่วงเวลา โดยถูกอ้างถึงข้ามรูปแบบของแพลตฟอร์มทำให้เกิดเป็นกระแสที่สาธารณชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

รูปที่ 2: Virality Map ของข่าวที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท
ที่มา: การวิเคราะห์โดยผู้ศึกษาโดยใช้ TalkWalker
รูปที่ 3: Virality Map ของข่าวที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ Star Wars
ที่มา: การรวบรวมโดยผู้ศึกษาโดยใช้ TalkWalker

นอกจากการวิเคราะห์ด้วย Virality Map ข้อมูลของการตอบสนองต่อข่าวดังกล่าวยังสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้โดยการนำดัชนีแสดงถึงระดับของทัศนคติต่อข่าวสาร (Social Media Sentiment) มาวิเคราะห์ความสัมพันธ์กับอัตราแลกเปลี่ยน (บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ) ด้วยวิธีการ Multiple Regression โดยใช้โปรแกรม STATA® ดังแสดงในตารางที่ 2[5]   ซึ่งผลวิเคราะห์นี้ แสดงความสัมพันธ์ที่มีนัยยะสำคัญทางสถิติใน 2 รูปแบบ โดยในรูปแบบที่ 1 ได้แสดงให้เห็นว่าดัชนีแสดงทัศนคติทางบวก (Positive_Sentiment) จะเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับ     การที่เงินบาทอ่อนตัวลง และในรูปแบบที่ 2 ได้แสดงให้เห็นว่าทัศนคติทางลบ (Negative_Sentiment) จะลดลงเมื่อค่าเงินเงินบาทอ่อนตัวลงเช่นกัน ในขณะที่จำนวนของข่าวที่เผยแพร่โดย ธปท. (BOT_News) และแหล่งข่าวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับค่าเงินบาท (Other_News)  ไม่มีความสัมพันธ์กับระดับค่าเงินบาทแต่อย่างใด

ตัวแปรอิสระค่าสัมประสิทธิ์ค่า p-valueข้อสรุปทางสถิติ
BOT_News-0.0050.113ไม่มีนัยยะสำคัญทางสถิติ
Other_News0.00080.161ไม่มีนัยยะสำคัญทางสถิติ
Positive_Sentiment0.0660.002มีนัยยะสำคัญทางสถิติ
Negative_Sentiment-0.0020.048มีนัยยะสำคัญทางสถิติ
ตารางที่ 2: ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างระดับอัตราแลกเปลี่ยนกับดัชนีแสดงระดับของทัศนคติต่อข่าวสาร โดยใช้ข้อมูลในช่วงตุลาคม พ.ศ. 2562 – กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
ตัวแปรตามคืออัตราแลกเปลี่ยน (บาท/ดอลล่าร์สหรัฐฯ)
ที่มา: การคำนวณของผู้ศึกษาโดยใช้ข้อมูลจาก TalkWalker และธนาคารแห่งประเทศไทย

[5] การจัดรูปแบบนำเสนอการวิเคราะห์ด้วย multiple regression นี้  ได้ปรับให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย หากผู้อ่านสนใจผลการคำนวณเพิ่มเติมและต้องการรายละเอียดทางเทคนิคทั้งหมด สามารถติดต่อผู้เขียนได้ที่  nattapong@econ.tu.ac.th และ monthien@econ.tu.ac.th

กรณีศึกษาที่ 2: ข่าวการผ่อนเกณฑ์มาตรการ LTV

ข่าวเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยเป็นข่าวที่มักจะได้รับความสนใจ เนื่องจากส่งผลโดยตรงต่อประชาชนโดยส่วนใหญ่   ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประกาศปรับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (หรือเรียกว่ามาตรการ Loan to Value: LTV) จากการวิเคราะห์จำนวนข่าวที่เกี่ยวข้องกับ LTV ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนข่าวดังกล่าว ในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2563

เดือนข่าวเกี่ยวกับ LTV ที่ปรากฏในสื่อจำนวนข่าวที่เกี่ยวกับ ธปท.จำนวนข่าว LTV ที่เกี่ยวข้องกับธปท.
ธันวาคม 25624093530
มกราคม 25631,085206170
กุมภาพันธ์ 2563349205
ตารางที่ 3: จำนวนข่าวเกี่ยวกับ LTV ที่ได้จากการรวบรวมในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 – กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
ที่มา: การรวบรวมโดยผู้ศึกษา

เมื่อวิเคราะห์รูปแบบความแพร่กระจายของข่าว (ดังแสดงในรูปที่ 4)  พบว่ามีการส่งผ่านในหลากหลายช่องทางมากกว่ากรณีของข่าวอัตราแลกเปลี่ยน  แต่อย่างไรก็ดี การแพร่กระจายของข่าวยังเป็นไปอย่างจำกัดและยังไม่เกิดการส่งข้ามแพลตฟอร์ม

รูปที่ 4: Virality Map ของข่าวที่เกี่ยวข้องกับมาตรการ LTV
ที่มา: การวิเคราะห์โดยผู้ศึกษาโดยใช้ TalkWalker

จากข้อมูลการส่งผ่านและกระจายตัวของข่าวดังกล่าวที่ถูกส่งผ่านสื่อออนไลน์ประเภทต่างๆ การวิเคราะห์ยังสามารถศึกษาความสัมพันธ์เพิ่มเติมได้ โดยการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์กับดัชนีแสดงถึงระดับของทัศนคติต่อข่าวสาร (Social Media Sentiment) ด้วย multiple regression ซึ่งผลที่แสดงในตารางที่ 4[6] ได้แสดงให้เห็นว่า ดัชนีราคาหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์มีความสัมพันธ์กับค่าดัชนีแสดงทัศนคติทางลบ (Negative_Sentiment) อย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ โดยหากดัชนีดังกล่าวมีค่าสูงขึ้น จะทำให้ดัชนีราคาหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ลดลง  แต่อย่างไรก็ดี จำนวนข่าวจากแหล่งข่าวอื่น ๆ ที่เผยแพร่ข่าวเกี่ยวข้องกับมาตรการ LVT (Other_News) และค่าดัชนีแสดงทัศนคติทางบวก (Postitive_Sentiment)  ไม่มีความสัมพันธ์กับดัชนีราคาหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์แต่อย่างใด

ตัวแปรอิสระค่าสัมประสิทธิ์ค่า p-valueข้อสรุปทางสถิติ
BOT_News0.0310.848ไม่มีนัยยะสำคัญทางสถิติ
Other_News-0.0150.695ไม่มีนัยยะสำคัญทางสถิติ
Positive_Sentiment0.2280.621ไม่มีนัยยะสำคัญทางสถิติ
Negative_Sentiment-0.7540.026มีนัยยะสำคัญทางสถิติ
ตารางที่ 4: ผลความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีราคาหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และข่าวเกี่ยวกับมาตรการ LTV ช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 – มกราคม พ.ศ. 2563
ตัวแปรตามคือดัชนีราคาหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
ที่มา: การคำนวณของผู้ศึกษาโดยใช้ข้อมูลจาก TalkWalker และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

[6] เช่นเดียวกับกรณีของตารางที่ 3  ผู้ศึกษาได้ปรับให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย หากผู้อ่านสนใจรายละเอียดทางเทคนิคทั้งหมด สามารถติดต่อผู้เขียนได้ที่  nattapong@econ.tu.ac.th และ monthien@econ.tu.ac.th

กรณีศึกษาที่ 3: ข่าวเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ

จากปัจจัยของผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ ทั้งจากปัญหาภัยแล้ง โรคระบาด การเมืองและงบประมาณ สงครามการค้า รวมถึงการระบาดของโควิด-19 และอื่นๆ ทำให้ข่าวภาวะเศรษฐกิจได้รับความสนใจจากประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ช่วงปลายปี พ.ศ. 2561 จนถึงไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ. 2563 การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง และส่งผลทำให้การติดตามและการส่งผ่านข่าวเกี่ยวภาวะเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

ช่วงเวลาข่าวภาวะเศรษฐกิจที่ปรากฏในสื่อจำนวนข่าวที่เกี่ยวกับ ธปท.จำนวนข่าวภาวะเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับ ธปท.
กุมภาพันธ์ 25634,471310224
มีนาคม 25636,868309178
ตารางที่ 5: จำนวนข่าวเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจได้จากการรวบรวมในเดือนกุมภาพันธ์–มีนาคม พ.ศ. 2563
ที่มา: การรวบรวมโดยผู้ศึกษา

เพื่อศึกษารูปแบบการแพร่กระจายของข่าวผ่านสื่อออนไลน์ ผลจากการวิเคราะห์ด้วย Virality Map ดังรูปที่ 5 แสดงให้เห็นข่าวดังกล่าวได้รับความสนใจและได้รับการแพร่กระจายข้ามแพลตฟอร์มมากกว่าในกรณีของข่าวอัตราแลกเปลี่ยนและข่าวการผ่อนเกณฑ์มาตรการ LTV ซึ่งแสดงถึงความสนใจของสาธารณะต่อข่าวดังกล่าวในระดับสูง

รูปที่ 5: Virality Map ของข่าวที่เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจ
ที่มา: การวิเคราะห์โดยผู้ศึกษาโดยใช้ TalkWalker

การวิเคราะห์ยังสามารถครอบคลุมถึงการใช้ประโยชน์ของข่าวสารที่เผยแพรผ่านสื่อต่างๆ ข้อมูลจากดัชนีแสดงทัศนคติต่อข่าวสาร (Social Media Sentiment) ได้ถูกนำมาวิเคราะห์ความสัมพันธ์กับดัชนี SET100 ซึ่งแสดงระดับราคาของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยที่มีมูลค่าตลาดสูงสุด 100 บริษัท โดยการวิเคราะห์ด้วย Multiple Regression แสดงในตารางที่ 5[7] และผลที่ได้แสดงให้เห็นว่าข่าวที่เผยแพร่โดย ธปท. มีความสัมพันธ์เชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อการเปลี่ยนแปลงดัชนี  SET100 ในขณะที่ข่าวเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่เผยแพร่โดยแหล่งข่าวอื่นๆ มีความสัมพันธ์ในทิศทางลบกับดัชนี SET100 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน  และเมื่อเปรียบเทียบค่าสัมประสิทธิ์จะเห็นได้ว่าข่าวจาก ธปท. มีค่าสัมประสิทธิ์ที่แสดงผลต่อ SET100 มากกว่าประมาณ 10 เท่า ซึ่งสะท้อนถึงระดับผลกระทบของเนื้อหาและข้อมูลที่เผยแพร่ต่อการประเมินแนวโน้มของผลประกอบการและมูลค่าหลักทรัพย์  ทั้งนี้ ผลของการวิเคราะห์ยังแสดงให้เห็นว่า ค่าดัชนีแสดงทัศนคติทางลบ (Negative_Sentiment) มีความสัมพันธ์เชิงบวกอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติต่อการเปลี่ยนแปลงดัชนี  SET100 เช่นกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจเนื่องจากโดยปกติทิศทางของความสัมพันธ์ควรจะเป็นลบ (ทัศนคติในด้านลบมากขึ้น ส่งผลต่อราคาหุ้นลดลง) แต่ผลจากการคำนวณนี้เป็นค่าบวก ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติมถึงปัจจัยทั้งหมดที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ดังกล่าว

ตัวแปรอิสระค่าสัมประสิทธิ์ค่า p-valueข้อสรุปทางสถิติ
BOT_News7.9560.051มีนัยยะสำคัญทางสถิติ
Other_News-0.7600.001มีนัยยะสำคัญทางสถิติ
Positive_Sentiment-4.6380.263ไม่มีนัยยะสำคัญทางสถิติ
Negative_Sentiment6.4050.003มีนัยยะสำคัญทางสถิติ
ตารางที่ 5: ผลความสัมพันธ์ระหว่างดัชนี SET100 และข่าวเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจเดือนมกราคม – มีนาคม พ.ศ. 2563
ตัวแปรตามคือดัชนี SET100
ที่มา: การคำนวณของผู้ศึกษาโดยใช้ข้อมูลจาก TalkWalker และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

[7] เช่นเดียวกับกรณีของตารางที่ 3  และ 4 ผู้ศึกษาได้ปรับให้ผลการวิเคราะห์อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย หากผู้อ่านสนใจรายละเอียดของผลการคำนวณและรายละเอียดอื่น ๆ เชิงเทคนิคทั้งหมด สามารถติดต่อผู้เขียนได้ที่  nattapong@econ.tu.ac.th และ monthien@econ.tu.ac.th

สรุปผลและข้อเสนอแนะ

ผลจากการศึกษานี้ได้นำเสนอตัวอย่างแนวทางการประยุกต์ใช้เครื่องมือ TalkWalker ในการวิเคราะห์ 3 กรณีศึกษา ได้แก่ (1) กรณีของข่าวอัตราแลกเปลี่ยน (2) กรณีของข่าวการผ่อนเกณฑ์มาตรการ Loan to Value Ratio (LTV) กับราคาหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และ (3) กรณีของข่าวภาวะเศรษฐกิจกับดัชนี SET100 ผลการวิเคราะห์ได้แสดงให้เห็นว่าการใช้ Virality Map เพื่อศึกษาลักษณะการแพร่กระจายของข่าวสารผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลา และการประยุกต์ใช้ดัชนีแสดงทัศนคติต่อข่าวสาร (Social Media Sentiment) สามารถแสดงถึงรายละเอียดเชิงลึกของบทบาทของข่าวสารที่แพร่กระจายและส่งผลกระทบได้โดยละเอียด

ทั้งนี้ การประเมินประสิทธิภาพและผลกระทบจากการเผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลในอดีตอาจทำได้อย่างจำกัด เพราะเป็นเทคโนโลยีของการสื่อสารเป็นไปในทิศทางเดียว ซึ่งหากเป็นกรณีของภาคเอกชน อาจจะสามารถประเมินประสิทธิภาพของการสื่อสารได้จากยอดขาย แต่ในกรณีของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรไม่แสวงผลกำไรนั้น การประเมินอาจไม่สามารถทำได้โดยสะดวก แต่อย่างไรก็ดี การแพร่หลายของการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ ทำให้สามารถติดตามและประเมินผลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งจากข้อมูลที่มีอยู่อย่างหลากหลายรูปแบบบนแพลตฟอร์มต่างๆ และเครื่องมือที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถวิเคราะห์และประเมินผลกระทบได้ในหลายมิติ  จากแนวโน้มดังกล่าวนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเศรษฐกิจจึงควรพัฒนาให้มีการติดตามประสิทธิภาพ และผลกระทบของการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงระบบการสื่อสารด้านนโยบายต่อสาธารณะ

จากการศึกษานี้ พบว่าข้อจำกัดประการสำคัญในปัจจุบัน คือ การนำเครื่องมือ Social Media Listening Tools มาใช้ในการวิเคราะห์ข่าวเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพราะความละเอียดอ่อนของอารมณ์มนุษย์และความซับซ้อน ของการใช้ภาษายังคงเป็นอุปสรรคในการวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยี แต่การพัฒนาเรื่องดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อไป และเป็นที่คาดว่าในอนาคต ความแม่นยำของผลที่ได้จะช่วยให้ธนาคารกลางและหน่วยงานด้านนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ สามารถพัฒนาเนื้อหา รูปแบบ และช่องทางการสื่อสารที่สอดคล้องกับละเอียดอ่อนของอารมณ์มนุษย์และช่วยทำให้เกิดเสถียรภาพและประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจต่อไป

พิมพ์วรีย์ กิตติสารกุล

พิมพ์วรีย์ กิตติสารกุล
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ผู้เขียน

ผศ. ดร.มณเฑียร สติมานนท์

ผศ. ดร.มณเฑียร สติมานนท์
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้เขียน

ผศ. ดร. ณัฐพงษ์ พัฒนพงษ์

ผศ. ดร. ณัฐพงษ์ พัฒนพงษ์
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้เขียน