มาตรการการเงินการคลังอาเซียนในช่วงวิกฤตการณ์ COVID-19

มาตรการการเงินการคลังอาเซียนในช่วงวิกฤตการณ์ COVID-19

บทความโดย
นางสาวกฤตพร ศิริใจชิงกุล

ปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) ได้ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) โดย ณ วันที่ 14 กรกฎาคม 2563 WHO ได้รายงานยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั่วโลกว่ามีจำนวนรวมเกือบ 13 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตรวมแล้วเกือบ 600,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

วิกฤตการณ์ COVID-19 ครั้งนี้ ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชากรโลกอย่างชัดเจนและรวดเร็วที่สุด เพียงในช่วงไม่กี่เดือน ผู้คนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิตจากที่เคยปฏิบัติ ผู้คนต้องหยุดเดินทางและการติดต่อระหว่างกัน รวมถึงการสัมผัสกันอย่างใกล้ชิด เกิดความตื่นตัวในด้านการรักษาสุขอนามัย ผู้คนต้องปรับตัวเข้าสู่การทำงานหรือการเรียนผ่านระบบออนไลน์ ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างมากมายมหาศาล บางอุตสาหกรรมต้องปรับตัวไปการดำเนินธุรกิจแบบแพลตฟอร์มดิจิทัล หลายอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงักลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมบริการ อุตสาหกรรมไมซ์ (MICE)[1] เป็นต้น ดังนั้น

ในเวลานี้ ภาครัฐของทุกประเทศจึงต้องดำเนินนโยบายการเงินการคลังเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้มีความมั่นคงเพียงพอที่จะสามารถนำพาประเทศผ่านช่วงเวลาวิกฤตินี้ไปได้


[1]อุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ การประชุมองค์กร (Meetings) การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล (Incentive Travels) การประชุมวิชาชีพนานาชาติ (Conventions) และการแสดงสินค้าและนิทรรศการนานาชาติ (Exhibitions)

บทความฉบับนี้ผู้เขียนจะขอนำเสนอผลกระทบที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียน และบทบาทของรัฐบาลประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศในการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสนี้

ภาพที่ 1 จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศสมาชิกอาเซียน
ที่มา: OurWorldInData.org/coronavirus
ภาพที่ 2 จำนวนผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ในประเทศสมาชิกอาเซียน
ที่มา: OurWorldInData.org/coronavirus

1.เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 คืออะไร?

เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ SARS-CoV-2 เริ่มแพร่ระบาดในช่วงเดือนธันวาคม 2563 จากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเชื้อไวรัสดังกล่าวเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในตระกูลของไวรัสโคโรนาที่ทำให้เกิดโรคในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนก อาการป่วยอาจมีตั้งแต่โรคไข้หวัดธรรมดาไปจนถึงโรคที่มีความรุนแรงมาก เช่น โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS-CoV) ที่มีการระบาดในปี 2545 – 2546 และโรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS-CoV) ที่มีการระบาดในปี 2555 – 2557 เป็นต้น[2] ไวรัสโคโรนาเป็นชื่อที่มาจากภาษาละตินที่แปลว่า มงกุฎ เนื่องจากลักษณะของเชื้อไวรัสเมื่อส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนมีลักษณะเหมือนมีมงกุฎล้อมรอบอนุภาคไวรัส[3] ดังภาพที่ 3

แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่สามารถยืนยันแหล่งกำเนิดของเชื้อไวรัสชนิดที่แพร่ระบาดมาสู่คนได้ แต่มีการเปรียบเทียบสารพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาจากคนและสัตว์ต่างๆ พบว่า SARS-CoV-2 เป็นไวรัสที่เกิดจากการผสมสารพันธุกรรมระหว่างไวรัสโคโรนาของค้างคาวกับไวรัสโคโรนาของงูเห่า จึงมีข้อสันนิษฐานว่า งูอาจเป็นพาหะของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากค้างคาวมาสู่คน

ภาพที่ 3 ภาพจำลองของ SARS-CoV-2
ที่มา: ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention) สหรัฐอเมริกา

อาการของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มักจะได้แก่ อาการระบบทางเดินหายใจ มีไข้ ไอ หายใจถี่ หายใจลำบาก ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบไตวาย หรืออาจเสียชีวิต ซึ่งการรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการเพื่อบรรเทาอาการป่วยต่างๆ โดยปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค[4] วิธีการที่ดีที่สุดในขณะนี้คือการลดความชันของกราฟจำนวนผู้ติดเชื้อ (Flatten the Curve) หรือการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลให้เข้มข้นขึ้น เพื่อให้จำนวนผู้ติดเชื้อมีความเหมาะสมกับศักยภาพของระบบสาธารณสุข และระบบสาธารณสุขสามารถให้การรักษาผู้ติดเชื้อได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะเป็นการลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดในวงกว้างด้วย


[2] กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (2020)
[3] ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (2020)
[4] กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (2020)

2. Pandemic ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

จากอดีตที่ผ่านมา มนุษยชาติได้มีการบันทึกว่ามีการเกิดโรคระบาดใหญ่ทั่วโลกมาแล้วหลายครั้ง โดยก่อนการระบาดของ COVID-19 ได้เกิดโรคระบาดใหญ่ทั่วโลกที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจมาแล้วถึง 4 ครั้ง คือ

2.1 การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส H1N1 หรืออีกชื่อหนึ่งที่เป็นที่รู้จักคือ Spanish Flu ในปี 2461 – 2462 ซึ่งเป็นครั้งที่นับว่ารุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ คร่าชีวิตประชากรของโลกประมาณ 20-50 ล้านคน และในช่วงนั้นยังไม่สามารถผลิตยารักษาหรือวัคซีนต้านไวรัสออกมาได้ จึงมีเพียงความพยายามในการควบคุมโรคด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การกักกัน (Quarantine) การดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล การฆ่าเชื้อ และการงดเว้นการรวมตัวกัน เป็นต้น

2.2 โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A จากเชื้อไวรัส H2N2 หรือที่รู้จักในอีกชื่อว่า Asian Flu ในปี 2500 – 2501 แม้ว่าโรคระบาดครั้งนี้ไม่รุนแรงเท่ากับ Spanish Flu แต่ก็สังเวยชีวิตประชากรทั่วโลกไปกว่า 1.1 ล้านคน

2.3 โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A จากเชื้อไวรัส H3N2 ในปี 2511 มีผู้เสียชีวิตจากการระบาดครั้งนี้อีกกว่า 1 ล้านคน แต่หลังจากนั้นเชื้อไวรัส H3N2 ก็มีการแพร่ระบาดในทั่วโลกในลักษณะของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ตามฤดูกาล

2.4 โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A จากเชื้อไวรัส H1N1 หรือ Swine Flu ในปี 2552 เป็นการระบาดครั้งแรกที่หลายประเทศได้มีการจัดทำแผนเพื่อรับมือโรคระบาดใหญ่ทั่วโลกที่ระบุถึงมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อลดการเจ็บป่วยและการเสียชีวิต และที่สำคัญยังเป็นครั้งแรกที่สามารถพัฒนาและแจกจ่ายวัคซีนป้องกันโรคระบาดไปในหลายประเทศได้ตั้งแต่ช่วงปีแรกของการแพร่ระบาด

สังเกตได้ว่า การแพร่ระบาดของแต่ละครั้งของโรคระบาดใหญ่ทั่วโลกกินเวลานานนับปี คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก แม้ว่าปัจจุบันหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลกกำลังเร่งพัฒนาและทดลองวัคซีนป้องกันโรคและยารักษาโรค COVID-19 อย่างไรก็ดี Imperial College COVID-19 Response Team ได้เผยแพร่รายงานซึ่งระบุว่า การพัฒนาวัคซีนอาจใช้เวลายาวนานถึง 18 เดือน และในช่วงเวลาที่ยังไม่มีวัคซีน จำเป็นจะต้องดำเนินมาตรการเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อ อาทิ การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) การกักกันเพื่อสังเกตอาการป่วย (Quarantine) ต่อเนื่องไปก่อน ซึ่งการดำเนินมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนและของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ความรับผิดชอบของรัฐบาลแต่ละประเทศในเวลานี้จึงไม่จำกัดเฉพาะด้านสาธารณสุข แต่ยังรวมถึงการช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย

3. ผลกระทบทางเศรษฐกิจของ COVID-19

การแพร่ระบาดของของโรค COVID-19 ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีนส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคแรกที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีความใกล้ชิดในด้านภูมิศาสตร์ และความเชื่อมโยงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) รัฐบาลประเทศสมาชิกอาเซียนจึงมีความจำเป็นต้องประกาศใช้มาตรการทางสังคมรูปแบบต่างๆ เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019[5] อาทิ


[5] The Organisation for Economic Co-operation and Development (2020)

มาตรการจำกัดการเดินทางข้ามเมืองภายในประเทศ และมาตรการห้ามการเดินทางเข้า-ออกประเทศ (Travel Bans) เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากต่างประเทศ โดยบางประเทศอาจจำกัดการเดินทางเข้า-ออกเฉพาะจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 สูง อย่างไรก็ดี หลายประเทศอาจเลือกใช้มาตรการปิดพรมแดน (Border Closure) จำกัดการเข้า-ออกจากทุกประเทศทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งมาตรการนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเดินทางของประชาชน และเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการโรงแรมและการต้อนรับ (Hospitality Business) รวมถึงการนำเข้าและส่งออกสินค้าและวัตถุดิบ ส่งผลให้สินค้าบางประเภทขาดแคลนและอุตสาหกรรมการผลิตบางแห่งต้องหยุดชะงักเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แน่นอนว่า อุตสาหกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นแหล่งรายได้ของหลายล้านครัวเรือนทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน

มาตรการข้างต้นเป็นมาตรการที่ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศได้เริ่มประกาศใช้ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2563 แม้ว่าขณะนี้ในเดือนกรกฎาคม 2563 นับเป็นเวลากว่า 4 เดือนแล้ว บางประเทศได้มีการประกาศผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางดังกล่าว โดยอนุญาตให้สนามบินและด่านชายแดนกลับมาเปิดให้บริการบางส่วน แต่รัฐบาลก็ยังไม่แนะนำให้ประชาชนเดินทางระหว่างประเทศในช่วงเวลานี้ รวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังไม่มั่นใจที่จะเดินทางหากไม่มีความจำเป็น ดังนั้น ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจึงอยู่ในจุดที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ เมื่อเปรียบเทียบบริการเที่ยวบินของสายการบินพาณิชย์ทั่วโลก ข้อมูลบ่งชี้ว่า ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคม 2563 สายการบินพาณิชย์ทั่วโลกทยอยลดจำนวนเที่ยวบินที่ให้บริการ จนกระทั่งในช่วงเดือนเมษายน 2563 เที่ยวบินพาณิชย์ทั่วโลกที่เปิดให้บริการลดลงมากกว่าร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562[6] บริษัทที่ปรึกษาด้านสายการบิน CAPA Centre for Aviation ยังได้ออกบทวิเคราะห์ว่า ธุรกิจสายการบินส่วนใหญ่ทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะล้มละลายในเดือนพฤษภาคม 2563 เครื่องบินเกือบทั้งหมดถูกจอดทิ้ง เที่ยวบินถูกยกเลิกและผู้โดยสารขอเงินคืน อีกทั้งยังไม่มีการจองเที่ยวบินใหม่เข้ามา เว้นแต่ว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล[7]


[6] EUROCONTROL (2020)
[7] CAPA Centre for Aviation (2020)

มาตรการกักกัน (Quarantine) เพื่อกันผู้ที่มีความเสี่ยงว่าจะติดเชื้อออกจากสังคมเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน เช่น ผู้สัมผัสโรคหรืออาจเป็นพาหะ ผู้ที่กลับจากการเดินทางจากต่างประเทศ เป็นต้น ดังนั้น ผู้ที่ต้องกักกันตัวเองจะไม่สามารถเดินทางไปทำงานที่ทำงานได้หรือใช้ชีวิตตามปกติที่พบปะผู้คนได้ ผลกระทบนี้จึงตกหนักกับผู้ที่มีรายได้รายวันที่จะต้องหยุดทำงานและขาดรายได้นานถึง 2 สัปดาห์ สำหรับสถานที่ที่ถูกพบว่าเป็นแหล่งแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ก็จำเป็นต้องมีการปิดสถานที่เพื่อทำความสะอาดและกักกันผู้ใช้บริการสถานที่แห่งนั้นในช่วงเวลานั้นเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน เพื่อสังเกตอาการป่วย มาตรการนี้จึงไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้ที่ต้องกักกัน แต่ยังทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายของการปิดกิจการแก่เจ้าของกิจการอีกด้วย

มาตรการปิดประเทศ (Lockdown) ครอบคลุมทั้งการจำกัดการเดินทางข้ามเขตภายในประเทศ และการปิดสถานที่ที่มีผู้คนมาใช้บริการต่อวันจำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ร้านอาหาร สถานบันเทิง สถานบริการด้านความงาม สถานศึกษา สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา สวนสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย สถานที่ทำงานที่พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านได้ รวมไปถึงมาตรการห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน (Curfew) ในช่วงเวลากลางคืนในประเทศไทย โดยรัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศประกาศเป็นคำสั่งสำหรับทั้งประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ประเทศไทย และบางประเทศประกาศมาตรการ Lockdown อย่างเข้มงวดเฉพาะในเมืองใหญ่ของประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ การเริ่มใช้มาตรการดังกล่าวของแต่ละประเทศเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน การที่ธุรกิจหลายประเภทต้องถูกปิดแบบชั่วคราว หรือไม่สามารถให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบและยอดขายที่หายไปทำให้บางธุรกิจจำเป็นต้องปิดตัวลงอย่างถาวร

ผลกระทบจากมาตรการทางสังคมที่เกิดขึ้นกับการดำเนินชีวิตของประชาชนที่ได้กล่าวไปข้างต้น แน่นอนว่า จะต้องส่งผลกระทบถึงภาพใหญ่ของประเทศและของภูมิภาค ดังนั้นผู้เขียนจะขอกล่าวถึงผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวม ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดการเงิน รวมถึงภาคธุรกิจและครัวเรือน ดังนี้

3.1 ผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมหภาค

เมื่อเดือนมกราคม 2563 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2563 จะเติบโตที่ร้อยละ 3.3 แต่หลังจากการคาดการณ์ดังกล่าว สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 กลับทวีความรุนแรงขึ้นกระทั่งในเดือนเมษายน 2563 IMF ได้ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2563 เป็นร้อยละ -3 โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ของประเทศสมาชิกอาเซียนในรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย (Asian Development Outlook) ปี 2563 เป็นร้อยละ 1 จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.7 และสำหรับประเทศไทย จากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 3.2 ถูกปรับลดลงเป็นร้อยละ -4.8 ทั้งนี้ ตัวเลขอัตราการเติบโตของ GDP ในปี 2563 ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ของประเทศสมาชิกอาเซียน มีรายละเอียดดังภาพที่ 4

ภาพที่ 4 การคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP ของประเทศสมาชิกอาเซียนในปี 2563
ที่มา: ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) รวบรวมโดยผู้เขียน

หากตัวเลขอัตราการเติบโตของ GDP ของปี 2563 เป็นดังคาดการณ์ของธนาคารพัฒนาเอเชีย จะทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย ปี 2540 หรือที่เรียกกันอย่างคุ้นหูในประเทศไทยว่า วิกฤติต้มยำกุ้ง (ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม) และวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ ในช่วงปี 2550 – 2551 หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (ได้แก่ กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์) ดังนั้น ความรุนแรงของวิกฤติโรคระบาดในครั้งนี้เป็นเหตุการณ์สำคัญที่มนุษยชาติต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์อีกครั้ง

3.2 ผลกระทบต่อตลาดการเงิน

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะกระทบภาคการผลิตและการบริการเท่านั้น ยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อภาคการเงินด้วย เมื่อภาคธุรกิจจำนวนมากต้องปิดกิจการชั่วคราวและภาคครัวเรือนมีรายได้ลดลงย่อมทำให้เกิดความความเสี่ยงต่อผลประกอบการของธุรกิจและการผิดนัดชำระหนี้ประเภทต่างๆ มากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำให้นักลงทุนในตลาดการเงินเกิดความไม่มั่นใจ ประกอบกับยังไม่ทราบแน่ชัดว่า การแพร่ระบาดของไวรัสนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด ส่งผลให้ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกมีความผันผวน โดยสถานการณ์ของตลาดหลักทรัพย์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 นั้น ดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก รวมถึงตลาดหลักทรัพย์อาเซียนลดลงอย่างรุนแรงในช่วงเดือนมีนาคม เช่น เมื่อวันที่ 12 และ 13 มีนาคม 2563 ดัชนีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงลดลงถึงร้อยละ 10 ของค่าดัชนีปิดในวันทำการก่อนหน้า ทำให้ต้องพักการซื้อขายหลักทรัพย์ (Circuit Breaker) เป็นระยะเวลา 30 นาที และเมื่อวันที่ 17 – 18 มีนาคม 2563 ตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์ (The Philippine Stock Exchange) ได้ปิดการซื้อขายหลักทรัพย์หลังจากดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ลดต่ำที่สุดในรอบ 11 ปี นอกจากนี้ มูลค่าของตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียและเวียดนามก็ปรับลดลงอย่างมากเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น เงินสกุลหลักในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ บาทไทย รูเปียอินโดนีเซีย และดอลลาร์สิงคโปร์ ก็อ่อนค่าลงมากอีกด้วย

3.3 ผลกระทบต่อภาคธุรกิจและครัวเรือน

จากการที่รัฐบาลต้องประกาศใช้มาตรการทางสังคมรูปแบบต่างๆ ข้างต้น เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนได้รับผลกระทบโดยตรงทันที โดยเฉพาะมาตรการ Lockdown ที่สั่งปิดกิจการที่เป็นจุดเสี่ยงจะแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาเป็นการชั่วคราว กิจการเหล่านั้นจึงขาดรายได้และอาจประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ตามมาด้วยการหยุดการจ้างงาน ส่งผลให้หลายครัวเรือนต้องประสบปัญหาขาดแคลนรายได้และปัญหาการว่างงาน นอกจากนี้ แรงงานนอกระบบ แรงงานรายวัน และผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ ก็ประสบปัญหาดังกล่าวเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19

ประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศมีการพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ เช่น กัมพูชา (ร้อยละ 32.8) ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 24.7) และไทย (ร้อยละ 21.6) ดังตารางที่ 1 ทำให้สามประเทศนี้ถือว่าเป็นประเทศที่มีความเปราะบางมากที่สุดในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน โดยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศสมาชิกอาเซียนพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวชาวเอเชียตะวันออกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เมื่อมีการแพร่ระบาดของไวรัสนี้ในประเทศจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้อย่างรุนแรงในระยะแรก ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศจำกัดการเดินทางเข้าและออกจากสามประเทศนี้ จึงทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบรุนแรงเป็นอุตสาหกรรมแรก ด้วยเหตุนี้ มาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในระยะแรกจึงมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือธุรกิจและแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร สายการบิน รวมถึงธุรกิจขนาดเล็ก

อีกหลักฐานหนึ่งที่ชี้ชัดว่า ภาคครัวเรือนได้รับกระทบอย่างมากจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ คือ จำนวนผู้ว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกคาดการณ์ว่า การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อาจทำให้มีจำนวนประชากรโลกเข้าสู่ภาวะยากจนขั้นรุนแรง (Extreme Poverty) เพิ่มขึ้นประมาณ 50 ล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศแถบภาคเอเชียและแอฟริกาที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าและมีจำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้นมากกว่าประเทศในแถบภูมิภาคอื่น

ตารางที่ 1 รายได้จากการเดินทางและการท่องเที่ยวของประเทศสมาชิกอาเซียนในปี 2561
ที่มา: สำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat)

4. การดำเนินมาตรการการเงินการคลังของประเทศสมาชิกอาเซียน

รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกต่างพยายามผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนด้านสาธารณสุขและกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาค รวมถึงออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบของภาคธุรกิจและประชาชนในช่วงการปิดเมือง (Lockdown) การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ประเทศสมาชิกอาเซียนก็ได้ออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังหลายรูปแบบเพื่อลดผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 เช่น

  • มาตรการด้านภาษีสำหรับบุคคลธรรมดาและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprises: MSMEs) และธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราภาษี การยกเว้นภาษี หรือการขยายระยะเวลายื่นแบบรายการภาษีและการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและเงินได้นิติบุคคล รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีหัก ณ ที่จ่าย เพื่อเป็นการลดภาระภาษีและเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ประชาชน
  • การจ่ายเงินอุดหนุนแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพ หรือประชาชนที่มีรายได้น้อย เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีพผ่านพ้นช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไปได้
  • การเพิ่มค่าตอบแทนหรือการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับโรค COVID-19 อาทิ การเพิ่มค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัย (Hazard Pay) ของบุคลากรทางการแพทย์
  • การลด การยกเว้น หรือการขยายเวลาชำระค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านรายจ่ายให้แก่ประชาชน
  • โครงการสินเชื่อและโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่ให้เงินกู้แก่ประชาชนและธุรกิจ โดยเฉพาะ MSMEs ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อเพิ่มสภาพคล่องเป็นการชั่วคราวในการดำรงชีวิตและประคองธุรกิจ
  • มาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้สินเชื่อรายย่อยและลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจ อาทิ การผ่อนปรนหลักเกณฑ์การชำระหนี้ การพักชำระเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ย การลดอัตราดอกเบี้ย การยกเว้นค่าธรรมเนียมธนาคาร เป็นต้น
  • มาตรการให้ความช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างในการนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม โดยมีมาตรการทั้งการปรับลดการจ่ายเงินสมทบ และการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบเพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้าง และลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่นายจ้าง
  • การผ่อนคลายมาตรการการเงิน เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งแต่ละประเทศอาจมีการดำเนินมาตรการเพื่อผ่อนคลายนโยบายด้านการเงินที่แตกต่างกันออกไป อาทิ การปรับลดอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (Reserve Requirement) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารกลางแต่ละประเทศ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรืออัตราดอกเบี้ยอ้างอิงเพื่อลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 การเข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนให้ค่าเงินอ่อนลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นต้น
  • การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับพันธบัตรโดยธนาคารกลางเพื่อบริหารจัดการสภาพคล่องของตลาดการเงิน อาทิ การออกนโยบายซื้อหลักทรัพย์หรือพันธบัตรของรัฐบาล เป็นต้น

นอกเหนือจากความพยายามของแต่ละประเทศแล้ว ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนยังได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน และการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) และได้ออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนและอาเซียน+3 ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 และลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาค รวมถึงสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 ของอาเซียน (COVID-19 ASEAN Response Fund) โดยจัดสรรเงินจากกองทุนความร่วมมืออาเซียน+1 และอาเซียน+3 ที่มีอยู่แล้วสำหรับโครงการด้านสาธารณสุข รวมถึงสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 เพื่อเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินในภูมิภาค และมาตรการริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation) เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพทางการเงินในภูมิภาค

IMF ได้มีการจัดทำเครื่องมือติดตามมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อตอบโต้การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ของประเทศต่างๆ โดยมาตรการด้านการเงินการคลังรายประเทศของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน[8] มีดังนี้


[8] ข้อมูล ณ วันที่ 11 มิถุนายน 2563

4.1 บรูไนดารุสซาลาม

กระทรวงการคลังและเศรษฐกิจของบรูไนร่วมกับธนาคารกลางบรูไนได้ออกมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือ MSMEs และครัวเรือนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโรค COVID-19 ประกอบด้วย มาตรการด้านภาษี มาตรการด้านสินเชื่อ และการชะลอการนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมแก่ลูกจ้าง เป็นเวลา 6 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นมูลค่ารวม 450 ล้านดอลลาร์บรูไน (ประมาณ 316 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือประมาณร้อยละ 3.2 ของ GDP บรูไน

4.2 กัมพูชา

รัฐบาลกัมพูชาได้ประกาศมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโรค COVID-19 วงเงินรวมประมาณ 470 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมาตรการจะมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ผู้ว่างงาน ชาวนา และภาคธุรกิจ

ธนาคารกลางกัมพูชาได้ใช้มาตรการทางการเงินเพื่อปรับปรุงสภาพคล่องของระบบธนาคาร ได้แก่ การประกาศปรับลดอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องแก่สถาบันการเงินภายใต้กำกับของธนาคารกลางกัมพูชาจากร้อยละ 8 สำหรับเงินสกุลท้องถิ่น และร้อยละ 12.5 สำหรับเงินสกุลต่างประเทศ เป็นร้อยละ 7 สำหรับทั้งเงินสกุลท้องถิ่นและเงินสกุลต่างประเทศ เป็นเวลา 6 เดือน และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง เริ่มมีผลในเดือนเมษายน 2563

4.3 อินโดนีเซีย

รัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังแล้ว 3 ชุด มูลค่ารวม 677.2 ล้านล้านรูเปียอินโดนีเซีย (ประมาณ 47,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือประมาณร้อยละ 4.2 ของ GDP อินโดนีเซีย มาตรการหลัก ได้แก่ โครงการ Sembako Murah เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและผู้ว่างงาน มาตรการผ่อนปรนด้านภาษีสำหรับบุคคลธรรมดาและภาคธุรกิจ และมาตรการด้านสินเชื่อสำหรับ MSMEs

ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2563 กระทรวงการคลังอินโดนีเซียได้ประกาศว่าจะเริ่มใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) หรือที่เรียกอย่างคุ้นหูว่า มาตรการ QE ระยะยาวจนกว่าเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวจากผลกระทบที่เกิดจากโรค COVID-19 ได้ ซึ่งมาตรการ QE คือ การดำเนินนโยบายการเงินในรูปแบบต่างๆ ในช่วงเวลาที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจมากเป็นพิเศษ โดยที่ผ่านมาธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้วถึง 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์และเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 ลดลงครั้งละ 0.25 จุด จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 4.5 นอกจากนี้ ยังได้ประกาศมาตรการที่เกี่ยวข้องกับระบบการเงินการธนาคารอื่นๆ อาทิ การปรับลดอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องแก่สถาบันการเงิน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยซื้อพันธบัตรโดยมีสัญญาขายคืน (Reverse Repo) เป็นต้น เพื่ออำนวยสภาพคล่องให้แก่ระบบเศรษฐกิจ และลดความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์

4.4 สปป. ลาว

รัฐบาล สปป. ลาว ได้จัดสรรเงินวงเงิน 52,000 ล้านกีบ (ประมาณ 5.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และมาตรการกระตุ้นทางการคลังจำนวน 10 มาตรการ มาตรการหลัก ได้แก่ การจ่ายเงินอุดหนุนแก่ผู้ที่มีรายได้น้อยและธุรกิจขนาดย่อม มาตรการผ่อนปรนด้านภาษี และการให้เงินอุดหนุนแก่แรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม

ธนาคารกลาง สปป. ลาว ได้ปรับลดอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องแก่สถาบันการเงินจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 4 สำหรับเงินสกุลท้องถิ่น และร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 8 สำหรับเงินสกุลต่างประเทศ มีผลบังคับในวันที่ 2 เมษายน 2563 และเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 จุด ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสำหรับกู้ยืมหนึ่งสัปดาห์ การกู้ยืมหนึ่งถึงสองสัปดาห์ และการกู้ยืมสองสัปดาห์ถึงหนึ่งปี เป็นร้อยละ 3 ร้อยละ 4 และร้อยละ 9 ตามลำดับ

4.5 มาเลเซีย

รัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศมาตรการกระตุ้นทางการคลังแล้ว 4 ชุด เพื่อบรรเทาผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 มูลค่ารวม 62,000 ล้านริงกิต (ประมาณ 14,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือประมาณร้อยละ 4.2 ของ GDP มาเลเซีย ประกอบไปด้วยมาตรการอุดหนุนแก่ผู้มีรายได้น้อย แรงงานและวิสาหกิจรายย่อย นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งกองทุนเพื่อให้ประกันสินเชื่อระยะสั้นแก่ภาคธุรกิจ วงเงิน 50,000 ล้านริงกิต (ประมาณ 11,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) อีกด้วย

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ธนาคารกลางมาเลเซียได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายข้ามคืน (Overnight Policy Rate) ลง 0.25 จุด เหลือร้อยละ 2.5 และประกาศปรับลดอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องแก่สถาบันการเงินลง 1 จุด เหลือร้อยละ 2 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2563 นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียยังได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายกฎระเบียบสำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย

4.6 เมียนมา

รัฐบาลเมียนมาได้จัดตั้งคณะกรรมการกลางแห่งชาติถึง 2 คณะ เพื่อป้องกัน ควบคุม รักษา และตอบโต้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส รวมทั้งได้จัดตั้งกองทุน COVID-19 (COVID-19 Fund) วงเงิน 10,000 ล้านจัต (ประมาณ 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือประมาณร้อยละ 0.1 ของ GDP เมียนมา เพื่อจัดทำโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แก่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และรัฐบาลยังได้มีโครงการจัดหาอาหารและยกเว้นการจัดเก็บค่าไฟฟ้าแก่ประชาชนในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2563 อีกด้วย

ธนาคารกลางเมียนมาได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้ง คือ ในวันที่ 12 มีนาคม 2563 ลดลง 0.50 จุด ในวันที่ 24 มีนาคม 2563 ลดลง 1 จุด และในวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ลงอีก 1 จุด นอกจากนี้ ในวันที่ 9 เมษายน 2563 ยังได้ประกาศลดอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องลงจากร้อยละ 5 เป็น 3.5 ของปริมาณเงินฝากจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563

4.7 ฟิลิปปินส์

รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ออกโครงการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนวงเงิน 595,600 ล้านเปโซฟิลิปปินส์ (ประมาณ 11,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือประมาณร้อยละ 3.1 ของ GDP ฟิลิปปินส์ โดยมีโครงการหลัก คือ โครงการให้เงินอุดหนุนแก่ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำประมาณ 18 ล้านครัวเรือน วงเงิน 205,000 ล้านเปโซฟิลิปปินส์ (ประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือประมาณร้อยละ 1.1 ของ GDP

ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ได้ปรับลดลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงรวม 1.25 จุด เหลือร้อยละ 2.75 และประกาศปรับลดอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องแก่ธนาคารพาณิชย์ลง 2 จุด เหลือร้อยละ 12 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 พร้อมทั้งอนุมัติการซื้อพันธบัตรรัฐบาลภายใต้ข้อตกลงการซื้อคืนในมูลค่า 300,000 ล้านเปโซฟิลิปปินส์ (ประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) นอกจากนี้ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ยังได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายกฎระเบียบสำหรับภาคธนาคารอีกด้วย

4.8 สิงคโปร์

รัฐบาลสิงคโปร์ได้ประกาศมาตรการกระตุ้นทางการคลังรวมจำนวน 5 ชุด ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563  รวมมูลค่า 92,900 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 66,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือประมาณร้อยละ 19.7 ของ GDP สิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมีโครงการสินเชื่อวงเงิน 20,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) อีกด้วย

ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้ประกาศว่ามีการจัดตั้ง Swap Facility วงเงิน 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐกับธนาคารกลางสหรัฐ เพื่อให้เกิดสภาพคล่องของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐแก่สถาบันการเงินในสิงคโปร์ และยังได้เข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อไม่ให้แข็งค่าจนเกินไปเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เข้าสู่ภาวะฝืดเคือง นอกจากนั้น ยังได้จัดทำโครงการสินเชื่อและโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือบุคคลและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) อีกด้วย

4.9 เวียดนาม

รัฐบาลเวียดนามได้ประกาศมาตรการกระตุ้นทางการคลังมูลค่า 226 ล้านล้านดอง (ประมาณ 9,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือประมาณร้อยละ 3 ของ GDP เพื่อช่วยเหลือประชาชนและ SMEs ผ่านมาตรการผ่อนปรนด้านภาษี และการให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ที่มีรายได้น้อย ผู้ว่างงานหรือไม่ได้รับค่าจ้างเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งคาดว่าประชากรมากกว่าร้อยละ 10 ของเวียดนามจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ธนาคารกลางเวียดนามได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.5-1จุด อัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะสั้นลง 0.25-0.3 จุด อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้นสำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีความสำคัญลง 0.5 จุด และได้ปรับเพิ่มอัตราผลตอบแทนสำหรับการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินขึ้นร้อยละ 0.2 นอกจากนั้น ยังได้จัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนธุรกิจ วงเงิน 285 ล้านล้านดอง (ประมาณ 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือประมาณร้อยละ 3.8 ของ GDP อีกด้วย

4.10 ไทย

กระทรวงการคลังจึงได้ออกมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 1 – 3 มูลค่ารวม 1.5 ล้านล้านบาท (ประมาณ 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือประมาณร้อยละ 9.6 ของ GDP ไทย โดยมีมาตรการ อาทิ การเยียวยาแรงงานทั้งในและนอกระบบประกันสังคม โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่บุคคลและธุรกิจผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี เป็นต้น

นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 คณะกรรมการนโยบายการเงินได้มีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 3 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ วันที่ 20 มีนาคม และวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 โดยลดลงครั้งละ 0.25 จุด จากร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 0.50 ต่อปี

ธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้ประกาศลดนำส่งเงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเพื่อลดต้นทุนให้แก่สถาบันการเงิน และยังได้ประกาศโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 500,000 ล้านบาท (ประมาณ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) รวมทั้งจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund) วงเงิน 400,000 ล้านบาท (ประมาณ 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) อีกด้วย

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียนต่างมีความพยายามที่จะรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยได้ใช้เครื่องมือนโยบายทั้งด้านการเงินการคลังที่มีในการตอบโต้กับวิกฤติครั้งนี้ให้รวดเร็วที่สุดเพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจในประเทศให้สามารถอยู่ต่อไปได้ โดยบางประเทศได้ออกมาตรการด้านการเงินการคลังเป็นสัดส่วนสูงถึงเกือบร้อยละ 20 ของ GDP ของประเทศ และหลายประเทศก็กำลังพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม ซึ่งการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อภาระด้านการคลังของหลายประเทศ และอาจจำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อประคับประคองสถานการณ์เศรษฐกิจ ช่วยเหลือทั้งประชาชนและภาคธุรกิจให้สามารถผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ อย่างไรก็ดี การดำเนินการของภาครัฐจะต้องมีการบูรณาการทุกภาคส่วนและตรงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และทำให้ภาคธุรกิจสามารถฟื้นตัวกลับมาดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ได้ส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเริ่มจัดทำแผนฟื้นฟูภายหลังโรคระบาดสิ้นสุดลง (Post-COVID-19 Recovery Plan) เพื่อแลกเปลี่ยนบทเรียน ส่งเสริมให้มีการฟื้นฟูธุรกิจและกิจกรรมทางสังคมที่เป็นปกติของอาเซียน และป้องกันการถดถอยทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนอาจนำข้อเสนอแนะของธนาคารโลก (World Bank) เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการกำหนดโครงการหรือนโยบายที่ยั่งยืนในแผนฟื้นฟู โดยเสนอว่า ในระยะสั้นจะต้องคำนึงถึงการสร้างงาน การกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และระยะเวลาและความเสี่ยง สำหรับระยะยาวจะต้องคำนึงถึงศักยภาพการเติบโตในระยะยาว ความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการเติบโตอย่างยั่งยืน[9] นอกจากนี้ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ยังได้เสนอเรื่องของการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยั่งยืน เรื่องการพัฒนาความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และการสร้างความยืดหยุ่นเพื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังการระบาดของโรค COVID-19 เนื่องจากแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจดังกล่าวจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นและให้ประโยชน์ทางสังคมในระยะยาว[10]


[9] Hammer and Hallegatte (2020)
[10] Davisson and Losavio (2020)

5. บทสรุป

การเกิดขึ้นของโรค COVID-19 นอกจากจะบังคับให้มนุษย์ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันยังบังคับให้มีการปรับรูปแบบการดำเนินนโยบายสาธารณะและนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในการช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจให้สามารถผ่านพ้นช่วงที่เรายังคงต้องเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และยังมีการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยรัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียนต่างได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศหลายชุดเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนยังมุ่งมั่นร่วมมือกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว บรรเทาผลกระทบทางลบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบด้านอื่นๆ ที่อาจตามมาเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 สงบลง โดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกอาเซียนจัดทำแผนฟื้นฟู
ภายหลังสิ้นสุดลงของโรคระบาดด้วย

หลังจากนี้ ยังจะต้องมีการติดตามมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ของประเทศสมาชิกอาเซียนรวมถึงประเทศอื่นๆ ทั่วโลก รวมทั้งติดตามผลของการดำเนินมาตรการที่ผ่านมาเพื่อถอดบทเรียนจากวิกฤติครั้งนี้และเป็นแนวทางสำหรับปรับใช้รับมือกับสถานการณ์อื่นที่จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจและสังคมซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามการจัดเตรียมแผนฟื้นฟูเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติที่แต่ละประเทศจะประกาศออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักให้สามารถฟื้นกลับมาดำรงชีวิตและดำเนินกิจการได้อย่างเป็นปกติอีกครั้ง

นางสาวกฤตพร ศิริใจชิงกุล
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ