อาชีพดาวรุ่งยุค COVID-19 ในประเทศไทย

อาชีพดาวรุ่งยุค COVID-19 ในประเทศไทย

บทความโดย
นายสัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ

ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นำมาซึ่งการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 63 รวมถึงสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้มีการห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.63 จากการประกาศต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลกระทบวงกว้างต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจ กระทบถึงแรงงานลูกจ้างที่ขาดรายได้อย่างกะทันหัน อย่างไรก็ดี ท่ามกลางวิกฤติ ยังคงมีโอกาสสำหรับอาชีพบางอย่างที่ยังคงอยู่ในเส้นทางการเติบโตได้อย่างดี พร้อมๆ กับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทย ได้แก่ อาชีพพนักงานจัดส่งอาหาร อาชีพขายสินค้าออนไลน์ อาชีพขายประกันสุขภาพ และอาชีพรับทำความสะอาด

อาชีพขายสินค้าออนไลน์

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้วิถีชีวิตของคนในประเทศเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการสั่งซื้อสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันบนโลกออนไลน์ ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงในช่วงการระบาดของ COVID-19 ตามการศึกษาของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ที่พบว่าช่วงเกิดการระบาดของโควิด-19 มูลค่าที่แท้จริงของการใช้จ่ายค้าส่งค้าปลีกผ่าน e-commerce จะเติบโตที่ร้อยละ 19 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14,900 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งคาดการณ์เหตุการณ์ปกติอยู่ที่ประมาณ 7,600 ล้านบาท ซึ่งประเมินเป็นมูลค่าใช้จ่ายรวมบนระบบออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งปี 2563 อยู่ที่ 87,700 ล้านบาทจากช่วงเวลาปกติ คิดเป็นร้อยละ 1.5 ของการบริโภคภาคเอกชน หรือร้อยละ 0.8 ของ GDP ปี 2563 สอดคล้องกับงานศึกษาของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ประเมินว่าตลาด e-Commerce ของไทย ในช่วงวันที่ 22 มีนาคม 2563-30 เมษายน 2563 จะมีแนวโน้มเติบโตอย่างสูงที่ระดับร้อยละ 20.0-30.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ โดยหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ล้างมือ และน้ำยาฆ่าเชื้ออเนกประสงค์แบรนด์ต่างๆ ถือเป็นสินค้ายอดนิยมและมีราคาสูงกว่าปกติ เนื่องจากมีความต้องการซื้อสูงและสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

อาชีพพนักงานจัดส่งอาหารและสินค้า

เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงเมืองใหญ่ในแต่ละจังหวัดหลีกเลี่ยงการเดินทางออกจากบ้าน ด้วยการหันมาสั่งอาหารมารับประทานที่บ้านและซื้อสินค้าออนไลน์ ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดช่วงแรก จะเห็นได้ว่า มีผู้ให้บริการขนส่งอาหารให้บริการมากขึ้นบนท้องถนน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานขับขี่รถจักรยานยนต์ จากการสำรวจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ในเดือน มี.ค.63 พบว่า เกือบร้อยละ 35.0 ของผู้บริโภคชาวไทยหันมาสั่งซื้ออาหารและเครื่องดื่มทางระบบออนไลน์กันมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y (อายุ 19-38 ปี) และ Gen Z (อายุต่ำกว่า 19 ปี) รวมถึงข้อมูลจำนวนการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์บน Priceza.com ใน เดือนมีนาคม 2563 ก็ขยายตัวมากขึ้นเช่นกันที่ร้อยละ 80.0 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 4 เดือนในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน นอกจากนี้ จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต พบว่า ช่วงเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 บริการจัดส่งอาหารเติบโตกว่าช่วงปกติถึง 3 เท่า และการใช้บริการจัดส่งอาหารจะเน้นอาหารคาวเป็นหลัก โดยเฉพาะมื้อเที่ยงและมื้อค่ำ

อาชีพขายประกันภัย

ธุรกิจประกันภัยจะเติบโตอย่างมาก เมื่อมีความเสี่ยงใดๆ มากระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์ หลังจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 บริษัทประกันภัยชั้นนำระดับประเทศ ต่างก็สร้างแพ็คเกจประกันภัยที่เกิดจากโควิด-19 ออกมานำเสนอลูกค้าที่มีจำนวนมาก จนทำให้ช่วงหนึ่ง คนที่ทำอาชีพขายประกัน COVID เป็นที่ต้องการอย่างมากในประเทศไทย หลังจากประชาชนแห่ซื้อประกัน COVID จำนวนมาก ส่งผลให้บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับประภัยกันมีรายได้เพิ่มขึ้น สวนทางกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น บริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีเบี้ยประกันภัยรับรวมเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25.3 หรือเท่ากับ 6,136.1 ล้านบาท มีกำไรสุทธิจากการรับประกันภัยหลังหักค่าใช้จ่ายดำเนินงาน 328.5 ล้านบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 โดยบริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำกำไรสูงสุดเป็นสถิติ เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.3 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งได้ยอดขายจากประกันโควิด-19 ผลักดันให้บริษัทสามารถสร้างรายได้รวมที่เติบโตต่อเนื่อง

อาชีพรับทำความสะอาด

จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เกิดขึ้นทุกแห่ง เนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่าสถานที่แห่งใด มีเชื้อร้ายซ่อนตัวอยู่ การป้องกันโดยการทำความสะอาดฆ่าเชื้อกันครั้งใหญ่ จึงเป็นทางเลือกให้กับประชาชน โดยการทำความสะอาดดังกล่าว จำเป็นต้องใช้มืออาชีพที่มีอุปกรณ์ครบครันในการทำ การแพร่ระบาดครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสของการสร้างรายได้ให้กับพนักงานทำความสะอาด สอดคล้องกับการรายงานของ PPTV ที่พบว่า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ยอดรับบริการทำความสะอาดฆ่าเชื้อไวรัส เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30.0 เมื่อเทียบกับช่วงภาวะปกติ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงการทำความสะอาดลักษณะนี้ จะมีค่าบริการสูงกว่าการทำความสะอาดแบบทั่วไปมากกว่า 2 เท่าตัว

จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อาจจะส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจภาพรวม อย่างไรก็ตาม ยังคงมีหลายกลุ่มอาชีพที่ได้รับประโยชน์จากเหตุการณ์ครั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ท่ามกลางวิกฤติยังคงมีโอกาสเสมอ หากแรงงานไทยมีการปรับตัวในการใช้ชีวิตและปรับเปลี่ยนช่องทางการหารายได้เพิ่มเติมตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

เอกสารอ้างอิง

PPTV Online. (29 มีนาคม 2563). พลิกวิกฤตโควิด-19 “ธุรกิจทำความสะอาด” โต 30 %. สืบค้นจาก https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/122449

Thai PBS. (16 พฤษภาคม 2563). New Normal เมื่อต้องกลับมาใช้ชีวิต หลัง COVID-19 กำลังจะไปสืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/880361

กรุงเทพธุรกิจ. (13 พฤษภาคม 2563). TMB ชี้ โควิด-19 ดันยอดสั่งอาหาร-อุปกรณ์ทำครัว ผ่านออนไลน์ มี.ค.พุ่งสืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/880361

ธนาคารกรุงเทพ. (17 เมษายน 2563). ส่องธุรกิจทำความสะอาด สมรภูมิที่ยังหอมหวาน. สืบค้นจาก https://www.bangkokbanksme.com/en/startup-cleaning-business

ประชาชาติธุรกิจ. (14 พฤษภาคม 2563). TQM กำไร Q1 พุ่ง 68.3% รายได้ค่าบริการเพิ่ม-ประกันโควิดยอดทะลุ. สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/finance/news-463823

ประชาชาติธุรกิจ. (1 มิถุนายน 2563). โควิดหนุน “อีคอมเมิร์ซ” โอกาสรุ่ง-แข่งขันสูง. สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/columns/news-471807

ผู้จัดการออนไลน์. (24 มีนาคม 2563). ETDA เผย คน Gen -Y สั่งอาหารออนไลน์มากสุด เกิน 40% สั่งเพราะหวั่นโควิด-19. สืบค้นจาก https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9630000029620

ผู้จัดการออนไลน์. (28 พฤษภาคม 2563). BKI เบี้ย Q1 โตสวนโควิด 25.3% มั่นใจทั้งปีเข้าเป้า 2.28 หมื่นล้าน. สืบค้นจาก https://mgronline.com/mutualfund/detail/9630000055372 อีไฟแนนซ์ไทย. (29 พฤษภาคม 2563). ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองโควิด-19 เป็นปัจจัยเร่ง Disruption ภาคธนาคาร. สืบค้นจาก https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?release=y&ref=M&id=M1dyNVpvZHBiams9

สัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ

นายสัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ
เศรษฐกรชำนาญการ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ผู้เขียน