ปลดล็อกอสังหาฝ่าวิกฤตโควิด

ปลดล็อกอสังหาฝ่าวิกฤตโควิด

บาทความโดย
ทีมงานวารสารการเงินการคลัง

โควิดทำให้ทุกธุรกิจต้องปรับตัว ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็เช่นกัน วันนี้เป็นโอกาสอันดีของทีมวารสารการเงินการคลังที่ได้พูดคุยผ่านมุมมองของผู้บริหารรุ่นใหม่ คุณชานนท์ เรืองกฤตยา หรือ พี่โก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดี เวลลอปเม้นท์จำกัด (มหาชน)

ชานนท์ เรืองกฤตยา
ชานนท์ เรืองกฤตยา

อย่างที่ทราบกันดี อนันดา เป็นบริษัทอสังหาในอันดับต้น ๆ ที่มีโครงการทั้ง คอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร ทาวน์เฮ้าส์ มิกซ์ยูส และยังมีพันธมิตรกับกลุ่มบริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น

ดังนั้น ที่ผ่านมา การเจริญเติบโตของอนันดาเองค่อนข้างเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเมื่อถึงคราวที่โลกและไทยต้องเจอกับพิษโควิด สิ่งที่เราอยากทราบผ่านวิสัยทัศน์ของ CEO หนุ่ม อย่างพี่โก้ ในประเด็นแรก คือ พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคโควิดนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างไรบ้าง ซึ่งพี่โก้มองว่า แน่นอนว่าการใช้ space ของคนจะเปลี่ยนไป ซึ่งอาจต้องมองแยกเป็นแต่ละประเภท เริ่มจากผู้บริโภคที่เคยอาศัยอยู่ในคอนโด ผลจากโควิด
คนก็เริ่มต้องการ space มากขึ้น เพราะต้องอยู่รักษาระยะห่าง ส่วนหนึ่งก็ย้ายจากคอนโดกลับไปอยู่เป็นบ้านแทนมากขึ้น ซึ่งสำหรับธุรกิจก็กลายเป็นว่าโครงการบ้านจัดสรรและทาวน์เฮ้าส์มีแนวโน้มว่าจะขายได้ดีขึ้น หรืออย่าง Office Space ก็อาจมีความต้องการใช้งานที่ลดลง ซึ่งเหล่านี้ก็สวนทางกับ Trend เรื่อง Urbanization ในปีก่อนๆ อยู่พอสมควร เหมือนกับว่า คนเมืองอยากออกต่างจังหวัด หลีกหนีที่ผลุกผล่านในสังคมเมือง และหากมองพวกมิกซ์ยูส ก็คิดว่ายังไปได้ เพราะการใช้ที่ค่อนข้างหลากหลาย ยังปรับเปลี่ยนอะไรตามความต้องการของผู้บริโภคได้พอสมควร

จากนั้น เมื่อทีมวารสารจึงถามต่อว่า สำหรับพี่โก้ อะไรคือ New Normal ของภาคอสังหา ก็ได้รับคำตอบที่น่าสนใจว่า คือ ต้องถามก่อนว่า New Normal ในมุมนี้คืออะไร เพราะสำหรับพี่โก้แล้ว โลกและเศรษฐกิจมันเปลี่ยนตลอด เราเจอสงครามการค้ากับจีนที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปีก่อน ๆ และปีนี้ก็มาเจอโควิดซ้ำอีก ซึ่งมันคือ “ความไม่แน่นอนและแปรผันตลอดมากกว่า” คำถามที่เขาในฐานะผู้บริหารอนันดามองไปข้างหน้าตลอดคือ มันจะเกิดอะไรนับจากนี้ ก็เป็นไปได้ที่จะมี โควิด-20 โควิด-21 ในอนาคต และก็เป็นไปได้ด้วยว่า ถ้ามีการคิดวัคซีนได้จริง ๆ แล้วไทยจะได้ใช้เมื่อไร เมื่อใช้แล้วผลจะเป็นอย่างไร มันอาจจะเหมือนการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่เมื่อฉีดแล้ว ก็แค่ป้องกัน แต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งทั้งหมดนี่ ต้องบอกเลยว่า เราอยู่ใน VUGA World ที่แวดล้อมไปด้วยความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อนและคลุมเครือ

เมื่อถึงประเด็นนี้ สิ่งที่ทีมวารสารอยากทราบต่อ คือ ในความเป็น VUGA และ โควิดคือหนึ่งในปัจจัยที่เหนือความคาดหมาย อะไรคือสิ่งที่ธุรกิจต้องปรับตัว ในประเด็นนี้ พี่โก้ฟันธงว่า หนึ่งในสิ่งที่ต้องปรับตัว คือ การปรับตัวบนพื้นฐาน Digitization ทุกอย่าง ต้องทำในแบบดิจิทัลได้ การวางรากฐานระบบ การจัดการ ต้องคิดให้รอบด้านโดยใช้เทคโนโลยีเป็นพื้นฐาน และการวางแผนธุรกิจ คือ ต้องมองไปข้างหน้ามาก ๆ ใส่ปัจจัยเสี่ยงทุกอย่างลงไป เพื่อให้องค์กรเดินต่อไปได้ สำคัญ คือ ผู้บริหารด้วย ต้องมีความสุข ต้องรักษาอารมณ์ให้ดีไว้ และพร้อมที่มองไปข้างหน้า

ชานนท์ เรืองกฤตยา

ในถึงตรงนี้ ทีมวารสารจึงถามต่อว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ หากท่านสามารถเสนอแนะนโยบายที่คิดว่าจะมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกับธุรกิจอสังหา ท่านอยากจะเสนอแนะอะไรกับภาครัฐ โดยในประเด็นนี้ พี่โก้ได้เสนอแนะในสี่ประเด็นหลัก ๆ คือ ประการแรก ภาครัฐควรช่วยสร้าง liquidity ในระบบ ซึ่งอาจทำได้โดยการตั้งโจทย์ว่า จะทำอย่างไรให้คนมาลงทุนในประเทศไทยได้มากขึ้น ซึ่งเมื่อมีเม็ดเงินไหลมาในประเทศมากขึ้น แน่นอนว่าเมื่อปัจจัยพื้นฐานมันดี เศรษฐกิจมันก็จะดี และจะเป็นตัวขับเคลื่อนภาคส่วนอื่น ๆ ให้ดีตามมา ซึ่งควบคู่กันไป การทำนโยบายภาครัฐก็ต้องคำนึงถึงกลุ่ม Startup ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ และมีบทบาทกับเศรษฐกิจไม่แพ้กัน

ประเด็นที่สอง คือ ภาครัฐควรอำนวยความสะดวกให้ได้มากที่สุด สืบเนื่องจากในประเด็นแรก การสร้าง One Stop Service ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ จะช่วยส่งเสริมการลงทุนและทำให้การทำธุรกรรมต่าง ๆ สะดวกรวดเร็วขึ้น ซึ่งการอำนวยความสะดวกนี้ ก็ต้องยืนอยู่บนรากฐานความเป็น Digitization ด้วย

ประเด็นที่สาม คือ การปลดล็อกเรื่องการถือครองอสังหาของชาวต่างชาติ รวมถึงกฎเกณฑ์ในเรื่อง NDVR ประเด็นนี้สำคัญตรงที่ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่ไม่ได้แพ้ที่ใดในโลก ลองสังเกตจากจุดเด่นของภาคธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว (Hospitality) หรืออาหาร เราก็มี Michelin Star มากมายในประเทศ หรือจะเป็นธุรกิจ Wellness เราก็มีระบบสาธารณสุขที่ดีและโควิดก็พิสูจน์ให้เห็นว่า เราจัดการเรื่อง Healthcare ได้ดีอันดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้น นี่คือจุดแข็งที่ชาวต่างชาติจะเลือกเราเป็นบ้านหลังที่สอง เพียงแต่ข้อจำกัดในเรื่องนี้ตามกฎหมายไทยยังค่อนข้างมีอยู่มาก ซึ่งหากผ่อนคลายกฎเกณฑ์ตรงนี้ ปลดล็อกเรื่องการถือครองอสังหา รวมถึงการลงทุนของชาวต่างชาติในไทยได้ รับรองว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาในประเทศอีกมาก และยังสอดคล้องกับนโยบาย Ease of Doing Business ของภาครัฐด้วย

ประเด็นที่สี่ คือ การสร้าง Visa program ที่ดึงดูดให้คนเข้ามาในไทยมากขึ้น ซึ่งในประเด็นนี้อาจกำหนดได้หลายแบบ เช่น หากลงทุนในประเทศไทยในจำนวนเท่านี้ จะได้สิทธิในการอยู่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งข้อเสนอนี้ก็จะลิงค์กับข้อเสนออื่น ๆ คือ ถ้าเราดึงเงินลงทุนมาในประเทศได้ Liquidity ก็จะมา พื้นฐานเศรษฐกิจก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น

ท้ายที่สุด จากการพูดคุยกับผู้บริหารรุ่นใหม่อย่างพี่โก้ ทีมงานก็ได้สรุปได้ว่า คติในการทำธุรกิจในยุคโควิดของเขา คือ “Learn to live with it” เราต้องเรียนรู้และปรับตัวกับทุกวิกฤติอยู่ตลอด วันนี้เราไม่รู้ได้ว่าในอนาคตโลกจะพบเจอกับอะไรอีกบ้าง แต่ด้วยพื้นฐานที่คิดบวกและพร้อมรับมือกับทุกสิ่ง จะเป็นทางเดียวที่เราจะผ่านทุกวิกฤตไปได้อย่าง Happy