บทความและภาพโดย สัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ
เรียบเรียบโดย ทีมบรรณาธิการ
เมื่อเกือบสองปีก่อน ผมได้เดินทางไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยชีวิตความเป็นอยู่ในสหรัฐอเมริกา ค่อนข้างมีความสุขและสะดวกสบายทั้งเรื่องที่อยู่อาศัยและอาหารการกิน อีกทั้ง การเรียนราบรื่นไร้อุปสรรค อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา เริ่มเกิดการระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส (COVID-19) ในสหรัฐอเมริกา
จากที่ในเดือน มี.ค. 63 ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศ จนผ่านมาเพียงแค่ 2 เดือนให้หลัง สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงไปแตะระดับที่ประมาณ 1.8 ล้านราย ซึ่งเสียชีวิตประมาณ 1 แสนคน (ข้อมูล ณ วันที่ 26 พ.ค.63) และนี่ก็คือจุดเปลี่ยนของชีวิตการเรียนในสหรัฐอเมริกาและสร้างประสบการณ์การเดินทางอันแสนยากลำบากที่ต้องจดจำไปตลอดกาล
หลังจากการระบาดอย่างหนักของเชื้อโคโรน่าไวรัสในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลได้ประกาศปิดสถานที่ทุกแห่งในประเทศ รวมถึงมหาวิทยาลัยทุกแห่งประกาศให้นักศึกษาเรียนบนระบบออนไลน์ ส่งผลให้กระผมได้ใช้ชีวิตอยู่ในห้องพักเป็นเวลา 2 เดือนเต็ม โดยที่ยังไม่ทันตั้งตัว เพื่อปฎิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาลสหรัฐและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
อย่างไรก็ดี การระบาดอย่างหนักของเชื้อโคโรน่าไวรัสก็ไม่ได้เป็นปัญหามากนัก สำหรับการเรียนในเทอมสุดท้ายของกระผม ในที่สุด ผมได้สำเร็จการศึกษาตามเป้าหมายที่วางไว้ และมองหาการเดินทางกลับสู่ประเทศไทย เพื่อหนีจากดินแดนที่มีผู้เชื้อ COVID-19 มากที่สุดในโลก
อย่างไรก็ตาม ผมได้เจออุปสรรคสำคัญในการกลับบ้าน เนื่องจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้มีการห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.63 – 31 มิ.ย. 63 เพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์การระบาดของ COVID 19 ภายในประเทศรุนแรงยิ่งขึ้น หากผู้ใดที่มีความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย จะต้องไปลงทะเบียนในระบบของสถานเอกอัครราชทูต เพื่อแจ้งแผนการเดินทางและเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อให้ส่วนราชการไทยที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการพิจารณาความจำเป็นที่จะให้มีการบินรับส่งบุคคลกลับไทย (repatriation flight)
อีกทั้ง ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย จะต้องเข้ารับการกักกันเฝ้าระวังโรค (State Quarantine) ในสถานที่ที่รัฐกำหนดเป็นเวลา 14 วัน หลังจากมีการประกาศดังกล่าว ผมได้ไปยื่นลงทะเบียนในระบบของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน และเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
สิ้นสุดการรอคอย เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 63 สถานเอกอัครราชทูตได้อนุมัติโควตาส่งคนไทยกลับจากสหรัฐฯ เพิ่มเติม และกระผมเข้าเกณฑ์ให้เดินทางกลับประเทศไทยโดยเที่ยวบินส่งคนไทยกลับภูมิลำเนา (repatriation flight) ซึ่งมีให้เลือกจำนวน 5 เที่ยวบิน ซึ่งสามารถเดินทางออกจาก 2 สนามบิน ได้แก่
1) John F. Kennedy International Airport (JFK) ณ นครนิวยอร์ค
2) Los Angeles International Airport (LAX) ณ นครลอสแอนเจลิส
สำหรับการเลือกสนามบินของกระผมนั้น พิจารณาจากตามจำนวนผู้เชื้อในเมืองนั้น ๆ เป็นสำคัญ ซึ่งนครลอสแอนเจลิสมีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยกว่าในนครนิวยอร์ค กระผมจึงตัดสินใจเดินทางไป LAX เพื่อเดินทางกลับประเทศไทย
โดยก่อนเดินทางในครั้งนี้ จะต้องเตรียมเอกสารหลายฉบับ ได้แก่
1) ตั๋วเครื่องบิน เพื่อเดินทางจากกรุงวอชิงตันไปนครลอสแอนเจลิส
2) ตั๋วเครื่องบิน เพื่อเดินทางจากนครลอสแอนเจลิสไปประเทศไทย
3) ใบยินยอมการกักกันเฝ้าระวังโรคในสถานที่ที่รัฐกำหนด
4) ใบรับรองแพทย์ (Fit-to-Fly health certificate) ที่แพทย์ออกให้ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนออกเดินทางจากสหรัฐฯ
5) ใบรับรองการเดินทางของสถานเอกอัครราชทูตฯ และ
6) แบบสอบถามสุขภาพ (แบบ ต.8) นอกจากการเตรียมเอกสารจำนวนมาก
กระผมยังต้องเตรียมร่างกายให้มีความพร้อม เนื่องจากการเดินทางครั้งนี้ ใช้เวลาถึง 2 วันเต็ม จากกรุงวอชิงตัน – นครลอสแอนเจลิส – กรุงโซล (เกาหลีใต้) – กรุงเทพฯ (ไทย)
วันที่ 26 พ.ค. 63 เมื่อเช้าตรู่ ผมได้ออกเดินทางโดยสายการบิน American Airline จาก Ronald Reagan Washington National Airport ในกรุงวอชิงตัน ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมงถึง LAX ณ นครลอสแอนเจลิส ใช้เวลาในรอต่อเที่ยวบินถึง 11 ชั่วโมง เนื่องจากเที่ยวบินจากกรุงวอชิงตันไปนครลอสแอนเจลิสมีเพียงเที่ยวบินเดียวต่อวัน
ซึ่งเมื่อผมเดินทางมาถึง LAX ก็พบว่า ร้านอาหารเกือบร้อยละ 90 ในสนามบินปิดให้บริการ และสายการบินส่วนใหญ่ยังให้งดให้บริการ บรรยากาศในสนามบินเงียบเหงามาก คล้ายกับฉากในภาพยนตร์วันสิ้นโลก ผมได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ ไปกับการนอนพักผ่อนบนเก้าอี้สำหรับผู้โดยสาร ก่อนที่จะเดินทางด้วยเที่ยวบินพิเศษนี้
เจ้าหน้าที่ของสายการบิน Korean Air เรียกตรวจเอกสารที่สถานเอกอัครราชทูตฯ กำหนดก่อน จึงจะออกบัตรที่นั่ง (Boarding Pass) ให้ โดยใช้เวลาประมาณ 13 ชั่วโมง เดินทางถึง Incheon International Airport ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งผู้โดยสารขาเข้าทั้งหมด จะต้องรับการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าอาคารในสนามบิน และหากประสงค์ที่จะเข้าประเทศเกาหลีใต้ จะต้องเข้ารับการกักกันเฝ้าระวังโรค (State Quarantine) ในสถานที่ที่รัฐกำหนดเป็นเวลา 14 วัน โดยออกค่าใช้จ่ายด้วยตนเองทั้งหมด โดยบรรยากาศสนามบินที่นี่ต่างกับที่ LAX โดยสิ้นเชิง เนื่องจากร้านค้าต่าง ๆ สนามบินนี้ เปิดให้บริการเกือบทั้งหมด ไม่ว่าเป็น Duty free ศูนย์อาหาร ร้านสะดวกซื้อ เป้นต้น
ผมได้ใช้เวลาประมาณ 13 ชั่วโมง เพื่อรอขึ้นเครื่องต่อไปที่ประเทศไทย โดยเวลาส่วนใหญ่ หมดไปกับการนอนพักผ่อนและเลือกซื้อสินค้าในร้าน Duty free เนื่องจากไม่สามารถออกจากสนามบินไปเยี่ยมเยือนกรุงโซลได้ หลังจากนั้น ได้ออกเดินทางร่วมกับคนไทยจำนวน 70 คนเท่านั้น โดยใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง เดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อเครื่องบินลงจอด
ผมได้พบว่ามีเครื่องบินมากมายจอดเรียงรายในสนามบิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยตอบข้อสงสัยว่าทำไมธุรกิจการบินของไทยกำลังอยู่ในช่วงวิกฤติ หลังจากเข้าสู่อาคารผู้โดยสารขาเข้า ก็พบว่า ทุกสิ่งทุกอย่างปิดให้บริการทั้งหมด สุวรรณภูมิกลายเป็นสนามบินร้าง
วันนั้นมีเพียงเที่ยวบินของผมที่เดินทางเข้ามาที่นี่ พวกเราได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ราวกับเป็นบุคคลสำคัญของประเทศ รัฐบาลไทยมีการจัดการอย่างเป็นระบบ เริ่มจากการคัดกรองผู้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อด้วยการวัดอุณหภูมิและสอบถามอาการเบื้องต้นโดยกรมควบคุมโรค การตรวจคนเข้าเมืองโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
การทำความสะอาดกระเป๋าเดินทางโดยเจ้าหน้าที่ทหาร การเดินทางจากสนามบินไปสถานกักกันเฝ้าระวังโรค (State Quarantine) และการชี้แจงกฏระเบียบของการกักตัว 14 วัน
หลังจากสิ้นสุดภารกิจการเดินทาง ณ วันที่ 28 พ.ค. 63 กลับสู่ประเทศไทยสำเร็จ ทำให้เห็นถึงมาตรการต่าง ๆ ของแต่ละประเทศในการรับมือการระบาดของ COVID-19 และระบบการบริหารจัดการของแต่ละสถานที่ที่ผ่านกระผมเดินทางผ่าน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้เห็นว่า ไม่มีประเทศใดในโลกตอนนี้ ที่ผมรู้สึกว่าจะปลอดภัยเท่าประเทศไทย รวมถึงไม่แปลกใจที่แพทย์และนักเขียนชาวอเมริกันออกมากล่าวยกย่องว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศของโลก ที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้สำเร็จ
ไม่เคยถามว่า “ประเทศจะให้อะไรกับเรา”
มีแต่ถามว่า “เราจะทำอะไรให้กับประเทศได้บ้าง”