จากอ่าวเบงกอลสู่เทือกเขาหิมาลัย EP1 : หิมาลัยเบื้องล่างคืออินเดีย

จากอ่าวเบงกอลสู่เทือกเขาหิมาลัย EP1 : หิมาลัยเบื้องล่างคืออินเดีย

วณัช บัณฑิตาโสภณ

สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

‘A Journey of a Thousand Miles Must Begin with a Single Step. – Lao Tzu’

“ทำไมถึงไปอินเดีย” การเดินทางครั้งนี้ของผมเริ่มต้นด้วยคำถาม เป็นคำถามที่ผมทั้งถามตัวเอง และมีคนถามผมเวลาชวนเขาไปอินเดีย เหตุผลที่ใช้ก็ปรับเปลี่ยนไปในแต่ละบุคคล “หนุกๆ น่า ถือว่าไปผจญภัย”

“กะจะไปลงเล่นแม่น้ำคงคากับตามรอยพระพุทธเจ้าครับ” ว่ากันไป แต่เหตุผลที่ดูเหมือนจะผลักดันผมจริงๆ นั้นน่าจะเป็นการตามรอยภาพยนตร์ระดับโลกหลายๆ เรื่องที่มีอินเดียเป็นฉากหลัง เช่น Slumdog Millionaire (2008) 3 Idiots (2009) และ Life of Pi (2012) รวมถึงเบื้องหลัง MV เพลง Hymn For The Weekend ของวง Coldplay ที่สอดแทรกหลายเมืองและหลายวัฒนธรรมของอินเดียเอาไว้

เมื่อพิจารณาเข้าจริงๆ อินเดียคือประเทศที่เป็นทวีปขนาดย่อมๆ (อนุทวีป) รุ่มรวยไปทั้งดินแดนและผู้คน จากตะวันตกติดกับปากีสถานสู่ตะวันออกติดกับพม่าและจีน จากใต้ประจบมหาสมุทรอินเดียสุดเหนือจรดดินแดนหิมาลัยที่ยังเป็นข้อพิพาทระหว่างปากีสถาน จีน และอินเดีย นามว่าแคว้นจามมูแคชเมียร์ (Jammu and Kashmir)

อินเดียเป็นประเทศที่มีสิ่งให้ค้นหามากมาย ครั้งหนึ่งตอนเป็นวัยรุ่น สตีฟ จ๊อบส์ (Steve Jobs, 1955-2011) เดินทางมาค้นหาตัวเองยังดินแดนแห่งนี้ในวันที่เขามืดมนที่สุด ย้อนกลับไปไกลสักนิด เจ้าชายสิทธัตถะบำเพ็ญเพียรเป็นเวลาหลายปีและตรัสรู้ก่อตั้งพุทธศาสนาในดินแดนแถบนี้

โชคดีที่การเดินทางไปประเทศที่ยิ่งใหญ่ทั้งในเชิงกายภาพและจินตภาพในครั้งนี้ผมมีเพื่อนร่วมทางที่เป็นเพื่อนในวัยเรียนไปด้วยอีกคนหนึ่ง เราวางแผนว่าจะแบ่งการเดินทางออกเป็น 2 ส่วน คือ อินเดียที่อยู่เบื้องล่างหรือก็คือพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศอินเดียที่อยู่ทางทิศใต้ของเทือกเขาหิมาลัย กับอินเดียที่อยู่เบื้องบน หรือก็คือแคว้นจามมูแคชเมียร์ที่อยู่ท่ามกลางเทือกเขาหิมาลัย

ผมกับเพื่อนตั้งใจจะเริ่มต้นการเดินทางในเบื้องล่างจากเมืองใหญ่ทางตะวันออกของประเทศซึ่งคือเมืองกอลกาตา (Kolkata)

กอลกาตาเคยเป็นเมืองศูนย์กลางการบริหารราชการของจักรวรรดิอังกฤษ เป็นเมืองจุดเริ่มต้นขบวนการสังคมนิยมในประเทศ อีกทั้งกอลกาตายังเป็นเมืองที่มีค่า PM2.5 สูงมาก (ณ 18 กุมภาพันธ์ 62 ค่า AQI อยู่ที่ 154 จุด) โดยการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปกอลกาตานับว่าไม่ยาก สามารถบินตรงจากกรุงเทพฯ ไปยังกอลกาตาได้เลย ระยะเวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง ในราคาที่สบายกระเป๋า

ภาพที่ 1: เมืองกอลกาตา (Kolkata)

ภาพจำของอินเดียสำหรับนักท่องเที่ยวไทยคือ สกปรก ไม่มีระเบียบ และที่สำคัญคือคนอินเดียชอบหลอกลวง สิ่งเหล่านี้ดูจะเป็นปกติของประเทศกำลังพัฒนาที่ใช้การท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้อย่างหนึ่ง

เราโดนอินเดียหลอกตั้งแต่ก้าวเท้าออกจากสนามบิน

เราเรียกแท็กซี่เข้าเมือง เป็นรถแท็กซี่รุ่นเก่าที่ดีไซน์เหมือนมาจากสมัยอาณานิคม การเรียกแท็กซี่ในสนามบินส่วนใหญ่นั้นเราต้องเรียกจากเคาน์เตอร์ในสนามบิน โดยเมื่อแจ้งสถานที่ที่เราจะไปเราจะได้ใบจองซึ่งระบุค่าโดยสารไว้เราก้าวขึ้นรถสุดคลาสสิกคันนั้น นั่งไปเปิดกระจกรับลมและ PM 2.5 ของกอลกาตาไป ยิ่งลึกเข้าในเมือง การจราจรยิ่งจอแจและผู้คนยิ่งขวักไขว่ มันเป็นภาพแรกของอินเดียที่เราเห็น วิถีชีวิต ตัวอักษรบนป้ายตามทาง กลิ่นของเมืองกลิ่นของเครื่องเทศซึ่งแต่ละที่ในโลกล้วนมีเอกลักษณ์ของตน

เรามาถึงที่หมายของเรา แต่มันอาจไม่ใช่ที่หมายของคุณลุงคนขับ

ตอนอยู่สนามบินเราตกลงกันว่าจะไป Howrah Bridge ซึ่งเป็นสะพานแขวนขนาดใหญ่โตที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม เรามองเห็นสะพานและบอกให้คุณลุงจอดที่เชิงสะพานก่อนที่จะข้ามไป เราเตรียมจ่ายเงินตามที่เขียนไว้ในใบ แต่ลุงคนขับพูดประมาณว่า “คุณต้องจ่ายเพิ่ม คุณลงก่อนที่จะถึงที่หมาย”

ภาพที่ 2: Howrah Bridge (ที่มา: remotetraveler.com)

ผมสัมผัสได้ถึงความไม่ชอบมาพากลบางอย่าง แต่ด้วยที่ตอนนั้นสภาพอากาศร้อนมาก บวกกับสัมภาระ
ที่หนักอึ้งเราจึงจ่ายเพิ่มให้แกไป 100 รูปี (ราว 50 บาท) ให้เรื่องราวมันจบไป

แต่นี่มันเพิ่งจะเริ่มต้น หากคุณมาเที่ยวอินเดีย ทักษะในการต่อรองราคาจะเป็นสิ่งที่คุณได้กลับไปยังเมืองไทยแน่ๆ

เราตั้งใจอยู่กอลกาตาไม่นาน โดยเป็นแค่เมืองที่บินลงและจะนั่งรถไฟต่อไปยังเมืองต่อไปเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษวางระบบการขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะอย่างยิ่งรถไฟไว้ดีมาก ภายนอกที่เป็น Hard Infrastructure จะดูเสื่อมโทรมจากการไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมไปบ้าง แต่สิ่งที่เป็น Soft Infrastructure อย่างเช่นการบริหารจัดการยังทำได้ดีเยี่ยม รถไฟอินเดียมาตรงเวลา ผมกับเพื่อนเลือกโดยสารด้วยรถไฟจากกอลกาตาไปเมืองต่อไปซึ่งก็คือพาราณสี (Varanasi)

ขั้นตอนการจองตั๋วรถไฟอินเดียนั้นอาจจะไม่ยาก แต่เพื่อความมั่นใจเราจึงจองผ่าน Agency ชาวไทยที่รับจองตั๋วการเดินทางสาธารณะ รวมๆ แล้วหากเดินทางด้วยขบวนตู้นอนประอากาศชั้น 1 ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 900 บาทต่อคน

ภาพที่ 3: รถไฟอินเดียที่สถานีรถไฟกอลกาตา

บนรถไฟสะอาดสะอ้าน แอร์เย็นฉ่ำ ผู้โดยสารไม่มากนักซึ่งเมื่อดูจากราคาก็น่าจะสูงกว่าค่าครองชีพรายวันของคนอินเดียอยู่มากโข

เรามาถึงพาราณสีกลางดึก ภายในสถานีรถไฟยังคงดูคึกคัก มีทั้งคนที่เดินทางขึ้นลงรถไฟรอบดึก คนที่อาศัยที่ว่างของสถานีเป็นที่หลับนอน แต่นอกจากมนุษย์แล้วยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นเพ่นพ่านอีกซึ่งก็คือวัว ผมเกือบเดินชนวัวแล้วถูกเขาขวิดไปรอบหนึ่งตอนเดินเลี้ยวตรงหัวมุม ชาวอินเดียซึ่งส่วนมากนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั้นนับถือวัวมากดุจเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งเพราะว่าวัวคือพาหนะของพระศิวะ

Rickshaw (รถตุ๊กๆ ของอินเดีย) เป็นยานพาหนะที่ทั้งชาวอินเดียและนักท่องเที่ยวใช้เดินทางไปที่ต่างๆ ทักษะการต่อรองราคาของเราเพิ่มขึ้นนิดนึง แต่ผมเป็นนักเดินทางที่ไม่ชอบการวางแผนอะไรล่วงหน้ามากเกินไปโดยเฉพาะเรื่องที่พัก เราต่อรองราคากับ Rickshaw และตกลงให้เขาพาเราไปหาที่พักในพาราณสี คนขับลัดเลาะไปตามซอกซอยของพาราณสีซึ่งเป็นเมืองเก่าที่มีถนนเล็กๆ ตัดกันมากมาย เรารู้สึกเหมือนเล่นเกมผจญภัยสักอย่าง รอบด้านมืดมิด ตึกรามบ้านช่องเก่าทรุดโทรมเหมือนภาพยนตร์สงครามในตะวันออกกลาง บางช่วงเราจะนั่งผ่านฝูงวัวที่ยังไม่หลับใหล สงสัยว่าวัวจะเป็นดวงตาของพระศิวะที่ออกตรวจตราเมืองแทนตำรวจในยามวิกาล

ที่พักที่คนขับพาเรามาห้องเป็นห้องพัดลม เตียงคู่ ห้องน้ำในตัวที่มีเครื่องทำน้ำอุ่นพร้อม ซึ่งก็เพียงพอต่อการประทังชีวิตให้ผ่านไปอีก 1 คืน เราตกลงราคาได้ที่ 800 รูปี (400 บาท 2 คน ตกคนละ 200 บาท) และเห็นว่าคนขับไปรับเงินจำนวนหนึ่งจากพนักงานโรงแรม

ความมหัศจรรย์เริ่มขึ้นในตอนเช้า หากคุณมีโอกาสมาพักที่เมืองนี้ ที่พักส่วนใหญ่จะอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำคงคา คุณจะต้องเดินลัดเลาะซอกซอยบ้านเรือนที่เรียงรายอยู่ริมน้ำเพื่อไปให้ถึงแม่น้ำ ภาพและความรู้สึกในคราที่ก้าวออก

จากซอกซอยแล้วเห็นแม่น้ำคงคาเป็นครั้งแรกในยามเช้านั้นเป็นสิ่งที่เกินบรรยายสิ่งที่คุณต้องทำมีไม่มาก คุณต้องเดินเลียบแม่น้ำคงคา ลองนั่งสมาธิริมแม่น้ำ ล่องเรือพายในแม่น้ำคงคา และลงไปเหยียบแม่น้ำคงคาด้วยเท้าเปล่า แค่นั้นล่ะ

ภาพที่ 4: บรรยากาศริมแม่น้ำคงคาในยามเช้า

ภาพที่ 5: ต้องลองนั่งสมาธิที่เมืองศักดิ์สิทธิ์ดูสักครั้ง

ความศักดิ์สิทธิ์ของพาราณสีไม่ได้มีแค่พิธีกรรมที่เกิดขึ้นริมแม่น้ำคงคา ออกจากเมืองไปทางทิศเหนือเล็กน้อย เมื่อ 2,500 ปีก่อนบริเวณนั้นเรียกว่า “ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน” ปัจจุบันคือเมือง “สารนาถ” อันที่ที่แสดงปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้าในวันอาสาฬหบูชา

ภาพที่ 6: ธรรมเมกขสถูปที่สร้างเสร็จราวปี ค.ศ. 500 และหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน

จุดหมายต่อไปของเราคือเมืองอัคระ (Agra) เมืองอันเป็นที่สถิตย์ของ 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ (New 7 Wonders of The World) เราเลือกนอนรถบัสแบบ Sleeper หลับยาวๆ แล้วไปตื่นยังที่หมายตอนเช้าแต่ความตื่นเต้นก็บังเกิดขึ้นแต่เช้าเช่นกัน จุดที่รถบัสมาส่งเรานั้นเหมือนจะเป็นข้างทางริมทางด่วนและอยู่นอกเมืองออกมาไกลมาก

Rickshaw ต่างมาแย่งพวกเราไปเป็นลูกค้า เราถามเข้าเมืองเท่าไร “800” จากประสบการณ์ต่อราคาที่สั่งสมมาเรื่อยๆ เราต่อราคาลงครึ่งหนึ่ง “400” ทีแรกดูเหมือนเหล่าคนขับต่างไม่ยอม เราเดินทีมาอีกฝั่ง ยังไม่มีทีท่าว่าจะยอม เขาเสนอ “500” แต่แล้วก็มีคนขับคนหนึ่งซึ่งเป็นวัยรุ่นและไม่ได้อยู่ในวงต่อราคากับเราทีแรกขับ Richshaw ของเขามาที่เราแล้วบอกให้ขึ้นมา เราก็ถามว่า “400 นะ” เขาพยักหน้า กลายเป็นว่าบทเรียนหนึ่งที่ได้เรียนรู้คือบางครั้งการกระทำต้องเร็วกว่าคำพูด

เราเลือกที่พักตามรอยรายการ “หนังพาไป” ที่เดินทางมาอินเดียเมื่อหลายปีก่อน พักที่ Hostel ชื่อ Hotel Saniya Palace ที่พักที่เป็นกันเอง เต็มไปด้วยแมกไม้ ซ่อนตัวอยู่ในซอยเล็กๆ ของเมืองที่มี Taj Mahal เป็นฉากหลังว่ากันว่ามีอยู่ 5 มุมของ Taj Mahal ที่นักท่องเที่ยวต้องไปดู ถามว่าพวกเราสนใจหรือไม่ ไม่เลย แต่เราก็ทำสำเร็จไปตั้ง 3 มุม

และสิ่งสำคัญคือ ภาพ Taj Mahal จากร้านอาหารดาดฟ้าของโรงแรมนี้เป็นมุมที่แรกพวกเราตามหา

ภาพที่ 7: Taj Mahal จากดาดฟ้า Hotel Saniya Palace

มุมที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อคุณค่อยๆ เดินลอดประตูทางเข้า ซึ่งค่อยๆ เผยให้เห็น Taj Mahal ที่ใหญ่ขึ้นๆ เต็มและตรึงตาอยู่เบื้องหน้า มุมที่ 2 มุมตรงๆ สุดแสนสามัญธรรมดานี่ล่ะ

ภาพที่ 8: Taj Mahal มุมตรง

มุมสุดท้าย มุมจาก Agra Fort ซึ่งเป็นป้อมที่จักรพรรดิชาห์จาฮัน (Shah Jahan, 1592-1666) ผู้ดำริให้สร้าง Taj Mahal ถูกกักขังในช่วงบั้นปลายชีวิต เขาเหม่อมองผ่านซี่กรงของป้อมไปยัง Taj Mahal ที่เป็นอนุสรณ์แห่งความรัก
ที่เขาตั้งใจจะมอบมเหสีผู้เป็นที่รัก พระนางมุมตาซ มาฮัล (Mumtaz Mahal, 1593-1631)

ภาพที่ 9: Taj Mahal จาก Agra Fort ภาพในดวงตาของชาห์จาฮันระหว่างที่ถูกกุมขัง

มีคนกล่าวว่าเราสามารถแบ่งคนบนโลกได้เป็น 2 ประเภท คือ 1. คนที่ยังไม่ได้เห็น Taj Mahal 2. คนที่เห็น
Taj Mahal แล้ว การเขยิบจากประเภท 1 มาเป็นประเภท 2 ทำได้ทางเดียวคือการมาเห็น Taj Mahal ไม่ใช่เห็นแค่ในรูป แต่คือเห็นด้วยดวงตาให้แสงจากหินอ่อนที่ประกอบกันเป็นรูปทรงตรงบ้างโค้งบ้างในแบบสถาปัตยกรรมมุสลิมพุ่งตรง
เข้ามายังดวงตาและซึมลึกไปยังจิตใจ

เวลาอยู่เบื้องหน้าสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่และงดงาม และหากเรารับรู้เรื่องราวความเป็นมาของสิ่งนั้นด้วยเราจะมองมันได้ยาวนาน ซึ่งสิ่งที่เรามิใช่เพียงสิ่งที่อยู่เบื้องหน้า แต่เรากำลังมองเห็นจักรวาลของมัน ทั้งอดีต ปัจจุบัน และสิ่งที่น่าจะเกิดในอนาคต อนุสรณ์สถานที่อุทิศแด่ความรัก แต่ก็ต้องเกณฑ์แรงงานมหาศาลเพื่อสร้างมัน จักรวรรดิโมกุล
ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ Taj Mahal ก็ยังคงตั้งเด่นเป็นสง่า ผู้ดีอังกฤษจะคิดอย่างไรกันนะเมื่อเขามายืนอยู่เบื้องหน้า Taj Mahal อย่างที่ผมยืนอยู่ตอนนี้ เขาไม่ใช่ชนชาติหรือจักรวรรดิเดียวที่สูงส่ง บ้านเมืองที่เขามายึดครองอาจเคยงดงามและรุ่งโรจน์กว่าผู้มายึดครองด้วยซ้ำ ครั้งหนึ่ง Taj Mahal เคยอาจตกเป็นเป้าโจมตีของจักรวรรดิญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลอินเดียในขณะนั้นต้องสร้างนั่งร้าน (Scaffolding) ประกบไว้ตามโดมของ Taj Mahal เพื่อปกป้องสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้จากจรวดมิสไซล์ เวลาผ่านไป Taj Mahal ยังคงตั้งเด่นเป็นสง่าดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกให้เข้ามาสัมผัส ซึ่งผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น

ภาพที่ 10: นั่งร้านที่สร้างมาปกป้อง Taj Mahal ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (ที่มา: Wikipedia.org)

ผมอยู่ในภวังค์ระยะหนึ่ง ปล่อยให้พระอาทิตย์คล่อยๆ คล้อยต่ำ ให้แสงละเลียดผิวสัมผัสหินอ่อนของ Taj Mahal ด้วยแสงแห่งสนธยาและเมื่อแสงเริ่มหมด เราจึงถอนตัวกลับมาพักผ่อน

นอกจาก Taj Mahal แล้ว ในเมืองอัคระยังมีสถานที่สำคัญอื่นๆ เช่น ยังมีสิ่งที่เรียกว่า Tomb of I’timad-ud-Daulah หรือ ‘Baby Taj’ ซึ่งสร้างก่อน Taj Mahal ไม่กี่ปีและเชื่อกันว่าเป็นแบบร่างของ Taj Mahal อีกด้วย

จักรวรรดิโมกุลย้ายเมืองหลวงหลายครั้ง เมืองหลวงแห่งแรกคืออัคระ เคยย้ายไปลาฮอร์ (Lahore)ซึ่งปัจจุบันอยู่ในปากีสถานเป็นช่วงเวลาสั้นๆ และย้ายมายังเดลี (Delhi) เมืองหลวงของอินเดียปัจจุบันเป็นแห่งสุดท้าย

ที่เอ่ยยืดยาวไม่มีอะไรมาก และแล้วเราก็ได้เวลาเดินทางเข้าเมืองหลวงของอินเดีย กรุงนิวเดลี (New Delhi)ซึ่งอาจจะอ่านว่า กรุงนิวเดลฮี ก็ได้เหมือนกัน ความแตกต่างระหว่างเดลีและนิวเดลีคือ เดลีเป็นพื้นที่ที่กว้างกว่าและมีเมืองนิวเดลีซึ่งเป็นเมืองหลวง เป็นศูนย์กลางการบริหารประเทศตั้งอยู่

ระหว่างทางจากเมืองอัคระเข้าเมืองหลวง ถนนหนทาง ตลอดจนสองข้างทางพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ จากความเก่าไร้ระเบียบของพาราณสีกลายเป็นความมีระเบียบและสะอาดสะอ้าน (แต่ไม่ใช่ทั้งหมด) ของกรุงนิวเดลี

นิวเดลีก็ไม่ต่างจาก กรุงปักกิ่ง มหานครนิวยอร์ค และนครใหญ่ทั่วโลก ประชากรหลักสิบล้าน และหากนับรวมปริมณฑล (Metro) ซึ่งจะรวมเมืองรายรอบเหมืองหลวงเข้าไปอีกจำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเลยทีเดียว เมืองหลวงประกอบไปด้วยบริเวณที่ทันสมัย ตึกสูง ออฟฟิศ ห้างร้านขายของแบรนด์เนม รวมถึงบริเวณทรุดโทรมที่การพัฒนาเข้าไปไม่ถึง แต่การเดินทางสัญจรในมหานครนี้ก็ไม่ลำบากลำเค็ญเหมือนกรุงเทพฯ นิวเดลีมีระบบการขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะรถไฟใต้ดินที่ค่อนข้างครอบคลุมกว่า 9 สาย ขณะเดียวกันก็สามารถใช้บริการ Uber ได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่ของอินเดียทาง Uber จะมีบริการ UberPool ซึ่งเป็นระบบที่จะจัดให้ผู้โดยสารในเส้นทางเดียวกันมานั่งในรถคันเดียวกันทำให้ค่าโดยสารถูกลง หวังว่า Grab จะนำบริการนี้มาใช้ในกรุงเทพฯ เร็ววัน

อินเดียจัดได้ว่าเป็นหนึ่งในมหาอำนาจในโลกยุคปัจจุบัน นอกจากจำนวนประชากรมหาศาลกว่า 1,300 ล้านคน ที่เป็นรองแค่จีนแล้ว อินเดียมีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก สังกัดในกลุ่มเศรษฐกิจหนึ่งที่จีนเป็นผู้นำคือ BRICS ซึ่งก็คือกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ ประกอบด้วย B-บราซิล R-รัสเซีย I-อินเดีย C-จีน และ
S-แอฟริกาใต้ ซึ่งด้วยพื้นฐานของการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ อินเดียยังเป็นมหาอำนาจทางการเมืองและการทหารด้วยการที่อินเดียมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองและมีศักยภาพในการส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศด้วยตนเอง

มีหลากหลายเรื่องเกิดขึ้นระหว่างที่ผมกับเพื่อนเล่นๆ เดินๆ อยู่ในกรุงนิวเดลีที่หน้าร้อนนั้นร้อนระอุยิ่งกว่ากรุงเทพฯ มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมภาคภูมิใจมาก ผมตระหนักได้ว่าอินเดียเป็นประเทศของการสับขาหลอกและการจะเที่ยวในประเทศนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นเราต้องรู้จักแก้เกม ที่ Jama Masjid มัสยิดที่ว่ากันว่าใหญ่ที่สุดในเดลี มีกฎระเบียบอยู่ว่าห้ามนำโทรศัพท์และอุปกรณ์สื่อสารเข้าไปด้านใน ซึ่งหากจะนำเข้าไปจะต้องเสียเงินเพิ่ม ตอนแรกผมกับเพื่อนก็คิดกันว่าเราคงอดเข้ามัสยิดนี้แล้ว แต่เราก็คิดได้ทีหลังว่า การมาเป็นคู่ไม่จำเป็นเสมอไปที่เราต้องไปเป็นคู่ การทำอะไรด้วยกันเป็นคู่บางครั้งก็เป็นเรื่องดีหากเราแยกกันบ้าง เราจึงตัดสินใจว่าจะเข้าไปข้างในทีละคนโดยคนที่อยู่ข้างนอกก็รับฝากโทรศัพท์มือถือของอีกคนไว้

อย่างไรก็ตามก็มีเรื่องที่ยากจะแก้ ระหว่างที่เราเดินอยู่ในย่าน Connaught Place ซึ่งเป็นย่านที่เป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟใต้ดิน Rajiv Chowk อันเป็นสถานีศูนย์กลางของรถไฟฟ้าเหมือนสถานีสยามในบ้านเรา เพื่อนร่วมทางของผมถูกใครสักคนปาขี้ใส่รองเท้า จริงๆ เราก็ไม่รู้ว่ามีใครปาใส่จริงๆไหมหรือมันจะเป็นขี้ที่หล่นมาจากฟ้า หรือ
หล่นมาจากต้นไม้แถวนั้น แต่ทำไมกันเล่า ทำไมมันถึงเหมาะเจาะ ยิงตรงไปยังรองเท้าข้างขวาของเพื่อนผมขนาดนั้น

สิ่งที่ทำให้เรามั่นใจมากขึ้นคือมีการทำกันเป็นขบวนการ ตอนแรกนั้นเพื่อนผมยังไม่รู้ตัวว่ารองเท้าข้างขวาเปื้อนขี้เข้าแล้ว ทันใดนั้นก็มีคนอินเดียร้องเรียกขึ้นมาทำนองว่า “เฮ้ยไอน้อง รองเท้าเปื้อนอะไรน่ะนั่น” แล้วชายหนุ่มคนนี้ก็ชี้และพาเราไปข้างๆ พร้อมพูดว่า “มาตรงนี้ เดี๋ยวผมจัดการเอง” เขาเดินตรงไปยังช่างขัดรองเท้าคนหนึ่งที่นั่งๆ ยืนๆ รอลูกค้าอยู่แถวนั้น ต้องบอกก่อนว่าในประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม ผมก็เคยเจอบริการแบบนี้ จะมีช่างขัดรองเท้าอยู่ตามที่ต่างๆ หรือไม่ก็เวลาเรานั่งกินอาหารหรือเครื่องดื่มก็จะมีช่างพวกนี้เดินเข้ามาถามว่าอยากขัดรองเท้าไหม

ภาพที่ 11: ช่างขัดรองเท้าชาวอินเดีย

ตอนแรกพวกเราดีใจมากที่คนอินเดียจะน้ำใจงามขนาดนี้ เขาขัดรองเท้าให้เพื่อนผมอย่างดี สะอาดหมดจดยิ่งกว่าก่อนโดนปาขี้ แต่แล้วเขาก็เรียกค่าบริการจากเพื่อนผมกว่า 3,000 รูปี (1,500 บาท) เพื่อนผมรู้สึกแย่มาก ผมเองก็ไม่แพ้กัน แต่ด้วยความแข็งแกร่งของเราที่สั่งสมจากเมืองแต่ละเมืองของอินเดียและด้วยการที่เราสื่อสารกันไม่ค่อยเข้าใจนัก เพื่อนผมตัดบทจ่ายไป 400 รูปี (200 บาท) แล้วเดินจากมา

นี่สิถึงจะเรียกว่ามาถึงอินเดียแล้วนะจ๊ะนายจ๋า

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในเป้าหมายการมาอินเดียในครั้งนี้ของผมคือการมาเคารพมหาตมา คานธี (Mahatma Gandhi, 1869-1948) ผมมีความตั้งใจอย่างหนึ่งว่าเวลาเดินทางไปที่ต่างๆต้องหาโอกาสไปเคารพหลุมศพซึ่งอาจจะเป็น tomb หรือ mausoleum (อนุสาวรีย์บรรจุศพ) ของบุคคลสำคัญ ผมรู้สึกว่ามันเป็นการรับความรู้สึกบางอย่าง ที่ตกทอดกันมาและคอยย้ำเตือนเราเสมอว่าโลกใบนี้มีอายุยาวนาน ส่วนมนุษย์เรามีอายุขัยแสนสั้น และตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นมีคนน่าสนใจเกิดขึ้นตามที่ต่างๆ ในจังหวะเวลาแตกต่างกันไปอยู่เสมอ

ภาพที่ 12: อนุสาวรีย์บรรจุศพของมหาตมา คานธี

ภาพที่ 13: ผมกำลังเคารพและระลึกถึงคานธี

หลังจากเมื่อหลายปีก่อนได้ดูหนังเรื่อง Gandhi (1982) ที่ได้รางวัลออสการ์ในปีต่อมา ภาพจำของคานธีคือลุงแก่หัวโล้นใส่แว่นท่าทางมีความรู้และใจดี แต่กว่าจะถึงบั้นปลายชีวิต คานธีต้องผ่านการตัดสินใจมากมายและมีวาระสุดท้ายที่น่าเศร้าด้วยการถูกลอบสังหาร ชีวิตของเขาผูกพันกับการสร้างชาติอินเดียอย่างแนบแน่นโดยเป็นการสร้างชาติที่ต้องใช้ความอดทนจากการเดินเท้านับ 400 กิโลเมตร (ปัจจุบันอาจไม่น่าตื่นเต้นแล้วเพราะพี่ตูนวิ่งไปกว่า 1,000 กิโลเมตร) และเป็นชาติที่เกิดจากความเจ็บปวดเพราะเกิดการพลัดพรากและการแบ่งแยกทั้งผู้คนและดินแดนระหว่างอินเดียและปากีสถาน อย่างไรก็ตามสิ่งน่าสนใจจากหนังเรื่องนี้คือได้เห็นการเดินทางของคนธรรมดาคนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมหาศาล

หลังคานธีตายอินเดียมีแนวนโยบายแบบ Protectionist ที่โน้มเอียงไปทางฝั่งคอมมิวนิสต์อยู่หลายสิบปีและ หันมาใช้นโยบายตลาดเสรีในทศวรรษ 1990 แต่พรรคคอมมิวนิสต์ก็ไม่ได้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย อย่างที่กล่าวในตอนแรก ในรัฐ West Bengal ที่มีเมืองกอลกาตาเป็นเมืองหลวง พรรคคอมมิวนิสต์สามารถจัดตั้งรัฐบาลและเพิ่งจะสิ้นสุดวาระ
ไปเมื่อปี 2011 ที่ผ่านมานี่เอง

ซึ่งหลังจากการรีบเร่งพัฒนาประเทศของอินเดียนั้นความเหลื่อมล้ำได้เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวเห็นได้ชัดทั้งระหว่างเมือง เช่น พาราณสีกับกรุงนิวเดลีที่เหมือนอยู่กันคนละโลก หรือแม้แต่สลัมและตึกสูงในเมืองใหญ่ เช่น กรุงนิวเดลี หรือ นครมุมไบ (Mumbai) เมืองที่มีประชากรมากที่สุดในอินเดีย เองก็ตาม

ผลของความเหลื่อมล้ำที่สัมผัสได้จากตัวเองจริงๆ คือต้องต่อรองราคากับคนอินเดียเยอะมากหลังจากอยู่ที่นี่มา 5 วันและโดนโก่งราคานับครั้งไม่ถ้วน สาเหตุที่ทำให้ ‘Money is everything.’ นั้นส่วนหนึ่งก็มาจากความยากจนของผู้คนจำนวนมาก

แต่ในด้านการเมืองนั้น ปัจจุบันอินเดียเป็นประเทศ ‘ประชาธิปไตย’ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ตามจำนวนประชากร) เป็นเรื่องน่าสนใจเมื่อเอามาเปรียบเทียบกับจีนที่เป็นประเทศคอมมิวนิสต์แต่หันมาใช้นโยบายตลาดเสรีในสมัยเติ้งเสี่ยวผิง (Deng Xiaoping, 1904-1997) นั้น พัฒนาการทางเศรษฐกิจของสองประเทศกลับต่างกันลิบลับ

น่าคิดว่าระหว่างประชาธิปไตยกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเทศต่างๆ รวมถึงไทยเองนั้นควรให้ความสำคัญกับสิ่งใด ในมุมหนึ่งนั้นรัฐบาลรัฐประหารไม่ต่างอะไรมากนักกับรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ไม่ได้มีความชอบธรรมทางการเมืองแต่ก็สามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้ดี อย่างไรก็ตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นภายใต้ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมักไม่มีความเสมอภาคเพราะอำนาจในการตัดสินใจและกำหนดนโยบายมักอยู่ที่คนกลุ่มเดียว ผลประโยชน์จึงตกไปที่คนกลุ่มนั้น

หมดเวลากับอินเดียเบื้องล่างแล้ว เราจะไปอินเดียเบื้องบนกัน แต่มันคือที่ไหน บนที่มันอยู่ตรงไหนหรือต้องสูงแค่ไหน รอติดตามฉบับหน้า …

วณัช บัณฑิตาโสภณ
ผู้เขียน

“ยากที่จะนิยามตัวเอง เป็นนักเรียนเศรษฐศาสตร์ เป็นเศรษฐกรปฏิบัติการ เป็นนักเขียนนู่นเขียนนี่ แต่ที่แน่ๆสนใจปัญหาบ้านเมืองและอยากแก้ไขโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้น”