สหรัฐอเมริกา-อิหร่าน: ความสัมพันธ์ที่ผันแปร (ตอนที่ 1/2)

สหรัฐอเมริกา-อิหร่าน: ความสัมพันธ์ที่ผันแปร (ตอนที่ 1/2)

บทความโดย
ดร.อารีฝีน ยามา

บทนำ

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกา-อิหร่านเป็นประเด็นที่คนไทยจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทุกครั้งที่เกิดความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง (Middle East) มักจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและประเทศไทย โดยเฉพาะราคาน้ำมันซึ่งประเทศไทยเองเป็นผู้นำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางเป็นส่วนใหญ่ ไม่เพียงเท่านั้นสำหรับประเทศไทยแล้วตะวันออกกลางถือเป็นภูมิภาคที่ไทยได้เข้าไปทำการค้าการลงทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังมีแรงงานไทยอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนของไทยในภูมิภาค และความปลอดภัยของแรงงานไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ตะวันออกกลางถือเป็นภูมิภาคที่ถูกห้อมล้อมไปด้วยความขัดแย้งระหว่างประเทศมาช้านาน หากย้อนดูประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา จะเห็นว่าตะวันออกกลางยุคใหม่ (Modern Middle East) ได้เริ่มต้นขึ้นด้วยการที่ประเทศมหาอำนาจยุโรปได้เข้ามามีบทบาทและแข่งขันกันเพื่อมีอิทธิพลเหนือดินแดนและก่อตั้งอาณานิคมบนภูมิภาคแห่งนี้ และเพื่อที่จะควบคุมทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วย น้ำมัน ก๊าซ และแร่ธรรมชาติ รวมทั้งยังเป็นที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความสำคัญด้านยุทธศาสตร์ และยังรวมถึงเป็นจุดเชื่อมต่อของทั้ง 3 ทวีปอันได้แก่ ทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา

เกือบสองศตวรรษต่อมาภูมิภาคแห่งนี้พบว่าตนเองยังต่อสู้อยู่ในวังวนแห่งวิกฤตที่รุนแรงตลอดมาอย่างไม่หยุดหย่อนและมีแนวโน้มตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทั้งมหาอำนาจโลก (Super Power) และมหาอำนาจนำภูมิภาค (Regional Power) ต่างห้ำหั่นแย่งชิงอิทธิพลเหนือภูมิภาคแห่งนี้ ดินแดนซึ่งครั้งหนึ่งเคยสงบ และอุดมไปด้วยความสวยงามทางวัฒนธรรมและความเชื่อที่หลากหลาย ถือเป็นอู่แห่งอารยธรรม (Cradle of Civilization) ทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดศาสนาที่สำคัญของโลกคือ ยูดาย คริสต์ และอิสลาม แต่มาวันนี้พวกเขาได้พบว่าดินแดนของพวกเขาได้กลายเป็นเวทีแห่งการต่อสู้แย่งชิงผลประโยชน์ ความขัดแย้ง และความรุนแรง ที่ยากยิ่งนักที่จะหาข้อยุติได้ โดยความตึงเครียดที่ก่อตัวขึ้นล่าสุดที่ทั่วโลกจับตามองคือ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่านในการแย่งชิงอิทธิพลที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญเหนือดินแดนประเทศอิรัก ซึ่งก่อนที่จะลงไปในรายละเอียดของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่านในปัจจุบัน ทั้งสองประเทศมีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนมาอย่างยาวนาน

ความสัมพันธ์สหรัฐอเมริกา-อิหร่านก่อนการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่านปี 1979

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่านเริ่มต้นตั้งแต่ยุคอาณานิคม คือศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 นักปฏิรูปอิหร่านหัวก้าวหน้าในสมัยนั้นได้รับแรงบันดาลใจจากสหรัฐอเมริกาและมีความหลงใหลในรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อิหร่านลอกเลียนแบบวิถีชีวิตของตะวันตกในหลายด้าน

ต่อมาต้นศตวรรษที่ 20 ถือเป็นก้าวสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ เมื่อเจ้าหน้าที่จากสหรัฐอเมริกา นายมอร์แกน ชัสเตอร์ (Morgan Shuster) ถูกส่งไปอิหร่านในปี 1911 เพื่อรับตำแหน่งเจ้าหน้าที่ด้านการคลัง (Treasurer-General) ของอิหร่านคนใหม่และกลายเป็นผู้มีอิทธิพลต่อขบวนการร่างรัฐธรรมนูญของอิหร่าน ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในยุคนั้น นายโทมัส วูดโรว์ วิลสัน (Thomas Woodrow Wilson) เองก็มีนโยบายไม่เห็นด้วยกับความพยายามของอังกฤษที่จะเปลี่ยนอิหร่านให้กลายเป็นประเทศในอารักขา (Protectorate) ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านและสหรัฐอเมริกาให้ใกล้ชิดมากขึ้น

กระนั้นก็ตาม ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศต้องมาสะดุดลงช่วงสั้นๆ เนื่องมาจากนายกรัฐมนตรีโมฮัมเหม็ด มอสซาเดคห์ (Mohammad Mossadegh) ที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนชนะการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยก้าวขึ้นมามีอำนาจในรัฐบาล นายกรัฐมนตรีมอสซาเดคห์ ขัดขวางผลประโยชน์อันมหาศาลของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษในประเทศอิหร่าน โดยได้เรียกคืนสัมปทานน้ำมันจากชาติตะวันตกที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้มาหลายทศวรรษกลับมาเป็นของชาติ และจากความล้มเหลวของอังกฤษในการเจรจาต่อรองและโน้มน้าวใจนายกรัฐมนตรีมอสซาเดคห์ ได้นำมาซึ่งแผนการโค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตยของอิหร่าน โดยการสนับสนุนช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา

แผนการโค่นล้มนายกรัฐมนตรีมอสซาเดคห์เริ่มต้นจากการปล่อยข่าวโฆษณาชวนเชื่อ ต่อต้านนายกรัฐมนตรี และชักชวนให้ชาวอิหร่านเข้าร่วมในการทำรัฐประหารโดยมีข้ออ้างที่ว่ารัฐบาลมอสซาเดคห์อยู่ภายใต้อำนาจคอมมิวนิสต์ ในที่สุดการทำรัฐประหารประสบความสำเร็จ โดยวอชิงตันได้ยกย่องเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างเปิดเผย จนทำให้นายกรัฐมนตรีมอสซาเดคห์ถูกทำรัฐประหารในที่สุด โดยนายกรัฐมนตรีมอสซาเดคห์อยู่ในตำแหน่งเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก คือระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม 1952 – 19 สิงหาคม 1953

การกระทำของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอิหร่านเชื่อว่า มีส่วนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังสนับสนุนการทำรัฐประหารโค่นอำนาจนายกรัฐมนตรีของอิหร่านที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และการคืนมอบอำนาจให้แก่กษัตริย์ โมฮัมเหม็ด เรซา ปาห์ลาวี (Mohammed Reza Pahlavi) หรือกษัตริย์ชาห์ (Shah) ได้กลายเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ก่อให้เกิดความขุ่นเคืองและความไม่ไว้วางใจต่อสหรัฐอเมริกาอย่างรุนแรง เพราะเป็นต้นเหตุที่ทำให้อิหร่านออกจากเส้นทางแห่งความเป็นประชาธิปไตยสู่ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ซึ่งเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกาที่พยายามส่งออกประชาธิปไตยให้กับประเทศต่างๆ และป่าวประกาศไปทั่วโลกให้ยอมรับว่าทุกคนมีเสรีภาพและความเสมอภาค

ช่วงเวลานี้เองที่สหรัฐอเมริกาพยายามสนับสนุนอิหร่านในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีระดับสูง ในปี 1959 กษัตริย์ชาห์ได้เปิดศูนย์วิจัยโครงการนิวเคลียร์แห่งกรุงเตหะรานที่มหาวิทยาลัยเตหะรานโดยการสนับสนุนและการอำนวยอุปกรณ์ และเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา ต่อมาในปี 1967 สหรัฐอเมริกาได้จัดหาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาด 5 เมกะวัตต์และเชื้อเพลิงยูเรเนียมเสริมสมรรถนะอาวุธแก่อิหร่าน หนึ่งปีถัดมาในปี 1968 อิหร่านได้ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และปี 1970 ได้ให้สัตยาบันในสนธิสัญญาดังกล่าวเพื่อแลกกับความมุ่งมั่นที่จะให้ได้รับอนุญาตในการรักษาไว้ซึ่งโครงการนิวเคลียร์เพื่อใช้สำหรับพลเรือน

ตั้งแต่ปี 1963 จนถึงปี 1973 ถือเป็นช่วงเวลาสิบปีที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่านหวานชื่นที่สุดด้วยผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศที่ลงตัวทุกประการ สหรัฐอเมริกาได้นำทรัพยากรบุคคล โดยเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ จำนวนมากเข้าสู่ประเทศอิหร่านด้วยการให้อำนาจทางการทหารและการเมืองแก่พวกเขา ในช่วงเวลานี้อิหร่านมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับที่เป็นช่วงเวลาของระบบชาห์เติบโตและมีอำนาจเบ็ดเสร็จ เรียกได้ว่าเป็น ‘เผด็จการเต็มรูปแบบ’ ทั้งยังได้สร้างหน่วยตำรวจลับ SAVAK ที่มีชื่อเสียงของเขาเพื่อปกป้องบัลลังก์ไม่ให้สั่นคลอน โดยหน่วยดังกล่าวได้รับการฝึกซ้อมและอบรมจากสำนักข่าวกรองกลาง (CIA) ของสหรัฐอเมริกา

ในปี 1972 ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเดินทางไปยังอิหร่านเพื่อรับประกันผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาค ซึ่งมีผลให้อิหร่านสามารถสั่งซื้อระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ได้ตามที่ต้องการ ต่อมาในปี 1973 สงครามอาหรับ – อิสราเอล หรือสงครามยมกีปปูร์ (Yom Kippur War) เริ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งทะยานอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จำนวนเงินมหาศาลไหลเข้าสู่อิหร่านหลังจากอิหร่านคว่ำบาตรและไม่ปฏิบัติตามการห้ามค้าขายน้ำมันของกลุ่มประเทศอาหรับ

การที่ชาติอาหรับใช้น้ำมันเป็นเครื่องมือตอบโต้ต่อพันธมิตรที่สนับสนุนอิสราเอลในสงครามครั้งนี้ เป็นผลดีสำหรับอิหร่านในการส่งออกน้ำมันเป็นเจ้าใหญ่รายเดียวในขณะนั้น อิหร่านจึงมีกำลังซื้ออาวุธที่มีเทคโนโลยีสูงเป็นจำนวนมาก การที่อิหร่านมีเศรษฐกิจเติบโตสามารถสร้างกำไรเข้าประเทศด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาล เป็นต้นเหตุที่นำมาซึ่งการทุจริตฉ้อฉลของผู้นำ ชนชั้นสูง และเครือญาติที่ใกล้ชิด ก่อให้เกิดผลกระทบเป็นห่วงโซ่ตีกลับอย่างรุนแรงต่อความสัมพันธ์สนิทสนมของสหรัฐอเมริกากับชนชั้นปกครองแห่งอิหร่าน บวกกับอุดมการณ์ทางศาสนาอิสลามที่เติบโตขึ้นในภูมิภาคจากการเห็นสังคมที่เริ่มบิดเบี้ยว ขาดศีลธรรม ความสุรุ่ยสุร่ายและการฉ้อโกงของผู้นำ ประชาชนถูกกดขี่ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่สูง สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดได้มาบรรจบกันเป็นปรากฏการที่เรียกว่า ‘การปฏิวัติอิสลามปี 1979

ความสัมพันธ์สหรัฐอเมริกา – อิหร่านหลังการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่านปี 1979

เหตุการณ์ปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่านที่มีการบุกยึดสถานทูตสหรัฐอเมริกาจับตัวประกันเจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกันทั้งหมด 52 คน ของนักศึกษาอิหร่านไว้เพื่อการต่อรองนานถึง 444 วัน ทำให้กษัตริย์ชาห์แห่งอิหร่าน โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี (Mohammad Reza Pahlavi) ที่ได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ต้องสละบัลลังก์และลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาสู่อำนาจของอยาตุลลอฮฺ รูฮุลลอฮฺ โคมัยนี (Ayatollah Ruhollah Khomeini) ที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศสมานาน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1979 เพียงสองเดือนหลังจากนั้นอิหร่านจึงเปลี่ยนระบอบการปกครองใหม่เป็น ‘สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน’ เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นความรุนแรงที่นำไปสู่การตัดความสัมพันธ์อย่างสิ้นเชิงระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่าน และอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาต่อประเทศอิหร่านได้สิ้นสุดลง

จุดยุทธศาสตร์สำคัญที่นำมาซึ่งความตึงเครียดมากที่สุดในห้วงเวลาแห่งการตัดความสัมพันธ์หลังจากการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่านปี 1979 เป็นต้นมา คือช่องแคบฮอร์มุซ (Strait of Hormuz) ที่ถือเป็นเส้นทางเดินเรือเส้นเดียวที่เชื่อมต่ออ่าวเปอร์เซียกับโลกภายนอก เป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมันจากภูมิภาคตะวันออกกลางของกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซียสู่ภูมิภาคอื่นๆ ถึง 21 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของปริมาณน้ำมันของโลก ช่องแคบฮอร์มุซถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่นำไปสู่ความตึงเครียดเป็นระยะๆ ระหว่างสหรัฐอเมริกาที่มีฐานทัพอยู่ล้อมรอบอ่าวเปอร์เซีย

ในระหว่างสงครามอิรัก-อิหร่านที่ใช้เวลายาวนานทั้งหมด 8 ปี นับตั้งแต่ ปี 1980-1988 อิหร่านได้ใช้ช่องแคบฮอร์มุซในการชิงความได้เปรียบ ครั้งหนึ่งอิหร่านเคยขู่ที่จะปิดช่องแคบและวางระเบิดตามเส้นทางเดินเรือในบริเวณดังกล่าว ซึ่งคำขู่ของอิหร่านประสบความสำเร็จ ส่งผลให้กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาที่ห้า (United States Fifth Fleet) ที่ลาดตระเวนประจำอยู่ในน่านน้ำแถบอ่าวเปอร์เซีย และมีฐานทัพอยู่ในบาห์เรน ให้คำมั่นที่จะหยุดการรุกรานตามเส้นทางเดินเรือทะเลของช่องแคบฮอร์มุซ

กองกำลังสหรัฐอเมริกาและอิหร่านได้เกิดการปะทะกันในบริเวณช่องแคบฮฮร์มุซครั้งสำคัญในปี 1988 หลังจากที่ทุ่นระเบิดของอิหร่านที่วางไว้ตามเส้นทางเดินเรือในช่องแคบฮอร์มุซได้ทำลายเรือรบของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา โดยสหรัฐอเมริกาได้ตอบโต้กลับด้วยการจมเรือรบอิหร่าน 3 ลำ และโจมตีระบบตรวจจับขีปนาวุธของอิหร่านอีกด้วย การเผชิญหน้าของทั้งสองประเทศในบริเวณช่องแคบฮอร์มุซที่นำมาซึ่งความสูญเสียมากที่สุดโดยเฉพาะกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ คือเหตุการณ์ในเดือนกรกฎาคม ปี 1988 เมื่อเรือรบของสหรัฐอเมริกาได้ยิงเครื่องบินพาณิชย์ของสายการบินอิหร่านที่บินผ่านน่านฟ้าใกล้ช่องแคบฮอร์มุซตกด้วยขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศสองลูก จากเหตุการณ์ครั้งนี้ได้คร่าชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 290 ชีวิต ซึ่งในจำนวนนี้มีเด็กอยู่ด้วยจำนวน 66 คน ต่อมาทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ออกมาแถลงข่าวยอมรับความผิดพลาดโดยอ้างว่าเป็นความเข้าใจผิดของกองทัพเรือที่คิดว่าเครื่องบินโดยสารดังกล่าวเป็นเครื่องบินขับไล่ไอพ่นของฝ่ายศัตรูแต่ไร้คำขอโทษใดๆ ส่วนการเผชิญหน้าครั้งอื่นๆ นั้นเป็นการสงวนท่าทีของแต่ละฝ่ายที่ส่วนใหญ่จะเป็นสงครามจิตวิทยามากกว่าการใช้กำลัง

ในเดือนธันวาคม ปี 2011 กองกำลังอิหร่านอ้างว่าได้ทำลายเครื่องบินสอดแนมไร้คนขับของสหรัฐอเมริกาที่สามารถหลบเลี่ยงการตรวจจับของเรดาร์ได้ แต่สหรัฐอเมริกาอ้างว่าเครื่องบินไร้คนขับตกอันเนื่องมาจากเกิดการขัดข้องไม่ใช่เพราะถูกทางอิหร่านโจมตีแต่อย่างใด และเรียกร้องให้ทางอิหร่านส่งคืนเครื่องบินสอดแนมดังกล่าว อิหร่านปฏิเสธและเชื่อว่าอิหร่านได้นำชิ้นส่วนของเครื่องบินมาทำการศึกษาและพัฒนาต่อไป เพราะต่อมาอิหร่านได้อ้างว่าได้มีพัฒนาเครื่องบินไร้คนขับของตนเองประสบผลสำเร็จ

กระทั่งไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่กี่วันก่อนจะมีผลบังคับใช้ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน (Iran Deal) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างอิหร่าน และ 5 ชาติสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) ที่บัญญัติให้อิหร่านจำกัดปริมาณการสะสมและการผลิตยูเรเนียมเสริมสมรรถนะซึ่งเป็นธาตุยูเรเนียมชนิดหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์รวมถึงใช้ในอาวุธนิวเคลียร์เพื่อแลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และสหประชาชาติ โดยมีทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ทำหน้าที่เฝ้าสังเกตการณ์ ในเดือนมกราคม ปี 2016 กองทัพเรืออิหร่านได้จับกุมลูกเรือชาวอเมริกัน 10 นาย ซึ่งกำลังลาดตระเวนเข้าสู่น่านน้ำอิหร่านในอ่าวเปอร์เซีย อิหร่านถ่ายรูปลูกเรือสหรัฐอเมริกาที่อยู่ในสภาพคุกเข่ายอมจำนน ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่สร้างความอับอายให้กับสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก แต่ลูกเรือทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวหลังจาก 24 ชั่วโมง และจากการสอบสวนของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาสรุปว่ากองทัพเรือของตนมีความผิดพลาด

จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 1979 ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่สหรัฐอเมริกาตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่านและนำไปสู่มาตรการคว่ำบาตร ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจึงมีความตึงเครียดเรื่อยมา กระทั่งล่าสุดความขัดแย้งได้ปะทุขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) สั่งโจมตีทางอากาศปลิดชีวิตนายพลสุไลมานีบุคคลสำคัญของอิหร่าน ถือเป็นความขัดแย้งที่สร้างความวิตกให้กับนานาชาติที่เกรงว่าเหตุการณ์จะบานปลายนำไปสู่สงครามที่อาจขยายวงกว้างในภูมิภาค ฉบับหน้าจะมาวิเคราะห์สถานการณ์ร้อนจากการการเสียชีวิตของบุคคลสำคัญของอิหร่าน และแนวโน้มความน่าจะเป็นในภูมิภาคตะวันออกกลาง

อ้างอิง

  1. BBC News. (2020). US-Iran relations: A brief history. https://www.bbc.com/news/world-middle-east-24316661
  2. Browne, O’Brien. The Arab-Israeli War of 1973: Honor, Oil, and Blood. HISTORYNET. https://www.historynet.com/the-arab-israeli-war-of-1973-honor-oil-and-blood.htm
  3. Ghazvinian, John. (2020). A history of U.S.-Iran relations. Penn Today. https://penntoday.upenn.edu/news/history-us-iran-relations
  4. Inskeep, Steve. (2015). Born In The USA: How America Created Iran’s Nuclear Program. Parallels Many Stories, One World: npr. https://www.npr.org/sections/parallels/2015/09/18/440567960/born-in-the-u-s-a-how-america-created-irans-nuclear-program
  5. Katzman, Kenneth., Nerurkar, Neelesh., O’Rourke, Ronald. Chunk Mason, R. & Michael Ratner. (2012) Iran’s Threat to the Strait of Hormuz. Congressional Research Service. https://fas.org/sgp/crs/mideast/R42335.pdf
  6. Kaur, Harmeet.  Kim, Allen. & Sherman, Ivory. (2020) The US-Iran conflict: A timeline of how we got here. New York: CNN. https://edition.cnn.com/interactive/2020/01/world/us-iran-conflict-timeline-trnd/
  7. Naji, Saeid.  &  Jawan Jayum A. (2011). US-Iran Relations in the Post-Cold War Geopolitical Order. Asian Social Science. Vol. 7, No. 9. http://www.ccsenet.org/journal/index.php/ass/article/view/10254
  8. Parvaz, D. (2014). Iran 1979: the Islamic revolution that shook the world. Al-Jazeera. https://www.aljazeera.com/indepth/features/2014/01/iran-1979-revolution-shook-world-2014121134227652609.html
  9. Rose, Gregory F. (1978). The Shah’s Secret Police Are Here. New York. https://www.cia.gov/library/readingroom/docs/CIA-RDP81M00980R000600050015-5.pdf
  10. Wise, Krysta. (2011). Islamic Revolution of 1979: The Downfall of American-Iranian Relations. ” Legacy: Vol. 11: Iss. 1, Article 2. https://opensiuc.lib.siu.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1008&context=legacy
ดร.อารีฝีน ยามา

ดร.อารีฝีน ยามา
ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้เขียน