การเจรจาจัดทำร่างภาคผนวกการค้าบริการด้านการเงินภายใต้ความตกลง RCEP

การเจรจาจัดทำร่างภาคผนวกการค้าบริการด้านการเงินภายใต้ความตกลง RCEP

บทความโดย นายกมลพงศ์ วิศิษฐวาณิชย์
เรียบเรียงโดย นางสาวอรณิชา สว่างฟ้า

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) หรือ“อาร์เซป” เป็นการจัดทำความตกลงการค้าเสรี ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน (ASEAN Free Trade Partners: AFPs) จำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ เครือรัฐออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และประเทศนิวซีแลนด์

ก่อนเริ่มเจรจา RCEP SWG-FIN เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ณ กรุงเทพฯ ผู้แทนประเทศไทยขอถ่ายรูปเอาฤกษ์เอาชัยกันหน่อย

ในส่วนของการเจรจาเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินภายใต้ความตกลง RCEP นั้น ได้ใช้หลักการเจรจา เดียวกับการเจรจาเปิดเสรีตามหลักสากลทั่วไปตามที่ระบุในความตกลงการค้าเสรีองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ซึ่งครอบคลุมสาขาการค้าบริการหลักใน 3 สาขา ได้แก่ การธนาคาร ประกันภัย และหลักทรัพย์

โดยความตกลงจะประกอบด้วยพันธกรณี 2 ส่วน ได้แก่ (1) การเจรจาจัดทำข้อผูกพันการเปิดตลาด เพื่อระบุสาขาย่อยที่ต้องการลดหรือยกเลิกข้อจำกัดการเข้าสู่ตลาด และ (2) การเจรจาจัดทำข้อบท (Text) เพื่อกำหนดขอบเขตและพันธกรณีกลางสำหรับการเปิดเสรี โดยอาจจัดทำในรูปแบบของบท (Chapter) หรือภาคผนวก (Annex) แนบท้ายบทซึ่งสำหรับความตกลง RCEP ได้เลือกจัดทำข้อบทในรูปแบบของภาคผนวกแนบท้ายบทการค้าบริการ

หลังจากจบเจรจา RCEP SWG-FIN เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 ณ กรุงเทพฯ
ทุกคนก็พร้อมใจกันออกมาถ่ายรูปกับ Backdrop

สำหรับบทความนี้ ผู้เขียนจะเกริ่นนำด้วยความเป็นมาของการเจรจาจัดทำความตกลง RCEP ในภาพรวม จากนั้น ค่อยเจาะลึกในประเด็นการเจรจาจัดทำร่างภาคผนวกการค้าบริการด้านการเงิน โดยเล่าถึงกลไกการเจรจา รวมถึงสาระสำคัญของร่างภาคผนวกดังกล่าว และปิดท้ายด้วยแนวทางการเจรจาจัดทำความตกลง RCEP ในอนาคต

ความเป็นมาของการเจรจาจัดทำความตกลง RCEP

เนื่องจากความตกลง RCEP เป็นความตกลงที่จัดทำขึ้นระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ดังนั้น อาเซียนจึงมีความจำเป็นต้องมีแนวนโยบายการเจรจาที่สอดคล้องกัน เพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนในระดับที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนได้รับรองเอกสารกรอบอาเซียนสำหรับภูมิภาคหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (ASEAN Framework for RCEP)

ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 15-18 พฤศจิกายน 2554 ณ เกาะบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมีจุดมุ่งหมายให้มีการเปิดเสรีครอบคลุมทั้งการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมืออื่นๆ ให้มีขอบเขตครอบคลุมมากขึ้น และมีระดับการเปิดเสรีที่สูงกว่าความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่

  1. ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ (ASEAN-Australia-New Zealand FTA: AAZFTA)
  2. ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China FTA: ACFTA)
  3. ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี (ASEAN-Korea FTA: AKFTA)
  4. ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership: AJCEP)
  5. ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India FTA: AIFTA)

ต่อมา ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 21 ระหว่างวันที่ 17-20 พฤศจิกายน 2555 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาของอาเซียน 6 ประเทศ ได้ร่วมรับรองปฏิญญาว่าด้วยการประกาศเริ่มการเจรจาความตกลง RCEP ตั้งแต่ต้นปี 2556

โดยประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาของอาเซียนได้ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาการค้าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership-Trade Negotiating Committee: RCEP-TNC) เพื่อเป็นกลไกหลักในการเจรจาจัดทำความตกลง RCEP

และได้มีการประชุม RCEP-TNC ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ทั้งนี้ หัวหน้าคณะผู้แทนไทยใน RCEP-TNC คือ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

ภายใต้การประชุม RCEP-TNC นี้ ประกอบด้วยคณะทำงานและคณะทำงานย่อยด้านต่างๆ อาทิ คณะทำงานด้านการค้าสินค้า คณะทำงานด้านการค้าบริการ คณะทำงานด้านการลงทุน คณะทำงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา คณะทำงานด้านกฎหมาย คณะทำงานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คณะทำงานย่อยด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า และคณะทำงานย่อยสาขาการค้าบริการโทรคมนาคม เป็นต้น

ซึ่งคณะทำงานและคณะทำงานย่อยดังกล่าวได้ถูกจัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการเจรจารายละเอียดเชิงเทคนิคในแต่ละด้าน และรายงาน
ความคืบหน้าผลการเจรจาให้ RCEP-TNC ทราบเป็นระยะ

บรรยากาศการประชุมหารือระหว่าง RCEP SWG-FIN และ RCEP WGTIS เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ณ กรุงเทพฯ

กลไกการเจรจาจัดทำร่างภาคผนวกการค้าบริการด้านการเงินภายใต้ความตกลง RCEP

ในด้านการเงิน ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ RCEP เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2558 ได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานย่อยสาขาบริการด้านการเงินภายใต้ความตกลง RCEP (RCEP Sub-Working Group on Financial Services: RCEP SWG-FIN) แยกออกจากคณะทำงานด้านการค้าบริการภายใต้ความตกลง RCEP (RCEP Working Group on Trade in Services: RCEP WGTIS) เพื่อพิจารณาจัดทำร่างภาคผนวกการค้าบริการด้านการเงิน (Annex on Financial Services) ภายใต้บทการค้าบริการ (Trade in Services Chapter) (ต่อจากนี้จะเรียกว่าร่างภาคผนวกการเงิน RCEP) และมีหน้าที่ในการเจรจาจัดทำร่างข้อบทอื่นๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับการค้าบริการด้านการเงิน โดยการประชุม RCEP SWG-FIN ได้มีการจัดประชุม มาแล้วทั้งหมด 16 ครั้ง

ในการจัดทำท่าทีของประเทศไทยสำหรับการเจรจาจัดทำร่างภาคผนวกการเงิน RCEP ตลอดจนการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินในกรอบความตกลงต่างๆ จะต้องมีการพิจารณากลั่นกรองท่าทีประเทศไทยและกำหนดแนวทางในการเจรจา

โดย “คณะทำงานพิจารณาการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน” (คปง.) ซึ่งมีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นประธาน และมีผู้แทนคณะทำงานจากหน่วยงานเกี่ยวข้องภาครัฐ ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และหน่วยงานภาคเอกชน อาทิ สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ร่วมเป็นคณะทำงาน โดย คปง. ได้มีการประชุมเป็นระยะ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนทรรศนะและความเห็นระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการกำหนดท่าทีในการเจรจาร่วมกัน

ภายหลังจากประเทศไทยได้ท่าทีสำหรับการเจรจาแล้ว ขั้นตอนการเจรจาต่อไปคือการประชุมเฉพาะกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN Caucus) เพื่อประสานหาท่าทีกลางระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เนื่องจากท่าทีของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศจะถูกนับเป็นเพียงแค่ท่าทีเดียวเท่านั้น โดยท่าทีกลางของอาเซียนส่วนใหญ่จะมีระดับที่ไม่เกินกว่าพันธกรณีที่ระบุในภาคผนวกการค้าบริการด้านการเงินภายใต้ความตกลงการค้าบริการอาเซียน (ASEAN Trade in Services Agreement: ATISA) ทั้งนี้ ภายหลังจากที่อาเซียนสามารถหาท่าทีกลางร่วมกันได้แล้ว จะนำท่าทีดังกล่าวไปเจรจาต่อรองกับประเทศคู่เจรจาอาเซียนอีก 6 ประเทศ ในการประชุม RCEP SWG-FIN

หากที่ประชุม SWG-FIN มีประเด็นที่ไม่สามารถหาฉันทามติได้ หรือมีประเด็นที่คาบเกี่ยวกับพันธกรณีในบทการค้าบริการ ก็จะนำประเด็นเหล่านั้นขึ้นหารือกับ RCEP WGTIS เพื่อแลกเปลี่ยนทรรศนะและขอมติ อย่างไรก็ดี หากที่ประชุม RCEP WGTIS ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ก็จะนำประเด็นคงค้างขึ้นหารือกับ RCEP-TNC ในลำดับต่อไป

ทั้งนี้ คณะผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุม SWG-FIN ส่วนมากมาจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงิน อาทิ กระทรวงการคลัง และธนาคารกลาง โดยประเทศไทยมีผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ทำหน้าที่เป็นผู้เจรจาหลัก (Lead Negotiator) และมีผู้แทน ธปท. สำนักงาน ก.ล.ต. และสำนักงาน คปภ. ร่วมเป็นองค์ประกอบคณะผู้แทนของประเทศไทย

สาระสำคัญของร่างภาคผนวกฯ

โดยทั่วไป ความตกลงด้านการบริการด้านการเงินจะมีข้อบท (Text) พื้นฐานคือ ภาคผนวกการค้าบริการด้านการเงินภายใต้ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (General Agreement on Trade in Services: GATS) ขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) โดยมีพันธกรณีสำคัญระบุให้ประเทศสมาชิกมีสิทธิใช้มาตรการกำกับดูแลเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบการเงินภายในประเทศ โดยมาตรการดังกล่าวจะต้องไม่นำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างกัน

นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกจะต้องยอมรับการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศสมาชิกอื่นได้ โดยมาตรการดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับหลักปฏิบัติสากล และเปิดโอกาสให้ภาคีสมาชิกอื่นตรวจสอบและสอบถามถึงสาเหตุของการใช้มาตรการดังกล่าวได้ อนึ่ง การเจรจาจัดทำข้อบทภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอื่นๆ จะต้องมีระดับพันธกรณีไม่ต่ำกว่าที่ระบุใน GATS

เมื่อเริ่มแรกของการเจรจาจัดทำร่างภาคผนวกการเงิน RCEP ที่ประชุม RCEP SWG-FIN ได้เห็นชอบให้ใช้เนื้อหาของภาคผนวกการค้าบริการด้านการเงินภายใต้ความตกลง AANZFTA เป็นพื้นฐานในการเจรจา

จากนั้น ได้มีการเจรจาปรับปรุงถ้อยคำของพันธกรณีต่างๆ พร้อมทั้งเสนอพันธกรณีใหม่ อาทิ บริการด้านการเงินรูปแบบใหม่ และข้อพิพาทด้านการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการค้าบริการด้านการเงิน เพื่อยกระดับพันธกรณีด้านการเงินภายใต้ความตกลง RCEP ให้มีความทันสมัย และมีนัยในการเปิดเสรีในเชิงลึกและกว้างมากขึ้น

ที่ประชุม RCEP SWG-FIN สามารถหาข้อสรุปในถ้อยคำของร่างภาคผนวกการเงิน RCEP ประกอบด้วย 14 Article ได้แก่

  1. ขอบเขต (Scope)
  2. คำนิยาม (Definitions)
  3. บริการด้านการเงินรูปแบบใหม่ (New Financial Services)
  4. มาตรการกำกับดูแล (Prudential Measures)
  5. การปฏิบัติต่อข้อมูลบางประเภท (Treatment of Certain Information)
  6. การยอมรับ (Recognition)
  7. ความโปร่งใส (Transparency)
  8. ข้อยกเว้นสำหรับการบริการด้านการเงิน (Financial Services Exceptions)
  9. การถ่ายโอนข้อมูลและการประมวลผลข้อมูล (Transfers of Information and Processing of Information)
  10. องค์กรกำกับดูแลตนเอง (Self-Regulatory Organisations)
  11. ระบบการจ่ายเงินและชำระราคา (Payment and Clearing Systems)
  12. การระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement)
  13. การหารือ (Consultations)
  14. จุดติดต่อ (Contact Points)
ArticleRCEPAANZFTAATISA
Scope✓ (ใช้ชื่อว่า Scope and Definitions)
Definitions
New Financial Services 
Prudential Measures✓ (ใช้ชื่อว่า Domestic Regulation)✓ (ใช้ชื่อว่า Safeguard Measures)
Treatment of Certain Informationมีเนื้อหารวมอยู่ใน Article Domestic Regulationมีเนื้อหารวมอยู่ใน Article Safeguard Measures
Recognition
Transparency✓ (ใช้ชื่อว่า Regulatory Transparency)✓ 
Financial Services Exceptions 
Transfers of Information and Processing of Information
Self-Regulatory Organisations 
Payment and Clearing Systems 
Dispute Settlement
Consultations  
Contact Points  
Investment Disputes in Financial Services✓ (อยู่ระหว่างการรอเจรจาในอนาคต)  
Local Presenceมีถ้อยคำระบุไว้ใน Article Scope 
Cross-Border Supply of Financial Services  
Arrangements to Expedite Financial Integration  
Market Access for Financial Institutions  
ตารางเปรียบเทียบ Article ของภาคผนวกการค้าบริการด้านการเงินภายใต้ความตกลงต่างๆ
ที่มา: รวบรวมโดยผู้เขียนบทความ

จากตารางเปรียบเทียบข้างต้น จะเห็นได้ว่า พันธกรณีพื้นฐานของการค้าบริการด้านการเงิน อาทิ (1) Scope (2) Definitions (3) Prudential Measures (4) Recognition (5) Transfers of Information and Processing of Information (6) Article Transparency และ (7) Dispute Settlement จะปรากฏอยู่ในความตกลงทั้ง 3 ฉบับ โดยระดับความเข้มข้นของพันธกรณีและถ้อยคำจะมีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับผลการเจรจากับประเทศภาคีคู่เจรจา ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบร่างภาคผนวกการเงิน RCEP กับภาคผนวกการค้าบริการด้านการเงินภายใต้ความตกลง AANZFTA ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 จะพบว่า ร่างภาคผนวกการเงิน RCEP มีระดับของการผูกพันสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่พันธกรณีที่ผูกพันภายใต้ภาคผนวกการค้าบริการด้านการเงินภายใต้ความตกลง ATISA บางพันธกรณีผูกพันในระดับที่สูงกว่าที่ผูกพันภายใต้ร่างภาคผนวกการเงิน RCEP และในทางกลับกันก็มีบางพันธกรณีที่ผูกพันในระดับที่ต่ำกว่าที่ผูกพันภายใต้ร่างภาคผนวกการเงิน RCEP

สาระสำคัญพันธกรณีหลักของร่างภาคผนวกการเงิน RCEP มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

  1. ร่างภาคผนวกการเงิน RCEP จะไม่มีนัยครอบคลุม “บริการที่ให้โดยการใช้อำนาจรัฐบาล (Services Supplied in the Exercise of Government Authority)” ซึ่งหมายความรวมถึง กิจกรรมที่ดำเนินการโดยธนาคารกลาง หรือองค์กรการเงิน หรือโดยหน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินการตามนโยบายการเงิน หรือนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ ในกรณีที่เกิดความไม่สอดคล้องของถ้อยคำระหว่างภาคผนวกการค้าบริการด้านการเงินกับข้อบทอื่นๆ ภายใต้ RCEP ให้ตีความตามถ้อยคำที่ระบุในภาคผนวกด้านการค้าบริการด้านการเงินเป็นหลัก
  2. ประเทศสมาชิกมีสิทธิใช้มาตรการกำกับดูแลเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบการเงินภายในประเทศ โดยมาตรการดังกล่าวจะต้องไม่นำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ความตกลงฉบับนี้
  3. ประเทศสมาชิกจะพยายามอนุญาตให้สถาบันการเงินของประเทศสมาชิกอื่นที่เข้ามาจัดตั้งหน่วยธุรกิจในประเทศสมาชิกของตน สามารถให้บริการด้านการเงินรูปแบบใหม่ในประเทศสมาชิกของตนเช่นเดียวกับที่อนุญาตให้สถาบันการเงินในประเทศสมาชิกของตนให้บริการได้ โดยไม่ต้องมีการออกกฎหมายใหม่หรือแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่
  4. ประเทศสมาชิกจะต้องยอมรับว่ามาตรการกำกับดูแลการบริการด้านการเงินที่โปร่งใสมีความสำคัญต่อการเข้าสู่ตลาดของประเทศสมาชิกอื่น โดยประเทศสมาชิกต้องเผยแพร่กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับบริการด้านการเงินเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินการ และจะต้องให้โอกาสแก่บุคคลที่สนใจ (Interested persons) รวมทั้งประเทศสมาชิกอื่นในการแสดงความเห็นต่อกฎระเบียบดังกล่าว นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของประเทศสมาชิกจะต้องพิจารณาอนุมัติใบอนุญาตประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการทางการเงินของประเทศสมาชิกอื่นที่ประสงค์จะเข้ามาจัดตั้งหน่วยธุรกิจในอีกประเทศสมาชิกหนึ่งให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน
  5. ประเทศสมาชิกจะต้องไม่ใช้มาตรการใดๆ ที่กีดกันการถ่ายทอดข้อมูลและการประมวลผลข้อมูลของผู้ให้บริการทางการเงินในอาณาเขตของตน อย่างไรก็ดี ประเทศสมาชิกมีสิทธิกำหนดให้ผู้ให้บริการทางการเงินในอาณาเขตของตนต้องปฏิบัติกฎระเบียบภายในประเทศที่เกี่ยวข้องกับการจัดการข้อมูล การเก็บ และการรักษาระบบข้อมูล รวมถึงการกำหนดให้เก็บสำเนาของข้อมูลภายในอาณาเขตของประเทศสมาชิก นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกมีสิทธิสงวนข้อมูลด้านการเงินที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล
RCEP-TNC ครั้งที่ 20 เมื่อเดือนตุลาคม 2560 ณ เมืองอินชอน สาธารณรัฐเกาหลี

แนวทางการเจรจาจัดทำความตกลง RCEP ในอนาคต

ภายหลังจากที่ RCEP SWG-FIN สามารถหาข้อสรุปของร่างภาคผนวกการเงิน RCEP ได้แล้ว การดำเนินการในลำดับต่อไปคือ การขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย (Legal Scrubbing) ร่วมกับคณะทำงานด้านกฎหมายภายใต้ความตกลง RCEP

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ถ้อยคำของร่างภาคผนวกฯ มีความสอดคล้องกับถ้อยคำของความตกลง RCEP ทั้งฉบับ และเมื่อความตกลง RCEP ทั้งฉบับผ่านการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายเสร็จแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการลงนามความตกลง RCEP เพื่อให้ความตกลงมีผลใช้บังคับต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการลงนามความตกลง RCEP ภายในปี 2563

ท้ายนี้ เพื่อให้เนื้อหาของความตกลง RCEP มีความทันสมัย และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศคู่เจรจาทั้ง 16 ประเทศ อย่างต่อเนื่อง ที่ประชุม RCEP-TNC จึงได้เห็นชอบให้ทุกคณะทำงานและคณะทำงานย่อยจัดทำ Work Plan เพื่อระบุประเด็นที่ต้องการให้มีการเจรจาเพิ่มเติม แก้ไข หรือปรับปรุงในอนาคตภายหลังจากที่ได้ลงนามความตกลง RCEP แล้ว

กมลพงศ์ วิศิษฐวาณิชย์
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

ทำทุกวันให้มีคุณค่า เพราะเวลาเรียกกลับคืนมาไม่ได้

โดยในส่วนของการค้าบริการด้านการเงิน ที่ประชุม RCEP SWG-FIN ได้ระบุให้เพิ่มการเจรจาจัดทำพันธกรณีเรื่องข้อพิพาทด้านการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการค้าบริการด้านการเงิน (Investment Disputes in Financial Services) และเห็นควรให้หารือร่วมกับคณะทำงานด้านการลงทุนภายใต้ความตกลง RCEP เกี่ยวกับถ้อยคำและตำแหน่งของพันธกรณีดังกล่าวในโอกาสต่อไป