Singapore Fintech Festival 2019 : Rethink Finance

Singapore Fintech Festival 2019 : Rethink Finance

บทความและภาพโดย ศรัณย์วุฒิ ตรรกพงศ์
เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ (ดร. สุมาพร มานะสันต์)

นิทรรศการ Singapore Fintech Festival จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 15 พฤศจิกายน 2562 ณ Singapore Expo สาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งจัดโดย Monetary Authority of Singapore และสถาบันการเงินพันธมิตร มีการเปิดตัวและเผยแพร่เทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ ให้แก่ผู้เข้าชมงานกว่า 60,000 ราย จาก 130 ประเทศทั่วโลก

ผู้เข้าร่วมนั้นประกอบด้วยบุคลากรสำคัญจากหลายภาคส่วน ทั้งภาคการเงินทั่วไป (เช่น ธนาคารพาณิชย์ วาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทประกัน เป็นต้น) บุคลากรบริษัทเทคโนโลยี และฟินเทคสตาร์ทอัพ (FinTech Startups) รวมทั้งตัวแทนจากหน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานผู้กำหนดนโยบาย ผู้เข้าร่วมงานเหล่านี้

แม้ว่าจะมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ แต่ก็ล้วนมีเป้าหมายหนึ่งที่มีร่วมกัน นั่นคือ การพัฒนาศักยภาพของภาคการเงิน  และเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology: FinTech) เพื่อช่วยยกระดับความเป็นอยู่และสถานภาพของคนในสังคมอย่างสร้างสรรค์ ด้วยความคิดนอกกรอบ แหวกจากขนบเดิมๆ นำไปสู่การเปลี่ยนโฉมโลกให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ด้วยพลังของการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

Singapore Fintech 2019

ในนิทรรศการดังกล่าว มีการเสวนาและจัดแสดงความก้าวหน้าด้าน FinTech ในหลากหลายหัวข้อเช่น การเงินเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Finance) สกุลเงินดิจิทัล (Digital Currency) และความรู้และทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) เป็นต้น และ

อีกหนึ่งความก้าวหน้าสำคัญในกระแส FinTech คือการเปิดมิติใหม่ของการยกระดับการเข้าถึงบริการภาคการเงินของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) ซึ่งการเข้าถึงบริการทางการเงินของ SMEs เป็นปัญหาที่สำคัญในหลายๆ ประเทศ และประเทศไทยเองก็ประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน

ด้วยสาเหตุจากสถาบันการเงิน (ผู้ให้กู้) เห็นว่า SMEs เป็น กลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงกว่าปกติ เนื่องจากไม่มีการทำบัญชีอย่างเป็นระบบ ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน และส่วนใหญ่ ไม่เคยมีประวัติการขอสินเชื่อและการชำระเงินมาก่อน ประกอบกับวงเงินสินเชื่อของ SMEs นั้นมีมูลค่าไม่สูงมากนัก สถาบันการเงินจึงมักจะปฏิเสธการพิจารณาสินเชื่อให้แก่กลุ่มลูกค้าดังกล่าวด้วยเหตุของความไม่คุ้มค่าในเชิงธุรกิจ ก่อให้เกิดช่องว่างทางการเงิน (Financial Gap)

ในระบบการเงินขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ของนิทรรศการ Singapore FinTech Festival ผู้เข้าร่วมงานสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเรียนรู้ความก้าวหน้าของการให้บริการทางการเงินแก่ SMEs ผ่าน FinTech ซึ่งรวมถึงแนวทางในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลสิงคโปร์ในการเพิ่มช่องทางขายของออนไลน์ของ SMEs การนำวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) มาพัฒนาการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านเครดิตของ SMEs การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการดำเนินงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมทั้งการให้สินเชื่อในรูปแบบใหม่ โดยการพัฒนาเหล่านี้ล้วนสามารถใช้ให้เป็นประโยชน์ในการลด Financial Gap ของ SMEs ได้ทั้งสิ้น

ในบทความนี้ จะพาไปเดินชมนิทรรศการ Singapore FinTech Festival เพื่อ Reexamine” ประเด็นต่างๆ ที่จะนำไปสู่การ “Rethink” ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนเพื่อ “Reshape” SMEs ในประเทศไทยต่อไป

Rethinking Financial Institutions

WeBank เป็นธนาคารพาณิชย์ดิจิทัล (Digital Bank) แห่งแรกของประเทศจีนซึ่งก่อตั้งเมื่อเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2557 โดยได้นำ FinTech เข้ามาพัฒนาการดำเนินงานอย่างชัดเจนด้วยการใช้แอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนของลูกค้าแทนสำนักงานสาขาของ WeBank ทำให้ WeBank ไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของสำนักงานสาขาเช่น ธนาคารพาณิชย์ทั่วไป สาขาของ WeBank จะมีจำนวนมากขึ้นทุกครั้งที่มีคนดาว์นโหลดแอพพลิเคชั่นของ WeBank นอกจากนี้ WeBank ยังเป็น Digital Bank แห่งแรกๆ ที่นำเทคโนโลยี “ABCD of FinTech” มาใช้ในการดำเนินการอย่างครบวงจร ได้แก่ Artificial Intelligence (AI), Blockchain, Cloud Computing และ Data

WeBank นำ AI เข้ามาใช้ในการดำเนินงานถึงร้อยละ 98 โดย Chatbot ที่ WeBank พัฒนาขึ้น ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ไม่อาจทราบได้ว่าตนเองพูดคุยอยู่กับ Chatbot นอกจากการให้บริการลูกค้าแล้ว WeBank ยังได้นำ AI มาใช้ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนหรือที่เรียกว่า Know Your Customer (KYC) ซึ่งเป็นประเด็นอุปสรรคสำคัญของการให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งยังใช้ Algorithm มาช่วยพัฒนาเทคโนโลยี Facial Recognition (การตรวจสอบใบหน้า) เพื่อยืนยันตัวตนให้ลูกค้ามากกว่า 640 ล้านครั้ง

สำหรับ Blockchain นั้น WeBank ได้เริ่มก่อตั้ง Financial Blockchain Consortium (FISCO) ในประเทศจีนซึ่งมีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกับ Blockchain Community Initiative ในประเทศไทย ซึ่งโครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพัฒนา ทั้งนี้ ในโครงการ FISCO นั้น Blockchain ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการประกอบธุรกิจหลายประการ เช่น การพิสูจน์คุณสมบัติและติดตามลูกหนี้ การให้บริการทางการเงินในห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain Financing) และการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์กำกับดูแล (Compliance) เป็นต้น

ในกรณีของ Cloud Computing WeBank เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกในโลกที่ใช้ระบบธนาคารหลักหรือ Core Banking System บน Private Cloud ที่ WeBank ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับการบริหารจัดการธุรกรรมจำนวนมาก

ท้ายที่สุด คือ การใช้ Data หรือข้อมูลในการดำเนินงาน Tencent บริษัทแม่ของ WeBank และเป็นเจ้าของ WeChat และ QQ เป็นผู้ครอบครองข้อมูลมากกว่า 15 เพตาไบต์ ซึ่งมีการประมวลผลแบทช์มากกว่า 300,000 งานต่อวัน WeBank จึงได้มีการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลจำนวนมหาศาลดังกล่าวด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี AI ขึ้นบนฐานข้อมูล
ของ WeChat และ QQ จึงทำให้ WeBank สามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ขอสินเชื่อได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

จากการนำเทคโนโลยี “ABCD of FinTech” มาใช้ในการดำเนินการอย่างครบวงจร WeBank จึงมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการทางด้านเทคโนโลยีประมาณ 0.50 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถูกกว่าต้นทุนการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ทั่วไปถึง 30 เท่า และ

ลูกค้าของ WeBank สามารถขอสินเชื่อและทราบผลการพิจารณาสินเชื่อภายใน 1 นาที และได้รับเงินสินเชื่อภายใน 2 นาที จึงไม่น่าแปลกใจว่าในระยะเวลาไม่ถึง 4 ปี WeBank สามารถขยายกิจการได้อย่างรวดเร็ว โดยมีลูกค้าที่ได้รับสินเชื่อผ่านแอพพลิเคชั่นไปแล้วกว่า 100 ล้านราย และมีมูลค่าสินทรัพย์ รวมกว่า 950,000 ล้านบาท ในขณะที่มีสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing Loan : NPL) เพียงร้อยละ 1 เท่านั้น (ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2562) ต่ำกว่าสัดส่วนของ NPL ในระบบการเงินไทยที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 5

นอกจาก WeBank แล้ว รัฐบาลจีนยังให้ใบอนุญาต Digital Bank แก่ MyBank บริษัทในเครือ Alibaba ซึ่งการเพิ่มประเภทใบอนุญาต Digital Bank นั้นเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของรัฐบาลจีนที่จะส่งเสริมการเข้าถึงทางการเงินผ่านกลุ่มทุนเอกชนที่มีศักยภาพให้เข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมการเข้าถึงทางการเงินของประชาชนจีนมากขึ้น เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ในประเทศเกือบทั้งหมดเป็นธนาคารของรัฐที่ไม่สามารถให้บริการทางการเงินแก่
ผู้ประกอบธุรกิจรายเล็กได้

We Bank Fintech Singapore 2019

Rethinking Data

นับตั้งแต่นิตยสาร The Economist ได้ตีพิมพ์บทความ “The world’s most valuable resource is no longer oil, but data.” มุมมองต่อ “ข้อมูล” ในกระแสโลกก็เปลี่ยนแปลงไป “ข้อมูล” ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) กลายเป็น “ทรัพย์สิน” ที่มีมูลค่าสูงเทียบเท่ากับน้ำมันในยุคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (Industrial Economy) อย่างไรก็ดี ข้อมูลนั้นแตกต่างจากน้ำมันตรงที่มูลค่าของข้อมูลจะเพิ่มขึ้นเมื่อใช้ในการประมวลผลและ
ไม่มีวันสูญสลายไป ต่างจากน้ำมันที่จะหมดไปหลังจากการใช้ ทั้งนี้ มูลค่าของข้อมูลในอุตสาหกรรมการเงินนั้นเกิดจากการนำมาใช้ประโยชน์ในการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ขอกู้ เช่น WeBank ที่นำข้อมูลในสมาร์ทโฟนของลูกค้ามาร่วมพิจารณาการให้สินเชื่อ เป็นต้น

ในนิทรรศการ Singapore FinTech Festival มี Startups หลายรายที่ทำการวิเคราะห์ข้อมูลในลักษณะดังกล่าว หนึ่งใน Startup ที่มีความโดดเด่นเป็นอย่างมากคือ Validus ซึ่งก่อตั้งธุรกิจในประเทศสิงคโปร์เมื่อปี พ.ศ. 2558 และในปัจจุบันได้ดำเนินธุรกิจในประเทศสิงคโปร์และอินโดนีเซีย Validus เป็นตัวกลางระหว่างผู้กู้ที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs และผู้ที่ต้องการให้กู้ ซึ่งอาจเป็นสถาบันการเงินหรือผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อ หรือ Peer-to-Business Lending Platform ซึ่งคล้ายกับผู้ให้บริการประกอบธุรกิจระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (Peer-to-Peer Lending Platform) แต่ Validus ไม่ได้ใช้เพียงข้อมูลเครดิตทั่วไปและข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างเช่น WeBank ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านเครดิตเท่านั้น แต่ยังรวบรวมข้อมูลทางธุรกิจอื่นๆ เช่น ประวัติการสั่งซื้อสินค้า หลักฐานการชำระเงินลูกหนี้การค้า เป็นต้น มาร่วมพิจารณาความเสี่ยงด้านเครดิต

เพื่อช่วยให้ SMEs ที่ไม่เคยมีประวัติข้อมูลเครดิตสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ และในประเทศอินโดนีเซีย Validusยังทำงานร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของรถพุ่มพวงหรือรถขายของชำเคลื่อนที่เพื่อศึกษาพฤติกรรมการซื้อสินค้าและการชำระเงินของเจ้าของรถ โดยได้พัฒนาระบบการประเมินสินเชื่อ (Credit Scoring Model) ที่สามารถปล่อยสินเชื่อระยะสั้นที่มีอายุสัญญาเพียง 7 – 14 วัน ให้แก่เจ้าของรถพุ่มพวงได้ ทั้งนี้ พบว่าการให้สินเชื่อดังกล่าวมีสัดส่วน NPL ที่ไม่สูงมากนัก

Validus ได้แสดงให้เห็นว่าข้อมูลนั้นมีมูลค่าเหมือนน้ำมันที่ต้องผ่านการวิเคราะห์และพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่า และข้อมูลที่มีมูลค่าในเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นอาจจะไม่ได้อยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่แรกเหมือนที่ หลายคนคิด สำหรับอุตสาหกรรมการเงินในประเทศกำลังพัฒนาต้องอาศัยบริษัทเช่นเดียวกับ Validus ในการขุดเจาะและกลั่นข้อมูลที่อาจจะไม่ได้อยู่ในสมาร์ทโฟนหรือฐานข้อมูลของบริษัท E-commerce แต่มีมูลค่าเหล่านี้มาใช้ประโยชน์

Data is Just Beginning

Rethinking Financing

ZigWay พยายามจะปฏิรูป Microfinance ในประเทศเมียนมาร์ เนื่องจากครอบครัวรายได้น้อยจำนวนกว่าร้อยละ 50 ในประเทศต้องอาศัยแหล่งเงินกู้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงมากเพื่อดำรงชีวิตในแต่ละวัน มิแรนด้า พัวฮ์ ผู้ก่อตั้ง ZigWay กล่าวว่า ปัญหาทางการเงินของผู้ยากจนอาจจะมีมากกว่าที่คนทั่วไปเข้าใจและพูดถึง ยกตัวอย่างเช่น “Poverty Tax” หรือภาษีคนจนที่แทรกอยู่ในการทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น คนจนจะต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่สูง แม้ว่าอาจจะไม่มีความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงกว่าคนอื่น เพียงแค่สถาบันการเงินไม่ได้พัฒนากลไก ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงของผู้ขอกู้กลุ่มนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ Poverty Tax ยังอาจแทรกอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น การซื้ออาหาร เป็นต้น

เรื่องราวของแม่ค้าซูคือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนของปัญหาเกี่ยวกับ Poverty Tax แม่ค้าซูมีอาชีพขายของในตลาดสดแห่งหนึ่งในเมืองย่างกุ้ง ด้วยความที่เธอต้องหาเช้ากินค่ำพร้อมทั้งเลี้ยงดูบุตร 3 คน เธอไม่สามารถซื้อข้าวสารเป็นถุงหรือน้ำมันเป็นขวดได้ เธอต้องซื้อข้าวสารและน้ำมันในปริมาณที่เพียงพอสำหรับครอบครัวเธอในหนึ่งวันเท่านั้น ทำให้แม่ค้าซูไม่อาจเข้าถึงราคาสินค้าต่อหน่วยที่อาจมีราคาถูกกว่าเมื่อซื้อครั้งละจำนวนมาก (ซื้อเหมา) ได้ และต้องจ่ายเงินมากกว่าคนที่มีความสามารถซื้อข้าวสารและน้ำมันสำหรับ 1 เดือนถึงร้อยละ 20 ZigWay เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้พัฒนาเครือข่ายการให้สินเชื่อสำหรับประเทศเมียนมาร์ ประกอบด้วย สตรีที่ผ่านการอบรมจาก ZigWay เพื่อเป็นตัวแทน (Agent) และโทรศัพท์หนึ่งเครื่องซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นสมาร์ทโฟน เพื่อให้ ZigWay สามารถเข้าถึงคนที่ไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนและคนที่ไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีได้ (Financially Excluded and Digitally Excluded) ZigWay พยายามที่จะแก้ไขปัญหา Poverty Tax นี้ โดยให้ผู้ประกอบการ (Entrepreneur) อย่างแม่ค้าซูสามารถซื้อสิ่งของที่จำเป็นแบบขายส่งหรือครั้งละจำนวนมากๆ ได้ ซึ่งจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสที่เธอจะมีเงินออมมากขึ้นได้ถึงร้อยละ 20

ในประเทศกำลังพัฒนา SME Financing จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้เพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องถึงกระบวนการบริหารจัดการด้านการเงินที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงินโดยตรง ดังนั้น การส่งเสริม SME Financing จึงควรคำนึงถึงการส่งเสริมให้ SMEs สามารถบริหารจัดการการเงินได้แบบองค์รวม (Holistic Approach) ซึ่งอาจเริ่มต้นจากก้าวเล็กๆ และสินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือนเช่นเดียวกับที่ ZigWay ได้ให้โอกาสกับแม่ค้าซูในประเทศเมียนมาร์

Rethinking Policy

FinTech นั้นช่วยยกระดับการใช้ชีวิตของผู้คนและส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ดังเช่นในกรณีของ SMEs กว่า 100 ล้านรายที่เป็นลูกค้าของ WeBank ในประเทศจีน เจ้าของรถพุ่มพวงที่ได้รับสินเชื่อจาก ความช่วยเหลือของ Validus ในประเทศอินโดนีเซีย หรือซู แม่ค้าในตลาดสดของเมืองย่างกุ้งที่ได้รับความช่วยเหลือจาก ZigWay อย่างไรก็ดี แม้ว่ามาตรการช่วยเหลือ SMEs ของรัฐโดยการส่งเสริมให้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านช่องต่างๆ อาทิ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือกองทุนภายใต้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จะเป็นมาตรการที่จำเป็นในระยะสั้น แต่ผู้กำหนดนโยบายส่งเสริม SMEs ด้านการเงินควรคำนึงถึงความยั่งยืนของมาตรการดังกล่าว โดยอาจพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือและส่งเสริม SMEs ผ่านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ข้อมูล   และการกำหนดหลักเกณฑ์กำกับดูแลที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม (Ecosystem)

สำหรับประเทศไทย อาจเริ่มต้นจากการทบทวนหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตและแนวทางการกำกับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) เพื่อให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีนวัตกรรมสามารถให้บริการแก่ประชาชนได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น (Reduce Barriers to Entry and Time to Market) การปรับปรุงพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้รองรับการใช้ข้อมูลที่หลากหลาย  มาประกอบการวิเคราะห์สินเชื่อ (Information-based Lending) หรือแม้แต่มาตรการเชิงรุกเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลใน Supply Chain เพื่อสนับสนุน Supply Chain Financing ให้แก่ SMEs การดำเนินการเหล่านี้จะเป็นอีกก้าวในการส่งเสริมให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและมีความยั่งยืนทางการเงินผ่านกลไกตลาด (Market Mechanism) เพราะท้ายที่สุดแล้ว SMEs เองจะเป็นกลไกหลักในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองและก้าวผ่านปัญหาโดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ

FinTech Startups เหล่านี้ล้วนเป็นเจ้าของนวัตกรรมที่เป็นกลไกสำคัญในการ Reshape โลกของ SMEsได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี แรงขับเคลื่อนจากภาคเอกชนจะไม่อาจบรรลุเป้าหมายได้เลยหากปราศจากเส้นทางเดินที่ภาครัฐได้เปิดไว้ให้อย่างเหมาะสม

ศรัณย์วุฒิ ตรรกพงศ์
ผู้เขียน

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง