บทความโดย
ดร. ธีรศานต์ สหัสสพาศน์
บทนำ
ปัจจุบันผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการร้านค้าและบริการ ผู้ประกอบการออนไลน์ รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชน (ผลิตภัณฑ์ OTOP) หลายรายกำลังประสบปัญหาขายสินค้าและบริการ ส่งผลกระทบต่อรายได้และความมั่นคงของกิจการ ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ยอดการค้าและสินค้าและบริการไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ผู้ประกอบการตั้งไว้มีสาเหตุมาจากผู้ประกอบการยังขาดความสามารถและความเชี่ยวชาญในการสร้างอัตลักษณ์ของสินค้าและบริการ (ฺBranding) และการนำเสนอสินค้าและบริการดังกล่าวผ่านช่องทางที่หลายหลาย เช่น การเล่าเรื่อง (Story Telling) และการสร้างสารสนเทศที่มีรูปแบบเป็นดิจิทัล (Digital Content) แม้ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าและเป็นหลัก แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการโฆษณาเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการชนิดนั้นๆ
ดังนั้น หากกลุ่มผู้ประกอบการซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้าและบริการมี “ตัวช่วย” เป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านการโฆษณาและการขายแล้ว ธุรกิจ SMEs ของไทยน่าจะเติบโตได้ดีกว่าเดิม นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมอาชีพให้แก่คนรุ่นใหม่ ซึ่งมีความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ด้วย
วัตถุประสงค์
- เพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะการค้าขายผ่าน e-commerce ให้ผู้ประกอบการมียอดขายสินค้าและบริการที่เพียงพอต่อการดำรงอยู่ของธุรกิจ
- เพื่อส่งเสริมบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถด้านการโฆษณา และการสร้าง content ให้พัฒนาทักษะ และสามารถประกอบอาชีพได้
- เพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการโฆษณา และการขายสินค้าและบริการเพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs และธุรกิจเกี่ยวเนื่องสามารถนำไปใช้ต่อยอดการดำเนินธุรกิจ
รูปแบบ/แนวคิด
ปัจจุบันวิธีการเลือกสินค้าและบริการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังสถานที่หนึ่งเพื่อเลือกซื้อสินค้าและบริการ แต่สามารถใช้ช่องทางออนไลน์ในการค้นหาสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการ ซึ่งข้อดีของการค้นหาสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ คือ ผู้บริโภคมีตัวเลือกที่หลากหลาย รวมทั้งสามารถประหยัดเวลาในการเดินทางได้
อย่างไรก็ตาม การใช้ช่องทางออนไลน์ในการเลือกสินค้าและบริการมีข้อด้อยบางประการ เช่น ผู้บริโภคอาจไม่ทราบถึงสินค้าและบริการของผู้ผลิตบางรายเนื่องจากผู้ผลิตไม่มีความเชี่ยวชาญในการนำเสนอผ่านช่องทางออนไลน์ หรือผู้บริโภคอาจไม่มั่นใจในคุณภาพของสินค้าและบริการ เนื่องจากไม่ได้ทดลองด้วยตนเอง ข้อจำกัดข้างต้นอาจแก้ได้ด้วยการกำหนดมาตรการส่งเสริมการขายรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีกรณีศึกษาจากทั้งในและต่างประเทศ เช่น
- กรณีศึกษา “อีคอมเมิร์ซ กุญแจแก้จน: ลูกแพร์ 5 แสนกิโล ขายหมดในชั่วโมงเดียว”
กรณีศึกษานี้เกิดขึ้นในอำเภอตั้งซาน มณฑลอันฮุย ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของประเทศจีน อำเภอตั้งซานเป็นแหล่งปลูกลูกแพร์ของประเทศจีนมานานกว่า 2,500 ปี จนได้รับฉายาว่า “เมืองหลวงของลูกแพร์แห่งแดนมังกร” ด้วยพื้นที่เพาะปลูกกว่า 29,000 ไร่ และผลผลิตคุณภาพสูง อย่างไรก็ตาม รายได้จากการเก็บเกี่ยวผลไม้ของเกษตรกรในท้องถิ่นดังกล่าวมีความไม่แน่นอนเนื่องจากแหล่งเพาะปลูกอยู่ในพื้นที่ห่างไกล โครงสร้างพื้นฐานย่ำแย่ และเมื่อขนส่งผลผลิตออกไปขายที่ตลาดมักจะถูกกดราคาลง ดังนั้น ในหลายๆ ปีที่ผ่านมาลูกแพร์จำนวนมากจึงถูกทิ้งให้เน่าเสียอยู่ตามพื้นกระทั่งความเดือดร้อนของเกษตรกรได้รับการแก้ไขในปี 2016 เมื่อหญิงสาวคนหนึ่งได้เสนอความช่วยเหลือให้แก่เกษตรกรด้วยการลงโฆษณาขายลูกแพร์ผ่านแอปพลิเคชัน WeChat ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมที่สุดในจีน โดยภายหลังโฆษณาใน WeChat เพียง 10 วัน ผลผลิตจากตั้งซานสามารถขายผ่านช่องทาง e-commerce ได้มากถึง 50,000 กิโลกรัมและได้ราคาที่สูงขึ้นด้วย ปัจจุบันเกษตรกรตั้งซานเกือบทั้งหมดได้ใช้ e-commerce เพื่อเพิ่มยอดขาย โดยในปี 2018 เกษตรกรมีรายได้ประมาณ 30,000 หยวน (รวม 128,000 บาท) ก้าวกระโดดจากปีก่อนหน้าซึ่งมีรายได้ประมาณ 5,000 หยวน (ประมาณ 21,000 บาท) ส่งผลให้ประชาชนมากกว่า 26,000 คน หลุดพ้นจากความยากจน ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถเลือกระหว่างการทำ e-commerce ด้วยตนเอง หรือส่งผลผลิตของตนให้กับผู้ประกอบการโฆษณาผ่าน e-commerce ซึ่งเกษตรกรจำนวนหนึ่งเลือกที่จะไม่ทำ e-commerce ด้วยตนเอง เพราะเห็นว่ามีผู้เชี่ยวชาญด้านการขายกว่า และให้ความสำคัญกับ “การปลูกลูกแพร์” เท่านั้น - กรณีศึกษา “ฮาซัน live ขายอาหารทะเล รายได้กว่า 20 ล้านบาท”
กรณีศึกษาที่สองเกิดขึ้นในจังหวัดสตูล เมื่อนายอนุรักษ์ สรรฤทัย หรือ “ฮาซัน” สามารถขายอาหารทะเลตากแห้งด้วยการ Live ผ่านช่องทางออนไลน์จนมียอดขายกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งกว่าจะมาถึงทุกวันนี้อาซันได้ทดลองขายของผ่านช่องทางต่างๆ ตั้งแต่การขายสมุนไพรออกรายการทีวี และการขายสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง จนถึงการ Live ขายปลาหมึกผ่าน Facebook แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ฮาซันจึงเริ่มศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้ Facebook รวมถึงวิธีการพูดและขายจาก Youtube และโทรทัศน์ และพบว่าการขายของให้น่าสนใจจะต้องมี “เรื่องเล่า” (“Story Telling”) โดยฮาซันได้ศึกษากระบวนการผลิตสินค้าชนิดต่างๆ ตั้งแต่ที่มาของสินค้า การแปรรูป และนำไปรับประทาน และถ่ายทอดให้ผู้ชม Live ฟังด้วยลีลาการขายที่เป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้ ฮาซันยึดหลักการว่าของที่ขายจะต้องสะอาด ปลอดภัย และถูกหลักอนามัย โดยทดลองสินค้าด้วยตัวเองก่อนนำมาขายเสมอ รวมทั้งเตรียมคำตอบมาให้ลูกค้าก่อนที่จะขาย เช่น ลูกค้าถามว่าทำไมปลาเค็มถึงมีรสชาติเค็มมาก ก็จะสามารถตอบได้ว่าทำไมปลาจึงต้องมีรสเค็ม และแนะนำวิธีการแก้ความเค็มเมื่อนำไปประกอบอาหารให้ ทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ มั่นใจในคุณภาพสินค้า เกิดการซื้อซ้ำและบอกต่อ การ Live ขายของของฮาซันไม่เพียงแต่เพิ่มรายได้ให้กับตัวเองเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนเนื่องจากชาวบ้านไว้วางใจนำผลิตภัณฑ์อาหารทะเลตากแห้งมาฝากขาย ปัจจุบันฮาซันเริ่มขยายกิจการให้เป็นระบบมากขึ้น มีแผนจะเปิดหน้าร้านเป็นร้านขายของฝากเพื่อให้ผู้สนใจแวะซื้อได้ถึงแหล่งผลิต และมีแผนจะเปิด Facebook Page ให้กับเยาวชนซึ่งเคยทำหน้าที่ลูกคู่ในการ Live ขายของเพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายเพิ่มเติมด้วย
กรณีศึกษาทั้งสองกรณีข้างต้นแสดงให้เห็นถึงการใช้โอกาสจากการพัฒนาของอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ต่อการค้าขายสินค้าและบริการ ซึ่งการขายของผ่านช่องทางออนไลน์เป็นการเพิ่มช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ผู้ขายทุกคนจะประสบความสำเร็จจากการขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์เหมือนกรณีลูกแพร์ตั้งซานและอาหารทะเลตากแห้งฮาซัน
เนื่องจากการขายของผ่านช่องทางออนไลน์จำเป็นต้องมีทักษะอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ความสามารถในการโฆษณาสินค้าและบริการในรูปแบบที่แปลกใหม่ การสร้างเรื่องราว (Story) ให้แก่สินค้าและบริการชนิดนั้นๆ เพื่อสร้างความโดดเด่นและน่าสนใจกว่าสินค้าและบริการลักษณะเดียวกันของผู้ผลิตรายอื่นๆ หรือที่เรียกกันว่า “Content Marketing” และ “Story Telling” ทั้งนี้ ผู้ประกอบการรายหนึ่งๆ อาจไม่สามารถมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ทั้งทางด้านการผลิตและการขาย เนื่องจากทักษะทั้งสองเป็นความสามารถเฉพาะตัวเช่นเดียวกับที่เกษตรกรชาวตั้งซานชำนาญการปลูกลูกแพร์ และฮาซันถนัดการขายสินค้า
หากให้เกษตรกรทำตลาด e-commerce เอง หรือในทางกลับกัน ให้ฮาซันออกทะเลไปจับปลา หรือแปรรูปอาหารทะเล ทั้งสองกรณีศึกษาข้างต้นอาจไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่เป็นในปัจจุบัน ดังนั้น หากรัฐบาลสามารถสนับสนุนการค้าขายของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อม รวมทั้งวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ด้วยการจัดให้มีตัวช่วยในการส่งเสริมการขายโดยเฉพาะการค้าขายผ่านe-commerce จะเป็นหนึ่งในตัวช่วยให้ผู้ประกอบการมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมอาชีพให้แก่คนรุ่นใหม่ ซึ่งมีความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ด้วย
มาตรการ และแนวทางการดำเนินการ
ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการค้าขายผ่าน e-commerce ซึ่งเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคนิยมในปัจจุบันได้มากขึ้น คือ การพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในการ “เล่าเรื่อง” และการ “นำเสนอ” เพื่อเป็นตัวช่วยให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน โดยรัฐบาลควรบูรณาการกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาในการเร่งรัดพัฒนากลุ่มบุคลากรดังกล่าว รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินงานส่งเสริมการขายผ่านช่องทาง e-commerce ดังนี้
1. สร้าง Content Creator
ปัจจุบันกลุ่มคนรุ่นใหม่ เช่น นักเรียน นักศึกษา จำนวนมากมีความคิดสร้างสรรค์ และมีทักษะในการสร้างสื่อสารสนเทศต่างๆ เช่น การเล่าเรื่องผ่าน Facebook Page การเล่าเรื่องด้วยภาพ และการสื่อภาพเคลื่อนไหว (VDO Clip) ซึ่งเป็นสื่อที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกที่จะบริโภคเนื่องจากมีความแปลกใหม่ กระชับ เข้าใจง่าย น่าสนใจ และน่าติดตาม นอกจากนี้ กลุ่มคนวัยแรงงานบางส่วนมีประสบการณ์การทำงานด้านการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง แต่วิธีการนำเสนออาจไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาควรมีส่วนช่วยในการ Up-skill และ Re-skill กลุ่มบุคคลดังกล่าว ผ่านหลักสูตรอบรมเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ และการเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งบุคลากรที่เป็นที่ต้องการ เช่น
ทั้งนี้ บุคลากรหนึ่งคนสามารถพัฒนาได้ทั้ง 3 ทักษะ อย่างไรก็ตาม หากเลือกพัฒนาสาขาที่ตนมีความสนใจและถนัดที่สุด ผนวกกับการทำงานเป็นทีม จะช่วยให้การส่งเสริมการขายเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. สร้าง Creative District
การพัฒนาทักษะทั้งแบบ Up-skill และ Re-skill สำหรับการส่งเสริมการขายในช่องทางออนไลน์เป็นสิ่งที่กระทำได้ง่าย เช่น การเรียนหลักสูตร Online การเรียนการสอนในระบบการศึกษา และการฝึกงาน อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญในการพัฒนาบุคลากร คือ การสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้และทดลองสิ่งใหม่ๆ รวมถึงสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้และทดลองดังกล่าว บริษัทชั้นนำด้าน e-commerce ของประเทศจีนอย่างอาลีบาบาลงทุนสร้างตึกพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการถ่ายทอดสดผ่าน Social Media หรือ Live Streaming เพื่อให้ผู้มีชื่อเสียง Micro Influencer และผู้ประกอบการใช้เป็นสถานที่ในการ Live ขายสินค้าและบริการ เช่น ในการขายสินค้าแฟชั่น ผู้ประกอบการอาจเปลี่ยนเสื้อผ้าและเครื่องประดับให้ผู้ชมดูขณะถ่ายทอดสด เพื่อให้เห็นสินค้าจริง หรือในการขายเพชร อาจ Live ขณะกำลังเจียระไนเพชรให้กับลูกค้าอยู่เพื่อสร้างความสัมพันธ์ให้ลูกค้ามากขึ้น หรือแม้แต่เกษตรกรเองก็สามารถ Live ขณะที่กำลังเก็บผลไม้ที่ตัวเองขายอยู่ได้ ซึ่งการจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่ครบครันและทันสมัยเป็นพื้นฐานสำคัญที่ส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาอยากเรียนรู้และทดลองเพิ่มขึ้น
ดังนั้น จึงควรจัดให้มีศูนย์บ่มเพาะ (Incubator) หรือสถาบันเพื่อการส่งเสริม (Accelerator) สำหรับ Content Creator โดยเฉพาะ ซึ่งอาจมีแนวทางการดำเนินงานในลักษณะเดียวกัน Startup Incubator เพื่อให้มีจุดเริ่มต้นและศูนย์รวมแห่งความสร้างสรรค์ และเป็นจุดนัดพบระหว่าง Content Creator และผู้ประกอบการ เพื่อนำไปสู่การต่อยอดความร่วมมือทางธุรกิจต่อไป
3. สร้าง Co-operation for Growth
เป้าหมายของการส่งเสริมการขายผ่านช่องทางออนไลน์ คือ เพื่อให้บุคคลแต่ละกลุ่มได้ให้ความสำคัญ (Focus) ทำในสิ่งที่ตนเองถนัดและทำได้ดี ได้แก่ ผู้ประกอบการมุ่งผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ในขณะที่ Content Creator ใช้ความคิดสร้างสรรค์ช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ ยกตัวอย่างกรณีของอาลีบาบาซึ่งได้กล่าวข้างต้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้บริการ Influencer ซึ่งเป็นคนที่มีชื่อเสียงและมีผู้ติดตามจำนวนมากในการขายสินค้าและบริการ เพราะจะทำให้ร้านค้าเป็นที่รู้จักและขายดีขึ้นอย่างทันตาเห็น โดยร้านค้าจะส่งสินค้าให้ Influencer รีวิวและขายของให้ และให้ส่วนแบ่งจากยอดขายที่ขายได้ การดำเนินธุรกิจแบบนี้เป็น Win-Win Situation ซึ่งผู้ประกอบการและ Content Creator ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย รวมทั้งมีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็นเพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ รวมถึงวิธีการขายต่อไปในอนาคต
สรุป
การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนของรัฐบาล ไม่จำเป็นต้องจำกัดการช่วยเหลือเฉพาะด้านการให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน หรือเสริมทักษะให้แก่ผู้ประกอบการ โดยคาดหวังว่าผู้ประกอบการจะมีทักษะรอบด้าน รวมทั้งการขายของผ่าน e-commerce แต่สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการส่งเสริมการขายด้วยการมอบหมายงานให้เหมาะสมกับความเชี่ยวชาญของแต่ละคน (Put the Right Man on the Right Job) ให้ผู้ประกอบการมุ่งผลิตสินค้าและบริการ ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์มาเป็นตัวช่วยในการส่งเสริมการขาย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมของประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ให้นำไทยไปสู่การเป็น Creative Hub ของอาเซียนได้ด้วย
บรรณานุกรม
- Brand Buffet. NEW NORMAL: ผ่า 8 พฤติกรรมใหม่ จับใจผู้บริโภคยุคเสพติดโซเซียล. Retrieved from https://www.brandbuffet.in.th/2018/09/the-new-normal-consumer-mediacom/วันที่ 22 กันยายน 2561
- Brand Buffet. เถาเป่า ต่อยอดไลฟ์สตรีมมิ่ง ปั้น KOL กลุ่มเกษตรกรจาก 100 มณฑลในชนบทจีนหัด “ไลฟ์ขายของ” คาดยอดขายทั้งปีทะลุ 1.5 หมื่นล้าน. Retrieved from https://www.brandbuffet.in.th/2019/04/taobao-livestreaming-fast-growth-channel-chaina-ecommerce/ วันที่ 14 เมษายน 2562
- Brand Inside. บริการใหม่จาก Alibaba ชม LIVE จากแม่ค้าพร้อมกับซื้อของได้เลยทันที!! Retrieved from https://brandinside.asia/taobao-live-streaming-with-online-shopping/วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561
- Buffet, B. เปิดพฤติกรรมคนไทย “5 GENs” เสพสื่อเก่า-ออนไลน์ เปลี่ยนไปอย่างไรในปี 2562. Retrieved from https://www.brandbuffet.in.th/2019/11/thai-consumer-consumption-media-content-and-platforms-in-2019/ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562
- iMPACT. 14 Reasons Why You Need to Use Video Content Marketing [2019 Infographic]. Retrieved from https://www.impactbnd.com/blog/video-content-the-importance-of-video-marketing on 28 September 2019
- Motive Influencer. MICRO INFLUENCER คือใคร? Retrieved from https://www.motiveinfluence.com/blog/99/Micro-Influencer-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%83%E0%B8%84%E0%B8%A3?utm_medium=SearchAds&utm_source=Google&utm_campaign=Alwayson&utm_term=%2Bmicro%20%2Binfluencer%20%2B%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD วันที่ 19 กันยายน 2562
- Xinhua. e-commerce กุญแจแก้จน: ลูกแพร์ 5 แสนกิโล ขายหมดในชั่วโมงเดียว. Retrieved from https://www.xinhuathai.com/ วันที่ 18 ตุลาคม 2562
- ประชาชาติธุรกิจ. คนไทยเสพติดช็อปออนไลน์-โอกาสทองธุรกิจอีคอมเมิร์ซ. Retrieved from https://www.prachachat.net/marketing/news-376352 วันที่ 30 กันยายน 2562
- มติชน. เปิดเคล็ดลับ LIVE อย่างไร ให้ยอดขายเป็นล้าน! “บังอนุรักษ์” อาหารทะเลตากแห้ง จ.สตูล. Retrieved from MGR Online: https://mgronline.com/onlinesection/detail/9620000030517 วันที่ 28 มีนาคม 2562
ดร. ธีรศานต์ สหัสสพาศน์
ที่ปรึกษาสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี
ผู้เขียน