การท่องเที่ยวในลักษณะคลัสเตอร์กลุ่มจังหวัด
กับแนวทางเพิ่มโอกาสในการกระจายรายได้

การท่องเที่ยวในลักษณะคลัสเตอร์กลุ่มจังหวัด
กับแนวทางเพิ่มโอกาสในการกระจายรายได้

บทความโดย[1]
ดร. นรพัชร์ อัศววัลลภ
นางสาวพิมพาภรณ์ สุทธหลวง
นางสาวสุดาพันธุ์ สำลี


[1] ผู้เขียน: ดร. นรพัชร์  อัศววัลลภ ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมข้อมูลเศรษฐกิจและงานวิจัย นางสาวพิมพาภรณ์ สุทธหลวง เศรษฐกรปฏิบัติการ ส่วนส่วนแบบจำลองและประมาณการเศรษฐกิจการคลัง และนางสาวสุดาพันธุ์  สำลี เศรษฐกร ส่วนนวัตกรรมข้อมูลเศรษฐกิจและงานวิจัย สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค และขอขอบคุณ นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำหรับข้อแนะนำ และบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียนบทความ ไม่ได้สะท้อนความเห็นของหน่วยงาน


บทคัดย่อ

ภาคการท่องเที่ยวของไทยมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาตลอดโดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2562 ประเทศไทยได้รับรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศถึง 3 ล้านล้านบาท และเป็นแหล่งสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนไทยจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีการกระจายรายได้ไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง

แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่การท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ กรุงเทพฯ ภูเก็ต และชลบุรี โดยนักท่องเที่ยวเที่ยวมักมีแผนการเดินทางไปเที่ยวเฉพาะพื้นที่ที่นิยมเท่านั้น ไม่มีการกระจายตัวไปยังจังหวัดข้างเคียง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมีแนวโน้มลดลง ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวพักในประเทศไทยได้นานขึ้น ส่งผลให้จำนวนวันพักของนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มคงที่หรือลดลง นอกจากนั้น จำนวนนักท่องเที่ยวที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนเกินขีดความสามารถในการรองรับ ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติในแหล่งท่องเที่ยวหลักเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบทั้งในด้านนิเวศวิทยา

การส่งเสริมการท่องเที่ยวในลักษณะคลัสเตอร์กลุ่มจังหวัดเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยกระจายผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวให้ขยายวงกว้างออกไป ซึ่งโอกาสในการพัฒนากลุ่มจังหวัดเพื่อการท่องเที่ยวของไทยยังมีอีกมาก โดยวิธีนี้จะช่วงสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้ต่อคนต่อทริปของนักท่องเที่ยว จากการที่นักท่องเที่ยวมีโอกาสเดินทางต่อไปยังพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งจะก่อให้เกิดการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ตามวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และที่สำคัญยังทำให้เกิดกากระจายรายได้ไปยังพื้นที่ข้างเคียงอีกด้วย

ความสำคัญของภาคการท่องเที่ยว

ภาคการท่องเที่ยวเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในหลายปีที่ผ่านมา จากการที่ชาวต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลกต่างให้ความสนใจเดินทางเข้ามาเยือนประเทศไทย ไม่ว่าจะเดินทางมาทำธุรกิจรับการรักษาทางการแพทย์ เยี่ยมญาติ หรือเพื่อเดินทางมาชมความงามของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นทะเล ภูเขา สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น ลิ้มรสอาหารไทยที่เป็นเอกลักษณ์ สัมผัสกับวัฒนธรรมที่ดีงามของไทย โดยนักท่องท่องเที่ยวเหล่านี้เพียงแต่เดินทางมาเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ คลายความเหนื่อยล้า และสรรหาความสนุกในรูปแบบต่าง ๆ แต่สิ่งที่นักเดินทางนำมาด้วยนั้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือรายได้มหาศาลที่กระจายไปสู่ภาคส่วนและอาชีพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว ดังนั้นจึงถือได้ว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยนั้นเป็นแหล่งสร้างงานสร้างรายได้ โดยในปี 2562 นั้นภาคการท่องเที่ยวก่อให้เกิดการจ้างงานราว 4 ล้านตำแหน่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 11 ของการจ้างงานทั้งหมดของประเทศ[2] พร้อมกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนเป็น 39.9 ล้านคน ส่งผลทำให้ประเทศมีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 1.9 ล้านล้านบาท

ขณะที่ชาวไทยก็สร้างรายได้ไม่น้อยให้กับภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยที่เพิ่มขึ้นทุกปีด้วยเช่นกันตั้งแต่ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเริ่มมีการเก็บสถิติ ซึ่งในปี 2562 มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวน 229.7 ล้านคน ส่งผลให้มีรายได้จากกการท่องเที่ยวจำนวน 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งหากนำรายได้จากการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติและชาวไทยมารวมกันก็จะคิดเป็นมูลค่าถึง 3.0 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 17.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปี 2562 จึงอาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่พึ่งพาภาคการท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศค่อนข้างมาก


[2]   ที่มา : รายงานการจัดทำบัญชีประชาประชาติด้านการท่องเที่ยวฉบับสมบูรณ์ โดยสำนักงานปลัดการท่องเที่ยวและกีฬา

ผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อภาคการท่องเที่ยว และปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคการท่องเที่ยว

ในปี 2563 ที่ผ่านมาทั่วโลกจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกโดยภาพรวมสะท้อนจาก GDP ของโลกที่หดตัวลดลงจากร้อยละ 2.6 ในปี 2562 มาอยู่ที่ร้อยละ -3.4 ในปี 2563[3] และเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลายประเทศทั่วโลกต่างเลือกใช้มาตรการการจำกัดการเดินทาง โดยมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยว ทำให้ประเทศไทยที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวสูงได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ทำให้ปี 2563 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยเพียง 6.7 ล้านคน ลดลงถึงร้อยละ -83.2 ต่อปี ในส่วนของรายได้จากนักท่องเที่ยวลดลงอยู่ที่ระดับ 3.3 แสนล้านบาท ลดลงที่ร้อยละ -82.6 ต่อปี ขณะที่การท่องเที่ยวภายในประเทศก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยมีพบว่าชาวไทยท่องเที่ยวเพียง 90.6 ล้านคน-ครั้ง ลดลงร้อยละ -47.6 ต่อปี ขณะที่รายได้อยู่ 4.8 แสนล้านบาท ลดลงร้อยละ -55.4 ต่อปี

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเพียงหนึ่งตัวชี้วัดที่สะท้อนปัญหาของภาคการท่องเที่ยวของไทยที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะในประเด็นหลัก 3 ประเด็น ดังนี้


[3]   ที่มา : www.data.worldbank.org

1. การเติบโตของรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่ขับเคลื่อนด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ

ปกติการที่ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นทุกปีถึงเป็นเรื่องที่ดี เพราะหมายความว่ามีประเทศไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นในภาพรวม และคนไทยก็มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ดี เมื่อลองนำข้อมูลต่าง ๆ มาประกอบการวิเคราะห์กลับพบว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้น มีสาเหตุมาจากปัจจัยเชิงปริมาณ ไม่ใช่ปัจจัยด้านราคา นั่นหมายความว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามามีการใช้จ่ายเท่าเดิมหรือลดลง สะท้อนจากค่าใช่จ่ายเฉลี่ยต่อวันของนักท่องเที่ยวในปี 2562 ที่ลดลงร้อยละ -2.22 ตามวันพักเฉลี่ยที่ลดลงด้วยเช่นกัน (ภาพที่ 1) ทั้งนี้ การที่จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดปัญหาขีดความสามารถในการรับนักท่องเที่ยว ความแออัดของนักท่องเที่ยว และยังนำไปสู่การใช้ทรัพยากรของไทยที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยที่ค่าตอบแทนที่ได้รับกลับมาอาจไม่คุ้มค่ากับค่าเสื่อมเชิงทรัพยากร ขณะเดียวกันยังมีปัญหาของการรั่วไหลเชิงรายได้ ซึ่งหมายความว่า รายได้ที่เกิดขึ้นเกือบ 2 ล้านบาท ไม่ได้กระจายไปยังคนไทยทั้งหมด แต่กลับกระจายไปยังผู้ประกอบการชาวต่างชาติด้วย เช่น กรณีการใช้แพลตฟอร์มการจองตั๋วเครื่องบิน หรือที่พักที่เป็นของต่างชาติ หรือการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะในสาขาภัตตาคารและโรงแรม

ภาพที่ 1 : จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ วันพักเฉลี่ย ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย และรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ปี 2562
ที่มา : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

2. การกระจุกตัวเชิงสัญชาติของนักท่องเที่ยงเที่ยว

หรือการกระจุกในเชิงของส่วนแบ่งการตลาดของนักนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา จากภาพที่ 2 สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีการพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 27.6 หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางมาเที่ยวไทยในปี 2562 ซึ่งการที่มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวไทยเป็นจำนวนมากถือเป็นข้อดี แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนถือว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูง อ่อนไหวต่อกระแสข่าวในโลก Social เช่น เหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตที่ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนลดลง นอกจากนั้น การเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนในปัจจุบันยังขึ้นอยู่กับนโยบายของทางการจีนเป็นหลัก โดยขณะนี่ทางการจีนยังไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศในกรณีที่ไม่จำเป็น ดังนั้น จะเห็นว่าตลาดนักท่องเที่ยวจีนมีความอ่อนไหวค่อนข้าง ซึ่งกระกระจุกตัวในลักษณะนี้ทำให้เกิดความเสี่ยง และนำมาซึ่งผลกระทบดังเช่นสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ภาพที่ 2 : ส่วนแบ่งการตลาดของจำนวนนักท่องเที่ยวรายสัญชาติ ปี 2562
ที่มา : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประมวลผลโดย สศค.

3. การกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวเชิงพื้นที่

สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน[4] ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีจำนวน 307 ล้านคนในปี 2562 (ภาพที่ 3 ) สะท้อนให้เห็นว่ามีการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวเชิงพื้นที่ โดยกรุงเทพมหานครเพียงจังหวัดเดียวมีผู้เยี่ยมเยือนคิดเป็นสัดส่วนแล้วกว่าร้อยละ 22 ขณะที่ภาคอื่น ๆ ทั้งภาคมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนน้อยกว่ากรุงเทพมหานคร และมีลำดับลดหลั่นกันลงมา โดยภาคใต้มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนสูงกว่าภาคอื่น และรองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือและและภาคภาคตะวันออก ทั้งนี้ การกระจายตัวของผู้เยี่ยมเยือนที่แตกต่างกัน หมายถึง การกระจายตัวของรายได้ที่ต่างกันด้วย

ภาพที่ 3 : จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและชาวต่างชาติจำแนกตามภูมิภาคในปี 2562
ที่มา : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

[4] ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ (United Nation:UN)  ผู้มาเยือน (Visitor) หมายถึง  บุคคลที่เดินทางไปยังประเทศที่ตนมิได้พักอาศัยอยู่เป็นประจำ ด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตามที่มิใช่ไปประกอบอาชีพเพื่อหารายได้  ดังนั้น ผู้มาเยือน จึงหมายรวมถึงผู้เดินทาง 2 ประเภท  คือ
1. นักท่องเที่ยว (Tourist) คือ ผู้เดินทางมาเยือนชั่วคราวที่พักอยู่ในประเทศที่มาเยือนไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง
2. นักทัศนาจร (Excursionist) คือ ผู้เดินทางมาเยือนชั่วคราว และอยู่ในประเทศที่มาเยือนน้อยกว่า 24 ชั่วโมง

โดยการกระจุกเหล่านี้ นำมาซึ่งการศึกษาวิเคราะห์กลุ่มจังหวัดการท่องเที่ยว โดยนำรายได้จากการท่องเที่ยวมาศึกษาในเชิงความสัมพันธ์กับพื้นที่เพื่อนำไปสู่หนึ่งในแนวทางของการแก้ไขปัญหาของการกระจุกตัวของจำนวนและรายได้จากการท่องเที่ยว โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้ต่อไป

การวิเคราะห์กลุ่มจังหวัดการท่องเที่ยว (Tourism Cluster)

เพื่อที่จะวิเคราะห์ว่าแต่ละจังหวัดในประเทศไทยมีความสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวเป็น Cluster หรือไม่ ในที่นี้ทำการศึกษาโดยพิจารณาจากรายได้ต่อหัวจากการท่องเที่ยวของแต่ละจังหวัดว่ามีความแตกต่างจากจังหวัดใกล้เคียงอย่างไร โดยอาศัยเครื่องมือ LISA (Local Indicators of Spatial Association) เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงกันว่ามีระดับรายได้ต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่

ในที่นี้ อาศัยข้อมูลรายได้ต่อหัวของผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติของปี 2562 ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเป็นปีก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพในเชิงการท่องเที่ยวของแต่ละจังหวัดในประเทศไทยในช่วงที่สถานการณ์การท่องเที่ยวเป็นปกติ

ผลการศึกษา

พบว่า การกระจายตัวของรายได้จากการท่องเที่ยวระหว่างกลุ่มจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวจากการท่องเที่ยวสูง ค่อนข้างกระจุกตัวในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ ในกรณีไทยเที่ยวไทย แต่สำหรับกรณีของชาวต่างชาติจะมีเพียงพื้นที่ภาคใต้ตอนกลาง และภาคตะวันออกเท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่ายังมีลักษณะของกลุ่ม Cluster การท่องเที่ยวที่ยังไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของไทยที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ จึงเป็นโอกาสของการพัฒนาการท่องเที่ยวในการสร้างความเชื่อมโยง (Clustering) ของการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัดให้มากขึ้นได้ในอนาคต

  • High-High หมายถึง รายได้ต่อหัวจากผู้เยี่ยมเยือนในจังหวัดนั้นสูงและรายได้ต่อหัวจากผู้เยี่ยมเยือนในจังหวัดข้างเคียงสูงด้วย  
  • Low-Low หมายถึง รายได้ต่อหัวจากผู้เยี่ยมเยือนในจังหวัดนั้นต่ำและรายได้ต่อหัวจากผู้เยี่ยมเยือนในจังหวัดข้างเคียงต่ำด้วย
  • Low-High หมายถึง รายได้ต่อหัวจากผู้เยี่ยมเยือนในจังหวัดนั้นต่ำ แต่รายได้ต่อหัวจากผู้เยี่ยมเยือนในจังหวัดข้างเคียงสูง
  • High-Low หมายถึง รายได้ต่อหัวจากผู้เยี่ยมเยือนในจังหวัดนั้นสูง แต่รายได้ต่อหัวจากผู้เยี่ยมเยือนในจังหวัดข้างเคียงต่ำ
  • Not Significant หมายถึง รายได้ต่อหัวจากผู้เยี่ยมเยือนในจังหวัดนั้นและในจังหวัดข้างเคียงไม่มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ
ภาพที่ 4 การเปรียบเทียบรายได้ท่องเที่ยวต่อหัวจากผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติ ปี 2562
ด้วยวิธี Univariate LISA (คำนวณจากรายได้ต่อหัวในรูป log scale)
ภาพที่ 5 การเปรียบเทียบรายได้ท่องเที่ยวต่อหัวจากผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ปี 2562
ด้วยวิธี Univariate LISA (คำนวณจากรายได้ต่อหัวในรูป log scale)

จากภาพที่ 4 และ 5 จะเห็นได้ว่าจังหวัดหัวเมือง เช่น กรุงเทพฯ และขอนแก่น เป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวจากการท่องเที่ยวสูงทั้งจากผู้เยี่ยมเยือนไทยและผู้เยี่ยมเยือนต่างชาติ แต่จังหวัดโดยรอบยังมีรายได้จากการท่องเที่ยวที่ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับกลุ่มจังหวัดภาคใต้ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เป็นกลุ่มที่รายได้ต่อหัวจากการท่องเที่ยวสูงทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติ แต่จังหวัดที่ห่างออกมา เช่น ตรัง และจังหวัดโดยรอบ จะมีรายได้ต่อหัวจากการท่องเที่ยวสูงจากเฉพาะชาวไทยเท่านั้น และหากขยับต่อมาที่จังหวัดพัทลุงจะพบว่าเป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวจากการท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากชาวไทยต่ำกว่าจังหวัดโดยรอบอย่างชัดเจน สำหรับกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก เช่น ชลบุรีและจังหวัดโดยรอบ เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวจากการท่องเที่ยวจากชาวต่างชาติสูง ในขณะที่ฉะเชิงเทราซึ่งอยู่ติดกันมีรายได้ต่อหัวต่ำกว่าอย่างชัดเจน กลุ่มจังหวัดภาคอีสาน มีเพียงจังหวัดขอนแก่นที่มีรายได้ต่อหัวจากการท่องเที่ยวสูงกว่าจังหวัดโดยรอบอย่างชัดเจนจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ส่วนใหญ่ยังไม่มีกลุ่มจังหวัดที่ทำรายได้ต่อหัวจากการท่องเที่ยวได้มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จังหวัดเลยและมุกดาหารและจังหวัดใกล้เคียงเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวจากการท่องเที่ยวของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่ำอย่างมีชัดเจน ทั้ง ๆ พื้นที่ของ 2 กลุ่มจังหวัดนี้ก็มีศักยภาพในการท่องเที่ยวเช่นกัน และสำหรับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ยังไม่มีคลัสเตอร์ของกลุ่มจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวจากการท่องเที่ยวที่มีความสัมพันธ์กันมากนัก มีเพียงจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดโดยรอบที่สามารถสร้างรายได้ต่อหัวจากการท่องเที่ยวของชาวไทยได้สูงเท่านั้น

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

การส่งเสริมการท่องเที่ยวในลักษณะคลัสเตอร์กลุ่มจังหวัดเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยกระจายผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวให้ขยายวงกว้างออกไป ซึ่งโอกาสในการพัฒนากลุ่มจังหวัดเพื่อการท่องเที่ยวของไทยยังมีอีกมาก อาทิ

1. การยกระดับพื้นที่ที่มีศักยภาพโดยรอบจังหวัดหัวเมือง เช่น กรุงเทพฯ และขอนแก่นซึ่งจังหวัดรอบข้างยังได้รับรายได้จากการท่องเที่ยวต่ำกว่าอย่างชัดเจน

2. ควรส่งเสริมการท่องเที่ยวไปสู่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนล่างที่มีศักยภาพ เพื่อเปิดตลาดใหม่และลดการกระจุกตัวของการท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดเดิม

3. ควรสร้างคลัสเตอร์เพื่อเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดภาคอีสานและภาคเหนือที่มีศักยภาพซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวมากนัก

4. ในภาพรวมจะเห็นว่ายังมีจังหวัดจำนวนมากที่ไม่มีความสัมพันธ์ในเชิงรายได้จากการท่องเที่ยวกับจังหวัดข้างเคียง จึงควรสนับสนุนการท่องเที่ยวในลักษณะที่เป็นคลัสเตอร์กลุ่มจังหวัดให้แพร่หลายในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

บทสรุป

ภาคการท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตได้ดี และสร้างรายได้มูลค่ามหาศาลในแต่ละปีให้กับเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด และยังเป็นกลไกหนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในแต่ภูมิภาค สร้างอาชีพ และก่อให้การกระจายได้ไปสู่ท้องถิ่น แต่เมื่อเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขึ้น และทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบค่อยข้างมากเนื่องจากมีการพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสูง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศหารายได้ได้มาก ไม่ว่าแหล่งรายได้จะมาจากการส่งออกสินค้า การลงทุนในต่างประเทศ การท่องเที่ยว หรือวิธีอื่น ๆ นั้นถือเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว แต่ประเด็นสำคัญคือการรักษาเสถียรภาพของรายได้ที่เข้ามา  พร้อมกับรายได้นั้นกระจายไปสู่ผู้รับผลประโยชน์อย่างทั่วถึง ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่สำคัญที่รักษาเสถียรภาพของรายได้พร้อมกับกระจายรายได้ คือการทำให้นักท่องเที่ยวที่กระจายตัวไปยังพื้นที่ข้างเคียง เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเที่ยวนานขึ้น ก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นจ่ายต่อคนต่อทริป รวมไปถึงการแก้ปัญหาการรับนักท่องเที่ยวที่เกินขีดความสามารถของจังหวัดท่องเที่ยวหลัก โดยใช้วิธีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในลักษณะกลุ่มจังหวัดการท่องเที่ยว (Tourism Cluster) ที่เน้นเชื่อมโยงพื้นที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวอยู่พร้อมกับการเพิ่มศักยภาพให้กับจังหวัดข้างเคียง ซึ่งวิธีนี้จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ได้อีกด้วย

ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ

ดร. นรพัชร์ อัศววัลลภ
ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมข้อมูลเศรษฐกิจและงานวิจัย
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นางสาวพิมพาภรณ์ สุทธหลวง

นางสาวพิมพาภรณ์ สุทธหลวง
เศรษฐกรปฏิบัติการ
ส่วนส่วนแบบจำลองและประมาณการเศรษฐกิจการคลัง
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นางสาวสุดาพันธุ์ สำลี

นางสาวสุดาพันธุ์ สำลี
เศรษฐกร
ส่วนนวัตกรรมข้อมูลเศรษฐกิจและงานวิจัย
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน