บทความโดย
ลภัสปวีณ์ เนตรพิทักษ์พงศา
ปัญหามลพิษทางอากาศนับเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกไปในทางลบ ทั้งประเด็นฝุ่นละอองอันกระทบต่อปัญหาสุขภาพของประชากร และปัญหาโลกร้อนที่เป็นประเด็นสำคัญของประชาคมโลกที่ต้องร่วมมือกันแก้ไข ซึ่งประเทศไทยได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหามลพิษทางอากาศดังกล่าวและเห็นว่าจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ในประเด็นฝุ่นละออง คณะรัฐมนตรีได้มติให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2562 เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง พ.ศ. 2562 – 2567 เพื่อให้ทุกภาคส่วนใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินงานด้านการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ในด้านการแก้ไขปัญหาโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซคาร์บอน นายกรัฐมนตรีของไทยได้ประกาศเจตนารม ณ ที่ประชุม COP26 ว่าไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทางเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065
แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศต่าง ๆ
จากการศึกษาจัดทำแบบจำลองของกรมควบคุมมลพิษเกี่ยวกับแหล่งที่มาของมลพิษทางอากาศพบว่า ฝุ่น PM 2.5 มาจากไอเสียรถยนต์ประมาณร้อยละ 29 การเผาชีวมวลร้อยละ 28 ฝุ่นทุติยภูมิร้อยละ 22 และอื่น ๆ ร้อยละ 12 โดยแหล่งกำเนิดของ PM 2.5 แบ่งได้ ดังนี้
- การคมนาคมและขนส่ง จากสถิติกรมการขนส่งทางบก รายงานสถิติจำนวนรถจดทะเบียนใหม่ในแต่ละปีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย ณ กุมภาพันธ์ 2562 มีรถยนต์ดีเซลจดทะเบียน 10.93 ล้านคัน โดยในกรุงเทพมหานครมี 2.7 ล้านคัน การมีรถเครื่องยนต์ดีเซลจำนวนมากเป็นสาเหตุหลักของการปล่อย PM 2.5 ในชุมชนเมือง
- การก่อสร้าง มีทั้งกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองโดยตรง เช่น ฝุ่นที่เกิดจากกิจกรรมการก่อสร้าง ฝุ่นจากการทำงานของเครื่องจักร เป็นต้น และอาจทำให้พื้นผิวจราจรลดลงซึ่งทำให้การจราจรติดขัด ส่งผลให้การปล่อยมลพิษจากยานพาหนะสูงขึ้น ทั้งในเรื่องของ CO2 และฝุ่นละออง
- ภาคอุตสาหกรรม จากข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่าโรงงานที่มีความเสี่ยงในการปล่อย PM 2.5 มีประมาณ 1,700 แห่ง ส่วนใหญ่อยุ่ในเขตจังหวัดปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร โดยที่ส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล ในกระบวนการเผาไหม้
- การเผาในที่โล่ง การเผาของเสียจากวัสดุเหลือใช้ทางเกษตรบริเวณเขตเมืองเป็นสาเหตุของ PM 2.5 โดยเฉพาะการเผาไร่อ้อยในจังหวัดใกล้เคียงกับกรุงเทพมหานครในช่วงมกราคม – เมษายน เช่น นครปฐม ราชบุรี เป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นทุกปี เป็นเหตุให้นำพาฝุ่นจากการเผาดังกล่าวเข้าไปในบริเวณเขตเมือง
- หมอกควันข้ามแดน เนื่องจากมลพิษทางอากาศสามารถแพร่กระจายไปได้ในระยะไกล ทำให้ในช่วงต้นปีระหว่างเดือนมกราคม – เมษายน ที่ประเทศไทยเกิดปัญหาสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดน
- CO2 จากการเผาไหม้ในหลายรูปแบบ เช่น การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม ในรถยนต์ ในการหุงต้ม การเผาป่า เพื่อใช้พื้นที่อยู่อาศัย หรือทำการเกษตรหรือเผาหญ้าเผาฟางหลังการเก็บเกี่ยวการทำปศุสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ การทำฟาร์ม เป็นต้น
จากบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ดำเนินการโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศไทยในปี 2559 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 263,223.46 กิกะกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (GgCO2eq) ซึ่งครอบคลุม 5 ภาคการปล่อยหลัก คือ ภาคพลังงาน ภาคกระบวนการอุตสาหกรรม ภาคเกษตร ภาคการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่และป่าไม้ และภาคของเสีย ภาคพลังงานมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดของประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 71.65 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ในขณะที่การปล่อยมลพิษจากภาคเกษตร ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และภาคของเสียคิดเป็นร้อยละ 14.72 8.90 และ 4.73 ตามลำดับ ภาคการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและป่าไม้มีส่วนทำให้การกำจัดสุทธิ 91,134.15 GgCO2eq โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ภาคพลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงทั้งหมดจากภาคพลังงานในปี 2559 อยู่ที่ประมาณ 253,895.61 GgCO2eq ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงเพื่อสร้างพลังงาน 108,238.60 GgCO2eq (ร้อยละ 42.84) จากการขนส่ง อุตสาหกรรมการผลิต และการก่อสร้าง และภาคอื่นๆ เท่ากับ 68,260.17 GgCO2eq (ร้อยละ 27.21), 49,538.34 GgCO2eq (ร้อยละ 19.53) และ 16,993.90 GgCO2eq (ร้อยละ 6.10) จากการรั่วไหลของก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตพลังงานต่าง ๆ มีเพียง 10,864.61 GgCO2eq หรือน้อยกว่าร้อยละ 4.33 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดจากภาคพลังงาน
- ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงในปี 2559 เท่ากับ 31,531.41 GgCO2eq ส่วนใหญ่เกิดจากการผลิตแร่ซึ่งคิดเป็น 18,968.93 GgCO2eq (ร้อยละ 60.16) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมเคมี การผลิตโลหะ และผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้พลังงานอยู่ที่ 11,970.64 GgCO2eq (ร้อยละ 37.96), 296.65 GgCO2eq (ร้อยละ 0.94) และ 295.19 GgCO2eq (ร้อยละ 0.94) ตามลำดับ
- ภาคเกษตร การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2559 เท่ากับ 52,158.70 GgCO2eq จากปศุสัตว์ 11,195.20 GgCO2eq (ร้อยละ 21.46) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรพืชผลคิดเป็น 40,963.49 GgCO2eq (ร้อยละ 78.54)
- ภาคการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและป่าไม้ ในปี 2559 มีส่วนทำให้การกำจัดสุทธิ 91,134.15 GgCO2eq เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 47 เมื่อเทียบกับปี 2543
- ภาคของเสีย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงทั้งหมดในปี 2559 อยู่ที่ประมาณ 16,771.89 GgCO2eq ส่วนใหญ่มาจากการบำบัดน้ำเสียและการปล่อยที่ประมาณ 8,310.24 GgCO2eq เท่ากับ (ร้อยละ 49.55) การกำจัดขยะมูลฝอย 8,139.72 GgCO2eq (ร้อยละ 48.53) การเผาขยะคิดเป็น 244.21 GgCO2eq (ร้อยละ 1.46) ในขณะที่การบำบัดทางชีวภาพของขยะมูลฝอยอยู่ที่ 77.72 GgCO2eq (ร้อยละ 0.46)
ผลกระทบ
ปัญหามลพิษทางอากาศส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพโดยทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย และยังส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการเพิ่มภาระค่ารักษาพยาบาลที่เป็นภาระการคลังแก่ภาครัฐ และอาจส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวซึ่งจะทำให้รายรับของประเทศลดลง
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ: จากรายงานโครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางการจัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลของกรมควบคุมมลพิษได้ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจว่า อาจสร้างความเสียหายแก่ภาคเศรษฐกิจไทยเป็นมูลค่าประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท และข้อมูลจากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า การปล่อย CO2 เป็นสาเหตุสำคัญของการก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อน อันเป็นสาเหตุสำคัญของภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก และส่งผลกระทบทางลบต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกประมาณร้อยละ 0 – 5 โดย นอกจากนี้รายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ปี 2021 คาดการณ์ว่า อุณหภูมิโลกจะสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ภายในเวลา 20 ปีนี้ โดยทั่วโลกจะได้รับผลกระทบ เช่น ความเข้มข้นของ CO2 สูงสุดในรอบ 2 ล้านปีที่ผ่านมา ระดับน้ำทะเลสูง ธารน้ำแข็งลดลง เป็นต้น โดยอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น เกิดไฟป่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 41 การเพาะปลูกข้าวสาลี ข้าวเจ้า และถั่วเหลืองได้รับผลกระทบ ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น 48 เซนติเมตร และปะการังเสียหายร้อยละ 70-90 เป็นต้น
ผลกระทบด้านสุขภาพ: องค์การอนามัยโลกระบุว่าการรับ PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายในอัตราสูงกว่าค่าแนะนื(25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) จะส่งผลให้อัตราการตายด้วยระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 – 20 การป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 อนึ่ง การหายใจเอา CO2 เข้าไปปริมาณมาก ๆ นั้นจะทำให้เลือดเป็นกรดและอาจทำให้หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ CO2 เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้มนุษย์มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคความเครียดจากอากาศร้อนมากขึ้นและทำให้โรคติดต่อบางชนิดมีการแพร่กระจายเร็วขึ้น
ตัวอย่างมาตรการภาษีของต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
ปัญหามลพิษทางอากาศมิได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกประเทศต้องเผชิญ ทั้งนี้ หลายประเทศได้มีความตระหนักถึงปัญหาและได้นำมาตรการต่าง ๆ ทั้งที่ไม่ใช่ภาษี เช่น การให้สิทธิพิเศษกับรถยนต์ไฟฟ้า การตั้งเป้าหมายเลิกผลิตรถยนต์สันดาป การรณรงค์สร้างจิตสำนึกของประชาชน เป็นต้น และมาตรการภาษีมาใช้เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าวควบคู่กันดังตัวอย่างต่อไปนี้
ประเทศนอร์เวย์
ในปี 2550 รัฐบาลนอร์เวย์ได้ปฏิรูปภาษีรถยนต์เพื่อลดความเข้มข้นของการปล่อย CO2 ของรถใหม่ในท้องตลาดและจูงใจให้มีการซื้อรถยนต์ที่ประหยัดน้ำมันมากขึ้น โดยการปฏิรูปโครงสร้างภาษีได้คำนึงถึง 3 มิติหลัก: (1) ระดับความเข้มการปล่อย CO2 โดยเฉลี่ยของรถยนต์จดทะเบียนใหม่ (2) การเปลี่ยนแปลงสัมพัทธ์ของยอดขายระหว่างรถยนต์ที่มีมลพิษต่ำและสูงและ (3) ส่วนแบ่งการตลาดของรถยนต์ดีเซล ทั้งนี้ หลังการปฏิรูปภาษีพบว่า มีความเข้มของ CO2 เฉลี่ยของรถยนต์ใหม่ลดลง
สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
เพื่อลดการปล่อยมลพิษและ PM 2.5 จากภาคคมนาคม ประเทศเยอรมันกำลังมุ่งไปสู่การเป็นผู้นำการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยทุ่มงบประมาณไปกับการวิจัยรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีการใช้มาตรการในการจูงใจให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เช่น ยกเว้นการเก็บภาษียานยนต์เป็นระยะเวลา 5 – 10 ปี ตามช่วงเวลาที่ออกรถตามแผนนโยบายของรัฐที่ตั้งไว้ สนับสนุนเงินสำหรับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าไว้ใช้ส่วนตัว เป็นต้น
สาธารณรัฐประชาชนจีน
มีการจัดเก็บภาษีการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมใน 30 จังหวัดรวมเมืองหลวงเพื่อป้องกันการปล่อยมลพิษมาตั้งแต่ปี 2523 และปรับปรุงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยจากการตรวจสอบความเข้มข้นของ PM 2.5 จากข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาพบว่า ความเข้มข้นของ PM 2.5 ลดลงจากก่อนหน้าการบังคับใช้กฎหมายการจัดเก็บภาษีการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
ประเทศญี่ปุ่น
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม จากภาษีน้ำมัน ถ่านหิน และเชื้อเพลิงจากฟอสซิลอื่น ๆ โดยคำนวณจากปริมาณจาก CO2 จากเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 เพื่อลดผลกระทบจากการปล่อย CO2 โดยจัดเก็บจากผู้ผลิตในประเทศและจากผู้นำเข้า ซึ่งรายได้จากภาษีนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจะนำไปใช้พัฒนาพลังงานธรรมชาติ เช่น โซลล่าเซลล์ พลังงานลม เป็นต้น
มาตรการทางภาษีที่เกี่ยวข้องของไทย
เมื่อกลับมามองประเทศไทย ประเทศไทยเองก็ได้ให้ความสำคัญกับปัญหามลพิษทางอากาศ โดยมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561 – 2580) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง พ.ศ. 2562 – 2567 อันคำนึงถึงการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีการจัดทำแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศภายใต้คณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการบูรณาการนโยบายและแผน เพื่อพิจารณาและจัดทำร่างแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. ๒๕๖๔ – ๒๕๗๓ (Thailand’s Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021 – 2030: NDC Roadmap 2021 – 2030) และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกับแผนดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๐ เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยก็มีการใช้มาตรการทางภาษีที่เพื่อช่วยแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอยู่แล้ว ดังต่อไปนี้
โครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์
การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 กำหนดให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวคือโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์จะแปรผันไปตามปริมาณการปล่อย CO2 รวมถึงการปล่อย PM 2.5 โดยรถยนต์ที่ปล่อย CO2 สูงหรือมีการปล่อย PM 2.5 สูงจะต้องชำระภาษีในอัตราที่สูงกว่าเพื่อวัตถุประสงค์ในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการใช้รถยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาดทดแทนรถยนต์ที่ใช้พลังงานฟอสซิล และเป็นการจูงใจให้ผู้ผลิตพัฒนารถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
อัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ |
||||
---|---|---|---|---|
รายการ |
อัตราตามมูลค่า (%) |
|||
CO2 |
E10/E20 |
E85/NGV |
Hybrid/BOI |
|
1. รถยนต์นั่ง/ รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน |
≤ 100 g/km 101-150 g/km ≤ 150 g/km 151-200 g/km >200 g/km >3,000 cc. |
– – 25* 30 35 40 |
– – 20* 25 30 40 |
8*/4* 16/8 – – – |
2. Eco Car/E85, B10 |
≤ 100 g/km 101 – 120 g/km |
12*/10* 14 |
||
3. PPV 3.1 ICE 3.2 HEV |
> 175 – 200 g/km > 200 g/km > 3,000 cc > 150 แต่ ≤ 175 g/km |
20* 25 40 18* |
||
4. Double Cab HEV |
≤ 175 g/km ≤ 200 g/km > 200 g/km >3,250 cc |
pm ≤ 0.005/B20 6* 2/3/9 3/5/12 40 |
pm > 0.005/ B20 8* 2.5/4/10 4/6/13 40 |
|
5.Electric Vehicle/BOI/BOI พิเศษ 6. Fuel Cell |
– – |
8/2/0** **อัตราพิเศษ (1 ม.ค. 63 – 31 ธ.ค. 65) 8 |
||
7. รถสามล้อ 7.1 ICE 7.2 EV |
– – |
4 2 |
||
หมายเหตุ: * กำหนดมาตรฐานความปลอดภัย (Active Safety) สำหรับรถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่ปล่อย CO2 ≤ 150 g/km PPV ที่ปล่อย CO2 ≤ 200 g/km Eco Car ที่ปล่อย CO2 ≤ 100 g/km Double Cab HEV ที่ปล่อย CO2 ≤ 175 g/km ที่มา: กฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 |
โครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์
โครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 ได้เพิ่มเติมหลักการจัดเก็บภาษีที่คำนึงถึงหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม โดยอัตราภาษีจะแปรผันไปตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากเดิมที่แปรผันตามขนาดเครื่องยนต์ เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ที่ปล่อย CO2 น้อยลง และเป็นการจูงใจให้ผู้ผลิตพัฒนาจักรยานยนต์ยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
อัตราภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ |
||
---|---|---|
รายการ |
CO2 |
อัตราตามมูลค่า (%) |
1. รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า |
– |
1 |
2. ICE / HEV ที่ใช้ยางตาม |
≤ 50 g/km > 50 แต่ ≤ 90 g/km > 90 แต่ ≤ 130 g/km >130 g/km |
3 5 9 18 |
3. รถจักรยานยนต์ต้นแบบ/ อื่น ๆ |
– |
0/20 |
โครงสร้างภาษีสรรพสามิตน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน
จัดเก็บภาษีจากน้ำมันเครื่องบิน น้ำมันหล่อลื่น น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความตระหนักว่าการใช้ยานพาหนะเป็นสาเหตุหนึ่งของมลพิษ ทางอากาศ โดยมีอัตราภาษี ดังนี้ น้ำมันเครื่องบิน 0.2 บาทต่อลิตร น้ำมันหล่อลื่น 5 บาทต่อลิตร น้ำมันเบนซิน 6.50 บาทต่อลิตร และน้ำมันดีเซล 6.44 บาทต่อลิตร
อัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน |
|||
---|---|---|---|
รายการ |
อัตราตามปริมาณ |
รายการ |
อัตราตามปริมาณ |
1. เบนซิน 2. แก๊สโซฮอล์ E10 3. แก๊สโซฮอล์ E20 4. แก๊สโซฮอล์ E85 5. ดีเซล 6. ดีเซล B10 7. ดีเซล B20 |
6.500 บ./ลิตร 5.850 บ./ลิตร 5.200 บ./ลิตร 0.975 บ./ลิตร 6.440 บ./ลิตร 5.980 บ./ลิตร 5.152 บ./ลิตร |
8. LPG 9. NGL 10. เตา 11. Jet 12. หล่อลื่น 13. Solvent |
2.170 บ./กิโลกรัม 5.850 บ./ลิตร 0.640 บ./ลิตร 0.200 บ./ลิตร 5.000 บ./ลิตร 6.500 บ./ลิตร |
การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้การส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (The Board of Investment of Thailand: BOI) ดังนี้
- สิทธิประโยชน์ทางภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่ง เพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กระทรวงการคลังได้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสรรพสามิตในการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศ โดยต้องเป็นการผลิตที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีสรรพสามิตเพิ่มเติม ทั้งนี้ เป็นไปตามกฎกระทรวง กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า(Hybrid Electric Vehicle: HEV) และแบบพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 เพื่อให้สิทธิประโยชน์ในการลดภาษีสรรพสามิตแก่รถยนต์ HEV และ รถยนต์ EV โดยมีรายละเอียดและเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ภาษีสรรพสามิต ดังนี้
ประเภทพลังงาน |
อัตราภาษีสรรพสามิตปัจจุบัน |
สิทธิประโยชน์ภาษีสรรพสามิต** |
|
---|---|---|---|
1. แบบพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) |
ร้อยละ 8 |
ร้อยละ 0 (1 ม.ค. 63 – 31 ธ.ค. 65) ร้อยละ 2 (1 ม.ค. 66 – 31 ธ.ค. 68) |
|
2. แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้าหรือไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle: HEV) |
อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ |
อัตราภาษีสรรพสามิต |
อัตราภาษีสรรพสามิต (ตามมูลค่า ร้อยละ) |
≤ 100 g/km |
8 |
4 |
|
> 100 -150 g/km |
16 |
8 |
|
> 150 -200 g/km |
21 |
10.5 |
|
> 200g/km |
26 |
13 |
|
หากเครื่องยนต์ความจุกระบอกสูบ เกิน 3,000 ซีซี เก็บที่อัตราร้อยละ 40 |
– |
* เงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่ง
(1) ต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก BOI
(2) ต้องยื่นหนังสือขอรับสิทธิประโยชน์และทำข้อตกลงกับกรมสรรพสามิตก่อนเริ่มผลิตรถยนต์โดยต้องทำข้อตกลงก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2563
(3) ตั้งแต่ปีที่ 5 นับแต่วันที่ลงนามในข้อตกลงจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 การผลิตรถยนต์ทุกคันต้องใช้แบตเตอรี่ประเภทลิเธียมไอออนหรือนิกเกิลเมทัลไฮไดรด์ หรือแบตเตอรี่ประเภทอื่นที่ให้พลังงานจำเพาะโดยน้ำหนักที่สูงกว่าที่สูงกว่าประเภทลิเธียมไอออนหรือนิกเกิลเมทัลไฮไดรด์ ทั้งนี้ หากผู้ขอรับสิทธิไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าว จะต้องเสียภาษีในอัตราภาษีสรรพสามิตปัจจุบันพร้อมทั้งเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
- การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านการขอรับการส่งเสริมการลงทุน สำหรับการลงทุนในกิจการต่าง ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามสิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เช่น กิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือเชื้อเพลิงจากขยะ กิจการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ กิจการบำบัดหรือกำจัดของเสีย เป็นต้น จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี
การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสรรพากร โดยสามารถการลดหย่อน/หักรายจ่ายกรณีบริจาคเพื่อกิจกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยให้หักได้ในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้หักได้อีกในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ กรณีเป็นรายจ่ายเพื่อการสาธารณประโยชน์ เช่น การส่งเสริม คุ้มครอง และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ การควบคุม ป้องกัน แก้ไข ตลอดจนการลดและขจัดอันตรายอันเกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษ หรือภาวะมลพิษและของเสียอันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กองทุนสิ่งแวดล้อม ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นต้น
สรุป
ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลกที่ทุกประเทศต้องร่วมกันแก้ไข ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพเท่านั้นแต่ยังกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย และยังส่งผลต่ออนาคตของลูกหลานที่จะต้องเผชิญกับปัญหาโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุก ๆ วัน หากยังไม่มีการตระหนักถึงการแก้ไขและหาวิธีป้องกัน ประชากรมนุษย์อาจดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ได้ยากขึ้น ซึ่งประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยเองก็ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ และได้มีการนำมาตรการทางภาษีมาใช้ เช่น ภาษีรถยนต์ ภาษีพลังงาน เป็นต้น ทั้งนี้ ประเทศไทยยังสามารถพัฒนากระบวนการทางภาษีเพื่อช่วยในการแก้ปัญหาต่อไปตามหลักการจัดเก็บภาษีจากผู้ก่อมลพิษ (Polluter Pays Principle: PPP) ซึ่งต้องได้รับการร่วมมือจากทุกภาคส่วนและผู้เชี่ยวชาญในการประเมินมูลค่าความเสียหายและการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานเพื่อกำหนดโครงสร้างภาษีที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยและเกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด
เอกสารอ้างอิง
- สถานการณ์และการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศและเสียงของประเทศไทยปี 2562 กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2562 กรมควบคุมมลพิษกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Instruments) การประยุกต์ใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรณีต่างประเทศ สืบค้น 5 กุมภาพันธ์ 2564 จาก https://www.stou.ac.th/stouonline/lom/data/sec/Lom21/05-03-01.html
- รัฐบาลญี่ปุ่นทำการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม (Environment Tax) สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงโตเกียว สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2564 จาก http://www2.fpo.go.th/FPO/index2.php?mod=Content&file=content view&contentID=CNT0008707&categoryID=CAT0000736
- Environmental effects of a vehicle tax reform: empirical evidence from Norway∗ สืบค้น 5 กุมภาพันธ์ 2564 จากhttps://www.researchgate.net/publication/272684497_Environmental_effects_of_a_vehicle_tax_reform_Empirical_evidence_from_Norway
- Environmental Protection Tax Effect on Reducing PM2.5 Pollution in China and Its Influencing Factors สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2564 จาก http://www.pjoes.com/Environmental-Protection-Tax-Effect-non-Reducing-PM-2-5-Pollution-in-China-nand-Its,122228,0,2.html
- เศรษฐกิจกับภาวะโลกร้อนเกี่ยวข้องกันด้วยหรือ? ธนาคารแห่งประเทศไทย สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2564 จากhttps://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_02Sep2019.aspx
- วิกฤตฝุ่น PM 2.5 กับการธนาคารที่ยั่งยืน สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2564 จาก https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_20Mar2019.aspx
- รายงานความก้าวหน้ารายสองปี ฉบับที่ 3 (Third Biennial Update Report: TBUR) สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2564 จาก http://climate.onep.go.th/wp-content/uploads/2021/01/BUR3_Thailand_251220-.pdf
นางสาวลภัสปวีณ์ เนตรพิทักษ์พงศา
เศรษฐกรชำนาญการ
สำนักนโยบายภาษี
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ผู้เขียน