การพัฒนาในระดับพื้นที่กลุ่มจังหวัดตามแนวคิดเศรษฐกิจแบบใหม่ (BCG Economy)

การพัฒนาในระดับพื้นที่กลุ่มจังหวัดตามแนวคิดเศรษฐกิจแบบใหม่ (BCG Economy)

บทความโดย
นายชัยวัฒน์  หาญพิทักษ์พงศ์
นายธณัฐ พวงนวม
นางสาวบุณฑริกา  ชลพิทักษ์วงศ์
นางสาวณัฏฐธิดา  จันภักดี

1. บทนำ

แนวคิดเศรษฐกิจแบบใหม่ หรือ BCG Economy ซึ่งย่อมาจาก Bio-Circular-Green Economy ในปัจจุบัน มักเป็นที่พูดถึงอย่างแพร่หลาย และแนวคิดดังกล่าวยังสามารถนำไปใช้ประยุกต์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างหลากหลาย รวมไปถึงถึงการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ในระดับภูมิภาคของประเทศไทย ทั้งนี้ BCG Economy นั้นเป็นที่ทราบกันว่า มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้องค์ประกอบ 3 ประการ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) สำหรับบทความฉบับนี้จะกล่าวถึง 1) การพัฒนาในระดับพื้นที่กลุ่มจังหวัดตามแนวคิดเศรษฐกิจแบบใหม่ (BCG Economy) โดยยกตัวอย่างพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2) แนวทางในการขับเคลื่อน BCG Economy ในระดับพื้นที่ 3) ตัวอย่างโครงการการพัฒนาในระดับพื้นที่กลุ่มจังหวัดตามแนวคิด BCG Economy 4) ปัญหา อุปสรรค และความท้าทายในการพัฒนาตามแนวคิด BCG Economy ตลอดจน 5) ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ (Key Success Factor) ของการพัฒนาพื้นที่ตามแนวคิด BCG Model ในพื้นที่ ตามลำดับ โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ในบทความฉบับนี้

2. ข้อมูลเศรษฐกิจพื้นฐานของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

2.1 ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI)

ภาพที่ 1 ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค
(Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI)

จัดทำโดย: นายชัยวัฒน์  หาญพิทักษ์พงศ์ เศรษฐกรชำนาญการ
ที่มา: กศม. สศค.

เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ซึ่งจัดทำโดยกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค (กศม.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง พบว่า RSI ประจำเดือนตุลาคม 2566 ของประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 75.0 โดยหากพิจารณาเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็น RSI ที่ครอบคลุมพื้นที่กลุ่มจังหวัดตัวอย่างในการดำเนินการพัฒนาระดับพื้นที่กลุ่มจังหวัดตามแนวคิด BCG Economy (รายละเอียดปรากฏในภาพที่ 1) พบว่า RSI ของภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 78.5 ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากมีความต้องการของตลาดต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพาราและมันสำปะหลัง และความเชื่อมั่นในภาคบริการ เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวตามเทศกาลและประเพณีท้องถิ่นในหลายจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

2.2 ดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ (Spatial Economic Fundamentals Index: SEFI)

ดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ (Spatial Economic Fundamentals Index: SEFI) ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ที่พัฒนาและจัดทำโดย กศม. สศค. ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของพื้นที่ทั้ง 6 มิติ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา สาธารณสุข กำลังซื้อ ปัญหาความท้าทายด้านทรัพยากรมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม โดยสะท้อนว่า ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีจุดแข็งในด้านทรัพยากรมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างยังคงเผชิญกับความท้าทายในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา กำลังซื้อ และสุขภาพ ตามลำดับ ทั้งนี้ จังหวัดอุบลราชธานีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มจังหวัดตัวอย่างที่ได้มีการศึกษาเป็นจังหวัดที่มีค่าดัชนี SEFI สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภาคอีสาน (รายละเอียดปรากฏในภาพที่ 2)

ภาพที่ 2 ดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่
(Spatial Economic Fundamentals Index: SEFI) ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

จัดทำโดย: นางสาวปภัช  สุจิตรัตนันท์ เศรษฐกรปฏิบัติการ
ที่มา: กศม. สศค.

3. การพัฒนาในระดับพื้นที่กลุ่มจังหวัดตามแนวคิด BCG Economy

จากรายละเอียดที่กล่าวมาข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีจุดแข็งในด้านทรัพยากรมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นจุดแข็งที่สำคัญในการส่งเสริมให้กลุ่มจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับพื้นที่ภายใต้แนวคิด BCG Economy ในการนี้ กศม. สศค. ร่วมกับวารสารการเงินการคลังได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากรศ.ดร. พีระ เจริญพร (รศ. ดร. พีระฯ) รองคณบดีฝ่ายบริหารคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาถ่ายทอดรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องราวของการพัฒนาในระดับพื้นที่กลุ่มจังหวัดตามแนวคิด BCG Economy ผ่านรายการ “Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาค” ประจำเดือนตุลาคม 2566 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินงาน ดังต่อไปนี้

รศ.ดร. พีระ  เจริญพร
รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รศ. ดร. พีระฯ ได้เล่าว่า แนวคิด BCG Economy เป็นแนวคิดที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก (S – Curve) เป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่สำคัญในการพัฒนาในระดับพื้นที่กลุ่มจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยมาตรการในการบูรณาการของหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกัน ได้แก่ การพัฒนาคลังข้อมูลดิจิทัลของทุน ความหลากหลายทางชีวภาพทุนวัฒนธรรมและทุนทางปัญญาการปรับระบบการเกษตรสู่ประสิทธิภาพสูงมาตรฐานสูงและมูลค่าสูง การสร้างตลาดเพื่อรองรับนวัตกรรม เจ้าของสินค้าและบริการ BCG การยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการ BCG สู่มาตรฐานสากลด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบ การสร้างและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับเศรษฐกิจ BCG ในทุกระดับ การเพิ่มพูนทรัพยากรชาติด้วยการผสานพลังของรัฐ เอกชน ชุมชนและหน่วยงานวิจัย การพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารริมทางและอาหารท้องถิ่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืนและการท่องเที่ยวคุณภาพสูง การส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) การประกอบการรูปแบบใหม่บนฐานเศรษฐกิจ BCG
การเชื่อมโยงกับสากลในทุกมิติทั้งการพัฒนาองค์ความรู้การดึงดูดบุคลากรการค้าและการลงทุน การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ BCG การสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ด้วยการเสริมสร้างการแปรรูปสินค้าจากฐานชีวภาพให้มีขั้นนวัตกรรมที่สูงขึ้น และการยกระดับสินค้าและบริการ BCG สู่มาตรฐานการผลิตยั่งยืน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบว่า BCG Model เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ได้ครบทั้ง 6 มิติ ได้แก่ ด้านการต่อยอด ด้านการเชื่อมโยง ด้านการตอบโจทย์ ด้านความครอบคลุม ด้านการกระจาย และด้านสามพลัง กล่าวคือ สามารถสร้างจุดแข็งด้านความหลากหลายทางชีวภาพและทางวัฒนธรรม โดยมีการเชื่อมโยงผ่านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสามารถตอบโจทย์ 10 ใน 17 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ครอบคลุมถึงการพัฒนา5 ใน 10 ของอุตสาหกรรม S – Curve ตลอดจนสามารถกระจายโอกาสและความมั่นคงไปสู่เศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) และเศรษฐกิจภูมิภาค (Regional Economy) ผ่าน 3 กลไกในการขับเคลื่อนซึ่งประกอบไปด้วย ภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ

3.1 แนวทางในการขับเคลื่อน BCG Economy ในระดับพื้นที่ที่สำคัญ

รศ. ดร. พีระฯ ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อน BCG Economy ประกอบด้วย 4 แนวทาง ดังนี้

1) การพัฒนา 4 สาขายุทธศาสตร์ ประกอบไปด้วย เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงานวัสดุและเคมีชีวภาพ และการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)

2) การเตรียมกำลังคน ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ประกอบการ ได้แก่ BCG Startup ผู้ประกอบการ
เชิงนวัตกรรม Smart Farmer ผู้ให้บริการมูลค่าสูง ผู้พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง และผู้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์

3) การพัฒนาเชิงพื้นที่ซึ่งครอบคลุมทั้ง 4 ระเบียงเศรษฐกิจ คือ ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC) ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor: NEEC) ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC)

4) การพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ขั้นแนวหน้า ยกตัวอย่างเช่น กระบวนการทางชีวภาพ (Bioprocess Engineering) การปรับแต่งยีนส์และชีววิทยาสังเคราะห์ (Gene Editing & Synthetic Biology) เป็นต้น

ภาพที่ 3 ตัวขับเคลื่อน BCG Economy

ที่มา: รศ. ดร. พีระฯ

3.2 ตัวอย่างโครงการการพัฒนาในระดับพื้นที่กลุ่มจังหวัดตามแนวคิด BCG Economy

รศ. ดร. พีระฯ ได้เสริมว่า การพัฒนาในระดับพื้นที่กลุ่มจังหวัดตามแนวคิด BCG Economy
ประกอบด้วยแผนการขับเคลื่อน BCG เชิงพื้นที่ ดังนี้

1) ล้านนา 4.0 ได้แก่ การยกระดับข้าวคุณค่าด้วยนวัตกรรม การสร้างระบบเกษตรปลอดภัยมาตรฐานส่งออก การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเชื่อมโยงวัฒนธรรม และการนำวัฒนธรรมเชิงพื้นที่ เช่น วัฒนธรรมล้านนามาสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ การพัฒนาสินค้าและบริการ เป็นต้น

2) ด้ามขวาน 4.0 ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมด้านฮาลาล การท่องเที่ยวมูลค่าสูงใน 3 จังหวัดภาคใต้ การพัฒนานวัตกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (Precision Aquaculture) และการนำเสนอเรื่องราวของปักษ์ใต้ยุคใหม่ด้วยการพัฒนาพื้นที่และกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงพหุวัฒนธรรม

3) อีสาน 4.0 ได้แก่ การพัฒนาโปรตีนทางเลือกจากแมลง การสร้างระบบแก้ไขปัญหาและป้องกันโรคพยาธิใบไม้ในตับ การสร้างระบบบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก และการส่งเสริมการท่องเที่ยวตามวิถีชีวิตวัฒนธรรมและความเชื่อริมฝั่งโขง

4) ภาคตะวันออก 4.0 ได้แก่ การพัฒนาผลผลิตทางด้านการเกษตรโดยเฉพาะกลุ่มผลไม้ การพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมอนาคต และการสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่

5) ภาคกลาง 4.0 ได้แก่ โครงการประเทศไทยไร้ขยะ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมสูงวัย(Active Aging) และการพัฒนาวัฒนธรรมต่อยอดกิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่

ทั้งนี้ รศ. ดร. พีระฯ ได้ยกตัวอย่างโครงการการพัฒนาในระดับพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างตามแนวคิด BCG Economy ซึ่งประกอบไปด้วย จังหวัดยโสธร จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี ภายใต้โครงการอุตสาหกรรมเกษตร (แปรรูปเกษตร) ซึ่งเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากข้าวและมันสำปะหลัง โดยมีความสอดคล้องกับ S – Curve และโครงการบูรณาการภาคเครือข่ายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและจัดแสดงผลิตภัณฑ์ชุมชนอำนาจเจริญเมืองสมุนไพร เพื่อส่งเสริมให้ยกระดับผู้ประกอบการด้านอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยมีการจัดให้มีการส่งเสริมให้มีการให้ความรู้ผู้ประกอบการในการพัฒนาระดับมาตรฐานด้านผลิตภัณฑ์และสถานที่ผลิตกับผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตลอดจนสร้างการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการทุกแห่งในจังหวัดอำนาจเจริญ

  • ปัญหา อุปสรรค และความท้าทายในการพัฒนาตามแนวคิด BCG Economy

รศ. ดร. พีระฯ ได้กล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาในระดับพื้นที่กลุ่มจังหวัดตามแนวคิด BCG Economy ที่ผ่านมาว่า รากสำคัญของปัญหาและอุปสรรค คือ การขาดความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในเรื่องแนวคิด BCG Model การขาดการบูรณาการในการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐยังขาดงบประมาณขับเคลื่อน BCG Model โดยตรง ข้อจำกัดด้านความพร้อมของแต่ละจังหวัดที่ไม่เท่ากันในการดำเนินการ ตลอดจนการขาดความต่อเนื่องและขาดการเชื่อมโยงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม

สำหรับความท้าทายในการพัฒนาตามแนวคิด BCG Economy นั้น รศ. ดร. พีระฯ ได้สรุปไว้ 4 ด้าน ได้แก่ ความท้าทายด้านอาหาร ความท้าทายด้านสุขภาพและการแพทย์ ความท้าทายด้านพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และความท้าทายด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1) ความท้าทายด้านอาหาร เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่มีความผันผวน ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และแรงงานภาคเกษตรที่มีอายุเพิ่มมากขึ้นนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรในอนาคต

2) ความท้าทายด้านสุขภาพและการแพทย์ โดยประเทศไทยมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ปีละประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยประมาณการค่าใช้จ่ายด้านศาสตร์สุขภาพเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบจะอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งนำไปสู่การพึ่งพาการนำเข้ายาวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศที่มากขึ้น

3) ความท้าทายด้านพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ โดยการจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคตและลดการนำเข้าพลังงาน ซึ่งปัจจุบันกว่าร้อยละ 60 ของพลังงานที่ใช้ในประเทศมาจากการนำเข้าจากต่างประเทศ

4) ความท้าทายด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาทต่อปี และมากเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยมีความท้าทายด้านความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวจากแหล่งท่องเที่ยวและทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรม

ภาพที่ 4 รากสำคัญของปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ตามแนวคิด BCG Model

ที่มา: รศ. ดร. พีระฯ

3.4 ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ (Key Success Factor) ของการพัฒนาพื้นที่ตามแนวคิด BCG Model ในพื้นที่

รศ. ดร. พีระฯ มองว่า กุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการพัฒนาพื้นที่ตามแนวคิด BCG Model ในพื้นที่ ประกอบด้วย 5 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้

1) การส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ ระหว่างหน่วยงานของภาครัฐและประชาชนทั่วไปเพื่อเติมเต็มองค์ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน

2) การสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงชุมชนในพื้นที่เพื่อให้ทราบถึงประโยชน์และความยั่งยืนที่จะได้รับเมื่อดำเนินการภายใต้แนวคิด BCG Model

3) การบูรณาการความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ระดับส่วนกลางจนถึงระดับท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกันและลดการทำงานที่ทับซ้อน

4) การพิจารณาแนวทางแบบองค์รวมและการจัดสรรงบประมาณในระดับพื้นที่ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการดำเนินงาน

5) การเชื่อมโยงบทบาทภารกิจของแต่ละหน่วยงาน ให้สอดรับตั้งแต่ต้นน้ำคือภาคการเกษตร กลางน้ำคือภาคอุตสาหกรรมรรม แล้วก็ยังมีการเชื่อมโยงต่อเนื่องไปยังปลายน้ำ คือ อุตสาหกรรมแปรรูปจนกระทั่งเข้าสู่กระบวนการจำหน่าย

ก่อนจากกันไป ทางคณะผู้เขียนขอขอบคุณ ดร.พิสิทธิ์  พัวพันธ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ดร.พงศ์นคร  โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค และ ดร. นรพัชร์  อัศววัลลภ บรรณาธิการวารสารการเงินการคลัง สศค. ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์เนื้อหาดี ๆ สำหรับรายการ Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาคให้แก่ผู้อ่านทุกท่านเป็นประจำมาอย่างต่อเนื่อง