มรสุม COVID-19 เขย่าโลกธุรกิจขนาดเล็ก

มรสุม COVID-19 เขย่าโลกธุรกิจขนาดเล็ก

บทความโดย
นายสัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มที่รุนแรงและยาวนาน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Small and Medium Enterprise: MSME) ในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2563 อัตราการขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวม (Gross Domestic Product) ของ MSME (GDP MSME) หดตัวร้อยละ -17.1 ต่อปี เป็นการหดตัวที่เร่งขึ้นจากไตรมาสที่หนึ่งที่หดตัวร้อยละ 3.1 ต่อปีและหดตัวมากกว่า GDP ของทั้งประเทศที่หดตัวร้อยละ -12.1 ในช่วงไตรมาสที่ 2 โดยธุรกิจ MSME ภาคบริการได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะสาขาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการค้าส่งค้าปลีก ประกอบกับอุปสงค์จากต่างประเทศปรับตัวลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะการส่งออกน้ำตาล อัญมณี/เครื่องประดับ และคอมพิวเตอร์ ตามลำดับ

ภาพที่ 1: อัตราการขยายตัวของ GDP MSME ปี 2561-2563 (ไตรมาสที่ 3)
ที่มา: สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
ภาพที่ 2: สัดส่วนการจ้างงาน MSME รายสาขาธุรกิจ ปี 2563
ที่มา: สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลก็มิได้นิ่งนอนใจได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการ MSME อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1) มาตรการทางภาษีสำหรับผู้ประกอบการ MSME ที่ยังคงการจ้างงานลูกจ้างไว้และจ่ายค่าจ้าง สามารถหักรายจ่ายค่าจ้างในช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม 2563 ในการคำนวณภาษีได้ 3 เท่า 2) มาตรการทางการเงิน อาทิ พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft Loan ธปท.)  ของธนาคารแห่งประเทศไทย โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) สำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Soft Loan ท่องเที่ยว) ของธนาคารออมสิน โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ไทยสู้ภัยโควิด  (ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme) ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โครงการสินเชื่อรายเล็ก Extra Cash” ดอกเบี้ยต่ำของ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นต้น 3) มาตรการด้านสาธารณูปโภค/ที่ดิน อาทิ โครงการลดค่าจดจำนองและค่าโอนที่ดินเหลือ 0.01% เฉพาะปี 2563 ของกรมที่ดิน โครงการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับธุรกิจ MSME เป็นต้น [B1] และ 4) มาตรการด้านประกันสังคม/กองทุน/แรงงาน อาทิ โครงการช่วยเหลือแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท การลดเงินสมทบประกันสังคมนายจ้างของกระทรวงแรงงาน เป็นต้น นอกจากนี้ ภาคธุรกิจ MSME ในสาขาค้าปลีกค้าส่ง ท่องเที่ยว และร้านอาหาร ได้รับความช่วยเหลืออื่น ๆ เพิ่มเติมผ่านมาตรการระดับการบริโภคภายในประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ และเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้มีรายได้น้อย เช่น มาตรการเยียวยา (เราไม่ทิ้งกัน) 5,000 บาท 3 เดือน มาตรการคืนภาษี (ช้อปดีมีคืน) มาตรการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการเพิ่มวงเงิน 500 บาทให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการเราชนะ โครงการ ม.33 เรารักกัน เป็นต้น

ภาพที่ 3: สรุปภาพรวมมาตรการช่วยเหลือ MSME ในช่วงวิกฤติ COVID-19
ที่มา: รวบรวมโดยผู้เขียน

สำหรับสถานการณ์ล่าสุด ณ ไตรมาสที่สามของปี 2563 กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศของ MSME เริ่มกลับมาและฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังรัฐบาลดำเนินมาตรการผ่อนคลาย Lockdown และช่วยเหลือภาคธุรกิจ MSME สะท้อนจาก GDP MSME ในไตรมาส 3 ปี 2563 หดตัวร้อยละ -9.3 ต่อปี ชะลอลงจากช่วงไตรมาสที่ 2 ที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -17.1 ต่อปี ซึ่งหลายธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นจากเดิม แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจ MSME อาจผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และกำลังเข้าสู่แนวโน้มการฟื้นตัว อีกทั้ง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ MSME (รวมภาคการค้า ภาคการบริการและภาคการผลิต) ที่จัดทำโดย สสว. ปรับตัวดีขึ้น 3 ติดต่อกัน (มิถุนายน-กรกฎาคม 2563) อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ MSME เดือนสิงหาคม 2563 กำลังทรงตัวอยู่ที่ระดับ 51.2 จุด แต่ยังบ่งชี้การขยายตัวของ MSME เนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ MSME อยู่ในระดับเกินกว่าระดับ 50.0 จุด เช่นเดียวกับสถานการณ์การจ้างงาน MSME ที่มีสัญญาณการกลับมาขยายตัวอีกครั้ง เนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ MSME ด้านการจ้างงาน เดือนสิงหาคม 2563 อยู่ที่ร้อยละ 50.8 บ่งชี้การขยายตัวเล็กน้อย และเมื่อเทียบกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ MSME ของเดือนเมษายนที่ผ่านมา ถือว่าการจ้างงานใน MSME เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน แต่ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณา MSME จำแนกสาขาธุรกิจ พบว่า ผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ที่อยู่ในภาคการบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวกำลังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากในช่วงครึ่งหลังปี 2563 หลายภาคธุรกิจเริ่มหดตัวชะลอลง เช่น ธุรกิจบริการที่พักแรมและธุรกิจบริการด้านอาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 3 เริ่มหดตัวชะลอลงร้อยละ -39.6 ต่อปี จากเดิมหดตัวร้อยละ -50.2 ในไตรมาสที่ 2 และสาขาธุรกิจขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าในไตรมาส 3 หดตัวชะลอลงเช่นกันที่ร้อยละ -23.6 ต่อปี จากร้อยละ -38.8 ต่อปี ในไตรมาสที่ 2 เช่นเดียวกับภาคการผลิตที่หดตัวร้อยละ -5.3 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสที่ 2 ที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -14.6 ต่อปี นอกจากนี้ สาขาธุรกิจที่ยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจบริการข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยขยายตัว 10.5, 3.1 และ 1.5 ต่อปี ตามลำดับ

ภาพที่ 4: อัตราการขยายตัวของ GDP MSME รายสาขาธุรกิจ ปี 2561-2563 (ไตรมาสที่ 3)
ที่มา: สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

จากข้อมูลต่าง ๆ ข้างต้น สรุปได้ว่า ผู้ประกอบการ MSME กลุ่มสาขาการผลิตอุตสาหกรรม โรงแรม/ภัตตาคาร การขนส่ง/สภานที่เก็บสินค้า และเกษตรกรรม /ป่าไม้/การประมง กำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 มากที่สุด ทั้งแง่ของมูลค่าทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน แม้มีสัญญาณการฟื้นตัว แต่ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้ภาครัฐยังมีความจำเป็นต้องออกมาตรการช่วยเหลือ MSME เพิ่มเติมเร่งด่วนในช่วงปี 2564 เพื่อช่วยให้ MSME กำลังกลับมาฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ตามสถานการณ์และความต้องการของผู้ประกอบการ MSME ที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ ได้แก่

1. การจัดสรรเงินเยียวยาเพิ่มเติมแก่สาขาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งเป็นกลุ่มที่ GDP MSME หดตัวต่อเนื่องสามไตรมาสแรกปี 2563 ได้แก่ การผลิต โรงแรมและภัตตาคาร บริหาร/การบริการสนับสนุน การขนส่ง/สภานที่เก็บสินค้า และเกษตรกรรม /ป่าไม้/การประมง จากการประเมินโครงสร้างของ MSME ทั้ง 6 สาขาธุรกิจ ทำให้ทราบว่ามีจำนวนผู้ประกอบการ 1.1 ล้านราย ครอบคลุมจำนวนการจ้างงาน 4.2 ล้านคน ซึ่งรัฐบาลควรจัดสรรเงินช่วยเหลือแก่กลุ่มนี้อย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 มีหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เป็นต้น ที่ดำเนินมาตรการจัดสรรเงินเยียวยาส่งตรงให้กับภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ

2. มาตรการทางการเงินด้านสินเชื่อที่เข้าถึงได้ง่าย ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับ MSME ผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ อย่างไรก็ตาม พบว่า มีผู้ประกอบการรายเล็กส่วนน้อยที่สามารถเข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้ เมื่อเทียบกับจำนวน MSME ทั้งประเทศ ทำให้เห็นว่าผู้ประกอบการอีกจำนวนมากยังไม่ได้ความช่วยเหลือทางการเงินในช่วงวิกฤติ COVID-19 ฉะนั้น มาตรการด้านสินเชื่อสำหรับ MSME ที่ไม่มีดอกเบี้ย อาจจะเป็นการช่วยเหลือเพิ่มเติม ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาหลายประเทศมีการดำเนินมาตรการในลักษณะนี้ ตัวอย่างเช่น รัฐบาลญี่ปุ่น ได้ดำเนิน COVID-19 Special Loan Program โดยมีการลดดอกเบี้ยให้รวมถึงการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจ MSME แบบไม่ต้องมีหลักประกันและไม่คิดดอกเบี้ย สภาเมืองอู่ฮั่น (มณฑลเหอเป่ย) ออกมาตรการเพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติโดยให้จัดตั้งกองทุนสนับสนุน MSME สำหรับการปล่อยสินเชื่อแบบไม่มีอัตราดอกเบี้ย (Zero Interest Rate Loan) หรือคืนดอกเบี้ยจ่ายในภายหลัง (loan interest rebate) รัฐบาลมาเลเซียปล่อยสินเชื่อผ่านโครงการช่วยเหลือทางการเงินสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ดอกเบี้ย 0% เป็นต้น

3. มาตรการควบคุมราคาสินค้าและวัตถุดิบ ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 อาจส่งผลให้สินค้าบางประเภทที่เป็นปัจจัยการผลิตมีราคาปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากการหยุดกิจกรรมการผลิตในรายอุตสาหกรรมต้นน้ำ ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กจะต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ฉะนั้น ภาครัฐจึงควรมีมาตรการในการควบคุมราคาสินค้าและวัตถุดิบ เพื่อป้องกันปัญหาด้านต้นทุนให้กับภาคธุรกิจขนาดเล็ก

4. การขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการช่วยเหลือ MSME จากการสำรวจผลความคิดเห็นของ ผู้ประกอบการ MSME ของ สสว. ประจำเดือนมกราคม 2564 พบว่า โครงการคนละครึ่งเป็นมาตรการที่ ผู้ประกอบการ MSME มองว่าตนเองได้รับประโยชน์มากที่สุด ซึ่งในปี 2564 รัฐบาลยังคงดำเนินมาตรการเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน และมาตรการเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการคนละครึ่งเฟส 2 โครงการเราชนะ หรือมาตรการลดค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า เป็นต้น อย่างไรดี โครงการคนละครึ่งเฟส 2 จะสิ้นสุดภายในเดือนมีนาคม 2564 และโครงการเราชนะจะสิ้นสุดภายในเดือนพฤษภาคม 2564 ทำให้รัฐบาลควรพิจารณาดำเนินมาตรการในลักษณะเดียวกันนี้ในระยะถัดไป เพื่อต่อลมหายใจให้กับภาคธุรกิจขนาดเล็กที่กำลังได้รับประโยชน์โดยตรงจากมาตรการภาครัฐดังกล่าวในขณะนี้

สำหรับประมาณการ GDP MSME ปี 2564 สสว. คาดว่า GDP MSME จะกลับมาขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 4.0 ถึง 5.0 ต่อปี เนื่องจากการผลิตวัคซีนและใช้จริงได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 รวมถึงอานิสงส์จากมาตรการต่าง ๆ ภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะดำเนินการต่อเนื่องจาก ปี 2563 ตลอดจนโครงการลงทุนของภาครัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐานจำนวนหลายโครงการที่ใกล้จะแล้วเสร็จและโครงการลงทุนด้านคมนาคมทั้งทางถนนและระบบรางอีกหลายโครงการที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2564 จะเป็นตัวเร่งให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

นายสัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ

นายสัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ
เศรษฐกรชำนาญการ
ผู้เขียน