บทความโดย
นายสัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ
ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ในการผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการส่งเสริมให้มีการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์และวัฒนธรรมประเพณีให้ทันสมัย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ประกอบกับการสร้าง Soft Power ของประเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศสู่นานาชาติ ซึ่งจะช่วยดึงดูดการท่องเที่ยว การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศของประเทศได้ในระยะยาว โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการสนับสนุนในแนวทางดังกล่าวเช่นกัน ฉะนั้น บทความฉบับนี้ จะทำให้พวกเราได้รู้จัก Creative Economy ของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ดังนี้
1. นิยามเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (Creative Economy Agency: CEA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้นิยามอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย[1] แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม 15 สาขา ได้แก่ 1) กลุ่มรากฐานทางวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Originals) คือ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์บนรากฐานทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ประกอบด้วย 4 สาขา ได้แก่ งานฝีมือและหัตถกรรม ดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์ 2) กลุ่มคอนเทนต์และสื่อสร้างสรรค์ (Creative Content/Media) คือ การนำความคิดสร้างสรรค์มาผลิตคอนเทนต์หรือสื่อ ประกอบด้วย 4 สาขา ได้แก่ ภาพยนตร์ การแพร่ภาพและกระจายเสียง การพิมพ์ และซอฟต์แวร์ 3) กลุ่มบริการสร้างสรรค์ (Creative Services) คือ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้บริการด้านความคิดสร้างสรรค์ ระกอบด้วย 3 สาขา ได้แก่ การโฆษณา การออกแบบ และการให้บริการด้านสถาปัตยกรรม 4) กลุ่มสินค้าสร้างสรรค์ (Creative Goods/Products) คือ การนำความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาสินค้า ประกอบด้วย 1 สาขา ได้แก่ แฟชั่น และ 5) กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง (Related Industries) คือ กลุ่มอุตสาหกรรมที่นำความคิดสร้างสรรค์และวัฒนธรรมมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย 3 สาขา ได้แก่ อาหารไทย การแพทย์แผนไทย และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ภาพที่ 1: สรุปการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย ตามนิยามของ CEA
2. มูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย
จากรายงานสถานการณ์และความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ปี 2565 [1] ที่จัดทำโดย CEA พบว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย ปี 2564 มีมูลค่าอยู่ที่ 1.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ซึ่งหากไม่นับรวมมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสม (Compound Annual Growth Rate: CAGR) ระหว่างปี 2557 – 2564 อยู่ที่ร้อยละ 5.7 ต่อปี และเมื่อพิจารณามูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์เฉลี่ยระหว่างปี 2557 – 2564 เป็นรายสาขา พบว่า การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นสาขาที่มีมูลค่าเศรษฐกิจมากที่สุดในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 2.8 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.5 ของมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั้งหมด รองลงมาคือ สาขาอาหารไทย (ร้อยละ 20.7) โฆษณา (ร้อยละ 14.6) แฟชั่น (ร้อยละ 13.8) และออกแบบ (ร้อยละ 8.5) ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ (Free on Board: FOB) ปี 2564 อยู่ที่ 2.1 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.4 ของมูลค่าการส่งออกรวมนอกจากนี้ จากข้อมูลนิติบุคคลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ปี 2564 มีจำนวนผู้ประกอบธุรกิจสร้างสรรค์ในประเทศไทย อยู่ที่ 82,072 ราย คิดเป็นร้อยละ 16.0 ของจำนวนนิติบุคคลทั้งประเทศ ซึ่งสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทยกว่า 1.5 ล้านล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศกว่า 889,275 ตำแหน่ง
ภาพที่ 2: สรุปข้อมูลเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย ปี 2564
3. ขีดความสามารถของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย
จากการรวบรวมตัวชี้วัดขีดความสามารถของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยในช่วงปี 2563 – 2566 พบว่า 1) ดัชนีซอฟต์พาวเวอร์โลก ประจำปี 2566 (Global Soft Power Index 2023[1]) ที่จัดทำโดย Brand Finance บริษัทจัดการกลยุทธ์เกี่ยวกับ Brand Positioning ได้จัดอันดับประเทศที่มีศักยภาพทางด้าน Soft Power ในทุกมิติของประเทศต่าง ๆ ซึ่งไทยอยู่ในอันดับที่ 41 จากการจัดอันดับ 121 ประเทศทั่วโลก 2) ดัชนีเมืองนวัตกรรมโลก ประจำปี 2566 (Global Cities Innovation Index 2023[2]) ที่จัดทำโดย HSE University ซึ่งจัดอันดับเมืองที่โดดเด่นด้านนวัตกรรม การส่งเสริมการค้า การพัฒนาเศรษฐกิจ และการศึกษาเกณฑ์มาตรฐานของแต่ละเมือง โดยกรุงเทพมหานคร อยู่ในอันดับที่ 75 จากการจัดอันดับกว่า 200 เมืองทั่วโลก 3) ดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index 2022[3]) ที่จัดทำโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) โดยดัชนีนี้เป็นการวัดระดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมของแต่ละประเทศ โดยไทยอยู่ในอันดับที่ 43 ถือเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน จาก 132 ประเทศทั่วโลก และ 4) ประเทศผู้ส่งออกสินค้าสร้างสรรค์สำคัญ ปี 2563 (Top Creative Goods Exporters 2020[4]) ที่รายงานข้อมูลโดยที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) โดยในปี 2563 ไทยส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ (Creative Goods) อยู่ที่ 5,015 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ (สัดส่วนร้อยละ 1.0 ของการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์รวมทั้งโลก) ซึ่งเป็นมูลค่าที่มากที่สุดเป็นอันดับที่ 10 ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Developing Economies) ที่มีจำนวน 152 ประเทศ
ภาพที่ 3: สรุปตัวชี้วัดขีดความสามารถของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยในช่วงปี 2563 – 2566
4. บทสรุป
จากข้อมูลมูลค่าทางเศรษฐกิจและขีดความสามารถของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ดังกล่าวข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องและศักยภาพในการแข่งขันในระดับสากล อย่างไรก็ดี เพื่อยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยนั้น ภาครัฐควรผลักดันการพัฒนาระบบนิเวศและห่วงโซคุณค่าของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Economy Value Chain) ควบคู่กับการดำเนินมาตรการส่งเสริมภาคธุรกิจสร้างสรรค์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินกิจการ การเปิดช่องทางการตลาดใหม่ ละการพัฒนาระบบนิเวศและห่วงโซคุณค่าของอุตสาหกรรม รวมถึงมาตรการส่งเสริมแรงงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อาทิ การฝึกและเพิ่มทักษะแรงงาน และการเพิ่มสวัสดิการของแรงงาน เป็นต้น อีกทั้ง ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสร้างสรรค์ผลงานและให้บริการงานสร้างสรรค์ และบูรณาการฐานข้อมูลสร้างสรรค์ (Creative Big Data) อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ (Upstream) ไปถึงปลายน้ำ (Downstream) ประกอบกับ เพื่อนำไปสู่การออกแบบนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างถูกฝาถูกตัวมากขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พ.ศ. 2566-2570 เพื่อให้การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยเป็นอย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดผลประโยชน์อย่างสูงต่อระบบเศรษฐกิจในระยะถัดไป
นายสัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน