บทความโดย
ชานน ลิมป์ประสิทธิพร
แม้ว่าประเทศจีนจะต้องรับมือกับสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ แต่สถานการณ์เหล่านี้ไม่ได้ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีชะลอตัวลง ช่วงต้นปีที่มีการระบาดเกิดขึ้น ทางการจีนได้แสดงศักยภาพในการจัดการและควบคุมการระบาดได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังได้แสดงเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยให้ทั่วโลกได้เห็น ตัวอย่างเช่น การใช้โดรนในการจัดส่งยาและอุปกรณ์การแพทย์ การใช้หุ่นยนต์ส่งอาหารภายในที่พัก เป็นต้น ทั้งนี้ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาเป็นอีกครั้งที่จีนได้ทำให้ทั่วโลกตกตะลึง ด้วยการทดสอบจริงในการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลของประเทศจีน หรือ Digital Currency Electronic Payment (DCEP)
1. สกุลเงินดิจิทัลของประเทศจีน (DCEP) คืออะไร
สกุลเงินดิจิทัลของจีน หรือ DCEP เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นโดยธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการใช้เงินสด และสร้างรากฐานทางการเงินที่มั่นคง เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless society) ซึ่งสกุลเงินดิจิทัลนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นโดยใช้ Blockchain เป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน
ประโยชน์ของสกุลเงินดิจิทัล DCEP มีอยู่หลายด้าน ได้แก่ (1) การลดความเสี่ยงในการปลอมแปลงเงิน และลดการฟอกเงินที่ผิดกฎหมาย (2) การลดค่าใช้จ่ายในต้นทุนการจัดการธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ (3) การต่อยอดของข้อมูล นำไปสู่เก็บภาษีที่ครอบคลุมและแม่นยำมากขึ้น และ (4) การทำให้เงินหยวนมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่นิยม ซึ่งอาจนำไปสู่จุดที่สกุลเงินหยวนเป็นที่นิยมที่สุดในโลก โดดเด่นมากกว่าดอลลาร์สหรัฐที่เป็นสกุลเงินที่นิยมที่สุด ณ ตอนนี้
ในปัจจุบัน DCEP ยังอยู่ในขั้นตอนทดสอบการใช้งาน โดยเริ่มต้นทดสอบในเมืองใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ เซินเจิ้น ซูโจว เฉินตู และเซียงอัน ซึ่งสกุลเงินดิจิทัล DCEP ได้รับความสนใจและความร่วมมือจากภาคเอกชนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น HUAWEI ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ของจีน ได้ประกาศให้แอพพลิเคชัน Huawei Pay เชื่อมต่อการใช้งานกับ DCEP ทันที ขณะที่ Alibaba สนับสนุนการใช้งานของ DCEP ใน Alipay และ TENCENT ระบุว่าจะให้ WeChat Pay สามารถชำระเงินโดยใช้ DCEP ได้เช่นกัน นอกจากนี้ ร้านค้าแบรนด์ชั้นนำระดับโลกอย่าง McDonald’s, Subway, และ Starbucks ได้มีแผนเข้าร่วมโครงการทดสอบเพื่อรองรับการใช้งานของ DCEP ในการชำระราคาสินค้าด้วยเช่นกัน
2. DCEP มีความแตกต่างกับสกุลเงินดิจิทัลชนิดอื่นอย่างไร
การที่จีนได้ประกาศทดสอบใช้สกุลเงินดิจิทัล DCEP ได้สร้างความตื่นตัวไปทั่วโลก เพราะสกุลเงินดิจิทัลนี้ มีความโดดเด่นเฉพาะตัวและมีความแตกต่างอย่างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ อาทิ Bitcoin ซึ่งข้อแตกต่างเหล่านี้ทำให้ DCEP เหมาะจะเป็นเงินดิจิทัลที่ทดแทนการใช้เงินสดในชีวิตประจำวัน โดยข้อแตกต่างของ DCEP มีดังนี้
ประการแรก DCEP เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยรัฐบาล และมีระบบปฏิบัติการแบบรวมศูนย์ (Centralized) ซึ่งมีการกำหนดมูลค่าเท่ากับเงินหยวน สัดส่วนเป็น 1:1 โดยบางที่จะเรียก DCEP ว่าหยวนดิจิทัล ในขณะที่สกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ เช่น Bitcoin ถูกกำกับโดยสูตรคณิตศาสตร์ เป็นอิสระ ไม่ถูกควบคุมโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง และเป็นการทำงานแบบเครือข่ายกระจายศูนย์ข้อมูล (Decentralized)
ประการที่สอง DCEP ของจีนไม่อนุญาตให้ใช้ในการเก็งกำไร ซึ่งแตกต่างกับสกุลเงินดิจิทัลชนิดอื่นที่มีการเข้าไปเก็งกำไรของนักลงทุนอย่างมาก ตัวอย่างเช่น Bitcoin ที่เป็นที่นิยมและมีการเก็งกำไรในอัตราที่สูง ทำให้มูลค่ามีการแกว่งตัวอย่างมาก โดยใน 6 เดือนที่ผ่านมา อัตราแลกเปลี่ยน Bitcoin ต่อดอลลาร์สหรัฐสูงสุดอยู่ที่ 10,367.53 ดอลลาร์ต่อ bitcoin (วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563) และต่ำสุดอยู่ที่ 4,944.70 ดอลลาร์ต่อ bitcoin (วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2563) จะเห็นได้ว่ามูลค่าเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งการที่มูลค่าของเงินมีความผันผวนสูง ส่งผลให้ไม่เหมาะแก่การใช้แทนเงินสด
ประการที่สาม DCEP สามารถใช้ได้แม้ไม่มีอินเทอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นสิ่งที่โดดเด่นมากเมื่อเทียบกับสกุลดิจิทัลชนิดอื่น โดย DCEP ได้ใช้ระบบชำระเงินแบบไร้สาย หรือ NFC Contact (Near Field Communication) เป็นฐานทำให้ตัวอุปกรณ์ใช้โอนเงินได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ทำให้การใช้เงิน DCEP ทำที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องมีธนาคาร ไม่ต้องมีอินเทอร์เน็ต ขอเพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีความแตกต่างด้านอื่นอีก เช่น ความสะดวกในการพกพาเพื่อใช้จ่าย ด้านความปลอดภัย ความเร็วในการทำธุรกรรมของแต่ละสกุลเงิน เป็นต้น ซึ่งได้สามารถดูรายละเอียดการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง DCEP Libra Bitcoin และเงินสด ได้ที่ในตารางที่ 1
DCEP | Libra | Bitcoin | เงินสด | |
ความสะดวกในการพกพาเพื่อใช้จ่าย | สูง | สูง | ต่ำ | สูง |
ความผันผวนของมูลค่า | ต่ำ | ต่ำ | สูง | ต่ำ |
การกระจายศูนย์กลางข้อมูล | ไม่ใช่ | บางส่วน | ใช่ | ไม่ใช่ |
ความปลอดภัย | สูง | สูง | สูง | ต่ำ |
การทำธุรกรรมออฟไลน์ | ได้ | ไม่ได้ | ไม่ได้ | ได้ |
ความเร็วในการทำธุรกรรม (จำนวนธุรกรรม/วินาที) | 220,000 | 1,000 | 7 | – |
ที่มา: boxmining.com/decp/
3. การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของประเทศคู่แข่งอย่างสหรัฐฯ
การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลทั่วโลกเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในภาคเอกชน ในส่วนของประเทศคู่แข่งสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา นับว่าเสียเปรียบประเทศจีนอย่างมาก ในปีที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีของอเมริกาต้องเผชิญกับทั้งข้อกังวลด้านกฎหมาย หลายประการ เช่น สิทธิในการเข้าถึงและประมวลผลข้อมูล กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการให้บริการทางการเงิน ตัวอย่างเช่น กรณี Facebook ถูกระงับการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล Libra โดยฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศ และการประกาศเลิกพัฒนาโครงการ Blockchain ของแอพพลิเคชันสื่อสาร Telegram เป็นต้น นอกจากนี้ จดหมายของนาย Jerome Powell ประธานธนาคารกลางแห่งสหรัฐ (FED) ก็ได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่ารัฐบาลสหรัฐยังไม่ต้องการสกุลเงินดิจิทัลในตอนนี้ ส่งผลให้เกิดการชะลอในการพัฒนาสกุลดิจิทัลลงอย่างมาก และเป็นโอกาสอันดีในของประเทศจีนในการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล
4. บทสรุป
สกุลเงินดิจิทัลคืออนาคต และตอนนี้ประเทศจีนก็ได้นำหน้าทั่วโลกไปแล้วหนึ่งก้าว ด้วยการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของตัวเอง และได้เริ่มทดสอบการใช้งานสกุลเงินดิจิทัล DCEP แล้วใน 4 เมือง หากสกุลเงินดิจิทัลนี้พัฒนาสำเร็จและเริ่มใช้งานจริง การใช้ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ของสกุลเงินหยวนจะลดลงอย่างมาก ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าจะเปลี่ยนภูมิทัศน์และรูปแบบของระบบชำระเงินของโลกได้อย่างมาก นอกจากนี้ หากวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐกิจ ก็อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกได้มากเช่นกัน เพราะโครงการนี้ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในโครงการเส้นทางสายไหมของจีน (One Belt One Road) ที่มีเป้าหมายไปที่ 70 ประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม เราทุกคนต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไป ว่าอนาคตของ DCEP และสกุลเงินดิจิทัลจะเป็นเช่นไร
ที่มาของข้อมูล
https://www.coindesk.com/inside-chinas-plan-to-power-global-blockchain-adoption
นายชานน ลิมป์ประสิทธิพร
เศรษฐกรปฏิบัติการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ผู้เขียน