การพัฒนาเครื่องมือติดตามภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคของไทย

การพัฒนาเครื่องมือติดตามภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคของไทย

บทความโดย
ดร. นรพัชร์ อัศววัลลภ
นายสัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ

บทสรุปผู้บริหาร

เนื่องจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) มีการประกาศตามหลังราวเกือบ 2 เดือน ดังนั้น เพื่อให้การติดตามภาวะเศรษฐกิจมีความเป็นปัจจุบันมากขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องชี้เศรษฐกิจรายเดือนของหน่วยงานต่างๆ อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้เศรษฐกิจเหล่านี้ยังคงมีข้อบกพร่องที่สำคัญอยู่อย่างน้อย 3 ประการคือ

1) แม้ว่าจะมีความเป็นปัจจุบันมากขึ้นแต่ก็ยังเป็นการประกาศตามหลังราว 1 เดือน ซึ่งอาจยังไม่ทันต่อความต้องการนำไปใช้ประโยชน์ของทั้งภาครัฐในเชิงการกำหนดนโยบายและภาคเอกชนในการประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจ

2) เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจที่มีในปัจจุบันเน้นการรายงานเชิงปริมาณมากกว่าเชิงคุณภาพ ทำให้การทำความเข้าใจสภาวะเศรษฐกิจไม่เป็นไปอย่างถ่องแท้ และ

3) ข้อมูลเศรษฐกิจบางตัว หากนำมาใช้อย่างไม่ระมัดระวังอาจนำไปสู่การตีความที่ผิดพลาด (mislead) ได้

จากปัญหาดังกล่าว นำมาซึ่งการจัดทำดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค โดยการออกแบบสอบถามไปสำรวจเศรษฐกิจภายในพื้นที่โดยตรงผ่านสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในด้านภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ แรงซื้อจากภาคแรงงาน ราคาและต้นทุนการผลิต และแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต นำมาซึ่งดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค ได้แก่

1) ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ

2) ดัชนีความเชื่อมั่นภาคประชาชน

3) ดัชนีต้นทุนผู้ประกอบการ และ

4) ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ

โดยแต่ละดัชนีมีช่วงคะแนนอยู่ระหว่าง 0 ถึง 100 ซึ่งสะดวกต่อการวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งนี้ หลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศนิยมจัดทำดัชนีประเภทนี้โดยใช้ข้อมูลสำรวจภายในองค์กรของตนเอง

การคิดค้นเครื่องมือติดตามภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคของไทยในครั้งนี้ เป็นแนวทางการวิเคราะห์ใหม่และสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในเชิงวิชาการและการทำความเข้าในสภาวะเศรษฐกิจได้มากกว่าการติดตามภาวะเศรษฐกิจแบบเดิมซึ่งเน้นการติดตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ อันจะนำไปสู่การใช้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและภาคธุรกิจในการใช้ประกอบการวางแผนธุรกิจ รวมถึงเป็นผลดีต่อการจัดทำนโยบายการคลังเชิงพื้นที่เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

1. บทนำ

ในปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีการประกาศตัวเลข ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) เป็นประจำทุกไตรมาส หรือ 4 ครั้งต่อปี แต่เนื่องด้วย สศช. มีการประกาศตัวเลขตามหลังประมาณเกือบ 2 เดือน ส่งผลให้การนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้อย่างล่าช้า ไม่ทันท่วงที นำมาซึ่งการจัดทำและวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจ

หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนผ่านเครื่องชี้เศรษฐกิจทั้งในเชิงมหภาคและภูมิภาค (รายจังหวัด) ซึ่งส่งสัญญาณเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจได้รวดเร็วกว่าตัวเลข GDP เพราะมีการจัดทำเป็นประจำทุกเดือน ยกตัวอย่างเช่น กระทรวงพาณิชย์ และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยมีการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายเดือน (Consumer Confidence Index: CCI) ชี้วัดความเคลื่อนไหวของการบริโภคภายในประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารวบรวมจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยและนักท่องเที่ยวไทยทั้งในภาพรวมและรายจังหวัดเป็นประจำทุกเดือน พร้อมทั้งคำนวณรายได้จากท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคำนวณดัชนีผลผลิตและราคาสินค้าการเกษตรรายเดือน ซึ่งสามารถบอกสถานการณ์ภาคเกษตรได้

ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index: TISI) บ่งชี้สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจต่างๆ ดังกล่าว ยังคงมีข้อบกพร่องที่สำคัญอยู่อย่างน้อย 3 ประการคือ 1) ข้อมูลเครื่องชี้เศรษฐกิจเหล่านั้น ประกาศตามหลังประมาณ 1 เดือนซึ่งผู้กำหนดนโยบายของทั้งภาครัฐและเอกชนอาจมีความคาดหวังในการนำข้อมูลไปใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายที่มีความเป็นปัจจุบันมากกว่านั้น 2) การนำเสนอการติดตามเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจที่มีในปัจจุบันเน้นการรายงานเชิงปริมาณมากกว่าเชิงคุณภาพ ทำให้การทำความเข้าใจสภาวะเศรษฐกิจไม่เป็นไปอย่างถ่องแท้ จำเป็นต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมถึงสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางกิจกรรมเศรษฐกิจต่างๆ และ

3) ข้อมูลเศรษฐกิจบางตัว หากนำมาใช้อย่างไม่ระมัดระวังอาจนำไปสู่การตีความที่ผิดพลาด (Mislead) ได้ ดังนั้น จึงควรพัฒนารูปแบบของข้อมูลใหม่ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น บทความนี้จึงได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อศึกษาการจัดทำเครื่องชี้วัดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในเชิงมหภาคและเชิงพื้นที่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงหลักการและแนวคิดวิธีในการจัดทำเครื่องชี้วัด
ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจรายจังหวัดของไทย ตลอดจนการนำดัชนีเครื่องชี้เศรษฐกิจชนิดใหม่ไปใช้ประโยชน์ในเชิงการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของภาครัฐ และนำมาซึ่งข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพิ่มเติมต่อไป

ภาพที่ 1 สรุปปัญหาสำคัญของเครื่องชี้เศรษฐกิจที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ที่มา: รวบรวมโดยผู้เขียน

2. ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ

ในปัจจุบัน หลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศ นิยมจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ เป็นของตัวเองมากขึ้น ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์กับหน่วยงานภาครัฐในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงเป็นผลดีต่อภาคเอกชนในการวางแผนธุรกิจ ทั้งนี้ ผู้เขียนได้ทำการรวบรวมดัชนีที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกหรือความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (Economic Sentiment or Confidence Index) ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเครื่องมือติดตามภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคของไทย โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

2.1 ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในประเทศ

หน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนในประเทศไทย มีการจัดทำดัชนีเกี่ยวกับความรู้สึกทางเศรษฐกิจ โดยการสำรวจความเห็นจากภาคต่างๆ เช่น ภาคประชาชน ภาคการผลิต เป็นต้น เพื่อบ่งบอกความเชื่อมั่นของผู้คนเหล่านั้นที่มีต่อเศรษฐกิจในแต่ละด้าน ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการจัดทำดัชนี ซึ่งทางผู้เขียนได้รวบรวมการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทย ประกอบด้วยรายละเอียดและช่วงเวลา
ที่ประกาศตัวเลขดัชนี โดยมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้

ตารางที่ 1 ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทย
ที่มา: รวบรวมโดยผู้เขียน

ชื่อดัชนี (หน่วยงานที่จัดทำ)รายละเอียดเบื้องต้น เกี่ยวกับดัชนีช่วงเวลาที่ประกาศการบ่งชี้ เศรษฐกิจ
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ของกระทรวงพาณิชย์ใช้แบบสอบถาม สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในสาขาอาชีพต่างๆ ทั้ง 77 จังหวัด ดัชนีมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100ช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของทุกเดือน
(ล่าช้า 1 เดือน)
การบริโภคภาคเอกชน
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและหอการค้าไทยใช้แบบสอบถาม สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศดัชนีมีค่าอยู่ระหว่าง 0-200ช่วงสัปดาห์แรกของทุกเดือน (ล่าช้า 1 เดือน)การบริโภคภาคเอกชน
ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย: ส.อ.ท.ใช้แบบสอบถาม สำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการทั่วประเทศ ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. แยกเป็นขนาดย่อม
กลาง และใหญ่ดัชนีมีค่าอยู่ระหว่าง 0-200
ช่วงสัปดาห์ 3-4 ของทุกเดือน (ล่าช้า 1 เดือน)การผลิตภาคอุตสาหกรรม
ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (Grassroots Economic Sentiment Index: GSI)
ของธนาคารออมสิน
ใช้แบบสอบถาม สำรวจความรู้สึกของประชาชนระดับฐานราก (กลุ่มคนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท) ที่มีต่อเศรษฐกิจ ดัชนีมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100ช่วงสัปดาห์แรกของทุกเดือน (ล่าช้า 1 เดือน)เศรษฐกิจระดับฐานราก
ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BUSINESS SENTIMENT INDEX: BSI) ของธนาคารแห่งประเทศใช้แบบสอบถาม สำรวจความเชื่อมั่นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยครอบคลุมบริษัทภาคการผลิต ทั้งขนาดย่อม กลาง และใหญ่ดัชนีมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100
ช่วงสัปดาห์แรกของทุกเดือน (ล่าช้า 1 เดือน)ภาคการผลิต โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและบริการ
ดัชนีธุรกิจกรุงไทย (Krung Thai Business Index: KTBI)
ของธนาคารกรุงไทย
ใช้แบบสอบถาม สำรวจความรู้สึกของลูกค้า
นักธุรกิจของธนาคารกรุงไทยดัชนีมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100
ประกาศตัวเลขทุกไตรมาส (ล่าช้า 2 เดือน)เศรษฐกิจภาพรวม
ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR Household Economic Condition Index: KR-ECI)
ของธนาคารกสิกรไทย
ใช้แบบสอบถาม สำรวจภาวะการครองชีพ
ของครัวเรือน โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลดัชนีมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100
ช่วงกลางเดือนของทุกเดือน (ล่าช้า 1 เดือน)เศรษฐกิจภาพรวม
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index: TSSI) ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจ
ขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
ใช้แบบสอบถาม สำรวจความรู้สึก
ของผู้ประกอบการที่มีต่อสภาวะการประกอบธุรกิจของตนในด้านต่างๆ เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมาดัชนีมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100
ช่วงสัปดาห์แรกของทุกเดือน (ล่าช้า 2 เดือน)ภาคการผลิต โดยเฉพาะภาคบริการ
ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพใช้แบบสอบถาม สำรวจความเห็น
ของนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 30 แห่งดัชนีมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100
ประกาศตัวเลข 4 ครั้งต่อปี (ณ เดือน ม.ค. เม.ย. ก.ค. และ ต.ค.)เศรษฐกิจด้านการใช้จ่าย (Demand Side)
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ธุรกิจท่องเที่ยว (Thailand Tourism Confidence Index: TTCI) ของสภาอุจสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและ
การท่‹องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ใช้แบบสอบถาม สำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการธุรกิจทองเที่ยวดัชนีมีค่าอยู่ระหว่าง 0-200ประกาศตัวเลขทุกไตรมาส (ล่าช้า 1 เดือน)ภาคการท่องเที่ยว
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ของสภาธุรกิจตลาดทุนไทยใช้แบบสอบถาม สำรวจความคิดเห็น
ของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ดัชนีมีค่าอยู่ระหว่าง 0-200
ช่วงสัปดาห์ 3-4 ของทุกเดือน (ไม่ล่าช้า)การลงทุนภาคเอกชน
ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ
ของศูนย์วิจัยทองคำ
ใช้แบบสอบถาม สำรวจความคิดเห็น
ของผู้ค้าทองที่มีต่อราคาทองคำและเศรษฐกิจภาพรวม ดัชนีมีค่าอยู่ระหว่าง 0-200
ช่วงกลางเดือนของทุกเดือน (ไม่ล่าช้า)ตลาดทองคำ
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย
ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
ใช้แบบสอบถาม สำรวจความคิดเห็น
ของผู้ประกอบการในภาคอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้นดัชนีมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100
ประกาศตัวเลขทุกไตรมาส (ล่าช้า 1 เดือน)สาขาอสังหาริมทรัพย์

2.2 ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของต่างประเทศ

ดัชนีความเชื่อมั่นหรือความรู้สึกทางเศรษฐกิจ นิยมจัดทำในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Country) เช่น สหรัฐอเมริกา ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น เพื่อบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจในแต่ละด้านโดยทางผู้เขียนได้รวบรวมดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ในต่างประเทศ รวมถึงรายละเอียดเบื้องต้นและช่วงเวลาที่ประกาศสู่สาธารณชนเกี่ยวกับดัชนีดังกล่าว กล่าวโดยสรุป ได้ดังนี้

ตารางที่ 2 ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ในต่างประเทศ
ที่มา: รวบรวมโดยผู้เขียน

ชื่อดัชนี (หน่วยงานที่จัดทำ)รายละเอียดเบื้องต้น เกี่ยวกับดัชนีช่วงเวลาที่ประกาศการบ่งชี้ เศรษฐกิจ
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(Purchasing Manager Index: PMI) ภาคการผลิต และภาคบริการ ของหลายองค์กร เช่น
มาร์กิต สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ มหาวิทยาลัยมิชิแกน  Bloomberg เป็นต้น
ใช้แบบสอบถาม สำรวจความคิดเห็นของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในบริษัทต่างๆ เพื่อวัดการผลิตดัชนีมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100ช่วงสัปดาห์ที่ 1-2
ของทุกเดือน
(ล่าช้า 1 เดือน)
ภาคการผลิต
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) จัดทำเกือบ
ทุกประเทศ  
ใช้แบบสอบถาม สำรวจความคิดเห็น
ของประชาชนในประเทศ ส่วนใหญ่ดัชนีมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100
ช่วงสัปดาห์ที่ 1-2
ของทุกเดือน
(ล่าช้า 1 เดือน)
การบริโภคภาคเอกชน
ดัชนีความเชื่อมั่นการค้า (Trade Confidence Index: TCI)
ของหน่วยงานสินเชื่อของแคนาดา (Export Development Canada)
ใช้แบบสอบถาม สำรวจความคิดเห็น
ของผู้ส่งออกชาวแคนาดา ดัชนีมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100
ประกาศตัวเลข 2 ครั้งต่อปีภาคการส่งออก
ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเยอรมัน (Germany Zew Economic Sentiment Index) ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW)ใช้แบบสอบถาม สำรวจความคิดเห็น
ของประชาชนในประเทศเยอรมันที่มีต่อเศรษฐกิจดัชนีมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100
ช่วงสัปดาห์แรกของทุกเดือน (ล่าช้า 1 เดือน)เศรษฐกิจภาพรวม
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้าน (Housing Market Index)
ของสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐฯ
ใช้แบบสอบถาม สำรวจความเชื่อมั่นของ
ผู้สร้างบ้านในสหรัฐฯดัชนีมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100
ช่วงกลางเดือนของทุกเดือน (ไม่ล่าช้า)สาขาอสังหาริมทรัพย์
ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจขนาดย่อม (Small Business Optimism Index) ของสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐฯ (NFIB)ใช้แบบสอบถาม สำรวจความคิดเห็น
ของผู้ประกอบการของธุรกิจขนาดเล็กในสหรัฐฯดัชนีมีค่าอยู่ระหว่าง 0-200
ช่วงกลางเดือนของทุกเดือน (ไม่ล่าช้า)สถานการณ์ของ SMEs
ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในอิตาลี ของสำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (ISTAT)ใช้แบบสอบถาม สำรวจความความคิดเห็น
ของผู้ประกอบการในประเทศอิตาลีดัชนีมีค่าอยู่ระหว่าง 0-200
ช่วงสัปดาห์แรกของทุกเดือน (ล่าช้า 1 เดือน)ภาคการผลิต
ดัชนีแนวโน้มการท่องเที่ยว (Travel Trends Index)
ของ U.S. Travel Association
ใช้แบบสอบถาม สำรวจความความคิดเห็น
ของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศดัชนีมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100
ช่วงสัปดาห์แรกของทุกเดือน (ล่าช้า 2 เดือน)ภาคการท่องเที่ยว
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (State Street Investor Confidence Index) ของบริษัท State Street ในสหรัฐฯเก็บข้อมูลโดยคำนวณจากลักษณะการซื้อ-ขายของนักลงทุนดัชนีมีค่าอยู่ระหว่าง 0-200ช่วงสัปดาห์แรกของทุกเดือน (ล่าช้า 1 เดือน)ตลาดการเงิน

3. หลักการและขั้นตอนการจัดทำเครื่องมือติดตามภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคของไทย

3.1 กรอบแนวคิด

การติดตามภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค (รายจังหวัด) จำเป็นต้องได้รับข้อมูลโดยตรงจากในพื้นที่จริงเพื่อที่จะได้ทราบถึงความเคลื่อนไหวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ประกอบกับความแตกต่างของลักษณะโครงสร้างทางเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัด นำมาซึ่งการออกแบบสอบถามให้สำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานหาข้อมูลเชิงลึกภายในจังหวัดจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการในจังหวัด เช่น เกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด แรงงานจังหวัด พัฒนาการจังหวัด เป็นต้น และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเช่น ชมรมเกษตรกร กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมและการค้าในพื้นที่ เพื่อให้มีความเข้าใจถึงสภาวะที่แท้จริงของพื้นที่นั้นๆ ขณะที่การสำรวจภาวะเศรษฐกิจในเขตกรุงเทพมหานคร ได้รับการสนับสนุนข้อมูลจากหน่วยงานภายในพื้นที่ เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สำนักงานเขต เป็นต้น ข้อมูลที่ได้จากการสอบถามสามารถนำมาวิเคราะห์ได้ทั้งทางตรงจากคำถามแต่ละคำถามที่ถามไป อีกทั้งยังสามารถนำมาประมวลหมวดหมู่อีกชิ้นหนึ่งและถ่วงน้ำหนักตามจังหวัดต่างๆ เพื่อจัดทำดัชนีวัดเศรษฐกิจ 4 ด้าน ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคประชาชน ดัชนีต้นทุนผู้ประกอบการ และดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ

ภาพที่ 2 แนวคิดในการประยุกต์ข้อมูลจากแบบสอบถามเป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจภูมิภาค

3.2 ขั้นตอนสำคัญในการดำเนินการ

(1) การออกแบบแบบสอบถาม

การจัดทำแบบสอบถาม เพื่อนำข้อมูลไปจัดทำเครื่องมือในชี้วัดภาวะเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคนั้น จะต้องคำนึงความครอบคลุมในทุกมิติของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ ทางคณะผู้จัดทำ จึงได้ออกแบบคำถามภายในแบบสอบถามให้มีความละเอียดมากที่สุด บนพื้นฐานของความสะดวกของผู้ตอบแบบสอบถาม ซึ่งครอบคลุมในด้านต่างๆ ดังนี้

  • ภาคเกษตร จะพบกับคำถามเกี่ยวกับสินค้าเกษตรสำคัญในจังหวัด สถานการณ์ผลผลิต ราคาสินค้าเกษตร กำไรของเกษตรกร และการจ้างงานภาคเกษตร เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงแนวโน้มภาคเกษตรในอีก 6 เดือนข้างหน้า
  • ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ คำถามมีลักษณะมีความใกล้เคียงกับภาคเกษตร ซึ่งแตกต่างตรงมีประเด็นเรื่องผลประกอบการและรายได้ค่าจ้างของแรงงาน
  • หมวดค่าครองชีพและต้นทุนการผลิต จะพบกับคำถามเกี่ยวกับการเปรียบเทียบระดับราคาสินค้า ต้นทุนค่าจ้างแรงงาน และต้นทุนค่าวัตถุดิบอื่นๆ ภายในจังหวัด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • การจ้างงานและการลงทุนภาพรวม ลักษณะของคำถามจะต้องการเพียงแนวโน้มของการจ้างงานและการลงทุนภายในจังหวัดในอีก 6 เดือนข้างหน้า

นอกจากนี้ ในแต่ละข้อคำถาม นอกจากผู้ตอบแบบสอบถามจะต้องเลือกว่า สถานการณ์ในแต่ละด้านดังกล่าว “ดีขึ้น แย่ลง หรือเปลี่ยนแปลง” แล้วนั้น ยังจะต้องระบุสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวตามท้ายด้วย ยกตัวอย่างเช่น การจ้างงานชะลอลงอาจไม่ได้เกิดจากภาวะการชะลอตัวของผลประกอบการธุรกิจ แต่อาจเกิดจากแนวโน้มการปรับตัวทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการหันไปใช้เครื่องจักรมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งหากไม่มีคำอธิบายขยายความอาจทำให้การตีความตัวเลขเศรษฐกิจคลาดเคลื่อนได้ ดังนั้น การเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ ถือเป็นการเพิ่มมิติของการเก็บข้อมูล เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์และทำความเข้าใจสภาวะเศรษฐกิจที่ถูกต้องมากขึ้น

ภาพที่ 3 แนวคิดในการจัดทำแบบสอบถามสำนักงานคลังจังหวัด

(2) การประมวลผลข้อมูลจากแบบสอบถาม

เนื่องจากข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามมีลักษณะทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ส่งผลให้การนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายและมีความละเอียดเพิ่มขึ้น โดยผลการสำรวจแบบสอบถามครอบคลุมสถานการณ์และแนวโน้มของภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ รวมถึงหมวดค่าครองชีพและต้นทุนการผลิต ตลอดจนแนวโน้มการจ้างงานและการลงทุนภาพรวมภายในจังหวัด นำมาซึ่งการคำนวณ ดัชนีรวม (Composite Index) เพื่อชี้วัดภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค 4 ประเภท ดังนี้

(2.1) ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ เป็นดัชนีที่ชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการผลิต (Supply Side) ซึ่งคำนวณมาจากข้อมูล 3 ส่วนการผลิตที่ได้จากแบบสอบถามในแต่ละจังหวัด ได้แก่ 1) ภาคเกษตร สะท้อนจากผลผลิตสินค้าเกษตรและกำไรของเกษตรกร 2) ภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วยผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและผลประกอบการ และ 3) ภาคบริการ สะท้อนจากผลประกอบการของผู้ประกอบการ

(2.2) ดัชนีความเชื่อมั่นภาคประชาชน เป็นดัชนีที่ชี้วัดกำลังซื้อของภาคแรงงานหรือความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งคำนวณมาจากข้อมูล 3 ส่วนที่ได้จากแบบสอบถามในแต่ละจังหวัด ได้แก่ 1) ภาคเกษตร สะท้อนจากกำไรของเกษตรกรและการจ้างงานภาคเกษตร 2) ภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วยรายได้หรือค่าจ้างแรงงานและการจ้างงานภาคอุตสาหกรรม และ 3) ภาคบริการ สะท้อนจากรายได้หรือค่าจ้างแรงงานและการจ้างงานภาคบริการ ทั้งนี้ เพื่อสะท้อนถึงประโยชน์ที่ภาคแรงงานได้รับจากการพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งอาจมีความแตกต่างจากดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในข้อ 2.1

(2.3) ดัชนีต้นทุนผู้ประกอบการ เป็นดัชนีที่ชี้วัดต้นทุนของหน่วยการผลิตในด้านราคา ซึ่งคำนวณมาจากข้อมูล 2 ส่วนที่ได้จากแบบสอบถามในแต่ละจังหวัด ได้แก่ 1) ต้นทุนค่าจ้างแรงงาน และ 2) ต้นทุนค่าวัตถุดิบและอื่นๆ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ยังไม่มีหน่วยงานใดทำการสำรวจมาก่อน

(2.4) ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ เป็นดัชนีที่ชี้วัดแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้า สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งคำนวณมาจากข้อมูลส่วนของแนวโน้มใน 5 ด้านที่ได้จากแบบสอบถามในแต่ละจังหวัด ได้แก่ 1) ภาคเกษตร 2) ภาคอุตสาหกรรม 3) ภาคบริการ 4) ภาคการจ้างงาน และ 5) ภาคการลงทุน ซึ่งข้อมูลที่ได้จากดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจจะสะท้อนถึงการคาดการณ์ดัชนีข้อ 2.1 และ ข้อ 2.2 ในอนาคตล่วงหน้านั่นเอง

ภาพที่ 4 แนวคิดในการคำนวณดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจภูมิภาค 4 ประเภท

ทั้งนี้ การคำนวณดัชนีทั้ง 4 ประเภทดังกล่าว มีการคำนึงถึงการถ่วงน้ำหนัก เพราะในแต่ละภูมิภาคหรือจังหวัด มีมูลค่าหรือความสำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจในแต่ด้านๆ ที่แตกต่างกัน ซึ่งการถ่วงน้ำหนักจะใช้ข้อมูลกำลังแรงงาน (Labor Force) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในภูมิภาค (Gross Regional Product: GRP) และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) โดยการถ่วงน้ำหนักจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะของการบ่งชี้ของดัชนีแต่ละชนิด ยกตัวอย่างเช่น การคำนวณดัชนีชี้วัดกำลังซื้อภาคแรงงาน จะใช้ข้อมูลกำลังแรงงานภายในจังหวัดและภูมิภาคเป็นตัวถ่วงน้ำหนัก ขณะที่ตัวถ่วงน้ำหนักดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค จะใช้ข้อมูล GRP และ GPP ในการถ่วงน้ำหนัก เนื่องจากคำถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

ภาพที่ 5 สรุปภาพรวมของขั้นตอนการดำเนินการจัดทำเครื่องชี้วัดภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค

4. ดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค

จากการประมวลผลข้อมูลจากแบบสอบถาม นำมาซึ่งดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค 4 ประเภท ได้แก่ 1) ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ 2) ดัชนีความเชื่อมั่นภาคประชาชน 3) ดัชนีต้นทุนผู้ประกอบการ และ 4) ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ โดยดัชนีทั้ง 4 ชนิดดังกล่าว มีช่วงคะแนนอยู่ระหว่าง 0 ถึง 100 หากมากกว่า 50 ถือว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น แต่หากต่ำกว่า 50 ถือชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม มีเพียงการอ่านค่าของดัชนีต้นทุนผู้ประกอบการเท่านั้น ที่แตกต่างจากดัชนีอื่นๆ กล่าวคือ หากมากกว่า 50 แสดงว่าต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่ถ้าน้อยกว่า 50 คือต้นทุนการผลิตลดลง ทั้งนี้ การประมวลผลดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค อาจกระทำได้เป็นประจำทุกเดือนหรือเป็นรายไตรมาส ขึ้นอยู่กับความถี่ในการเก็บข้อมูล นอกจากนี้ เราสามารถนำข้อมูลเชิงปริมาณดังกล่าว มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลเชิงคุณภาพ ที่เก็บจากแบบสอบถาม ในรูปแบบของการบรรยายเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงของภาวการณ์ด้านนั้นๆ การวิเคราะห์ลักษณะนี้ จะทำให้เห็นสถานการณ์เศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาคได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น อีกทั้ง สามารถนำตัวเลขดัชนีมาเปรียบเทียบภาวะเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ได้ เพื่อประโยชน์ต่อการจัดทำนโยบายเศรษฐกิจที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายต่างๆ มากยิ่งขึ้น และดัชนีลักษณะนี้ จะเป็นเครื่องมือที่ดีของประชาชนและภาคธุรกิจไปใช้ประกอบการวางแผนธุรกิจรายภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตารางที่ 3 ตัวอย่างผลของดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจภูมิภาครายเดือน 4 ประเภท จำแนกตามภูมิภาค

กทม. และปริมณฑลภาคตะวันออกภาคตะวันออก เฉียงเหนือภาคใต้ภาคกลางภาคเหนือภาคตะวันตก
ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ63.951.990.972.476.084.870.9
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคประชาชน58.454.573.857.958.277.254.3
*ดัชนีต้นทุนผู้ประกอบการ63.554.777.177.157.771.266.1
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ70.465.183.773.574.483.975.0

การจัดทำเครื่องมือชี้วัดภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัด เป็นการสำรวจภาวะเศรษฐกิจเชิงลึกทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพเพื่อให้ทราบถึงข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดรายจังหวัดซึ่งมีความรวดเร็วกว่าเครื่องมือการติดตามเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้ง ยังให้ความสำคัญกับข้อมูลเชิงคุณภาพในระดับรายจังหวัดซึ่งหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนยังขาดแคลนข้อมูลเชิงลึกในลักษณะนี้อยู่ โดยการสำรวจดังกล่าวสามารถนำมาประมวลผลเป็นการวิเคราะห์เศรษฐกิจทั้งในเชิงกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในด้านภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ แรงซื้อจากภาคแรงงาน ราคาและต้นทุนการผลิต และแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต นำมาซึ่งดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค ได้แก่ 1) ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ 2) ดัชนีความเชื่อมั่นภาคประชาชน 3) ดัชนีต้นทุนผู้ประกอบการ และ 4) ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ โดยแต่ละดัชนีมีช่วงคะแนนอยู่ระหว่าง 0 ถึง 100 ซึ่งง่ายต่อการวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าการคิดค้นเครื่องมือติดตามภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคของไทยในครั้งนี้ เป็นแนวทางการวิเคราะห์ใหม่และสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในเชิงวิชาการและการทำความเข้าในสภาวะเศรษฐกิจได้มากกว่าการติดตามภาวะเศรษฐกิจแบบเดิม อันจะนำไปสู่การใช้ข้อมูล
เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและภาคธุรกิจในการใช้ประกอบการวางแผนธุรกิจ รวมถึงเป็นผลดีต่อการจัดทำนโยบายการคลังเชิงพื้นที่เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่มา

[1] หมายเหตุ:
ก. การอ่านค่าดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคประชาชน และดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจดัชนี > 50 หมายถึง ความเชื่อมั่นภาวการณ์ด้านนั้นๆ อยู่ในระดับ “ดีขึ้น”
ดัชนี < 50 หมายถึง ความเชื่อมั่นภาวการณ์ด้านนั้นๆ อยู่ในระดับ “ชะลอ” ดัชนี = 50 หมายถึง ความเชื่อมั่นต่อภาวการณ์ด้านนั้นๆ อยู่ในระดับ “ทรงตัว” ข. การอ่านค่า *ดัชนีต้นทุนประกอบการ ดัชนี > 50 หมายถึง ต้นทุนการผลิต “เพิ่มขึ้น” เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน
ดัชนี < 50 หมายถึง ต้นทุนการผลิต “ลดลง” เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน
ดัชนี = 50 หมายถึง ต้นทุนการผลิต “ไม่เปลี่ยนแปลง” เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน

ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ
ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เสถียรภาพเศรษฐกิจ

สัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ

นายสัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ
ไม่เคยถามว่า “ประเทศจะให้อะไรกับเรา”
มีแต่ถามว่า “เราจะทำอะไรให้กับประเทศได้บ้าง”