บทความโดย
ดร. นรพัชร์ อัศววัลลภ
ดร.กวิน เอี่ยมตระกูล
อภิญญา เจนธัญญารักษ์
ชัยวัฒน์ หาญพิทักษ์พงศ์
สัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ
บุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์
ปภัช สุจริตตานันท์
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย รวมทั้งความผันผวนของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นยังมีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไป หลังจากที่เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อตอบโจทย์ความท้าทาย 8 ประการ และเพื่อพัฒนาประเทศในระยะยาวที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ประกอบด้วย
1.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 มาจนถึงปัจจุบัน และการปฏิบัติการทางการทหารระหว่างรัสเซียและยูเครนมีแนวโน้มความยืดเยื้อและยังไม่คลี่คลาย รวมถึงการเจรจายังไม่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในระยะอันใกล้ โดยที่ผ่านมา สงครามดังกล่าวที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและโลกหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และวิกฤติอาหารโลก (Global Food Crisis) เนื่องจากเกิดกระแสชาตินิยมทางอาหาร (Food Protectionism) ในช่วงที่เกิดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้หลายประเทศเริ่มกักตุนสินค้าไว้บริโภคกันเองภายในประเทศ เพื่อรักษาสมดุลอาหารของประเทศตนเอง รวมถึงราคาอาหารที่แพงขึ้นนำไปสู่ความไม่มั่นคงด้านอาหาร ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศที่มีรายได้น้อยเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศไทย รายงาน The Food and Energy Crisis – Weathering the Storm ล่าสุดของธนาคารโลก ณ ตุลาคม 2565 ได้เปิดเผยว่า ไทยมีความมั่นคงทางอาหารอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค สะท้อนจากดุลการค้าอาหาร (Food Trade Deficit) ของไทยอยู่ที่ร้อยละ -0.6 ของ GDP ประกอบกับสัดส่วนแคลอรีรวมที่มาจากธัญพืชนำเข้า (Share of total calories that are from imported cereals) อยู่ที่ร้อยละ -21.8 แต่ไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศสูง โดยมีสัดส่วนปริมาณปุ๋ยเคมีที่นำเข้าต่อปริมาณปุ๋ยที่ใช้ทั้งหมด (Share of Nitrogen Fertilizer Imported) อยู่ที่ร้อยละ 91 สูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ทำให้ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เมื่อราคาปุ๋ยในโลกปรับตัวสูงขึ้น
ขณะที่ความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวัน ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานเกิดภาวะชะงักงัน โดยเฉพาะการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งหากเกิดสงครามเกิดขึ้นหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด จะส่งผลกระทบต่อไต้หวันอย่างรุนแรง เนื่องจากศักยภาพทางการทหารของจีนเหนือกว่าไต้หวันเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ปี 2567 จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและไต้หวัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อเหตุการณ์ ความขัดแย้งในระยะถัดไป ซึ่งจะมีความชัดเจนขึ้น ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ ประเทศไทยจึงต้องมีการปรับโครงสร้าง ได้แก่
- การดำเนินความสัมพันธ์ที่รอบคอบและรัดกุมกับทุกคู่ขัดแย้ง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ
- การแสวงหาความร่วมมือในมิติใหม่ ๆ กับมิตรประเทศ เพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเสริมสร้างความสัมพันธ์กับมิตรประเทศผู้ผลิตพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่จำเป็น เช่น การสนับสนุนการขยายการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาว การเจรจาเพื่อซื้อเชื้อเพลิงและปุ๋ยเพิ่มเติมจากซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย รวมทั้งการหารือและสร้างความเข้าใจกับฝ่ายการเมืองและผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป เพื่อป้องกันมิให้ออกมาตรการที่กระทบต่อการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากพม่า ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าที่สำคัญและมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงทางพลังงานของไทย
- การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย อาทิ การเร่งเจรจาความตกลงเพื่อคุ้มครองการลงทุน (BIT) เพื่อสร้างหลักประกันสำหรับการลงทุนระหว่างไทยกับต่างประเทศ และยกระดับความน่าเชื่อถือในการลงทุน อีกทั้งจำเป็นต้องศึกษาการใช้ประโยชน์จากแนวปฏิบัติที่ดีจากองค์กรระหว่างประเทศและ
ความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น OECD เพื่อให้ไทยรู้เท่าทันกติกาสากล และใช้ประโยชน์จากความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกัน
2.กับดักรายได้ปานกลาง
ธนาคารโลกได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง (Upper-middle Income Country) โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวในปี 2564 ที่ 7,259.5 ดอลลาร์สหรัฐ ฯ (รายได้ต่อหัวปี 2564 เท่ากับ 232,160 บาทต่อคน ณ อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 31.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ฯ) ทั้งนี้ ณ กรกฎาคม 2565 ธนาคารโลกได้จัดระดับประเทศที่มีรายได้สูง มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่ 13,205 ดอลลาร์สหรัฐ ฯ ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการที่มีศักยภาพตามแนวทางการส่งเสริม 12 อุตสาหกรรม S curve โดยมุ่งเน้นด้านการเตรียมความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการยกระดับผลิตภาพการผลิต การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ภายใต้ภูมิทัศน์ของเศรษฐกิจโลกแบบใหม่ที่จะปรับเปลี่ยนไป อาทิ
- สนับสนุนอุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์ครบวงจร ด้วยการขยายช่องทางการตลาด
ทั้งการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทย ยกระดับคุณภาพ มาตรฐานของสินค้าและบริการ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมทั้งผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) โดยมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อยกระดับการให้บริการสาธารณสุขของไทยให้ได้มาตรฐานสากล - มุ่งสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ด้วยการสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการและแรงงาน รวมถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งระเบียบ กฎหมาย โครงสร้างพื้นฐาน และอุปสงค์ของผู้บริโภคในประเทศให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า
- เน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ด้วยการเปลี่ยนแปลงแนวทางการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวทั้งระบบ ให้มุ่งเน้นที่เชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ พร้อมทั้งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของเมืองรองและท้องถิ่นที่มีศักยภาพ รวมทั้งทบทวนโครงสร้างภาคการท่องเที่ยวที่มุ่งไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ มีความเต็มใจจ่ายสูงทั้งชาวไทยและต่างชาติ ยกตัวอย่าง โครงการเกาะหมากโมเดล จังหวัดตราด เป็นต้นแบบที่ดีของการจัดการการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนโดยมีองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั้งยืน (องค์การมหาชน) ให้การสนับสนุน และสร้างตราสินค้า (Brand) ให้เกาะหมากเป็นเป้าหมายการเดินทางท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Destination) แห่งแรกของไทย ซึ่งมีมาตรฐานต่างๆ เช่น การลดกิจกรรมท่องเที่ยวที่สร้างมลพิษ และการลดการใช้พลังงานต่างๆ เป็นต้น ทำให้ในช่วงก่อนโควิด-19 พบว่าสถิตินักท่องเที่ยวแม้จะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเริ่มโครงการแต่กลับสร้างรายได้เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 50[1] นอกจากนี้ ยังบริหารการจัดการท่องเที่ยวโดยส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์จากการพัฒนาไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
- ยกระดับเกษตรมูลค่าสูง โดยเร่งปรับโครงสร้างการผลิตทางการเกษตรให้สอดคล้องกับโอกาสทางการตลาดและการเปลี่ยนแปลงรสนิยมของผู้บริโภค ทั้งที่เป็นตลาดเดิมและตลาดใหม่ โดยกำหนดยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารของโลก รวมทั้งส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าเกษตร โดยการแปรรูปที่ได้คุณภาพและมาตรฐานสากลเพื่อเชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมการเกษตร โดยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร ความปลอดภัยอาหารตามมาตรฐานสากล รวมทั้งให้มีระบบป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค ตลอดจนสนับสนุนการแปรรูปสินค้าเกษตรในชุมชน
3.ขีดความสามารถในการแข่งขัน
หน่วยงาน Institute for Management Development (IMD) ได้เผยแพร่รายงาน World Competitiveness Ranking ประจำปี 2565 ซึ่งจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยปัจจัยหลักที่ใช้ในการจัดอันดับรวม 4 ด้าน คือ 1) สมรรถนะทางเศรษฐกิจ 2) ประสิทธิภาพของภาครัฐ
3) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และ 4) โครงสร้างพื้นฐาน สำหรับผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยปี 2565 พบว่า ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 33 จากอันดับที่ 28 ในปีก่อนหน้าลดลง 5 อันดับ ซึ่งมีอันดับที่ลดลงของทุกปัจจัยที่ใช้ชี้วัด และปัจจัยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบมากที่สุด ดังนั้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในอนาคต ประเทศไทยจำเป็นต้อง
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐานเชิงระบบการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ รวมถึงการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้โครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับทิศทางการการพัฒนาประเทศในอนาคต
การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบภาครัฐ ให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ
การส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนา การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติ และแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการผลิตงานวิจัยและนวัตกรรม เป็นต้น
4.การเติบโตที่ไม่สมดุล
ประเทศไทยเติบโตอย่างไม่สมดุลทั้งในมิติของเครื่องยนต์และในมิติพื้นที่ โดยเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการเติบโตจากเครื่องยนต์ภายนอกในระดับสูง โดยในปี 2564 การส่งออกของไทยมีสัดส่วนที่ร้อยละ 67 สูงเมื่อเปรียบเทียบกับภาคการลงทุนรวมและภาคการบริโภคภาครัฐ ที่มีสัดส่วนร้อยละ 25 และร้อยละ 16 ตามลำดับ ขณะเดียวกันความเจริญทางเศรษฐกิจกระจุกตัวในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคตะวันออกในเขต EEC เท่านั้น ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องลดการพึ่งพาต่างประเทศ กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค โดยการมุ่งเน้นการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจไปยังระดับท้องถิ่น ได้แก่
- การส่งเสริมการจ้างงานโดยเฉพาะในระดับพื้นที่และชุมชน โดยมุ่งเน้นให้เกิดการจ้างงานเพื่อสร้าง รายได้ และสร้างอาชีพของประชาชน ชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ การสร้างมูลค่าเพิ่มของ ผลิตภัณฑ์ในชุมชน และผลผลิตทางการเกษตร โดยใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม
- การให้ความช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs โดยให้การส่งเสริม SMEs และ Startup ทั้งในส่วนของการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยอาศัยกลไกของตลาดเงิน ตลาดทุน และ การเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ
- การกระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจไปยังหัวเมืองหลักในภูมิภาคและเมืองรองที่มีขีดความสามารถและความพร้อม เพื่อให้การเติบโตของพื้นที่และเมืองในภูมิภาคเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงความเจริญ พร้อมรับการกระจายตัวของการพัฒนาและการเคลื่อนย้ายกำลังแรงงานกลับคืนถิ่น
5.ความยากจนเรื้อรัง/ความเหลื่อมล้ำ
แม้ว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ความยากจนทยอยปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จากในปี 2531 ที่มีคนจนจำนวน 34.1 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนคนยากจนที่ร้อยละ 65.17 ลดลงมาอยู่ที่ 4.4 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนยากที่ร้อยละ 6.32 ในปี 2564 แต่หลายจังหวัดประสบปัญหาความยากจนเรื้อรังโดยจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนต่อประชากรสูงสุดอันดับต้น ๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า ส่วนใหญ่ยังเป็นจังหวัดเดิม ๆ (เช่น ปัตตานี แม่ฮ่องสอน นราธิวาส ตาก กาฬสินธุ์ และนครพนม เป็นต้น)
นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลงในระยะยาว ไม่ว่าจะสะท้อนจากทางด้านรายได้หรือทางด้านรายจ่าย โดยเฉพาะค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคด้านรายได้ (Gini Coefficient) ที่ปรับลดลงจาก 0.487 ในปี 2531 เป็น 0.430 ในปี 2564 แต่ในระยะถัดไปประเทศไทยจำเป็นต้องมีการสร้างโอกาสและเสมอภาคทางสังคม เพื่อให้การเติบโตของประเทศเป็นการเติบโตที่ยั่งยืนโดยทุกคนได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม อาทิ
- การเสริมสร้างความแข็งแกร่งพื้นฐานให้ครัวเรือน ได้แก่ 1) การเพิ่มอัตราการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและแหล่งความรู้ ให้กับครัวเรือนทั้งในเขตเมืองและชนบทผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ทั้งด้านการศึกษาและการหารายได้ 2) การปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนในสถานศึกษา ที่ควรดำเนินการให้สอดคล้องกันในทุกพื้นที่และทุกระดับชั้น เพื่อป้องกันไม่เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ซึ่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure) น่าจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ระดับหนึ่ง รวมถึงอาจพิจารณาอุดหนุนอุปกรณ์ Hardware สำหรับการศึกษาพร้อมบริการอินเทอร์เน็ต เฉพาะกับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย[1] และ 3) การเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ เพื่อมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำอย่างทั่วถึงและตรงจุด
- การสร้างโอกาสในการหารายได้และเพิ่มความก้าวหน้าในอาชีพให้กับลูกจ้าง ได้แก่ 1) การเพิ่มโอกาสในการหางานทำ ด้วยสร้างระบบเก็บข้อมูลแรงงานและติดตามสถานะการจ้างงานไว้รองรับการหางานทำ และ 2) การสร้างแรงจูงใจหรือให้รางวัล ที่สอดคล้องกับแนวคิด Upskill/Reskill โดยนายจ้างต้องชี้ให้ลูกจ้างเห็นว่าทักษะใหม่ ๆ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานได้จริง และสนับสนุนการเรียนรู้ทักษะที่ทั้งตรงกับความต้องการขององค์กรและเป็นประโยชน์ต่อความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพของตัวลูกจ้างด้วย
6.สังคมผู้สูงอายุ
ในอีกไม่กี่ปีประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์และมีแนวโน้มประชากรลดลงตั้งแต่ปี
พ.ศ. 2571 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยมาตั้งแต่ปี 2548 (มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด) และจากการคาดการณ์ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่าว่าไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” (Complete-aged Society) ภายในปี 2566 เนื่องจาก มีประชากรสูงวัยประมาณร้อยละ 20.1 ซึ่งจะส่งผลให้ไทยกลายเป็นประเทศสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แห่งแรก ๆ ในภูมิภาค ต่อจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ในขณะเดียวกันก็คาดว่าวัยแรงงานจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อผลิตภาพ (Productivity) และความสามารถในการแข่งขันของ ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการยกระดับปรับทักษะแรงงาน ได้แก่
- การยกระดับทักษะ (Upskill) ปรับทักษะ (Reskill) และส่งเสริมการเรียนรู้ของแรงงานที่มีอยู่ โดยการยกระดับทักษะและปรับทักษะของผู้สูงอายุด้านการใช้เทคโนโลยีให้ทันกับการปรับเปลี่ยนของสังคมยุคใหม่
- การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับตลาดแรงงาน ต้องมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านแรงงานและการเรียนรู้ เพื่อสะท้อนการพัฒนาทักษะและการทำงานของแรงงานในระดับรายบุคคล และสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลในวงกว้าง
- การสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม โดยการออกแบบกลไกการสร้างแรงจูงใจให้เหมาะสมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการยกระดับปรับทักษะแรงงานให้พร้อมรับมือกับโลกในอนาคต
- การขยายขอบเขตโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม (Social Safety Net) ด้วยการช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยคนยากจน กลุ่มเปราะบาง ที่ได้รับผลกระทบ โดยคำนึงถึงระดับของปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกันของกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งผลักดันให้แรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคมมากขึ้น
- การส่งเสริมความมั่นคงทางสุขภาพ ด้วยการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เพื่อให้คนให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน
7. การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ
ในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงมากขึ้นตามการขยายตัวของเมืองและเศรษฐกิจทั่วโลก โดยการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศยังส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงซึ่งนำไปสู่สูญเสียพื้นที่ชายฝั่ง การเกิดคลื่นความร้อนและภาวะฝนทิ้งช่วงที่ถี่ขึ้น การเกิดโรคอุบัติใหม่ รวมทั้งการเกิดพายุหมุนที่บ่อยและรุนแรงขึ้น ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas) ได้แก่ การส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) และการผลิตไฟฟ้า โดยปรับเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน รวมทั้งผลักดันนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น การลดปริมาณขยะจากการผลิตเป็นศูนย์ (Zero Waste) โดยสนับสนุนการคัดแยกขยะแล้วนำมารีไซเคิลและผลิตพลังงาน และการลดการเผา (Zero Burn) เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกและ PM2.5 ตลอดจนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม เช่น การผลักดันให้้มีการใช้และผลิตสินค้าและบริการคาร์บอนต่ำ
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงผลกระทบของเรื่องดังกล่าว และนายกรัฐมนตรีได้แสดงเจตจำนงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) ในเวทีการประชุม COP 26 ที่เมือง Glasglow สหราชอาณาจักร เมื่อเดือนธันวาคม 2564
ที่ผ่านมา สำหรับกระทรวงการคลังได้ดำเนินนโยบายมุ่งเน้นขับเคลื่อนการเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) ผ่านการยกระดับบทบาทของภาครัฐในการพัฒนาสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ของตลาดทุนทั้งระบบ โดยการใช้เครื่องมือทางด้านการเงินและการคลังเพื่อวางรากฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ตามนิยามเดียวกัน เปิดเผยข้อมูลเพื่อดึงดูดการลงทุนสู่โครงการที่ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance หรือ ESG) รวมถึงหาแนวทางใหม่ ๆ ในการจัดหาแหล่งเงินทุนของภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เคยมีการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) เพื่อระดมทุนไปใช้ในโครงการเพื่อการพัฒนาทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมแล้ว ยกตัวอย่างเช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และโครงการช่วยเหลือเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นต้น
นอกจากนี้ ในกรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง APEC ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งสู่การเงินการคลังยั่งยืน (Advancing Digitalization and Achieving Sustainability)” ซึ่งที่ประชุมได้เห็นพ้องร่วมกันที่จะมุ่งสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนภายหลังการสิ้นสุดของการแพร่ระบาดของโควิด-19 และตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในอนาคต
8.ภาระทางการคลัง
ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากรายจ่ายประจำที่รัฐบาลต้องดูแล คือ รายจ่ายที่เกี่ยวกับมาตรการของภาครัฐต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังต้องดูแลสวัสดิการต่าง ๆ รวมทั้งรายจ่ายจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้รัฐบาลมีภาระรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่เพียงพอกับรายได้ที่จัดเก็บได้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องบริหารจัดการด้านการคลัง ได้แก่ 1) แผนการจัดเก็บรายได้รัฐบาล ให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีของสากล เน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การนำดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ ซึ่งต้องรอบรับเศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งส่งเสริมการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม และ 2) การปฏิรูประบบการออม เพื่อรองรับการเกษียณอายุ การส่งเสริมความรู้ทางด้านการเงินให้กับภาคครัวเรือน รวมถึงการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการออม
แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลจำเป็นต้องใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินนโยบายเพื่อบรรเทาผลกระทบของโรคโควิด-19 ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการบริหารจัดการสภาพคล่องของรัฐบาล และส่งผลต่อระดับหนี้สาธารณะจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะยาวเมื่อภาวะเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติและสามารถขยายตัวได้เต็มศักยภาพแล้ว นำไปสู่ภาคการคลังที่มีความเข้มแข็ง เป้าหมายการคลังในระยะยาวจึงมีการกำหนดให้รัฐบาลปรับลดขนาดการขาดดุลลง (Normalization) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการคลังทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยา โดยเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ทั้งในด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะ ควบคู่ไปกับการรักษาวินัยทางการคลัง ตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2566 – 2569) ด้วยหลัก CARE ประกอบด้วย (1) Creating Fiscal Space หรือการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังอย่างระมัดระวัง (2) Assuring Debt Sustainability หรือ การบริหารจัดการหนี้อย่างมีภูมิคุ้มกัน (3) Revenue Recovering หรือ การฟื้นฟูการจัดเก็บรายได้ และ (4) Expenditure Reprioritizing หรือ การปรับการจัดสรรงบประมาณ
ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง การดำเนินนโยบายการคลังควรเน้นนโยบายที่ตรงจุดและเน้นการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐาน 4T ได้แก่
- เป้าหมายชัดเจน (Targeted) ตรงเป้าและตรงจุดกลุ่มเป้าหมาย
- เป็นมาตรการชั่วคราว (Temporary) ที่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา
- โปร่งใส (Transparent) ตรวจสอบได้ และเป็นมาตรการที่มีช่องว่างให้ทุจริตได้น้อย
- เหมาะกับเวลา (Timely) โดยเฉพาะช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ มาตรการเยียวยาที่ช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่รวดเร็วและตรงจุด จะมีส่วนสำคัญในฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไป
กล่าวโดยสรุป ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว นโยบายการคลังจะทำหน้าที่สนับสนุนการดูแลเศรษฐกิจ เพื่อรักษาเสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลัง ควบคู่กับการรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้เหมาะสม รวมถึงดูแลบรรเทาผลกระทบต่อภาระการดำรงชีพของประชาชนแบบเฉพาะกลุ่ม อาทิ การให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจดูแลกลุ่มลูกหนี้เฉพาะกลุ่ม มาตรการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย มาตรการดูแลราคาสินค้าที่จำเป็นรวมถึงราคาพลังงาน และพร้อมจะดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอื่น ๆ ที่จำเป็น ขณะที่นโยบายการเงินมีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน
อย่างไรก็ดี ในระยะถัดไป ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ (Resilience) ด้วยการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเน้นการลงทุนด้านดิจิทัล การปรับโครงสร้างแรงงาน การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยังยืน การเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรและมูลค่าสินค้าเกษตร รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถดูแลบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้ด้วยตนเอง เพื่อรองรับความผันผวนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่การที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างอย่างสมดุลและยั่งยืนได้ จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือร่วมใจของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในการเดินหน้ายกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจไปพร้อมกัน
ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ
ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมข้อมูลเศรษฐกิจและงานวิจัย
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน
ดร.กวิน เอี่ยมตระกูล
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน
นางสาวอภิญญา เจนธัญญารักษ์
——-
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน
นายชัยวัฒน์ หาญพิทักษ์พงศ์
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน
นายสัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน
นางสาวบุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน
นางสาวปภัช สุจิตรตนันท์
—–
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน