บทความโดย
ดร. นรพัชร์ อัศววัลลภ
ดร. กวิน เอี่ยมตระกูล
สัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ
บุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์
ปภัช สุจิตรัตนันท์
1. ความเดิมตอนที่แล้ว
จากบทความความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของพื้นที่ EEC ตอนที่ 1 คณะผู้เขียนได้วิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำ รวมถึงการกระจายรายได้ของพื้นที่ EEC โดยแม้ว่าในปี 2563 พื้นที่ EEC จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้เศรษฐกิจ EEC หดตัวร้อยละ -7.0 ต่อปี แต่ยังมีสาขาเศรษฐกิจบางสาขาที่ยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร และสาขาประปาและการกำจัดของเสีย อย่างไรก็ดี คาดว่าเศรษฐกิจ EEC จะทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้สำนักงานคณะกรรมการ
นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจ EEC ในปี 2566 จะขยายตัวได้ร้อยละ 4.5 ต่อปี นอกจากนี้ในส่วนของการวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำและการกระจายรายได้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในประเทศไทยล่าสุด ปี 2564 แสดงให้เห็นว่า ครัวเรือนใน EEC มีการพึ่งพารายได้ของตนเอง การใช้จ่ายและการถือครองสินทรัพย์ที่เท่าเทียม และภาระการชำระหนี้ที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของพื้นที่ EEC ตอนที่แล้วนั้น ทำให้พบว่า เศรษฐกิจ EEC มีความเข็มแข็ง จึงทำให้ EEC เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเป็นต้นแบบในการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมแรงจูงใจเพื่อดึงดูดการลงทุน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากรมนุษย์หรือโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนนั้น การที่ภาครัฐมีเครื่องมือในการช่วยวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงพื้นที่จะช่วยให้การพัฒนาและการแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพมากขึ้น ในบทความความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของพื้นที่ EEC ตอนที่ 2 นี้ คณะผู้เขียนจะขอนำเสนอการประยุกต์ใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในการวิเคราะห์ความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้พัฒนาดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ (Spatial Economic Fundamental Index: SEFI) ขึ้นมา เพื่อบ่งชี้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของพื้นที่ต่าง ๆ โดยบ่งชี้ได้ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วยดัชนีชี้วัด 88 ตัว แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่
1)โครงสร้างพื้นฐาน 2) การศึกษา 3) สาธารณสุข 4) กำลังซื้อ 5) ปัญหาของทรัพยากรมนุษย์ และ 6) สิ่งแวดล้อม โดยดัชนี SEFI นี้จะสามารถทำให้เห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละบุคคล ครัวเรือน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดในหลากหลายมิติ เพื่อเป็นประโยชน์กับภาครัฐในการออกแบบนโยบายแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
2. กรอบแนวคิดและหลักการในการจัดทำดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ (Spatial Economic Fundamental Index: SEFI)
การวิเคราะห์ความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ จะอาศัยการคำนวณดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ (Spatial Economic Fundamentals Index: SEFI) ระดับรายบุคคล โดยข้อมูลตัวชี้วัดทั้ง 88 รายการ ถูกจัดกลุ่มเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน สะท้อนจากเครื่องชี้ 12 รายการ อาทิ ความสว่างของแสงกลางต่อพื้นที่ ความยาวถนนต่อพื้นที่ จำนวนจุดสนใจต่อพื้นที่ จำนวนคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตต่อประชากร จำนวนเลขหมายโทรศัพท์มือถือต่อประชากร จำนวนตลาดสดน่าซื้อ การมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เป็นต้น แสดงถึงการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจ
กลุ่มสาธารณสุข สะท้อนจากเครื่องชี้ 18 รายการ อาทิ จำนวนเตียงในสถานพยาบาลต่อประชากร จำนวนแพทย์ต่อประชากรในจังหวัด คะแนนสุขภาพจิต ความพิการของร่างกาย จำนวนผู้ป่วยเรื้อรังในครัวเรือน การมีน้ำสะอาดสำหรับดื่มและบริโภคเพียงพอ เป็นต้น แสดงถึงสภาวะสุขภาพของบุคคล สภาพความเป็นอยู่ด้านสาธารณสุขของครัวเรือน และความสามารถของระบบการสาธารณสุขในการรองรับและให้บริการของพื้นที่
ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพแรงงานในการผลิตของแต่ละพื้นที่
กลุ่มการศึกษา สะท้อนจากเครื่องชี้ 15 รายการ อาทิ ระดับการศึกษา ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ จำนวนโรงเรียนต่อพื้นที่ สัดส่วนนักเรียนยากจน ค่าเฉลี่ยระดับสติปัญญา (IQ) คะแนน O-net (ผลรวมของคะแนนทดสอบ 5 วิชาของระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยเฉลี่ยของผู้เข้าสอบ ทักษะการเงิน เป็นต้น แสดงถึงระดับการศึกษาของบุคคล รวมทั้งการพัฒนาทุนมนุษย์ในแต่ละพื้นที่
กลุ่มกำลังซื้อ สะท้อนจากเครื่องชี้ 11 รายการ อาทิ อัตราการว่างงาน ระดับรายได้ ค่าใช้จ่าย จำนวนเงินออม จำนวนหนี้นอกระบบ ความหลายหลายของการประกอบอาชีพ แสดงถึงกำลังซื้อ (Purchasing Power) ของประชาชนรายบุคคลในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานหนึ่งที่ช่วยดึงดูดการค้าและการลงทุนซึ่งนำไปสู่ความเป็นเมือง (Urbanization) และผลกระทบภายนอกเชิงบวก (Positive Spillover) ที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตขึ้น
กลุ่มความท้าทายทางทรัพยากรมนุษย์สะท้อนจากเครื่องชี้ 21 รายการ อาทิ ความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่ อัตราการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ อัตราการฆ่าตัวตายและทำร้ายตนเอง จำนวนเรื่องร้องเรียนจากประชาชนผ่านศูนย์บริการประชาชน จำนวนคดีในศาลปกครอง การแจ้งความคดีชีวิต ร่างกาย เพศและคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์รวมในจังหวัด แสดงถึงปัจจัยที่บั่นทอนความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจส่งผลต่อการสูญเสียปัจจัยการผลิตในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในด้านชีวิตและทรัพย์สินซึ่งเป็นประโยชน์ต่อออกแบบนโยบายรับมือและป้องกันความสูญเสียต่าง ๆ
กลุ่มสิ่งแวดล้อม สะท้อนจากเครื่องชี้ 11 รายการ อาทิ ความหนาแน่นของไนโตรเจนไดออกไซด์ การจัดการขยะมูลฝอยชุมชน การป้องกันอุบัติภัยและภัยธรรมชาติอย่างถูกวิธี ปัญหามลพิษที่ได้รับการร้องเรียน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก อัตราการผลิตติดตั้งไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ขนาดพื้นที่ป่า การไม่ถูกรบกวนจากมลพิษ เป็นต้น แสดงถึงถึงความบกพร่องของการบริหารจัดการทรัพยากรซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอันจะนำมาสู่ปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
3. ข้อมูลที่ใช้ในการประมวลผลดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ (Spatial Economic Fundamentals Index: SEFI)
เพื่อจะสามารถเปรียบเทียบการพัฒนา และปัญหาขั้นพื้นฐานในมิติต่าง ๆ ทั้งในเชิงบุคคลและพื้นที่ EEC ข้อมูลที่นำมาใช้ในการจัดทำดัชนีจึงลึกถึงระดับบุคคล ครัวเรือน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด รวมเกือบ 100 รายการ ประกอบด้วย ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ในปี 2564 ซึ่งครอบคลุมประชากรคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 54.4 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ โดยเลือกลักษณะส่วนบุคคล และครัวเรือนในประเด็นสำคัญ เช่น ที่อยู่อาศัย การอุปโภค บริโภค สาธารณะสุข การศึกษาและฐานะทางการเงิน เป็นต้น รวมทั้งสิ้น 31 ตัวชี้วัดข้อมูลภาพถ่ายทางดาวเทียม ในปี 2565 จากหลายแหล่งข้อมูล ในประเด็นความสว่างของแสงกลางคืน จำนวนจุดสนใจ ความยาวของถนน และความหนาแน่นของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งสิ้น 4 ตัวชี้วัด ข้อมูลปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจต่าง ๆ จากทั้งภาครัฐและเอกชน ในประเด็นต่าง ๆ เช่น การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ทักษะทางการเงิน และอัตราการว่างงาน เป็นต้น รวมทั้งสิ้น 53 ตัวชี้วัด ข้อมูลผู้ได้รับสิทธิและผู้ประกอบการในโครงการภาครัฐของกระทรวงการคลัง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 71.0 ของประชากรทั้งประเทศ เช่น โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 และ 2561 โครงการเราไม่ทิ้งกัน โครงการคนละครึ่งระยะที่ 1 2 และ 3 และโครงการเราชนะ เป็นต้น
4. ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของพื้นที่ EEC
จากการประมวลผลของข้อมูลดัชนี SEFI แสดงให้เห็นว่า ภาพรวม SEFI ของทั้งประเทศ อยู่ที่ -0.007 โดยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อยู่ในเกณฑ์ดี 3 อับดับแรก ได้แก่ 1) การได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย (เรื่องร้องเรียนได้รับข้อยุติ) 2) ระดับการศึกษา และ 3) ความหลากหลายทางการประกอบอาชีพสูง ส่วนด้านสุขภาพจิต การเข้าถึงถนนสายหลัก (หมู่บ้านที่ถนนสายหลักเข้าถึงได้ตลอดปี) และการมีประกันภัยอุบัติเหตุ ยังเป็นประเด็นที่ต้องปรับปรุง ในขณะที่หากพิจารณา SEFI ของพื้นที่ EEC อยู่ที่ 0.177 โดยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อยู่ในเกณฑ์ดี 3 อับดับแรก ได้แก่ 1) การมีประกันสังคมชองแรงงาน 2) สัดส่วนแรงงานนอกระบบ และ 3) ความไม่เสมอภาคของรายได้ (Gini coefficient) ต่ำ ส่วนด้านปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง อัตราการจดทะเบียนอย่า และสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยังเป็นประเด็นที่ต้องปรับปรุง สะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่ EEC มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี เมื่อเทียบกับภาพรวมของทั้งประเทศ โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณสุข การศึกษา และกำลังซื้อทางเศรษฐกิจ แต่ด้านความท้าทายทางทรัพยากรมนุษย์และการจัดการสิ่งแวดล้อมยังคงมีปัญหา และจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไข เพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนในพื้นที่ EEC รายละเอียดดังตารางที่ 1
มิติเชิงพื้นที่ในมุมมองระดับจังหวัด
ทั้งนี้ หากพิจารณาเชิงพื้นที่ในมุมมองระดับจังหวัด จังหวัดชลบุรีเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงที่สุดใน EEC สะท้อนจาก SEFI ของจังหวัดชลบุรี ซึ่งอยู่ที่ 0.231 และสูงเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศ รองลงมา คือ จังหวัดระยองโดยมี SEFI อยู่ที่ 0.157 ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 10 ของประเทศ ขณะที่ จังหวัดฉะเชิงเทรา มี SEFI อยู่ที่ 0.137 สูงเป็นอับดับที่ 12 ของประเทศ ทั้งนี้ จากข้อมูล SEFI แสดงให้เห็นว่าจังหวัดชลบุรีมีความโดดเด่นกว่าทั้งสองจังหวัดในพื้นที่ EEC ใน ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต การมีโทรศัพท์มือถือ และความสว่างต่อพื้นที่ ด้านการศึกษา เช่น อัตราการเช้าเรียนระดับมัธยมศึกษา ระดับการศึกษา และคะแนนสอบ O-NET และด้านสุขภาพ เช่น อัตราการป่วยสุขภาพจิต อัตราเตียงต่อประชากร และจำนวนบุคลากรทางกาแพทย์ ขณะที่จังหวัดฉะเชิงเทราโดดเด่นกว่าทั้งสองจังหวัดในด้านกำลังซื้อ เช่น หนี้สินเพื่อการอุปโภคของครัวเรือนต่ำ อัตราการว่างงานต่ำ และความหลากหลายทางการประกอบอาชีพสูง
มิติเชิงพื้นที่ระดับอำเภอ
ในมุมองของมิติเชิงพื้นที่ระดับอำเภอ ดัชนี SEFI แสดงให้เห็นว่า อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี มีความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมากที่สุดในพื้นที่ EEC เนื่องจากเป็นตั้งที่ของนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร และเป็นอำเภอแห่งการศึกษา อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยบูรพา และโรงเรียนกว่า 95 แห่ง รองลงมาคือ อำเภอเกาะสีชัง อำเภอพานทอง อำเภอสัตหีบ และ อำเภอศรีราชา ตามลำดับ ซึ่งล้วนเป็นอำเภอแห่งอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง ส่วนอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา มีความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจน้อยที่สุดในพื้นที่ EEC ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเป็นแหล่งลักลอบทิ้งของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม และมีปัญหาด้านการจัดการขยะ
ตารางที่ 1 ดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ EEC แยกตามกลุ่มปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
ภาพรวม | โครงสร้างพื้นฐาน | สุขภาพ | การศึกษา | กำลังซื้อ | ความท้าทายทาง HR | สิ่งแวดล้อม | |
ประเทศ | -0.007 | -0.064 | -0.024 | 0.037 | 0.004 | 0.031 | -0.005 |
EEC | 0.177 | 0.417 | 0.066 | 0.433 | 0.19 | 0.002 | -0.444 |
ชลบุรี | 0.231 | 0.627 | 0.131 | 0.557 | 0.155 | -0.04 | -0.590 |
ระยอง | 0.157 | 0.285 | 0.108 | 0.473 | 0.149 | -0.072 | -0.384 |
ฉะเชิงเทรา | 0.137 | 0.297 | -0.025 | 0.286 | 0.25 | 0.093 | -0.339 |
ที่มา: รวบรวมและประมวลผลโดยคณะผู้เขียน
(ดัชนีที่สูงกว่า แสดงถึงความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า)
มิติลักษณะบุคคล
กลุ่มอายุ ประชากรกลุ่ม GenY (24-39 ปี) มีความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมากที่สุดในพื้นที่ EEC สะท้อนจาก SEFI ที่อยู่ที่ 0.20 รองลงมาคือ กลุ่ม GenZ (8-23 ปี) Baby Bloomer (56-74 ปี) GenX (40-55 ปี) และ Builder (75 ปีขึ้นไป) ตามลำดับ
การศึกษา ประชากรผู้ที่สำเร็จการศึกษาสูงกว่าระดับ ป.ตรี ขึ้นไป มีความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมากที่สุดเมื่อเทียบกับระดับการศึกษาอื่น โดยมี SEFI อยู่ที่ 0.29 ขณะที่ระดับการศึกษาที่ต่ำลงมามีความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจลดลงตามลำดับ สะท้อนว่า SEFI บ่งชี้ศักยภาพตามระดับการศึกษาของแต่ละบุคคล
เพศและอาชีพ ประชากรชายมีความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจสูงกว่าหญิง ขณะที่ผู้ที่ประกอบอาชีพภาคนอกการเกษตรมี SEFI สูงกว่าภาคเกษตร สะท้อนศักยภาพทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า (รายละเอียดดังรูปที่ 1)
รูปที่ 1 ดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ EEC จำแนกตามลักษณะบุคคล
5. บทสรุป
จากการวิเคราะห์ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในพื้นที่ EEC ผ่านดัชนีปัจจัยพื้นทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ (Spatial Economic Fundamental Index: SEFI) ซึ่งบ่งชี้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของพื้นที่ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ไปจนถึงภูมิภาคนั้น แสดงให้เห็นว่า 3 จังหวัดในพื้นที่ EEC เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง นำโดย จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดฉะเชิงเทรา ตามลำดับ โดยในพื้นที่ EEC มีโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณสุข การศึกษา และกำลังซื้อทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง แต่ยังมีปัญหาการจัดการสิ่งแวดล้อม และความท้าทายทางทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้น หากภาครัฐต้องการที่ผลักดันพื้นที่ EEC ให้เป็นต้นแบบการพัฒนาเชิงพื้นที่ ดัชนี SEFI ที่พัฒนาขึ้นนี้จึงเป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายการคลังที่มีเป้าหมายเฉพาะเจาะจง (Targeted Policy) และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนเชิงพื้นที่เพื่อประโยชน์ในการจัดทำข้อเสนอแนะในการพัฒนาเชิงพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดจุดแข็ง และการแก้ไขจุดอ่อนของพื้นที่ เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการนำไปใช้ในการประเมินการดำเนินมาตรการการเงิน/การคลัง เพื่อประเมินว่าประชาชนในพื้นที่ที่มีระดับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันได้รับประโยชน์จากมาตรการของรัฐอย่างเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร
เอกสารอ้างอิง
[1] สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) รายงานเศรษฐกิจ EEC รายไตรมาส https://eeco.or.th/th/quarterly-economic-report/595
[2] ทั้งนี้ ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถอ่านได้จากบทความดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ (Spatial Economic Fundamentals Index, SEFI : การบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ด้วย Big Data Analysis http://www.fpojournal.com/sefi/)
ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ
ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมข้อมูลเศรษฐกิจและงานวิจัย
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน
ดร.กวิน เอี่ยมตระกูล
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน
นายสัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน
นางสาวบุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน
นางสาวปภัช สุจิตรตนนท์
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน