บทความโดย
นายศุภชาติ คล่องเชิงสาร
ความเหลื่อมล้ำทางการพัฒนาคืออะไร
แต่ละประเทศในโลกมีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีความไม่สมดุลอย่างชัดเจน ความเหลื่อมล้ำทางการพัฒนาสะท้อนได้จากตัวชี้วัดหลายประการ เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) รายได้ประชาชาติ (Gross National Income: GNI) ความหนาแน่นของประชากร การขยายตัวของเมือง การกระจายรายได้ โครงสร้างพื้นฐานในประเทศ ระดับการศึกษา การเข้าถึงไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภค คุณภาพชีวิต เป็นต้น การที่แต่ละประเทศมีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันก็เปรียบเสมือนรถยนต์ที่มีคุณภาพเครื่องยนต์แตกต่างกัน ประเทศที่พัฒนาแล้วก็เปรียบเสมือนรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์คุณภาพสูง ทำให้สามารถที่จะขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ในขณะที่ประเทศด้อยพัฒนาและมีรายได้น้อยก็เปรียบเสมือนเครื่องยนต์ที่มีกำลังน้อย และมักมีข้อจำกัดในการขับเคลื่อน ส่งผลให้การเดินทางไล่ตามประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ทัน เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศและประชากรโลก
ทั่วโลก | ประเทศรายได้สูง | ประเทศรายได้ปานกลาง | ประเทศรายได้ต่ำ | |
GDP ต่อหัว (ดอลลาร์สหรัฐ) | 11,347.3 | 45,240.6 | 5,401.5 | 674.4 |
รายได้ประชาชาติสุทธิต่อหัว (ค่าคงที่ของเงินดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2015) | 10,842 | 42,829.8 | 5,235.7 | 731.4 |
การเข้าถึงไฟฟ้า (%ของประชากร) | 89.4 | 100 | 92.7 | 39.8 |
การเข้าถึงเชื้อเพลิงสะอาด และเทคโนโลยีในการประกอบอาหาร (%ของประชากร) | 65.1 | 100 | 63.4 | 13.9 |
สาขาธนาคารพาณิชย์ (ต่อผู้ใหญ่ 1 แสนคน) | 11.5 | 20.1 | 11.4 | 2.8 |
ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อหัว (ดอลลาร์สหรัฐ) | 1,103.4 | 5,628.8 | 283.9 | 34.7 |
ตารางข้างต้นแสดงให้เห็นถึงข้อมูลตัวชี้วัดของธนาคารโลกที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ในปี 2561 จำแนกตามระดับรายได้ของประเทศ จะเห็นได้ว่าประเทศที่มีระดับรายได้สูงหรือประเทศที่พัฒนาแล้วมีความแตกต่างกับประเทศรายได้ปานกลางเป็นอย่างมาก และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศรายได้ต่ำหรือประเทศด้อยพัฒนาแล้ว จะพบว่าช่องว่างยิ่งห่างขึ้นไปอีก โดยหากประเทศต่าง ๆ ไม่ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมดังกล่าว อนาคตข้างหน้าช่องว่างเหล่านี้ก็จะยิ่งขยายออกกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ประเทศที่ร่ำรวยและมีรายได้สูงก็จะมาพร้อมกับโอกาสและความก้าวหน้า รวมถึงความสามารถในการดึงดูดและใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติหรือทรัพยากรมนุษย์ และหากปล่อยให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้เรื้อรังต่อไป ในท้ายที่สุดแล้วประเทศด้อยพัฒนาเหล่านี้ก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นประชากรของประเทศด้อยพัฒนาเหล่านี้
โควิด-19 ยิ่งซ้ำเติมปัญหา
Amina Mohammed รองเลขาธิการแห่งองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ได้กล่าวว่า “การระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งได้แพร่กระจายไปทั่วโลกทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ได้เปิดเผยให้เห็นถึงความอ่อนแอและความไม่เท่าเทียมกันในสังคมของเรา” ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ชัดเจน ในการบรรยายถึงความรุนแรงของวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้ โดยโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโลกในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านสาธารณสุข ด้านมนุษยธรรม และด้านการพัฒนา ซึ่งส่งผลให้ความไม่เท่าเทียมกันของโลกขยายออกกว้างขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วเราจะเห็นถึงการเสียชีวิตของกลุ่มคนชายขอบที่พุ่งสูงขึ้น และในประเทศกำลังพัฒนาประชาชนในกลุ่มเปราะบางเองก็อยู่ในภาวะวิกฤติ ยิ่งเมื่อมองในภาพที่แคบลง ความเหลื่อมล้ำภายในประเทศเองก็ทวีความรุนแรงขึ้น คนที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าและมีรายได้น้อยกว่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าคนที่ร่ำรวย และมีการศึกษาสูง เราจะเห็นได้ว่าการผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ จำเป็นต้องเกิดจากความร่วมมือกันในหลายภาคส่วน ทั้งภายในประเทศเองก็ต้องมีความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ส่วนในระดับโลกไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศด้อยพัฒนา ก็จำเป็นที่จะต้องมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปได้อย่างมั่นคงและไม่มีประเทศไหนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
การเข้าถึงโอกาส แหล่งเงินทุน และองค์ความรู้ คือทางออก
การพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรจำเป็นที่จะต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล ทุนหรือเงินตราที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง การจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือแม้แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ต่างก็จำเป็นต้องมีทุนทั้งสิ้น หากไม่มีเงินทุนแล้วต่อให้มีนโยบายที่ดีแค่ไหนหรือมีวิสัยทัศน์ที่กว้างขวางเพียงใด การจะลงมือทำอะไรให้สำเร็จก็คงจะไม่ง่ายดายนัก ประเทศที่กำลังพัฒนาหรือประเทศด้อยพัฒนาจำนวนมากมักจะติดปัญหาที่เกี่ยวกับเงินทุน เมื่อประชาชนในประเทศขาดการศึกษา ก็ส่งผลให้ประชากรไม่มีคุณภาพ ค่าจ้างแรงงานต่ำ การบริโภคในประเทศน้อย รัฐบาลเองก็เก็บเงินภาษีไม่ได้มาก ส่งผลให้ไม่มีเงินทุนหรืองบประมาณในการพัฒนาประเทศที่เพียงพอ วนเวียนกันเป็นวัฏจักรเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ส่งผลให้สุดท้ายแล้วประเทศด้อยพัฒนาเหล่านี้ก็ไม่อาจที่จะก้าวพ้น “กับดัก” นี้ไปได้ จากปัญหาในข้างต้น การจะยกระดับประเทศด้อยพัฒนาจากภายในด้วยตนเองนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ความช่วยเหลือและการส่งเสริมจาก “ภายนอก” จึงมีความจำเป็น และ “องค์การระหว่างประเทศ” เองก็เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องนี้
องค์การระหว่างประเทศมีบทบาทอย่างมากในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ โดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้การลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลัก 17 ประการของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งตั้งเป้าที่จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2573 เมื่อมองในภาพกว้างประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาเมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วอยู่พอสมควร โดยข้อมูลจากธนาคารโลกในปี 2565 ประเทศที่พัฒนาแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 80 ประเทศ ประเทศกำลังพัฒนามีจำนวน 110 ประเทศ และประเทศด้อยพัฒนามีจำนวน 27 ประเทศ การช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาให้มีรายได้และยกระดับขึ้นไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีส่วนช่วยให้ความเหลื่อมล้ำของโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้จำเป็นต้องมีการพัฒนาในหลากหลายมิติ ทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม ในขณะที่การมอบเงินช่วยเหลือหรือการมอบสิ่งของอาจเป็นเพียงการช่วยเหลือในระยะสั้น ๆ ซึ่งเมื่อเงินช่วยเหลือหรือสิ่งของเหล่านี้หมดลง ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถที่จะหลุดพ้นจากกับดักความเหลื่อมล้ำได้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การขยายการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการมอบองค์ความรู้ จึงเป็นสิ่งที่จะสามารถเติมเต็มการบรรลุเป้าหมายในส่วนนี้ได้
กลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) จัดตั้งขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีวัตถุประสงค์แรกเริ่ม คือการช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ได้รับความเสียหายจากสงคราม โดยให้สมาชิกกู้ยืมเงินไปเพื่อบูรณะซ่อมแซมและพัฒนาประเทศ ต่อมาได้ขยายขอบเขตการบริการออกเป็นการสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มผลผลิตให้กับประเทศกำลังพัฒนา การให้บริการด้านความรู้และเชิงวิชาการและการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการวางแผนด้านการลงทุนและการบริหารการเงินเพื่อยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศสมาชิกซึ่งกลุ่มธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ได้มีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน โดยกลุ่มธนาคารโลกจะให้ทุนและความรู้แก่ประเทศสมาชิกเพื่อสนับสนุนการลดความยากจนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่วน IMF จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกเพื่อแก้ปัญหาดุลการชำระเงิน
ในเวลาต่อมานานาประเทศก็ได้ร่วมกันก่อตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศขึ้นมาหลายแห่ง ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาประเทศหรือเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะ ทั้งในระดับความร่วมมือเพียงไม่กี่ประเทศ และในระดับภูมิภาคซึ่งประกอบด้วยความร่วมมือจากหลายประเทศ โดยในประเทศไทยจะเรียกธนาคารเหล่านี้ว่า “ธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคี”
ธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคีคืออะไร
ธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคี (Multilateral Development Banks: MDBs)เป็นสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาในแต่ละภูมิภาคที่แตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน อดีตประเทศภายใต้สหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออก (Eastern Bloc) แอฟริกา และเอเชีย
ธนาคารจะมีธุรกรรมทางการเงินโดยการให้เปล่า (Grants) หรือปล่อยกู้ (Loans) ให้กับประเทศสมาชิก
เพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม การให้ความช่วยเหลือทางด้านงานวิจัยและการให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคในการจัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศของตนเองและเชื่อมโยงความเจริญอย่างสมดุลและเท่าเทียมกันระหว่างประเทศสมาชิกในภูมิภาคโดยเงินทุนในการดำเนินกิจการของธนาคารส่วนใหญ่จะเกิดจากการลงเงินของประเทศสมาชิกผ่านการซื้อหุ้น
จากธนาคาร การออกพันธบัตรของธนาคาร และการลงทุนของธนาคารเอง โดยจำนวนหุ้นที่สมาชิกมีก็จะแสดงถึงสิทธิ
ในการออกเสียงของแต่ละประเทศสมาชิกเกี่ยวกับการดำเนินการของธนาคารนั้น ๆ
ปัจจุบัน MDBs เรียงลำดับได้ตามขนาดของสินทรัพย์จากขนาดใหญ่ที่สุด ได้แก่ 1) กลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) 2) ธนาคารเพื่อการลงทุนของยุโรป (European Investment Bank: EIB) 3) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) 4) ธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างอเมริกา (Inter-American Development Bank: IDB) 5) ธนาคารยุโรปเพื่อการบูรณะและพัฒนา (European Bank for Reconstruction and Development: EBRD) 6) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแอฟริกา (African Development Bank Group: AfDB) 7) ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) 8) ธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลาม (Islamic Development Bank: IsDB) 9) ธนาคารกลางอเมริกาเพื่อการบูรณาการทางเศรษฐกิจ (Central America Bank for Economic Integration: CABEI) 10) ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank: NDB) โดยประเทศไทยเป็นสมาชิกของ MDBs ได้แก่ กลุ่มธนาคารโลก ADB และ AIIB
MDBs มีกลไกในการช่วยเหลืออย่างไร
ในการดำเนินการของ MDBs จะมีเครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิก ดังนี้ 1) ธนาคารจะปล่อยกู้ให้กับประเทศสมาชิกโดยคิดอัตราดอกเบี้ยตามปกติ 2) การปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือไม่มีดอกเบี้ย 3) การมอบเงินแบบให้เปล่า (Grants) และ 4) การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ (Technical Assistance: TA) สำหรับประเทศสมาชิกที่มีระดับการพัฒนาน้อยและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยตามปกติที่ธนาคารเสนอนั้นยังคงเป็นภาระทางการเงินที่สูงเกินไปสำหรับประเทศด้อยพัฒนาเหล่านี้ MDBs จึงได้มีกลไกทางการเงินเพื่อช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนาเหล่านี้ ได้แก่ สมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ (International Development Association: IDA) ของกลุ่มธนาคารโลก และกองทุนพัฒนาเอเชีย (Asian Development Fund: ADF) ภายใต้ ADB
IDA
ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2503 มีวัตถุประสงค์ในการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนที่สุด จำนวน 74 ประเทศ ซึ่งไม่มีศักยภาพที่จะกู้เงินภายใต้เงื่อนไขของธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการ (International Bank for Reconstruction and Development: IBRD) โดย IDA จะมีการให้เงินทุนในรูปแบบเงินให้เปล่าและการปล่อยกู้โดยไม่มีดอกเบี้ยแต่จะเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 0.75 ของจำนวนเงินกู้ มีระยะเวลาผ่อนชำระ 25 – 40 ปี มีระยะเวลาปลอดหนี้ (Grace Period) 5 – 10 ปี รวมถึงมีการให้คำปรึกษาเพื่อบรรเทาปัญหาความยากจน พัฒนาการบริการพื้นฐาน เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและทำให้เกิดการเจริญเติบโตแบบยั่งยืน เงินทุนของ IDA จะมาจากการบริจาคของประเทศสมาชิก โดยประเทศไทยเป็นสมาชิกของ IDA และมีอำนาจการออกเสียงใน IDA ร้อยละ 0.34 ทั้งนี้ IDA จะมีการระดมทุนจากประเทศสมาชิกทุก ๆ 3 ปี โดยปัจจุบัน IDA อยู่ระหว่างการดำเนินการระดมทุนสำหรับ IDA ครั้งที่ 20 (IDA20)
ADF
ADF เป็นกองทุนพิเศษ (Special Fund) ที่มีขนาดใหญ่และเก่าแก่ที่สุดภายใต้การบริหารงานของ ADB จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2516 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแบบมีเงื่อนไขผ่อนปรน (Concessional Lending) แก่ประเทศสมาชิกที่มีฐานะยากจนในรูปแบบเงินกู้ที่ไม่มีดอกเบี้ย แต่คิดค่าบริหารจัดการ (Service Charge) เท่านั้น และมีความช่วยเหลือแบบให้เปล่าและความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศสมาชิกผู้รับความช่วยเหลือโดยมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรน Concessional Assistance-only Countries (CA-only Countries) โดยเงินทุนของ ADF มาจากการบริจาคของประเทศสมาชิก และตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป (ช่วงกองทุน ADF 12) ได้มีการปรับโครงสร้างการดำเนินงาน โดยโอนส่วนของความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบสินเชื่อที่มีเงื่อนไขผ่อนปรนไปไว้ที่แหล่งเงินทุนสามัญ (Ordinary Capital Resources: OCR) ของ ADB และ ADF จะเหลือเพียงความช่วยเหลือแบบให้เปล่าและความช่วยเหลือทางวิชาการเท่านั้น ความช่วยเหลือทางการเงินของกองทุน ADF ที่ผ่านมาส่วนใหญ่นำไปใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ภาคการเงิน และภาคการศึกษา เพื่อลดปัญหาความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในภูมิภาคเอเชียกลาง เอเชียตะวันตก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยส่วนใหญ่แล้วความช่วยเหลือของทั้งสองกองทุนจะเป็นในรูปแบบเงินให้เปล่าหรือเงินกู้ที่ไม่มีดอกเบี้ย แต่จะมีการคิดค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการ เงินทุนของกองทุนเกือบทั้งหมดจะมาจากการบริจาคของประเทศสมาชิก ซึ่งเป็นภาระทางการคลังต่อประเทศสมาชิกผู้บริจาค และประเทศสมาชิกอาจมีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณหากต้องบริจาคเงินให้ MDBs หลายแห่ง ดังนั้น การสร้างความสมดุลระหว่างการให้ความช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนาและการบริหารเงินทุนของประเทศสมาชิกผู้บริจาคเพื่อช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนาให้ได้จำนวนมากที่สุดจึงเป็นโจทย์ที่สำคัญ
AIIB จึงได้เริ่มต้นแนวคิดการให้ความช่วยเหลือในอีกรูปแบบหนึ่งเรียกว่ากรอบกองทุนพิเศษสำหรับสมาชิกด้อยพัฒนา (Special Fund Window for Less Developed Members: SFW) โดยปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนแนวคิดนี้ให้เกิดผลเพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกของธนาคารที่เป็นกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา โดยเงินทุนของ SFW
จะมาจากการบริจาคของประเทศสมาชิก และ SFW จะนำเงินที่ประเทศสมาชิกบริจาคไปชดเชยส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยจากการปล่อยกู้ปกติของธนาคารและอัตราดอกเบี้ยพิเศษของประเทศด้อยพัฒนา โดยหากเงินทุนที่ได้จากการบริจาคหมดลงก็จะกลับมาคิดอัตราดอกเบี้ยตามปกติซึ่งไม่ก่อให้เกิดภาระกับธนาคาร ทั้งนี้ การชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยโดย SFW จะทำให้ประเทศด้อยพัฒนาสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำได้ง่ายขึ้น ธนาคารเองก็มีลูกค้าเพิ่มขึ้น และสามารถใช้เงินทุนตรงนี้ช่วยเหลือประเทศสมาชิกด้อยพัฒนาได้หลายประเทศขึ้นเนื่องจากใช้ต้นทุนน้อยกว่ารูปแบบการให้เปล่า
ความแตกต่างระหว่าง IDA ADF และ SFW ของ AIIB
IDA | ADF | SFW ของ AIIB | |
ขนาดของกองทุนในส่วนที่มาจากการบริจาค | 23,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 – 2566 | 2,341 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 – 2567 | อยู่ในระหว่างการดำเนินการ แต่คาดว่าจะมีเงินจาก การบริจาคประมาณ 60 – 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีแรก |
สถานะ | กองทุนพิเศษ | กองทุนพิเศษ | กองทุนพิเศษ |
ประเภทของการให้เงินทุน | การปล่อยกู้แบบไม่มีดอกเบี้ยแต่เก็บค่าธรรมเนียม และเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า | เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า | เงินช่วยเหลือที่จะนำไปชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย |
แหล่งเงินทุน | บริจาคเป็นรอบทุก 3 ปี | บริจาคเป็นรอบทุก 4 ปี | เป็นการบริจาคโดยสมัครใจ |
การบริหาร | ตัดสินใจโดยคณะกรรมการธนาคารหรือคณะกรรมการผู้ว่าการธนาคารโลก ซึ่งอำนาจในการตัดสินใจจะมาจากจำนวนของการบริจาค | ประเทศผู้บริจาคมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการให้ความช่วยเหลือ | ตัดสินใจโดยคณะกรรมการธนาคาร |
คุณสมบัติ | ประเทศยากจนซึ่งพิจารณาจากรายได้ประชาชาติต่อหัว ต่ำกว่า 1,205 ดอลลาร์สหรัฐ ปีงบประมาณ 2565) และประเทศที่ขาดความน่าเชื่อถือในการกู้ยืมเงินตามเงื่อนไขของตลาด | จำแนกกลุ่มประเทศในการให้ความช่วยเหลือ ตามเกณฑ์รายได้ต่อหัว และความน่าเชื่อถือ ทางการเงิน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ A B และ C โดยประเทศกลุ่ม A เท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ได้รับ ADF Grants | สมาชิกที่มีสถานะตามคุณสมบัติของ IDA |
เกณฑ์การคัดเลือก | คัดเลือกจากประเทศผู้รับสิทธิจำนวน 74 ราย กำหนดโดยจำนวนประชากร รายได้ต่อหัว และผลการปฏิบัติงานตามนโยบายที่ส่งเสริมเศรษฐกิจและขจัดความยากจน | คัดเลือกจากประเทศกลุ่ม A บนพื้นฐานของผลการดำเนินงานของแต่ละประเทศ (Performance-Based Allocation: PBA) และความต้องการได้รับความช่วยเหลือ (Need-based Approach) ตามยุทธศาสตร์ 2030 ของ ADB | ขับเคลื่อนโดยกลยุทธ์และกระบวนการลงทุนของ AIIB โดยการลดหย่อนอัตราดอกเบี้ยจะดำเนินการให้สอดคล้องกับการกู้ยืมเพื่อการลงทุนต่าง ๆ |
เมื่อ 18 มีนาคม 2565,/จาก/https://www.adb.org/news/features/frequently-asked-questions-enhancing-adbs-financial-capacity-50-reducing-poverty-asia
World Bank.//2564.// The World Bank Annual Report 2020 : Supporting Countries in Unprecedented Times.//สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2565,/จากhttps://openknowledge.worldbank.org/handle/10986/34406
AIIB,/” Special Fund Window for Less Developed Members,”/ Sec2022-042 Special Fund Window for Less Developed Members-N/(มีนาคม 2565): 32.
บทบาทของประเทศไทยในการสนับสนุนความสมดุลทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ตามที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น ประเทศไทยเป็นสมาชิกของธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคี ทั้งกลุ่มธนาคารโลก ADB และ AIIB ซึ่งธนาคารเหล่านี้ต่างก็มีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนาผ่านกลไกทางการเงิน
ของธนาคาร เช่น IDA และ ADF เป็นต้น โดยประเทศไทยได้เปลี่ยนสถานะจากประเทศผู้รับบริจาคเป็นประเทศผู้บริจาค และมีส่วนร่วมกับกองทุนเพื่อประเทศด้อยพัฒนา ดังนี้
IDA
ประเทศไทยได้บริจาคในการเพิ่มทุน IDA มาแล้ว ทั้งสิ้น 3 ครั้ง โดยประเทศไทยได้ตกลงร่วมเป็นผู้บริจาคครั้งแรกในการเพิ่มทุน IDA ครั้งที่ 17 (IDA17) เมื่อปี 2556 คิดเป็นวงเงิน 150 ล้านบาท ครั้งที่สอง คือการเพิ่มทุนใน IDA18 เมื่อปี 2560 คิดเป็นวงเงิน 150 ล้านบาท และครั้งล่าสุดในการเพิ่มทุน IDA19 เมื่อปี 2563 คิดเป็นวงเงิน 159.91 ล้านบาท โดยล่าสุดในปี 2565 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในการบริจาค IDA20 เป็นจำนวน 327.70 ล้านบาท
ADF
ประเทศไทยได้เปลี่ยนสถานะตัวเองจากประเทศผู้รับบริจาคเป็นประเทศผู้บริจาคของกองทุน ADF ในปี 2540 โดยเข้าร่วมการบริจาคเงินเพิ่มทุนใน ADF ตั้งแต่การเพิ่มทุนครั้งที่ 6 ที่ประเทศไทยเข้าร่วมการบริจาคในวงเงิน 4,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่าประมาณ 101 ล้านบาท โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมบริจาคใน ADF มาแล้วทั้งสิ้น 7 ครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดเป็นการบริจาคเงินเพิ่มทุนครั้งที่ 12 สำหรับปี 2564 – 2567 คิดเป็นจำนวนเงิน 71.2 ล้านบาท
การเป็นผู้บริจาคเงินให้กับ IDA และ ADF เป็นการรักษาจุดยืนของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศเป็นการแสดงบทบาทของประเทศผู้นำในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนแก่ประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้โดยเฉพาะประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เช่น ประเทศเมียนมา ประเทศลาว ประเทศกัมพูชา เป็นต้น จะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากผลของการพัฒนาผ่านช่องทางการค้า การลงทุน และการเชื่อมโยงภูมิภาค และเป็นการส่งเสริมบทบาทภูมิภาคอาเซียนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคและเศรษฐกิจโลก
สรุป
จะเห็นได้ว่าการให้ความช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนาผ่านทางกลไกทางการเงินมีส่วนเป็นอย่างยิ่งในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความสมดุลในเศรษฐกิจโลก เมื่อประเทศที่ด้อยพัฒนาเหล่านี้ได้รับความช่วยเหลือ ไม่เพียงแต่การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแบบให้เปล่าเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงความช่วยเหลือทั้งทางด้านความรู้และเทคนิค และการให้ความช่วยเหลือโดยการปล่อยเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยต่ำเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ หากเปรียบประเทศด้อยพัฒนาเป็นคนคนหนึ่งแล้ว การให้ความช่วยเหลือเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนการช่วยเหลือให้เขามีพื้นฐานความรู้และทักษะทางอาชีพเพื่อพัฒนาตนเอง เมื่อประเทศด้อยพัฒนาสามารถพัฒนาตนเองจนเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้สำเร็จก็จะสามารถส่งต่อความสำเร็จและโอกาสเหล่านี้ไปให้ประเทศด้อยพัฒนาอื่นที่ยังคงขาดโอกาสให้พวกเขาได้มีโอกาสในการพัฒนาตนเอง เป็นการพัฒนาร่วมกันในภูมิภาค
สุดท้ายนี้ กลไกทางการเงินที่จะช่วยให้ประเทศด้อยพัฒนาสามารถเร่งให้ทันกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ผ่านธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคียังคงต้องมีการพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพ การลงทุน การแสวงหาแหล่งเงินทุน และกลไกทางการเงินในรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะไม่ส่งผลต่อภาระทางการคลังของประเทศผู้บริจาคมากจนเกินไป ประเทศไทยเองในฐานะผู้ให้ทุนหรือผู้บริจาคจะยังคงแสดงจุดยืนเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ทั้งบนเวทีในประเทศและเวทีระหว่างประเทศ เพื่อเน้นย้ำถึงความตั้งใจจริง ที่จะพัฒนาตนเองและพัฒนาประเทศในภูมิภาคให้เติบโตเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างมั่นคง มั่งคั่ง เสมอภาค และยั่งยืนร่วมกันในอนาคต
นายศุภชาติ คล่องเชิงสาร
เศรษฐกรปฏิบัติการ
สำนักงานนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน