Series บทความแนวทางการดำเนินนโยบายการคลังในต่างประเทศ ตอนที่ 2

Series บทความแนวทางการดำเนินนโยบายการคลังในต่างประเทศ ตอนที่ 2

ตอนที่ 2 ความยั่งยืนทางการคลังและทิศทางนโยบายการคลังในยุคหลังโควิด-19
ของกลุ่มประเทศที่มีความยั่งยืนด้านหนี้

บทความโดย
นวพล ภิญโญอนันตพงษ์
ลิขิต ยังคง
จิรัฏฐ์ พงศ์ธนุพัฒนา
ภัทราวดี พรไทย

สำหรับตอนที่ 2 ผู้เขียนได้รวบรวมประเด็นเกี่ยวกับความยั่งยืนทางการคลังและทิศทางนโยบายการคลังในยุคหลังโควิด-19 ของกลุ่มประเทศที่มีความยั่งยืนด้านหนี้ภาครัฐ ได้แก่ ประเทศจีน เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ สวีเดน และไทย ทั้งนี้ เนื้อหาและข้อมูลที่อ้างอิงในบทนี้มีที่มาจาก Fiscal Monitor และ Article IV ที่จัดทำโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) โดยมีขอบเขตของข้อมูลการคลังเป็นตัวเลขรวมภาครัฐทั้งหมด (General Government) สำหรับสาระสำคัญรายประเทศมีรายละเอียด ดังนี้

2.1 เกาหลีใต้

ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ของเกาหลีใต้ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำและมีเสถียรภาพทั้งในช่วงก่อนและหลังโควิด-19 โดยในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 (ปี 2012-2019) รัฐบาลเกาหลีใต้ได้จัดทำงบประมาณแบบเกินดุลเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.3 ส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะของประเทศเกาหลีใต้ ณ สิ้นปี 2019 อยู่ที่เพียงร้อยละ 42.1 ต่อ GDP ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 54.3 ณ สิ้นปี 2022 จากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 และ IMF ได้ประมาณการว่า ระดับหนี้สาธารณะของเกาหลีใต้ จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยใน 5 ปีข้างหน้า อยู่ที่ร้อยละ 58.2 ณ สิ้นปี 2028 โดยคาดว่า ดุลการคลังของเกาหลีใต้ใน 5 ปีข้างหน้าจะขาดดุลเพียงเล็กน้อยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.1 ต่อ GDP และรัฐบาลมีรายได้จากดอกเบี้ย (จากการนำสินทรัพย์ไปลงทุน) สูงกว่ารายจ่ายดอกเบี้ย นอกจากนี้ เกาหลียังมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ย ทำให้มีปัจจัยอัตโนมัติจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 2.5 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุนการควบคุมระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP

ทั้งนี้ ในระยะยาวเกาหลีใต้ยังมีประเด็นท้าทายอยู่ โดย IMF ได้มีข้อเสนอแนะว่า ในระยะปานกลาง เกาหลีใต้ควรต้องมีการกำหนดกรอบวินัยการคลังที่เป็นรูปธรรมชัดเจน (New Rules-based Fiscal Framework) ควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบประกันสังคมและระบบบำเหน็จบำนาญให้ครอบคลุมประชากรทั้งประเทศมากขึ้น เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุที่เร่งตัวขึ้นในอนาคตระยะปานกลาง โดยอัตราการพึ่งพาของเกาหลีใต้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 24.7 ในปี 2022 เป็นร้อยละ 38 ในปี 2030 ส่งผลให้รายจ่ายบำเหน็จบำนาญและค่ารักษาพยาบาลในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นจากปี 2022 อีกร้อยละ 2.9 ต่อ GDP (ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว)

2.2 จีน

ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ของจีน ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19 จากร้อยละ 60.4 ณ สิ้นปี 2019 เป็นร้อยละ 77.1 ณ สิ้นปี 2022 และ IMF ได้ประมาณการว่า ระดับหนี้สาธารณะของจีนจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้า อยู่ที่ร้อยละ 104.9 ณ สิ้นปี 2028 โดยรัฐบาลยังคงวางแผนการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวในเชิงรุก (Proactive) อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ การลงทุนขนาดใหญ่โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและคมนาคม และสวัสดิการสังคม รวมถึงการฟื้นฟูในเขตชนบทและพัฒนาศักยภาพการผลิตด้านการเกษตร โดย IMF คาดว่าจีนจะขาดดุลการคลังใน 5 ปีข้างหน้า เฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 6.3 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ร้อยละ 5.2 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศจีนเองในช่วง 5 ปีก่อนเกิดโควิด-19 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.7

ทั้งนี้ แม้ว่าจีนจะยังคงดำเนินนโยบายขาดดุลในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง แต่ความเสี่ยงทางการคลังยังคงอยู่ในระดับบริหารจัดการได้ โดยมีปัจจัยบวกที่เอื้อต่อการจัดทำนโยบายการคลังแบบขยายตัวของจีน อาทิ (1) อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยรายจ่ายดอกเบี้ยสุทธิของจีนใน 5 ปีข้างหน้าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.48 ต่อ GDP (ประมาณร้อยละ 4.62 ของรายจ่ายภาครัฐทั้งหมด) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ร้อยละ 1.77 และมีปัจจัยอัตโนมัติจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจใน 5 ปีข้างหน้าอยู่ที่ร้อยละ 3.7 สูงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ร้อยละ 1.4 และ (2) หนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ในประเทศ โดยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะที่ถือครองโดยต่างชาติเพียงร้อยละ 3.3 ของหนี้สาธารณะทั้งหมด ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ร้อยละ 12 อย่างไรก็ดี ในระยะยาวจีนจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการจัดเตรียมสวัสดิการ/โครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น โดยอัตราการพึ่งพาของจีนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 19.9 ในปี 2022 เป็นร้อยละ 23.6 ในปี 2030

2.3 ฟิลิปปินส์

ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ของฟิลิปปินส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19 จากร้อยละ 37.0 ณ สิ้นปี 2019 เป็นร้อยละ 57.5 ณ สิ้นปี 2022 และ IMF ได้ประมาณการว่า ระดับหนี้สาธารณะของฟิลิปปินส์ จะปรับตัวลดลงต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้า อยู่ที่ร้อยละ 52.6 ณ สิ้นปี 2028 โดยมีดุลการคลังเฉลี่ยในอีก 5 ปีข้างหน้า ขาดดุลอยู่ที่ร้อยละ 3.1 ของ GDP ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ โดยเป็นผลมาจากการขาดดุลเบื้องต้นที่ร้อยละ 1.22 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศเกิดใหม่เช่นกัน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราการพึ่งพาของฟิลิปปินส์ยังอยู่ในระดับต่ำ (ร้อยละ 8.5 และ 10.6 ในปี 2022 และ 2030 ตามลำดับ) ส่งผลให้ภาระการคลังจากรายจ่ายบำเหน็จบำนาญและค่ารักษาพยาบาลอยู่ในระดับบริหารจัดการได้ นอกจากนี้ รายจ่ายดอกเบี้ยสุทธิเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเกิดใหม่อยู่ในระดับต่ำเช่นกัน อยู่ที่ร้อยละ 1.88 ต่อ GDP และมีปัจจัยอัตโนมัติจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 5.1 ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุนการควบคุมระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ให้ลดลง แม้ว่าจะยังขาดดุลการคลังอยู่ก็ตาม

ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ได้กำหนดเป้าหมายทางการคลังระยะปานกลาง โดยการลดการขาดดุลการคลังเป็นร้อยละ 3 ต่อ GDP ภายในปี 2028 และการกำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP ทั้งนี้ IMF ได้เสนอแนวทางสำหรับการปรับสมดุลทางการคลังในยุคหลังโควิด-19 เช่น การเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล เนื่องจากปัจจุบันฟิลิปปินส์มีสัดส่วนรายได้ภาครัฐ (General government) ต่อ GDP ที่ค่อนข้างต่ำอยู่ที่ประมาณร้อยละ 21 ต่อ GDP (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ร้อยละ 26) เป็นต้น

2.4 สิงคโปร์

สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีพื้นที่การคลังอยู่ในระดับสูงจากการเกินดุลการคลังอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล โดยในช่วง 5 ปีก่อนเกิดโควิด-19 (2012-2019) สิงคโปร์เกินดุลการคลังเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 4.6 ต่อ GDP (ในขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วขาดดุลการคลังเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ต่อ GDP) ก่อนจะขาดดุลการคลังร้อยละ 6.8 ในปี 2020 จากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 อย่างไรก็ดี ในปี 2021 และ 2022 สิงคโปร์กลับมาเกินดุลการคลังที่ร้อยละ 1.2 และ 0.4 ต่อ GDP ตามลำดับ ทั้งนี้ IMF ได้คาดการณ์ว่า สิงคโปร์ยังคงเกินดุลการคลังอย่างต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้า เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.7 อย่างไรก็ดี ขนาดของรัฐบาลสิงคโปร์ค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยมีสัดส่วนรายได้และรายจ่ายของภาครัฐ (General government)  ต่อ GDP ในอีก 5 ปีข้างหน้า อยู่ที่เพียงประมาณร้อยละ 17.7 และ 15 ตามลำดับ (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ร้อยละ 36 และ 40 ตามลำดับ)

ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ได้มีการปรับเพิ่มอัตราภาษีสินค้าและบริการ (Goods and services tax: GST) จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 8 ในปี 2023 และมีแผนจะปรับขึ้นเป็นร้อยละ 9 ในปี 2024 ภาษีสินค้าและบริการของสิงคโปร์จะจัดเก็บกับสินค้าและบริการทุกประเภทภายใต้อัตราเดียวกันและไม่มีการยกเว้น (เนื่องจากรัฐบาลสิงคโปร์มองว่า การยกเว้นภาษีกับสินค้าบางประเภทเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับคนรวยมากกว่าเป็นการช่วยเหลือคนจน) แต่รัฐบาลจะให้ GST Voucher แก่กลุ่มเปราะบาง เพื่อลดภาระภาษี GST ที่ได้จ่ายไปแทน โดยผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับ GST Voucher ดังนี้

  • Cash จำนวน (1) 700 ดอลลาร์สิงคโปร์ ในปี 2023 และเพิ่มขึ้นอีกปีละ 150 ดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับผู้อาศัยอยู่ในบ้านที่มีมูลค่าต่อปีต่ำกว่า 13,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ และ
    (2) 350 ดอลลาร์สิงคโปร์ ในปี 2023 และเพิ่มขึ้นอีกปีละ 100 ดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับ
    ผู้อาศัยอยู่ในบ้านที่มีมูลค่าต่อปีระหว่าง 13,000 – 21,000 ดอลลาร์สิงคโปร์
  • MediSave โดยจะต้องเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป โดย (1) สำหรับผู้อาศัยอยู่ในบ้านที่มีมูลค่าต่อปีต่ำกว่า 13,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ จะได้รับเงินโอน จำนวน 250 350 และ 450 ดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 65-74 ปี 75-84 ปี และเกิน 85 ปีขึ้นไป ตามลำดับ และ (2) สำหรับผู้อาศัยอยู่ในบ้านที่มีมูลค่าต่อปีระหว่าง 13,000 – 21,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ จะได้รับเงินโอน จำนวน 150 250 และ 350 ดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 65-74 ปี 75-84 ปี และเกิน 85 ปีขึ้นไป ตามลำดับ
  • U-Save สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านโครงการของภาครัฐ (Housing and Development Board Flats: HDB Flats) โดยจะได้รับเงินโอนเพื่อแบ่งเบาภาระค่าน้ำค่าไฟ ครอบคลุมประมาณ 8 – 10 เดือน
  • S&CC Rebates สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ใน HDB Flats โดยจะได้รับเงินโอนเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าส่วนกลาง ประมาณ 1.5 – 3.5 เดือน

นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ยังให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) เป็นอย่างมาก เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นเกาะ ทำให้สิงคโปร์มีความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อนอยู่ในระดับสูง โดยรัฐบาลสิงคโปร์มีแผนจะเพิ่มอัตราภาษีคาร์บอนจากปัจจุบันที่ 5 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปริมาณการปล่อยคาร์บอน 1 ตัน เป็น 25 และ 45 ดอลลาร์สิงคโปร์ ในปี 2024 และ 2026 ตามลำดับ (มีเป้าหมายระยะยาวที่จะเพิ่มเป็น 50 – 80 ดอลลาร์สิงคโปร์ภายในปี 2030) นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2021 รัฐบาลได้ริเริ่มโครงการ Significant Infrastructure Government Loan เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ สายรถไฟ ระบบประปา โครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น โดยมีวงเงิน 35 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณร้อยละ 6 ของ GDP)

แม้ว่าสิงคโปร์จะเกินดุลการคลังอย่างต่อเนื่อง แต่ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP กลับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 127.8 ณ สิ้นปี 2019 เป็นร้อยละ 134.2 ณ สิ้นปี 2022 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 136.8 ณ สิ้นปี 2028 อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นหนี้สาธารณะดังกล่าวไม่ได้เป็นผลมาจากปัจจัยภาคงบประมาณ แต่เป็นผลจากการที่รัฐบาลต้องการสนับสนุนและพัฒนาตลาดตราหนี้ภายในประเทศ รวมไปถึงเพื่อสนับสนุนการออมการลงทุนของประชาชนและภาคเอกชน นอกจากนี้ หนี้สาธารณะของสิงคโปร์เป็นหนี้ที่ถือครองโดยผู้ที่พำนักภายในประเทศและเป็นสกุลดอลลาร์สิงคโปร์ทั้งหมด ทำให้ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยและความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีต่อหนี้สาธารณะของสิงคโปร์อยู่ในระดับต่ำมาก ทั้งนี้ สังคมผู้สูงอายุถือเป็นประเด็นความเสี่ยงหนึ่งของสิงคโปร์ เนื่องจากสิงคโปร์หนึ่งในประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงของอัตราการพึ่งพาสูงที่สุดในโลก โดยภายในปี 2030 อัตราการพึ่งพาของสิงคโปร์คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 31.1 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 25 จากปี 2010 อย่างไรก็ดี ฐานะการคลังที่แข็งแกร่งของสิงคโปร์สามารถรองรับความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นจากการเร่งตัวขึ้นของสังคมผู้สูงอายุได้โดย IMF ได้สนับสนุนให้รัฐบาลสิงคโปร์ขยายขนาดของระบบสวัสดิการซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยนอกจากจะช่วยเพิ่มระดับการบริโภคของประชาชนให้สูงขึ้นแล้ว (ประชากรสิงคโปร์มีอัตราการออมอยู่ในระดับสูง) ยังช่วยลดระดับการเกินดุลการค้าที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องให้มีความสมดุลมากยิ่งขึ้น

แผนภาพที่ 2.1  การเปลี่ยนแปลงของอัตราการพึ่งพาในช่วงปี 2010-2030 ของแต่ละประเทศ
แผนภาพที่ 2.2  เปรียบเทียบขนาดของสวัสดิการของสิงคโปร์กับต่างประเทศ

2.5 สวีเดน

ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ของสวีเดนปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19 จากร้อยละ 35.2 ณ สิ้นปี 2019 เป็น ร้อยละ 39.5 ณ สิ้นปี 2020 และลดลงอยู่ที่ร้อยละ 31.7 ณ สิ้นปี 2022 โดย IMF ได้ประมาณการว่าระดับหนี้สาธารณะของสวีเดนจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้า อยู่ที่ร้อยละ 30 ณ สิ้นปี 2028 จากการเกินดุลการคลังเฉลี่ยที่ร้อยละ 0.1 ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า วิกฤตโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อฐานะการคลังของสวีเดนมากนัก โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก (1) สวีเดนมีอัตราภาษีที่อยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว อาทิ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีอัตราสูงสุดที่ร้อยละ 50 รัฐบาลจึงมีรายได้มากพอในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆ รวมถึง (2) สวีเดนไม่มีการล็อกดาวน์ ทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอัตราการว่างงานอยู่ในวงจำกัดและฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาดไว้ และส่งผลให้รายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับต่างประเทศ

แผนภาพที่ 2.3  อัตราการว่างงานของสวีเดน

สำหรับในยุคหลังโควิด สวีเดนมีปัจจัยบวกที่เอื้อต่อการควบคุมระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP  อาทิ (1) รายจ่ายบำเหน็จบำนาญและค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นในวงจำกัดที่ร้อยละ 0.2 ต่อ GDP (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ร้อยละ 2.9) จากระบบสวัสดิการที่ทั่วถึงและครอบคลุมอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤต นอกจากนี้ แม้ว่าอัตราการพึ่งพาจะอยู่ในระดับค่อนข้างสูง แต่เพิ่มขึ้นไม่มากนักจากร้อยละ32.6 ในปี 2022 เป็นร้อยละ 34.2 ในปี 2028 และ (2) อัตราดอกเบี้ยเมื่อเทียบอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ โดยมีปัจจัยอัตโนมัติจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 2.5 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ร้อยละ 1.4

IMF ได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายการคลังของสวีเดนที่เป็นมิตรต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด อาทิ (1) ค่อย ๆ ยกเลิกใช้การลดหย่อนภาษีเชื้อเพลิง และควรปรับเงื่อนไขโครงการในอนาคตให้เป็นไปแบบมุ่งเป้า โดยควรกำหนดเงื่อนไขระดับรายได้ครัวเรือนประกอบด้วย (2) เพิ่มการลงทุนทางสังคมเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมีศักยภาพ เช่น ทางด้านการศึกษา การรักษาสุขภาพผู้สูงอายุ และยุทธศาสตร์สีเขียว ทั้งนี้ สวีเดนได้กำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี 2045 ซึ่งมีการประมาณการว่าเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นพลังงานสะอาดกว่าร้อยละ 10 ต่อ GDP (3) เพิ่มภาษีทรัพย์สินที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ (5) เร่งรัดการปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญ โดยกำหนดวัยเกษียณให้สะท้อนตามอายุขัยเฉลี่ยของประชากรที่เพิ่มขึ้น (6) ลดอัตราภาษีเงินได้เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานให้มากขึ้น เป็นต้น

แผนภาพที่ 2.4  เป้าหมายเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศของกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย

2.6 ไทย

ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19 จากร้อยละ 41.1 ณ สิ้นปี 2019 เป็นร้อยละ 60.5 ณ สิ้นปี 2022 โดย IMF ได้ประมาณการว่าระดับหนี้สาธารณะของไทยจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยในอีก 5 ปีข้างหน้า อยู่ที่ร้อยละ 57.3 ณ สิ้นปี 2028 โดยมีระดับการขาดดุลเฉลี่ยในอีก 5 ปีข้างหน้า อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ต่อ GDP (ตัวเลขขาดดุลรวมภาครัฐทั้งหมด (General Government)) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ร้อยละ 5.2 ต่อ GDP นอกจากนี้ รายจ่ายดอกเบี้ยสุทธิยังอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.77 ต่อ GDP ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ร้อยละ 2.45

ทั้งนี้ หากพิจารณาระดับการขาดดุลการคลังเฉพาะภาคงบประมาณ โดยอ้างอิงจากแผนการคลังระยะปานกลาง (Medium-term Fiscal Framework: MTFF) ฉบับล่าสุด พบว่า รัฐบาลจะขาดดุลการคลังเบื้องต้น (เฉพาะภาคงบประมาณ) เฉลี่ยใน 5 ปีข้างหน้า (ปี 2023-2028) เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.87 ต่อ GDP ต่ำกว่าปัจจัยอัตโนมัติจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 1.4 สะท้อนถึงความยั่งยืนทางด้านหนี้ในอนาคตระยะปานกลางของไทย (ทั้งนี้ ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะตาม MTFF คาดว่า จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 61.25 และ 61.13 ต่อ GDP ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลของหนี้รัฐวิสาหกิจเป็นสำคัญ)

อย่างไรก็ดี ในยุคหลังโควิด-19 ประเทศไทยต้องเผชิญกับความเสี่ยงเชิงโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะสังคมผู้สูงอายุ โดยอัตราการพึ่งพาของไทยจะเร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 22 ในปี 2022 เป็นร้อยละ 32.6 ในปี 2030 ส่งผลให้รายจ่ายบำเหน็จบำนาญและค่ารักษาพยาบาลของภาครัฐทั้งหมด (General Government) คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีกร้อยละ 3.9 สูงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ร้อยละ 2 และย่อมส่งผลให้รัฐบาลจะมีพื้นที่ทางการคลังสำหรับจัดสรรเป็นรายจ่ายลงทุน หรือรายจ่ายเพื่อการพัฒนาเชิงสังคมต่าง ๆ น้อยลง นอกจากนี้ จากการเร่งตัวขึ้นของสังคมผู้สูงอายุ ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะไม่สูงมากนัก ส่งผลให้ปัจจัยอัตโนมัติจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยใน 5 ปีข้างหน้า จะเฉลี่ยอยู่ที่เพียงร้อยละ 1.4 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ร้อยละ 3

ทั้งนี้ IMF ได้มีข้อเสนอแนะที่สำคัญเพื่อปรับสมดุลทางการคลังในยุคหลังโควิดที่เป็นมิตรต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว อาทิ

(1) เพิ่มความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ (ในปี 2022 ประเทศไทยมีรายได้ภาครัฐทั้งหมดรวมอยู่ที่ร้อยละ 20 ต่อ GDP ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ร้อยละ 26.5) โดยรัฐบาลควรเร่งรัดพิจารณาทบทวนมาตรการลดหย่อน/ยกเว้นภาษีต่าง ๆ ให้มีเท่าที่จำเป็น (Rationalizing tax exemptions) รวมถึงขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมผู้ประกอบการรายย่อยมากยิ่งขึ้นซึ่ง IMF ได้ประมาณการว่า จะช่วยให้รายได้ภาษีของไทยเพิ่มขึ้นได้อีกสูงสุดถึงร้อยละ 6 ต่อ GDP (IMF ได้วิเคราะห์ว่า อัตราความพยายามในการจัดเก็บ (Tax effort) ของไทยอยู่ที่เพียงประมาณร้อยละ 40 ของศักยภาพสูงสุดที่ควรจะจัดเก็บได้ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ร้อยละ 64)
(2) ในระยะปานกลางหากเศรษฐกิจแสดงสัญญาณการฟื้นตัวอย่างทั่วถึง รัฐบาลควรพิจารณาปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ปฏิรูประบบภาษีเงินได้ รวมไปถึงเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
(3) ปฏิรูประบบประกันสังคมให้มีความครอบคลุมและเพียงพอมากขึ้น พร้อมทั้งคำนึงถึงภาระทางการคลังในระยะยาวประกอบด้วย ผ่านการขยายอายุเกษียณ ขยายเพดานการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ขยายระบบการออมเพื่อการเกษียณให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ เป็นต้น (ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขปัจจุบัน ผู้ประกันตนกับกองทุนประกันสังคมจะได้รับเงินบำนาญเฉลี่ยเพียงประมาณร้อยละ 20 ของเงินเดือนสุดท้าย ซึ่งต่ำกว่าระดับพื้นฐานที่ควรอยู่ที่ประมาณร้อยละ 50-60 (Deloitte&Touche) นอกจากนี้ World Bank ได้ประมาณการว่า เงินกองทุนประกันสังคมของไทยจะเริ่มลดลงในอีก 20 ปีข้างหน้า และอาจติดลบได้ในประมาณ 30 ปีข้างหน้า หากไม่มีการปฏิรูป)
(4) เพิ่มรายจ่ายด้านการศึกษาเพื่อยกระดับศักยภาพของแรงงานไทยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ
(5) เพิ่มรายจ่ายด้านดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (ไทยตั้งเป้าหมายระยะยาวในการเป็นกลางในการปล่อยคาร์บอน (Carbon neutrality) ไว้ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net zero emission) ภายในปี 2065 เป็นต้น

(1) เปรียบเทียบ Tax effort ของไทยกับต่างประเทศ
(2) ประมาณการระดับเงินกองทุนประกันสังคม
(3) เปรียบเทียบสัดส่วนแรงงานทักษะต่ำในแต่ละประเทศ
 หนี้สาธารณะต่อ GDP (2019)หนี้สาธารณะต่อ GDP (2022)หนี้สาธารณะต่อ GDP (2028)สัดส่วนหนี้ต่างประเทศ1
ต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด
(2022)
การเปลี่ยนแปลง
ของรายจ่ายบำเหน็จ บำนาญและค่ารักษาพยาบาลต่อ GDP
(2022-2030)
อัตราการพึ่งพา (Age Dependency Ratio) (2022)อัตราการพึ่งพา (Age Dependency Ratio) (2030)ดุล
การคลัง
ต่อ GDP (2012-2019)
ดุล
การคลัง
ต่อ GDP (2023-2028)
ดุลการคลังเบื้องต้นต่อ GDP (2023-2028)รายจ่ายดอกเบี้ยสุทธิ
ต่อ GDP (2023-2028)
ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (2023-2028)10 Year Government Bond Yield
เฉลี่ยประเทศพัฒนาแล้ว104.0123.1117.826.52.9-3.2-4.0-2.231.77-1.4 
เฉลี่ยประเทศเกิดใหม่56.065.780.812.02.0-3.2-5.2-2.752.45-3.0 
จีน60.477.1104.93.32.519.926.5-2.7-6.3-4.821.48-3.72.70
เกาหลีใต้42.154.358.2n/a2.924.738.01.3-0.1-0.150.00-2.53.57
ฟิลิปปินส์37.057.552.624.40.58.510.6-0.4-3.1-1.221.88-5.16.01
สิงคโปร์127.8134.2136.80n/a20.734.54.62.70n/an/an/a3.03
สวีเดน35.231.730.016.10.232.634.20.00.10.43-0.33-2.52.35
ไทย41.160.557.38.83.922.032.6-0.2-3.3-1.531.77-1.42.46
ตารางที่ 2.1  สรุปรายละเอียดฐานะการคลังกลุ่มประเทศที่มีความยั่งยืนด้านหนี้
ที่มา: Fiscal Monitor 2023 April (IMF) อัตราการพึ่งพาจาก World Bank
หมายเหตุ: 1) หนี้สาธารณะที่ถือครองโดยผู้ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศ (Nonresident holding)

นายนวพล ภิญโญอนันตพงษ์
เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ
กองนโยบายการคลัง
ผู้เขียน

นายลิขิต ยังคง
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายการคลัง
ผู้เขียน

นางสาวจิรัฏฐ์ พงศ์ธนุพัฒนา
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายการคลัง
ผู้เขียน

นางสาวภัทราวดี พรไทย
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายการคลัง
ผู้เขียน