Hackatax : ภาษีไทย ถูกใจประชาชน

Hackatax : ภาษีไทย ถูกใจประชาชน

บทความโดย ดร.พณชิต  กิตติปัญญางาม
เรียบเรียงโดย ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ
ภาพประกอบโดย ทีมบรรณาธิการ

ช่วงนี้เหมือนเป็นที่นิยมกัน ในการจัดกิจกรรมแฮกกาธอน (Hackathon) ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนก็ล้วนแต่จัดงานแข่งขันกันทั้งภายในองค์กรเอง และภายนอกองค์กร ทดแทนการประกวดนวัตกรรมที่เคยเป็น ที่นิยมในช่วงห้าปีก่อน โดยหลายหน่วยงานก็คาดหวังว่า จะได้แนวคิดและไอเดียใหม่ๆ ไปต่อยอดธุรกิจบริการ หรือนำไปพัฒนากระบวนการทำงาน สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ความคาดหวัง และความเข้าใจของผู้จัด

ผมได้มีโอกาสไปเป็นกรรมการก็หลายหน สิ่งที่รู้สึกได้คือ ผู้จัดมักจะคาดหวังสิ่งใหม่ๆ แบบนอกกรอบจากผู้เข้าร่วม จนบางครั้งลืมไปว่าไอเดียที่ใช้งานได้ นอกจากความคิดสดใหม่แบบนอกกรอบแล้ว ยังจำเป็นต้องมีฐานความรู้ โดยเฉพาะความรู้ความเข้าใจในเรื่องแต่ละเรื่องอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริง เพราะโดยปกติ Hackathon จะมีเวลาประมาณแค่ 3 วัน 2 คืน การที่เราจะคาดหวังให้ผู้เข้าร่วม เข้าใจปัญหาในแต่ละเรื่องเพียงพอจึงเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะกับผู้เข้าร่วมในระดับนักเรียน นักศึกษา (เว้นแต่บางคนที่จริงจัง และสนใจในเรื่องเหล่านั้นเป็นพิเศษอยู่แล้ว) ยิ่งไปกว่านั้นเราอาจจะสังเกตได้ว่า

วัฒนธรรมของประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเน้นสร้างคนให้แก้ปัญหาเก่ง ดูได้จากวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแต่ละครั้งในสังคมไทย ซึ่งคนไทยทำได้ไม่เลว

แต่หัวใจสำคัญหนึ่งของ Hackathon คือ การตั้งโจทย์ให้ถูก หรือการหาปัญหาที่แท้จริงให้เจอ ซึ่งจุดนี้สำหรับผมเห็นว่าคนไทยยังทำได้ไม่ดี เพราะจำเป็นต้องใช้การพูดคุยเพื่อวิเคราะห์หาปัญหาร่วมกันมากกว่าการเอาชนะโดยการดำเนินการด้วยตนเอง อย่างไรก็ดี หากคนไทยได้รับโจทย์ที่ชัดเจน และเงื่อนไขที่ชัดเจน คนไทยสามารถหาช่องทางเพื่อทำให้บรรลุเป้าหมายได้ โดยไม่สนใจวิธีการ พูดง่ายๆ คนไทยแก้โจทย์เก่ง แต่ตั้งคำถามและวิเคราะห์ปัญหาเพื่อตั้งโจทย์ที่ถูกไม่เก่ง

โดยสองเหตุผลนี้ น่าจะเป็นเหตุผลใหญ่ๆ ที่ทำให้ผลลัพท์ที่ได้จาก Hackathon ส่วนใหญ่ ดูไม่น่าตื่นเต้นหรือน่าสนใจมากพอสำหรับเจ้าภาพจัดงาน เพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดจริงจัง แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นการประกวดเพื่อสร้างสีสัน และ เป็นการประชาสัมพันธ์ไป

สำหรับงานแฮกกาแทกซ์ (Hackatax) เป็นสิ่งที่ถูกออกแบบมาด้วยแนวคิดที่ต่างกันออกไป  โดยกรมสรรพากร หน่วยงานผู้จัดหลัก อยากได้ไอเดียจากภาคประชาชนเพื่อนำไปทำจริงและต่อยอด หน่วยงานอย่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Promotion Agency : DEPA) อยากสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาธุรกิจ และสมาคม Thailand Tech Startup อยากนำเสนอทางออก ทั้งแนวทางความร่วมมือภาครัฐ และอยากนำเสนอแนวทางการจัด Hackathon ให้ได้ผลลัพท์อย่างเป็นรูปธรรม

ดังนั้น งาน Hackatax จึงเป็นงานที่ทุกฝ่ายเข้ามาพูดคุย หารือ และออกแบบให้งานออกมาได้ในสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องการ ต้องขอขอบคุณผู้บริหารและบุคลากรของกรมสรรพากร ที่เข้าร่วม รวมถึงร่วมเปิดใจให้ความร่วมมืออย่างดีทุกอย่าง ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ทีมกรมสรรพากร และทีม DEPA  ถอดหมวกความเป็นรัฐและราชการออก โดยเปลี่ยนมาสวมหมวก ‘can do attitude’ เพื่อร่วมมือและทำเพื่อเป้าหมาย คือ ประโยชน์ของประเทศ เพื่อสร้างระบบนิเวศของเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล ซึ่งสิ่งเหล่านี่ทำให้โครงการนี้เป็นการจุดไฟแห่งความหวังด้านความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคประชาชนขึ้นมาในใจของสตาร์ทอัพอีกครั้ง

วัฒนธรรม Hack กับ สตาร์ท

เมื่อพูดถึง Hackathon ผู้อ่านหลายท่านอาจจะไม่คุ้นเคย และไม่รู้ว่า Hackathon คืออะไร

คำว่า Hackathon นั้น มาจากคำภาษาอังกฤษ สองคำคือ แฮก (hack) + มาราธอน (marathon) คำว่า แฮก (hack) ฟังแล้วอาจจะน่ากลัว เพราะมาจากแนวคิดของการที่นักคอมพิวเตอร์พยายามหาช่อง เพื่อเจาะเข้าไปในระบบต่างๆ

แต่ในมุมของ Hackathon คำว่า แฮก สื่อในความหมายที่ให้มาแข่งกันหาช่อง เพื่อเจาะเข้าไปในระบบความคิดหรือแนวคิดแบบเดิมๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหา เพื่อหาทางออกให้กับโจทย์ที่ให้มา ถ้าจะให้เปรียบเปรยก็เหมือนว่า ถ้าพวกเราถูกขังในห้องปิดทักษะการ แฮก ก็คือการใช้ความคิดสร้างสรรค์หาช่องว่างของระบบ เพื่อหาทางออกอื่น นอกเหนือจากหากุญแจหรือรอคนอื่นมาเปิดประตูให้

ในขณะที่มาราธอน ก็คือมาใช้เวลาข้ามวันข้ามคืน แบบต่อเนื่องเพื่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่นวิ่งมาราธอน ดูหนังมาราธอน หรือกินมาราธอน ดังนั้น วัตถุประสงค์ของ Hackathon จึงเป็นการนำคนมาใช้เวลานานๆ โดยปกติ (3 วัน 2 คืน) เพื่อแก้โจทย์อะไรบางอย่าง ซึ่งวัฒนธรรมการแฮกนี้เป็นสิ่งปกติในการทำงานทุกวันของสตาร์ทอัพ ตั้งแต่หัวใจหลักของธุรกิจ จนถึงการดำเนินธุรกิจ เพราะธุรกิจสตาร์ทอัพ มุ่งเน้นที่จะหาปัญหาที่แท้จริงและหาโซลูชั่นที่จะแก้ปัญหานั้นด้วยวิธีใหม่ มุมมองใหม่ ไปสู่ลูกค้า เพราะการแก้ปัญหาด้วยวิธีแบบเดิม ย่อมไม่สามารถแก้ปัญหา  และแข่งขันกับคนในธุรกิจเดิมได้ นอกจากนี้ สิ่งที่สตาร์ทอัพทำมักจะเป็นวิธีการใหม่ที่มุ่งเพื่อเป้าหมาย โดยไม่ยึดติด กับวิธีการ

ดังนั้น ปัญหาที่ตามมาในส่วนของการดำเนินการและกระบวนการ จึงเป็นปัญหาแบบใหม่ที่ไม่มีใครเคยสอน วิธีการแก้ไข จึงต้องใช้แนวคิดของการแฮกเพื่อแก้ปัญหาที่ตามมาตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้เอง การแฮกจึงมีความเกี่ยวข้องกับแนวคิดและการดำเนินงานของสตาร์ทอัพ โดยหลายหน่วยงานในต่างประเทศก็มักจะจัดงาน Hackathon เพื่อดึงให้เหล่าสตาร์ทอัพมาช่วยหาทางออกให้กับโจทย์ขององค์กร

โจทย์ที่น่าสนใจ

อย่างไรก็ตามการที่จะทำการแฮกให้ได้ผลลัพท์ที่ดีในเวลาอันสั้น (3 วัน 2 คืน) การตั้งโจทย์ในการแฮกจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะการตั้งโจทย์ที่ถูกเท่ากับแก้ปัญหาไปแล้วครึ่งทาง อีกทั้งต้องเป็นโจทย์ที่น่าสนใจ พอที่จะดึงดูดให้คนอยากเข้ามาร่วมแก้ปัญหา

โดยที่กรอบของโจทย์ ไม่ควรจะกว้างจนเกินไป ที่ไม่ว่าจะทำอะไร ก็ถูกไปเสียหมด เช่น แฮกโจทย์ ‘การท่องเที่ยว’ แฮกโจทย์ ‘การเกษตร’ หรือ แฮกโจทย์ ‘การศึกษา’ โจทย์แบบนี้ จะทำให้ผลลัพท์ที่ได้ ไม่ได้แก้สิ่งใดเป็นรูปธรรม และทำให้ผู้เข้าแข่งไม่เห็นกรอบปัญหา หรือเป้าหมายที่ชัดเจน

อย่างไรก็ดี   การตั้งโจทย์ที่แคบเฉพาะเจาะจงเกินไป จนไม่มีเนื้อหาสำคัญพอให้แฮกเพื่อเข้าใจปัญหาได้ หรือเป็นปัญหาที่ทำอะไรไม่ได้ ก็ไม่เหมาะสม เพราะจะเป็นการจำกัดกรอบความคิดและวิธีการของผู้เข้าร่วมแฮก เช่น ทำอย่างไรให้คนให้คนไทยใช้บางแอพพลิเคชั่น
ของภาครัฐ ทั้งที่คนไม่มีความจำเป็นต้องใช้ ผลลัพธ์ที่ได้ส่วนใหญ่ก็จะกลายเป็นการจ่ายเงิน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนใช้ ทั้งที่ประชาชนไม่เห็นประโยชน์หรือคุณค่าของแอพพลิเคชั่นนั้นเลย

ในการจัดงานครั้งนี้ทีมจัดงานใช้เวลาไม่น้อยในการเลือกและคิดโจทย์ของ Hackatax รวมถึงอธิบายให้ทุกคน  ไม่ว่าจะเป็นกรมสรรพากร และผู้เข้าร่วม เข้าใจและเห็นโจทย์รวมถึงปัญหาไปในแนวทางเดียวกัน จนได้โจทย์ที่ว่า #ภาษีไทยถูกใจประชาชน หลังจากที่ทีมงาน

ทำการแฮกเบาๆ กับทีมของสรรพากรเพื่อหาปัญหาด้านภาษีของประเทศไทย เราค้นพบว่า ‘ภาษีไทยไม่ถูกใจประชาชน’ นี่คือเหตุผลที่ทำให้ประชาชนไม่ให้ความสำคัญในการจ่ายภาษี

โจทย์นี้ จึงมีความน่าสนใจตรงประเด็นที่ในอดีตที่ผ่านมา ภาครัฐมักจะใช้วิธีบังคับทางกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนจ่ายภาษีในรูปแบบที่รัฐกำหนดมา

แปลว่าที่ผ่านมาภาษีถูกออกแบบให้ถูกใจ ‘รัฐ’ และประชาชนต้องทำตาม มิใช่ออกแบบมาให้ประชาชนเข้าใจและเต็มใจที่จะจ่าย โจทย์ #ภาษีไทยถูกใจประชาชน จึงเป็นการเปิดแนวคิดว่า จะแฮกกระบวนการคิดของผู้เสียภาษีอย่างไร ถึงจะทำให้เขารู้สึกและเสียภาษีได้อย่างเป็นธรรมชาติ และจะแฮกกระบวนการคิดและข้อจำกัดของรัฐอย่างไร

หลายท่านอ่านถึงตรงนี้ อาจจะคิดขัดแย้งกับผู้เขียนบ้างว่า จะมีใครคิดหรือยอมเสียภาษีอย่างเป็นธรรมชาติ และถูกใจ เพราะพวกเราอาจถูกกรอบว่า ‘ไม่มีใครอยากเสียภาษี’ ฝังอยู่ในความคิด ผมอยากจะชวนคิดว่าในชีวิตประจำวันของเรามีค่าใช้จ่ายหลายเรื่องที่ไม่จำเป็น และในความเป็นจริงเราไม่อยากจ่ายมากกว่าภาษี

แต่  การออกแบบประสบการณ์ใช้งานทำให้เรารู้สึกว่าการจ่ายสิ่งนั้นทำให้แก้ปัญหาเราได้ เช่น ค่าใช้ห้องน้ำสาธารณะ หรือยอมจ่ายแพงให้กับบางเรื่อง เพื่อไม่ต้องเดินทางไกล หรือแม้แต่ค่าธรรมเนียมของบริการต่างๆ หากใช้แนวคิดเช่นนี้ ภาษีก็เป็นเฉกเช่นเดียวกัน ถ้าออกแบบให้เหมาะสมย่อมหาจุดร่วมระหว่างรัฐและประชาชนได้ คำถามนี้ก็เกิดขึ้น ตอนอธิบายโจทย์ให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันและกลุ่มสตาร์ทอัพ

ตัวอย่างหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาเพื่อเปิดทางในแนวคิดนี้คือ การตั้งคำถามว่า ‘ถ้าพรุ่งนี้ คนไทยไม่ต้องเสียภาษี ชีวิตของคนไทยจะเป็นอย่างไร?’ คำตอบที่ได้คือ เราจะไม่มีใครให้บริการดูและพื้นที่ส่วนกลาง บริการสาธารณะต่างๆ สุดท้ายต้องมีกลุ่มคนบางกลุ่มเข้ามาดูแล เช่น เอกชน หรือกลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งเราก็ต้องจ่ายอยู่ดี

ดังนั้น เราจะพบว่าเป็นไปไม่ได้เลย ที่เราจะไม่เสียภาษี แต่ประชาชนพร้อมที่จะจ่ายเท่าไหร่ที่จะไม่ทำให้รัฐมีปัญหาในการบริหาร อาจจะเป็นโจทย์ที่เราต้องช่วยกันคิด รวมถึงวิธีการเสียภาษีนั้น มีความยุ่งและยากมากแค่ไหน ประชาชนมีต้นทุนในการปฏิบัติตามให้ถูกต้องตามกฎหมายมากแค่ไหน สิ่งนี้กลุ่มสตาร์ทอัพเราเรียกว่า ‘แรงเสียดทาน (friction)’ พวกนี้จะเป็นประสบการณ์ และหลักคิดที่คอยรั้งไม่ให้ประชาชนยอมทำตามในสิ่งที่เราต้องการ

ดังนั้นกลุ่มผู้เข้าร่วมจึงเริ่มเห็นถึงโจทย์และปัญหาที่ชัดขึ้น คือ เราจะลดแรงเสียดทานเหล่านี้ช่วยให้ผู้เสียภาษีสะดวกที่สุดและอยู่ในขอบเขตของกฎหมายที่รับได้ ถึงจุดนี้ต้องขอขอบพระคุณกรมสรรพากรที่ยอมเปิดใจกว้าง รวมถึงเตรียมนโยบาย sandbox เพื่อให้กลุ่มผู้เข้าร่วมมั่นใจว่า สิ่งที่คิดมีโอกาสที่จะเกิดขึ้น แม้ว่าจะไม่เป็นไปตามกฎระเบียบปกติ และแสดงให้เห็นถึงความจริงจัง จริงใจ มุ่งมั่นของกรมสรรพากร ที่จะเข้ามาร่วมทำความเข้าใจและแก้ปัญหานี้จากมุมมองของภาคประชาชนด้วยกัน

ใครมา Hack และใครได้ประโยชน์

จากโจทย์ที่ตั้งมานั้น การคัดเลือกผู้เข้าร่วมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ต้องเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องธุรกิจ และภาษี จากหลายมุมมอง รวมถึงต้องเป็นกลุ่มคนที่มองเห็นปัญหาแบบที่โจทย์ต้องการ และได้ประโยชน์หากผลลัพท์ที่ออกมาสามารถเกิดได้จริง เพราะสิ่งนี้จะเป็นแรงผลักดันให้ทีมนำไปต่อยอดหลังจากจบกิจกรรม

Hackatax กลุ่มแรกที่จำเป็นต้องมี คือ ทีมงานเจ้าหน้าที่จากกรมสรรพากร เพราะคงไม่มีใครเข้าใจข้อจำกัดของระบบภาษี และน่าจะได้ประโยชน์หากปัญหานี้ถูกแก้ได้ ถัดมาคือกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่น่าจะมีความคิดแหวกแนว

โดยกิจกรรมครั้งนี้ เน้นเชิญชวนสตาร์ทอัพกลุ่มที่อาวุโสมีประสบการณ์ พูดง่ายๆ ไปเป็นกรรมการ Hackathon ที่อื่น ไปตัดสินคนอื่นมาเยอะใช่ไหม ไหนมาแฮกโชว์ให้ดูหน่อย แต่ในความเป็นจริงก็คือสตาร์ทอัพกลุ่มนี้น่าจะมีความเชี่ยวชาญในกระบวนการแฮก รวมถึงเข้าใจปัญหาเรื่องนี้ได้ดีกว่า ระดับนักเรียน และนักศึกษา เพราะน่าจะมีประสบการณ์ตรงจากการดำเนินธุรกิจของตนเอง หรืออาจจะเห็นปัญหาเหล่านี้จากลูกค้า

ดังนั้น กลุ่มสตาร์ทอัพน่าจะได้ประโยชน์ในเรื่องความสะดวกในการจัดการเรื่องภาษี และสามารถช่วยให้ลูกค้าสบายใจและลดภาระรวมถึงความยุ่งยากในการปฏิบัติตามระเบียบได้ นี่เองที่ทำให้สตาร์ทอัพจึงไปเชิญลูกค้าของตนมาเข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วย มีทั้งผู้ประกอบการ นักบัญชี รวมถึง ผู้สอบบัญชี

สังเกตได้ว่า เวทีนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ ประชาชน และสรรพากร มานั่งคุยนั่งคิดจากฝั่งเดียวกัน เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน หากกลุ่มคนผู้เข้าร่วมนี้หาจุดร่วมในการแก้ปัญหาได้ ผู้ที่ได้ประโยชน์ที่สุดคงไม่พ้นประเทศไทยที่ได้ทางออกที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของภาครัฐและภาคประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องดังกล่าวผ่านการร่วมคิดร่วมออกแบบซึ่งต่างจากเดิมที่รัฐคิดแล้วทำประชาพิจารณ์แบบไวๆ และประชาชนก็ยังงงๆ เพื่อรีบนำออกมาใช้

ผลงานที่น่าสนใจ

จากการแข่งขันทีมที่ได้รับรางวัลมี 4 ทีม แบ่งแนวทางและปัญหาได้ สองกลุ่มใหญ่ๆ คือ ภาษีบุคคลธรรมดา และภาษีนิติบุคคล

สองกลุ่มที่แก้ปัญหาบุคคลธรรมดา มีแนวทางลดความยุ่งยากในการยื่นภาษี ผ่านเทคโนโลยี e-wallet และใช้ธนาคารหรือสถาบันการเงินเป็นบุคคลที่สาม เพื่อยืนยันการเกิดขึ้นของรายได้และค่าใช้จ่ายของพ่อค้าและแม่ค้าออนไลน์ และลดความยุ่งยากเรื่องการกรอกแบบคำร้องต่างๆ รวมถึงยื่น ภงด. 90/91 ด้วย

อีกสองกลุ่มที่แก้ปัญหานิติบุคคล มีแนวทางในการลดความยุ่งยากในการปฏิบัติตามระเบียบสรรพากรเพื่อให้รายจ่ายต่างๆ สามารถทำได้ง่ายและได้รับการยอมรับให้เป็นค่าใช้จ่ายจากสรรพากร ผ่านเทคโนโลยี e-payment และ blockchain

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดให้กรมสรรพากรเข้ามากำกับและตรวจสอบรับรองแพลตฟอร์มสตาร์ทอัพว่าเป็นไปตามที่กรมสรรพากรต้องการ และให้สิทธิประโยชน์กับลูกค้าที่ใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้ว่าทำถูกต้อง เป็นคนที่กรมสรรพากรไว้ใจได้ และควรได้รับบริการที่พิเศษกว่าคนที่อยู่นอกระบบดิจิทัลเหล่านี้ เพราะกลุ่มคนที่ยอมมาอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลนี้มีความโปร่งใสกว่าเป็นการช่วยเพิ่มการอัตราการใช้งานระบบดิจิทัล และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย

บทสรุปและไปต่อ

การจัดกิจกรรม Hackatax ครั้งนี้ไม่ได้เหมือน Hackathon ทั่วไป เนื่องจากได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก ทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เริ่มต้นจาก ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ที่ติดตามพร้อมสนับสนุนทุกเรื่อง เข้าประชุมร่วมกำหนดรายละเอียด ผลักดันให้ทีมกรมสรรพากรหาข้อมูลมาให้ และผลักนโยบาย Sandbox ออกมาตอบโจทย์ทันทีหลังจบกิจกรรม Hackatax รวมถึงผู้บริหารกรมสรรพากร เจ้าหน้าที่ผู้จัดงาน เจ้าหน้าที่ผู้เข้าร่วม รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้านอื่นๆ ที่คอยสนับสนุนดึงข้อมูลและตอบรายละเอียดต่างๆ

ในกิจกรรมนี้ DEPA ได้ทำหน้าที่เป็นกาวประสานสิบทิศให้กลุ่มผู้เข้าร่วม และทีมกรมสรรพากร ลดกำแพงในใจ ช่วยจัดงานขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เพื่อให้ผลลัพท์ออกมา และสามารถเข้ามาอยู่ใน Sandbox รวมถึงความพยายามช่วยติดตามและผลักดันให้ออกมาใช้งานได้จริง รวมถึงกลุ่มผู้เข้าร่วม

โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพจากสมาคม Thailand Tech Startup ที่มาเข้าร่วมด้วยหัวใจที่อยากให้ประเทศดีขึ้นเปิดใจรับฟังความคิดของเจ้าหน้าที่จากกรมสรรพากรจนมองเห็นและเข้าใจถึงเหตุผลต่างๆ จากกิจกรรมนี้ สำหรับผมทำให้ได้เรียนรู้ว่า ‘ความเชื่อใจ (Trust) ระหว่างรัฐและประชาชน’ คือ สิ่งที่ขาดไปและทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าลำบาก เราลืมคิดไปว่า หากรัฐเสียหายประชาชนก็ลำบาก หากประชาชนเสียหายรัฐก็ลำบาก

ดร.พณชิต  กิตติปัญญางาม
ผู้เขียน

นายกสมาคม Thailand Tech Startup Association

ดังนั้นการที่เราพยายามเข้าใจและหาทางออกร่วมกัน จะช่วยให้เราอยู่ด้วยกันได้ พัฒนาไปด้วยกัน และสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ สิ่งนี่น่าจะใช้ได้กับทุกเรื่องเหมือนที่เกิดขึ้นกับ Hackatax ขอแค่เราต้องจริงจัง จริงใจ ตั้งโจทย์ร่วมกันให้ถูก และเห็นเป้าหมายที่ต้องการร่วมกันให้ได้

Photo by Braden Collum on Unsplash