บทความโดย
ชัยวัฒน์ ปะสุนะ
หากกล่าวถึงประเทศสยามในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เป็นช่วงเวลาที่ประเทศกำลังพัฒนาก้าวสู่มาตรฐานตะวันตก อันเป็นผลสืบเนื่องจากการแผ่ขยายลัทธิล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก กระทั่งสามารถยึดครองดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอาณานิคม ซึ่งอิทธิพลจากระบอบการปกครองของเจ้าอาณานิคมตะวันตกได้สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่รัฐพื้นเมือง กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบ “รัฐจารีต” ให้พัฒนาสู่ “รัฐอาณานิคมสมัยใหม่” ดังจะเห็นได้ว่าเกิดการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน และปรับเปลี่ยนรูปแบบสังคมพื้นเมืองให้มีความทันสมัยมากขึ้น “ภาวะความเป็นสมัยใหม่” จึงถือกำเนิดขึ้นในการรับรู้ของชนชั้นนำสยาม กระทั่งเป็นแรงผลักดันสำคัญสู่การปฏิรูปประเทศ (Evolution) หรือพระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนิยามว่าเป็นการปฏิวัติ (Revolution) (ดำรงราชานุภาพ, 2495, หน้า 97)
ภาพรวมของการปฏิรูปการปกครองส่วนใหญ่ มักจะกล่าวถึงด้านการปฏิรูปโครงสร้างการปกครองและการวางรูปแบบหน่วยงานราชการเป็นสำคัญ แต่ทว่ารัชกาลที่ 5 ยังได้ปฏิรูปเงินตราและรูปแบบของเงินตราให้มีความทันสมัยมากขึ้นด้วย แม้ว่าก่อนหน้านั้นราษฎรสยามยังคงใช้เงินตราประเภทเหรียญกษาปณ์ และนิยมใช้ตั๋วเงินซึ่งทำจากกระดาษ แต่ทว่าสิ่งที่รัชกาลที่ 5 ได้ปฏิรูปการใช้เงินกระดาษใน พ.ศ. 2423 เรียกว่า “อัฐกระดาษ” กระทั่ง พ.ศ. 2445 ได้ปรับปรุงธนบัตรอีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้เงินและธนบัตรที่มีความใกล้เคียงกับธนบัตรในยุคปัจจุบัน โดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ธนบัตรขั้นสูงเช่นเดียวกับธนบัตรในตะวันตก รวมทั้งปรับเปลี่ยนสัดส่วนของสกุลเงินบาทให้มีความเป็นสากล (จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2551, หน้า 18)
มูลเหตุสำคัญของการดำเนินการปฏิรูปการใช้ธนบัตร ล้วนเกี่ยวข้องกับบริบทการเข้ามาของระบอบอาณานิคมในประเทศสยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบอบอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งมีอาณานิคมส่วนใหญ่ขนาบพื้นที่ด้านตะวันตกของประเทศสยาม ตั้งแต่ในพม่าและจรดแหลมมลายู ประกอบกับเมื่อพิจารณาถึงบทบาททางเศรษฐกิจของอังกฤษ และคนในบังคับอังกฤษที่ประกอบอาชีพภาคธุรกิจในสยามมีจำนวนมาก เช่น การค้าขาย การขนส่งสินค้า การสัมปทานป่าไม้สัก การสัมปทานเหมืองแร่ดีบุก ฯลฯ (ฮอลล์, 2549, หน้า 628) ส่งผลให้อังกฤษสามารถครองสัดส่วนอิทธิพลทางเศรษฐกิจในประเทศสยาม ดังจะเห็นได้จากตามมณฑลต่างๆ ที่สะท้อนการเผชิญกับระบอบอาณานิคมอังกฤษ โดยใช้เงินจากอาณานิคมอังกฤษเป็นสกุลเงินหลัก เช่น สกุลเงินรูปี (Rupee) ซึ่งใช้แพร่หลายทางสยามตอนเหนือ และสกุลเงินดอลลาร์ช่องแคบ (Straits dollar) ซึ่งใช้แพร่หลายทางสยามตอนใต้ เป็นต้น
ฉะนั้นการที่เงินตราส่วนใหญ่ในประเทศอยู่ภายใต้สกุลเงินจากอาณานิคมของอังกฤษ สร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจสยาม และอัตราแลกเปลี่ยนเงินเหล่านี้ค่อนข้างมีมูลค่าสูงกว่าเงินสกุลบาท หากพิจารณาจากมุมมองทางรัฐศาสตร์ ทำให้เห็นได้ว่าอธิปไตยทางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศสยามได้รับการคุกคาม เปรียบเสมือนกับการตกเป็นอาณานิคมทางเศรษฐกิจและการเงิน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้นโยบายทางด้านการปฏิรูปการเงิน จึงได้รับการบรรจุลงไปยังแผนงานของรัฐบาลสยาม เพื่อต้องการสร้างอธิปไตยทางอำนาจการเมืองโดยผ่านการเงิน และส่วนหนึ่งการได้รับแรงปะทะความเป็นสมัยใหม่ ส่งผลให้รัฐบาลสยามเริ่มปรับเปลี่ยนและให้ความสนใจในเทคโนโลยีการพิมพ์ธนบัตร
กำเนิดกรมธนบัตร
การบริหารราชการของรัฐบาลสยามตั้งแต่ พ.ศ. 2442 สยามเริ่มตระหนักได้ว่าควรจัดตั้งหน่วยงาน ซึ่งมีหน้าที่ราชการเฉพาะเกี่ยวกับการรับแลกและจำหน่ายธนบัตรของรัฐบาลให้แก่ราษฎร ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะขอยืมตัวข้าราชการจากอาณานิคมอังกฤษในอินเดีย (British Raj; บริติชราช) เพื่อให้ช่วยมาวางรากฐานราชการด้านการเงิน และจัดตั้งกรมที่ดูแลเกี่ยวกับเงินตราโดยเฉพาะ รัฐบาลสยามจึงได้ส่งหนังสือราชการไปขอยืมตัวมิสเตอร์ ว. ย. ฟ. วิลเลียมซัน (Mr. Williamson) เจ้าพนักงานปฏิบัติราชการกระทรวงการคลังของรัฐบาลบริติชราช เขาได้ออกเดินทางล่องเรือข้ามสมุทรมาถึงประเทศสยามในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2443 นับตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าวจึงถือเป็นช่วงเริ่มรับราชการให้แก่รัฐบาลสยาม อีกทั้งได้รับมอบหมายหน้าที่หลัก 3 ประการ ได้แก่ 1) การจัดตั้งหน่วยราชการที่ทำหน้าที่ดูแลเงินตรา 2) การเรียบเรียบและตรากฎหมายข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้เงินตรา และ 3) จัดจ้างและเป็นธุระดำเนินการจัดพิมพ์แผ่นธนบัตร
กระบวนการในการจัดพิมพ์ธนบัตรถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นจุดประสงค์อันแท้จริงที่รัฐบาลสยามต้องการให้เกิดขึ้นเพื่อปฏิรูปด้านการเงิน แต่ทว่ากระบวนการจัดพิมพ์และจัดส่งธนบัตรมายังกรุงเทพฯ ดำเนินการล่าช้าและมีอุปสรรคมาก อันเนื่องมาจากเมื่อถึงขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง รัฐบาลสยามจะต้องให้ส่งตัวอย่างธนบัตรมาตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้กระบวนการผลิตต้องยุติจนกว่าจะตรวจสอบในขั้นตอนนั้นเสร็จ ตั้งแต่มิสเตอร์วิลเลียมซันเริ่มปฏิบัติราชการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2443 ธนบัตรดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2445 รวมระยะเวลาในการผลิตต้นฉบับถึง 2 ปี อนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าด้านการออกพระราชบัญญัติจัดตั้งกรมธนบัตร และรับรองสถานะธนบัตรเป็นเงินของแผ่นดินประกาศแล้วตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2445 (พระราชบัญญัติธนบัตร์, 2445, หน้า 226) แต่กว่าที่แผ่นธนบัตรที่สั่งพิมพ์จะแล้วเสร็จก็ล่วงมาถึงเดือนสิงหาคม
เมื่อรัฐบาลได้ดำเนินการจัดเตรียมงานเกี่ยวกับการเปิดตัวธนบัตร พร้อมกันในงานพิธีเปิดกรมธนบัตรในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2445 แต่ทว่าเป็นช่วงที่รัชกาลที่ 5 ไม่สามารถเสด็จพระราชดำเนินมาได้ เนื่องจากประชวร (สำเนาพระราชหัตถเลขา, 2445, หน้า 532) ฉะนั้นพระองค์จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดชเป็นองค์ประธานแทนในงานพิธี ต่อหน้าที่ประชุมพระบรมวงศานุวงษ์ ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ ข้าราชการ และผู้ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบหน่วยงานต่างๆ (การเปิดกรมธนบัตร์, 2445, หน้า 529)
ในขณะนั้นมิสเตอร์วิลเลียมซัน รับราชการเป็นเจ้าหน้าที่กรมธนบัตร ได้นำธนบัตรรูปแบบใหม่ที่ได้จัดพิมพ์สำเร็จแล้วถวายสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช เพื่อจะได้นำทูลเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 5 เป็นของที่ระลึกในงานพิธีเปิดกรมธนบัตร ชุดธนบัตรที่ระลึก 1 สำรับ ประกอบด้วย ธนบัตรจำนวน 5 บาท 10 บาท 20 บาท 100 บาท และ 1,000 บาท เมื่องานพิธีแล้วเสร็จ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดชได้เสด็จพร้อมกับคณะผู้ร่วมพิธีบางท่าน เสด็จไปยังห้องสำหรับรับและจ่ายธนบัตร และได้พากันซื้อธนบัตรรูปแบบใหม่ไปเป็นที่ระลึก นอกจากนี้ก่อนที่จะเสด็จกลับ กรมธนบัตรรายงานแจ้งยอดจำนวนการแลกเปลี่ยนธนบัตรรูปแบบใหม่ได้จำนวน 3,920 บาท
ธนาภิวัตน์: พลวัตของธนบัตรสยามสมัยใหม่
เมื่อสามารถจัดตั้งกรมธนบัตรได้แล้ว ภารกิจช่วงแรกของการปฏิรูปเงินตรา คือ การแลกเปลี่ยนธนบัตรแบบเก่าให้เป็นธนบัตรที่ผลิตออกมาใช้ใหม่ รวมถึงแลกเปลี่ยนทรัพย์สินเป็นเงินตรา เพื่อสร้างความนิยมให้แก่ราษฎรในการใช้ธนบัตร อีกทั้งเพื่อสร้างความคุ้นชินในธนบัตรรูปแบบใหม่นี้ โดยเริ่มเปิดให้บริการรับแลกธนบัตรแก่ราษฎรตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2445 เป็นวันปฐมฤกษ์ ซึ่งผลของการดำเนินงานวันแรกที่เปิดให้แลกธนบัตร มีจำนวนยอดแลกเงินตลอดทั้งวันรวม 62,410 บาท รัฐบาลสยามพยายามที่จะกระจายการใช้เงินสกุลบาทและธนบัตรของรัฐบาล โดยกำหนดจัดทำรายงานประจำท้ายแต่ละเดือน จะเห็นได้ว่าการปรับรูปแบบเงินตราเป็นธนบัตรได้รับความนิยมแพร่หลายจากราษฎร ดังรายงานของกรมธนบัตรประจำปี พ.ศ. 2445 ดังตารางที่ 1
วันที่สรุปรายงาน | ราคาธนบัตรที่ออก (บาท) |
---|---|
30 กันยายน 2445 | 312,575 |
31 ตุลาคม 2445 | 1,014,040 |
30 พฤศจิกายน 2445 | 1,688,395 |
31 ธันวาคม 2445 | 2,361,770 |
1 มกราคม 2445 (2446) | 3,355,995 |
28 กุมภาพันธ์ 2445 (2446) | 3,591,985 |
31 มีนาคม 2445 (2446) | 3,479,105 |
ที่มา รายงานว่าด้วยการธนบัตร์สยาม, (2446)
จากตารางข้างต้น จะสังเกตได้ว่าความนิยมในการใช้ธนบัตรของประเทศสยาม มีจำนวนลดน้อยลงในช่วงปลายปี (ตุลาคม-ธันวาคม) และทรงตัวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีจำนวนธนบัตรใกล้เคียงกับเดือนมกราคม ต่างกันประมาณ 236,000 บาท เมื่อคิดเป็นอัตราเฉลี่ยความนิยมในการใช้ธนบัตร ไม่สามารถเทียบได้กับ 4 เดือนก่อน ซึ่งเฉลี่ยจ่ายธนบัตรไปประมาณเดือนละ 760,000 บาท นอกจากนี้ในช่วงเดือนมีนาคม การจำหน่ายธนบัตรได้ลดลงกว่าเดือนกุมภาพันธ์ถึง 112,880 บาท ในช่วงที่มีธนบัตรออกใช้ทั่วไปในบ้านเมืองมากที่สุดเป็นช่วงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ในวันดังกล่าวนี้รัฐบาลจำหน่ายธนบัตรไปถึง 3,966,310 บาท มากกว่าวันที่ 31 มีนาคมเกือบถึง 500,000 บาท
รัฐบาลสยามตั้งเป้าหมายในการให้ประชาชนแลกเปลี่ยนเงินมาใช้เป็นธนบัตรแบบใหม่ ภายในสิ้นปีราชการ พ.ศ. 2445 (วันที่ 31 มีนาคม 2445 (2446)) ไว้ที่ 5,000,000 บาท แต่อย่างไรก็ตามกลับสามารถดำเนินการได้จริงเพียง 3,479,105 บาท และโดยภาพรวมในการประเมินผลสำเร็จของกรมธนบัตร ค่อนข้างพึงพอใจกับความก้าวหน้าด้านการปฏิรูปการเงิน ดังที่ได้กล่าวไว้ในรายงานของกรมธนบัตรประจำปี พ.ศ. 2446 แสดงทรรศนะของมิสเตอร์วิลเลียมซัน ผู้แทนที่ปรึกษากระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ความว่า
“…ก็ควรนับได้ว่าเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่งสำหรับการ 6 เดือนกว่าๆ เท่านั้น และเป็น เครื่องชี้ให้เห็นว่าการธนบัตร์ที่จัดขึ้นทั้งนี้เปนของประกอบแก่ความต้องการของบ้านเมืองอย่างหนึ่ง ความเจริญของการธนบัตร์ (ซึ่งเห็นด้วยเกล้าฯ ว่ารัฐบาลสมควรชมตนเอ็งได้นั้น) ก็ยิ่งปลาดมากขึ้น เมื่อมาพิเคราะห์ถึงความที่ต้องย่อมขันแข่งกับธนบัตร์ของธนาคารต่างประเทศสามธนาคาร ที่มีสาขาตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และทั้งความที่รัฐบาลมิได้ข่มขืนให้ใช้ธนบัตร์ของ รัฐบาลอย่างใดเลย…”
(รายงานว่าด้วยการธนบัตร์สยาม, 2446, หน้า 3)
นอกจากนี้ตั้งแต่ช่วงที่นำธนบัตรแบบใหม่เข้ามาใช้งาน รัฐบาลสยามยังคงเปิดโอกาสเสรีให้สิทธิ์แก่ข้าราชการที่จะเลือกรับเงินเดือนทั้งเป็นธนบัตรแบบใหม่ หรือเลือกรับตั๋วเงิน (ธนบัตรและตั๋วเงินแบบเดิม) รวมถึงพระคลังมหาสมบัติด้วยที่จะเลือกรับเงินตามแต่ความสะดวก ทั้งนี้ธรรมเนียมที่พระคลังฯ ต้องการแลกธนบัตรจำนวนเท่าใด ต้องนำเงินรูปแบบเดิมมาแลกจึงจะสามารถออกธนบัตรให้ได้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเครื่องรับประกันได้ว่าจะไม่มีเงินกระดาษ (ธนบัตรแบบใหม่) สะสมค้างไว้ในท้องพระคลังฯ มากมาย กระทั่งอาจจะสร้างความนิยมการใช้ธนบัตรแบบใหม่มากเกินความเป็นจริงไปได้ โดยตามความเป็นจริงแล้วจำนวนธนบัตรที่ถูกครอบครองโดยพระคลังฯ มีจำนวนน้อยมากประมาณ 50,000 บาท เนื่องจากพระคลังฯ จะแลกธนบัตรแบบใหม่มาใช้ในกรณีที่เกิดความจำเป็นจริงๆ แต่โดยส่วนใหญ่จะเปิดโอกาสให้ราษฎรแลกธนบัตร เพื่อทำให้ธนบัตรแบบใหม่แพร่หลายและกระจายสู่เศรษฐกิจท้องถิ่นเป็นสำคัญ
ช่วงเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคม พ.ศ. 2445 (2446) เป็นช่วงที่บรรดาธนาคารทั้งหลายได้นำธนบัตรแบบเก่า มาแลกเป็นธนบัตรแบบใหม่ จึงส่งผลกระทบให้จำนวนเงินตราในท้องตลาดฝืดเคืองในช่วงปลายปี เนื่องจากสยามมีจำนวนสินค้าขาออกจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องการเงินสดไปใช้จ่ายในระบบตลาดเพิ่มมากขึ้นด้วย เมื่อธนาคารนำเงินไปแลกเป็นธนบัตรพร้อมกัน ส่งผลให้ธนบัตรของรัฐบาลขาดแคลน จึงทำให้การแลกเปลี่ยนธนบัตรชะงักลงชั่วคราว ในช่วงที่เศรษฐกิจดีจะมีการแลกธนบัตรจำนวนมากขึ้นด้วย ความนิยมในการใช้ธนบัตรแพร่หลายอย่างยิ่ง
ราษฎรและธนาคารต่างประเทศในกรุงเทพฯ ล้วนเกิดกระแสความนิยมแลกธนบัตรมาใช้ ส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานการใช้งาน เนื่องจากธนบัตรแบบใหม่มีน้ำหนักเบาจึงสามารถเก็บสะสมได้จำนวนทีละมากๆ สามารถหยิบใช้ได้สะดวกคล่องมือ และลดพื้นที่การจัดเก็บ ถ้าหากว่าธนบัตรแบบใหม่หมดลง สามารถนำเงินตราในรูปแบบเดิมไปแลกที่กรมธนบัตรได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นความสะดวกในการปฏิรูปการใช้ธนบัตรแบบใหม่ จึงมีความนิยมเพิ่มมากขึ้น และการจัดทำระบบเงินตราดังกล่าวทำได้เพียงเฉพาะภาครัฐบาลเท่านั้น ธนาคารเอกชนถ้าหากจะใช้วิธีการเลียบแบบการออกธนบัตร จะไม่สามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นแรงผลักดันให้การปฏิรูปเงินตราและกิจการของกรมธนบัตรดำเนินไปได้อย่างดี
อนึ่งจำนวนธนบัตรแบบใหม่ที่ประกาศให้ราษฎรมาแลกไปใช้งานได้ใน พ.ศ. 2445 โดยขอยกตัวอย่างการแลกธนบัตรในรายงานสรุปลงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2445 (2446) มีจำนวนทั้งสิ้น 116,819 ฉบับ รวมราคา 3,479,105 บาท โดยมีรายละเอียดดังแผนภูมิที่ 1
จากแผนภูมิข้างต้น สามารถคิดเป็นสัดส่วนร้อยละตามความนิยมในการแลกธนบัตรแบบใหม่ตามความนิยม ดังนี้ ธนบัตร 10 บาท คิดเป็นร้อยละ 40.6, ธนบัตร 5 บาท คิดเป็นร้อยละ 27, ธนบัตร 20 บาท คิดเป็นร้อยละ 19.9, ธนบัตร 100 บาท คิดเป็นร้อยละ 11.6 และธนบัตร 1,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 0.9 จะเห็นได้ว่าธนบัตรที่มีมูลค่าสูงไม่เป็นที่นิยมสำหรับราษฎรทั่วไป ฉะนั้นจึงมีสัดส่วนไม่ถึง 1 ใน 100 ส่วน แต่ทว่าถ้าหากจะพิจารณาธนบัตรที่เป็นชนิด 100 บาท ลงมาจะทำให้เห็นสัดส่วนธนบัตรขนาดย่อม ครองสัดส่วนใช้งานถึงร้อยละ 70.45 และอีกร้อยละ 29.55 ถือเป็นธนบัตรประเภทราคา 1,000 บาท จึงพออนุมานได้ว่าความนิยมในการหันมาใช้ธนบัตรของราษฎรเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จทางด้านนโยบายและการปฏิรูปเงินตราของรัฐบาลสยาม ธนบัตรราคาไม่สูงมากได้รับความนิยมใช้งาน เนื่องจากสามารถแลกเปลี่ยนและใช้จ่ายได้ง่ายและสะดวก จึงสามารถทำให้เห็นได้ว่าการใช้ธนบัตรนั้น ถือเป็นนโยบายที่สร้างประโยชน์และนำมาผาสุกมาสู่ราษฎรอย่างยิ่ง
นอกจากนี้การใช้งานธนบัตรแบบใหม่ที่พึ่งออกใช้งานได้ไม่นาน แต่ทว่ากรมธนบัตรได้จัดระเบียบการแลกเงินใหม่เหล่านี้ที่ชำรุดให้แก่ราษฎรอีกด้วย โดยการเก็บสถิติใน พ.ศ. 2445 ระบุว่าธนบัตรแบบใหม่ที่ราษฎรนำมาแลกใหม่มีจำนวน 34,150 ฉบับ มีธนบัตรที่ไม่สามารถนำมาหมุนใช้ในระบบได้ต่อไปถึง 908 ฉบับ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนธนบัตรที่ต้องเลิกใช้ร้อยละ 2.6 เมื่อพิจารณาตัวเลขในปีแรกที่เปิดให้ใช้ธนบัตรแบบใหม่นี้ยังมีธนบัตรเสียจำนวนน้อย เนื่องจากธนบัตรที่ราษฎรนำมาแลกที่กรมธนบัตร ยังเป็นเงินที่ใหม่อยู่ แต่ในอนาคตจำนวนธนบัตรชำรุดจะมากขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากว่ากฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ว่า ถ้าหากธนบัตรฉบับใดเปื้อนห้ามราษฎรนำไปใช้จ่ายต่อไป และให้นำมาแลกเปลี่ยนเป็นฉบับใหม่ที่กรมธนบัตร ระเบียบดังกล่าวกำหนดขึ้นมาเพื่อป้องกันการปลอมแปลงธนบัตร (ประกาศกรมธนบัตร์, 2446, หน้า 555)
โดยสรุปแล้วตั้งแต่ก่อตั้งกรมธนบัตร รัฐบาลสยามได้ลงทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการปฏิรูปเงินตราโดยใช้ธนบัตรที่พิมพ์ด้วยเทคโนโลยีต่างประเทศ รวมเงินค่าราชการกรมธนบัตรทั้งสิ้น 149,521.28 บาท โดยมีรายละเอียดสรุปค่าใช้จ่ายสังเขปดังนี้ พ.ศ. 2443 จ่ายเงินเดือนข้าราชการ 16,635.43 บาท เงินปฏิบัติราชการ 4,222.9 บาท จ่ายค่าจัดการที่ว่าการกรมธนบัตร 20,006 บาท และซื้อกำปั่นเหล็ก 42,058.50 บาท, พ.ศ. 2444 จ่ายเงินเดือนข้าราชการ 27,258.46 บาท เงินปฏิบัติราชการ 4,153.29 บาท จ่ายค่าจัดการที่ว่าการกรมธนบัตร 5,109.32 บาท และซื้อกำปั่นเหล็ก 39,031.41 บาท และ พ.ศ. 2445 จ่ายเงินเดือนข้าราชการ 36,374.46 บาท เงินปฏิบัติราชการ 10,690.30 บาท และจ้างพิมพ์ธนบัตร 68,431.1 บาท โดยภาพรวมค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นในการจัดปฏิรูปเงินตราสยาม พ.ศ. 2443-2445 เป็นจำนวนเงิน 149,521.28 บาท อนึ่งจำนวนค่าใช้จ่ายราชการเหล่านี้ไม่รวมการจัดสร้างบ้านเจ้ากรมธนบัตร
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 ตอนปลายรัชสมัยเป็นช่วงเวลาสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์สยาม ซึ่งเกิดเหตุการณ์การปฏิรูปด้านเงินตรา และนับเป็นปฐมเหตุในประวัติศาสตร์สยามในการนำเทคโนโลยีตะวันตกเข้ามาปรับใช้กับเงินตราสยาม โดยการผลิตธนบัตรรูปแบบใหม่ที่มีความทันสมัยและสอดคล้องกับความนิยมตามยุคสมัย โดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสยามและอาณานิคมอังกฤษในเอเชีย ดังจะเห็นได้จากการได้รับความช่วยเหลือในการยืมตัวข้าราชการคนสำคัญ คือ มิสเตอร์วิลเลียมซันพนักงานการคลังในอาณานิคมบริติชราช มาเป็นผู้วางรากฐานกรมธบัตร และดำเนินการจัดพิมพ์ธนบัตรในรูปแบบที่ทันสมัย โดยใช้วิทยาการและจัดพิมพ์ธนบัตรจากตะวันตก ซึ่งถือว่าเป็นความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศอย่างหนึ่งในมิติด้านการเงินและเศรษฐกิจของชาวสยาม ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่ารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เป็นผู้ทรงริเริ่มในการวางรากฐานการใช้ธนบัตรสมัยใหม่แก่ราษฎร อันจะส่งผลสืบเนื่องมาจนถึงรูปแบบธนบัตรที่ใช้งานในปัจจุบัน
เอกสารอ้างอิง
การเปิดกรมธนบัตร์. (2445, 28 กันยายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 19 ตอน 26, หน้า 528-529.
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2551). พระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 5 ที่เกี่ยวกับการพัฒนา ประเทศ. กรุงเทพฯ: สถาบันดำรงราชานุภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยกระทรวงมหาดไทย.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2495). เทศาภิบาล. พระนคร: คลังวิทยา.
ธนบัตรหมุนเวียน ยุครัชกาลที่ 5.(ม.ป.ป.). Siambanknote.com. http://www.siambanknote.com/banknote-appraisal/th-1st-series-20baht-thaibanknote-price.htm
ประกาศกรมธนบัตร์. (2446, 22 พฤศจิกายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 20 ตอน 34, หน้า 555.
พระราชบัญญัติธนบัตร์. (2445, 29 มิถุนายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 19 ตอน 13, หน้า 221-226
รายงานว่าด้วยการธนบัตร์สยาม. (2446, 27 มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 20 ตอน ฉบับพิเศษ 0, หน้า 1-7.
สำเนาพระราชหัตถเลขา. (2445, 28 กันยายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 19 ตอน 26, หน้า 531-532.
ฮอลล์, ดี. จี. อี. (2549). ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: สุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์ภาคพิสดาร. พิมพ์ครั้งที่ 3, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (บก.). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
ชัยวัฒน์ ปะสุนะ
นิสิตหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
chaiwatpasuna@gmail.com
ผู้เขียน