บทความโดย
เมวลี เทียมเทศ
ฑิตฐิตา ปิ่นตบแต่ง
บทนำ
ประกันภัยถือเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินซึ่งมีไว้ใช้สำหรับการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ทำประกันภัยที่ได้รับจากความเสียหายจากความเสี่ยงในรูปแบบต่าง ๆ ในรูปของการค่าสินไหมทดแทน ทั้งนี้ กรมธรรม์ประกันภัยเป็นสัญญาข้อตกลงระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย คือ ผู้รับประกันภัย กับ ผู้เอาประกันภัย ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องรับผิดชอบในสัญญานั้น (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย, 2565) โดยในสัญญาประกันภัยจะมีผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ดังนี้ “(1) ผู้รับประกันภัย (Insurer) เป็นบริษัทประกันภัยที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีหน้าที่ชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยจากภัยที่เกิดขึ้นตามเงื่อนไขในสัญญา (2) ผู้เอาประกันภัย (Insured) หรือผู้ถือกรมธรรม์ (Policy Holder) เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ มีหน้าที่ส่งเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้รับประกันภัยจนครบกำหนดตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา และ (3) ผู้รับผลประโยชน์ (Beneficiary) เป็นบุคคลที่ถูกระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ให้เป็นผู้ได้รับค่าสินไหมทดแทนซึ่งผู้รับผลประโยชน์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความต้องการของผู้เอาประกันภัย โดยผู้รับผลประโยชน์อาจเป็นคนเดียวกับผู้เอาประกันภัยก็ได้”
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แบ่งการประกันภัยออกเป็น 2 ประเภท คือ (1) การประกันชีวิต (Life Insurance) และการประกันวินาศภัย (Non-Life Insurance) โดยการประกันชีวิต (Life Insurance) หมายถึง (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย, 2565) การที่บุคคลผู้หนึ่งเรียกว่า “ผู้เอาประกันภัย” ได้จ่ายเงินจำนวนหนึ่งเรียกว่า “เบี้ยประกันภัย” ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ให้กับบริษัทประกันชีวิต เพื่อซื้อความคุ้มครองการเสียชีวิต ครอบคลุมไปถึงการสูญเสียอวัยวะ การทุพพลภาพ การบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย ภายในเวลาที่กำหนด หรือมีอายุยืนยาวจนครบกำหนดตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ บริษัทประกันจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเรียกว่า “จำนวนเงินเอาประกันภัย” ให้แก่ “ผู้รับผลประโยชน์” หรือผู้เอาประกันภัยแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เงื่อนไขความคุ้มครองจะมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับการเลือกซื้อตามความเหมาะสมของผู้เอาประกันภัยเป็นหลัก และ (2) การประกันวินาศภัย หมายถึง การประกันภัยทุกประเภทที่นอกเหนือจากการประกันชีวิต โดยผู้รับประกันภัยตกลงจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้ผู้เอาประกันภัยหากทรัพย์สินที่ทำประกันภัยเอาไว้เกิดความสูญเสีย หรือ เสียหายจากภัยต่าง ๆ ซึ่งความเสียหายนั้นสามารถประเมินค่าเป็นตัวเงินได้
นอกเหนือจากความหมายของธุรกิจการประกันภัยที่แตกต่างกันตามที่กล่าวไปแล้ว การประกันภัยทั้ง 2 ประเภท ยังมีหลักเกณฑ์และมีการกำกับดูแลภายใต้กฎหมายที่แตกต่างกันด้วย โดยการประกอบธุรกิจประกันชีวิตอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมสำหรับการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม”
เนื้อเรื่อง : ปัจจัยที่ควรพิจารณาในการทำประกันภัย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายคนยังมองว่า การทำประกันภัยเป็นการจ่ายเงินที่ไม่คุ้มค่า และหลายคนอาจมีประสบการณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับการให้ข้อมูลของตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย ซึ่งสาเหตุหนึ่งของเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่ผู้เอาประกันภัยได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำประกันภัย และซื้อประกันภัยที่ไม่ได้ตรงกับความต้องการของตนเอง ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาเหล่านี้ได้คือการเข้าใจปัจจัยที่ควรพิจารณาในการทำประกันภัย ซึ่งผู้เขียนจะกล่าวดังต่อไปนี้
1. การพิจารณาปัจจัยความเสี่ยงของแต่ละบุคคล
ก่อนที่บุคคลจะตัดสินทำประกันภัยอาจต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงเฉพาะของตัวแต่ละบุคคลเนื่องจากแต่ละคนอยู่ในสถานะและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน มีพฤติกรรมแตกต่างกัน และมีเป้าหมายในการดำรงชีวิตที่ต่างกัน จึงส่งผลต่อรูปแบบและระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ หากจะกล่าวถึงความเสี่ยงว่ามีความเสี่ยงใดบ้างที่แต่ละบุคคลต้องพบเจอก็อาจกล่าวได้ไม่หมดเนื่องจากมีความหลากหลายมาก ในที่นี้ผู้เขียนจึงจะยกตัวอย่างความเสี่ยงที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวันและบุคคลสามารถบริหารความเสี่ยงโดยการถ่ายโอนความเสี่ยงไปให้กับบริษัทรับประกันภัยได้ ดังต่อไปนี้
1.1 ความเสี่ยงด้านสุขภาพ
ความเสี่ยงด้านสุขภาพจัดเป็นความเสี่ยงทั่วไปที่เกือบทุกคนจะต้องพบเจอ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีคนไทยมีปัญหาด้านสุขภาพมากขึ้น โดยจากข้อมูลด้านสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ตั้งแต่ปี 2553 – 2563 คนไทยมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2553 มีจำนวนผู้ป่วยในเพียง 11 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งในปี 2563 มีจำนวนผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 21 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตค ดังนั้น ความเสี่ยงด้านสุขภาพจึงเป็นความเสี่ยงที่ไม่อาจละเลยได้ เพราะนอกจากจะเป็นความเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นได้มาก ยังทำให้บุคคลต้องสูญเสียรายได้ในการประกอบอาชีพ และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ทั้งนี้ บุคคลสามารถถ่ายโอนความเสี่ยงด้านสุขภาพได้โดยการทำประกันที่ให้ความคุ้มครองสุขภาพ เพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้น โดยหากบุคคลเกิดปัญหาด้านสุขภาพขึ้นและทำประกันภัยไว้ สิ่งที่บุคคลจะได้รับคือค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย หรือถ้ากล่าวอย่างง่ายก็คือค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนั่นเอง อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงการบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพไม่ได้มีเพียงแค่การทำประกันเท่านั้นแต่ยังสามารถทำได้โดยการหลักเลี่ยงหรือลดความเสี่ยงโดยการดูและสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอได้อีกด้วย
1.2 ความเสี่ยงด้านการมีอายุยืนยาว
หากกล่าวถึงความเสี่ยงด้านอายุยืนยาวหลายคนอาจมองว่า การมีอายุยืนไม่น่าจะเป็นความเสี่ยงแต่ในความเป็นจริงนั้น สำหรับผู้ที่มีทรัพย์สินไม่มากหรือไม่ได้วางแผนด้านการเงินไว้ก่อน การมีอายุยืนถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญอย่างหนึ่ง เนื่องจากเมื่อบุคคลหยุดประกอบอาชีพในช่วงอายุประมาณ 60 ปีหรือมีการเกษียณอายุ จะทำให้ขาดรายได้ในช่วงระยะเวลาที่เหลืออยู่ของชีวิต ซึ่งหากใครที่เตรียมความพร้อมทางการเงินสำหรับวัยเกษียณ ไว้ตั้งแต่แรก การมีอายุยืนยาวก็อาจไม่ใช่ความเสี่ยง แต่สำหรับคนที่ไม่ได้มีการเตรียมตัวสำหรับวัยเกษียณ ทรัพย์สินที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตในวัยหลังเกษียณ สำหรับวิธีการบริหารความเสี่ยงเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับมีอายุยืนยาวที่ดีวิธีหนึ่งคือการโอนความเสี่ยงไปให้กับบริษัทประกันภัยโดยการทำประกันชีวิตแบบบำนาญ เพราะประกันบำนาญจะทำให้ผู้เอาประกันภัยมีรายได้สม่ำเสมอหลังเกษียณ แต่หากบุคคลไม่ได้ทำประกันภัยแต่มีลงทุนหรือเก็บออมในรูปแบบอื่นก็สามารถทำถือเป็นการการบริหารความเสี่ยงเช่นเดียวกัน
1.3 ความเสี่ยงด้านทรัพย์สิน
ความเสี่ยงด้านทรัพย์สิน (Property Risk) เป็นความเสี่ยงว่าจะเกิดความเสียหายหรือสูญหายต่อทรัพย์สิน เช่น ทรัพย์สินถูกขโมย เสียหายจากอุบัติเหตุ อัคคีภัย อุทกภัย ฯลฯ ทั้งนี้ การบริหารความเสี่ยงด้านทรัพย์สิน สามารถทำได้หลายแนวทาง อาทิ การจัดเก็บทรัพย์สินไว้ในที่ปลอดภัย เช่น ตู้เซฟ หรือเช่าตู้นิรภัยที่ธนาคาร
หรือการติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ในบริเวณที่จัดเก็บทรัพย์สิน อย่างไรก็ดี มีทรัพย์สินบางประเภทที่ไม่สามารถบริหารความเสี่ยงด้วยวิธีการดังกล่าวได้ เนื่องจากต้องมีการใช้งานหรือเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา หรือเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่ามาก ๆ การถ่ายโอนความเสี่ยงไปให้บริษัทประกันวินาศภัยจึงเป็นการบริหารความเสี่ยงที่ดีวิธีหนึ่ง ซึ่งการบริหารความเสี่ยงด้านทรัพย์สิน โดยการทำประกันภัยโจรกรรม ประกันภัยรถยนต์ ประกันภัยสำหรับเงิน หรือประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิด
1.4 ความเสี่ยงด้านการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรคือการเสียชีวิตโดยไม่ได้มีการคาดหมายมาก่อน หรือไม่ได้เป็นการเสียชีวิตตามธรรมชาติในวันสูงอายุ ความเสี่ยงในกรณีนี้อาจก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างรุนแรงได้หากบุคคลที่เสียชีวิตนั้นเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องหารายได้เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว หรือเป็นบุคคลที่มีภาระหนี้สินทางการเงิน หากบุคคลนั้นเสียชีวิตจะก่อให้เกิดปัญหาทางการเงินแก่บุคคลในครอบครัว หรือบุคคลในอุปการะ ทั้งนี้ แนวทางการบริหารความเสี่ยงด้านการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร สามารถดำเนินการได้ดังนี้
(1) การลดหรือหลีกเลี่ยงความเสี่ยง เช่น การหลีกเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยง การขับรถด้วยความระมัดระวัง การดูแลรักษาสุขภาพของตนเองให้แข็งแรง การหมั่นออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น
(2) การถ่ายโอนความเสี่ยงของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรไปให้บริษัทประกันชีวิต โดยการทำประกันชีวิต ซึ่งหากเกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรขึ้น บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้กับผู้รับผลประโยชน์ ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้
1.5 ความเสี่ยงด้านอาชีพ
ความเสี่ยงด้านอาชีพเกิดจากความไม่มั่นคงในอาชีพการงาน โดยอาจเกิดจากการถูกเลิกจ้างหรือมีรายได้จากการทำงานไม่สม่ำเสมอ ซึ่งอาจทำให้บุคคลที่ไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมกับเหตุการณ์ดังกล่าว ประสบกับปัญหาสภาพคล่องทางการเงินได้ โดยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ความเสี่ยงด้านอาชีพไม่ใช่ความเสี่ยงที่ไกลตัวเลย เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีบริษัททุกขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ปิดตัวลง และมีพนักงานจำนวนมากถูกจ้างให้ออกจากงาน การบริหารความเสี่ยงด้านอาชีพจึงเป็นสิ่งที่หลายคนต้องตระหนัก ทั้งนี้ การบริหารความเสี่ยงด้านอาชีพสามารถทำได้หลายวิธีไม่ว่าจะเป็น การเลือกทำงานในบริษัทที่มีความมั่นคงและมีธรรมาภิบาล การก็บออมเงินตั้งแต่ตอนที่ยังมีความสามารถในการออมได้เพื่อเก็บไว้เป็นเงินสำรองสำหรับใช้จ่ายในกรณีถูกเลิกจ้างหรือต้องออกจากงานอย่างกะทันหัน หรือหากเป็นการบริหารความเสี่ยงด้วยการทำประกันภัยการว่างงานได้ โดยประกันภัยการว่างงานจะให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยที่เป็นลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดหรือนายจ้างปิดกิจการและได้รับค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานแล้ว ในปัจจุบันการประกันภัยประเภทนี้จะกำหนดวงเงินความคุ้มครองสูงสุดที่ร้อยละ 50 ของเงินเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยกำหนดฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งความคุ้มครองนี้จะช่วยลดผลกระทบให้แก่บุคคลที่ถูกเลิกจ้างงาน โดยจะมีเงินก้อนที่จะใช้เป็นทุนไปประกอบอาชีพได้ หรือใช้เป็นค่าใช้จ่ายระหว่างรองานใหม่
2. การประเมินความเสี่ยง
หลังจากที่ผู้อ่านพิจารณาความเสี่ยงส่วนบุคคลแล้ว อาจพบว่า ตนเองมีความเสี่ยงจำนวนมากที่ต้องบริหารจัดการ ซึ่งหากจะให้ถ่ายโอนความเสี่ยงทุกอย่างที่มีไปยังบริษัทประกันภัย อาจต้องใช้เงินจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้ได้กรมธรรม์ประกันภัยที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด ผู้ที่จะทำประกันภัยควรมีการประเมินความเสี่ยงของตนเองก่อน ว่าความเสี่ยงประเภทใดที่จะต้องบริหารความเสี่ยงโดยการทำประกันภัย ทั้งนี้ ก่อนที่จะรู้ว่าความเสี่ยงประเภทใดที่ต้องบริหารความเสี่ยงด้วยการประกันภัย ผู้ที่จะทำประกันภัยควรรู้ว่าโดยทั่วไปการบริหารความเสี่ยงสามารถดำเนินการได้ 4 วิธี ดังต่อไปนี้
(1) การลดความเสี่ยง (Risk Reduction) คือ การดำเนินการเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงหรือผลกระทบของความเสี่ยง ยกตัวอย่าง กรณีที่ความเสี่ยงคือการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน การลดความเสี่ยงก็คือการขับรถให้ช้าลงด้วยความไม่ประมาท หรือการขับรถตามกฎจราจร
(2) การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Risk Avoidance) คือ การไม่ทำหรือยกเลิกกิจกรรมใด ๆ ที่มีความเสี่ยง ยกตัวอย่างฃ กรณีที่ความเสี่ยง คือเหตุการณ์เครื่องบินตก การหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยเครื่องบิน
(3) การถ่ายโอนความเสี่ยง (Risk Sharing) คือการโอนความเสี่ยงให้แก่ผู้อื่น โดยอาจจะโอนความเสี่ยงบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้ ทั้งนี้ การทำประกันภัยถือเป็นการถ่ายโอนความเสี่ยงของผู้เอาประกันภัยไปให้กับบริษัทรับประกันภัย
(4) การยอมรับความเสี่ยงไว้เอง (Risk Acceptance) คือการไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดหรือลดความรุนแรงของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ส่วนใหญ่
เมื่อทราบวิธีการบริหารความเสี่ยงในรูปแบบต่าง ๆ แล้ว ผู้ที่จะทำประกันภัยสามารถบริหารความเสี่ยงในรูปแบบต่าง ๆ ได้ตามแนวทางในตารางต่อไปนี้
โอกาสที่จะเกิดความเสี่ยง |
||||
สูง |
ปานกลาง |
น้อย |
||
ผลกระทบของความเสียหาย |
มาก |
การลดความเสี่ยง
การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง |
การลดความเสี่ยง
การโอนความเสี่ยง
(ทำประกัน) |
การโอนความเสี่ยง
(ทำประกัน) |
ปานกลาง |
การลดความเสี่ยง การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง |
การโอนความเสี่ยง การลดความเสี่ยง
(ทำประกัน) |
การรับความเสี่ยงภัยไว้เอง | |
น้อย |
การลดความเสี่ยงภัย การรับความเสี่ยงไว้เอง | การลดความเสี่ยง การรับความเสี่ยงไว้เอง | การรับความเสี่ยงไว้เอง |
โดยจากตารางสามารถกล่าวได้ว่า หากโอกาสในการเกิดความเสี่ยงอยู่ในระดับปานกลางหรือน้อยแต่สามารถสร้างความเสียหายได้มากหรือปานกลาง ผู้ที่อ่านไม่ควรรับความเสี่ยงไว้เอง แต่ควรถ่ายโอนความเสี่ยงไปให้กับบริษัทรับประกันภัย เพราะหากผู้ทำประกันภัยรับความเสี่ยงด้วยตัวเอง อาจส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงิน หรือความเป็นปกติอื่น ๆ ในการดำรงชีวิตได้
จะเห็นได้ว่า ขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้ผู้ที่จะทำประกันภัยบริหารจัดการความเสี่ยงของตนได้อย่างเหมาะสม และช่วยทำให้ที่จะทำประกันภัยใช้เงินอย่างคุ้มค่ามากขึ้น
3. การพิจารณาเลือกบริษัทประกันภัย
เนื่องจากในปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน และสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ทำให้มีบริษัทประกันภัยหลายแห่งถูกเพิกถอนใบอนุญาตและมีผู้เอาประกันภัยจำนวนมากได้รับผลกระทบ โดยต้องไปขอรับชำรำหนี้จากกองทุนประกันวินาศภัยแทน ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่าสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ผู้เอาประกันภัยต้องพิจารณาก่อนทำประกันภัย คือ ความมั่นคงของบริษัทประกันภัยและความสามารถในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของบริษัท โดยมีเกณฑ์การพิจารณา ดังนี้
(1) บริษัทมีฐานะทางการเงินมั่นคง
การที่บริษัทที่มีฐานะทางการเงินที่ดีถือเป็นสิ่งสำคัญในการเลือกปริษัทประกันภัย การที่บริษัทมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงเป็นการแสดงถึงการบริหารจัดการที่ดีของบริษัทและแสดงถึงการที่บริษัทมีเกณฑ์พิจารณาการรับประกันภัยและการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม โดยปกติแล้วบริษัทประกันภัยต้องเปิดเผยงบแสดงฐานะทางการเงินของบริษัทสู่สาธารณะชน เพื่อให้ประชาชนสามารถพิจารณาความมั่นคงทางการเงินของบริษัทได้ หรือสามารถพิจารณาอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio: CAR) แทนได้ โดยอัตราส่วนนี้เสมือนเป็นการบอกว่าบริษัทประกันภัยมีความสามารถในการชำระและจัดการหนี้สินเพียงใด และยิ่งอัตราส่วน CAR มีค่าสูงมาก ก็จะแสดงถึงความสามารถการบริหารหนี้สินที่ดี และบอกถึงความมั่นคงของบริษัทในปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ได้กำหนดให้ทุกบริษัทประกันภัยต้องมีอัตราส่วนความพอเพียงของเงินกองทุนไม่ต่ำกว่า 140
(2) มีประวัติการดำเนินงานที่ดีมีธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ ในปัจจุบันการเลือกบริษัทประกันภัยโดยให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะบริษัทที่มีธรรมาภิบาลจะมีแนวโน้มที่จะมีความรับผิดชอบกับผู้บริโภคมากกว่า ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยสามารถตรวจสอบการมีธรรมาภิบาลของบริษัทได้จากการบอกเล่าประสบการณ์จากคนรอบตัว หรือประวัติการดำเนินกิจการในอดีตได้
(3) มีศูนย์บริการหรือสาขาครอบคลุมพื้นที่ที่ผู้เอาประกันภัยต้องการ เพื่อความสะดวกในการทำประกันภัย และติดต่อขอรับค่าสินไหมทดแทน โดยในอดีตการที่บริษัทมีศูนย์บริการหรือสาขาจำนวนมากจะช่วยสร้างความเชื่อน่าเชื่อถือให้กับบริษัทประกันภัย อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้การทำธุรกรรมออนไลน์ที่เกี่ยวกับการประกันภัยมีความแพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากมีความสะดวกสบายและการทำธุรกรรมการเงินผ่านช่องทางออนไลน์ก็ได้รับการยอมรับเป็นวงกว้างมากขึ้น การพิจารณาเลือกบริษัทประกันภัยจากจำนวนศูนย์บริการหรือสาขาจำนวนมากของบริษัทประกันภัยจึงลดความสำคัญลงมา
(4) ปริษัทประกันภัยควรมีเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัย หรือมีสถานที่ตั้งที่มีความชัดเจนน่าเชื่อถือ ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและติดต่อได้ง่าย เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการติดต่อสื่อสารของผู้เอาประกันภัย หากมีข้อสงสัยหรือติดขัดเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยหรือการขอรับค่าสินไหมทดแทน
4. การพิจารณารูปแบบและเงื่อนไขของกรมธรรม์
เนื่องจากประกันภัยเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีเงื่อนไขค่อนข้างซับซ้อน ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของผู้เอาประกันภัย การพิจารณาเงื่อนไขของกรมธรรม์อย่างรอบคอบจะทำให้ผู้เอาประกันภัยเข้าใจเงื่อนไขและความคุ้มครองมากขึ้นสัญญามากขึ้น ทั้งนี้ การพิจารณาเงื่อนไขของกรมธรรม์เป็นสิ่งที่ควรทำก่อนการตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ เนื่องจากการยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ยังไม่มีมูลค่าเงินสด ผู้ทำประกันภัยจะไม่ได้เงินคืน อย่างไรก็ดี สำหรับกรมธรรม์ที่ผู้เอาประกันมีการยกเลิกในช่วงระยะเวลาการใช้สิทธิยกเลิกกรมธรรม์ (Free look period) ผู้เอาประกันจะสามารถยกเลิกกรมธรรม์ได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
หลักการสำคัญในการพิจารณารูปแบบและเงื่อนไขของกรมธรรม์ คือ พิจารณาว่าสัญญาประกันภัยมีความสอดคล้องกับเบี้ยประกันและรูปแบบความคุ้มครองที่ตนเองต้องการหรือไม่ ซึ่งถ้าหากในตลาดมีกรมธรรม์ประกันภัยตรงกับความต้องการที่หลากหลาย ผู้ที่จะทำประกันภัยก็สามารถนำสัญญาประกันภัยมาเปรียบเทียบกัน และเลือกทำสัญญาประกันภัยที่ตรงกับความต้องการมากที่สุดได้ อย่างไรก็ดี หากมีตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยเป็นผู้นำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัย ผู้ที่จะทำประกันภัยควรตรวจสอบรูปแบบและเงื่อนไขของกรมธรรม์ด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจว่าสัญญาประกันภัยไม่ได้คลาดเคลื่อนไปจากสิ่งที่ตนเองต้องการ
สรุป
หากผู้ที่จะทำประกันภัยต้องการทำประกันภัยให้ตรงกับความต้องการมากที่สุด ลำดับแรกคือตรวจสอบความเสี่ยงของตนเองว่ามีความเสี่ยงอะไรบ้าง ผลกระทบและโอกาสที่จะเกิดมากน้อยเพียงใด จากนั้นจึงค่อยมาพิจารณาว่าความเสี่ยงประเภทใดที่ควรบริหารความเสี่ยงด้วยการประกันภัย และเมื่อผู้ที่จะทำประกันภัยทราบแล้วว่า ประกันภัยอะไรที่ตนเองต้องการ ขั้นตอนต่อมาก็คือการเลือกทำประกันภัยบริษัทประกันภัยที่มีความมั่นคงและมีความสามารถที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือให้ความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยได้
และสิ่งสำคัญในการเลือกผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้ตรงใจที่สุดคือ ผลิตภัณฑ์ประกันภัยต้องมีความสอดคล้องของความเสี่ยงของผู้ที่จะทำประกันภัยและสอดคล้องกับความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกันภัย เพียงเท่านี้ผู้อ่านก็สามารถการเลือกผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้ตรงกับความต้องการได้
แหล่งที่มาของข้อมูล
คลังข้อมูล กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
สืบค้นเมื่อ 22 กรกฎาคม 2565, http://service.nso.go.th/nso/web/statseries/statseries09.html
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย. ความหมายของการประกันภัย.
สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2565, จากhttps://www.oic.or.th/th/education/insurance/about/meaning
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย. ประเภทของการประกันภัย. สืบค้น
เมื่อ 27 พฤษภาคม 2565, จากhttps://www.oic.or.th/th/education/insurance/about/category
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน).
[How to] เลือกประกันอย่างไรให้เหมาะกับคุณ. สืบค้นเมื่อ 23
พฤษภาคม 2565, จาก https://www.krungsri.com/th/planyourmoney/must-stories/life-plan/how-to-choose-insurance-plan
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย. บริษัทประกันภัย. สืบค้นเมื่อ 27
พฤษภาคม 2565, จาก https://www.oic.or.th/th/education/company
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย. เกณฑ์การพิจารณาเลือกบริษัท
ประกันภัย. สืบค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2565, จากhttps://www.oic.or.th/en/education/insurance/disaster/company-choosing-criteria
กรุงเทพธุรกิจ. เลือก “บริษัทประกันภัย” อย่างไร ให้ไกลความเสี่ยง. สืบค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2565, จาก
https://www.bangkokbiznews.com/business/961656
Money Buffalo. 5 ขั้นตอนการ “ซื้อประกัน” สำหรับมือใหม่. สืบค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2565, จาก
https://www.moneybuffalo.in.th/insurance/buying-health-insurance
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน). มีอะไรอยู่ในกรมธรรม์ประกันชีวิต. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2565, จาก
https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/protect-my-family/life-insurance-policy.html
สมาคมประกันวินาศภัยไทย. ความรู้พื้นฐานด้านการประกันภัย และการประกันภัยเบื้องต้น. สืบค้นเมื่อ
2 มิถุนายน 2565, จาก https://www.srikrungfranchise.com/front/article6
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย. คำศัพท์ประกันวินาศภัย. สืบค้น
เมื่อ 2 มิถุนายน 2565, จาก http://www1.oic.or.th/th/vocab-insur/a.htm
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. วางแผนประกัน. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2565
, https://www.iii.org/article/choosing-an-insurance-company
Insurance Information Institute. Choosing an insurance company. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2565, https://www.iii.org/article/choosing-an-insurance-company
เมวลี เทียมเทศ
เศรษฐกรชำนาญการ
ส่วนนโยบายการประกันภัย
กองนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน
ผู้เขียน
ฑิตฐิตา ปิ่นตบแต่ง
นักศึกษาฝึกงานจากคณะเศรษฐศาสตร์ ศรีราชา
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา
ผู้เขียน