ประสบการณ์การฝึกงานกับ UN หลังจบโทจาก Columbia University

ประสบการณ์การฝึกงานกับ UN หลังจบโทจาก Columbia University

บทความโดย
รสริน หทัยเสรี*


* ผู้เขียนขอขอบคุณ กรมสรรพากร ต้นสังกัด และ สำนักงาน ก.พ. ที่ให้การสนับสนุนอย่างดียิ่งในการฝึกงานของผู้เขียนในครั้งนี้ นอกจากนี้ ผู้เขียนขอขอบคุณ ท่านรองอธิบดีกรมสรรพากร ดร.วินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ เป็นอย่างสูงที่กรุณาให้ข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์ยิ่งต่อผู้เขียนในการสมัครเข้าฝึกงานกับ UN ในครั้งนี้ รวมทั้งยังได้ให้ความอนุเคราะห์อย่างดียิ่งในการประสานงานกับ สำนักงาน ก.พ. ภายใต้เงื่อนเวลาที่จำกัดมาก จนทำผู้เขียนสามารถดำเนินการด้านเอกสาร ตามเกณฑ์ที่ UN กำหนดไว้  ได้สำเร็จลุล่วง ทันกำหนดการฝึกงานของผู้เขียน ที่กำหนดให้มีขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2564

1. เกริ่นนำ

เมื่อช่วง Summer 2021 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ใช้โอกาส หลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Columbia เข้าฝึกงานกับ “องค์การสหประชาชาติ” (United Nations : UN) ณ กรุงนิวยอร์ก เป็นเวลาราวสองเดือนเศษ ก่อนเดินทางกลับมาชดใช้ทุนหลวงในประเทศไทย การเวียนงานครั้งนี้ ผู้เขียนได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจาก กรมสรรพากร หน่วยงานต้นสังกัด และ สำนักงาน ก.พ. ให้สามารถอยู่ฝึกงานต่อได้ หลังสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน 2021 ทั้งนี้ เพื่อเก็บเกี่ยวองค์ความรู้ และประสบการณ์ใหม่ๆ ตลอดจนทักษะในการทำงานร่วมกับบุคลากรที่มีประสิทธิภาพสูง ที่ทำงานอยู่ใน UN อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างสมรรถนะ (Competency) ส่วนบุคคลให้เพิ่มขึ้น รวมตลอดถึงการนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับองค์กรของไทยต่อไปในอนาคต

การฝึกงานครั้งนี้ UN จัดให้ผู้เขียนได้เวียนงานกับ “Strategic Planning and Monitoring Unit (SPMU)” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สำคัญมากหน่วยงานหนึ่งใน “สำนักเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ” (Executive Office of the Secretary-General) และยังเป็น 1 ใน 6 เสาหลัก ภายใต้กรอบสหประชาชาติ (United Nations System) ที่สำคัญ การฝึกงานกับ UN ซึ่งเป็นองค์กรที่ทรงอิทธิพลมากของโลกครั้งนี้ มีเรื่องราวและเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจหลายประการ ด้วยว่าเป็นการฝึกงานท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในมหานครนิวยอร์กซึ่งแตกต่างไปจากประสบการณ์ในสมัยช่วงเรียนปริญญาตรีที่ผู้เขียนเคยได้รับจากการฝึกงานกับองค์กรในประเทศ ทั้งที่ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” เมื่อช่วงปี 2016 และที่ “PricewaterhouseCoopers (PwC) Thailand” เมื่อช่วงปี 2017 รวมทั้ง ยังเป็นการฝึกงานภายใต้สภาวการณ์ที่กำลังมีการปฏิรูปองค์การสหประชาชาติให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ทั้งการต่อสู้กับโรค COVID-19 การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการระงับข้อพิพาทในตะวันออกกลาง และการปลดอาวุธนิวเคลียร์ ภายใต้การนำของนาย António Guterres อดีตนายกรัฐมนตรีของโปรตุเกส ซึ่งเพิ่งได้รับการโหวตรับรองจากที่ “ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ” (United Nations General Assembly) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2021 ให้ดำรงตำแหน่ง “เลขาธิการสหประชาชาติ” (The Secretary-General of the United Nations) ต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 2

ประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้รับจาก UN ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพสูงและมีบทบาทสำคัญในเวทีต่างๆ ระหว่างประเทศนั้น มีเรื่องราวที่น่าประทับใจ และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากการฝึกงานค่อนข้างมาก จนยากที่จะถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้เขียนจะพยายามสะท้อนถึงประสบการณ์และความท้าทายที่สำคัญๆ ที่ผู้เขียนเล็งเห็นว่า จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานและการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากรในภาครัฐ รวมทั้งองค์กรในภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยจะกล่าวโดยสังเขปใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) กระบวนการสมัคร และการคัดเลือกผู้เข้าฝึกงานกับ UN (2) หน้าที่ความรับผิดชอบ ความท้าทาย และการปรับตัวให้เข้ากับระบบงานของ UN (3) ความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้รับจาก UN และนัยต่อกรณีของไทย

2. กระบวนการสมัคร และการคัดเลือกผู้เข้าฝึกงานกับ UN

ผู้เขียนมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ ตั้งแต่ได้รับ “ทุนรัฐบาลเพื่อดึงดูดผู้มีศักยภาพสูง” (Undergraduate Intelligence Scholarship: UIS) มาเรียนที่มหาวิทยาลัย Columbia แล้วว่า จะพยายามสมัครเข้าฝึกงานกับ UN ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีขนาดและเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดของโลก กอรปกับพี่สาวของผู้เขียน ซึ่งเคยฝึกงานที่ World Bank ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในช่วง Summer 2015 สมัยเรียนที่มหาวิทยาลัย Cornell เมื่อปี 2014-2016 ด้วยทุน UIS เช่นเดียวกัน ก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ด้วยเห็นว่าจะเป็นการเพิ่มทักษะในการทำงานในส่วนที่เป็น Soft Skills รวมทั้งเป็นการเปิดมุมมองและทำให้ผู้เขียนได้รับประสบการณ์และความรู้ใหม่ๆ ที่เป็น Hard Skills ควบคู่ไปด้วย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน เมื่อกลับมาทำงานที่ประเทศไทยในอนาคต

ผู้เขียนจึงไม่รีรอในการกรอกใบสมัครลงในแบบฟอร์ม “UN Personal History Profile” และส่งใบสมัครผ่านแพลตฟอร์ม “UN Inspira” ทันทีที่ UN เปิดช่องให้สมัครได้ในช่วง กุมภาพันธ์-เมษายน 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในมหานครนิวยอร์ก ยังคงมีความรุนแรงอยู่มาก ในการนี้ ผู้เขียนได้ส่งใบสมัครทางออนไลน์ไปยังฝ่ายงานที่สนใจ 8 แห่งด้วยกัน เช่น (1) Department of Economic and Social Affairs, (2) Department of Management Strategy, Policy and Compliance, (3) Executive Office of the Secretary-General, (4) Office of Investment Management, (5) Office of Program Planning, Finance and Budget เป็นต้น พร้อมแนบ “Cover Letter/Motivation Letter” ที่บอกเล่าคุณสมบัติ จุดแข็งและความสามารถพิเศษของตนเอง พร้อมทั้งให้รายละเอียดว่า ทำไมผู้เขียนจึงสนใจในตำแหน่งที่เปิดอยู่นี้ โดยพยายามชี้ให้ทาง UN เห็นว่า ผู้เขียนมีคุณสมบัติเหมาะสมกับงานในตำแหน่งต่างๆ ตามที่สมัครไปอย่างไรบ้าง รวมทั้งได้เน้นย้ำให้เห็นว่า ทำไม UN จึงควรเลือกผู้เขียนเข้าฝึกงานด้วย ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผู้เขียนต้องยื่นใบสมัครถึง 8 แห่ง นั้น ด้านหนึ่งก็เป็นการกระจายความเสี่ยง และอีกด้านหนึ่งก็เป็นการเพิ่มโอกาสในการได้รับการตอบรับจาก UN ให้สูงขึ้น จากสภาพแวดล้อมเชิงการแข่งขันที่เข้มข้นและดุเดือดมากยิ่งขึ้น โดยมีผู้สมัครจากทั่วโลกที่มีคุณสมบัติโดดเด่นสมัครฝึกงานกับ UN ปีละหลายพันคน จนทำให้อัตราการตอบรับ (Acceptance Rate) ให้เข้าฝึกงานลดลงเหลือเพียงประมาณ 8% เท่านั้นในปัจจุบัน

กระบวนการคัดเลือกผู้เข้าฝึกงานในช่วง Summer 2020 (พฤษภาคม-กรกฎาคม 2020) นั้น นับว่ามีความเข้มข้นมาก ทั้งในส่วนของ “การสอบข้อเขียน” ในรูปของการทำ Asessment Tests รวมทั้ง “การสอบสัมภาษณ์” ซึ่งใช้เวลาทดสอบรวมกันราว 1.5 ชั่วโมง ส่วนการทำ Asessment Tests นั้น เป็นการวัดความสามารถของผู้เขียนด้าน “การใช้ภาษาอังกฤษ” และ “การใช้โปรแกรมทางคอมพิวเตอร์” โดยมีบททดสอบเกี่ยวกับ “Reading Comprehension & Writing” ในกรณีการวัดความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษ และบททดสอบเกี่ยวกับ “Excel & PowerPoints” ในกรณีการวัดความสามารถในการใช้โปรแกรมทางคอมพิวเตอร์ สำหรับการสอบสัมภาษณ์นั้น ผู้เขียนต้องพยายามจับประเด็นคำถาม พร้อมทั้งคิดหาแนวทางในการตอบให้ได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ โดยที่คำถามเหล่านั้น จะครอบคลุมทั้งประเภท (1) “Behavioral Questions” และ (2) “Technical Questions” สำหรับคำถามประเภทแรกนั้น ผู้เขียนมองว่า ต้องการทดสอบในเรื่อง ตรรกะ มุมมอง และกระบวนความคิดของผู้ถูกสัมภาษณ์ ในสถานการณ์สมมุติต่างๆ ซึ่งคำถามลักษณะนี้ คงไม่มีถูก หรือผิด แต่จะใช้ทดสอบความเข้ากันได้ระหว่างผู้ถูกสัมภาษณ์และวัฒนธรรมองค์กร ตรงนี้ ผู้เขียนก็เจอคำถามประเภทว่า ทำไมถึงอยากสมัครทำงานกับ UN? มีอะไรเป็นแรงจูงใจให้มาสมัครที่นี่? สำหรับคำถามประเภทที่สองนั้น เน้นเจาะลึกทางด้าน Methodology และ Competencies เกี่ยวกับเครื่องมือที่ช่วยในการทำงานและการวิเคราะห์ระบบงาน ตรงนี้ ผู้เขียนก็เจอคำถามประเภทว่า รู้จักภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับสูง ที่เรียกว่า โปรแกรม Python ไหม? ใช้เป็นไหม? เขียนโปรแกรมในภาษา Python ได้ไหม เคยใช้ไหม? รู้จักและใช้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อื่นๆ ได้มากน้อยเพียงไร? Proficiency มีมากน้อยเพียงไร? สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงานให้กับ UN ได้อย่างไรบ้าง? มีข้อสังเกตว่า แม้ว่าผู้เขียนเคยผ่านการสัมภาษณ์มาแล้วหลายครั้ง ทั้งการสัมภาษณ์เพื่อรับทุนรัฐบาลไทย ทุนฝึกงานของแบงก์ชาติ ทุนตามโครงการศึกษาต่อ ณ University of Southern California และ Columbia University แต่การสอบสัมภาษณ์ครั้งนี้ นับว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ของผู้เขียน ด้วยว่าเป็นการดำเนินการ โดยผ่านระบบ Call Conference ทำให้ผู้เขียนต้องใช้สมาธิมากยิ่งขึ้นในการจับประเด็นคำถามจากกรรมการสัมภาษณ์ที่มีสำเนียงการพูดภาษาอังกฤษที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการสังเกตภาษากายได้เหมือนในกรณีการสอบสัมภาษณ์แบบเห็นหน้า (Face-to-Face Interview)

รูปที่ 1 Commemoration of the 75th Anniversary of the United Nations

แม้ว่าผู้เขียนสามารถผ่านขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการคัดเลือกที่เข้มข้น ในการเข้าฝึกงานกับ UN ในช่วง Summer 2020 ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 75 ปีแห่งการสถาปนา UN (รูปที่ 1) จนเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว แต่สุดท้าย เรื่องการฝึกงานของผู้เขียนก็ถูกระงับไว้ก่อน เพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในมหานครนิวยอร์ก ได้ทวีความรุนแรงขึ้นมากในช่วงนั้น จนกระทั่งแม้แต่ Permanent Staff ของ UN ก็จำเป็นต้อง “Work From Home” เป็นเรื่องน่ายินดีว่า ในที่สุดผู้เขียนก็สามารถเข้าฝึกงานกับ UN ในช่วง Summer 2021 ตามที่มุ่งหวังไว้ได้ แม้แปลกใจอยู่บ้างที่ทาง UN เลื่อนการฝึกงานในช่วง Summer 2020 ออกไปแบบที่ไม่คาดคิดมาก่อนก็ตาม สิ่งที่น่ายินดีไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันก็คือ ได้มีโอกาสเห็นธงไตรรงค์ของไทยปลิวไสวสวยงามสง่า อยู่บริเวณด้านหน้าอาคาร “UN Headquarters” ที่ตั้งอยู่ใจกลางเกาะแมนฮัตตัน นครนิวยอร์ก รวมทั้งยังเรียงรายให้เห็นอยู่ด้านในอาคาร “UN Hall of Flags” (รูปที่ 2-3) เมื่อมองย้อนกลับไป ผู้เขียนเห็นว่ามีองค์ประกอบหลายประการต่อความสำเร็จในการได้รับการตอบรับให้เข้าฝึกงานกับ UN ในช่วง Summer 2021 จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของ UN หลังจากที่ผู้เขียนได้เข้าไปฝึกงานแล้ว ทำให้ทราบว่า UN เน้นความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างดีเยี่ยม ดังนั้น การที่ผู้เขียนสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จาก “โครงการประกวดเรียงความ” ของนักศึกษาปริญญาโท/ปริญญาเอก ในสหรัฐฯ ที่จัดโดย The Bretton Woods Committee ในช่วงระหว่างเดือน มีนาคม-เมษายน 2021 ได้นั้น จึงนับเป็น “ปัจจัยสำคัญที่สุด” ต่อการตัดสินใจรับผู้เขียนเข้าฝึกงานในครั้งนี้

ในมุมมองของผู้บริหารของ UN การคว้ารางวัลดังกล่าว โดยการเขียนบทความในหัวข้อเรื่อง “Policy Responses to Covid-19: How Changes in the World Bank and IMF’s Approaches Can Lead to a Sustainable and Inclusive Recovery” ได้นั้น เป็นการแสดงความสามารถและทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษของผู้เขียนในการสื่อสารจนเป็นที่ประจักษ์ชัดต่อผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “คณะกรรมการตัดสินการประกวดบทความ” จาก The Bretton Woods Committee ที่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ World Bank และ International Monetary Fund ซึ่งเป็น “องค์การชำนัญพิเศษ” (Specialized Agencies) ภายใต้องคาพยพของ UN ร่วมอยู่ด้วย ตรงนี้ ทำให้ผู้เขียนมีคุณสมบัติที่โดดเด่น และน่าสนใจมากยิ่งขึ้น จนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ได้รับการตอบรับให้เข้าฝึกงานกับ UN ในช่วง Summer 2021 โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีการสอบข้อเขียนและการสอบสัมภาษณ์เพิ่มเติม จะว่าไปแล้ว ก็คงพอเทียบเคียงได้กับกรณีที่ผู้สมัครมีคุณสมบัติเฉพาะตนเพิ่มเติม ในกรณีที่เป็น “Multilingual” โดยมีความสามารถในการใช้ “ภาษาราชการของ UN” (Official Languages of the UN) ที่ปัจจุบันมีอยู่ 6 ภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นภาษามาตรฐานที่ใช้กันอยู่ใน UN ได้อย่างคล่องแคล่ว หากเป็นไปตามกรณีที่ว่านี้ ก็ทำให้ผู้สมัครที่เป็น “Multilingual” มีแต้มต่อในการได้รับโอกาสเข้าฝึกงานกับ UN มากขึ้น เมื่อเทียบกับผู้สมัครอื่นที่ไม่มีคุณสมบัติเฉพาะตนในด้านความสามารถในการใช้ภาษาราชการของ UN ได้มากกว่า 3 ภาษาขึ้นไป

รูปที่ 2-3 The Hall of Flags of the United Nations and Flag of Thailand

3. หน้าที่ความรับผิดชอบ ความท้าทาย และการปรับตัวให้เข้ากับระบบงานของ UN

ตามข้อเสนอที่ปรากฏใน “Internship Offer Letter and Agreement” ผู้เขียนได้รับการเสนอให้เวียนงานในช่วง Summer 2021 กับ Strategic Planning and Monitoring Unit (SPMU) ภายใต้สังกัด “สำนักเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ” (Executive Office of the Secretary-General) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยตรงของนาย António Guterres “เลขาธิการสหประชาชาติ” คนปัจจุบัน ทั้งนี้ มีกรอบเวลาในการเวียนงาน ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2021 จนถึงช่วงเดือนกรกฎาคม 2021 โดยให้เน้นเรียนรู้และทำงานทางด้าน “Budgeting Analysis”, “Strategic Planning Meetings”, เเละ “Analytical Meeting Reports and Report Drafting” การที่ผู้เขียนได้เวียนงานกับ “สำนักเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ” นั้น นับเป็นโอกาสที่ดีและเป็นความท้าทายที่น่าสนใจยิ่ง ด้วยว่า “สำนักเลขาธิการสหประชาชาติ” ถือเป็น 1 ใน 6 เสาหลักของ “องค์การสหประชาชาติ” (United Nations System) ส่วนเสาหลักที่เหลืออีก 5 องค์กรที่เป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ “สมัชชาใหญ่” (General Assembly) “คณะมนตรีความมั่นคง” (Security Council) “คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม” (Economic and Social Council) “คณะมนตรีภาวะทรัสตี” (Trusteeship Council) และ “ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” (International Court of Justice) ดังรายละเอียดตามที่ปรากฏในรูปภาพที่ 4

รูปที่ 4 โครงสร้างองค์กรภายใต้ The United Nations System

การทำงานในช่วงสัปดาห์แรกๆ ผู้เขียนได้รับมอบหมายจาก Supervisors ให้ช่วยวิเคราะห์งบการเงินในภาพรวมของ UN (Resources Flow Analyses) รวมทั้งของ “สำนักเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ” ที่ใช้ในด้านการฝึกอบรม โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการ “เงินทุนที่ใช้ไปตามแผนงาน และโครงการต่างๆ ของ UN” กับ “เงินทุนที่ UN ได้รับการจัดสรรมาจาก Donor Countries” ว่ามีความสอดคล้องเหมาะสมในเชิงกลยุทธ์ และสามารถดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงตามกรอบเวลาที่ทาง UN ได้ให้คำมั่น (Commit) ไว้มากน้อยเพียงไร (Strategic Alignment of Plans and Resources) การทำงานที่เน้น “การวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์” (Strategic analysis) ในลักษณะนี้ นับเป็นความท้าทายอย่างมาก สำหรับผู้ที่มีพื้นฐานความรู้ (Competencies) ทางด้านบัญชี และการวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ไม่ดีพอ อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ นับเป็นความโชคดีของผู้เขียนที่ได้รับการบ่มเพาะทักษะความรู้ทางด้านบัญชีและการวิเคราะห์งบการเงินมาเป็นอย่างดี จากหลักสูตร “BBA (Bachelor of Business Administration) International Program” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งการที่ผู้เขียนเป็น “อาจารย์ผู้ช่วยสอน” (Teaching Assistant) ในวิชา “Accounting” ให้กับมหาวิทยาลัย Columbia ในช่วง Fall 2021 ด้วยความรู้ความสามารถทางด้านบัญชีและการวิเคราะห์งบการเงินดังกล่าว ผนวกกับความรู้เชิงลึกทางด้านการวิเคราะห์โครงการที่ได้รับจากการเรียนวิชา “Project Management” เมื่อช่วงเรียนที่มหาวิทยาลัย Columbia ทำให้ผู้เขียนสามารถวิเคราะห์ระบบงานของ UN ในเชิงกลยุทธ์ในภาพรวมได้เป็นอย่างดี รวมทั้งสามารถดำเนินการจัดทำ Mapping เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ความสอดคล้องเชื่อมโยงระหว่าง “แผนงานและโครงการต่างๆ ของ UN (Allocation of Resources)” กับ “การบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรทางด้านเงินทุน ตามกรอบเวลาที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไว้ (Budget Formulation)” จากประสบการณ์ตรงที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานชิ้นนี้ ทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้ว่า การมี Competencies ทางด้านบัญชี และด้าน Project Management ที่แข็งแกร่งดังกล่าว นับเป็นพื้นฐานที่ดีที่ช่วยทำให้ผู้เขียนสามารถปฏิบัติหน้าที่ ตามที่ได้รับมอบหมายให้วิเคราะห์งบการเงินในส่วนของ “สำนักเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ” ที่ใช้ในด้านการฝึกอบรมให้สำเร็จลุล่วงอย่างมีประสิทธิภาพ ตามกรอบเวลาที่ทาง Supervisors ได้กำหนดไว้ก่อนหน้า

อย่างไรก็ดี ในช่วงสัปดาห์ถัดๆ มา Supervisors ที่ดูแลผู้เขียน ก็ได้ปรับเพิ่มภาระงานของผู้เขียนให้มากขึ้น โดยได้เพิ่มเนื้องานในส่วนของการให้การสนับสนุนการดำเนินงานและการบริหารงานของ “สำนักเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ” โดยได้เข้าเป็นกำลังเสริมที่สำคัญให้กับทีมงานทางด้าน “Executive Committee Secretariat” เพื่อช่วยสนับสนุนการจัดเตรียมวาระหารือและเอกสารนำเสนอในที่ประชุม พร้อมติดต่อประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องในการเข้าร่วมประชุมในระดับ “High-Level Meeting” ที่ปัจจุบันยังเป็นการประชุมแบบออนไลน์ ตรงนี้ ทำให้ผู้เขียนได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมในระดับ High-Level Meeting ในหลากหลายโอกาส และทำให้ได้เห็นภาพการหารือและการพิจารณาประเด็นสำคัญๆ รวมถึงการหาข้อสรุปในประเด็นที่โต้แย้งกันของผู้บริหารระดับสูงที่ร่วมเป็นองค์ประชุม เรื่อยไปตั้งแต่ระดับ “Assistant Secretary-General” (ASG) ที่คุมสายงานหลักๆ ของ UN รวมทั้งระดับ “Principals” ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้นำสูงสุดของหน่วยงานสำคัญที่อยู่ภายใต้องคาพยพของ UN เช่น (1) Deputy Secretary-General, (2) Chef de Cabinet, (3) Senior Advisor on Policy, (4) Under-Secretaries-General for Management, Political Affairs, Peacekeeping, Field Support, Economic and Social Affairs, (5) Assistant Secretary-General for Peacebuilding, (6) Emergency Relief Coordinator, (7) High Commissioner for Human Rights, (8) Executive Director of UN Women, and (9) Chair of the United Nations Development Group เป็นต้น

ผู้เขียนยังได้เรียนรู้ว่า การประชุมตามกลไกพิเศษของ “คณะผู้บริหารระดับสูง” ดังกล่าว เป็นไปตามดำริของ “เลขาธิการสหประชาชาติ” คนปัจจุบัน ที่กำหนดให้มีขึ้น ตั้งแต่ช่วง “สมัยแรก” ที่เข้ามารับตำแหน่ง เลขาธิการสหประชาชาติใหม่ๆ เมื่อต้นเดือนมกราคมปี 2017 ต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงช่วงปัจจุบัน ซึ่งเป็น “สมัยที่สอง” ของการดำรงตำแหน่งเลขาธิการฯ นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้จากนาย Kersten Jauer และ Jessica Anne Summers ซึ่งเป็น Supervisors ของผู้เขียนว่า นาย António Guterres ได้ใช้ประโยชน์จากเวทีที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงนี้ เพื่อให้ช่วยกลั่นกรอง และให้ข้อคิดเห็นในประเด็นที่อ่อนไหวและสลับซับซ้อน ตลอดจนมีความเกี่ยวพันและเชื่อมโยงกับการทำงานขององค์กรสำคัญอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้สหประชาชาติ ตรงนี้ นับเป็นความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ของ “เลขาธิการสหประชาชาติ” คนปัจจุบัน ที่เล็งเห็นว่า ผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้ ล้วนมีประสบการณ์และบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาเรื่องวิกฤตของโลก ตลอดจนการกำกับดูแลการปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ (1) ด้านความขัดแย้ง เช่น ปัญหาสงครามและความขัดแย้งในตะวันออกกลาง (2) ด้านการลดอาวุธ (3) ด้านเศรษฐกิจและสังคม (4) ด้านสิทธิมนุษยชน (5) ด้านกฎหมาย และ (6) ด้านความเป็นเอกราชของประเทศ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นความสำเร็จที่โดดเด่นของนาย António Guterres ในการเดินหน้านำองค์ความรู้และประสบการณ์ตรงของผู้บริหารระดับสูงเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติ เพื่อบรรลุ “ผลสัมฤทธิ์ในการทำงานของ UN” ตามวัตถุประสงค์หลักที่มุ่งธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ตลอดจนปกป้องสิทธิมนุษยชน และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงสัปดาห์ท้ายๆ ของการฝึกงาน Supervisors ก็ได้ให้ผู้เขียนเข้าไปช่วยงานทางด้านการสนับสนุน “ทีมวิเคราะห์” (Analytics Team) ที่ปัจจุบันกำลังปรับบทบาท โดยการเพิ่มศักยภาพของทีมงานในการวิเคราะห์ระบบข้อมูลและการคิดค้นเครื่องมือ ตลอดจนเทคนิคใหม่ๆ (Analytics Capacity Development) เพื่อช่วยให้การบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลสำคัญๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญ การมาร่วมงานกับหน่วยงานนี้ ทำให้เรียนรู้ว่า ทางฝ่ายงาน SPMU ที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ กำลังบูรณาการระบบการวิเคราะห์ข้อมูลของ UN ในภาพรวม โดยจัดให้มีระบบและกลไกการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลในเชิงลึกและในมิติที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ผู้บริหารระดับสูงโดยเฉพาะ “Secretary-General’s Executive Committee” สามารถตัดสินใจโดยอิงกับข้อมูลที่เป็น “หลักฐานเชิงประจักษ์” (Evidence-Based Decision Making) มากยิ่งขึ้น อันจะช่วยลดความเสี่ยง (Risk) ที่อาจเกิดขึ้นได้ในกระบวนการตัดสินใจของ “Secretary-General’s Executive Committee” โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับการพิจารณาประเด็นที่มีความสลับซับซ้อน (Complex) อ่อนไหว (Sensitve) หรือว่าเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน (Urgent Subjects) ที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบริบทของประเทศหรือภูมิภาคนั้นๆ ทั้งทางด้าน Peace & Security, Human Rights, Humanitarian Aid, Political Conflicts, Socio-Economic โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง การแก้ไขปัญหาผู้อพยพผลัดถิ่น และการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรค COVID-19

ตรงนี้ ในฐานะที่เป็นหนึ่งในทีมงาน “Executive Committee Secretariat” ทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้ระบบงาน ตั้งแต่ “ต้นทาง” ที่ประเทศต่างๆ หยิบยกประเด็นขึ้นมา เพื่อเข้าสู่วาระการหารือของ “Secretary-General’s Executive Committee” รวมทั้งการวางแผนและการดำเนินการตระเตรียม (Planning & Organizing) “วาระการประชุม & ประเด็นหารือ” สำหรับการประชุมในระดับ High-Level Meeting นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่ม Interpersonal Skills และ Communication Skills ของผู้เขียนให้เฉียบคมมากยิ่งขึ้น เพราะต้องอาศัยการทำงานเป็น Teamwork เพื่อให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือเกื้อกูล ผลักดันกันและกัน ภายใต้แรงกดดันจากหลายๆ ด้าน ที่สำคัญคือ ยังมีโอกาสได้เรียนรู้และเข้าร่วมการประชุมระดับสูง ในระดับ “Executive Committee Meeting” และในระดับ “Deputies Committee Meeting” พร้อมช่วยจัดทำบันทึกการประชุมฯ ที่แม้ว่าในปัจจุบัน ยังเป็นการประชุมในรูปแบบ Virtual Meetings แต่ตามที่ได้เรียนรู้มาจาก Supervisors ของผู้เขียนทำให้ทราบว่า ยังคงมีความเข้มข้นไม่แตกต่างมากนักไปจากการประชุมในรูปแบบปกติแบบ Face-to-Face Meetings

ที่น่าสนใจก็คือ ภายใต้การประชุมแบบ Virtual Meetings ทำให้ผู้เขียนมีโอกาสมากยิ่งขึ้นในการเข้าร่วมการประชุมในหลากหลายหัวข้อ (Issues) รวมทั้งยังได้เรียนรู้ว่า Assistant Secretary-General (ASG) ที่คุมสายงานทางด้าน Strategic Coordination ที่เป็นฝ่ายเลขานุการของที่ประชุม “Executive Committee Meeting” นั้น เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดในการกำหนด “วาระการประชุมผู้บริหารระดับสูงประจำสัปดาห์” กล่าวคือ ASG ที่ทำหน้าที่นี้ จะดำเนินการหยิบยกประเด็นสำคัญๆ ที่มีนัยต่อการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ตลอดจนบทบาทของ UN ต่อประชาคมโลก ที่ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากที่ประชุมในระดับ “Deputies Committee Meeting” แล้ว เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม “Executive Committee Meeting” ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่า “Deputies Committee Meeting” ตรงนี้ ASG ทางด้าน Strategic Coordination จะให้ทีมงานที่ตนเองกำกับดูแล ซึ่งก็คือ ฝ่ายงาน SPMU ที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ ดำเนินการจัดทำ Talking Points โดยมีความยาวไม่เกิน 2 หน้าต่อหนึ่งวาระการประชุม พร้อมด้วยสาระสำคัญเกี่ยวกับ Issues ต่างๆ ที่ได้บรรจุไว้ในวาระการประชุมนั้นๆ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงเหล่านั้น สามารถให้มุมมองที่หลากหลาย และช่วยในการคิดพิจารณาให้ถี่ถ้วนรอบคอบมากยิ่งขึ้น

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ การเวียนงานกับ SPMU ครั้งนี้ ยังทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้ว่า ทาง UN ยังได้จัดให้มีกลไกเพิ่มเติม ที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ของ UN ที่ไป Post ในประเทศสมาชิกในฐานะ UN Mission และ UN Country Team ตลอดจนสตาฟที่ประจำอยู่สำนักงานหลักอื่นๆ เช่น UN Geneva, UN Vienna, UN Nairobi รวมทั้ง UN Entities ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลประเทศสมาชิกนั้นๆ สามารถดำเนินการ เพื่อขอหยิบยก Issues ที่มีความเร่งด่วนและอ่อนไหว ขึ้นมาปรึกษาหารือในที่ประชุมระดับ “Executive Committee Meeting” ทั้งนี้ เพื่อให้ UN พิจารณาให้ความช่วยเหลือ หรือเข้าไปมีบทบาทในการช่วยแก้ไขปัญหาเพิ่มเติม เช่น ประเด็นหารือเรื่อง Humanitarian and Human Rights ในประเทศ Ethiopia และ Nigeria รวมทั้งเรื่อง Political Unrest and Democracy ในประเทศ Myanmar และเรื่อง Combatting HIV/AIDS ใน Sub-Saharan Africa เป็นต้น

ในมุมมองของผู้เขียน การทำงานตรงนี้ให้ได้ผลดี จำเป็นต้องผสมผสานองค์ความรู้หลายๆ ด้าน ทั้งเศรษฐกิจการเงิน & การเมืองระหว่างประเทศ กฎหมาย เพราะต้องทำงานคู่ขนาน และประสานงานอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายงานอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้ สำนักเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะส่วนงานสำคัญทางด้าน (1)  Political, Peacekeeping, Humanitarian and Human Rights Unit, (2) Sustainable Development Unit (3) Rule of Law Unit, (4) Policy Advisor’s Office รวมถึงส่วนงานอื่นที่อยู่ภายใต้องคาพยพของ United Nations System อาทิ เช่น Department of Political Affairs, Department of Peacekeeping Operations, Department of Field Support ตรงนี้ นับว่า ผู้เขียนมีจุดแข็งและข้อได้เปรียบหลายประการ ด้วยว่า มีพื้นฐานที่ดี จากองค์ความรู้ที่ผู้เขียนได้รับจากการศึกษาวิชา “Politics of Policy Making” และวิชา “International Financial Markets in Emerging Markets” เมื่อครั้งเรียนปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัย Columbia นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้รับองค์ความรู้ที่ดีจากการศึกษาวิชา “Asian Financial Markets” ที่สอนโดย Professor Takatoshi Ito ซึ่งเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Columbia และยังเคยเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวให้กับ คุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 2 สมัย เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไทย สมัย “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เมื่อช่วงปี 1997-1998

สิ่งที่มองข้ามไม่ได้ในอีกด้านหนึ่งก็คือ จำเป็นต้องมีสมรรถนะ (Competencies) ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนมีความสามารถในการใช้อุปกรณ์ IT และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับการทำงานประจำวัน โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ Microsoft 365 Tools รวมทั้งเครื่องมือที่ช่วยในการวิเคราะห์ (Analytical tools) เป็นอย่างดีด้วย ตัวอย่างเช่น Teams, Office products, Power BI, SharePoint online, Forms, Power Apps, Power Automate, SAP Business Objects, Qilk, SQL and Power Query สำหรับฝ่ายงาน SPMU ที่ผู้เขียนสังกัดอยู่นั้น ก็มีการประยุกต์ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทางด้าน “Data Management Tools” ตลอดจน Application Tools ในหลากหลายรูปแบบ เช่น มีการใช้ Power Query เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน รวมทั้งลด Human Error จากการทำงานบางประเภท ที่มีลักษณะเป็นการทำงานแบบซ้ำๆ โดยการปรับระบบงาน เพื่อทำให้ขั้นตอนการปฏิบัติงานต่างๆ เป็นระบบอัตโนมัติมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญ Platform และเครื่องมือเหล่านี้ ช่วยทำให้การประชุมสั่งงาน และการอนุมัติงานออนไลน์ ประชุมทางไกล รวมทั้งทำให้สามารถประสานงานกับผู้เข้าร่วมประชุมได้ทันที ตรงนี้ นับเป็นความโชคดีที่ผู้เขียนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนการประยุกต์ใช้ในงานอยู่ในเกณฑ์ดี ด้วยว่า มีการสะสม Competencies ทางด้านนี้ไว้ในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่สมัยเรียน BBA จุฬาฯ รวมทั้งที่มหาวิทยาลัย Columbia โดยเฉพาะความรู้เชิงลึกที่ได้รับจากการศึกษาวิชา “Quantitative Analysis”, “Excel Fundamentals” และ “Infographics & Data” ณ มหาวิทยาลัย Columbia ซึ่งผู้เขียนเรียนได้ดีในวิชาดังกล่าว ทำให้มีองค์ความรู้ที่หลากหลายทางด้านเครื่องมือที่ช่วยในการวิเคราะห์ รวมทั้งสมรรถนะภาพ (Competency) ส่วนบุคคลในการประยุกต์ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้เป็นอย่างดี

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ ระบบการทำงานของฝ่ายงาน SPMU แม้ว่าจะเปิดโอกาสให้ทำงานได้อย่างอิสระ แต่จะมีระบบการติดตามที่เข้มข้นมากๆ โดยมีการประชุมเพื่อติดตามงานทุกๆ วัน ในรูปของ “Daily Catch-Up” ผู้เขียนยอมรับว่า ต้องปรับตัวอย่างมากในช่วงสัปดาห์แรกๆ ส่วนหนึ่งเนื่องจาก ยังไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมองค์กร ตลอดจนเพื่อนร่วมงาน รวมทั้งบางครั้ง ก็ยังไม่มีประเด็นใหม่ที่ชัดเจนเพียงพอที่จะหยิบยกไปพูดหรือปรึกษาหารือในกลุ่ม อย่างไรก็ดี Director Ayaka Suzuki ซึ่งเป็น Director ของ SPMU ก็มีวิธีบริหารจัดการในแบบฉบับเฉพาะของตนเอง ที่ทำให้ลูกทีมแต่ละคน ต้องเข้ามามีส่วนร่วมโดยปริยายในการพูดคุยปรึกษาหารือประจำวันผ่านช่องทาง “Daily Catch-Up” ดังกล่าว ตรงนี้ ผู้เขียนมีความโชคดีอยู่บ้าง ด้วยว่า ช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย Columbia เคยมีประสบการณ์การเป็น “Graduate Consultant” ในการทำ Capstone Project ให้กับ Federal Reserve Bank of New York (FRBNY) มาก่อน เป็นระยะเวลากว่า 7 เดือน คือช่วงระหว่างเดือน พฤษจิกายน 2020 ถึงพฤษภาคม 2021 ประสบการณ์ตรงที่ได้รับจากการเป็นที่ปรึกษาโครงการให้กับ FRBNY ดังกล่าว ผนวกกับองค์ความรู้ที่ผู้เขียนได้รับการบ่มเพาะเป็นอย่างดี จากการศึกษาวิชา “Leadership & Innovative Policy Making” ช่วงเรียนที่ Columbia จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้เขียนมีพื้นฐานที่ดี และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเวทีการหารือประจำวัน “Daily Catch-Up” ได้อย่างราบรื่นตลอดรอดฝั่ง (รูปที่ 5)

รูปที่ 5 เยี่ยมชม The Ronald H. Brown United States Mission to the United Nations Building

4. ความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้รับจาก UN

การฝึกงานกับ Strategic Planning and Monitoring Unit (SPMU) ครั้งนี้ แม้ว่าในด้านหนึ่ง ทำให้ผู้เขียนต้องเผชิญกับความท้าทายในหลากหลายรูปแบบ และจำเป็นต้องปรับตัวตลอดเวลากับระบบงานใหม่ๆ ของ UN ที่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ทำให้ได้รับความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ ที่มีประโยชน์อย่างมากเช่นกัน ในชั้นนี้ ขอกล่าวสรุปสาระสำคัญของความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้รับจากการฝึกงานกับ UN โดยแยกเป็น 5 เรื่องหลัก ดังนี้

เรื่องแรก ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานของ UN และ SPMU ในมิติการทำงานที่กว้างขวาง และหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง (1) “การจัดประชุมระหว่างประเทศ” เพื่อให้คำปรึกษากับรัฐบาลสมาชิกในหัวข้อหลักต่างๆ (2) “การประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ” ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกถาวร 5 ประเทศ (สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส จีน และรัสเซีย) และสมาชิกไม่ถาวรอีก 10 ประเทศ (3) “การจัดประชุมวาระพิเศษ” ตามที่ประเทศสมาชิกได้ขอหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นหารือในที่ประชุมระดับสูง ในระดับ “Executive Committee Meeting” และ “Deputies Committee Meeting” ซึ่งเป็นกลไกการประชุมช่องทางใหม่ที่ริเริ่มจัดขึ้น โดยนาย António Guterres “เลขาธิการสหประชาชาติ” คนปัจจุบัน เมื่อช่วงเข้ารับตำแหน่งในครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคมปี 2017 รวมทั้ง (4) “การจัดประชุมสมัชชาใหญ่” (UN General Assembly) กรณีตามวาระปกติ และกรณีพิเศษ หรือกรณีฉุกเฉิน ตามที่เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ดำเนินการเรียกประชุม ที่น่าสนใจก็คือ ภายใต้กรอบการดำเนินงานของฝ่ายงาน SPMU ที่ต้องบูรณาการการทำงานเพื่อเชื่อมโยงกับฝ่ายงานต่างๆ ของ UN ที่มีหน่วยงานยิบย่อยมากกว่า 70 องค์กร รวมทั้ง Funds and Programmes อื่นๆ เช่น UNICEF และ UNDP (ดังรายละเอียดในรูปที่ 4) ทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้ว่า ต้องใช้ Competencies หลายๆ อย่างร่วมกัน โดยเฉพาะการทำงานที่เน้น “Teamwork” และ “ทักษะการสื่อสาร” (Communication Skills) ที่ดี โดยเฉพาะการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน และสามารถทำให้คนอื่นทำตามที่เราขอได้เป็นอย่างดี จึงจะสามารถทำงานได้สำเร็จลุล่วงด้วยดีและอย่างมีประสิทธิภาพ

เรื่องที่สอง ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานในการ “บริหารจัดการและการวิเคราะห์ข้อมูล” เพื่อประกอบ “การจัดทำวาระ และประเด็นหารือ” เข้าสู่ที่ประชุมระดับ “Executive Committee Meeting” และ “Deputies Committee Meeting” ตามที่ “เลขาธิการสหประชาชาติ” ตลอดจนประเทศสมาชิกและ UN Country Team ได้ขอหยิบยกขึ้นมาเป็นวาระหารือในที่ประชุม จากข้อมูลล่าสุดที่ปรากฎในฐานข้อมูลของ UN พบว่า ประเด็นที่หยิบยกมาเป็นวาระหารือ เพื่อให้ UN ช่วยแก้ปัญหาและให้ความช่วยเหลือนั้น กว่า 54% เป็นข้อเรียกร้องจากกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกา ส่วนอีก 16% เป็นข้อเรียกร้องจากกลุ่มประเทศในทวีปเอเชีย ในขณะที่ ข้อเรียกร้องจากกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป มีสัดส่วนเพียง 2% เท่านั้น การเวียนงานครั้งนี้ ยังทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้ถึงบทบาทของ “องค์การสหประชาชาติ” ในการจัดการประชุมสมัชชาใหญ่ (UN General Assembly) ซึ่งเป็นการประชุมแบบเปิดกว้างของสหประชาชาติเพียงแห่งเดียวที่เปิดโอกาสให้ตัวแทนของประเทศสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ รวมทั้งตัวแทนจากประเทศไทย สามารถเข้าประชุม โดยมีสิทธิและฐานะเท่าเทียมกันในการโหวต (One Nation, One Vote) เพื่อพิจารณาประเด็นปัญหาและมาตรการที่จำเป็นต่อการสร้างสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ตรงนี้ ผู้เขียนมีโอกาสไปร่วมสังเกตการณ์ในห้องประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เป็นกรณีส่วนบุคคลในช่วงหนึ่ง (รูปที่ 6-9) มีข้อสังเกตว่า ผู้แทนจากประเทศที่เป็นผู้สนับสนุนหลักรายใหญ่ของ UN ทั้ง 5 ประเทศ (Top 5 Donors) ก็มีสิทธิออกเสียงเพียงเสียงเดียวเท่านั้นในการโหวตในที่ “ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ” ทั้งๆ ที่ประเทศเหล่านี้ ต่างได้บริจาคเงินสนับสนุนการดำเนินงานของ UN เป็นจำนวนที่สูงมากในแต่ละปี โดยมีสัดส่วนโดยเฉลี่ยถึง 22% และ 12% ของงบทั้งหมดที่ UN ได้รับ ในกรณีของสหรัฐฯ และจีน ในขณะที่ ญี่ปุ่น เยอรมนี และสหราชอาณาจักร มีการบริจาคเงินให้กับ UN ในสัดส่วนราว 8.5%, 6% และ 4.5% ตามลำดับ

รูปที่ 6-9 UN General Assembly Hall: สถานที่ประชุมของผู้นำทั่วโลก 193 ประเทศ

เรื่องที่สาม ได้มีโอกาสเรียนรู้และทำงานร่วมกับบุคลากรที่มีศักยภาพสูงจากทั่วทุกภูมิภาคของโลก ผู้เขียนไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่า จะสามารถแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับเพื่อนร่วมงานที่มาจากต่างชาติ ต่างภาษา ต่างทวีปได้พร้อมๆ กันในเวลาเดียวกัน ไล่เรียงมาตั้งแต่ทวีปอเมริกา ยุโรป แอฟริกา อเมริกาใต้ เอเชีย และอีกหลายๆ ส่วนของโลก ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับเหล่านั้น ทำให้ผู้เขียนมีโลกทัศน์ที่กว้างไกลมากยิ่งขึ้น จากที่เคยได้รับมาแล้วในระดับหนึ่งในช่วงที่เรียนอยู่ที่ Columbia University และ University of Southern California สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ การฝึกงานที่ UN ทำให้ผู้เขียนสามารถแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับเพื่อนต่างมหาวิทยาลัยได้อย่างกว้างขวาง ตัวอย่างใกล้ตัวที่เห็นได้ชัดในเรื่อง “ความหลากหลาย” (Diversity) ของ UN ก็คือ ในกลุ่มเพื่อนๆ ร่วมรุ่นของผู้เขียนในฝ่ายงาน Strategic Planning and Monitoring Unit (SPMU) นั้น ส่วนใหญ่ เป็นนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ ที่เป็นระดับ Ivy-League Universities เช่น Harvard, Columbia, Yale รวมทั้งในมหาวิยาลัยที่มีชื่อเสียงของโลก เช่น Stanford, UCLA, NYU ที่สำคัญ บุคลากรที่เวียนงานกับ UN นั้น ส่วนใหญ่มีพื้นฐานและองค์ความรู้ที่หลากหลายลึกซึ้ง ครอบคลุมทั้งด้าน กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไฟแนนซ์ เป็นต้น

สิ่งที่เห็นได้ชัดอีกประการหนึ่งก็คือ นอกจากมีความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติและภาษา ด้วยมาจากหลากหลายประเทศแล้ว คนที่ UN ยังมีประสบการณ์ในการทำงานในต่างประเทศมาแล้วอย่างโชกโชน โดยส่วนใหญ่เคยไป Post ที่ต่างประเทศมาแล้วหลายแห่งในฐานะที่เป็น UN Mission โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นที่ตั้งของ “องค์การชำนัญพิเศษ” (Specialized Agencies) ในเครือข่ายของสหประชาชาติ ตัวอย่างเช่น (1) องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ในอิตาลี (2) องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในฝรั่งเศส (3) องค์การอนามัยโลก (WHO) ในสวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งในประเทศที่เป็นที่ตั้งของ “UN Regional Commissions” เช่น (1) UN ESCAP ในไทย (2) UN Economic Commission for Europe ในสวิตเซอร์แลนด์ (3) UN Economic Commission for Africa ในเอธิโอเปีย ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ เจ้าหน้าที่ของ UN จำนวนไม่น้อย ยังเคยได้รับการพัฒนาขีดความสามารถส่วนบุคคลเพิ่มเติม โดยการหมุนเวียนการปฏิบัติงาน เพื่อไปหาประสบการณ์เพิ่มเติมยัง “สำนักงานสหประชาชาติ” ที่เป็นสาขาหลักอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ใน Geneva, Vienna และ Nairobi บุคลากรของ UN เหล่านี้ จึงเป็นพวกที่มี Global Views รวมทั้ง Negotiation Skills สูงมาก ทำให้ผู้เขียนได้รับเกร็ดความรู้และประสบการณ์แปลกใหม่ จากการสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเจ้าหน้าที่ของ UN ที่ไปปฏิบัติการสันติภาพและการจัดการวิกฤตในภาคสนามในภูมิภาคต่างๆ เช่น The Middle East และ The Sub-Saharan Africa ยิ่งไปกว่านั้น สตาฟของ UN จำนวนไม่น้อย ยังเป็นพวก Multilingual คือสามารถพูดและใช้ภาษาราชการของ UN ที่ปัจจุบันมีอยู่ 6 ภาษา คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน รัสเซีย จีน และภาษาอาหรับ ได้อย่างคล่องแคล่ว มากกว่า 3 ภาษาขึ้นไป โดยเฉพาะภาษามาตรฐานอย่าง ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ดังสะท้อนได้จากกรณีของ “เลขาธิการสหประชาชาติ” คนปัจจุบัน ที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสได้อย่างคล่องแคล่ว นอกเหนือจากภาษาโปรตุเกสและสเปน

เรื่องที่สี่ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมองค์กรที่แปลกใหม่ไปจากที่ผู้เขียนได้ประสบมา ในแง่หนึ่ง ต้องยอมรับว่า ระบบการทำงานของที่นี่ มีการประชุมพูดคุยกันมาก และให้เกียรติกันมากในการประชุม ต่างให้โอกาสซึ่งกันและกัน เพราะเชื่อมั่นว่า ทุกคนมีศักยภาพสูง จึงทำให้สามารถผลักดันงานได้อย่างรวดเร็ว เพราะช่วยทำงานเป็นทีมและคอยแก้ปัญหาให้กันอย่างทันท่วงที ในกรณีของผู้เขียนเอง ก็ได้รับโอกาสจาก Director ของฝ่ายงาน Strategic Planning and Monitoring Unit (SPMU) อยู่เสมอ โดยสามารถใช้ความคิดได้อย่างอิสระในงาน รวมทั้งสามารถเสนอแนะความคิดใหม่ๆ ในงานที่ตนเองดูแลอยู่ได้อย่างเต็มที่ ผ่านช่องทาง Daily Catch Up ซึ่งเป็นการสื่อสารประจำวันระหว่าง Director ของ SPMU กับทีมงานทุกคนในฝ่ายงาน รวมทั้ง Interns ที่เวียนงานอยู่กับ SPMU ด้วย วัฒนธรรมองค์กรที่สำคัญอีกประการหนึ่งของที่นี่ก็คือ “ไร้ซึ่งลำดับขั้น” ในการแสดงความเห็นต่างๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่องานในภาพรวม โดยจะให้ความสำคัญต่อเพื่อนร่วมงานเท่าเทียมกัน ไม่เว้นแม้แต่กรณี Interns อย่างผู้เขียน วัฒนธรรมองค์กรที่น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ มีการประยุกต์ใช้ “Diplomatic Skills” ในการสื่อสารภายในฝ่ายงาน SPMU อย่างกว้างขวาง เรื่อยไปตั้งแต่ระดับ Director Ayaka Suzuki จนถึงเจ้าหน้าที่ทั่วไปที่ทำงานในฝ่ายงานนี้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ต้องการตำหนิ หรือแสดงความไม่ค่อยพอใจต่อบุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง ก็มักจะใช้วิธีการพูดสื่อสารภายในกลุ่มแบบ “บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น” ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบริหารความขัดแย้งในเชิงสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ในเชิงบวกแก่องค์กร

เรื่องสุดท้าย ได้มีโอกาสสร้าง “เครือข่ายความร่วมมือ” (Networking) กับเพื่อนร่วมงาน ตลอดจนทำกิจกรรมดีๆ ร่วมกันกับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งนอกจากช่วยเพิ่มพูน “ทักษะการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคล” (Interpersonal Skills) ให้กับผู้เขียนแล้ว ยังก่อให้เกิดความทรงจำที่ดีงาม หากย้อนกลับไประลึกถึงในอนาคตเมื่อกลับมาทำงานที่ไทยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมในรูปของ “Coffee Break” และ “Fun Games” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สามารถจัดขึ้นได้อย่างง่ายๆ ภายในหน่วยงาน SPMU ที่ผู้เขียนฝึกงานอยู่ รวมไปถึงกิจกรรมนอกสถานที่ในรูปของ “Summer Picnic” ณ สวนสาธารณะ Central Park ซึ่งเป็นสวนสาธารณะกลางเกาะแมนฮัตตันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของนิวยอร์ก เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2021 โดยมี Director Ayaka Suzuki และสตาฟจาก SPMU เข้าร่วมกิจกรรมทั้งฝ่ายงาน (รูปภาพที่ 10) ตลอดจนกิจกรรม “Cocktail Party” และ “Supper Club” ที่จัดขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือนและปลายเดือนมิถุนายน 2021 ตรงนี้ ก็เป็นวัฒนธรรมองค์กรของ UN ที่เปิดโอกาสให้ผู้บริหารกับทีมงานมีช่องทางในการสื่อสารและสานสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยและความเป็นกันเอง ภายใต้บรรยากาศสบายๆ ตามธรรมชาติที่เป็นสวนสาธารณะ ซึ่งเป็นอะไรที่คงไม่พบบ่อยนักในระบบการทำงานของไทย ที่น่าสนใจก็คือ จากการพูดคุยแบบสบายๆ ในลักษณะนี้ ทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้ว่า สตาฟของ UN จำนวนไม่น้อยมีความใฝ่ฝันอยากมาเวียนงานที่ “UN ESCAP” ในกรุงเทพมหานคร ในอนาคตอันใกล้ ด้วยชื่นชอบในวัฒนธรรมไทยที่มีความโดดเด่นงดงาม รวมทั้งธรรมชาติที่สวยงามหลากหลาย และความเป็นมิตรของคนไทย ยิ่งได้พูดคุยในเชิงลึกมากขึ้นกับ Jessica Anne Summers ซึ่งเป็น Mentor ของผู้เขียนในฝ่ายงาน SPMU ยิ่งทำให้รู้ว่า “คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ” (ESCAP) เป็นหน่วยงานที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ จากสตาฟของ UN โดยตั้งความหวังว่า จะหมุนเวียนการปฏิบัติหน้าที่มาที่ ESCAP พร้อมเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิต เรียนรู้วัฒนธรรมความเป็นอยู่ และแหล่งท่องเที่ยวของไทยให้ได้สักครั้งในช่วงชีวิตการทำงานกับ UN

รูปที่ 10 ร่วมกิจกรรม “Summer Picnic” กับ UN staff ณ สวนสาธารณะ Central Park

5. บทส่งท้าย

การเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัย Columbia ในช่วงสองปีที่ผ่านมา แม้ทำให้ผู้เขียนได้รับความรู้เชิงลึกในชั้นเรียน รวมทั้งประสบการณ์การใช้ชีวิตและการร่วมกิจกรรมในหลากหลายรูปแบบ แต่การฝึกงานกับ UN ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ทรงอิทธิพลมากของโลกในช่วง Summer 2021 นี้ ก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการที่หาได้ยากยิ่งต่อผู้เขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับ “ประสบการณ์ตรง” จากการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่มีประสิทธิภาพสูง และมีบทบาทสำคัญในเวทีระหว่างประเทศ ทำให้สามารถเรียนรู้ระบบงาน กระบวนการทำงาน ตลอดจนวิธีการทำงานขององค์กรระดับโลกที่พรั่งพร้อมไปด้วยผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรที่มีศักยภาพสูง (Talent) รวมทั้งมีประสบการณ์จริงที่สะสมมาอย่างยาวนานจากภาคสนาม จากทั่วทุกภูมิภาคของโลก ทั้งจากทวีปอเมริกา ทวีปยุโรป ทวีปเอเชีย ทวีปแอฟริกา ทวีปออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ที่สำคัญคือ ยังได้รับ “ประโยชน์ทางอ้อม” ในการนำองค์ความรู้ ที่เป็น Hard Skills และประสบการณ์ใหม่ๆ ตลอดจนทักษะในการทำงานร่วมกับบุคลากรที่มีประสิทธิภาพสูง (Interpersonal Skills) ที่ถือเป็นทักษะสำคัญประการหนึ่งใน Soft Skills ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับองค์กรของไทยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ ในยุคดิจิทัลนี้

เหนือสิ่งอื่นใด ผู้เขียนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ผลการปฏิบัติงานของผู้เขียนตลอดช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2021 ที่ผ่านมา ได้สร้างความประทับใจให้กับผู้บริหารและสตาฟในฝ่ายงาน Strategic Planning and Monitoring Unit (SPMU) จนกระทั่งได้รับการขนานนาม “Unicon Girl” จาก Director ของ SPMU ด้วยเห็นว่าผู้เขียนมี “การทำงานแบบมืออาชีพ” (Professionalism) พร้อมทั้งเสนอให้ผู้เขียนอยู่ช่วยงานต่อให้ครบ 6 เดือน เพื่อให้ครอบคลุมช่วง “การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ” ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติ จะเปิดวาระการประชุมสมัยสามัญในช่วงต้นเดือนกันยายนเป็นต้นไป โดยให้คำมั่นว่า จะช่วยอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ด้านเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการยื่นต่อวีซ่าทั้ง การประกันสุขภาพ (Proof of Medical Insurance) ใบรับรองแพทย์ (Certificate of Good Health) การออกหนังสือรับรองและเอกสารที่เกี่ยวข้อง ที่ลงนามโดย นาย António Guterres “เลขาธิการสหประชาชาติ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยขอ “วีซ่าประเภท G-4” ให้กับผู้เขียน ซึ่งเป็นวีซ่าที่ได้รับการอนุมัติยากมาก โดยจะต้องเป็นบุคคลที่จะเดินทางไปประเทศสหรัฐฯ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ให้กับ “องค์กรระหว่างประเทศ” ซึ่งรวมถึงองค์การสหประชาชาติ เท่านั้น

ผู้เขียนเห็นว่า ผลการประเมินที่ดีเยี่ยมดังกล่าว กอรปกับ “ความทรงจำที่งดงาม” (Fond Memories) ของเจ้าหน้าที่ UN ที่มีต่อผู้เขียน ดังที่ได้สะท้อนความรู้สึกดีๆ ไว้ใน “จดหมายแสดงความขอบคุณ” (รูปที่ 11) ย่อมช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของคนไทยในสายตาชาวต่างประเทศที่ทำงานในองค์กรชั้นนำของโลก และส่งผลทำให้นักเรียนทุนรัฐบาลรุ่นหลังๆ รวมทั้งเจ้าหน้าภาครัฐในองค์กรต่างๆ ของไทย ที่มีแผนจะสมัครฝึกงานกับ UN ในอนาคต มีโอกาสมากยิ่งขึ้นที่จะได้รับการตอบรับให้เข้าร่วมฝึกงานกับหน่วยงานต่างๆ ของ UN ในโอกาสต่อไป อันจะเป็นการยกระดับขีดความสามารถ และเสริมสร้างศักยภาพของคนไทยให้มีความแข็งแกร่งและโดดเด่นมากยิ่งขึ้นในเวทีระหว่างประเทศต่อไปในอนาคต

รูปที่ 11 จดหมายแสดงความขอบคุณผู้เขียนจากเพื่อนร่วมงานที่ UN
รสริน หทัยเสรี

รสริน หทัยเสรี
กรมสรรพากร
ผู้เขียน