การพัฒนาขอนแก่นเป็นนครหลวงอินโดจีนและมุมมองการพัฒนาภาคอีสานแบบคลัสเตอร์ (Cluster)

การพัฒนาขอนแก่นเป็นนครหลวงอินโดจีนและมุมมองการพัฒนาภาคอีสานแบบคลัสเตอร์ (Cluster)

บทความโดย
นายชัยวัฒน์  หาญพิทักษ์พงศ์
นายธณัฐ  พวงนวม
นายกานต์  แจ้งชัดใจ

1. บทนำ

ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคเป็นหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาได้พยายามผลักดันนโยบายต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำข้างต้นที่เกิดขึ้น โดยสาเหตุหลักมาจากการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตรัฐบาลไทยเริ่มให้ความสำคัญกับการกระจายความเจริญไปยังส่วนภูมิภาคผ่านการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมุ่งเน้นที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) อาทิ การสร้างถนน เส้นทางรถไฟ เป็นต้น โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ของแต่ละภูมิภาคและหากเรามองไปที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน จะพบว่า จังหวัดขอนแก่นได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ สังเกตได้จากการเป็นเมืองที่มีผลิตภัณฑ์จังหวัดสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของภาคอีสานและมีแนวโน้มที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้จังหวัดขอนแก่น สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นนครหลวงแห่งอินโดจีนและกระจายการพัฒนาไปสู่จังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสานในลักษณะคลัสเตอร์ (Cluster) ได้ต่อไป ซึ่งรายละเอียดจะเป็นอย่างไรสามารถติตตามได้ต่อไป โดยในบทความนี้จะกล่าวถึง แนวคิดการพัฒนาขอนแก่นเป็นนครหลวงอินโดจีน มุมมองการพัฒนาภาคอีสานแบบคลัสเตอร์ (Cluster) ปัญหาและอุปสรรคในการขับเคลื่อนการพัฒนา และกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาภาคอีสานอย่างยั่งยืน (Key Success)

2. ข้อมูลทั่วไปด้านเศรษฐกิจของจังหวัดขอนแก่น

สำหรับข้อมูลพื้นฐานด้านเศรษฐกิจของจังหวัดขอนแก่น ในปี 2564 สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า จังหวัดขอนแก่นมีผลิตภัณฑ์จังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) เท่ากับ 213,039 ล้านบาท ประกอบด้วย ภาคการเกษตร 21,769 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด และภาคนอกการเกษตร 191,270 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 90 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด ทั้งนี้ ภาคนอกการเกษตร ประกอบไปด้วย ภาคอุตสาหกรรม 72,294 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 34 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด และภาคบริการ 118,976 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด (รายละเอียดตามภาพที่ 1) โดยมีผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว (GPP Per Capita) เท่ากับ 124,489 บาท

ภาพที่ 1 ผลิตภัณฑ์จังหวัดของจังหวัดขอนแก่น ปี 2564

ที่มา: สศช.

ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง จะพบว่า ในเดือนมีนาคม 2566 RSI ของจังหวัดขอนแก่นอยู่ที่ระดับ 73.7 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วเล็กน้อย อย่างไรก็ดี RSI ของจังหวัดขอนแก่นยังต่ำกว่า RSI ของภาคอีสานอยู่เล็กน้อย ทั้งนี้ สศค. มองว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ RSI ของจังหวัดขอนแก่นอยู่ในระดับสูงเป็นผล มาจากปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการและภาคการลงทุน (รายละเอียดตามภาพที่ 2)

ภาพที่ 2 ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค เดือนมีนาคม 2566

ภาพที่ 2 ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค เดือนมีนาคม 2566
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

เมื่อเรามองลึกลงไปในด้านปัจจัยทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ของจังหวัดขอนแก่นจากดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (SEFI) ที่พัฒนาและจัดทำโดยกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบด้วยตัวชี้วัด 88 ตัวชี้วัด เพื่อบ่งชี้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของพื้นที่ต่าง ๆ แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการศึกษาด้านสาธารณสุข ด้านกำลังซื้อ ด้านปัญหาของทรัพยากรมนุษย์ และด้านสิ่งแวดล้อม โดย SEFI บ่งชี้ว่า ดัชนี SEFI ของจังหวัดขอนแก่นสูงเป็นอันดับที่ 1 ของภาคอีสาน โดยมีจุดแข็งมาจากด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านสุขภาพและด้านความท้าทายทางทรัพยากรมนุษย์ อย่างไรก็ดี ข้อมูลของเราบ่งชี้ให้เห็นว่า จังหวัดขอนแก่นยังคงเผชิญความท้าทายด้านการศึกษา ด้านกำลังซื้อ และด้านสิ่งแวดล้อม ตามลำดับ (รายละเอียดตามภาพที่ 3)

ภาพที่ 3 ดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ (SEFI) ของจังหวัดขอนแก่น

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

3. แนวคิดการพัฒนาขอนแก่นเป็นนครหลวงอินโดจีนและมุมมองการพัฒนาภาคอีสานแบบคลัสเตอร์ (Cluster)

จากรายละเอียดที่ได้กล่าวไปข้างต้นเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปด้านเศรษฐกิจของจังหวัดขอนแก่นสะท้อนให้เห็นถึงขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของจังหวัดขอนแก่นที่มีจุดแข็งทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านสุขภาพ และด้านทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดขอนแก่นและสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและด้านสังคมในระดับภูมิภาคของประเทศได้ โดยกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. ร่วมกับวารสารการเงินการคลัง ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร. เพชรลัดดา  เพ็ชรภักดี (ผศ.ดร. เพชรลัดดาฯ) อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมือง และนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับการพัฒนาขอนแก่นเป็นนครหลวงอินโดจีนและมุมมองการพัฒนาภาคอีสานแบบคลัสเตอร์ (Cluster) ผ่านรายการ “Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาค” เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

ผศ.ดร. เพชรลัดดา เพ็ชรภักดี
อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

3.1 แนวคิดการพัฒนาขอนแก่นเป็นนครหลวงอินโดจีน

ผศ.ดร. เพชรลัดดาฯ ได้ให้ข้อมูลว่า หากมองย้อนกลับไปในช่วงแรกของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยจะพบว่า การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้มุ่งเน้นไปที่การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ยกตัวอย่างเช่น การคมนาคม การไฟฟ้า การชลประทาน เป็นต้น โดยได้ดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับการพัฒนาสังคมผ่านการขยายโอกาสทางการศึกษาและการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ จึงส่งผลให้พื้นที่ในภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมขึ้นภายในเวลาต่อมา โดยหากพิจารณาข้อมูลผลิตภัณฑ์จังหวัดในภาคอีสาน จะพบว่า จังหวัดขอนแก่นมีผลิตภัณฑ์จังหวัดสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของภาคอีสาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความได้เปรียบทางด้านเศรษฐกิจของจังหวัดขอนแก่นที่มีศักยภาพค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นในภูมิภาคเดียวกัน โดยมีสาเหตุที่สำคัญจากแนวโน้มในการเติบโตของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่พร้อมต่อการเป็นเมืองแห่งศูนย์กลางการประชุมสัมมนาของภาคอีสานที่สามารถรองรับและเชื่อมโยงภูมิภาคตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (East – West Economic Corridor: EWEC) ซึ่งเป็นโครงการภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) อีกทั้ง มีนโยบายและการกำหนดบทบาทของเมืองที่ชัดเจนประกอบกับมีความพร้อมต่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ตลอดจนมีการเติบโตในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัยที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่อง

ภาพที่ 4 การพิจารณาศักยภาพของจังหวัดขอนแก่น

ที่มา: ผศ.ดร. เพชรลัดดาฯ

ดังนั้น จากปัจจัยด้านศักยภาพของจังหวัดขอนแก่นที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักที่ทำให้การพัฒนาจังหวัดขอนแก่นเป็นนครหลวงอินโดจีนเกิดขึ้น โดยเป็นการพัฒนาภายใต้แนวคิดการพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบระบบขนส่งมวลชน หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ TOD หรือ Transit Oriented Development ซึ่งแนวคิดดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้มีความน่าอยู่ มีพื้นที่สีเขียว และเป็นศูนย์รวมของกิจกรรมการอยู่อาศัย การค้า การบริการ การจ้างงาน รวมทั้งกิจกรรมนันทนาการ ซึ่งส่งผลให้เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและเกิดความคุ้มค่าในการลงทุนของระบบขนส่งมวลชนในระยะยาว นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดความสะดวกสบายในการสัญจรและประหยัดการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสามารถลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสามารถนำไปสู่การพัฒนาเมืองในทุกมิติได้อย่างยั่งยืน

ภาพที่ 5 ผลที่ได้ในภาพรวมของ TOD

ที่มา: ผศ.ดร. เพชรลัดดาฯ

3.2 มุมมองการพัฒนาภาคอีสานแบบคลัสเตอร์ (Cluster) ผศ.ดร. เพชรลัดดาฯ ได้เล่าว่า การเปลี่ยนแปลงของภาคอีสานจากระบบถนนรางสู่ความเป็นเมืองนับตั้งแต่ ที่มีการบังคับใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 จนถึงฉบับปัจจุบันสะท้อนให้เห็นว่า การเชื่อมต่อคือโอกาส (Connectivity is Opportunity) เนื่องจากแนวเส้นทาง EWEC มีการเชื่อมโยงของเครือข่ายคลัสเตอร์ (Cluster) ต่าง ๆ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของธุรกิจหลายประเภทในภูมิภาค ทั้งภาคเกษตรที่มียางพารา น้ำตาลและข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ (Cluster) หลักของภูมิภาค รวมไปถึงชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการของภาคอีสานที่ส่งเสริมให้เกิดความแข็งแกร่งทางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาค

ภาพที่ 6 คลัสเตอร์ (Cluster) ตามแนวเส้นทาง EWEC

ที่มา ผศ.ดร. เพชรลัดดาฯ

นอกจากนี้ การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจของภาคอีสาน (Northeastern Economic Corridor: NeEC) ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย นอกจากจะมีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแล้ว แนวทางการพัฒนาพื้นที่ที่ครอบคลุมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์เฉพาะคุณภาพ (Niche Product Developing Cluster) พื้นที่เศรษฐกิจฐานชีวภาพและอุตสาหกรรมเกษตรมูลค่าสูง (Premium Agro Industry & Bio Economy Cluster) พื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในการดึงดูดนักท่องเที่ยว (New Tourism Attraction Cluster) และพื้นที่ฐานอุตสาหกรรมอนาคต (New Industry Nodes) จะเอื้อให้การพัฒนาภาคอีสานแบบคลัสเตอร์ (Cluster) ได้รับการพัฒนาให้เป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยมีสาขาเกษตรกรรมในภูมิภาคที่ได้รับการพัฒนาให้ทันสมัย ตลอดจนได้รับการยกระดับให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญในอนาคต และนำไปสู่การสร้างรายได้ที่สำคัญให้แก่ภูมิภาคได้อย่างยั่งยืน

3.3 ปัญหาและอุปสรรคในการขับเคลื่อนการพัฒนา

ผศ.ดร. เพชรลัดดาฯ ได้อธิบายว่า ที่ผ่านมายังขาดการบูรณาการร่วมกันของแต่ละจังหวัดในการกระจายความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์และทรัพยากรจึงส่งผลให้นโยบายการบูรณาการของแต่ละจังหวัดไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน (Non-Harmonized Integration) ประกอบกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดและคลัสเตอร์ (Cluster) ที่ยังขาดการเชื่อมโยงและขาดการบูรณาการเชิงเป้าหมายร่วมกัน และการพัฒนาของแต่ละจังหวัดในภูมิภาคที่ไม่เท่าเทียมกัน ตลอดจนโอกาสและรายได้ของประชากรที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ของแต่ละภูมิภาค นอกจากนี้ การรับรู้ของกลุ่มคนในแต่ละพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างในการรับรู้ เนื่องจากช่องว่างของโอกาสและระดับการศึกษารวมถึงทักษะที่ค่อนข้างแตกต่างกัน จึงเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการพัฒนาและการสูญเสียโอกาสต่อการเปิด AEC

3.4 ปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาภาคอีสานอย่างยั่งยืน (Key Success)

ผศ.ดร. เพชรลัดดาฯ ได้สรุปว่า นอกจากสภาพภูมิศาสตร์ของภาคอีสานและจุดแข็งด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพ และด้านทรัพยากรมนุษย์ของจังหวัดขอนแก่นจะเป็นปัจจัยภายในที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคอีสานไปสู่ความยั่งยืนแล้ว การพัฒนาภาคอีสานยังต้องอาศัยกลไกการลดความเหลื่อมล้ำ 5 ประการ ซึ่งประกอบด้วย (1) กลไกทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม (2) กลไกทางภาษีในการกระจายรายได้และความมั่นคั่ง (3) กลไกสวัสดิการของรัฐที่ทำให้คนเข้าถึงการศึกษา การบริการทางสาธารณสุข สินเชื่อโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม (Social Safety Net) ที่เข้มแข็งเพื่อประกันคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมีในทุกช่วงเวลาของชีวิต (4) กลไกบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็งป้องกันทุจริตคอร์รัปชัน (Corruption) (5) กลไกกระจายอำนาจการเมืองและการคลังที่จะเป็นปัจจัยภายนอกในการสนับสนุนให้ภาคอีสานเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป ก่อนจะจากกันไป ทางคณะผู้เขียนขอขอบคุณ ดร. พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เเละ
ดร.นรพัชร์  อัศววัลลภ บรรณาธิการวารสารการเงินการคลัง สศค. ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์เนื้อหาดี ๆ สำหรับรายการ Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาคให้เเก่ผู้อ่านทุกท่าน

นายชัยวัฒน์ หาญพิทักษ์พงศ์
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นายธณัฐ พวงนวม
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นายกานต์ แจ้งชัดใจ
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน