การประยุกต์แนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเทศบาลนครลำปาง

การประยุกต์แนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเทศบาลนครลำปาง

บทความโดย
นายชัยวัฒน์  หาญพิทักษ์พงศ์
นายธณัฐ พวงนวม
นางสาวกันตา ศุขสาตร
นางสาวณัฏฐธิดา จันภักดี

1. บทนำ

แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เป็นหนึ่งในแนวคิดที่รัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญและส่งเสริมให้นำมาเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 โดยหลักการของแนวคิดดังกล่าวจะมุ่งเน้นการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจผ่านองค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา และเทคโนโลยีบนพื้นฐานของต้นทุนทางวัฒนธรรม เพื่อการนำมาซึ่งความสมดุลและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ จากรายละเอียดข้างต้นเกี่ยวกับแนวคิดการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะเห็นได้ว่า มีความเหมาะสมกับบริบทการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคหรือเศรษฐกิจเชิงพื้นที่สำหรับประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง และได้มีหลายพื้นที่ที่ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและสนองนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล โดยแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับอัตลักษณ์ของประชาชนในพื้นที่และประสบความสำเร็จ สำหรับบทความฉบับนี้จะนำพาท่านไปเรียนรู้ความสำเร็จของการประยุกต์แนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของเทศบาลนครลำปางซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่นำแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้และประสบความสำเร็จ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

2. ข้อมูลเศรษฐกิจพื้นฐานของจังหวัดลำปาง และเทศบาลนครลำปาง

ภาพที่ 1 ผลิตภัณฑ์จังหวัดลำปาง

ที่มา: สศช. ประมวลผลโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

สำหรับข้อมูลพื้นฐานด้านเศรษฐกิจของจังหวัดลำปาง ในปี 2564 สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า จังหวัดลำปางมีผลิตภัณฑ์จังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) ณ ราคาปัจจุบัน (Current Market Prices) เท่ากับ 73,161 ล้านบาท ประกอบด้วยภาคการเกษตร 8,113 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด และภาคนอกการเกษตร 65,048 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 89 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด โดยภาคนอกการเกษตร ประกอบไปด้วย ภาคอุตสาหกรรม 25,373 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด และภาคบริการ 39,675 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 54 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด (รายละเอียดตามภาพที่ 1) อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว (GPP Per Capita) เท่ากับ 104,754 บาท

ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ซึ่งจัดทำโดยกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. กระทรวงการคลัง พบว่า ในเดือนมกราคม 2567 ดัชนี RSI ของจังหวัดลำปางอยู่ที่ระดับ 80.8 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกภาค โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (รายละเอียดตามภาพที่ 2)

ภาพที่ 2 ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (หน่วย: ร้อยละ)

 
ที่มา: กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค.

และเมื่อพิจารณาปัจจัยทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ของเทศบาลนครลำปาง ผ่านดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (SEFI) ที่พัฒนาและจัดทำโดยกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. ซึ่งประกอบไปด้วยตัวชี้วัด 88 ตัวชี้วัด เพื่อบ่งชี้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของพื้นที่ต่าง ๆ สะท้อนผ่าน 6 มิติ ได้แก่ 1) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2) ด้านการศึกษา 3) ด้านสาธารณสุข 4) ด้านเศรษฐกิจ 5) ด้านความท้าทายทางทรัพยากรมนุษย์ และ6) ด้านสิ่งแวดล้อม โดย SEFI ของเทศบาลนครลำปางอยู่ที่ระดับ 0.078 ถือเป็นพื้นที่ที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจดีติดอันดับที่ 44 ของตำบลหรือเทศบาลในจังหวัดลำปาง และเป็นอันดับที่ 10 ของตำบลหรือเทศบาลในอำเภอเมืองลำปาง โดยมีจุดแข็งด้านการศึกษา ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านความท้าทายทางทรัพยากรมนุษย์ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เทศบาลนครลำปางยังมีความท้าทายในด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ เป็นสำคัญ (รายละเอียดตามภาพที่ 3)

ภาพที่ 3 ดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ (Spatial Economic Fundamental Index)

ที่มา: กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค.

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเครื่องชี้วัดภาคบริการตัวอื่น ๆ ได้แก่ จำนวนผู้เยี่ยมเยือนของจังหวัดลำปาง พบว่า ในเดือนธันวาคม 2566 จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยของจังหวัดลำปางอยู่ที่ 179,396 คน โดยเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน และเป็นจำนวนที่มากกว่าจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติ ซึ่งมีจำนวนเพียง 13,479 คน ทั้งนี้ จำนวนผู้เยี่ยมเยือนดังกล่าวได้ฟื้นตัวกลับมาอยู่ในช่วงที่ขยายตัวได้หลังจากที่ชะลอตัวมากในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วงปี 2563 – 2564 (รายละเอียดตามภาพที่ 4)

ภาพที่ 4 จำนวนผู้เยี่ยมเยือนของจังหวัดลำปาง (หน่วย: คน)

ที่มา: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประมวลผลโดยกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค.

3. การประยุกต์แนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเทศบาลนครลำปาง

จากข้อมูลเศรษฐกิจพื้นฐานที่กล่าวมาข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า แม้เศรษฐกิจของจังหวัดลำปางในภาพรวมได้รับปัจจัยสนันสนุนทางเศรษฐกิจจากภาคบริการโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่เทศบาลนครลำปาง ยังคงเผชิญกับความท้าทายในด้านเศรษฐกิจจากปัญหารายได้และหนี้ครัวเรือน จึงนำมาสู่แนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจเทศบาลนครลำปางภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ในการนี้ กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. ร่วมกับวารสารการเงินการคลังได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจาก ดร. นิมิต  จิวะสันติการ (ดร. นิมิตฯ) นายกเทศมนตรีนครลำปาง มาถ่ายทอดรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องราวของการประยุกต์ใช้แนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเทศบาลนครลำปาง ผ่านรายการ “Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาค” ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมาโดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินงาน ดังต่อไปนี้

ดร. นิมิต  จิวะสันติการ
นายกเทศมนตรีนครลำปาง

3.1 แนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเทศบาลนครลำปาง

ดร. นิมิตฯ ได้เล่าว่า สืบเนื่องจากวิสัยทัศน์ของเทศบาลนครลำปาง “เมืองลำปางเป็นบ้านที่มีความสุขของทุกคน (A happy home for all)” จึงนำไปสู่การพัฒนาเทศบาลนครลำปางผ่านการนำทุนทางสังคมวัฒนธรรมมาเป็นฐานในการพัฒนา โดยมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสำหรับเชื่อมโยงการพัฒนาในทุกมิติและการให้ความสำคัญกับการพัฒนาแบบยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ เรียนรู้ นวัตกรรม สร้างสรรค์และยั่งยืน ภายใต้การขับเคลื่อนด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนา 5 ด้าน ดังนี้

1) ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาระบบนิเวศของเมืองเพื่อไปสู่เมืองน่าอยู่ (Livable City)
2) ยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยเพื่อไปสู่เมืองแห่งการเรียนรู้และคนคุณภาพ (City of Learning and quality people)
3) ยุทธศาสตร์ด้านการยกระดับขีดความสามารถด้านดิจิทัลและนวัตกรรมในการบริหารจัดการองค์กรดิจิทัลเพื่อไปสู่เมืองแห่งนวัตกรรมและดิจิทัล (Innovative and Digital City)
4) ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์จากฐานทุนทางสังคมและวัฒนธรรมเพื่อไปสู่เมือง
แห่งวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Cultural and Creative Economy City)
5) ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจฐานรากและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
เพื่อไปสู่เมืองแก่งความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน (A Stable Prosperous and Sustainable City)

ทั้งนี้ เทศบาลนครลำปางได้นำยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์จากฐานทุนทางสังคมและวัฒนธรรม
เพื่อไปสู่เมืองแห่งวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Cultural and Creative Economy City) มาเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของเทศบาลนครลำปาง ซึ่งประกอบด้วยกลยุทธ์ในการพัฒนาที่สำคัญ 6 ประการ ได้แก่

1) การพัฒนาสภาพแวดล้อมและปรับภูมิทัศน์ย่านเศรษฐกิจและท่องเที่ยวของเมือง เพื่อพัฒนาไปสู่“นครลำปาง เมืองน่าเดิน” โดยการสร้างอัตลักษณ์ให้แก่เมืองลำปางด้วยการปรับปรุงภูมิทัศน์ พัฒนาและจัดระเบียบเมืองให้สามารถเชื่อมต่อกับย่านธุรกิจการค้าเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ
2) การพัฒนารูปแบบและกิจกรรมทางการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและอัตลักษณ์วิถีนำไปสู่ “นครลำปาง เมืองเทศกาลและวัฒนธรรม” ด้วยการส่งเสริมเทศกาล ประเพณี และวัฒนธรรมที่สำคัญของชุมชน เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่
3) การจัดการความรู้และพัฒนาแหล่งเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อนำไปสู่ “นครลำปาง เมืองที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม” โดยให้ความสำคัญกับการจัดการความรู้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับแหล่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
4) การพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ โดยการเปิดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ต่อยอดศักยภาพที่มีอยู่และพัฒนาย่านเมืองต่าง ๆ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ สร้างสรรค์ และเรียนรู้ เพื่อขับเคลื่อนเมืองลำปางให้เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ (Creative Tourism) ในรูปแบบ Maker Space, Learning Space, Urban Living Lab และ Co – working Space ในชุมชน
5) การสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการบนฐานของทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้แก่ แหล่งเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์ เมืองเก่า ย่านการค่สำคัญของเมือง วิถีชีวิตชุมชนลุ่มแม่น้ำวัง สินค้าชุมชน อาหารพื้นถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ และออกแบบพัฒนากิจกรรมและบริการรูปแบบใหม่
6) การยกระดับผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มจากทุนทางวัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเดิมของจังหวัด และผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ พร้อมทั้งส่งเสริมการลงทุนวิจัย พัฒนาการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาและส่งเสริมทางการค้า

ภาพที่ 5 ยุทธศาสตร์ของเทศบาลนครลำปาง (พ.ศ. 2566 – 2570)

ที่มา: แผนพัฒนาท้องถิ่นเทศบาลนครลำปาง (พ.ศ. 2566 – 2570)

3.2 ปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Key Success)

ดร. นิมิตฯ ได้สรุปว่า ปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจเทศบาลนครลำปางไปสู่ความยั่งยืนคือจุดยืนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่งประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่ เมือง ผู้คน องค์กร และชุมชน กล่าวคือ การมีจุดยืนทางเมืองที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบนิเวศของเมืองทั้งระบบให้มีความน่าอยู่ ทันสมัยและมีความสุข โดยมีการให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ตลอดช่วงอายุทั้งในมิติการเรียนรู้ อาชีพ และความเสมอภาค ผ่านองค์กรที่มุ่งเน้นกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการองค์กรให้มีสมรรถนะสูงและเป็นองค์กรดิจิทัล รวมทั้งมีชุมชนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาชุมชนที่ครอบคลุมในทุกมิติเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืน

ภาพที่ 6 จุดยืนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ

ที่มา: แผนพัฒนาท้องถิ่นเทศบาลนครลำปาง (พ.ศ. 2566 – 2570)

สุดท้ายนี้ทางคณะผู้เขียนขอขอบคุณ ดร. พิสิทธิ์  พัวพันธ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. ดร.พงศ์นคร  โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค และ ดร. นรพัชร์  อัศววัลลภ บรรณาธิการวารสารการเงินการคลัง ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์เนื้อหาดี ๆ เกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคสำหรับ “รายการ Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาค” ตลอดมา

นายชัยวัฒน์ หาญพิทักษ์พงศ์
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นายธณัฐ พวงนวม
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นางสาวกันตา ศุขสาตร
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นางสาวณัฏฐธิดา จันภักดี
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน