บทความโดย
มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล
อมรศักดิ์ มาลา
เปิดซอง
มนต์ชัย: ถึง คุณอมรศักดิ์
นี่คงเป็นจดหมายที่เขียนยากที่สุดฉบับหนึ่งในชีวิตของผม ไม่เพียงเพราะห่างเหินมานานและคุ้นชินกับโลกดิจิทัลที่ตอบสนองทุกสิ่งทุกอย่างแบบทันทีทันใดเท่านั้น แต่เพราะบรรยากาศของบ้านเมืองในตอนนี้ยังทำให้ผมสับสนอึดอัด และไม่มั่นใจต่อหนทางข้างหน้า หลังจากที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสองชาติมหาอำนาจในปีที่ผ่านมา ไม่ทันได้พักหายใจหายคอก็ต้องเจอกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ที่สร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจของโลกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นเวลาครึ่งปีแล้วสำหรับการปรับตัวให้เข้ากับชีวิตวิถีใหม่ซึ่งไม่ง่ายเลย เครื่องบินจำนวนมากยังจอดแช่อยู่ที่สนามบินทั่วประเทศ ชายหาดที่อ้างว้างและโรงแรมที่เงียบเหงายังปรากฎให้เห็นโดยเฉพาะพื้นที่ที่พึ่งพานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นหลัก ป้ายเซ้งกิจการหรือให้เช่าอาคารถูกแขวนมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานที่ยังห่างไกลจากคำว่า ‘ปกติ(เดิม)’ ไปพอสมควร
แม้ภาครัฐจะพยายามออกมาตรการในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งพยุงเศรษฐกิจเพื่อให้ภาคธุรกิจยังเดินหน้าต่อไปได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับผู้ประกอบการยุคนี้ที่จะได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและเท่าเทียมทุกราย ขณะเดียวกัน การปรับตัวในภาวะวิกฤติแบบนี้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ใครเคยคาดคิดและเป็นไปไม่ได้เลยที่ทุกคนจะผ่านสถานการณ์นี้ได้โดยไม่เจ็บปวด
ถ้อยทักทาย
วันนี้ผมคิดว่าเราต้องคุยเรื่องนี้กัน
ช่วงที่ผ่านมาเราทั้งสองคนมีโอกาสพุดคุยกับผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญเพื่อฟังเสียงสะท้อนที่หลากหลาย มุมมองของพวกเขาน่าสนใจทีเดียว ทั้งจากคุณวิชุพรรณ ศรีสัญญา นายกสมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ ที่ทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของคนในภาคการท่องเที่ยวและจิ๊กซอว์บางตัวที่หายไป หรือจาก ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งตั้งข้อสังเกตเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศรวมทั้งบทบาทของผู้กำกับดูแลระบบกาารเงินที่ต้องละวางแบบแผนเดิมและทำสิ่งใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาให้ทันท่วงที รวมทั้งมุมมองจากคุณธิติฏฐ์ ทัศนาขจรหรือเชฟต้นแห่งร้าน Le Du เขาถ่ายทอดความรู้สึกของผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีเดิมพันสูงมากและไม่สามารถจะพบกับการปิดเมืองรอบถัดไปได้อีก
เราน่าจะร้อยเรียงความคิดของทั้งสามคนออกมาเพื่อทำความเข้าใจและนำไปตั้งโจทย์ใหม่ในยุคชีวิตวิถีใหม่ที่แสนจะท้าทายนี้กัน
อมรศักดิ์: คุณมนต์ชัยครับ
ผมคงไม่อาจปฏิเสธในสิ่งที่คุณมนต์ชัยพูดได้เลยว่า ภาวะเศรษฐกิจในครั้งนี้ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่หลากหลาย เป็นปรากฏการณ์ที่ท้าทายสำหรับภาคธุรกิจ รวมถึงภาครัฐในการดำเนินนโยบายเพื่อทั้งแก้ไข ฟื้นฟู และป้องกันในอนาคต ผมเชื่อว่าคุณมนต์ชัยคงจะเห็นมาตรการต่างๆ ตั้งแต่นโยบายที่มุ่งเน้นเศรษฐกิจมหภาค ทั้งการออกกฎหมายเพื่อให้สามารถกู้เงินมาเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและเกษตรกรโดยตรง เราคงจะได้ยินได้ฟังเรื่องมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” หรือเงินช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร หรือการเพิ่มเงินช่วยเหลือสำหรับผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมและถูกเลิกจ้าง และการกู้อีกส่วนมาเพื่อการลงทุน ยกระดับการผลิตและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เราอาจจะได้เห็นมาตรการด้านสินเชื่อแบบที่เรียกกันว่า Soft Loan ทั้งการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติปล่อยกู้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ธนาคารพาณิชย์ เพื่อปล่อยกู้ต่อแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs ในอีกด้านหนึ่งก็มีการให้สินเชื่อสำหรับประชาชนรายย่อยผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และยังมีการช่วยเหลือภาคตลาดทุนโดยกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนหรือ BSF
มาตรการแม้จะมีความหลากหลาย แต่แน่นอนว่า ทุกอย่างต้องใช้เวลา มันมีสิ่งที่เรียกว่า time lag ระหว่างการตัดสินใจดำเนินนโยบาย และผลที่เกิดขึ้นหลังจากเครื่องมือต่างๆ ได้ถูกขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ ในช่วงที่ผ่านมาที่เราทั้งสองคนมีโอกาสสนทนากับผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่าน ทุกท่านก็มีมุมมองต่อทั้งประเด็นปัญหา ผลของมาตรการหรือนโยบายต่างๆ ที่ภาครัฐพยายามดำเนินการทั้งที่เหมือนและแตกต่างกันออกไป ซึ่งผมและคุณมนต์ชัย คงจะได้แบ่งปันในการพูดคุยครั้งนี้ผ่านตัวอักษร
ผมอยากเริ่มต้นเล่าถึงมุมมองของ ดร. สมประวิณ ก่อน เพราะน่าจะทำให้เห็นภาพรวมเชิงเศรษฐกิจได้ดีที่สุด ดร. สมประวิณ มองภาพ “เศรษฐกิจไทยเหมือนคนที่อ่อนแออยู่แล้ว ซึ่งถ้าป่วยเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด – 19 ก็มีโอกาสที่จะเจ็บหนักได้มากกว่าคนอื่น และฟื้นตัวช้ากว่าคนอื่น ดังนั้น โอกาสดังกล่าวจะเกิดขึ้นมากหรือน้อยย่อมขึ้นอยู่กับมาตรการการรักษาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งหากไม่ดีเพียงพอก็อาจเกิดผลถาวรในระยะยาว (Permanent Effect)”
ดร. สมประวิณสะท้อนให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นใน 2 ส่วนหลัก คือในระดับองค์กร บริษัท ห้างร้าน และในระดับปัจเจกบุคคล องค์กรในไทยหลายแห่งโดยเฉพาะ SMEs ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาด้านขีดความสามารถในการแข่งขันมาอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์โควิด – 19 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาสำคัญที่ทำให้องค์กรเหล่านี้ต้องรับศึกอีกด้านคือ ปัญหาสภาพคล่อง (liquidity) ซึ่งหากมีไม่เพียงพอ ก็อาจล้มหายตายจากหรือยุติกิจการ การยุติกิจการดังกล่าวนำมาซึ่งผลกระทบในระดับปัจเจกบุคคล และทำให้ระดับการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในลักษณะลูกโซ่ต่อเนื่อง
คุณมนต์ชัยครับ ผมอาจจะเล่ารายละเอียดในส่วนเศรษฐกิจมหภาคและนโยบายของภาครัฐมาพอสมควรแล้ว ผมเชื่อว่าคุณมนต์ชัยในฐานะบรรณาธิการ คอลัมนิสต์ ผู้ประกาศข่าว และพิธีกรที่ใกล้ชิดกับภาคเอกชน น่าจะสะท้อนภาพอีกด้านของสิ่งที่เกิดขึ้นจริงว่า เหมือนหรือแตกต่างจากทฤษฎีที่ผมได้กล่าวถึงไว้หรือไม่ครับ
มนต์ชัย: คุณอมรศักดิ์ครับ
คุณอมรศักดิ์ได้พูดถึงมุมมองที่เราใช้เวลาสนทนากับ ดร. สมประวิณไปแล้ว ผมจึงอยากจะเสริมเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น โดยเริ่มต้นจากผู้ประกอบการขนาดเล็กก่อน แต่เป็นเล็กแบบที่ไม่ธรรมดา หรือ Small is Beautiful นั่นก็คือคุณธิติฏฐ์ ทัศนาขจร หรือเชฟต้น กรรมการผู้ตัดสินในรายการ Top Chef และเจ้าของร้านอาหารหลายแห่งในกรุงเทพฯ ได้แก่ ร้านบ้าน เมรัย นุสรา และร้าน Le Du ซึ่งร้านหลังสุดนี้ได้รับรางวัลหนึ่งดาวมิชลินเป็นเวลา 2 ปีต่อเนื่อง และยังเป็นร้านอาหารที่ได้รับการจัดอันดับให้ติด 1 ใน 50 ร้านที่ดีที่สุดในเอเชียอีกด้วย
เชฟต้นเล่าว่ารายได้หลักของเขาอย่างภัตตาคาร Le Du หายไปมากกว่าร้อยละ 90 โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนจะมีการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเสียอีก เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ “ร้านอาหารในกลุ่ม Fine Dining เช่นนี้มีลักษณะเฉพาะตัว โดยผู้รับประทานอาหาร ไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะประเด็นด้านรสชาติ แต่การเดินทางมารับประทานอาหาร ที่ร้าน ยังรวมถึงบทสนทนาระหว่างลูกค้ากับเชฟและบริกร เพื่อเรียนรู้ถึงวัตถุดิบและขั้นตอนการปรุงที่สลับซับซ้อน ตลอดจนบรรยากาศและประสบการณ์พิเศษอื่นๆ ที่ร้านได้สร้างสรรค์ขึ้น ดังนั้น การปิดร้านอาหารในช่วงที่ผ่านมา จึงเป็นการปิดชั่วคราวโดยที่ไม่มีรายรับ แต่รายจ่ายคงที่อื่นๆ เช่น ค่าสาธารณูปโภค ต้นทุนการดูแลรักษา และค่าใช้จ่ายในส่วนของพนักงานยังคงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการอย่างเชฟต้นต้องแบกรับเอาไว้ ซึ่งทำให้ร้านอาหารในเครือของเชฟต้นทั้งหมดต้องปรับตัว ทั้งการปรับลดค่าตอบแทนพนักงานลงบางส่วน (Unpaid Leave)”
เชฟต้นยังให้ความเห็นต่อไปอีกว่า แม้รัฐบาลได้เริ่มมีมาตรการผ่อนคลายให้ร้านอาหารสามารถเปิดทำการได้ตามปกติในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน แต่ต้องมีการปฏิบัติตามมาตรฐานสุขลักษณะ เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม ลูกค้าแต่ละคนต้องนั่งแยกโต๊ะกัน และกฎการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งสำหรับร้านอาหารแบบ Fine Dining เป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำแบบนั้น ไม่เพียงแต่ไม่คุ้มกับต้นทุนของร้านแต่ยังทำให้ส่งมอบประสบการณ์อาหารให้กับลูกค้าได้ไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็นอีกด้วย ดังนั้น ในวันที่ผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว เชฟต้นจึงตัดสินใจเปิดร้านอาหารบ้านบนถนนวิทยุเพียงแห่งเดียว เนื่องจากเป็นร้านที่มีลักษณะรับประทานเป็นครอบครัว แต่ก็ต้องลดขนาดการให้บริการจาก 40 ที่นั่งเหลือเพียง 8 ที่นั่ง และร้าน Le Du ซึ่งเป็นร้านเรือธงในเครือ สามารถให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา
ดูเหมือนเชฟต้นเข้าใจดีว่าเป็นเรื่องยากหากต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว เนื่องจากการตีความคำว่าร้านอาหารเป็นเรื่องที่ยาก เพราะรูปแบบที่หลากหลายและมีผู้ประกอบการจำนวนมาก นโยบายช่วยเหลือภาคธุรกิจจึงน่าจะคำนึงถึงผลประโยชน์โดยภาพรวมมากกว่าการเลือกช่วยเหลือเฉพาะเจาะจงอย่างธุรกิจภัตตาคารที่เขาทำรวมถึงร้านอาหารที่มีความสลับซับซ้อนรูปแบบอื่น ขณะเดียวกัน ในประเทศไทยเองก็ไม่ได้มีองค์กร ตัวกลาง หรือแพลตฟอร์มที่เป็นตัวแทนร้านอาหารทุกประเภท ไม่มีใครเป็นเจ้าภาพชัดเจนสำหรับการบริหารจัดการตรงนี้ และ “เมื่อถามเจาะลึกลงไปถึงมาตรการที่ผู้ประกอบการอยากได้ คำตอบที่ได้รับคือมาตรการสินเชื่อในช่วงนี้ ผู้ประกอบการอาจจะไม่ได้ต้องการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพราะการได้รับสินเชื่อในวันที่สามารถลงทุนหรือสร้างรายได้ได้ แต่นำมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของธุรกิจ ก็อาจจะไม่ส่งผลดีในระยะยาว มาตรการที่เชฟต้นคาดหวังจึงเป็นมาตรการที่เมื่อผ่อนคลายการปิดสถานประกอบการแล้วมากกว่า เช่น การสนับสนุนให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และมาตรการด้านภาษีสำหรับผู้ประกอบการในช่วงที่ต้องกลับมาดำเนินธุรกิจอีกครั้ง เป็นต้น”
คุณอมรศักดิ์ครับ นอกจากธุรกิจร้านอาหารแล้ว ธุรกิจโรงแรมก็ยังคงเจอกับข้อจำกัดและผลกระทบที่หนักหน่วงไม่แพ้กัน คุณวิชุพรรณในฐานะนายกสมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ที่เราสองคนมีโอกาสพูดคุยยาวๆ กับเธอผ่านเทคโนโลยี การประชุมทางไกลเล่าว่า ธุรกิจโรงแรมในจังหวัดกระบี่พึ่งพานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในระดับที่สูงมาก แม้สัดส่วนของตลาดของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกระจายตัวทั้งประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ญี่ปุ่น และอินเดียซึ่งดีกว่าภูเก็ตที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่สุด แต่จำนวนนักท่องเที่ยวก็ลดลงอย่างชัดเจนตั้งแต่ปลายปี 2562 เนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เมื่อเกิดเหตุการณ์กับโรคโควิด – 19 เสริมแรง ก็ทำให้บรรดาโรงแรมหลายแห่งไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้และประกาศขายเพื่อลดภาระในช่วงวิกฤติ ดังนั้น “จากช่วงเริ่มต้นวิกฤติจนถึงสิ้นปี ผู้ประกอบการโรงแรมจำเป็นต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวในประเทศก่อนเป็นสำคัญ เพราะการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้อย่างเสรีเช่นเดิมเป็นไปได้ยากมากในปีนี้”
สิ่งที่คุณวิชุพรรณตั้งคำถามกับมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยเฉพาะการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศอย่าง “เราเที่ยวด้วยกัน” คือนโยบายที่ครอบคลุม มองครบทุกมิติสำหรับผู้ประกอบการทุกกลุ่ม เนื่องจากรัฐสนับสนุนค่าที่พักสูงสุดถึงร้อยละ 40 และไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน ซึ่งสามารถใช้สิทธิได้ถึง 5 คืน หากพิจารณาส่วนลดดังกล่าว เท่ากับว่าผู้ใช้สิทธิสามารถจองห้องพักได้ในราคา 7,500 บาทต่อคืนเพื่อรับสิทธิส่วนลดสูงที่สุด กลับกลายเป็นว่า “นโยบายนี้อาจเพิ่มโอกาสให้กับกลุ่มโรงแรมขนาดใหญ่มากกว่าช่วยเหลือโรงแรมขนาดเล็กหรือโรงแรมท้องถิ่น เนื่องจากเกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสและความยืดหยุ่นของอุปสงค์ขึ้นกับการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว หากเลือกห้องพักราคาถูกลงก็จะได้รับเงินสนับสนุนน้อยลงเมื่อเทียบกับการได้รับเต็มเพดานร้อยละ 40” คุณวิชุพรรณจึงอยากฝากไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณามาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่เน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็กด้วย
ดูเหมือนปัญหาของภาคธุรกิจจะคล้ายกันตรงความกังวลเรื่องความครอบคลุมของมาตรการจากภาครัฐทั้งการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภาครัฐยังไม่อาจก้าวข้ามผ่านอคติเรื่อง ‘อุ้มคนตัวใหญ่ ทิ้งคนตัวเล็ก’ ไปได้นะครับ
ใจความระหว่างบรรทัด
อมรศักดิ์: คุณมนต์ชัยครับ
ผมชื่นชมในความเป็นผู้ประกาศข่าว นักข่าว สำหรับการตั้งประเด็นที่น่าสนใจ และมีความท้าทายในการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างกันผ่านมุมมองที่เกี่ยวกับวิชาการและนโยบายของผม ผมเชื่อว่า จริงๆ แล้วภาครัฐไม่ได้กำลังอุ้มคนตัวใหญ่ ทิ้งคนตัวเล็กเลย ผมมองว่ารัฐบาลได้ออกแบบนโยบายที่มีความหลากหลาย และพยายามจะให้พอดีกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละกลุ่ม เราจึงเห็นนโยบายสำหรับประชาชน สำหรับ SMEs หรือสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ผมเขียนชี้แจงไปข้างต้น เราดูแลทุกๆ คนไปด้วยกัน สังเกตจากชื่อโครงการอย่าง “เราไม่ทิ้งกัน” หรือ “เราเที่ยวด้วยกัน” ก็ได้ แต่ผมก็ไม่ปฏิเสธว่าการใช้ประโยชน์นโยบายก็เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่จะต้องแข่งขันกัน เพื่อตอบสนองต่อทั้งความต้องการและงบประมาณของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด ดังนั้นมาตรการที่รัฐออกมาจะถูกเติมเต็มด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ประกอบการ จะเล็กหรือจะใหญ่ไม่สำคัญ สำคัญที่ใครก็ตามสามารถปรับตัวได้เร็วกว่าย่อมได้เปรียบกว่าคู่แข่งเสมอ เพราะเราไม่รู้ว่าเหตุการณ์นี้จะจบลงเมื่อไหร่ แม้ข่าวการพัฒนาวัคซีนจะเป็นรูปเป็นร่างทำให้เค้าลางของความหวังชัดเจนมากขึ้น แต่ตอนนี้ก็ยังเร็วไปที่จะด่วนสรุป และกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกก็ยังห่างไกลจากจุดที่เคยเป็นในช่วงก่อนหน้า เราต้องการการบริโภค นักท่องเที่ยว การเดินทางและเม็ดเงินอย่างที่เคยได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าโลกจะกลับไปเหมือนเดิมได้หรือไม่ สิ่งเดียวที่ทำได้คือ การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของภาคธุรกิจ โดยมีภาครัฐดำเนินนนโยบายเพื่อสร้างรากฐานที่เข้มแข็งให้กับการปรับตัวดังกล่าว
สิ่งนี้น่าจะสอดคล้องกับความเห็นของ ดร. สมประวิณในหลายๆ ประเด็น โดยเฉพาะเมื่อประเทศเผชิญปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจจากโควิด – 19 สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การลดความเสี่ยงในช่วงขาลงหรือ downside risk นี้ให้เร็วที่สุด อย่าให้ลุกลามไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นๆ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือการประกาศปิดเมืองหรือยุติกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทในช่วงที่ผ่านมา ก่อนจะดำเนินการผ่อนคลายมาตรการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยภาครัฐต้องมีมาตรการช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการและปัจเจกบุคคลผ่านสินเชื่อในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เขาสามารถฟื้นฟูธุรกิจและสามารถกลับมาจ้างงานในระดับปกติได้ บทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินสามารถเข้ามาเติมเต็มในช่วงวิกฤตินี้ได้โดยการสร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงิน เช่น การส่งต่อความเสี่ยงบางส่วนที่สถาบันการเงินต้องแบกรับไว้ในฐานะผู้ให้สินเชื่อไปยังหน่วยงานภาครัฐ หรือกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ เพราะธนาคารก็มีข้อจำกัดที่ชัดเจนคือ การเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งไม่เพียงแต่ต้องดำเนินการตามการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว แต่ยังต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นอีกด้วย ดังนั้น จะเห็นได้ว่าธนาคารขนาดใหญ่โดยเฉพาะในกลุ่มสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบหรือ D-SIBs อาจจะขยับตัวได้ช้ากว่าธนาคารขนาดกลางด้วยซ้ำ
ถ้าจะกล่าวให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ให้นึกภาพเหมือนกับเส้นกราฟความเสี่ยงรวม (Aggregate Risk) ในระบบเดิมที่มีการกระจายตัวแบบปกติ แล้วเมื่อเกิดวิกฤติ เส้นกราฟดังกล่าวก็ขยับเบ้ไปทางด้านซ้าย ทำให้ผู้ขอกู้เดิมซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงไม่มากมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น หน้าที่ของรัฐก็คือการทำให้เส้นกราฟ Aggregate Risk ดังกล่าวกลับมากระจายตัวในรูปแบบเดิม โดยการช่วยเหลือผู้กู้และผู้ให้กู้ให้มีความเสี่ยงลดลง ซึ่งถือเป็นหน้าที่ที่จำเป็นในภาวะวิกฤติ แตกต่างจากในวันปกติ ที่รัฐทำหน้าที่กำกับดูแลให้กลไกตลาดสามารถทำงานได้สมบูรณ์ โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาแทรกแซงระบบเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ประเทศไทยมีการกระจายตัวของรายได้และการถือครองสินทรัพย์สูง หรือที่เรียกว่ามี Uneven Distribution หากจะกล่าวโดยง่าย ก็คือมีปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ ดังนั้น ในวันที่มีวิกฤติ การขอความร่วมมือจากบริษัทห้างร้านขนาดใหญ่ หรือประชากรกลุ่มที่มีรายได้สูง มาร่วมไม้ร่วมมือกัน จะช่วยแก้ปัญหาวิกฤติได้ เพราะในปัจจุบัน แต่ละบริษัทหรือองค์กรต่างก็มีมาตรการช่วยเหลือเป็นของตนเอง ซึ่งอาจจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ขาดเอกภาพหรือมีความซ้ำซ้อน การแก้ปัญหาในส่วนนี้ต้องการเจ้าภาพที่เข้ามาบริหารจัดการ ซึ่งก็คือภาครัฐเพื่อดึงภาคธุรกิจเข้ามาร่วมไม้ร่วมมือกันแก้ปัญหาได้มากขึ้น ผลลัพธ์สุดท้ายที่เกิดขึ้นคือผลกระทบภายนอกเชิงบวก (Positive Externality) ขนาดใหญ่ที่จะสามารถช่วยประเทศก้าวข้ามวิกฤติได้ดีและเร็วกว่าที่คาด
ดร. สมประวิณยังเสนอประเด็นการปรับตัวเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจที่น่าสนใจในภาวะวิกฤตินี้อีกว่า “การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยมุ่งเน้นกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำซึ่งมีความโน้มเอียงหน่วยสุดท้ายในการบริโภค (Marginal Propensity to Consume: MPC) สูง อาจจะไม่ใช่คำตอบของการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติ เพราะเป็นเวลาที่ผู้มีรายได้ปานกลางและต่ำอาจไม่มีรายได้และเงินออมมากเพียงพอ ดังนั้น การกระตุ้นผ่านกลุ่มผู้มีรายได้สูงผ่านกลไกต่างๆ เช่น การเพิ่มสัดส่วนการหักลดหย่อนภาษีจากการใช้จ่าย เป็นต้น ซึ่งแม้จะมี MPC ต่ำกว่า แต่ปริมาณเม็ดเงินยังคงมีเพียงพอในการบริโภคอาจจะเกิดประโยชน์สูงสุด และแน่นอนว่า เราอาจจะหลีกเลี่ยงวาทกรรมที่บอกว่า “อุ้มคนรวยหรือคนตัวใหญ่” ไม่ได้ แต่ในความเป็นจริง การใช้จ่ายดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ การจ้างงาน และการหมุนของเงินในระบบ”
มนต์ชัย: คุณอมรศักดิ์ครับ
ผมฟังภาพของการขับเคลื่อนนโยบายและมุมมองเชิงวิชาการ แน่นอนว่าผมคล้อยตามในหลายๆ ประเด็น แต่หากยังจำได้ ในวันที่เราไปพูดคุยกับผู้ประกอบการทั้งสองท่าน บางครั้งนโยบายต่างๆ ก็มีระยะเวลาก่อนจะเกิดมรรคเกิดผล ดังนั้น ผู้ประกอบการแต่ละรายก็จำเป็นจะต้องพึ่งพิงและช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุดก่อนเช่นกัน
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเชฟต้น ซึ่งเล่าว่า “เขาไม่เคยคิดจะทำบริการส่งอาหารหรือ Food Delivery เลย เพราะมุ่งมั่นจะทำธุรกิจภัตตาคารหรือ Fine Dining เท่านั้น แต่เมื่อต้องอยู่รอดในช่วงที่ปิดเมือง ปิดร้าน ไม่มีรายได้ จึงต้องทำอาหารทั้งที่จับกลุ่มลูกค้าตลาดบนของร้าน Le Du เดิม ในราคา 690 – 900 บาท โดยใช้วัตถุแบบเดียวกับที่ให้บริการในร้าน เพียงแต่เลือกให้บริการเฉพาะเมนูที่สามารถนำกลับบ้านได้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านรสชาติและคุณภาพวัตถุดิบเท่านั้น ในขณะเดียวกัน ก็ได้จับกลุ่มลูกค้าในวงกว้างโดยจัดทำอาหารพร้อมรับประทาน 4 เมนู ราคากล่องละ 99 บาทออกขายแทน” และอาศัยชื่อเสียงที่มีในการประชาสัมพันธ์ผ่านเครือข่ายต่างๆ ที่มี โดยรายได้จากยอดขายคิดเป็นเพียงร้อยละ 10 ของรายได้เดิมที่เคยได้เท่านั้น สิ่งที่ทำใจได้ยากกว่าคือการจ่ายเงินเดือนบางส่วนให้กับพนักงานเพื่อรักษาการจ้างงานเอาไว้ สำหรับร้านอาหารประเภทนี้ การเลิกจ้างถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะพนักงานที่มีความรู้ ความเข้าใจ ประสบการณ์ทำงานร่วมกับตัวเชฟถือว่าสำคัญมากที่สุด เนื่องจากกระบวนการเตรียมวัตถุดิบไปจนถึงการเสิร์ฟบนโต๊ะอาหารที่สลับซับซ้อน ดังนั้น หากต้องเสียพนักงานไป ก็จะต้องเผชิญต้นทุนสูงในการสร้างบุคลากรใหม่ๆ ขึ้นมาทดแทน
เชฟต้นไม่แน่ใจว่ากลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่เคยครองสัดส่วนครึ่งหนึ่งของรายได้จะกลับมาเมื่อไหร่ แต่ยังมีความหวังว่าถ้าลูกค้าคนไทยกลับมารับประทานอาหารที่ร้านบ้าง ธุรกิจก็จะยังพอไปต่อได้
แน่นอนว่า ปริมาณการสั่งซื้อวัตถุดิบจากแหล่งผลิตหลายๆ แห่งก็ต้องลดลงไปด้วย เชฟต้นบอกว่าฟาร์มและกลุ่มเกษตรกรหลายแหล่งที่เขานำสินค้าชุมชนมาประกอบอาหารก็ต้องปรับตัวรับกับยอดขายลูกค้ากลุ่มร้านอาหารและโรงแรมที่หายไปเกือบทั้งหมด สินค้าเหล่านี้ เช่น เนื้อไก่จากการเลี้ยงที่ปล่อยให้เดินอิสระ (Free-range Chicken) ดอกไม้ที่กินได้ หรือการประมงแบบยั่งยืน ไม่สามารถไปวางขายในตลาด หรือร้าน Discount Store ได้ เนื่องจากเป็นการผลิตที่เฉพาะ ประณีต และมีราคาสูง แหล่งผลิตเหล่านี้จึงต้องลดจำนวนคนงานลงเพื่อให้ธุรกิจยังดำเนินการต่อไปได้ การบริหารจัดการต้นทุนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดใน ช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เครือข่ายผู้ประกอบการร้านอาหารประเภท Fine Dining ก็ได้สนับสนุนเกษตรกรกลุ่มดังกล่าว โดยการผลัดเปลี่ยนการสั่งวัตถุดิบจากผู้ประกอบการเหล่านี้สลับกัน
ในขณะที่คุณวิชุพรรณมอง
“การปรับตัวของธุรกิจโรงแรมซึ่งจากนี้จะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น และใครเริ่มต้นก่อนถือว่าได้เปรียบ ทั้งระบบการให้บริการการชำระเงิน หรือระบบอัตโนมัติภายในห้องพักเป็นแบบไร้สัมผัส เพื่อลดการสัมผัสระหว่างมนุษย์ในพื้นที่ของโรงแรม ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เข้าพัก วิกฤติโรคโควิด – 19 ในครั้งนี้เป็นตัวเร่งให้ผู้บริโภคปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีได้ง่ายและเร็วขึ้น และเป็นสิ่งเสริมแรงให้ผู้ประกอบการปรับตัวและลงทุนกับเทคโนโลยีดังกล่าว”
จากเดิมที่ผู้ประกอบการโรงแรมมักจะลังเลเมื่อต้องนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เนื่องจากเกรงว่าจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุนและกลัวลูกค้าจะใช้ไม่เป็นและเกิดความไม่ประทับใจ แต่ดูเหมือนข้อจำกัดพวกนี้จะสลักสำคัญน้อยลงแล้ว เช่นเดียวกับการลงทุนในมาตรฐานด้านสุขอนามัย ผ่านโครงการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย หรือ Amazing Thailand Safety & Health Administration (SHA) ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจในการเข้าพักและใช้บริการอื่นๆ ภายในโรงแรม การปรับตัวอีกด้านที่ผู้ประกอบการเริ่มพิจารณา คือ การหารายได้เพิ่มเติมนอกเหนือจากธุรกิจหลักคือที่พัก แต่สร้างรายได้จากบริการอื่นๆ สำหรับลูกค้าภายนอกที่ไม่ได้เข้าพักในโรงแรม เช่น ร้านอาหาร การบริการประชุมสัมมนา บริการด้านสุขภาพและสปา เป็นต้น
เป็นที่รู้กันดีว่าธุรกิจโรงแรมมีต้นทุนคงที่สูง นั่นคือค่าที่ดิน การก่อสร้างอาคารสวยงามและระบบที่มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มาใช้บริการ เฉพาะโรงแรมของเธอเองยังมีภาระที่ต้องจ่ายทุกเดือนสูง 4 -5 ล้านบาท ต้นทุนที่จัดการได้คือต้นทุนหมุนเวียนและค่าจ้างพนักงาน ในช่วงที่ต่างประเทศเริ่มปิดเมือง นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางได้ รายได้ของโรงแรมหายไปทันทีแต่ผู้ประกอบการก็ยังต้องแบกรับต้นทุนเท่าเดิม ทางสมาคมโรงแรมภาคใต้จึงยื่นหนังสือถึงภาครัฐ เพื่อขอดำเนินการปิดดำเนินกิจการชั่วคราวเพื่อให้พนักงานสามารถขอรับเงินชดเชยจากสำนักงานประกันสังคมเป็นระยะเวลา 3 เดือนได้ แม้โรงแรมต่างๆ จะกลับมาเปิดให้บริการได้ในเดือนกรกฎาคม แต่ยอดจองห้องพักยังมีอยู่เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น หากสถานการณ์ยังคงดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี และไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ ผู้ประกอบการในจังหวัดกระบี่ก็อาจจะลดจำนวนพนักงานและขนาดธุรกิจอย่างแน่นอน เท่าที่พอจับใจความจากแต่ละท่าน ดูเหมือนเครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่ในตอนนี้จะยังไม่พอกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ครับ
คำลงท้าย
มนต์ชัย: คุณอมรศักดิ์ครับ
เพื่อความต่อเนื่อง ผมขออนุญาตบอกเล่าต่อถึงสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นความท้าทายสำคัญในอนาคต ไม่ว่าโควิด – 19 จะหมดไป หรือเราจะต้องอยู่ร่วมกับมันก็ตาม แต่ผมไม่แน่ใจว่านั่นจะมากพอที่จะอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจได้ตรงกันหรือไม่ว่า ตอนนี้คนไทย ผู้ประกอบการไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ท้าทายมากแค่ไหนและยังไม่มีสูตรสำเร็จว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะวางใจกับความไม่แน่นอนเหล่านี้ได้ มองไปข้างหน้า อนาคตนับจากนี้ก็ยากจะคาดเดาเหลือเกิน ทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ที่ยังน่าเป็นห่วง คู่ค้ารายสำคัญของประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา จีน และชาติต่างๆ ในอาเซียนยังต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด สำนักเศรษฐกิจทั้งหลายประเมินว่ากว่าที่เศรษฐกิจจะกลับมาได้ที่ระดับเดิมก็ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าสองปีทีเดียว แล้วระหว่างนี้ธุรกิจในประเทศจะอยู่กันได้อย่างไร
คุณวิชุพรรณเห็นว่า ข้อจำกัดด้านกายภาพที่มีผลต่อการเดินทางและท่องเที่ยวยังเป็นเรื่องใหญ่ จากเดิมที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเคยเข้าเที่ยวเมืองไทยเกือบแตะ 40 ล้านคนในปี 2562 มาปีนี้ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าจะมีจำนวนน้อยกว่า 10 ล้านคน สวนทางกับอุปทานห้องพักและที่อยู่อาศัยตามจังหวัดท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากมีเงินทุนไหลเข้ามาในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างโรงแรมรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นก็น่าคิดทีเดียวว่าผู้ประกอบการที่เพิ่งลงทุนไปนั้นจะมีความสามาถในการชำระหนี้เพียงไร และถ้าเริ่มเปิดประเทศ มีนักท่องเที่ยวกลับมาพอสมควร สงครามราคาที่พักจะดุเดือดหรือไม่เพราะทุกคนต้องการกระแสเงินสด ต้องการลูกค้า สุดท้ายกำไรและความมั่นคงของธุรกิจโรงแรมก็จะยังเปราะบางต่อไป
ขณะที่ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารระดับบนที่เน้นส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุด ณ จุดให้บริการ นั่นคือภายในร้านอาหาร ยังต้องการสภาพคล่องเพิ่มเติมในวันที่เริ่มเดินเครื่องกลับมาได้ใกล้เคียงปกติ เชฟต้นเน้นย้ำเสมอในการสนทนากันว่า การเติมเงินเข้าระบบอย่างมีประสิทธิภาพในช่วงการฟื้นฟูนั้นสำคัญไม่แพ้กับช่วงเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่นำไปสู่การปิดเมืองยังเป็นสิ่งที่คุกคามความมั่นคงทางจิตใจของผู้ประกอบการร้านอาหาร เพราะถ้ามีคำสั่งปิดเมืองอีกครั้งเท่ากับต้องปิดร้านไม่ต่ำกว่า 1 เดือน หากเกิดขึ้นจริง ก็คงจะมีร้านอาหารแบรนด์ดังจำนวนมากโบกมือลาธุรกิจนี้ไปอย่างถาวร สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดจึงเป็นความชัดเจนและทิศทางที่พอจะคาดเดาได้ของภาครัฐเพื่อใช้ในการวางแผนธุรกิจในภาวะที่มีเดิมพันสูงขนาดนี้ เพราะข้อจำกัดของธุรกิจที่ขายประสบการณ์ที่เป็นเลิศคือ ไม่สามารถใช้เทคโนโลยี สิ่งทดแทนหรือดัดแปลงกระบวนการใดๆ ได้มากนัก แทบทุกกระบวนการการทำงานยังต้องอาศัยความพิถีพิถันจากคนสู่คนทั้งหมด ถึงผู้คนโหยหาสิ่งเหล่านี้แต่ก็น่าคิดว่าจะเหลือผู้ที่แข็งแรงพอในวันที่เรากลับมานับหนึ่งอีกครั้งอยู่เท่าไร
อมรศักดิ์: คุณมนต์ชัยครับ
ผมอยากจะเสริมในส่วนความท้าทายในมิติของภาครัฐและนโยบายทางเศรษฐกิจนั้นมีอยู่เสมอและนับวันจะเป็นความเสี่ยงเชิงระบบที่กดดันความเชื่อมั่นทั้งในและนอกประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ดร.สมประวิณมองว่า ประเทศไทยขาดความได้เปรียบเชิงแข่งขันมานานแล้ว ถ้าชวนคิดไปด้วยกัน เราอยู่ในจุดที่ไกลกว่าจะไปแข่งขันเรื่องแรงงานราคาถูกกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามหรือกัมพูชา ซึ่งมีแรงงานหนุ่มสาวในสัดส่วนที่เยอะกว่ามาก หรือแข่งขันในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศหรือ FDI แต่เศรษฐกิจของเราก็ยังไม่ได้ใกล้เคียงกับระบบเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วที่พึ่งพาเทคโนโลยีและมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรมนุษย์ “การรับมือ ณ ปัจจุบันจึงความท้าทายที่เสมือนเป็นแรงกดดัน 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงด้านการผลิตซึ่งถือเป็น Underlying Megatrends ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ไทยจะแข่งขันได้ต้องแก้ไขโดยการปฏิรูปหรือเปลี่ยนอย่างสิ้นเชิงแบบที่เรียกว่า Transformation ส่วนแรงกดดันอีกด้านที่เข้ามาพร้อมกับวิกฤติโควิด -19 เป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ การแก้ไขในกรณีนี้คือการปรับตัวหรือ Adaptation นั่นคือการเปลี่ยนแปลงบนสินค้าและบริการเดิม เช่น ปรับเปลี่ยนช่องทางการจัดจำหน่าย หรือแผนธุรกิจ” การปรับตัวจะต้องมาก่อนใน 1 – 2 ปีนี้ เมื่อสัญญาณเศรษฐกิจดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงอย่างเต็มรูปหรือ Transformation จะเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อไม่ให้ตกขบวนรถเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ความท้าทายของภาครัฐ คือการลงทุนในด้านต่างๆ เพราะเมื่อ Adaptation ตกตะกอนหายไป แนวโน้มเดิมคือ Transformation จะกลับมาแทนที่ ภาครัฐจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันวิกฤติในอนาคต พร้อมๆ กับปรับปรุงเงื่อนไขและแรงจูงใจในระบบเศรษฐกิจในระยะให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การพัฒนาประเทศในระยะยาว
มนต์ชัยและอมรศักดิ์
นี่คงเป็นส่วนที่เราทั้งสองคนอาจจะมีความเห็นตรงกันมากที่สุดเพราะโจทย์ที่สำคัญคือเราจะทำอย่างไรต่อไปกับโครงสร้างเศรษฐกิจเดิมที่เราพึ่งพาตลาดต่างประเทศในระดับสูงทั้งภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ไม่ว่าโรคโควิด – 19 จะยังอยู่หรือหายไป นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเท่าเดิมหรือไม่ ก็ไม่ควรจะมีใครต้องเสียชีวิตจากโรคระบาด และไม่ควรจะมีใครต้องอดตายจากความขาดแคลน เมื่อมองกลับมายังแผ่นดินอันเป็นที่รักแล้ว เรายังมีทรัพยากรและอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ ภาคการบริการที่เป็นเลิศ รวมทั้งระบบสาธารณสุขดีเยี่ยมจนได้รับการยกย่องจากทั่วโลก สิ่งเหล่านี้หรือเปล่าที่ควรจะเป็น “ของจริง” ที่เราจะร่วมกันเริ่มต้นและเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ไปด้วยกันได้ เราหวังเหลือเกินที่จะได้เห็นเช้าวันใหม่ไปพร้อมกับทุกคนที่ได้อ่านจดหมายฉบับนี้ วันที่เราผ่านเรื่องราวเหล่านี้ไปได้ กลับมามีความหวัง เติบโตขึ้น และรักบ้านเกิดเมืองนอนในวิถีใหม่แบบที่ไม่เคยรักมากขนาดนี้มาก่อนด้วยกัน หวังว่าเราคงจะมีโอกาสได้พบกันอีกครั้ง อาจจะเป็นบนโต๊ะอาหารมื้อค่ำของร้าน Le Du หรือวันพักผ่อนสบายๆ ของโรงแรมริมหาดนพรัตน์ธาราก็เป็นได้ครับ
ขอแสดงความนับถือ
อมรศักดิ์ มาลา
เศรษฐกรชำนาญการ
สำนักงานเศรษฐการคลัง และผู้บริหารเพจ “รู้จริงเศรษฐกิจไทย”
มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล
นักข่าวธุรกิจที่ชอบตั้งคำถามใหม่ๆ กับโลกใบเดิม เชื่อว่าตัวเองอายุ 20 ปีเสมอ และมีเพจชื่อ BizKlass