Libra 2.0 การกลับมา ของสกุลเงินดิจิตอลเฟซบุค

Libra 2.0 การกลับมา ของสกุลเงินดิจิตอลเฟซบุค

โดย รศ.ดร. นงนุช ตันติสันติวงศ์
Visiting Academic สาขา Electronics and Computer Sciences
ของ University of Southampton (UK) 

เมื่อกลางปี 2562 Facebook ประกาศว่าจะออก Cryptocurrency ชื่อว่า Libra ในปี 2563 แต่แล้วโครงการก็ติดปัญหาสารพัดจนมีข่าวว่าบริษัทพันธมิตรทั่วโลกพากันตบเท้าลาออกจากการเป็นสมาชิกของ Libra Association จนอาจปิดโครงการนี้ลง 

ล่าสุด เพื่อสยบข่าวล่มของกลุ่ม Libra Association ก็มีการเขียน White Paper ขึ้นมาใหม่และเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น Libra 2.0 ต่อด้วยประกาศชื่อสมาชิกใหม่ที่เข้าร่วมสมาคม เช่น Temasek, Paradigm and Slow Ventures ในเดือนพฤษภาคม 2563 ตามมาด้วยประกาศแต่งตั้งอดีตปลัดกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาเป็น CEO ไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2563เพื่อให้เห็นถึงการเดินหน้าต่อ

สิ่งที่ทำให้นักลงทุน นักวิชาการ หรือแม้แต่คนทั่วไปสนใจ Libra ไม่ใช่เพราะว่ามันเป็น Cryptocurrency ตัวใหม่อะไร ก็ในเมื่อ Cryptocurrency มีออกใหม่มาแทบจะทุกเดือนทุกสัปดาห์ จนคนเลิกตื่นเต้นไปแล้ว

แต่สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนสนใจ คือ Libra เป็น Cryptocurrency ที่ออกโดยเจ้าพ่อแห่ง Social Network ในขณะที่ Cryptocurrency โดยทั่วไปเองก็อาศัย Blockchain ที่มี Distributed Network แทนการใช้สถาบันการเงินที่เป็นตัวกลางในการรับรองธุรกรรมการใช้จ่ายและซื้อขายเหมือนกัน การผสม Social Network และ Blockchain Network 
นอกจากจะทำให้การจัดการธุรกรรมมีประสิทธิภาพและปลอดภัยแล้ว ยังอาจมีฐานผู้ใช้สกุลเงินดิจิตอลนี้มากกว่าจำนวนประชากรของประเทศใดประเทศหนึ่ง

สถิติการใช้ Facebook ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 

– จำนวนบัญชีผู้ใช้ Facebook ที่มีการเข้าใช้อย่างน้อยเดือนละครั้ง มีถึง 2.6 พันล้านบัญชี (เพิ่มขึ้น 200 กว่าล้านบัญชีใน 1 ปี) ทั้งนี้ในกลุ่มผู้ใช้มี 1.74 พันล้านบัญชี ใช้ Facebook ผ่านมือถือ

– มี 1.73 พันล้านบัญชีทั่วโลก ที่มีการเข้าใช้ Facebook ทุกวัน และ 1.15 พันล้านบัญชีในกลุ่มนี้ใช้ Facebook ผ่านมือถือ ทำให้ Facebook มีรายได้จากการโฆษณาผ่าน Facebook App ในมือถือ คิดเป็น 94% ของรายได้โฆษณาทั้งหมดของ Facebook

– ในทุกๆ วินาทีมี 5 บัญชีใหม่ถูกสร้างขึ้น ซึ่งการเติบโตของผู้ใช้ หมายถึงฐานลูกค้า Marketplace และลูกค้าของเพจและ เวบไซต์ต่างๆ ที่วางโฆษณาใน Facebook ที่เพิ่มขึ้น

– มีเพจของธุรกิจต่างๆ ถูกสร้างขึ้นใน Facebook ร่วม 80 ล้านเพจ เพิ่มขึ้น 5 เท่าจาก 16 ล้านเพจในปี 2556 

– กว่า 90% ของคนใช้ Facebook อาศัยอยู่นอกอเมริกา รวมกว่า 200 ประเทศทั่วโลก มีทั้งประเทศเล็ก กลาง และใหญ่ ประเทศที่มีผู้ใช้ Facebook มากที่สุดในโลกไม่ใช่อเมริกาค่ะ แต่เป็นอินเดีย ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับ 8 ของโลก

สถิติเหล่านี้บอกเราว่า Libra อาจกลายเป็นเงินหมุนเวียนแลกเปลี่ยนระหว่างคนร่วมพันล้านคน และที่สำคัญคือทั่วโลก …. นี่คือจุดที่ต่างจาก Cryptocurrency อื่นที่ไม่มีฐานกลุ่มผู้ใช้ตั้งต้นใหญ่ขนาดนี้ในตอนที่เริ่มออกมาใช้แลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าแม้แต่ Bitcoin เอง

งั้นเรามาทำความรู้จัก Libra 2.0 กันก่อนค่ะ

Libra 2.0 ไม่ได้ต่างจาก Libra เดิมมากนัก แค่มีการแก้ไขเล็กน้อยเพื่อประนีประนอมกับเหล่าธนาคารกลาง G7 เช่น

จากเดิมถูกออกแบบให้มีมูลค่าอิงกับตะกร้าเงินหลายๆ สกุลหลัก มูลค่าถ่วงน้ำหนักของเงินสกุลต่างๆ ในตะกร้ารวมเท่ากับมูลค่าของ Libra ซึ่งจะมีหลักทรัพย์ในแต่ละสกุลเงินหลัก ค้ำประกัน Libra หมายความว่าถ้าคุณมี 1 Libra คุณสามารถเอาไปแลกเป็นเงินสกุลหลักตามสัดส่วนน้ำหนัก

เปลี่ยนมาเป็นการสร้าง Stable Coin หรือก็คือ Libra หลายสกุล เข่น LibraUSD ซึ่งมีค่าผูกกับ USD แบบ 1 ต่อ 1 มีหลักทรัพย์สกุล USD เป็นหลักประกันสำรองตามมูลค่ารวมของ LibraUSD ที่ออกมา และมี Global Libra ที่มีค่าถ่วงน้ำหนักตาม Libra สกุลต่างๆ อีกที ซึ่งโดยรวมแล้วก็ไม่ได้ต่างไปจากเดิม ยกเว้นมี Libra หลายสกุลเพิ่มเข้ามา แม้ว่าธนาคารกลางของเงินสกุลหลักอาจจะเห็นว่าทุนสำรองที่ใช้สำหรับ Libra แต่ละสกุล จะช่วยลดปัญหาการทิ้งเงินสกุลหลักแล้วหันมาใช้ Libra นอกจากนี้ Libra 2.0 ที่มี Libra สกุลต่างๆ มีค่าอิง 1 ต่อ 1 กับเงินจริง ทำให้ธนาคารกลางสามารถติดตามควบคุมปริมาณเงินของตัวเองที่อยู่ในรูป Libra ได้ด้วย

Libra สกุลต่างๆ มีลักษณะคล้ายกับเงินสกุลต่างๆ ในประเทศเล็กๆ ทั่วโลกที่ผูกค่าไว้กับ USD และ Global Libra ก็เหมือนเงินสกุลหลักๆ ทั่วโลก อย่างเงินบาทที่อิงค่ากับ Basket of Currency

สิ่งที่ไม่เปลี่ยน คือ สมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคม Libra จะทำหน้าที่ควบคุมปริมาณ Libra ที่หมุนเวียนในระบบ ควบคุมบันทึกและพิสูจน์รับรองความถูกต้องของธุรกรรม หรือก็คือ Libra Blockchain เป็น Blockchainแบบจำกัดภายใน Libra Association

โดยเริ่มต้น Libra Association ประกอบด้วยธุรกิจต่างๆ เช่น บริษัทที่ทำธุรกิจการชำระเงินอย่าง Paypal, Mastercard, VISA บริษัทกลุ่ม Blockchain บริษัทเงินทุน บริษัทด้านคมนาคมสื่อสาร อย่างเช่น  Vodafone รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น eBay, Uber, Spotify 

แต่เมื่อมีปัญหาสารพัดทางด้านระเบียบกฎหมาย และ Facebook มีการกระทำผิดเรื่องข้อมูลส่วนตัวในหลายกรณี ทำให้กลุ่มธุรกิจการชำระเงินและโทรคมนาคม รวมถึง eBay ต่างถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของสมาคม จนต้องหากลุ่มสมาชิกใหม่และตั้งเป็น Libra 2.0 และมี Libra Association ที่มีสมาชิกหน้าใหม่เกือบทั้งแผง 

การมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเต็มจำนวนเช่นนี้ ทำให้ Libra แตกต่างจาก Cryptocurrency ที่คนส่วนใหญ่รู้จัก Cryptocurrency เหล่านั้นไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและการเปลี่ยนแปลงมูลค่าเป็นไปตามความต้องการและปริมาณเหรียญดิจิตอลที่มีอยู่ในตลาดซื้อขาย โดยไม่มีคนควบคุมปริมาณเหรียญ แต่มีการตั้งสูตรเบื้องต้นของระบบที่คอยควบคุมปริมาณเหรียญ

หลักทรัพย์ค้ำประกันในกองทุนสำรองของ Libra 2.0 ไม่ได้เป็นเงินสดหรือเงินฝากธนาคารเท่านั้นค่ะ แต่เป็นสินทรัพย์ที่มีระยะเวลาไถ่ถอนระยะสั้น มีความเสี่ยงต่ำ และมีสภาพคล่องสูงค่ะ

แม้หลายสำนัก จะบอกว่าวิธีนี้ทำให้ตัดปัญหาในเรื่องของการเก็งกำไรค่าเงิน Libra ออกไปได้หรือลดความผันผวนของค่าเงิน Libra แต่ในความเป็นจริงแล้ว การกำหนดค่าเงินให้อิงกับตะกร้าเงินสกุลต่างๆ ที่ใช้เป็นหลักค้ำประกัน Libra ก็ไม่ต่างอะไรกับการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราประเทศแบบคงที่ของเงินบาทเมื่อก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งหรือเงินหยวนเมื่อสมัยเปิดประเทศใหม่ๆ

ความต้องการเงินสกุลหนึ่งมากขึ้น ก็อาจจะดันให้ค่าเงินที่แท้จริงกับค่าเงินที่อิงตะกร้าเงินนั้นต่างกัน และอาจมีการเก็งกำไรแฝงเกิดขึ้นในตลาด และในที่สุดแรงกดดันจะทำให้ต้องปล่อยให้ค่าเงินมีมูลค่าเปลี่ยนแปลงตามการซื้อขายในตลาดแทนค่าของสกุลเงินอ้างอิง

Facebook ระดมเงินทุนตั้งต้นจากสมาชิกสมาคม เพื่อซื้อหลักทรัพย์ในสกุลเงินอ้างอิงเก็บไว้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยออกเหรียญ Libra Investment Token ให้กับสมาชิก มีเงื่อนไขว่าจะต้องลงเงินทุนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ จึงจะได้เป็นสมาชิกร่วมก่อตั้ง ซึ่งกลุ่มธุรกิจนี้นี่เอง เป็นบริษัทที่เราสามารถชำระสินค้าและบริการของบริษัทเหล่านี้ รวมถึงโอนเงิน โดยใช้ Libra ได้ และสำหรับ Facebook เราสามารถทำธุรกรรมโดยใช้ Libra ผ่าน Facebook Messenger, Market Place, WhatsApp, และ Instagram ได้

ทั้งนี้การระดมทุนและการจัดการออก Token เป็นการทำผ่านบริษัทลูกในสวิตเซอร์แลนด์ของ Facebookที่ชื่อว่า Libra  Networks ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการชำระเงิน  Big Data และ Blockchain อยู่แล้ว โดย Facebook จะทำตัวเป็นเพียง 1 ในสมาชิกร่วมก่อตั้งเท่านั้น 

ในส่วนของการแลกเปลี่ยนเงินดิจิตอล Libra 2.0 หรือให้บริการกระเป๋าเงิน จะต้องเป็น Virtual Asset Service Providers (VASPs) ตัวแทนที่ได้รับรองจากสมาคมอย่างถูกต้อง หรือตัวแทนที่ถูกกำกับโดยหน่วยงานภาครัฐของแต่ละประเทศ

ข้อดีของการใช้ Libra 

การใช้ Libra แทนเงินตราหลัก จะทำให้กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ลดต้นทุนในการรับชำระเงินและโอนเงิน ที่ปัจจุบันต้องทำผ่านสถาบันการเงินทั้งหลายในแต่ละประเทศ เช่น 

ในปัจจุบัน ลูกค้าซื้อของผ่าน Market Place ของ Facebook หรือในกรณีที่ลูกค้าเรียกแท๊กซี่ผ่าน Uber จะต้องชำระเงินให้ผู้ขายโดยใช้บัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตของธนาคารที่ลูกค้ามีบัญชีอยู่ โดยคำสั่งซื้อและการเรียกเก็บเงินจะถูกส่งผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ไปยังผู้ขายและธนาคารที่ลูกค้ามีบัญชีอยู่

เมื่อธนาคารของลูกค้ารับรองการจ่ายเงินต่อแพลตฟอร์มและผู้ขายตอบรับการขายสินค้าหรือบริการ แพลตฟอร์มจะทำการยืนยันการซื้อขาย และกระบวนการโอนเงิน คือ จากธนาคารลูกค้าเข้าธนาคารที่แพลตฟอร์มมีบัญชีอยู่ และจากธนาคารของแพลตฟอร์มโอนไปธนาคารผู้ขาย ค่าธรรมเนียมและเวลาในการโอนเช่นนี้ ทำให้แพลตฟอร์มมีต้นทุนในการรับจ่ายโอนเงิน 

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยความที่ Facebook มีผู้ใช้อยู่ใน 200 กว่าประเทศ และในประเทศเหล่านี้มีประเทศเล็กๆ จำนวนมาก ที่นอกจากผู้ใช้ Facebook ไม่มีทั้งบัตรเดบิตและบัตรเครดิตแล้ว ในประเทศเล็กๆ เหล่านั้นบางประเทศไม่มีธนาคารหรือมีธนาคารแต่ค่าธรรมเนียมสูงมาก ทำให้มีต้นทุนในการซื้อขายผ่าน Market Place ของ Facebook สูง จนส่งผลให้การเข้าถึงตลาดในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดหรือประเทศเล็กๆ เหล่านั้นทำได้ยาก

หากใช้ Libra และ Libra Blockchain ในการดำเนินการเหล่านี้ เวลาที่ใช้อาจไม่ถึงนาที แถมไม่มีค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้ธนาคาร เพราะกลุ่มธุรกิจนี้เป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งสมาคม (หรือก็คือผู้ถือหุ้น) นั่นเอง  ดังนั้นต่อให้ตัวสมาคม Libra ไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเลย กลุ่มธุรกิจนี้ก็ไม่ได้เสียอะไรอยู่แล้ว ดีต่อทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย และแพลตฟอร์ม ทั้งนี้ Libra Networks กำลังขอใบอนุญาตจาก Swiss Financial Market Supervisory Authority หรือที่เรียกว่า FINMA เป็นผู้ดำเนินระบบชำระเงิน

ข้อกังวลหรือข้อที่เป็นประเด็นให้ควรระมัดระวัง คือ

ด้วยความที่สมาคมเป็นกลุ่มธุรกิจที่เป็นสมาชิกของสมาคมเป็นผู้ดูแลบริหาร Libra ทำให้มีผู้กังวลว่าจะมีการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ Libra ผ่านเพจหรือแพลตฟอร์มที่เป็นสมาชิกของสมาคมเพื่อประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจเหล่านี้เอง

แม้ว่าจะมีแผนเปิดรับสมาชิกสมาคม Libra เพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ แต่การเข้าเป็นสมาชิกไม่ได้ง่าย

สมาชิกไม่ใช่แค่มีเงิน แต่ต้องมีพื้นที่ Server อินเตอร์เนตไม่ต่ำกว่า 100 Mbps และระบบ Server ต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยในระดับ “วิศวกรรมและธุรกิจ” และจะต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย 2 ใน 3 ของเกณฑ์ต่อไปนี้ 

– ธุรกิจมีมูลค่าตลาด ไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือมีบัญชีลูกค้ามูลค่า ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ 

– ธุรกิจเข้าถึงผู้ใช้ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคนต่อปี 

– ธุรกิจเป็น 1 ใน 100 ผู้นำอุตสาหกรรมที่จัดโดย Interbrand Global

ในขณะที่เงินดิจิตอลหยวนของจีนหรือ Virtual Yuan เป็นที่กล่าวขานกันในช่วงที่ผ่านมา มีความแตกต่างจาก Cryptocurrency อื่นรวมถึง Libra 2.0 อย่างชัดเจน เนื่องจากเงินดิจิตอลหยวนไม่สามารถแลกเปลี่ยนซื้อขายได้ แต่สามารถใช้ชำระสินค้าได้ โดยมีค่าเทียบเท่าเงินหยวนที่เป็นเหรียญหรือธนบัตร หรือก็คือเป็นเงินดิจิตอลที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในการชำระเงินและลดต้นทุนการผลิตเหรียญเงินตราและธนบัตรอย่างแท้จริง Libra 2.0 กับ Virtual Yuan จึงแตกต่างในเรื่องวัตถุประสงค์ การบริหารจัดการและเงื่อนไขในตลาดค่อนข้างชัดเจน

อย่างไรก็ดี ทั้งสองสกุลเงินดิจิตอล ก็บอกถึงแนวโน้มในโลกการเงินยุคหลัง 2020 ได้ดี การเตรียมพร้อมรับมือไม่ใช่เพียงแต่ในกลุ่มธนาคารหรือนักลงทุน แต่นักกฏหมายและหน่วยงานกำกับการชำระเงินและการธนาคารอาจจะต้องสร้างชุดเกราะให้กับระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินการธนาคารและการชำระเงินที่ครอบคลุมถึงเงินดิจิตอลที่อาจเข้ามาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น

รศ. ดร. นงนุช ตันติสันติวงศ์

รศ.ดร. นงนุช ตันติสันติวงศ์
Visiting Academic สาขา Electronics and Computer Sciences
ของ University of Southampton (UK) 

ที่มา

https://libra.org/en-US/association
https://www.socialbakers.com/statistics/facebook
https://zephoria.com/top-15-valuable-facebook-statistics
https://techcrunch.com/2019/06/18/facebook-libra

Image by Gerd Altmann from Pixabay