บทความโดย
ชัยวัฒน์ ปะสุนะ
การผลัดเปลี่ยนแผ่นดินหลังจากพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 การบริหารราชการแผ่นดินในรัชสมัยของพระองค์นั้น ยังคงมีความสืบเนื่องมาจากสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระราชบิดา หรือรัชกาลที่ 5) ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการริเริ่มวางรากฐานระบบโครงสร้างประเทศสยาม ทั้งโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินและโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานให้แก่ราษฎร โดยดำเนินการอย่างมากในช่วงปลายรัชสมัย (King Chulalongkorn’s Reign, 1910, p. 8) และยังเป็นโครงการที่มีแผนระยะเวลายาวนาน ฉะนั้นการพัฒนาประเทศจึงดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปและอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวัตถุประสงค์เริ่มแรกเพื่อหวังให้เกิดความสะดวกสบายแก่ราษฎร และอำนวยความสะดวกการปกครอง นอกจากนี้ยังเป็นการกระจายความเจริญไปยังทุกภาคส่วนทั่วประเทศสยาม
ขณะที่ประเทศยังคงดำเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง กระแสความเจริญของทุนนิยมรูปแบบใหม่ได้เกิดขึ้นไปทั่วตะวันตก และแผ่กระจายเข้ามายังอาณานิคมของชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาณานิคมของอังกฤษในอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวคือ การให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการพัฒนาสาธารณูปโภค ฉะนั้นรัฐบาลสยามสมัยรัชกาลที่ 6 จึงเล็งเห็นความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากการวางโครงสร้างพื้นฐาน ที่กำลังกระจายออกจากศูนย์กลางกรุงเทพฯ ไปยังต่างมณฑล บริบทแวดล้อมที่รัชกาลที่ 6 ต้องเผชิญ คือ ความท้าทายรูปแบบใหม่ทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต พระองค์จึงทรงพยายามศึกษารูปแบบและวิธีการสมัยใหม่ ทั้งจากการศึกษาโดยพระองค์เอง และอาศัยคำชี้แนะจากที่ปรึกษาต่างประเทศ รวมถึงอาศัยความรู้ความสามารถของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้รับการศึกษาจากตะวันตก (สุวิชัย โกศัยยะวัฒน์, 2549, หน้า 11) การยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรโดยการขยายระบบสาธารณูปโภค นับว่ามีความสำคัญเป็นอันดับแรก แต่ทว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนจำเป็นจะต้องพึ่งพิงเศรษฐกิจในการขับเคลื่อนให้ประเทศสยามดำรงอยู่ได้ ซึ่งภายใต้ความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยที่การค้าและการลงทุนของสยามเชื่อมเข้ากับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในตะวันตก จึงเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้รัชกาลที่ 6 จะต้องยกระดับให้ความความสำคัญกับกิจการด้านพาณิชย์ ดังจะเห็นได้จากมีพระบรมราชโองการประกาศจัดตั้ง “สภาเผยแผ่พาณิชย์” ให้เป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่มีหน้าที่ดูแลกิจด้านเศรษฐกิจภายในประเทศสยามเป็นหลัก นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในประวัติศาสตร์ประเทศสยาม ที่สะท้อนให้เห็นถึงพลวัตทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศสยาม
รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการจัดตั้งสภาเผยแผ่พาณิชย์ประจำประเทศสยาม โดยเล็งเห็นความเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาประเทศในมุมมองใหม่ กล่าวคือ การให้ความสนใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมระดับนานาชาติ ทรรศนะของพระองค์มองว่า หลายประเทศที่กำลังเติบโตในช่วงดังกล่าว แสวงหาการสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจเพื่อผลักดันประเทศ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตสินค้าภายในประเทศของราษฎร เพื่อให้มีปริมาณสินค้ามากเพียงพอต่อการส่งออก ฉะนั้นประเทศสยามจึงควรที่จะให้ความสำคัญต่อการเร่งพัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างยิ่ง ซึ่งเดิมทีระบบราชการของประเทศ มีทรัพยากรบุคคลที่ดูแลด้านเศรษฐกิจอยู่ก่อนแล้ว แต่ทว่าบุคคลเหล่านั้นกลับมีต้นสังกัดที่กระจายตามหน่วยงานต่างๆ เช่น กอง กรม กระทรวง ฯลฯ ส่งผลให้ขาดเอกภาพ และไม่สามารถบูรณาการความรู้ทางเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน
พระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 เป็นไปเพื่อให้กิจการด้านพาณิชย์ได้รับการสนับสนุนและดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ขั้นแรกจึงมีพระราชดำรัสให้ยกสถานะกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ สังกัดกระทรวงพระคลังขึ้นเป็น “กระทรวง” ซึ่งเดิมทีเป็นหน่วยงานระดับกรมมีหน้าที่ตรงในด้านการพาณิชย์อยู่ก่อนแล้ว เมื่อมีสถานะเทียบเท่ากระทรวงจะอยู่ภายใต้ชื่อหน่วยงานใหม่ว่า “สภาเผยแผ่พาณิชย์” ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2463 เป็นต้นไป (พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งสภาเผยแผ่พาณิชย์, 2463, หน้า 162)
โครงสร้างภายในของสภาเผยแผ่พาณิชย์ ข้าราชการฝ่ายบริหารสภาฯ ประกอบด้วย ตำแหน่งนายกสภาฯ เป็นขุนนางชั้นเสนาบดี ตำแหน่งอุปนายกเป็นข้าราชการชั้นรองเสนาบดี ตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมายเป็นข้าราชการชั้นอธิบดี ตำแหน่งเลขานุการเป็นข้าราชการชั้นรองอธิบดี โดยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่ง ตามตารางที่ 1
ตารางที่ 1 รายชื่อผู้ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในสภาเผยแผ่พาณิชย์
รายชื่อ | ตำแหน่ง |
มหาอำมาตย์เอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ | นายกสภาฯ |
มหาอำมาตย์โท พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ | อุปนายกสภาฯ |
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา | ที่ปรึกษากฎหมายสภาฯ |
ส่วนกรรมการสภาฯ ให้รวบรวมจากคณะทำงานในหน่วยงานที่มีผู้ดูแลและสนับสนุนด้านเศรษฐกิจ 6 หน่วยงาน ได้แก่ 1. รองเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ 2. รองเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ 3. ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง 4. หัวหน้าดูแลการทดน้ำ (ชลประทาน) 5. อธิบดีกรมสรรพากร และ 6. อธิบดีกรมศุลกากร ส่วนตำแหน่งที่ปรึกษาของสภาฯ มอบหมายหน้าที่ให้แก่ ที่ปรึกษาประจำกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และที่ปรึกษาประจำกระทรวงเกษตราธิการ
สภาเผยแผ่พาณิชย์เริ่มเปิดประชุมครั้งแรกวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2463 โดยพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ เป็นผู้กล่าวถวายรายงานแด่รัชกาลที่ 6 โดยเขียนรายงานถวายลงวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2463 (สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, 2463) ระบุถึงความเปลี่ยนแปลงของประเทศสยามที่ได้รับการถ่ายทอดโดยกรมพระจันทบุรีนฤนาถ หลังจากที่รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ยกสถานะกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ ขึ้นสู่ฐานะเทียบเท่ากับกระทรวง พร้อมกับให้มีที่ประชุมกรรมการ ชื่อว่า “สภาเผยแผ่พาณิชย์” บัญชากระทรวงพาณิชย์ในแผนงาน สำหรับวางนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพาณิชย์ของประเทศ มีพระราชดำรัสให้นายกสภาฯ มีหน้าที่รวบรวมความเห็นของกรรมการ วินิจฉัยและรวบรวมเป็นแนวทางดำเนินการ ทั้งในกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่มีผู้บัญชาการดำรงตำแหน่งในสภาฯ เพื่อจะได้น้อมงานราชการทั้งหลาย ไปสู่ทางที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและการพาณิชย์ อีกทั้งบำรุงการค้าขายของบ้านเมืองตามยุคสมัย
ทั้งนี้กรมพระจันทบุรีนฤนาถ เล็งเห็นว่าแนวทางของรัชกาลที่ 6 ซึ่งวางรากฐานมานั้น เป็นแนวทางที่ดีต่อการปฏิบัติราชการตามที่มีพระบรมราชโองการสั่ง รวบรวมกระแสพระราชดำริ และพระราชประสงค์ กับทั้งพระบรมราโชบาย มารวบรวมประมวลขึ้นเป็นนโยบายหลักของสภาฯ ดังคำกล่าวรายงานเปิดประชุมครั้งแรก ได้กล่าวสังเขปถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของประเทศสยามอย่างมีพลวัต อันเนื่องมาจากสาเหตุที่รัชกาลที่ 6 มีความใส่พระทัยต่อประเทศที่ว่า
“…ในสมัยปัจจุบันนี้ บรรดาประเทศแลชาติทั้งหลายในโลก ย่อมเปนประเทศแลชาติที่ มั่นคงมีอำนาจใหญ่ เพราะอาไศรยพาณิชย์ของตนเปนเครื่องส่งเสริมแลค้ำจุนความมั่นคงแล อำนาจย่อมมีขึ้นแลดำรงอยู่ ตามส่วนที่พาณิชย์ของตนแผ่ไปกว้างขวาง ฤๅ วนเวียงอยู่ในที่คับ แคบ เมื่อได้ทรงพระราชวินิจฉัยดังนี้ จึ่งได้จำนงพระราชหฤทัย ซึ่งจะทรงทำนุบำรุงพาณิชย์ของ ไทยเฟื่องฟู…” (สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, 2463)
ดังจะเห็นได้ว่าความปรารถนาที่จะได้เห็นเศรษฐกิจของประเทศสยามแผ่ขยาย และการที่จะได้เห็นการอุดหนุนการค้าขายของสยามให้เจริญยิ่งขึ้นนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนในสังคม เช่น บรรดาข้าราชการ องค์กรเอกชน และพลเรือน ฯลฯ แต่แนวทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จลุล่วงนั้น ทุกส่วนในประเทศยังคงประกอบกิจการด้านพาณิชย์ตามลักษณะของตน กระทั่งไม่สามารถวางแนวทางที่จะเริ่มสร้างหน่วยงานที่สนับสนุนด้านเศรษฐกิจ จึงทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดไป (จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา, 2561) โดยรวมความเห็นจากฝ่ายบริหารประเทศและจากต่างประเทศว่า “…ไทยเปนคนเกียจคร้าน รัฐบาลต้องสอน ต้องบังคับ ต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ต้องทำเสียเอง…”
ความเห็นเรื่องความเกียจคร้าน นับว่าเป็นหนึ่งความเห็นที่ปรากฏกันอยู่บ่อยครั้ง แต่ทว่ากลับไม่สามารถทำให้เห็นภาพความเป็นจริงของสังคมประเทศสยามได้ทั้งหมด เนื่องมาจากผิดไปจากหลักคิดแบบสากล การกล่าวถึงความเกียจคร้านและเป็นเมืองที่ด้อยพัฒนาเช่นนั้น กรมพระจันทบุรีนฤนาถมีทรรศนะว่าผู้วิจารณ์ยังขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับสยาม และไม่ได้คำนึงถึงกาละ (Time) และเทศะ (Space) รวมทั้งบริบทเฉพาะของสยาม (Context) รวมถึงขาดการอ้างอิงบนหลักวิชาการด้านสถิติ ฉะนั้นจึงไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ เนื่องจากการยกระดับด้านอาชีพสู่ระบบเศรษฐกิจและการพาณิชย์ขนาดใหญ่ เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเองจากแรงผลักดันของสังคม ซึ่งในช่วงแรกนั้นบทบาทของรัฐบาลที่มีต่อการประกอบอาชีพของราษฎร เป็นเพียงการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนส่วนที่ขาดแคลนเฉพาะส่วนเท่านั้น
สืบเนื่องจากพระราชประสงค์ที่จะทรงทำนุบำรุงการพาณิชย์ของประเทศ ซึ่งขณะดังกล่าวบ้านเมืองสยามยังเป็นประเทศใหม่ต่อการพัฒนาด้านพาณิชย์ ยังมีอุปสรรคอยู่มากมายที่จะต้องฝ่าอีกมาก เหตุเพราะราษฎรยังขาดความสามารถด้วยเหตุนานัปการ เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและการพาณิชย์นับว่าเป็นระดับมหภาค พระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 ที่จะทรงทำนุบำรุงพาณิชย์ จึงต้องพึ่งพาการกระจายองค์ความรู้และใช้สรรพกำลังอย่างมาก ด้วยเหตุดังกล่าวนี้จึงทรงได้รวมหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาด้านพาณิชย์ของประเทศ หวังให้เกิดประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินอย่างมาก แต่ละหน่วยงานมีขอบเขตการทำงานที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
มีหน้าที่จัดเก็บเงินอากร ผูกขาด และภาษีสรรพากร ภาษีศุลกากร แต่เดิมมีหน้าที่เพียงจัดเก็บเงินเข้าพระคลังหลวงสำหรับจับจ่ายในราชการ ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกเก็บอากรหวยและอากรบ่อนเบี้ย เมื่อปี พ.ศ. 2459 และ 2460 ส่งผลให้รัฐบาลเลิกเก็บอากรเหล่านี้ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล ก็ยังเกิดเป็นปัจจัยเกื้อกูลต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลต้องการให้เงินเหล่านี้กระจายไปสู่ตลาด และพัฒนาเศรษฐกิจพื้นฐานของประเทศสยาม ฉะนั้นจึงนับว่าการเลิกเก็บอากรหวยและบ่อนเบี้ย เป็นพระบรมราโชบายที่มีคุณูปการต่อประเทศชาติ
เมื่อปี พ.ศ. 2458 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมสรรพากรทั้งในและนอก เข้ามารวมกับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เพื่อปฏิรูปการจัดเก็บภาษีที่ทันสมัยขึ้น ซึ่งเดิมทีกรมสรรพากรมีหน้าที่เพียงเก็บภาษีอากรให้เข้าระเบียบราชการ กล่าวคือการกำหนดสถานที่เก็บ วิธีที่เก็บ และอากรที่เก็บ แต่เมื่อได้มารวมในกระทรวงพระคลังฯ แล้ว นโยบายจึงได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ทางที่ดีขึ้น กล่าวคือ การพิจารณาภาษีอากรโดยลักษณะสัดส่วนความจริง ตามวิธีการทางเศรษฐศาสตร์ อย่างมั่นคงและยึดหลักยุติธรรม อีกทั้งยังยกเลิกและลดหย่อนภาษีบางส่วนที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจชาติ ดังนี้กรมสรรพากรจึงเป็นอีกหน่วยงานที่มีส่วนสนับสนุนการพาณิชย์โดยตรง
ส่วนหน้าที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติอีกประการ คือ เป็นผู้กู้ยืมทุนทรัพย์มาใช้ในสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นรากฐานของการพาณิชย์ เช่น การสร้างรถไฟ การทดน้ำ (ชลประทาน) การหาทุนสนับสนุนสหกรณ์ ฯลฯ หน้าที่ของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ดังกล่าวมานี้ นับว่าเป็นหน้าที่ด้านการพาณิชย์ที่สำคัญ
2. กรมรถไฟหลวง
การสร้างทางรถไฟของกรมรถไฟ แต่เดิมมีวัตถุประสงค์แค่หากำไรให้รัฐบาล โดยการอำนวยความสะดวกให้แก่ราษฎร ผลของรถไฟทำให้การส่งข่าวสารรวดเร็ว และมีความสะดวกทางยุทธศาสตร์ เป็นต้น เมื่อขยายโครงข่ายรถไฟหลายสายขึ้น ทำให้เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นประโยชน์ว่ารถไฟเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนการพาณิชย์ ตั้งแต่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมรถไฟสายเหนือและสายใต้เข้าเป็นกรมเดียวกันแล้ว นโยบายของกรมรถไฟหลวง จึงคำนึงการสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก
การสร้างถนนหลวงและถนนประจำท้องถิ่น เชื่อมต่อระหว่างเมืองและมณฑล วัตถุประสงค์เดิม คือ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดการปกครองท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นภาระงานของกระทรวงมหาดไทยและเทศาภิบาล จึงได้เป็นเจ้าหน้าที่จัดสร้างถนน กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2457 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าหน้าที่ และปัญหาได้เกิดขึ้นในการสร้างเส้นทางบก ดังรายงานในที่ประชุมเสนาบดีที่พระที่นั่งนครปฐม จึงได้พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย ให้วางนโยบายการพาณิชย์ควบคู่กับการสร้างเส้นทางบก และให้มีกรรมการวางแผนโครงการจัดสร้างถนนทั่วพระราชอาณาจักร
โครงการจัดสร้างถนนทั่วประเทศได้วางแผนแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2460 ประจวบกับเป็นช่วงที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมทางรวมกับกรมรถไฟหลวง (ประกาศรวมกลมทางเข้าอยู่ในกรมรถไฟหลวง, 2460, หน้า 386) กรมรถไฟจึงได้รับเอาโครงการดังกล่าว รวมเข้าในนโยบายของกรมให้ดำเนินการร่วมกัน คือ การสร้างทางบกสำหรับอำนวยความสะดวกด้านเศรษฐกิจและพาณิชย์เป็นสำคัญ
3. กระทรวงเกษตราธิการ
ราชการของกระทรวงเกษตราธิการ มีหน้าที่โดยตรงต่อการพาณิชย์ในช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากเป็นหน้าที่ด้านอำนวยการ และทำนุบำรุงการเกษตร ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 6 ความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง จึงทำให้ประเทศสยามต้องพึ่งพาการเกษตรอันเป็นหัวใจของสำคัญในด้านการค้าและพาณิชยกรรม เดิมทีกระทรวงเกษตราธิการหลังจากแยกออกจากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติใน พ.ศ. 2442 ได้เริ่มวางแผนจัดทำชลประทาน แต่ทว่ากลับยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากไม่สามารถบังคับน้ำให้เป็นชลประทานสู่ท้องนาที่ปลูกข้าว หรือที่ดินที่ใช้ในการเกษตรอื่นๆ
การทดน้ำ (ชลประทาน) ที่รัฐบาลจัดทำนี้ เป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นได้เพียง 7 ปี (พ.ศ. 2457-2463) จึงยังไม่เห็นผลลัพธ์ แต่เป็นสิ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจ เพราะนอกจากประโยชน์ในการเพาะปลูก การชลประทานยังเป็นวิธีคมนาคมทางน้ำอีกด้วย เมื่อรวมกันกับกิจการของกรมรถไฟหลวง ทำให้คมนาคมของประเทศสยาม มีการคมนาคมครบถ้วนทั้งทางบกและทางน้ำ การชลประทานจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ
ดังนั้นหน้าที่ของกระทรวงเกษตราธิการ ที่จะได้รับการบรรจุไว้ในแผนนโยบายด้านพาณิชย์ที่สำคัญยังมีอีก 2 ประเภท ได้แก่ 1. การบำรุงและทดลองเพาะปลูกพืช 2. การเลี้ยงและการรักษาปศุสัตว์ กล่าวคือ การบำรุงและทดลองการเพาะปลูกพืช เช่น การทดลองดิน การเลือกพันธุ์ไม้ที่เป็นอาหารได้หรือมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ การทดลองหาวิธีเพาะปลูกที่ได้ผลดีที่สุด เป็นต้น การรักษาปศุสัตว์ เช่น การจัดหาวิธีป้องกันโรคระบาด ตลอดจนหาวิธีเลี้ยงสัตว์ให้มีจำนวนมาก เพื่อเน้นการเพาะเลี้ยงสัตว์ในทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เป็นต้น งานทั้ง 2 ประเภท ได้เริ่มทดลองบ้างแล้วแต่ยังไม่ประสบผลที่ยั่งยืน เนื่องจากเป็นการทดลองเท่านั้นจึงได้เลิกล้มโครงการไป ถ้าหากจะพลิกฟื้นโครงการทั้ง 2 ประเภท คาดว่าจะมีคุณูปการในการทำนุบำรุงการค้าขายของประเทศในอนาคต
4. กรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์
กรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2458 แล้วให้ยกขึ้นเป็นกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนด้านเศรษฐกิจและการค้าโดยตรง หน้าที่เมื่อยังเป็นกรมขึ้นสังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีหน้าที่หลัก 5 ข้อ ได้แก่
1. การทำสถิติพยากรณ์ รวมถึงงานทั่วไปในประเทศสยาม (General Statistics of Siam) หน้าที่นี้ควรจะมอบคืนให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติทำต่อไป ส่วนการรวมสถิติพยากรณ์เฉพาะในด้านเศรษฐกิจและการพาณิชย์ให้เห็นมิติที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อรัฐบาลในการใช้เป็นฐานข้อมูลในการตัดสินใจด้านอื่นๆ ต่อไป
2. การรวบรวมความรู้เรื่องตลาดค้าขาย และการค้าขายของโลกทั่วไป อีกทั้งวิธีค้าขายและสินค้าในประเทศ เพื่อประโยชน์ที่จะหาตลาดจำหน่ายสินค้าให้แก่ราษฎรและผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือประกอบธุรกิจพาณิชย์ โดยรัฐบาลชักนำให้ส่งสินค้าโดยปริมาณที่มากขึ้น รวมทั้งประกอบธุรกิจที่ต่างออกไปจากที่เคยทำอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้รวมอยู่ในการจำแนกความรู้ทางเศรษฐกิจ (Commercial Information Bureau and Museum) ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของกระทรวงพาณิชย์
3. การสำรวจและแสวงหาพันธุ์ไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ (Economic Botanical Researches) ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดขึ้น เป็นแผนกใหญ่ของสถานจำแนกความรู้ทางพาณิชย์เมื่อต้นปี พ.ศ. 2463
4. การทดลองและสำรวจแยกธาตุโลหะ และวัสดุที่จะใช้ในการสร้างสินค้าด้วย ในสถานทดลองหรือศาลาแยกธาตุของรัฐบาล (Government Analytical Laboratory) ซึ่งได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2460
5. การตั้งสหกรณ์ แนะนำและให้ความรู้แก่ประชาชนรวมกันตั้งเป็นสมาคม สำหรับกู้ยืมเงินเป็นทุน เพื่อประโยชน์ต่อการลดหนี้สินในระดับชุมชน
ดังนั้นหน้าที่ทางราชการของกระทรวงและกรมที่กล่าวมาข้างต้นเหล่านี้ เป็นหน้าที่ซึ่งรัชกาลที่ 6 ได้มีพระบรมราชโองการ หรือได้พระราชทานพระบรมราชานุมัติ ให้วางแผนนโยบายองค์กรเพื่อสนับสนุนเศรฐกิจและการค้าของประเทศ หากว่ายังคงปล่อยให้แต่ละหน่วยงานแยกหน้าที่กันทำต่อไป ไม่ก่อให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้แก่การพัฒนาประเทศสยามได้ ฉะนั้นการตั้งจุดมุ่งหมายจากผลสำเร็จ (Coordinate) และปฏิบัติงานให้สอดคล้องตามทิศทางเดียวกัน (Cooperate) จึงได้มีพระบรมราชโองการ ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ตั้งสภาเผยแผ่พาณิชย์
กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ในฐานะนายกสภาฯ ได้กำหนดแนวทางการทำงานของสภาเผยแผ่พาณิชย์ ที่คาดว่าจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศสยาม สามารถจัดแบ่งนโยบายออกเป็น 7 ประการ ดังตารางที่ 2
ตารางที่ 2 นโยบาย 7 ข้อ ของสภาเผยแผ่พาณิชย์
ข้อ | นโยบาย |
1. | การจัดการบังคับน้ำ เพื่อเป็นการให้ชลประทานแก่ที่ดินของราษฎรในการทำเกษตรกรรม |
2. | รวบรวมความรู้ และแนะนำให้ราษฎรด้านการเกษตร และการรักษาปศุสัตว์ เพื่อพัฒนาให้มีมาตรฐานและปริมาณมากเพียงพอต่อการเป็นสินค้าสำหรับส่งออก |
3. | การสร้างและรักษารถไฟ ถนน คูคลอง เพื่อเป็นการเปิดเส้นทางลำเลียงขนส่งสินค้า และการคมนาคมที่สะดวกทั่วทั้งประเทศ ทั้งทางบกและทางน้ำ รวมถึงทะเล |
4. | การหาตลาดจำหน่ายสินค้า และโน้มน้าวราษฎรให้ประกอบธุรกิจกับต่างประเทศ |
5. | การพิจารณาจัดเก็บภาษีอากร เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางที่เกื้อกูลกับการพัฒนาเศรษฐกิจ |
6. | การให้เงินอุดหนุนราษฎร เพื่อให้เป็นธุรกิจที่พึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งทำธุรกิจโดยคำนึงถึงผลตอบแทนในระดับวงกว้าง |
7. | การจัดหาทุนสำหรับสนับสนุนงานสาธารณประโยชน์ที่ยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ |
จากตารางนโยบาย 7 ประการของสภาเผยแผ่พาณิชย์ข้างต้น ล้วนเป็นนโยบายที่สมควรแก่เหตุผล และเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรกระทำ เนื่องจากเป็นวิธีการที่ต่างประเทศได้ใช้มาแล้ว และก่อให้เกิดด้วยผลดี กรมพระจันทบุรีนฤนาถหวังว่าจะช่วยเศรษฐกิจและการค้าของประเทศสยาม ให้ดำเนินไปรวดเร็วกว่าที่ดำเนินมาแล้ว แต่หน้าที่ของสภาเผยแผ่พาณิชย์ยังไม่ได้ยุติแต่เพียงเท่าที่กำหนดไว้ 7 ประการเท่านั้น หากแต่ยังจำเป็นจะต้องดำเนินการบูรณาการหน่วยงานและจัดการกับทรัพยากร เพื่อเปลี่ยนทรัพยากรธรรมชาติเข้าเป็นส่วนหนึ่งของฐานเศรษฐกิจของชาติ เช่น ป่าไม้ และกิจการของกรมราชโลหกิจ สภาเผยแผ่พาณิชย์จะเริ่มเข้าไปวางระเบียบและกำหนดขอบเขตพื้นที่ เช่น การกำหนดเขตที่ดินที่เหมาะแก่เพาะปลูก หรือเขตรักษาพันธุ์พืช เป็นต้น โดยจะมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตราธิการ
ส่วนที่กระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้รับเป็นหน้าที่รับผิดชอบยังมีอีก 3 อย่าง คือ 1. การศึกษากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สัญญาทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศ เพื่อที่จะได้สามารถวิเคราะห์แก้ไขเหตุขัดข้อง พร้อมทั้งหาแนวทางที่จะส่งเสริมการค้าให้เจริญยิ่งขึ้น เช่น การประกาศและรักษามาตราวัดชั่งตวง รับจดและรักษาทะเบียนบริษัทพาณิชย์ และจดทะเบียนกรรมสิทธิ์สินค้า เป็นต้น 2. การคุ้มครองรักษาบริษัทพาณิชย์ที่รัฐบาลสนับสนุนโดยตรง ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 6 มีเพียงบริษัทเดียว คือ พาณิชย์นาวีสยาม และ 3. การจัดตั้งสหกรณ์ให้แพร่ขยายทั่วประเทศ โดยการตั้งสหกรณ์นั้นจำเป็นต้องเริ่มทันใด เพราะเป็นการสร้างทุนและให้อิสระแก่ผู้ประกอบการค้า สำคัญมากเท่ากับการสร้างระบบคมนาคมและการชลประทาน แต่การที่จะได้เริ่มทำสหกรณ์นั้น สภาฯ จะได้ปรึกษากันโดยละเอียดถึงวิธีที่จะจัดตั้ง และกำหนดวิธีหาทุนสำรองที่จะลงทุน เพื่อไม่ให้ต้องจ่ายพระราชทรัพย์เกินกว่าที่ควร
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 6 ประเทศสยามเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและการค้าอย่างมาก การวางระบบสาธารณูปโภคได้เปลี่ยนความหมายมากกว่าสำหรับเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ราษฎร หากแต่ยังมีคุณูปการสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุนอีกด้วย การจัดตั้งสภาเผยแผ่พาณิชย์ขึ้นมา จึงสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของประเทศสยามอีกขั้น ที่เป็นการยกระดับสินค้าและการเน้นการผลิตปริมาณที่มาก นอกจากนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการบริหารราชการแผ่นดิน โดยบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ให้มีส่วนช่วยขับเคลื่อนกิจการด้านพาณิชย์ การก่อตั้งสภาเผยแผ่พาณิชย์จึงเป็นมากกว่าการสนับสนุนให้ประเทสสยามมีฐานเศรษฐกิจที่มั่นคง อีกทั้งยังมีคุณูปการต่อการยกระดับชีวิตของราษฎร และการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ซึ่งมุ่งเน้นให้ตระหนักถึงการผลิตปริมาณมากเพียงพอสำหรับการส่งออกอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา. (2561, 9 มกราคม). จุดอ่อนของคนไทย ในสายตาต่างชาติ นิสัยไทย. ศิลปวัฒนธรรม.
ประกาศรวมกลมทางเข้าอยู่ในกรมรถไฟหลวง, (2460, 5 สิงหาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 34 ตอน 0 ก, หน้า 386.
พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งสภาเผยแผ่พาณิชย์. (2463, 21 สิงหาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 37 ตอน 0 ก, หน้า 160-162.
สุวิชัย โกศัยยะวัฒน์. (2549). การพัฒนาการศึกษาในราชสำนักก่อนสมัยปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่5: การ วางรากฐานการศึกษาแบบเป็นทางการและเป็นสากลของไทย. วารสารศึกษาศาสตร์. 17(2), หน้า 1-16.
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (2463, 7 ธันวาคม). กต 35/22. เอกสารกระทรวงการต่างประเทศ “จ้าง กัปตันแมคเกนซีเข้ามาเป็นผู้แต่งหนังสือ”
King Chulalongkorn’s Reign. (1910, 24 October). The Singapore Free Press and Mercantile Advertiser, p. 8.
นายชัยวัฒน์ ปะสุนะ
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้เขียน