แนวโน้มอุตสาหกรรม MICE ของประเทศไทยในอนาคต

แนวโน้มอุตสาหกรรม MICE ของประเทศไทยในอนาคต

บทความโดย
นายธณัฐ  พวงนวม
นายกานต์  แจ้งชัดใจ
นางสาวปภัช  สุจิตรัตนันท์

บทนำ            

ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า ภาคการท่องเที่ยว (Tourism Sector) ของประเทศไทยเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย และอุตสาหกรรม MICE เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญของภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยที่ได้รับการพูดถึง และมีแผนการส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งคำว่า “MICE” นั้นเกิดจากการรวบรวมความหมายของคำหลายคำมารวมกัน ประกอบด้วย (1) M ย่อมาจากคำว่า “Meetings” คือการประชุมสัมมนาระดับองค์กรโดยเป็นการประชุมที่มีการวางแผนล่วงหน้าหรือเฉพาะกิจ (2) I ย่อมาจากคำว่า “Incentives” เป็นการจัดการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลแก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมายขององค์กร (3) C ย่อมาจากคำว่า “Conventions” คือการประชุมสมาคมวิชาชีพเดียวกันหรือแตกต่างกันซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจัดประชุมระดับประเทศหรือภูมิภาคที่จัดโดยองค์กรสมาคมระดับชาติหรือรัฐบาล และ (4) E ย่อมาจากคำว่า “Exhibitions” เป็นการจัดแสดงสินค้าสำหรับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละอุตสาหกรรมและธุรกิจ ซึ่งมีการจัดงานแสดงสินค้าระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภค รวมทั้งผู้ประกอบการที่ควบคู่ไปกับผู้บริโภค โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวในอุตสาหกรรม MICE เป็นกลุ่มที่มีเป้าหมายเฉพาะทางธุรกิจ มีลักษณะที่แตกต่างจากกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป กล่าวคือ มีอำนาจการซื้อสูง ประกอบกับมีความต้องการสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวในกลุ่มดังกล่าวอยู่ในระดับที่สูงกว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในช่วงก่อนสถานการณ์การเเพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อุตสาหกรรม MICE ของประเทศไทยสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี สะท้อนให้เห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมดังกล่าวที่มีต่อระบบเศรษฐกิจไทย ประกอบกับภาครัฐและภาคเอกชนเล็งเห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากความร่วมมือในการพัฒนาและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในรูปแบบดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้และสร้างการจ้างงานกระจายไปสู่ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จดังกล่าวที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการขับเคลื่อนของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์กรมหาชน) หรือ “Thailand Convention and Exhibition Bureau (TCEB)” โดยรายละเอียดจะเป็นอย่างไร สามารถติดตามอ่านได้จากบทความฉบับนี้

2. ข้อมูลเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว

2.1 ข้อมูลภาพรวมเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวของไทยสะท้อนได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ก่อนการเเพร่ระบาดของ COVID-19 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่องในทุกปี ซึ่งในปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 39.9 ล้านคน ขยายตัวจากปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 4.6 อย่างไรก็ตาม เมื่อในช่วงการระบาดของ COVID-19 (ระหว่างปี 2563 – 2564) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยลดลงเหลือเพียง 6.7 ล้านคน และ 0.4 ล้านคน ตามลำดับ และหลังจากมีการเปิดพรมแดนต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งในช่วงกลางปี 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยกลับมาเพิ่มเป็น 11.2 ล้านคน ทั้งนี้ ในปี 2566 กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดการณ์ว่า จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทยมากกว่า 27.5 ล้านคน หรือขยายตัวจากปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 147 (ณ เดือนมกราคม 2566) ในขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้รายงานว่า ในปี 2566 ธุรกิจภาคบริการที่จะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจร้านค้าปลีกธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจด้านสุขภาพและการแพทย์ ธุรกิจด้านสุขภาพและความงาม ธุรกิจที่ให้บริการด้านการท่องเที่ยว และธุรกิจรถเช่าและรถทัวร์ ซึ่งสอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างสาหัส

ภาพที่ 1 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ที่มา: กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

2.2 ข้อมูลเศรษฐกิจของอุตสาหกรรม MICE

จากข้อมูลเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของอุตสาหกรรม MICE ข้างต้น ซึ่งเผยแพร่โดย TCEB พบว่า ภาพรวมของจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่ม MICE ในช่วงตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี แม้ว่าในช่วงสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่ม MICE ลดลง แต่ในปี 2565 สถานการณ์การท่องเที่ยวของอุตสาหกรรม MICE ได้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ส่งผลให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวจากต่างประเทศจำนวน 0.36 ล้านคน และในประเทศจำนวน 5.6 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวกลุ่ม MICE ทั้ง 2 กลุ่มสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศได้ถึง 18.6 ล้านบาท และ 25.4 ล้านบาท ตามลำดับ ดังแสดงในภาพที่

ภาพที่ 2 จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ของอุตสาหกรรม MICE ในภาพรวม (หน่วย: ล้านคน)

ที่มา: TCEB

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่ม MICE รายประเภท พบว่า นักท่องเที่ยวในกลุ่ม Exhibitions มีจำนวนมากที่สุด เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวในกลุ่มอื่นโดยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 84.7 รองลงมาคือกลุ่ม Conventions ร้อยละ 10.3 Meetings ร้อยละ 3.4 และ Incentives ร้อยละ 1.6 ตามลำดับ ในขณะที่สัดส่วนรายได้จากอุตสาหกรรม MICE ในกลุ่ม Exhibitions มีสัดส่วนรายได้สูงที่สุด เมื่อเทียบกับรายได้ในกลุ่มอื่นถึงร้อยละ 62.1 โดยรองลงมาคือ กลุ่ม Meetings ร้อยละ 14.6 กลุ่ม Conventions ร้อยละ12.0 และกลุ่ม Incentives ร้อยละ 11.3 ตามลำดับ ดังนั้น สามารถสรุปได้ว่า กลุ่ม Exhibitions เป็นกลุ่มที่สร้างรายได้หลักให้แก่ประเทศไทย

ภาพที่ 3 สัดส่วนนักท่องเที่ยวและรายได้ของอุตสาหกรรม MICE ในภาพรวม (หน่วย: ร้อยละ)

ที่มา: TCEB รวบรวมโดย กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

3. อุตสาหกรรม MICE ในประเทศไทย

จากรายละเอียดที่กล่าวไปข้างต้นเกี่ยวกับอุตสาหกรรม MICE จะพบว่า อุตสาหกรรม MICE มีส่วนสำคัญต่อการท่องเที่ยวไทยเป็นอย่างมาก และ TCEB ก็เป็นหน่วยงานของภาครัฐที่รับผิดชอบในด้านการส่งเสริมและการพัฒนาอุตสาหกรรม MICE โดยตรง ซึ่งที่ผ่านมา TCEB ได้ดำเนินการส่งเสริมอุตสาหกรรม MICE มาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การขับเคลื่อนของคุณจิรุตถ์  อิศรางกูร ณ อยุธยา (คุณจิรุตถ์ฯ) ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) โดยกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค (กศม.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้รับเกียรติจากคุณจิรุตถ์ฯ มาถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับ TCEB และอุตสาหกรรม MICE ผ่านรายการ “Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาค” เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมป๋วย  อึ๊งภากรณ์ ชั้น 7 อาคารสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

คุณจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริม
การจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

คุณจิรุตถ์ฯ ได้ให้ข้อมูลว่า ในช่วงปี 2562 เป็นปีทองของอุตสาหกรรม MICE ซึ่งทำรายได้ให้ประเทศจากนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี ถึงเเม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลให้การเดินทางทั่วโลกต้องหยุดชะงัก เเต่หลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการ Test & Go ในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2565 รายได้จากนักท่องเที่ยวในกลุ่มอุตสาหกรรม MICE โดยเฉพาะกลุ่ม Exhibitions ฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท และ TCEB ได้ประเมินว่า อุตสาหกรรม MICE จะกลับฟื้นตัวเทียบเท่า Pre-COVID-19 ประมาณช่วงปลายปี 2567 ถึงกลางปี 2568 อย่างไรก็ดี TCEB ต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้ว่า ในช่วง 10 ปีเเรกที่มีการก่อตั้ง TCEB องค์กรได้มุ่งเน้นไปที่การทำการตลาดในต่างประเทศ พร้อมกับส่งเสริมการจัดงานขนาดใหญ่ (Mega Event) ที่สามารถสร้างรายได้มากกว่า 2 – 3 พันล้านบาทต่อครั้ง แต่ในปัจจุบัน TCEB มุ่งเน้นมาสนใจส่งเสริมตลาดในประเทศเพื่อมุ่งเน้นการกระจายรายได้ไปในแต่ละจังหวัดผ่านการจัดงานขนาดใหญ่ (Mega Event) ยกตัวอย่างเช่น งาน 3 International Power and Energy Conferences of IEEE (2023 – 2025) ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร งาน AFECA AGM 2023 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร และงาน ICCA Annual Congress 2023 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นต้น

3.1 บทบาท TCEB กับการส่งเสริมอุตสาหกรรม MICE

คุณจิรุตถ์ฯ ได้กล่าวว่า อุตสาหกรรม MICE เป็นอุตสาหกรรมที่มีการเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวโดยตรงในลักษณะของ “การท่องเที่ยวในเชิงธุรกิจ” โดย TCEB มีหน้าที่อำนวยความสะดวกและพัฒนามาตรฐานการจัดงานเพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทของประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศที่สามารถเป็นที่จัดการประชุมและนิทรรศการระดับนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งหวังที่จะยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการจัดการประชุม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล รวมทั้งการจัดนิทรรศการระดับโลกในภูมิภาคเอเชียอีกด้วย ทั้งนี้ การส่งเสริมดังกล่าวจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ประเทศ ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรม MICE ของประเทศในตลาดโลก ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม MICE ทั่วโลก โดย TCEB ได้มีบทบาทสำคัญในการประคับประคองและส่งเสริมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม MICE ให้อยู่รอด ผ่านการดำเนินการดังต่อไปนี้

1) การผลักดันมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในระยะแรกของการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดย TCEB ได้ส่งเสริมในเรื่องมาตรการด้านสาธารณสุขสำหรับการจัดงาน อาทิ มาตรการการทำความสะอาดศูนย์ประชุม ระเบียบการดูแลผู้เข้าประชุมออนไลน์ ซึ่งนำไปสู่การจัดงานในรูปแบบออนไลน์ Virtual Exhibition เป็นต้น

2) การส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับการจัดงานผ่านแอปพลิเคชันที่สามารถแจ้งเตือนได้ว่าจุดใดมีคนหนาแน่น โดย TCEB ได้ร่วมพัฒนาจนมีเครือข่ายผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีเข้าร่วมมากกว่า 12 ราย

3) การสนับสนุนด้านการตลาด MICE ด้วยการจัดตั้ง Marketing Domestic MICE สำหรับตลาดในประเทศ และการจัด Function Marketing สำหรับตลาด MICE ในต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความผูกพันกับลูกค้าอยู่เสมอ

4) การจัดตั้งคณะอนุกรรมการประสานภาครัฐ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ที่ต้องมีการติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานของรัฐ เช่น เรื่องกฎหมาย และมาตรฐานต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

5) การมี MICE Lane Service หรือบริการช่องทางพิเศษสำหรับวิทยากรชาวต่างชาติที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่เป็นต้นแบบของหลายๆ ประเทศ ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความประทับใจให้กับนักเดินทางกลุ่ม MICE

3.2 เป้าหมายของการผลักดันอุตสาหกรรม MICE

คุณจิรุตถ์ฯ ได้อธิบายว่า TCEB เป็นศูนย์การจัดการประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล รวมทั้งการจัดนิทรรศการระดับโลกในภูมิภาคเอเชีย โดยมีความพยายามที่จะจัดหานิทรรศการและงานประชุมเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่นสำหรับเป็นรายรับในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและศูนย์ประชุมต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบกับ TCEB ยังพยายามจัดหาการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น งาน Air Show ซึ่งเป็นกลุ่มที่สร้างมูลค่าในตลาด MICE ของประเทศไทยได้สูงที่สุด เนื่องจากการจัดงานดังกล่าวมีรูปแบบของการจัดงานที่ชัดเจนในช่วงเวลาเฉพาะของแต่ละปี โดยจะจัดต่อเนื่องทุกปี ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ TCEB มุ่งเน้นทำการตลาดและการสื่อสารกับหน่วยงานของรัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกและส่งเสริมภาคเอกชนสำหรับการลงทุนในประเทศ

3.3 กลไกการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม MICE

คุณจิรุตถ์ฯ ได้เสริมว่า ปัจจุบัน TCEB ให้ความสำคัญกับแนวคิดความยั่งยืน (Sustainability) โดยมีความเห็นว่า แนวคิดดังกล่าวจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวในอุตสาหกรรม MICE เข้ามาในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนจึงมีการนำเครื่องมือวัด Carbon Footprint และมาตรฐานการจัดงานอย่างยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ รวมถึงการนำเสนอวิถีชีวิตแบบท้องถิ่นเพื่อประกอบการจัดงาน เช่น จัดเลี้ยงต้อนรับด้วยอาหารท้องถิ่น วัสดุจากท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้ TCEB จึงมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ด้านความยั่งยืนให้แก่ผู้จัดงาน ตลอดจนผลักดันการใช้งบประมาณซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ TCEB ยังให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาและพัฒนาศักยภาพให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม MICE เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม รวมทั้งสามารถสร้างความสะดวกให้แก่คนทุกช่วงวัย ซึ่งครอบคลุมเด็ก ผู้พิการ และผู้สูงอายุ โดยที่ผ่านมา TCEB ได้จัดโครงการส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการหลายโครงการ อาทิ

1) MICE Winnovation ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม MICE แบบครบวงจร ผ่านการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลลัพธ์ตอบโจทย์แต่ละธุรกิจและองค์กร โดยอาศัยการสนับสนุนเงินทุนด้านการตลาด การจัดหาเวทีเพื่อให้เกิดการเจรจาธุรกิจ และการจัดโครงการอบรมให้ความรู้เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปใช้งานจริง

2) โครงการนวัตกรรม 7 เส้นทางสาย MICE (7 Themed MICE Routes) ประกอบด้วย
1) ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

2) การผจญภัย 3) การสร้างทีมเวิร์ก 4) กิจกรรม CSR และการประชุมเชิงอนุรักษ์ 5) กิจกรรมบรรยากาศชายหาด 6) การจัดงานและกิจกรรมหรูหรามีระดับ และ 7) กิจกรรมนำเสนออาหารไทยในทุกการจัดงานที่หลากหลาย โดยโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ของ MICE ใน 7 ประเภทข้างต้น ซึ่งได้รับความนิยมให้ตรงจุดและตรงใจ ครอบคลุมทั้งตลาด MICE เมืองไทยและตลาด MICE ต่างประเทศ นอกเหนือจากสถานที่จัดงาน ของฝาก และสินค้าท้องถิ่นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังรวมไปถึงการสร้างพันธมิตรและความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน

3.4 ความท้าทายและอุปสรรคของอุตสาหกรรม MICE

คุณจิรุตถ์ฯ ได้กล่าวว่า ภายหลังจากสิ้นสุดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้อุตสาหกรรม MICE ของประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยเฉพาะบุคลากรของอุตสาหกรรม MICE จำเป็นต้องมีคุณสมบัติพิเศษที่ต้องอาศัยประสบการณ์จากการทำงาน ได้แก่ การรู้จักและรู้ใจนักเดินทางกลุ่ม MICE ดังนั้น อุตสาหกรรม MICE จำเป็นต้องฝึกฝนบุคลากรรุ่นใหม่เพื่อมาทดแทนแรงงานที่ขาดหายไปได้ โดยสามารถสร้างประสบการณ์การเดินทางให้แก่นักเดินทางกลุ่ม MICE ได้ดีเหมือนเดิม ดังนั้น อาจสรุปได้ว่า การสร้างคนเป็นความท้าทายสำหรับอุตสาหกรรม MICE ซึ่งมีผลทั้งด้านคนทำงานและด้านนายจ้างที่ต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

3.5 กุญแจสำคัญเพื่อการสนับสนุนอุตสาหกรรม MICE ของไทยในอนาคต

คุณจิรุตถ์ฯ มองว่า การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับความหลากหลาย (Diversity) ความครอบคลุม (Inclusiveness) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยี (Human Touch & Human Tech) รวมถึงความยืดหยุ่นในการรองรับ VUCA World ซึ่งย่อมาจากความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความสลับซับซ้อน (Complexity) และความคลุมเครือ (Ambiguity) ของสถานการณ์โลกในปัจจุบัน รวมทั้งความสามารถในการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งจากนักท่องเที่ยวและสถานการณ์โลก จะเป็นกุญแจสำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรม MICE ของประเทศไทยในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

สุดท้ายนี้ คุณจิรุตถ์ฯ ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า อุตสาหกรรม MICE เป็นธุรกิจที่มีโอกาสในการเติบโตสูง อันเป็นผลมาจากปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น การสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทำเลที่ตั้งของประเทศไทย และจุดแข็งด้านการให้บริการของคนไทย เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่ได้กล่าวไปเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญในการสร้างประสบการณ์ (Experience) ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวที่ได้มารู้สึกจดจำ และประทับใจ กลายเป็นจุดแข็งที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมดังกล่าวสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ก่อนจากกันไป ถึงแม้ว่าจังหวัดภูเก็ตจะไม่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialized Expo ในปี 2028 แต่ทางคณะผู้เขียนขอเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านสนับสนุนการท่องเที่ยวในอุตสาหกรรม MICE เพื่อผลักดันบทบาทของประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวในอุตสาหกรรม MICE ในระดับโลกต่อไป สุดท้ายนี้ ทีมงาน Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาค ขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์เรามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึง ดร.พิสิทธิ์  พัวพันธ์ ผู้อำนวยกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ดร.นรพัชร์  อัศววัลลภ บรรณาธิการ และคุณชัยวัฒน์  หาญพิทักษ์พงศ์ ผู้ช่วยบรรณาธิการ ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์เนื้อหาดี ๆ สำหรับรายการ Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาค

นายธณัฐ พวงนวม
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นายกานต์ แจ้งชัดใจ
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นางสาวปภัช สุจิตรตนนท์
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน