“MICE: ไมซ์ม่วนใจ๋” การพัฒนาการท่องเที่ยวไมซ์ในภาคเหนือ

“MICE: ไมซ์ม่วนใจ๋” การพัฒนาการท่องเที่ยวไมซ์ในภาคเหนือ

บทความโดย
นายกานต์ แจ้งชัดใจ
นายธานนท์ โกรพินธานนท์


เมื่อพูดถึงภาคเหนือ ภาพที่คิดคงเป็นดินแดนแห่งความหลากหลายทางประเพณีและวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยเสน่ห์มนตร์ขลัง เห็นได้จากน้ำใจอันล้นเหลือของชาวเหนือ อาหารที่มีหลากหลายรสชาติ เช่น ข้าวซอย ไส้อั่ว และน้ำพริกอ่อง เป็นต้น รวมไปถึงภาษาที่สละสลวยชวนฟัง ที่ดึงนักท่องเที่ยวจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามา สังเกตได้จากผลิตภัณฑ์ภาค (GRP) ของภาคเหนือในปี 2563 มีมูลค่าเท่ากับ 1,228,307 ล้านบาท โดยภาคบริการคิดเป็นร้อยละ 55.9 ภาคการเกษตรร้อยละ 24.5 และภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 19.6 ตามลำดับ (รายละเอียดตามรูปที่ 1)  สะท้อนให้เห็นว่าภาคบริการนั้นเป็นภาคส่วนที่มีสามารถสร้างมูลค่าได้มากที่สุด และมีความสำคัญต่อภาคเหนือเป็นอย่างมาก

ภาพที่ 1 แผนภูมิวงกลมแสดงผลิตภัณฑ์ภาค ภาคเหนือ

ช่วงก่อนการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) ภาคเหนือมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนสูงถึง 4.3 ล้านคน ในเดือนธันวาคม 2562 แต่เมื่อเริ่มมีการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 ทำให้จำนวนผู้เยี่ยมเยือนของภาคเหนือลดลงอย่างมากและต่ำสุดในเดือนเมษายน 2563 ที่ 17,024 คน หลังจากสถานการณ์การระบาดในระลอกแรกดีขึ้น จำนวนผู้เยี่ยมเยือนของภาคเหนือเริ่มฟื้นตัวโดยมาอยู่ที่ 2.8 ล้านคนในเดือนพฤศจิกายน 2563 หลังจากนั้นเมื่อมีการระบาดในช่วงที่สอง ตั้งแต่ธันวาคม 2563 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างมากในช่วงเดือนมกราคม 2564 และทรงตัวต่อเนื่อง จนถึงช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งมีการระบาดในระลอกที่ 3 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอีกครั้งและลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนสิงหาคม 2564 เนื่องจากภาครัฐมีการมาตรการในการควบคุมโรคระบาดอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ดี ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 จำนวนนักท่องเที่ยวของจังหวัดภาคเหนือ กลับมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการที่ภาครัฐฯ ผ่อนคลายมาตรการในการควบคุมโรคดังกล่าว (รายละเอียดตามรูปที่ 2) ทั้งนี้ แนวทางหนึ่งที่น่าสนใจในการพลิกฟื้นความคึกคักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านบริการของภาคเหนือคือ การส่งเสริมกิจกรรมด้านการจัดประชุมและนิทรรศการ ซึ่งภาคเหนือมีศักยภาพและมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่รอการถูกนำมาแปลงให้เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ภาพที่ 2 จำนวนผู้เยี่ยมเยือนของภาคเหนือ
(ที่มา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)

ทั้งนี้ ทางวารสารการเงินการคลัง และสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจ การคลัง ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ดร.จุฑา ธาราไชย ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคเหนือ​ เกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการหรือ TCEB และผลกระทบต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวรูปแบบไมซ์ (MICE) ของประเทศไทยทั้งในปัจจุบัน และอนาคต เมื่อวันที่ 9 มิถุยายน 2565 โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

ดร.จุฑา ธาราไชย
ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคเหนือ

วัตถุประสงค์ของสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (MICE)

สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (MICE) เมื่อปี พ.ศ. 2545 มีจุดประสงค์เพื่อเป็นผู้นำด้านการส่งเสริมและพัฒนากลยุทธ์สำหรับอุตสาหกรรม MICE โดยได้ตั้งสำนักงานส่วนภูมิภาคมาเมื่อปี 2563  โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็น “Local partner for global success” เป็นคู่คิดในระดับภูมิภาคที่มีความสำเร็จระดับนานาชาติ

ภาพรวม MICE ในประเทศไทย และภาคเหนือ

“MICE” มาจากการรวมความหมายของหลากหลายคำมากความหมายมาประกอบกันเพื่อให้เกิดภาพรวมกลายเป็นอุตสาหกรรมไมซ์ (ที่มา TCEB) ได้แก่

M = Meetings การประชุมสัมมนาระดับองค์กร หรือศึกษาดูงานทั้งระดับกลุ่มบุคคลมาจากองค์กรเดียวกันหรือต่างองค์กร โดยจะเป็นการประชุมเฉพาะกิจหรือมีการวางแผนล่วงหน้า

I = Incentives การจัดการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลแก่พนักงานหรือบุคคลที่ปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมายขององค์กร

C = Conventions การประชุมสมาคมวิชาชีพของสมาคมวิชาชีพเดียวกันหรือแตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการจัดประชุมระดับประเทศ ระดับภูมิภาค ไปจนถึงระดับนานาชาติ    จัดโดยองค์กรสมาคมระดับชาติหรือรัฐบาล

E = Exhibitions คือ การจัดงานแสดงสินค้าเพื่อกลุ่มเป้าหมายแต่ละอุตสาหกรรมและธุรกิจ โดยอาจจะเป็นการแสดงสินค้าระหว่างคนทำธุรกิจด้วยกัน (Business – to – Business (B2B)) หรือ เปิดให้คนทั่วไปสามารถเข้าร่วมได้ (Business – to – Consumer (B2C)) โดยมีการจัดงานแสดงสินค้าระหว่างผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และผู้ประกอบการที่ควบคู่ไปกับผู้บริโภค

บทบาทของอุตสาหกรรม MICE คือ การนำเสนอการจัดงานและกิจกรรมที่สร้างประสบการณ์อันน่าประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมงานโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นเวทีการจัดงานที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่างๆในประเทศไทย ทั้งนี้ในแต่ละปี MICE สามารถสร้างมูลค่าได้ระดับแสนล้าน ดังนั้นจึงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยในปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว MICE ในประเทศไทยได้ฟื้นตัว จากการเดินทางที่เพิ่มขึ้นของคนในประเทศ ได้สร้างมูลค่า 33,230  ล้านบาท และสร้าง 46,718 อาชีพในปีพ.ศ. 2564 โดยมีงานแสดงสินค้าในประเทศ (Exhibition) เป็นแหล่งรายได้หลักอยู่ที่ร้อยละ 93.69 ของค่าใช้จ่ายของ MICE มีผู้เข้าร่วมงาน 3,533,026 คน และมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 16,500 บาท/คน/ทริป ในส่วนของภาคเหนือมีผลิตภัณฑ์ภาค (GRP) อยู่ที่ 1,197,029 ล้านบาทซึ่งการท่องเที่ยว MICE มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 1 หรือ 10,122 ล้านบาทของ GRP ซึ่งประกอบไปด้วยงานประชุมอยู่ที่ร้อยละ 58.2 และงานแสดงสินค้าอยู่ที่ร้อยละ 41.8 โดยทาง TCEB ได้จัดตั้ง “MICE City” ไว้อยู่ 10 จังหวัด กรุงเทพ เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี สงขลา สุราษฎร์ธานี และพิษณุโลก โดยภาคเหนือมี MICE Cities อยู่ 4 เมืองซึ่งคือ เชียงใหม่ พิษณุโลก เชียงราย และสุโขทัย ทั้งนี้ทาง TCEB มีกลยุทธ์การตลาดที่เน้นขายในเรื่องมรดกโลก (Heritage site) การเป็นเมืองแห่งความสร้างสรรค์ (Creative city of crafts and folk arts)  และ Bleisure (การผนวกรวมทริปเดินทางเชิงธุรกิจ (Business) และการพักผ่อน (Leisure)

สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ สิ่งที่จะขายให้นักท่องเที่ยวคือความบันเทิงเริงใจ และการเข้าถึงบริการคุณภาพ รวมไปถึงวัฒนธรรรมด้านศิลปะภูมิภาค ในส่วนของจังหวัดพิษณุโลก จะขายในส่วนของการเป็นเมืองขลัง มีพระให้พร เช่น พระพุทธชินราช และพระนเรศวร ที่คนไทยก็สามารถมาขอคำอวยพรได้ ในส่วนของจังหวัดสุโขทัย ขายการเป็นมรดกโลกของ UNESCO และขายควบคู่ไปกับจังหวัดพิษณุโลกได้ด้วย เนื่องจากมีพื้นที่ติดกัน และในส่วนของจังหวัดเชียงราย สามารถขายในเชิง ชา กาแฟ และการดีไซน์

แนวโน้มการเติบโตของไมซ์ซิตี้

ภาพรวมในประเทศไทยไมซ์ซิตี้ (MICE Cities) ที่มีแนวโน้มที่จะเติบโตมากที่สุดคือกรุงเทพ แต่ถ้ามองในส่วนภูมิภาคจะเห็นได้ว่าภูเก็ตเป็นเมืองที่มีแนวโน้มที่จะเติบโตเป็นอันดับสอง ทั้งนี้การรวมตัวของภาคเอกชนในพื้นที่ที่ได้มาทำ Phuket Sandbox ทำให้เกิดพลังต่อเนื่องในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และขยายผลไปจังหวัดใกล้เคียงในเขตอันดามัน นอกจากนี้ภูเก็ตก็กำลังจัด Specialized Expo เรื่องสุขภาพ

ในส่วนของ MICE Cities ภาคเหนือ เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีแนวโน้มที่จะเติบโตมากสุดในกลุ่ม รวมถึงศักยภาพของเชียงใหม่ที่เป็น MICE CITY มีอัตราการเติบโตทางการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

มาตรการช่วยเหลือในช่วงโควิด-19 ของ TCEB

ในช่วงโควิด-19 ทาง TCEB ได้มีนโยบายส่งเสริมความปลอดภัยของการจัดประชุมจากการทำการวิจัยวิธีจัดการประชุมและการจัดอาหารแบบปลอดภัย อีกทั้งยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น การให้เงินช่วยเหลือ ซึ่งมีโครงการ “ประชุมเมืองไทยปลอดภัยกว่า” ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกระจายรายได้ไปยังชุมชนในภูมิภาคต่าง ๆ ผ่านการให้เงินสนับสนุนจัดกิจกรรม MICE ที่ทาง TCEB จะส่งเงินเข้าไปให้กลุ่มคณะที่สามารถจัดประชุมได้ และยังมีนโยบายด้านนวัตกรรม เช่น การส่งเสริมสตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการที่ทำเรื่องนวัตกรรม เช่น ระบบ Heat map เพื่อช่วยบริหารจัดการพื้นที่ทำให้เกิด Social Distancing อย่างมีประสิทธิภาพ

กลยุทธ์การจูงใจนักท่องเที่ยวไมซ์ (MICE)

สำหรับกลยุทธ์การจูงใจชาวต่างชาติให้เข้ามาในประเทศไทย ทาง TCEB ได้มีมาตรการให้เงิน เพื่อเป็นการช่วยสนับสนุน แต่ทว่ามาตรการนี้เป็นมาตรการที่ช่วยในระยะสั้นเท่านั้น ดังนั้นเพื่อประโยชน์ในระยะยาว TCEB จึงจะมีการส่งเสริมและพัฒนา 2 มิติ ได้แก่ (1) เพิ่มประสิทธิภาพคอนเทนต์และกิจกรรมต่าง  ๆ ของการจัดประชุมในแต่ละพื้นที่ และ (2) พัฒนาคุณภาพการบริการของคนในพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อให้อุตสาหกรรม MICE ในประเทศไทยสามารถดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ

อนาคตของ MICE ในภาคเหนือ

ในปี 2566 ทาง TCEB จะมีการสร้างงานจาก City DNA ที่จะสร้างอัตลักษณ์ให้แต่ละพื้นที่ เพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับความพร้อมของภาคเหนือ อย่างไรก็ดี งานที่กำลังจะจัดขึ้นในภาคเหนือปีนี้ คือ งาน FTI Expo ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ช่วงระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2565 ที่เดิมจัดที่กรุงเทพฯ มาโดยตลอดแต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จัดที่อื่น ซึ่งเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่ถูกเลือก งานนี้คาดว่าจะมีผู้ร่วมงานประมาณ 20,000 คน นอกจากนี้ ยังมีงาน Mega Event ที่เป็นงานกีฬา Spartan งานวิ่งวิบาก ซึ่งคาดว่าจะมีนักแข่งทั้งคนไทยและชาวต่างชาติประมาณ 8,000 คน ไม่รวมผู้ติดตาม โดยงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 14 สิงหาคม 2565 และจะมีการจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 3 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (3rd APEC Senior Officials and Related Meetings)  ที่เชียงใหม่เช่นกัน คาดการณ์ไว้ว่าจะมีคนไปประมาณ 1,500 คน โดยงานจะจัดวันที่ 16-31 สิงหาคม 2565 นอกจากนี้ จะมีงานที่ทาง TCEB จัดกันเองชื่อ Bam Fest เทศกาลสถาปัตยกรรมไม้ไผ่และนวัตกรรมวัสดุสร้างสรรค์นานาชาติ งานจัดขึ้นเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ไผ่ โดยจะมีจัดแสดงระหว่างวันที่ 18 พฤษภาคม – 31 กรกฎาคม 2565 ณ จ. เชียงใหม่

Key Success Factors ของนโยบายสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ

ปัจจัยความสำเร็จของ TCEB มีอยู่ 3 ข้อหลัก ๆ ได้แก่

  1. การส่งเสริมองค์ความรู้ด้าน MICE (MICE Literacy) : การทำให้คนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นทั้งคนจัดงานเจ้าของงานหรือคนที่ร่วมงานมีความรู้พื้นฐานทางด้าน MICE
  2. การทำงานร่วมกัน (Collaboration) : การร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน และ
  3. การปฏิบัติ (Action) : ท้ายนี้จะต้องมีขั้นตอนที่เรียกว่าการปฏิบัติการ เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ตรงวิสัยทัศน์ของ TCEB

กานต์ แจ้งชัดใจ

เศรษฐกรปฏิบัติการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

ธานนท์
ผู้เขียน